Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
26 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
"ตัวเลขนิยม" แนวคิดขององค์กรใจแคบ



เป็นเรื่องปกติที่องค์กรธุรกิจจะต้องทบทวนและประเมินผลการทำงานในรอบปีที่ผ่านมา
โดยอาศัยตัวเลขของผลประกอบการเป็นตัวชี้วัดหลักของความสำเร็จในองค์กร
สิ้นปีนี้มียอดขายเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วเหลือกำไรหรือขาดทุนไปเท่าไหร่
คนที่ดูแลเรื่องการเงินต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสรุปภาพรวมขององค์กรให้ผู้บริหารได้รับทราบ
และต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับองค์กร
เป้าหมายก็คือทำอย่างไรให้เงินเหลืออยู่กับองค์กรให้มากที่สุด (ซึ่งสำหรับหลายองค์กรแล้วนั่นหมายถึงการทำอย่างไรให้เสียภาษีน้อยที่สุด)

คงจะเป็นการเหมาะสมที่จะต้องชื่นชมความตั้งใจในการทำงานตามหน้าที่อย่างสมบูรณ์
และเล่นได้สมบทบาทที่ได้รับมอบหมาย คอยเฝ้า ระแวดระวังการใช้จ่ายของทุกคนในองค์กร
ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายอื่นๆ โดยอาศัยตัวเลขทางการเงินเป็นเครื่องมืออนุมัติหรือระงับ
โครงการตามความเห็นเรื่องความคุ้มทุนจากการคำนวณตัวเลข
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับตัวเลขผลประกอบการเป็นหลัก
ที่มักจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ดูแลเรื่องการเงินมีสิทธิมีเสียงในที่ประชุม
วิพากษ์วิจารณ์ผลการทำงานของฝ่ายอื่นๆ และล่วงล้ำในงานที่ตนไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบ
ซึ่งมีโอกาสทำร้ายความรู้สึกของคนทำงานในฝ่ายต่างๆ เหล่านั้นได้โดยไม่เจตนา

เช่น คนทำงานในฝ่ายผลิตที่พยายามค้นหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุน
และประหยัดเวลา ทำให้ผู้ปฏิบัติงานกับเครื่องจักรทำงานง่ายขึ้น หรือคนทำงานในฝ่ายตลาด
ที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ ติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด
เพื่อรักษาลูกค้าไว้กับองค์กรท่ามกลางสภาพของการแข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง
หรือคนทำงานในฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ดูแลทุกข์สุขของคนทำงานในองค์กรพัฒนาความรู้
ความสามารถของคนอย่างต่อเนื่อง

เห็นได้ว่า คนทำงานเหล่านี้เป็นคนที่ตั้งใจทำงานและทุ่มเทให้กับองค์กร แต่ผลงานของคน
เหล่านี้อาจไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขที่จะส่งผลทางบวกต่อตัวเลขกำไรขององค์กรได้โดยตรง
ทั้งหมด คำถามที่เกิดขึ้นคือ
ตัวเลขทางการเงินคือตัวชี้วัดหลักของความสำเร็จในองค์กรจริงหรือ ถ้าเป็นจริง
แสดงว่าผลงานที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเงินได้ไม่ถือว่าเป็นผลงานของความสำเร็จใช่หรือไม่

ในปัจจุบันมีการพูดกันถึงการประเมินความสำเร็จขององค์กรในรูปแบบของ
balanced scorecard ที่มองความสำเร็จขององค์กรใน 4 มิติ คือ
มิติทางด้านการเงิน มิติทางด้านลูกค้า มิติทางด้านกระบวนการทำงาน
และมิติทางด้านการเรียนรู้และพัฒนาของคนในองค์กร

แสดงว่าความสำเร็จทางด้านการเงินเป็นเพียงหนึ่งในดัชนีชี้วัดเท่านั้น เพราะความสำเร็จที่แท้
จริงขององค์กรสามารถมองได้มากกว่านั้น โดยต้องสร้างให้เกิดดุลยภาพ ตามความหมายของ
ชื่อเรียกเครื่องมือนี้จะเกิดอะไรขึ้น หากองค์กรมุ่งสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจว่า
ลูกค้าจะรู้สึกอย่างไร วิธีการทำงานจะยากหรือซับซ้อนแค่ไหน หรือแม้แต่คนทำงานจะต้อง
เหนื่อยหรือเสี่ยงอันตรายเพียงใด ความสำเร็จทางด้านตัวเลขคงปรากฏขึ้นได้ ผู้บริหารยิ้มแย้ม
กับรายรับ แต่ลูกค้าเสียความรู้สึกกับองค์กร หรือคนทำงานต้องเสียสุขภาพไปกับการทำงาน
และสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเรียกร้องกลับคืนมาได้
ยากเหลือเกินที่ความสำเร็จทางด้านตัวเลขนี้จะเป็นความสำเร็จอย่างยั่งยืนที่แท้จริง

ดังนั้นความสำเร็จขององค์กรจึงไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขของผลประกอบการเพียงอย่างเดียว
จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญกับมิติอื่นๆ ด้วยอีกอย่างน้อย 3 ด้านดังกล่าว

ที่จริงแล้วการประเมินความสำเร็จสามารถพิจารณาทั้งจากผลลัพธ์ที่ได้รับเมื่อสิ้นสุดรอบเวลา
การประเมิน และจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการดำเนินการด้วย และทั้งจากผล
ลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ที่เห็นชัดเจน และจากผลลัพธ์ที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก
เช่น การที่คนทำงานรู้สึกห่วงใยกันและกัน ละทิฐิ ยอมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น
ให้ความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม และในระหว่างการทำงานเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์
วิธีการทำงานใหม่ๆ ศึกษาค้นคว้าวิธีการแก้ปัญหาที่สาเหตุ เรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่าง
สม่ำเสมอ และเสนอแนะสิ่งดีๆ ให้องค์กรได้ปรับปรุงและก้าวหน้า
สิ่งเหล่านี้ไม่คู่ควรกับการเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรเลยหรือ

เป็นไปได้ที่ผู้บริหารอาจมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งเหล่านี้กับความสำเร็จที่เป็นตัวเงิน
ซึ่งจับต้องได้ชัดเจนและเห็นผลเร็วกว่า การมองเช่นนั้นเป็นการมองมุมแคบเพียงมุมเดียว
เป็นการมองขององค์กรที่เห็นคนทำงานเป็นเครื่องมือผลิตเงิน ที่ดูจะใจจืดใจดำไปสักหน่อย

หากองค์กรอ้างว่า เหตุผลที่ไม่นำเอาปัจจัยเหล่านั้นร่วมเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จก็เพราะว่าเป็น
ตัวชี้วัดที่วัดได้ยาก เป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมเกินไป ซึ่งถึงจะเป็นอย่างนั้นจริงก็ยังฟังดูไม่สม
เหตุสมผลอยู่ดี ที่องค์กรจะละทิ้งตัวชี้วัดที่มีความสำคัญเหล่านี้ไปโดยไม่ใส่ใจเลยแม้แต่น้อย

อย่าลืมว่า องค์กรจะไม่มีชีวิตและไม่มีคุณค่าใดๆเลย หากปราศจากชีวิตและลมหายใจของ
คนทำงาน การที่คนทำงานได้ ทำงานอยู่ในบรรยากาศที่สร้างสรรค์ บรรยากาศของความ
ร่วมมือร่วมใจ บรรยากาศของความปรารถนาดี บรรยากาศของความใส่ใจซึ่งกันและกัน
และบรรยากาศที่เอื้อให้คนได้พัฒนาและก้าวหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรต้องหันมาสนใจ
สำคัญมากกว่าตัวเลขในงบการเงินเป็นไหนๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือความสำเร็จที่ยั่งยืนและแท้จริง

หากท่านเป็นผู้บริหาร ลองถามตัวท่านเองว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าในรอบปีที่ผ่านมา
คนทำงานในองค์กรของท่านต้องประสบกับเหตุการณ์ในชีวิตอะไรบ้าง ลูกใครสอบได้ที่หนึ่ง
หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ ภรรยาเขาตั้งครรภ์หรือคลอดลูกคนที่สองเป็นเพศ
ชายหรือเพศหญิง ใครเข้าพิธีอุปสมบทหรือฉลองงานมงคลสมรส หรือแม้กระทั่งใครต้อง
สูญเสียญาติผู้ใหญ่หรือคนที่เขารักไปบ้าง ใครต้องเผชิญปัญหาในครอบครัวหรือการหย่าร้าง
ใครป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ใครติดยาเสพย์ติดหรือหลงไป มั่วสุมกับการพนันหรือติดกับดัก
ในวงจรหนี้อุบาทว์บ้าง และหากท่านทราบ ท่านได้ทำอะไรไปบ้างกับเรื่องเหล่านี้

ท่านยังคงตำหนิเรื่องมาทำงานสาย ยังคงตามงานและไล่จี้เรื่องส่งมอบผลงานให้ทันเวลา
และสร้างยอดขาย สร้างกำไร อย่างไม่ยินดียินร้ายหรือไม่ องค์กรคือสถานที่ที่คนทำงาน
ฝากชีวิตไว้ เป็นสถานที่ที่เราสามารถมองเห็นความสวยงามของชีวิตที่ดำเนินอยู่ในองค์กร
การเจริญเติบโตและ ความก้าวหน้าของคนทำงาน ตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาในองค์กรจนถึง
ปัจจุบัน การได้เห็นความสำเร็จ รอยยิ้ม หรือแม้แต่หยาดเหงื่อและคราบน้ำตา

นี่คือเรื่องจริง ชีวิตจริง เราก็เป็นมนุษย์ร่วมเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันทุกคน เช่น
คำที่พระท่านสอน แล้วอะไรกันแน่คือความสำเร็จที่แท้จริงขององค์กร
ตัวเลขกำไรในงบการเงิน หรือคุณภาพชีวิตของคน

บทความนี้ขอเสนอให้การประเมินความสำเร็จในองค์กรของท่านได้เพิ่มมิติในเรื่องของ
ความเป็นอยู่และความรู้สึกของคนทำงาน เรื่องของความสุขและการรับรู้ถึงคุณค่าของชีวิต
เรื่องที่คนทำงานในองค์กรได้เรียนรู้ชีวิต เจริญเติบโตและก้าวหน้า และเรื่องที่คนทำงาน
และองค์กรได้แสดงบทบาทความรับผิดชอบในฐานะพลเมืองดีของสังคม จะเกิดประโยชน์
อะไรหากองค์กรมีตัวเลขผลประกอบการสวยงาม แต่คนทำงานในองค์กรไม่มีความสุข
ทำงานอยู่ในบรรยากาศไม่สร้างสรรค์ แข่งขันกันสร้างผลงานอย่างไร้มิตรภาพและความ
ปรารถนาดี ไม่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปิดบังข้อมูล
และยักยอกผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างไร้ความละอาย

ประโยชน์บางส่วนอาจตกอยู่ที่ผู้บริหารหรือคนบางกลุ่มในองค์กรใจแคบ
แต่จะยั่งยืนและสร้างความสุขให้พวกเขาได้เท่าไหร่ คงต้องติดตามดูกันต่อไป
ธรรมชาติและสัจธรรมจะพิสูจน์ความจริงแห่งชีวิตให้เห็นอย่างแน่นอน

สุดท้ายนี้เนื่องในโอกาสปีใหม่ ขออัญเชิญคำอวยพรของท่านพุทธทาสภิกขุ
มอบแด่ผู้อ่านทุกท่าน "พรปีใหม่...อย่าโง่เท่าเดิม...!"

โดย วิชัย อุตสาหจิต ประชาชาติธุรกิจ


Create Date : 26 มกราคม 2552
Last Update : 26 มกราคม 2552 12:24:28 น. 1 comments
Counter : 834 Pageviews.

 
การจะชี้วัดความสำเร็จของบริษัท ซึ่งเป็นนามธรรม คงยากที่จะแสดงออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงต้องใช้ตัวเลข ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถชี้วัดให้ทุกคนเข้าใจได้ตรงกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเลขก็ไม่ใช่สิ่งชี้วัดความสำเร็จที่แท้จริง เพราะตัวเลขสามารถ Make ขึ้นมาได้ อย่างตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาส ที่ต้องส่งให้ตลาดหลักทรัพย์ ก็ยังทำWindow dress ได้เลย

อย่าคิดมากครับ ตราบใดที่คุณเป็นลูกจ้างเค๊า ไม่ใช่เจ้าของกิจการ ก็จะได้ผลตอบแทนที่ลูกจ้างควรจะได้ ส่วนกำไร มีไว้ให้สำหรับเจ้าของกิจการ เพราะงั้น ถ้าอยากมีอิสรภาพทางการเงิน ต้องหาทางย้ายมาอยู่ฝั่งขวาของเงินสี่ด้านครับ


โดย: ShinchanX วันที่: 27 มกราคม 2552 เวลา:11:58:23 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.