Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
23 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

อย่าทำแค่ลดต้นทุน แต่ต้อง บริหารต้นทุน!



ในวันที่ยอดขายเริ่มลดลง ในช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางธุรกิจเริ่มอยู่ในภาวะทรงกับทรุด

สิ่งที่ผู้บริหารและเจ้าของกิจการมักจะคิดเป็นอันดับแรกๆ
ตามคำแนะนำของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายทั้งปวง มักจะแนะนำ ก็คือ การลดต้นทุน!

โดยส่วนตัวแล้ว ผมไม่เคยใช้วิธีการลดต้นทุน (แบบสิ้นคิด!) ในการบริหารธุรกิจ
โดยเฉพาะสิ่งที่ผมเห็นว่าก่อให้เกิดผลเสียอย่างมหาศาล ก็คือการลดต้นทุนแบบผิดๆ ประเภท
เคยฟู่ฟ่า ฟุ่มเฟือยแล้วไปตัดงบลดต้นทุนทันทีทันใด
และมักจะเป็นการลดต้นทุนที่ขาดการสื่อสารภายในให้เกิดความเข้าใจ และเห็นถึงความจำเป็น
จนกลายเป็นการลดต้นทุนแบบไม่มีเหตุมีผลในสายตาและความคิดของทีมงาน
ซึ่งมักจะส่งผลเสียทางด้านการบริหารมากกว่า! เพราะผมมีความเชื่อจากประสบการณ์ที่ทำมาโดยตลอดว่า
สิ่งที่ทำได้ดีกว่าการลดต้นทุน ก็คือ การบริหารต้นทุน คำถามก็คือ ทั้งสองอย่างแตกต่างกันอย่างไร

ก็ขอตอบจากความคิดเห็นส่วนตัวนะครับว่า การลดต้นทุน คือ การพยายามลดค่าใช้จ่าย
ทั้งที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ควรลด ค่าใช้จ่ายที่ยังไม่จำเป็นต้องลด ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรที่จะไปลดโดยเด็ดขาด!
โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้เร็วที่สุดในรูปของตัวเลข ค่าใช้จ่ายที่ลดลงทันทีทันใด!

ถึงแม้การลดค่าใช้จ่าย อาจจะต้องส่งผลเสียกับพนักงาน
และส่งผลเสียกับคุณภาพของสินค้า-บริการที่ลูกค้าจะได้รับก็ต้องยอม!"

การบริหารต้นทุน คือ การบริหารองค์กรทั้งในเรื่องของสินทรัพย์ (เครื่องไม้ เครื่องมือ อาคาร ฯลฯ)
และทรัพย์สิน(คน คน และ คน!) ให้มีศักยภาพสูงที่สุดในการปฏิบัติงาน โดยใช้ต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ยืดหยุ่น
และผันแปรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น
ในช่วงที่ธุรกิจขยายตัว จำเป็นต้องเพิ่มกำลังคน องค์กรที่ใช้วิธีบริหารแบบลดต้นทุน ก็คือ
จะรีบตาลีตาเหลือกเพิ่มคน (โดยเป็นการเพิ่มต้นทุนไปอย่างอัตโนมัติ)
และเมื่อถึงเวลาขาลงของธุรกิจ ก็จะรีบตาลีตาเหลือกลดคน ลดต้นทุนทันทีทันใดเช่นเดียวกัน เท่านั้นยังไม่พอ
การลดต้นทุนแบบสิ้นคิดโดยการลดคุณภาพของสินค้า ลดคุณภาพของการบริการ ลดค่าใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่าง
โดยไม่ระมัดระวังเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขี้นกับทีมงานและคนในองค์กร
ผลที่ได้รับมักจะกลายเป็นการลดลูกค้าทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ในขณะที่องค์กรที่ใช้การบริหารแบบ บริหารต้นทุน เมื่อถึงเวลาที่ธุรกิจขยายตัว จะไม่รีบร้อนเพิ่มคน
แต่ใช้หลายทางเลือก เช่น
ใช้พันธมิตรมาเป็นคู่คิด คู่ปฏิบัติในการร่วมกันขยายธุรกิจ ขยายโอกาสและร่วมกันรับความเสี่ยง!

หรืออีกทางเลือกเช่น ดึงศักยภาพคนในองค์กร
จากที่เคยทำได้แค่หน้าที่เดียว หล่อหลอมฝึกฝนในเวลาที่กระชับไม่ยืดยาด
เพื่อให้ขยายขอบเขตของทักษะและบทบาทที่รองรับการขยายตัวของธุรกิจ !

และเมื่อถึงเวลาขาลงของธุรกิจ การใช้พันธมิตรมาช่วยในช่วงแรกก็จะลดบทบาทลงทั้งสองฝ่าย
โดยไม่จำเป็นต้องลดต้นทุน แต่ได้บริหารต้นทุน และได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างเรากับพันธิมิตร!

ยิ่งในกรณีที่สามารถฝึกฝน หล่อหลอมทีมงานแบบกระชับให้มีหลายทักษะโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มคนใหม่
แต่ใช้คนในให้เกิดศักยภาพสูงสุด เมื่อถึงช่วงขาลง ก็จะกลายเป็นองค์กรที่มีทีมงานจำนวนเท่าเดิม
แต่มีศักยภาพมากกว่าเดิม!

ในอีกมิติหนึ่ง องค์กรที่รู้จักบริหารต้นทุน จะใช้สินทรัพย์ทุกอย่างอย่างคุ้มค่า อย่างมีเหตุผล ไม่ฟุ่มเฟือย
ไม่ตามกระแส แต่จะทุ่มทุน และทุ่มเทไปกับทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดขององค์กรก็คือคน!
และถ้ามีกึ๋นในการบริหารคน สิ่งที่จะตามมาก็คือ
คนขององค์กรจะช่วยบริหารต้นทุนให้กับองค์กร โดยไม่ต้องมาขอร้องให้ประหยัดแบบจำใจประหยัด
สลับกับล้างผลาญค่าใช้จ่าย ที่ไม่ควรจะจ่ายอย่างที่หลายๆองค์กรเป็นกันอยู่!

เพราะฉะนั้น ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดของ การลดต้นทุน กับ การบริหารต้นทุน อยู่ที่ ผู้นำขององค์กร
และผู้บริหารทุกระดับในแต่ละหน่วยงานว่า มีวิธีคิด วิธีมองต้นทุนอย่างไร

ถ้ามองว่า สินทรัพย์ (สิ่งไม่มีชีวิต) และ ทรัพย์สิน (คนทุกระดับในองค์กร) คือต้นทุน ก็ถือว่าผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว
เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะเพิ่มก็จะเพิ่มทั้งสองอย่าง และถึงเวลาที่จะลด ก็ลดทั้งสองอย่าง
สุดท้ายก็จะไม่มีเหลือต้นทุนที่มีศักยภาพให้องค์กรบริหารอีกต่อไป!


โดย ธีรพล แซ่ตั้ง
ที่มา : //www.siaminfobiz.com/




 

Create Date : 23 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 23 ธันวาคม 2552 20:53:16 น.
Counter : 679 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.