Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
4 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 
นักสร้างภาวะผู้นำ

คำว่า “นักสร้างภาวะผู้นำ” อาจจะเป็นคำใหม่อยู่บ้างแต่ก็ไม่ยากที่จะคุ้นเคย
ซึ่งนักสร้างภาวะผู้นำถ้าเป็นในประเทศทางสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะรู้จักกันดีว่า
เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Executive Coach หรือ Personal Coach

ทำอะไรกัน นักโค้ชชิง

นักสร้างภาวะผู้นำ
รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข

รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปัจจุบันเธอถือเป็นนักสร้างภาวะผู้นำคนหนึ่ง ซึ่งเป็นงานใหม่ที่เริ่มต้นได้ไม่นาน และทำนอกเวลา
หน้าที่หลักคือการสอนหนังสือที่ศศินทร์ โดยจุดเริ่มต้นนั้นเธอบอกว่า “เป็นการลองวิชา” จึงได้ขอกับทางศศินทร์
ว่าจะลองทำงานส่วนนี้ดู รวมถึงมีผู้บริหารหลายคนที่รู้ว่า รศ.ดร.ศิริยุพา มีทั้งความรู้จากการศึกษาเรื่องโค้ชชิง
มีประสบการณ์ในทฤษฎีต่างๆ มากมายเกี่ยวกับการบริหาร
และยังมีประสบการณ์กับการพบปะผู้บริหารมาแล้วหลายระดับ จึงได้ขอให้มาเป็นโค้ชให้

“ถ้ารับเป็นโค้ชจริงๆ จังๆ ก็เริ่มมาได้ 2 ปีแล้วค่ะ ซึ่งเรื่องของการโค้ชนี้ในประเทศไทยยังเป็นเรื่องที่ใหม่มาก
คำนี้เป็นที่รู้จักเมื่อสัก 5 ปีมานี่เอง สำหรับประเทศเรา
แต่ในต่างประเทศการที่ผู้บริหารหลายๆ คนมีโค้ชถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็น วอร์เรน บัฟเฟตต์ แจ็ก เวลช์
และนักบริหารระดับโลกอีกหลายคนก็มักจะมีโค้ชที่คอยให้คำแนะนำอยู่เสมอ”

ทั้งนี้ หน้าที่ของโค้ชไม่ใช่นักพัฒนาบุคลิกภาพเพียงเท่านั้น
แต่รวมทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้คนๆ หนึ่ง เป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ
ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้บังคับบัญชาที่อยู่เหนือขึ้นไป ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน พันธมิตรทางธุรกิจ หรือลูกค้า

“วิธีทำงานของดิฉันเมื่อมีการติดต่อให้เป็นโค้ช จะเริ่มต้นทำความรู้จักกันตั้งแต่แรกว่า
เราจะทำงานไปด้วยกันได้หรือไม่ เพราะก็คงไม่ใช่แต่คนที่มาขอให้โค้ชช่วยที่เขาหวังผลของการเปลี่ยนแปลง
เราเองที่เป็นโค้ชก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ถ้าตั้งแต่พบกันครั้งแรกรู้สึกว่าคงมีแนวคิดต่างกัน
ก็มีบ้างที่ขอปฏิเสธไป แต่ถ้าเป็นในกรณีผ่านขั้นแรกแล้ว ก็จะเริ่มต้นเก็บรวบรวมข้อมูลจากเจ้านาย ลูกน้อง
หรือเพื่อนๆ ร่วมงาน ว่ามองหรือมีทัศนคติกับคนๆ นั้นอย่างไร หาจุดเด่นจุดด้อย แล้วนำมาประมวลวิเคราะห์
ก่อนที่จะไปเริ่มนั่งคุยกันปรึกษากัน นักสร้างภาวะผู้นำก็เหมือนที่ปรึกษานั่นเอง
แต่ให้คำปรึกษาเพื่อที่เขาจะเป็นผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จได้”

อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ที่เริ่มเข้ามายึดการเป็นนักสร้างภาวะผู้นำ เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นในประเทศไทยนั้น
รศ.ดร.ศิริยุพา มองว่าอาจเป็นเพราะผู้บริหารรุ่นแรกๆ หรือรุ่นเก่า ที่เรียกกันว่า เบบี้บูม เริ่มที่จะใกล้เกษียณ
หรือไม่ก็เกษียณกันไปมากแล้ว การฝึกให้เกิดผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่เรียกกันว่า เจเนอเรชันเอกซ์ เจเนอเรชันวาย
ถูกสร้างขึ้นมาไม่ทัน กลุ่มเบบี้บูมก็ให้การฝึกสอน ฝึกอบรมไม่ทัน จึงต้องใช้บริการของนักสร้างภาวะผู้นำ

นักสร้างภาวะผู้นำ


ปรับเพื่อดีขึ้นแต่ไม่ทิ้งตัวตน
การที่ต้องมีการปรับตัวเองเมื่อต้องรับบทบาทของผู้บริหารนั้น รศ.ดร.ศิริยุพา มองว่า
เป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่ใช่เพื่อให้ดูดี แต่เพื่อประโยชน์ขององค์กรเอง อย่างเช่น เดิมนั้นเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด
เมื่อเป็นผู้บริหารแล้วคงทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะผู้อื่นไม่มีทางรู้ว่าเราคิดอะไร แต่ผู้อื่นสามารถคิดได้ว่า
ที่ไม่พูดเพราะไม่มีความสามารถหรือไม่ หน้าที่ของโค้ชก็ต้องบอกให้เห็นถึงความสำคัญส่วนนี้
“คมในฝัก” อาจจำเป็นในบางกรณี แต่ในหลายกรณีแสดงความคมนั้นออกมาจะดีมากกว่า

นอกจากนี้ สิ่งที่ได้พบจากผู้บริหารรุ่นใหม่ คือ เป็นเรื่องของการวางตัว ทักษะการสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์
หรือไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเมื่อต้องปรากฏกายต่อสาธารณชน โค้ชก็ต้องมองสิ่งเหล่านี้ให้ออกทั้งหมด
แล้วชี้ให้ผู้ที่เข้ามารับการปรึกษาสร้างภาวะผู้นำได้รู้ เพื่อที่จะปรับตัวใหม่

“เคยมีเหมือนกันคนที่ดิฉันกำลังโค้ชอยู่ เขาบอกว่าไม่เห็นว่าตัวเขาจะใส่อารมณ์อะไรเลยในการพูด
ก็เป็นการตอบโต้แสดงความคิดเห็นแบบธรรมดา
ดิฉันหยิบกระจกให้เขาดูหน้าตัวเองเลย แล้วบอกว่า นี่ไงล่ะหน้าคุณกำลังเป็นอย่างนี้อยู่

อีกหน้าที่หนึ่งของโค้ชก็คือการสะท้อนให้เขาเห็นความเป็นจริงนั่นล่ะค่ะ
ซึ่งหน้าที่ของโค้ชนี้ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเก่งทุกด้าน ทำได้ทุกด้าน แต่เราจะมีข้อมูล เช่น
คนๆ นั้น ต้องเสริมความรู้เรื่องอะไร สิ่งไหนที่ขาดหาย เราแนะนำได้ว่าต้องไปศึกษาอย่างนี่เพิ่ม
หรือไปเรียนกับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ”

แต่ทั้งนี้ในการปรับและสร้างภาวะผู้นำ จะไม่ใช่การเปลี่ยนจากเดิมที่ไม่ใช่ตัวเอง
รศ.ดร.ศิริยุพา บอกว่าธรรมชาติของคนนั้น โดยหลักการน้อยมากที่จะเปลี่ยนตัวเองจากหน้ามือเป็นหลังมือได้
การโค้ชจะพยายามให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพราะ “คุณต้องเป็นคุณ”
แต่ถ้าอะไรที่ต้องเปลี่ยนจริงๆ เพราะถ้าไม่เปลี่ยนมีผลกระทบกับการทำงานแน่ๆ องค์กรไม่สามารถไปได้รอด
ถ้าเป็นอย่างนี้จะรีบแนะนำทันที

“การสร้างภาวะผู้นำก็เหมือนการสร้างแบรนด์ของตัวเองเหมือนกัน ให้เกิดการยอมรับ
อย่าง บารัก โอบามา เองก็เป็นภาพของการสร้างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ
เพราะเขารู้ว่าประชากรกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของเขา คือ คนยุคใหม่
เขาจึงเลือกอินเทอร์เน็ตมาเป็นการสื่อสารโดยตรง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ
เรามีศัพท์ของการเป็นผู้นำคำหนึ่ง คือ ทำอย่างไรให้คุณ To be found คือต้องให้ถูกค้นพบ
ซึ่งโอบามาตอบโจทย์ของเขาได้ดี”


ศักยภาพผู้บริหารไทยสู้ได้ในระดับโลก

นักสร้างภาวะผู้นำ

จากประสบการณ์ที่ รศ.ดร.ศิริยุพา ได้พบปะกับผู้บริหารไทย เธอเชื่อว่า
นักบริหารไทยสู้กับนานาประเทศได้อย่างสบาย เพียงแต่ต้องปรับในเรื่องการทำงานเป็นทีม
เพราะคนไทยมักจะเป็นคล้ายๆ กันหมด คือ เก่งเดี่ยว

“การปรับปรุงตัวเองไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าใจมีวินัยกับตัวเองใครก็สามารถทำได้
ทำไมไม่คิดดูล่ะคะว่า ถ้าปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้วยิ่งทำให้ตัวเองเป็นในสิ่งที่ดีสุด
แล้วอย่างนี้จะไม่อยากปรับปรุงหรือคะ”

สุดท้ายเลยทิ้งคำถาม ถ้าหากได้เป็นโค้ชของนักการเมืองไทย รศ.ดร.ศิริยุพา จะสร้างภาวะผู้นำอย่างไรขึ้นมา
เธอตอบว่า ถ้าโค้ชนักการเมืองไทยในภาพรวม ก็ต้องการให้เป็นผู้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น
เพราะที่เห็นในหลายประเทศพอโกรธกันทีก็ใช้อารมณ์ ใช้ภาษาไม่สุภาพ และรุนแรงถึงขั้นใช้กำลัง
ถ้าเป็นลักษณะนี้ นี่คือแบบอย่างที่ไม่ดี ถ้าจะโค้ชแล้วต้องปรับก็อยากปรับในส่วนนี้ให้เกิดขึ้น
เรื่องวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพิ่มอีคิวให้มากขึ้น เพราะเรื่องไอคิวนั้นเชื่อแน่ว่าคนที่กว่าจะเป็นนักการเมืองได้
ก็ต้องมีกันอยู่แล้ว เพราะถ้าปล่อยอารมณ์ไปเรื่อย จะทำให้คนอื่นคิดได้ว่าใครก็มาเป็นนักการเมืองได้

โดย รัฐพร คำหอม


Create Date : 04 มิถุนายน 2552
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 10:30:26 น. 0 comments
Counter : 1303 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.