ตัดวงจรมฤตยูเงียบก่อมะเร็ง
แม้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาระบุชัดเจนว่าน้ำมันที่ผ่านการทอดซ้ำหลายครั้งจะมีคุณภาพเสื่อมลง ก่อให้เกิดสารโพลาร์ (polar compounds) สะสมในร่างกายซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ซ้ำยังเป็นตัวการก่อโรคมะเร็งอีกหลายประเภท
แต่ถึงอย่างนั้นการบริโภคอาหารจากน้ำมันทอดซ้ำก็ยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่คุกคามสุขภาพคนไทยมายาวนานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที
วันที่2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขจึงแถลงข่าวประกาศสงครามกับน้ำมันทอดซ้ำอย่างเป็นทางการโดยกำหนดนโยบายความปลอดภัยด้านอาหารพร้อมลงนามความร่วมมือผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำจัดการใช้น้ำมันทอดซ้ำก่อมะเร็ง และสร้างวงจรอาหารปลอดภัยให้ยั่งยืน
ในงานนี้มีการอภิปรายให้ความรู้เรื่อง แนวทางจัดการกับน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ โดยนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เกริ่นว่า
การลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการร่วมมือกันอย่างครบวงจร ระหว่างภาครัฐภาคเอกชนกับภาคประชาชน รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ผู้บริโภค
โดยช่วงแรกจะเน้นการเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารทอดโดยเฉพาะการเปลี่ยนน้ำมันทอดซ้ำเป็นพลังงานทดแทนหรือไบโอดีเซล
เภสัชกรรมวรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทรผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบันทางศูนย์พยายามสนับสนุนให้ทุกชุมชนมีเครื่องผลิตไบอดีเซลขนาดมาตรฐานที่เหมาะสำหรับใช้ในอุสาหกรรมระดับชุมชนเมื่อนำน้ำมันทอดซ้ำมาแปรรูป จึงไม่เพียงลดต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลแต่ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอกด้วย
ก่อนการอภิปรายเภสัชกรรมวรวิทย์ยังฝากเทคนิคสังเกตการณ์ปรุงอาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ ดังนี้
น้ำมันจะมีสีดำคล้ำข้นเหนียวติดกับกระทะ ฟองมากมีกลิ่นไหม้
เมื่อใช้ประกอบอาหารมักก่อควันมากผิดปกติ
อาหารมีกลิ่นเหม็นหืนเหม็นไหม้ และอมน้ำมันเมื่อกินเข้าไปจะรู้สึกระคายคอ
สุดท้ายนี้แถมข่าวดีว่าอีกไม่นานเกินรอกรมอนามัยรวมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเริ่มจัดระบบตรวจสอบอาหารอย่างเคร่งครัดหากพบว่าร้านอาหารใดไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำจะได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย พร้อมตราสัญลักษณ์บ่งบอกว่าร้านนี้ปลอดน้ำมันทอดซ้ำ
เพื่อสุขภาพของตัวเองและคนที่คุณรักเลิกใช้น้ำมันทอดซ้ำได้แล้ว
(ขอบคุณเรื่องน้ำมันทอดซ้ำฯโดยประอรพิชญ์ คัจฉวัฒนา จากหนังสือ ชีวจิต)
หากผู้ที่ทำอาหารขายมีความคิดห่วงสุขภาพผู้ซื้อบ้างก็คงจะดีไม่น้อย การเปลี่ยนน้ำมันใหม่นั้นน้อยร้านเหลือเกินที่จะเปลี่ยนระหว่างทอดขาย เพราะการทอดขายอย่างต่อเนื่องจนขายหมด สะดวกกว่าการจะเปลี่ยนน้ำมันระหว่างทอดขายมีคนยืนรอซื้อ ยิ่งร้านอาหารที่มีครัวอยู่ด้านในผู้มาสั่งอาหารไม่ทราบเลยว่าเป็นน้ำมันเก่าหรือน้ำมันใหม่เพราะสีของอาหารก็ออกมาน่าทานเหมือนกัน อยู่ที่ผู้ซื้ออาหารควรจะระวังและพิจารณาเท่านั้นว่าควรซื้อหรือไม่น่าจะเป็นการควบคุมที่ยากมาก จริงๆสำหรับผู้ขายที่ไม่สนใจสุขภาพของผู้ซื้อ ตามชนบทชุมชนยังควบคุมดูแลได้บ้าง แต่คนในเมืองในตลาดกลางเมืองก็ยังคงบางร้านมีน้ำมันทอดซ้ำดำๆในกระทะผู้ซื้อก็มองเห็นแต่ก็ยังซื้อ ผู้ขายๆหมดทุกวันเหมือนเดิม เมื่อเป็นอย่างนี้ถึงบอกว่าดูแลควบคุมไม่ได้ ถึงได้ก็ได้ไม่นาน ผู้ขายบางร้านก็ทำเหมือนเดิมขอให้ขายดีขายหมด ผู้ซื้ออย่างเราก็ควรตัดสินใจดีๆก่อนซื้อๆอย่างอื่นแทนได้ไหม?
ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี