Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
25 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
เถ้าแก่โรงงานกับการบริหารการผลิต



สำหรับกิจการเอสเอ็มอีที่ต้องผลิตสินค้าขึ้นมาเพื่อการจำหน่ายแล้ว
เรื่องของการบริหารการผลิต เป็นเรื่องที่เถ้าแก่โรงงานไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
หากต้องการนำพากิจการของตนสู่ความสำเร็จ และการเติบโตต่อไปในอนาคตอย่าง มั่งคั่งและมั่นคง

สำหรับกิจการที่ต้องมีการผลิตสินค้า
การบริหารการผลิต ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของการบริหารกิจการเลยทีเดียว

ในขณะที่หน้าที่หลักอีก 2 ประการที่เหลือของกิจการ เพื่อการพาณิชย์โดยทั่วไป ซึ่งได้แก่
การบริหารการตลาด ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อสร้างการขยายตัวของยอดขายหรือเพิ่มส่วนแบ่งตลาด
และ การบริหารการเงิน ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมและติดตามสถานภาพทางการเงิน
ความสามารถในการสร้างกำไร และ การรักษาสภาพคล่องของกิจการ

การบริหารการผลิต มีวัตถุประสงค์หลักอย่างน้อย 4 ประการ คือ
(1) การเพิ่มผลผลิต
(2) การรักษาระดับคุณภาพของสินค้า
(3) การลดต้นทุนการผลิต และ
(4) การควบคุมการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลา และมีปริมาณตรงตามความต้องการของลูกค้า

เถ้าแก่โรงงานสมัยใหม่ จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ การผลิตภายในของกิจการของตนเอง
ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เหล่านี้

หลักการพื้นฐานในการเพิ่มผลผลิต ก็คือ การพยายามหาวิธีการที่จะทำให้อัตราการใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบ
หรือปัจจัยนำ เข้า ให้เปลี่ยนไปเป็นสินค้า หรือผลผลิตสุดท้ายให้ได้ปริมาณสูงสุด

ถ้าจะว่าไปแล้ว การผลิต ก็คือการนำวัตถุดิบและส่วนประกอบอื่นๆ มาแปรรูปให้กลายเป็นตัวสินค้าขึ้นมา
โดยใช้แรงงาน และสาธารณูปโภคที่จำเป็น เช่น ไฟฟ้า น้ำ ไอน้ำ น้ำมันเครื่อง ฯลฯ
เป็นปัจจัยร่วมเพื่อให้การแปรรูปเกิดขึ้นได้ตามต้องการนั่นเอง

ดังนั้น หากใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ เพื่อเริ่มการผลิต 100 ส่วน
เถ้าแก่โรงงานก็ย่อมต้องการที่จะให้ได้ผลผลิต หรือตัวสินค้าออกมาให้ได้ใกล้ เคียงกับ 100 ส่วนมากที่สุด
โดยหลีกเลี่ยงการสูญเสีย หรือ ให้มีการสิ้นเปลืองน้อยที่สุด

กลยุทธ์ที่ต้องนำมาใช้ในการลดความสูญเสียของปัจจัยนำเข้า เพื่อการผลิต
ก็คือ กลวิธีของการเพิ่มผลผลิต นั่นเอง ซึ่งอาจได้แก่

- กลยุทธ์ใช้ปัจจัยนำเข้าเท่าเดิม แต่ทำให้เกิดผลผลิตมากขึ้น
- กลยุทธ์ลดปัจจัยนำเข้าให้น้อยลง แต่คงผลผลิตไว้เท่าเดิม
- กลยุทธ์ลดปัจจัยนำเข้าให้น้อยลง แต่กลับเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
- กลยุทธ์การพัฒนาหรือเพิ่มปัจจัยการผลิตให้มากขึ้น แต่ทำให้เกิดผลผลิตที่มากยิ่งขึ้นกว่า
- กลยุทธ์การลดผลผลิตลง แต่ต้องลดปัจจัยนำเข้าในอัตราที่น้อยลงมากกว่า
ฯลฯ เป็นต้น

ส่วนการบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้านั้น ปัจจุบันได้พัฒนาไปค่อนข้างมากและรวดเร็ว
เมื่อเปรียบเทียบกับแนวคิดในสมัยก่อนที่มักถือว่า
คุณภาพของสินค้า ต้องเป็นไปตามลักษณะต่างๆ (หรือ Specification) ที่โรงงานกำหนดไว้เท่านั้น

แต่ในปัจจุบันนี้ แนวคิดว่า
คุณภาพของสินค้า ต้องตรงกับความต้องการ และต้องสร้างความพึงพอใจในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภค
ทำให้จุดศูนย์รวมความสนใจเปลี่ยนไปจากความคิด ที่ว่าโรงงานผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดระดับคุณภาพ เปลี่ยนมาเป็น
ความคิดที่ว่า ความต้องการของผู้บริโภค เป็นผู้กำหนดระดับคุณภาพของสินค้าที่เราจะต้องผลิตให้ได้

เพราะถ้าผลิตสินค้าที่ไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภค สินค้าก็จะขายไม่ได้ เนื่องจากผู้บริโภค
ในปัจจุบันมีทางเลือกต่างๆ มากมายที่จะหันไปใช้สินค้าอื่นๆ ที่สนองความต้องการของตนเองได้มากกว่า

การบริหาร คุณภาพในการผลิต จึงต้องพัฒนามาสู่การใช้ระบบบริหารจัดการคุณภาพตามมาตรฐานระดับโลก
เช่น มาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งเป็นระบบที่เน้นการเชื่อมโยงของคุณภาพ ในการผลิตเข้ากับความต้องการของลูกค้า
และเป็นระบบที่สามารถตรวจสอบได้และรับรองได้โดยสถาบันภายนอก เป็นต้น

ในส่วนของการบริหารต้นทุนการผลิต ซึ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนของการผลิตให้ต่ำที่สุด
ซึ่งนอกจากการลดต้นทุนของปัจจัยการผลิตโดยตรง เช่น การจัดหาวัตถุดิบให้มีต้นทุนต่ำสุด
การจัดหาแรงงานในการผลิตให้มีต้นทุนต่ำสุด และการจัดหาเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตที่มีต้นทุนต่ำสุดแล้ว
เถ้าแก่โรงงาน ควรที่จะต้องให้ความสนใจไปถึงการพยายามลดความสูญเสีย ที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต

ไม่ว่าจะเป็นการผลิตของเสียหรือสินค้าที่ไม่ได้ระดับคุณภาพ ต้องนำไปซ่อม หรือ ผลิตซ้ำ
การสูญเสียเนื่องจากเครื่องจักรเสีย หรือเครื่องจักรมีสภาพการทำงานไม่สมบูรณ์
รวมไปถึงวิธีการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ในประเด็นสุดท้าย เรื่องของ การบริหารการส่งมอบที่ตรงเวลา
ที่เป็นวัตถุประสงค์หลัก อีกประการหนึ่งของแนวทางการบริหารการผลิตสมัยใหม่
แต่มักจะถูกมองข้าม ละเลย หรือ ไม่ได้รับความสนใจอย่างเพียงพอจากเถ้าแก่โรงงาน

การส่งสินค้าให้กับลูกค้าล่าช้า นอกจากจะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการขายแล้ว
ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกค้าเริ่มจะไม่เชื่อถือในการบริการของเรา
และอาจทำให้ลูกค้าเริ่มหันไปหาสินค้าของคู่แข่ง ที่ลูกค้าเชื่อว่าจะส่งมอบสินค้าได้ตรงเวลากว่าของเรา
ซึ่งจะสร้างผลกระทบโดยตรงกับยอดขายของเรา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การค้นหาสาเหตุของการส่งมอบที่ล่าช้า ไม่ตรงเวลาที่สัญญาไว้กับลูกค้า
จะทำให้เถ้าแก่โรงงานเริ่มมองเห็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ภายในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็น
- การเกิดปัญหาระหว่างหน่วยผลิตต่างๆ ที่มีการส่งมอบงานต่อเนื่องล่าช้า
- การจัดตารางการผลิตที่ไม่เหมาะสม
- การวางแผนการผลิตสินค้ารุ่นใดรุ่นหนึ่งมากเกินไป จนมีเวลาไม่พอที่จะผลิตสินค้าที่ได้สัญญากับลูกค้าไว้
- การจัดหาวัตถุดิบไม่เพียงพอหรือไม่ทันเวลา
- ฯลฯ

การส่งมอบสินค้า จึงไม่ใช่เป็นการดูเฉพาะการส่งมอบให้กับลูกค้า
แต่ยังมีความสำคัญอยู่ที่การส่งมอบภายในเช่น การส่งมอบชิ้นส่วนงานระหว่าง แผนกอีกด้วย

หากโรงงานมีปัญหาเกิดขึ้นจากการส่งมอบล่าช้าภายในสายการผลิต
สิ่งที่เถ้าแก่โรงงานอาจต้องเผชิญอยู่อย่างเงียบๆ โดยไม่ทันรู้ตัว ก็คือ การเกิดต้นทุนจมอยู่ในสายการผลิต
ไม่ว่าจะเป็นการจมของวัตถุดิบ การจมของงานระหว่างการผลิต
ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารเงินทุนหมุนเวียนของโรงงาน
อาจถึงขั้นที่ทำให้เถ้าแก่ต้องวุ่นวายกับการหาเงินจากแหล่งภายนอกมา
เพื่อสนับสนุนโรงงานให้ทำการผลิตไปได้อย่างต่อเนื่อง

ความล่าช้า ภายในโรงงาน อาจรวมไปถึงการที่จะต้องรอกระบวนการตรวจสอบคุณภาพ
ซึ่งมักจะกลายเป็นภาพซ้อนสะท้อนกลับมาสู่ตัวเถ้าแก่ว่าจะตัดสินใจ
เพื่อจะเลือกระหว่าง คุณภาพ กับความ รวดเร็ว

ซึ่งหากเถ้าแก่โรงงาน หันมาให้ความสนใจกับวิธีการบริหารการผลิตอย่างจริงจัง
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะหมดไปจากโรงงานของท่าน

ทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มี คุณภาพ ด้วย ความรวดเร็ว ที่ทันกับความต้องการของตลาดอยู่เสมอ


โดย เรวัต ตันตยานนท์
ที่มา : //www.kmitnbxmie8.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=5355157&Ntype=3
ภาพจาก : ptmortgage.com


Create Date : 25 ธันวาคม 2552
Last Update : 25 ธันวาคม 2552 20:44:37 น. 0 comments
Counter : 727 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.