Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2552
 
27 กุมภาพันธ์ 2552
 
All Blogs
 
กลยุทธเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเปลี่ยนงานใหม่



การสั่งสมทักษะจะช่วยให้เรานำประสบการณ์ และความรอบรู้มาประยุกต์ใช้ได้ในทันที
และมักส่งผลให้การเปลี่ยนงานใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ข้อเสียคือ อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะพบงานที่เราพอใจจริงๆ

การเปลี่ยนงานใหม่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ และทำได้ยากในสายตาของใครหลายคน
โดยเฉพาะการเปลี่ยนไปสู่อาชีพใหม่ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหน่วยงานใหม่แต่ยังทำหน้าที่แบบเดิมๆ

เพอร์รี แคพเพล จากวอลล์สตรีท เจอร์นัล อธิบายว่า เหตุผลที่ทำให้คนส่วนหนึ่งเห็นว่า
การเปลี่ยนอาชีพใหม่เป็นเรื่องยาก ก็เพราะคนเหล่านั้นไม่อยากเสี่ยงกับการก้าวกระโดดครั้งใหญ่
ขณะที่เหตุผลอีกส่วนหนึ่ง คือ "ความเคยชิน" หลายคนยอมทนทรมานกับงานเดิม
เพราะไม่กล้าพอที่จะไปเผชิญกับเพื่อนร่วมงานใหม่ และสถานที่ทำงานใหม่

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนอาชีพใหม่อาจไม่ใช่เรื่องยากเกินไป หากเรารู้จักเตรียมตัวเหมาะสม
ลองเริ่มต้นจากก้าวเล็กๆ ที่จะนำไปสู่อาชีพที่เราต้องการ โดยไม่สูญเสียรายได้จนฐานะการเงิน
ยอบแยบ หรือส่งผลกระทบต่อครอบครัว ขั้นต้นควรประเมินตัวเอง และอาชีพเป้าหมายก่อน
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการทำงานอะไร ก็ลองพิจารณาทางเลือกตามคำแนะนำของแคพเพล
ดังนี้

สั่งสมทักษะ
ก่อนอื่นต้องดูว่าเรามีทักษะเด่นในด้านไหนบ้าง จากนั้นก็พิจารณาว่าความรู้ ความสามารถเหล่านั้น
สอดคล้องกับงานใหม่ที่สนใจทำหรือไม่ ขั้นต่อไปให้จดรายชื่อบริษัทที่ต้องการเข้าไปทำงานด้วย
และหาทางผูกมิตรกับคนในบริษัทนั้น เพื่อรับรู้ข้อมูลหากมีตำแหน่งว่าง

การสั่งสมทักษะจะช่วยให้เรานำประสบการณ์ และความรอบรู้มาประยุกต์ใช้ได้ในทันที และมักส่ง
ผลให้การเปลี่ยนงานใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น แต่ข้อเสียคืออาจต้องใช้เวลานานกว่าจะพบงานที่เรา
พอใจจริงๆ ดูตัวอย่างจาก เคธี คัฟเนอร์ อดีตนางพยาบาลผดุงครรภ์ ที่กลายมาเป็นที่ปรึกษา
อาวุโสของ เฟิสต์ ทรานสิชันส์ บริษัทจัดหางานเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในรัฐอิลลินอยส์

คัฟเนอร์ใช้เวลา 8 ปีก่อนเปลี่ยนงาน โดยระหว่างที่เธอยังทำงานอยู่ในพยาบาล
บริษัทสถาปัตย์ที่ทำหน้าที่ออกแบบโรงพยาบาล มาขอให้เธอเป็นตัวแทนติดต่อระหว่าง
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และสถาปนิกของบริษัท เธอเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทนั้นอยู่ 5 ปี
ขณะเดียวกันก็สอนวิชาการเตรียมคลอดด้วยวิธีของลามาซไปด้วยในตอนกลางคืน
เมื่อพร้อมจะเริ่มทำอย่างอื่นแล้ว เธอก็นำความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพไปสมัครงานใหม่ ในตำแหน่งผู้สรรหาพนักงานใหม่ ในบริษัทจัดหางานที่เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

หลังจากนั้นประมาณ 2 ปี คัฟเนอร์ก็ตระหนักว่าเธอยังชอบงานด้านการดูแลสุขภาพอยู่
แต่ต้องการดึงทักษะการเป็นครู และที่ปรึกษามาใช้ในงานประจำวันด้วย
เธอจึงย้ายไปทำงานกับเฟิสต์ ทรานสิชันส์ ในเวลาต่อมา


เริ่มงานใหม่แบบคู่ขนาน
ผู้เลือกใช้วิธีนี้จะยังคงทำงานหลักต่อไป ขณะเดียวกันก็ทำงานรองในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
หรือตอนกลางคืน ซี.บี.บาวแมน รองประธานและที่ปรึกษาอาวุโส ลี เฮคต์ แฮริสัน
บริษัทจัดหางานในนิวยอร์ก กล่าวว่า การทำงานสองอย่างในเวลาเดียวกันหมายความว่า
งานรองจะต้องได้เงินด้วย เพราะการมีรายได้จากงานรองจะช่วยให้เราดูน่าเชื่อถือมากขึ้น

"การทำงานรองที่ได้เงินแสดงให้เห็นว่าคุณตั้งใจทำเป็นอาชีพ
ไม่ใช่งานอดิเรก เราจะรู้สึกไม่คุ้มค่าหากทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน" บาวแมน กล่าว

การทำงานรองจะช่วยให้เรามีประสบการณ์ที่จำเป็นเมื่อคิดเปลี่ยนเป็นงานหลัก แต่ต้องระวังอย่า
ทำให้เจ้านายไม่พอใจ เพราะบริษัทบางแห่งไม่สนับสนุนให้พนักงานหาลำไพ่พิเศษ
บาวแมนแนะนำว่า ควรเก็บงานรองไว้เป็นความลับ จะได้ไม่ต้องฟังคำบ่นว่า
"คุณจะทำงานได้ดีกว่านี้ถ้าใส่ใจกับมัน" ขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่ให้งานรองดูดพลังงานของเรา
ไปจนหมด และต้องไม่กระทบความรับผิดชอบต่อครอบครัวด้วย
ทางที่ดีควรพูดคุยกับคนในบ้านให้เข้าใจกันก่อน

บาวแมนเคยเป็นผู้จัดการฝ่ายบริการด้านการตลาดในบริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อเริ่มคิด
ถึงอาชีพใหม่ เธอก็ใช้เวลาตอนกลางคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์ไปทำงานรองเป็นที่ปรึกษาด้าน
อาชีพให้กับบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่ง อีกไม่กี่ปีต่อมาเธอก็ทิ้งงานบริการด้านการตลาดที่ทำมานาน
15 ปี ด้วยการขอเกษียณก่อนกำหนดและไปเป็นที่ปรึกษาด้านอาชีพในบริษัทจัดหางานแห่งหนึ่ง
ในนิวยอร์ก ก่อนมาลงเอยที่ ลี เฮคต์ แฮริสัน อย่างในปัจจุบัน


โยกย้ายภายใน
ผู้ที่ยังต้องการทำงานกับนายจ้างเดิมต่อไป น่าจะลองพิจารณาการโยกย้ายตำแหน่งงานภายใน
บริษัท เมื่อคิดอยากเปลี่ยนสายงานใหม่ อาร์ลีน เฮิร์ช ที่ปรึกษาด้านอาชีพในชิคาโก ผู้แต่ง
หนังสือ Love Your Work and Success Will Follow กล่าวว่า
กระบวนการที่จะนำไปสู่เปลี่ยนงานใหม่ในบริษัทเดิมเรียกว่า "การปรับปรุงอาชีพให้ดีขึ้น"
ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้โอกาสใหม่ๆ และวิธีการเพิ่มพูนทักษะให้หลากหลาย
โดยพิจารณาจากงานปัจจุบัน และนายจ้าง แล้วดูว่าจะทำให้ตนเองแตกต่างออกไปได้อย่างไร

ลองมองหาหน้าที่รับผิดชอบที่ยังว่างอยู่ บางทีอาจเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ จากนั้นก็อาสา
รับผิดชอบงานนั้นระหว่างที่ยังทำงานปัจจุบันอยู่ เราอาจต้องทำงานหนักขึ้นชั่วคราว
แต่ในที่สุดแล้วก็อาจได้ย้ายไปทำงานใหม่หรืออาจได้รับการเลื่อนตำแหน่ง

เฮิร์ช กล่าวว่า เหตุผลที่คนคัดค้านวิธีนี้ ก็เพราะรู้สึกว่าจะต้องทำงานหนักขึ้นโดยไม่ได้รับค่า
ตอบแทน แต่นั่นเป็นการมองแค่สั้นๆ หากทักษะที่เราเรียนรู้มีประโยชน์จริง
เราก็สามารถเริ่มต้นอาชีพใหม่จากจุดนั้นได้


กลับเข้าชั้นเรียน
วิธีนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการไปทำงานใหม่ที่ต้องอาศัยใบรับรองการศึกษา
และเป็นงานที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพื้นเพเดิมหรือวุฒิการศึกษาที่มีอยู่

มิเชล วอล์ช ผู้ประสานงานของ โบซ์อาร์ต โซไซตี้ หน่วยงานระดมเงินทุนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ
บอยซ์ในรัฐไอดาโฮ ต้องการเปลี่ยนไปทำงานด้านการรักษาผู้ติดยาเสพติด เธอจึงไปสมัครเรียน
ภาคค่ำในสาขาวิทยาศาสตร์อนามัยที่มหาวิทยาลัยของรัฐ ด้วยหน้าที่การงานที่ทำอยู่พร้อมด้วย
ภาระเลี้ยงลูกเล็กๆ อีก 3 คน วอล์ชคาดว่าจะเรียนจบได้ปริญญาภายใน 3-7 ปี

"ดิฉันไม่ได้รีบร้อนอะไร" คุณแม่วัย 39 ปี บอก

การกลับไปเรียนใหม่จะทำให้เราได้เรียนรู้วิชาชีพใหม่ และได้รับความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นด้วย
แต่อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และเบียดบังเวลาทำงาน ลินเนตแฟรี ผู้จัดการ ฮิวแมน แคปิตอล
คอนซัลติง กรุ๊ป ออฟ สฟีเรียน บริษัทจัดการทรัพยากรบุคคลในเท็กซัส กล่าวว่า
สำหรับอาชีพบางอย่าง แค่วุฒิบัตรหรือการฝึกอบรมระยะสั้นก็อาจเพียงพอที่จะเปิดโอกาสให้เรา
เปลี่ยนงานใหม่ได้แล้ว โดยทั่วไปเธอไม่แนะนำให้กลับไปเรียนใหม่ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย


หักดิบ
สมมติเรารู้แล้วว่าอยากทำงานอะไร และไม่อาจทนทำงานเดิมได้อีกต่อไปแม้แต่วันเดียว
การลาออกทันทีอาจเป็นทางเลือกที่ทำได้ โดยเฉพาะถ้ามีเงินมากพอที่จะจุนเจือตัวเองระหว่างหางานใหม่

แฟรี กล่าวว่า หากรู้สึกเกลียดงานที่ทำอยู่ก็อาจต้องลาออกไปเลย
แต่อย่าเพิ่มความทุกข์ให้ตัวเอง สำหรับผู้ไม่มีปัญหาทางการเงินก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การลาออกเพื่อเปลี่ยนงานใหม่อาจกลายเป็นภาระใหญ่หลวงหากเราจำเป็นต้องใช้เงิน

จูลี แจนเซน ที่ปรึกษาด้านอาชีพ และนักพูดผู้สร้างแรงจูงใจ เคยเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านการ
พัฒนาธุรกิจ และการขายในบริษัทแห่งหนึ่งอยู่นาน 8 ปี และก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งรองประธาน
ในบริษัทสุดท้ายที่เธอทำ แม้มีรายได้ต่อปีเป็นตัวเลข 6 หลัก แต่เธอกลับรู้สึกหดหู่ ในที่สุดจึง
ตัดสินใจหันมาฝึกฝนอาชีพนักพูด โดยเฉพาะหลังจากเพื่อนๆ บอกว่า
เวลาเดียวที่เธอกระปรี้กระเปร่าก็คือ เวลาที่คุยกันเกี่ยวกับการพูด

หลังจากศึกษาเกี่ยวกับอาชีพนักพูดอยู่ไม่กี่เดือน แจนเซนก็ลาออกไปตั้งกิจการของตัวเองในฐานะ
นักพูดสร้างแรงจูงใจ ที่ปรึกษาด้านอาชีพ และที่ปรึกษาธุรกิจ
โดยเริ่มจากการนัดกินข้าวกลางวันกับคนรู้จักเพื่อแนะนำงานใหม่ของเธอ
ทั้งที่เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ตอนนี้เธอทำเงินได้มากกว่างานเก่าที่ลาออกมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม วิธีแบบแจนเซนนี้คงเหมาะกับผู้บริหารที่มีแรงจูงใจสูง และมั่นใจในความสามารถ
ของตนเองเท่านั้น ผู้ที่คิดว่าความสามารถยังไม่มากพอคงต้องกลับไปพิจารณาทางเลือก 4 ข้อ
ข้างต้นอีกครั้งก่อนเปลี่ยนงานใหม่

นฤมล คนึงสุขเกษม
กรุงเทพธุรกิจ


Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2552
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2552 17:41:13 น. 0 comments
Counter : 1046 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.