Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2555
 
19 พฤษภาคม 2555
 
All Blogs
 

พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ .. ทุกรกิริยา

.




(วาระที่ ๑)
ราชกุมาร !
ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- ขบฟันด้วยฟัน
- อัดเพดานด้วยลิ้น
- ข่มจิตด้วยจิต
- บีบให้แน่นจนร้อนจัดดูที.

ราชกุมาร !
ครั้นเราคิดดังนั้นแล้ว จึง ..
- ขบฟันด้วยฟัง
- อัดเพดานด้วยลิ้น
- ข่มจิตด้วยจิต
- บีบให้แน่นจนร้อนจัดแล้ว เหงื่อไหลออกจากรักแร้ทั้งสอง,

ราชกุมาร !
เปรียบเหมือนคนที่แข็งแรงจับคนกำลังน้อยที่ศีรษะหรือที่คอ บีบให้แน่นจนร้อนจัดฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่, เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.


(วาระที่ ๒)
ราชกุมาร !
ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- เพ่งฌาน เอาการไม่หายใจเป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !
ครั้นคิดดังนั้นแล้วเราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปาก.

ราชกุมาร !
ครั้นเรากลั้นลมหายใจทั้งทางจมูกและทางปาก เสียงลมออกทางช่องหูทั้งสองดังเหลือประมาณเหมือนเสียงลมในสูบแห่งนายช่องทองที่สูบไปสูบมาฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้ยากเสียดแทงเอา.


(วาระที่ ๓)
ราชกุมาร !
ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- เพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้น)* เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราจึงกลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว.

ราชกุมาร !
ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณ แทงเซาะขึ้นไปทางบนกระหม่อมเหมือนถูกบุรุษแข็งแรง เชือดเอาที่แสกกระหม่อมด้วยมีดโกนอันคม ฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.


(วาระที่ ๔)
ราชกุมาร !
ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- เพ่งฌาน มีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว.

ราชกุมาร !
ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว รู้สึกปวดศีรษะทั่วไปทั้งศีรษะ เหลือประมาณ เปรียบปานถูกบุรุษแข็งแรง รัดศีรษะเข้าทั้งศรีษะด้วยเชือกมีเกลียวอันเขม็งฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้ว จะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.


(วาระที่ ๕)
ราชกุมาร !
ความคิดข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- เพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้า ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง. ราชกุมาร! ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสองแล้ว ลมกล้าเหลือประมาณหวนกลับลงแทงเอาพื้นท้อง ดุจถูกคนฆ่าโคหรือลูกมือตัวขยันของเขา เฉือนเนื้อพื้นท้องด้วยมีดสำหรับเฉือนเนื้อโคอันคมฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรของเราจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะได้ฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระสับกระส่ายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.


(วาระที่ ๖)
ราชกุมาร !
ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึง ..
- เพ่งฌานมีการไม่หายใจนั่นแหละ (ให้ยิ่งขึ้นไปอีก) เป็นอารมณ์เถิด.

ราชกุมาร !
ครั้นคิดดังนั้นแล้ว เราได้กลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกและทางปากและทางช่องหูทั้งสอง.

ราชกุมาร !
ครั้นเรากลั้นลมหายใจออกเข้าไว้ทั้งทางจมูกทางปากและทางช่องหูทั้งสอง ก็เกิดความร้อนกล้าขึ้นทั่วกาย ดุจถูกคนแข็งแรงสองคนช่วยกันจับคนที่กำลังน้อยที่แขนข้างละคนแล้ว ย่างรมไว้เหนือหลุมถ่านเพลิงอันระอุฉะนั้น.

ราชกุมาร !
แต่ความเพียรที่เราปรารภแล้วจะได้ย่อหย่อนก็หาไม่ สติจะฟั่นเฟือนไปก็หาไม่ เป็นแต่กายกระวนกระวายไม่สงบ เพราะกำลังแห่งความเพียรที่ทนได้แสนยากเสียดแทงเอา.

โอ ราชกุมาร !
พวกเทวดาเห็นเราแล้วพากันกล่าวว่า ..
- พระสมณโคดมทำกาละเสียแล้ว,
- บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ใช่ทำกาละแล้ว เป็นแต่กำลังทำกาละอยู่,
- บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น จะว่าพระสมณโคดมทำกาละแล้วหรือกำลังทำกาละอยู่ ก็ไม่ชอบทั้งสองสถาน พระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ นั่นเป็นการอยู่ของท่าน, การอยู่เช่นนั้นเป็นการอยู่ของพระอรหันต์ ดังนี้.

( หมายเหตุ .. จขบ.

จะเห็นได้ว่า แม้ในการมองเห็นกาละแห่งการปฏิบัติความเพียรของพระพุทธองค์ซึ่งหน้า .. ผู้มองเห็นยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน .. ด้วยจริตและพื้นความคิดที่ต่างกัน ..


ในช่วงยามการกระทำทุกรกิริยา จิตของพระสมณะโคดมยังไม่บรรลุอรหันต์ เพราะยังไม่แจ้งซึ่ง ปฏิจจสมุปบาท อย่างถูกต้อง .. แต่ "ความเห็น" ของบางคนที่มองเรื่องราวอยู่นั้นไม่สามารถเข้าใจได้ ก็เข้าใจว่านั่นเป็นความเป็นอยู่ของพระอรหันต์ ! ..

ตรงนี้เองที่เปรียบได้กับภาวะ "ตาบอดคลำช้าง" คือคนที่มีปัญญาต่างๆกัน ย่อมมองสิ่งๆเดียวกันไปคนละอย่าง .. เหมือนคนตาบอดคลำไปที่ตัวช้างแล้วพยายามอธิบายลักษณะช้างที่ตนจับต้องอยู่ .. ที่จับหางก็ว่าช้างมีลักษณะกลมเหมือนงู .. ที่จับหู ก็ว่าช้างมีลักษณะแบนเหมือนกระด้ง ..

การเที่ยวพูด หรือ การได้ยินคำพูดของผู้อื่นว่า พระ-องค์นั้นองค์นี้ เป็นอรหันต์ เป็นโพธิสัตว์ ก็ทำนองเดียวกับหมู่เหล่าที่มองว่า การกระทำทุกรกิริยาของพระสมณะโคดมคือ พฤติแห่งพระอรหันต์ นั่นเอง ..

คือเป็นความเห็นของ มิจฉาทิฏฐิ

พระพุทธองค์จึงให้ใช้หลักกาลามสูตร ในการแยกแยะเรื่องราวที่ได้รู้ได้ฟังมาก่อนจะลงความเห็นทางใดทางหนึ่ง เสมอไป



ดังนั้น การอ่านหลักธรรมที่ถ่ายทอดสืบมานับพันปี จะให้มีความเห็นไปในทางเดียวกันทั้งหมดได้อย่างไร ..

ความแตกต่างของการตึความ รวมทั้งเข้าใจความหมายในหลักธรรมที่ต่างกัน จึงต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา .. ทั้งๆที่ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การถอนอาสวะออกจากจิตได้ หรือ การบรรลุอรหันต์นั่นเอง

ขณะที่หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในคืนตรัสรู้คือ "ปฏิจจสมุปบาท" .. ได้ถูกตีความเป็น 2 ลักษณะ คือ คร่อมภพคร่อมชาติตามแบบวิสุทธิมรรค โดยพระพุทธโฆษาจารย์ และ แบบปัจจุบันขณะตามแบบสวนโมกขพลาราม โดยท่านพุทธทาสภิกขุ

มีสำนักมากมายในเมืองไทยที่แทบไม่กล้าแตะต้องหลักธรรมนี้เลย .. หรือ ไม่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรแม้สักตัวที่จะใช้ "ปัญญาวิมุติ" เข้าจับและอธิบายความต่อโลก อย่างมีเหตุมีผล

"เจโตวิมุติ" กลับเป็นภาวะที่หลากหลายสำนักใช้ "แอบ..บังหลัง" เพื่อให้ "ชนทั้งหลายเข้าใจเอาเอง" ว่า สำนักตน"เน้น" และเจ้าสำนักนั้นๆ "น่าจะ" บรรลุธรรมแล้ว !

รวมทั้งไปเน้น เรื่อง บุญนิยม สร้างบารมี ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำ .. รวมทั้งไม่ใช่ประเด็นที่คนในสมัยพุทธกาลกล่าวถึงกันแม้แต่น้อย !

ก็ในเมื่อหลักธรรมสำคัญ เช่น ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นแก่นหลักในคืนแห่งการตรัสรู้นั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็น 2 มติ ดังนั้นแล้ว .. ไฉนบรรพชิตในขอบเขตแห่งพุทธาวาส จึงไม่ยกขึ้นเป็นประเด็นถกเถียง โต้แย้ง กันให้กระจ่างเสียทีเล่า ?

เพื่อจะได้หยุดมิจฉาทิฏฐิ ที่สืบทอดมา เป็นพันปีลงเสียที .. ? )



(วาระที่ ๗)
ราชกุมาร !
ความคิดอันนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า ถ้ากระไรเราพึงปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงเสีย.

ราชกุมาร !
ครั้งนั้นพวกเทวดาเข้ามาหาเราแล้วกล่าวว่า ..
"ท่านผู้นิรทุกข์ ! ท่านอย่าปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงเลย ถ้าท่านจักปฏิบัติการอดอาหารโดยประการทั้งปวงไซร้ พวกข้าพเจ้าจักแทรกโอชาอันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนของท่าน ท่านจักมีชีวิตอยู่ได้ด้วยโอชาทิพย์นั้น".

ราชกุมาร !
ความคิดนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า เราปฏิญญาการไม่บริโภคอาหารด้วยประการทั้งปวงด้วยตนเอง ถ้าเทวดาเหล่านี้แทรกโอชาอันเป็นทิพย์ลงตามขุมขนแห่งเราแล้ว ถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ด้วยโอชานั้น ข้อนั้นจักเป็นมุสาแก่เราไปดังนี้.

ราชกุมาร !
เราบอกห้ามกะเทวดาเหล่านั้นว่าอย่าเลย.

ราชกุมาร !
ความคิดอันนี้ได้เกิดมีแก่เราว่า ถ้ากระไรเราบริโภคอาหารผ่อนให้น้อยลง วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้างดังนี้.

ราชกุมาร !
เราได้บริโภคอาหารผ่อนน้อยลง วันละฟายมือบ้าง เท่าเยื่อถั่วเขียวบ้าง เท่าเยื่อถั่วพูบ้าง เท่าเยื่อถั่วดำบ้าง เท่าเยื่อในเมล็ดบัวบ้าง แล้ว.

ราชกุมาร !
เมื่อเป็นเช่นนั้นร่างกายของเราได้ถึงการซูบผอมลงยิ่งนัก. เพราะโทษที่เรามีอาหารน้อย
- อวัยวะใหญ่น้อยของเราเป็นเหมือนเถาวัลย์อาสีติกบรรพ หรือเถากาฬบรรพ,
- เนื้อที่ตะโพกที่นั่งทับของเรา มีสัณฐานดังเท้าอูฐ,
- ข้อกระดูกสันหลังของเราผุดขึ้นระกะราวกะเถาวัลย์วัฏฏนาวลี,
- ซี่โครงของเราโหรงเหรงเหมือนกลอนศาลาอันเก่าคร่ำคร่า,
- ดาวคือดวงตาของเรา ถล่มลึกอยู่ในกระบอกตา ดุจเงาแห่งดวงดาวที่ปรากฏอยู่ในบ่อน้ำอันลึกฉะนั้น,
- ผิวหนังศีรษะของเรา เหี่ยวย่นเหมือนน้ำเต้าอ่อนที่ตัดมาแต่ยังสด ถูกแดดเผาเหี่ยวย่นเช่นเดียวกัน.

ราชกุมาร !
เราคิดว่าจะจับพื้นท้องครั้นจับเข้าก็ถูกถึงกระดูกสันหลังตลอดไป, คิดว่าจะจับกระดูกสันหลัง ครั้นจับเข้าก็ถูกถึงพื้นท้องด้วย.

ราชกุมาร !
ตถาคตคิดจะถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ก็เซล้มราบอยู่ ณ ที่นั้นเอง.

ราชกุมาร !
ตถาคตหวังจะให้กายมีความสุขบ้าง จึงลูบไปตามตัวด้วยฝ่ามือ ขนมีรากอันเน่าหลุดตกลงจากกาย.

โอ ราชกุมาร !
มนุษย์ทั้งหลายเห็นเราแล้วกล่าวว่า ..
- พระสมณโคดมดูดำไป,
- บางพวกกล่าวว่า พระสมณโคดมไม่ดำ เป็นแต่คล้ำไป,
- บางพวกกล่าวว่าจะดำก็ไม่เชิง จะคล้ำก็ไม่เชิง พระสมณโคดมมีผิวเผือดไปเท่านั้น.

ราชกุมาร !
ผิวพรรณที่เคยบริสุทธิ์ผุดผ่องของตถาคต มากลายเป็นถูกทำลายลงแล้ว เพราะความที่ตนมีอาหารน้อยนั้น.
.
.
.
บาลี โพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ม.ม. ๑๓/๔๕๒/๔๙๕;
และสคารวสูตร ม.ม. ๑๓/๖๗๘/๗๔๔;
มหาสัจจกสูตร มู.ม. ๑๒/๔๕๐/๔๑๗.
ความตอนนี้ ปาสราสิสูตรไม่มี.

-----------------------------------------------
* แปลกจากวาระที่สองด้วย เอว ศัพท์ศัพท์เดียว.




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2555
0 comments
Last Update : 20 พฤษภาคม 2555 8:49:38 น.
Counter : 1300 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.