Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
5 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
ปลดล็อควัฒนธรรม เพื่อบริหารคนอย่างราบรื่น

ปลดล็อควัฒนธรรม เพื่อบริหารคนอย่างราบรื่น

๐ ปรับมุมมองใหม่ เพื่อเข้าใจความรากลึกของปัญหา
๐ 9 ค่านิยมหลักของคนไทย ที่ HR ต้องรู้
๐ วัฒนธรรมที่แตกต่างจะไม่ใช่อุปสรรคในการทำงานอีกต่อไป
๐ เรียนรู้วิธีการดีๆ เพื่อพัฒนาคนไปให้ถึงฝั่งฝัน

เราอาจคิดว่าเรารู้จักตัวเองดีแล้ว แต่เมื่อเราได้พบคนอื่นที่ต่างจากเรา
เรากลับเห็นว่ายังมีบางอย่างที่เรายังไม่เข้าใจ และมองเห็นตัวเองชัดขึ้น

และในหลายๆ ครั้ง การเกิดปัญหาในการทำงานมักจะเกิดจากความไม่เข้าใจกัน
ไม่ใช่เฉพาะคนต่างเชื้อชาติต่างวัฒนธรรม แต่ยังรวมถึงคนเชื้อชาติเดียวกันและวัฒนธรรมเดียวกัน
เพราะฉะนั้น การเข้าใจรากลึกหรือที่มาของความรู้สึกนึกคิด และการกระทำของคนคนนั้น
จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้

การนำเรื่องวัฒนธรรมมาสร้างความเข้าใจ เพื่อบริหารจัดการคนได้อย่างราบรื่นนั้น
ดร.วาสิตา บุญสาธร อาจารย์ประจำคณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า
ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าความคิดความรู้สึก และการกระทำของคนทุกคนมีรากฐานมา จากวัฒนธรรม
ซึ่งเปรียบเหมือน ระบบปฎิบัติการของ คอมพิวเตอร์ที่บอกว่า เมื่อไหร่ต้องทำอะไร

วัฒนธรรมคือแนวคิดแนวปฎิบัติที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตีความสิ่งรอบตัว และเป็นตัวผลักดันพฤติกรรมต่างๆ

วัฒนธรรมในโลกมีอยู่นับไม่ถ้วน และคงจะพูดยากว่าวัฒนธรรมใดดีหรือไม่ดี
โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) ด้านล่างนี้แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมมีทั้งที่เห็นอยู่เหนือน้ำ คือมองเห็นได้
เช่น บ้านเรือน อาหาร การแต่งกาย พฤติกรรมต่างๆ และกิริยาท่าทาง
แต่ยังมีส่วนที่หลบอยู่ใต้พื้นน้ำอีกมากและอาจจะมองไม่เห็น แต่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมอย่างมาก
เช่น ความเชื่อ ความคิด ค่านิยม

เคยถามฝรั่งว่าหงุดหงิดในเรื่องอะไรกับคนไทยมากที่สุด คำตอบที่ได้คือการยิ้ม
เพราะแปลความหมายการยิ้มที่มีมากมายหลายแบบของคนไทยไม่ออก
เช่น คนไทยจะยิ้มได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ไม่เข้าใจ ดีใจ เสียใจ โกรธ ฯลฯ
ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะสามารถแปลความหมายการยิ้มที่แตกต่างกันออก
เนื่องจากเรา มาจากวัฒนธรรมที่เน้นการสื่อสารแบบอ้อมๆ ด้วยการใช้อวจนะภาษา เช่น การใช้ท่าทาง
เพราะมีวัฒนธรรมของการรักษาหน้าค่อนข้างสูง จึงเลือกที่จะไม่พูดไม่ถาม
แต่ในทางตรงกันข้ามชาวตะวันตก เช่น ชาวอเมริกันมักให้ความสำคัญกับการสื่อสารโดยวจนะภาษา การพูด
เพราะมีวัฒนธรรมที่เชื่อในการพูดกันแบบตรงไม่ต้องอ้อมค้อม หรือให้ตีความเอาเอง

เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องของวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการทำงาน
ดร. วาสิตา กล่าวถึงงานวิจัยของอาจารย์สุนทรี โคมิน ซึ่งเคยเป็นอาจารย์ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
(นิด้า) เรื่อง Cross Cultural Management Communication in Thailand ในปี 1995
ซึ่งเป็นการสรุปงานวิจัยที่ได้รับการนำไปอ้างอิง ทั้งในไทยและต่างประเทศ แม้ว่าจะเป็นงานวิจัยที่ทำมานานแล้ว
แต่เป็นการเก็บข้อมูลจากคนไทยทั่วประเทศ เพื่อประมวลเป็นค่านิยมหลัก 9 ประการของคนไทย
(Cultural Value) ซึ่งมีผลต่อการทำงานของคนไทยในองค์กร
แม้ว่าปัจจุบันลำดับของค่านิยมดังกล่าว อาจจะเปลี่ยนแปลงลำดับก่อนหลังไปตามยุคสมัยหรือตามแต่ละองค์กร
แต่ค่านิยมที่เป็นอยู่โดยรวมยังคงเหมือนเดิม

ตามผลวิจัยพบว่า ค่านิยมของคนไทยเรียงลำดับจากมากไปน้อย

ค่านิยมแรก
การรักษาหน้า หรือการรักศักดิ์ศรี และให้ความสำคัญกับภาพภายนอกที่ต้องดูดี

ค่านิยมที่สอง
มีการแบ่งชนชั้นค่อนข้างสูง และให้ความสำคัญกับตำแหน่ง รวมถึงความกตัญญู
ยกตัวอย่าง องค์กรไทยจะให้การดูแลเจ้านายอย่างดี และปฏิบัติต่อคนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับตำแหน่งเป็นหลัก
หัวหน้าที่ดีสำหรับองค์กรไทยต้องดูแลลูกน้องมากกว่าเรื่องงาน อาจดูแลจนไปถึงครอบครัว

ค่านิยมที่สาม
การรักษาสัมพันธภาพ ข้อดีคือทำให้สังคมมีความสงบ บรรยากาศที่ดูกลมเกลียว
แต่ในบางครั้งการการรักษาสัมพันธภาพมากเกินไป อาจมีผลในทางตรงกันข้ามคือ
ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เกินเยียวยา ยกตัวอย่าง เมื่อเกิดความขัดแย้งคนไทยมักจะหลีกเลี่ยงหรือยอม เช่น
ในการทำงานเมื่อเพื่อนร่วมงานสร้างความไม่พอใจ เรามักจะไม่บอกตรงๆ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ และอดทน
ซึ่งข้อเสียคือ ทำให้เพื่อนคนที่สร้างความไม่พอใจไม่รู้ตัวและทำพฤติกรรมเดิมต่อไป จนในที่สุด
เมื่อเราไม่สามารถอดทนกับพฤติกรรมที่สร้างความไม่พอใจซ้ำๆ จึงกลายเป็นความขัดแย้งในขั้นแตกหัก

ค่านิยมที่สี่
การมีความยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับความคิด หลายครั้งที่คนมักจะพูดว่าคนไทยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
แต่จริงๆ แล้วคนไทยมีความยืดหยุ่นและไม่ยึดติดกับความคิด
การเปลี่ยนความคิดของคนไทยทำได้ไม่ยากหากรู้วิธีการโน้มน้าวใจ
ซึ่งต่างจากชาวตะวันตกที่จะยึดถือสิ่งที่เชื่ออย่างมาก ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของเขาได้ง่ายๆ

ค่านิยมที่ห้า
การมีความเชื่อในเรื่องศาสนาและเรื่องเหนือธรรมชาติค่อนข้างมาก
ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นคนที่มีการศึกษาระดับไหนก็ตาม

ค่านิยมที่หก
มีความเชื่อในเรื่องของการศึกษาและความสามารถ มองว่าจะช่วยนำไปสู่ความมีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ และชื่อเสียง

ค่านิยมที่เจ็ด
เชื่อในเรื่องการพึ่งพาอาศัยกัน เช่น วัฒนธรรมการลงแขกเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นการช่วยกันทำงานของคนสมัยก่อน
คนไทยจึงมักจะทำอะไรแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ในขณะที่ชาวตะวันตกจะเชื่อในเรื่องของการพึ่งพาตนเอง

ค่านิยมที่แปด รักสนุก

และค่านิยมที่เก้า ต้องการความสำเร็จในการทำงาน


สำหรับความเชื่อมโยงของค่านิยมหรือวัฒนธรรมแบบไทยๆ กับปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน จะพบว่า
ปัญหาหลักเรื่องหนึ่งของการสื่อสารในองค์กรคือการไม่สื่อสาร
และหลายครั้งการไม่สื่อสาร ก็เป็นผลจากวัฒนธรรมที่กลัวว่าพูดไปแล้วจะเสีย ความสัมพันธ์
และกลัวการเสียหน้านั่นเอง

สิ่งที่ควรทำคือ การหาวิธีการว่า จะพูด จะสื่อสาร และจะปฏิบัติอย่างไรให้เหมาะสม
โดยเข้าใจแนวคิดแบบไทยๆ และหากลวิธีที่สอดคล้องกับค่านิยม เพื่อให้ได้ประโยชน์ในงานอย่างสูงสุด

ดร.วาสิตาเสนอทางออกว่า ควรจะเปลี่ยนจาก 'คิดต่างกันแล้วไม่กล้าบอก' มาเป็น'คิดต่างแล้วกล้าพูด'
ด้วยการ การพูดให้เห็นเป็นรูปธรรม
หรือพูดที่พฤติกรรมของคนๆ นั้น ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการเสียหน้าและช่วยให้เข้าใจชัดเจน

ยกตัวอย่าง การพูดว่า 'คุณไม่มีความรับผิดชอบ' สำหรับคนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่าเฉยๆ
แต่อีกคนหนึ่งอาจจะรู้สึกว่ารุนแรง
หากเปลี่ยนคำพูดดังกล่าวเป็น 'คุณมาทำงานสาย 3 วันติดต่อกันแล้ว มีปัญหาอะไรหรือเปล่าคะ'
หรือแทนที่จะพูดว่า'คุณทำงานไม่มีคุณภาพ' เป็น 'คุณทำงานได้ 100 ชิ้น แต่มีงานที่เสีย 15 ชิ้น
ถ้าคุณทำช้าลงนิดและจับชิ้นงานให้เบาลง จะทำให้ลดปริมาณงานเสียได้มาก'
แต่อย่าระบุรายละเอียดจนทำให้รู้สึกว่าถูกจับผิดเกินไป
หรือถ้าไม่เห็นด้วยควรใช้วิธีการให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมแบบเสนอแนะ แทนที่จะบอกว่าสิ่งนั้นไม่ดีหรือผิด
เช่น 'เป็นไปได้ไม๊ที่เราจะทำ.... มีข้อเสนอว่า... ขอปรึกษาในเรื่อง...'
เพื่อให้การเสนอความคิดที่แตกต่างเกิดขึ้นได้ และทำให้คนยอมรับได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องเลือกสถานที่และเวลาที่เหมาะสม และอย่าติเพื่อความสะใจด้วยการใช้คำรุนแรง
เพราะจะเสียความน่าเชื่อถือ ต่อไปจะไม่มีใครฟัง และอาจจะทำให้เกิดผลกระทบที่เรียกว่า 'แทงข้างหลัง'
นอกจากนี้ ต้องเแสดงความเป็นมิตร จริงใจและร่วมรับผิดชอบในการแก้ไข เพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงดียิ่งขึ้น


ในเวลาเดียวกัน เมื่อปรับการสื่อสารให้เหมาะกับวัฒนธรรมแล้ว ควรปรับให้เหมาะกับผู้รับด้วย
มีการแบ่งคนในองค์กรไว้ 3 ประเภท คือ
1.คนที่ทำงานได้ดี มีศักยภาพในการพัฒนาสูง (High performer)
ควรจะให้คำติชมในระดับปานกลาง เพราะถ้าให้มากไปจะรำคาญ หรือถ้าน้อยไปจะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจ
ให้ในส่วนที่จะทำให้การพัฒนาไป ได้ดี

2.คนที่ทำงานได้ดีแต่ศักยภาพในการพัฒนามีน้อย (adequate performer)
ไม่ควรให้ข้อมูลย้อนกลับมากนัก เพราะการพัฒนา อาจจะเป็นไปได้ไม่มากควรเลือกเรื่องที่พัฒนาได้
เพราะถ้าให้มากไปอาจเกิดการ ท้อแท้

และ 3.คนที่ทำงานไม่ดีและศักยภาพในการพัฒนาเป็นไปได้น้อย (Poor Performer)
ต้องให้ข้อมูลย้อนกลับมากๆ เพื่อให้รู้ถึงสิ่งที่เป็นปัญหาแต่ก็ต้องให้แบบถูกต้องตามหลักการ เช่น
การระบุพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม พยายามรักษาหน้า
หากเป็นกรณีทีเป็นปัญหาหนักอาจต้องให้เป็นลายลักษณ์อักษร
แต่ในความเป็นจริงองค์กรไทย มักจะไม่ค่อยสื่อสารกับพนักงานกลุ่มสุดท้ายนี้
เพราะกลัวเสียความสัมพันธ์ กลัวเขาเสียหน้า จึงทำให้กลายเป็นปัญหาในหลายองค์กร

ในทางกลับกัน การชมสามารถชมต่อสาธารณะได้
เพราะอย่างไรก็ตามคนส่วนมากยังความต้องการเห็นความสำเร็จ ซึ่งควรจะชมเป็นพฤติกรรมเช่นกัน เช่น
แทนที่จะบอกแค่ว่า 'คุณทำดีมาก' ควรจะระบุเพิ่มว่า
'คุณนำเสนองานนี้ได้ชัดเจนมากโดยเฉพาะในการที่คุณยกตัวอย่างในเรื่อง ...'
หรือเมื่อต้องการชมเพื่อให้เกิดการพัฒนา เช่น 'คุณส่งงาน 10 โมง ทำได้ตรงเวลาตามที่เรานัดกันไว้'

แต่มีข้อควรระวังเมื่อต้องการจะติติงหลักจากชมคือ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า 'แต่'
เพราะจะทำให้คนๆ นั้น จดจำคำติซึ่งอยู่หลังคำว่า 'แต่' ซึ่งทำให้ความรู้สึกดีๆ ในตอนแรกหายไป
เช่น 'คุณส่งงานตรงเวลามาก แต่พิมพ์ผิดอยู่หลายที่เลย' ควรละคำว่าแต่โดยอาจใช้คำว่าถ้า ในเรื่อง ในส่วน เช่น
'คุณส่งงานตรงเวลามาก ถ้าไม่ผิดเลยงานจะออกมาดีมาก'
หรือถ้าเผลอพูดคำว่า 'แต่' ออกไปแล้วก็ไม่ต้องกลับไปแก้ ควรจะปล่อยให้ผ่านไป


ดร.วาสิตา กล่าวว่า ท้ายที่สุด เมื่อรู้ถึงวัฒนธรรมแล้ว
การทำงานกับคนไทยอย่างเข้าใจและดึงส่วนที่ดีที่สุดออกมาจากวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
วิธีการสื่อสารให้ถูกต้องเหมาะสมถือเป็นพื้นฐานง่ายๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น
และอย่าเหมารวมว่าคนไทยทุกคนเหมือนกันหมด


ที่มา : //www.manager.co.th


Create Date : 05 เมษายน 2553
Last Update : 5 เมษายน 2553 21:59:00 น. 1 comments
Counter : 1104 Pageviews.

 

บางทีเราทุกคนก็ต้องเจอกับความเครียด ท้อแท้ สิ้งหวัง
นั้นไม่ใช้อะไรที่แปลกไม่ได้หมายความว่าคุณอ่อนแอ แต่การที่คุณยอมรับว่ากลัวสิ่งนั้นต่ะหากละ
ที่เรียกว่าความกล้า กล้าทีจะยอมรับในสิ่งที่คุณกลัว กล้าจะยืนหยัดเเละต่อสู้กับมัน
แต่วันนี้ถ้าสิ่งที่คุณแบบรับไว้นั้นมันเกินกว่าที่คุณจะทนได้ ถ้ายังงั้น
วันนี้คุณลองเปิดใจให้ พระเจ้าเข้ามามีส่วนช่วยคุณคลายปัญหาของคุณได้มั้ย
ลองดูสิเเล้วคุณก็จะผ่านทุกอย่างไปได้อย่างแน่นอน!!
เหมือนที่ฉันได้ผ่านมานมาจนได้!


โดย: da IP: 124.120.7.136 วันที่: 14 พฤษภาคม 2553 เวลา:0:25:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.