ยินดีต้อนรับครับผม
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2555
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
7 ธันวาคม 2555
 
All Blogs
 
เป็นเรื่อง! เจ้าของบ้านกลัวรถหาย ขึงลวดล้อม-ปล่อยไฟ ช็อตเพื่อนบ้านดับ


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

เจ้าของบ้านถูกโจรลักลอบขโมยอะไหล่รถยนต์หลายครั้ง ทนไม่ไหวจึงนำลวดมาขึงล้อมโรงรถ พร้อมปล่อยกระแสไฟฟ้า แต่เพื่อนบ้านถูกช็อตดับคาที่

เมื่อเวลา 07.00 น. ของวานนี้ (5 ธันวาคม) ร.ต.อ.พิชัยยุทธ บุตรทุมธัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลำลูกกา ได้รับแจ้งมีผู้ถูกไฟช็อตเสียชีวิตข้างโรงจอดรถข้างบ้านเลขที่ 36 ม.10 ต.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จึงไปตรวจสอบที่เกิดเหตุเป็นโรงจอดรถ พบเจ้าของบ้าน คือ นายสุเทพ เล็กเงาดี อายุ 48 ปี ได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าตื่นมาพบชายนอนเสียชีวิตที่โรงจอดรถและมีสายไฟกองอยู่ข้างตัว 1 กอง ทราบชื่อผู้เสียชีวิต คือ นายอาเช่ โพธิ์นาค อายุ 31 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10 ม.6 ต.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี สภาพนุ่งโสร่งตัวเดียวไม่สวมเสื้อมีบาดแผลที่ต้นแขนขวาและหน้าท้องมีรอยไหม้ เสียชีวิตมาแล้วกว่า 5 ชั่วโมง

          จากการสอบสวนนายสุเทพ ให้การว่า ตนได้นำรถยนต์กระบะโตโยต้า รุ่นโฟร์วิว หมายเลขทะเบียน ชป 9460 กรุงเทพ มาจอดในโรงรถ ซึ่งที่ผ่านมารถได้ถูกโจรเข้ามาลักอะไหล่และชิ้นส่วนรถเป็นประจำ ตนจึงนำลวดมาขึงล้อมรอบโรงจอดรถพร้อมปล่อยกระแสไฟไว้ โดยทำแบบนี้มาหลายเดือนแล้วเพื่อป้องกันคนร้ายเข้ามาขโมยสิ่งของที่เก็บไว้ในโรงรถ และคาดว่านายอาเช่ได้เข้ามาในโรงจอดรถ ก่อนเดินไปถูกสายไฟเข้า ทำให้ถูกกระแสไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

  ทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อได้ฟังเรื่องราวดังนั้น จึงนำตัวนายสุเทพไปสอบสวน เพื่อเตรียมตั้งข้อหา และดำเนินคดีต่อไป


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

กรณีตามข่าว  เป็นเรื่องน่าคิดในทางกฏหมาย  ว่าเจ้าของบ้านที่ขึงไฟฟ้าฯไว้แล้วมีคนมาโดนแล้วถูกช๊อตเสียชีวิต  เขาจะมีความรับผิดทางอาญาหรือไม่อย่างไร


อย่างไรก็ตาม  ข้อเท็จจริงตามข่าวยังน้อยไปนิด  เช่น  ผู้ตายเข้าไปทำอะไรในบ้านเขา  ไฟฟ้าที่ติดตั้งไว้ขนาดแรงแค่ไหน  มีการแจ้งเตือนมั้ย  ฯลฯ


ซึ่งเคยอ่านเจอใน บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่ม 2 ภาค 1 สมัยที่ 64  ได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้ครับ  (เห็นว่าน่าสนใจ เลยเอามาแชร์กันครับ)




คำถาม   ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน  หากมีคนร้ายมาถูกกระแสไฟฟ้าช็อต จนถึงแก่ความตาย จะเป็นความผิดหรือไม่

คำตอบ   การใช้เส้นลวดขึงแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดที่ขึงไว้นั้น หากมีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์ กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่ ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้



คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๒๓/๒๕๑๙   จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลย มีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆไว้ ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของ เคยถูกคนร้ายลักไป  ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย  ผู้ตายกับพวกอีกสามคน บุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาล โดยเจตนาจะลักทรัพย์ ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑ อัน แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน  มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้ นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้า จำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้ ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย และพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด   ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ ที่โจทก์อ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้  ( ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้  ศ.จิตติ  ติงศภัทิย์  ความว่า  โจทก์ฟ้องตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช้กำลังประทุษร้าย


คำพิพากษาฎีกาที่  ๖๔๙๐/๒๕๔๘   แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด  ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายพอสมควรแก่เหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัดย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมีมูลค่าไม่มากนัก  การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน เมื่อผู้ตายถูกกระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดดังกล่าวดูดถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนเกินสมควรกว่าเหตุตาม ป.อ. มาตรา ๖๙   จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๖๙


คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๙๑/๒๕๔๙  โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่าเด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค. ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไไฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ การที่ผู้ตายกระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย (เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย)  จำเลยจึงมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๒๐ โวลท์ ที่สามารทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมาก ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙  ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้



คำพิพากษาฎีกาที่  ๗๖๕๐/๒๕๕๓   จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักจำเลย จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก. บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฏหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลย ที่จำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้  แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง ๒๒๐ โวลต์ ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้  ดังนั้น  แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้  แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๖๙  (จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๖๙)  



ที่มา -  บทบรรณาธิการเนติบัณฑิต เล่ม 2 ภาค 1  สมัยที่ 64




Create Date : 07 ธันวาคม 2555
Last Update : 7 ธันวาคม 2555 10:13:35 น. 0 comments
Counter : 2157 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

อุบลแมน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Friends' blogs
[Add อุบลแมน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.