Group Blog
 
<<
มกราคม 2555
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
4 มกราคม 2555
 
All Blogs
 
รัฐธรรมนูญ"ครึ่งใบ-เต็มใบ" โดยนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม



รัฐธรรมนูญ"ครึ่งใบ-เต็มใบ" โดยนคร พจนวรพงษ์ อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

รัฐธรรมนูญฉบับใดจะเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบเต็มใบหรือเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร สิ่งสำคัญยิ่งอยู่ที่ช่วงระยะเวลาการยกร่างจัดทำว่าอยู่ในยุคสมัยใด ภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน หรือยกร่างจัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจหรือไม่

รัฐธรรมนูญฉบับยกร่าง

จัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจ

ขอนำเสนอรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับในยุคหลังๆ หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยคเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 9 ฉบับ (ฉบับที่ 10-18)




เป็นฉบับชั่วคราว 4 ฉบับ คือ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2519) ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2520) ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2534) และฉบับที่ 17 (พ.ศ.2549) แต่ละฉบับจะหาความเป็นประชาธิปไตยใดๆ ไม่ได้เลย



การยึดอำนาจการปกครองหรือการปล้นอำนาจจากประชาชน แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเหล่านั้น เป็นเครื่องมือเข้าควบคุมการบริหารราชการบ้านเมืองของคณะรัฐประหาร ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง นานาอารยประเทศดูถูกดูแคลนว่าการใช้กำลังยึดอำนาจนั้น เป็นการกระทำของอนารยชนคนป่าเถื่อน (barbarian) ไม่ต่างอะไรกับชนเผ่าที่ล้าหลังแย่งชิงอำนาจกันในกาฬทวีป




สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับถาวรมี 5 ฉบับนั้น มี 2 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) และฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ที่ยกร่างจัดทำภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบานถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด แต่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 3 ฉบับที่ยกร่างจัดทำเกิดขึ้นภายใต้ความครอบงำของคณะรัฐประหารผู้ยึดอำนาจ กล่าวคือ




ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2521) เกิดขึ้นภายหลังจากที่ พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ทำรัฐประหารซ้ำเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2534) เกิดขึ้นภายหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534




ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2550) เป็นฉบับปัจจุบัน เกิดขึ้นภายหลังคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ต่อมาแปรสภาพเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549




รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว การยกร่างจัดทำอยู่ในความครอบงำและอิทธิพลของบุคคลในคณะรัฐประหารเป็นส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็เช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ ปี 2521 และปี 2534 ที่เปิดทางให้บุคคลในคณะรัฐประหารหรือบุคคลที่คณะรัฐประหารสนับสนุน สืบทอดอำนาจต่อไป ตัวอย่างเช่น บุคคลที่มีตำแหน่งในองค์กรอิสระที่สำคัญๆบางองค์กร คปค.หรือ คมช.แต่งตั้งไว้แล้ว ให้คงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระ (6 ปี 7 ปี หรือ 9 ปี แล้วแต่กรณี) ตามมาตรา 232, 242, 247 ประกอบมาตรา 299 เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบดูได้จาก "บทเฉพาะกาล" อันเป็นบทสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้




เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ จะเอาความเป็นประชาธิปไตยมาจากไหน ในเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จำนวน 35 คน ที่ทำหน้าที่ยกร่างจัดทำก็ดี สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 100 คน ที่ทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญก็ดี เป็นบุคคลที่คณะรัฐประหาร โดย คมช.คัดเลือกแต่งตั้งเข้ามาทั้งสิ้น การยกร่างจัดทำอยู่ในความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจตั้งแต่ต้นจนจบ




แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้จะผ่านการลงประชามติของประชาชนทั้งประเทศก็ตาม แต่ก็เป็นการลงประชามติภายใต้การกดดัน ข่มขู่หรือบังคับและการแทรกแซงทุกวิธีการทุกวิถีทาง จากอิทธิพลของคณะรัฐประหารที่มีอำนาจสูงสุดและควบคุมการบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น แล้วจะไปหวังอะไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้




การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 นี้ โดยอาศัยบทบัญญัติตามมาตรา 291 โดยหยิบยกมาแก้ไขบางเรื่องบางมาตรา การแก้ไขเพิ่มเติมด้วยวิธีการเช่นนี้ แม้จะปรับปรุงหรือดัดแปลงแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร ก็ไม่พ้นซากเดนหรือผลพวงซึ่งเกิดจาก จิตวิญญาณของการรัฐประหารที่ยึด "อำนาจเผด็จการ" เป็นหลักการ แทรกซึมอยู่ทั่วไปในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไม่รู้จักจบสิ้น วิธีการนี้ไม่ควรที่จะกระทำหรือแม้แต่ที่จะคิด พูดง่ายๆ ก็คือตัดทิ้งไปได้เลย



เปรียบเสมือนการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านที่อยู่อาศัยให้ "บ้านคือวิมานของเรา" ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขจากโครงสร้างเดิมที่เป็น "บ้าน" มิใช่ว่าโครงสร้างเดิมเคยเป็น "รถถังและปืนใหญ่" มาก่อน แล้วการแก้ไขจากโครงสร้างเช่นนั้นจะได้อะไรขึ้นมา เราควรจะเขียนแบบวางผังตีแปลนสร้างบ้านทั้งหลังขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่ต้องไปเสียดายหรือเสียเวลากับโครงสร้างเดิมที่ไม่ใช่ "บ้าน" นั้นอีกต่อไป

รัฐธรรมนูญฉบับยกร่าง

จัดทำภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) และฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ได้ยกร่างจัดทำขึ้นในยุคสมัยที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เนื้อหาจึงเป็นประชาธิปไตยมากกว่าฉบับที่ยกร่างจัดทำภายใต้ความครอบงำของคณะผู้ยึดอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย


การศึกษาข้อมูลในอดีตถึงการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปใช้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไปได้บ้าง


รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 (พ.ศ.2517) ยกร่างจัดทำในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ "วันมหาวิปโยค" 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ" จำนวน 18 คน มีนายประกอบ หุตะสิงค์ เป็นประธาน "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" ซึ่งมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานสภา พิจารณาอนุมัติรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 นี้



อาจพูดด้วยความภาคภูมิใจของคนไทยในขณะนั้นได้ว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่ง มากกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา (ฉบับที่ 1-9)




รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (พ.ศ.2540) ระหว่างช่วงใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 15 เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง กำหนดกลไกทางการเมือง ให้สามารถแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง ในยุคสมัยนั้นประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานที่สุด กระแสเรียกร้องต่างๆ ผลักดันไปสู่การยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น


หลังการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2538 พรรคชาติไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งวางนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นกุญแจดอกสำคัญ นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองของไทยอย่างจริงจัง ได้แต่งตั้ง "คณะกรรมการปฏิรูปทางการเมือง" มีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธาน ด้วยการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้ ในที่สุดได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 ที่สำคัญยิ่งก็คือกำหนดให้มี "สภาร่างรัฐธรรมนูญ" ดำเนินการยกร่างจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ


สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ประกอบด้วยผู้มีชื่อเสียงของแต่ละจังหวัด จังหวัดละคน 76 คน ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน สาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมืองการบริหารราชการแผ่นดินหรือการร่างรัฐธรรมนูญ 23 คน รวม 99 คน สภาร่างรัฐธรรมนูญมีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธาน ผู้พิจารณาและอนุมัติคือรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย ส.ส.จากการเลือกตั้ง 393 คน ส.ว.ที่แต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว 262 คน รวม 655 คน ในช่วงนั้นมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี




การยกร่างจัดทำตลอดจนการพิจารณาอนุมัติ ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ อีกทั้งการยกร่างจัดทำเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศประชาธิปไตยที่เบ่งบาน โดยคำนึงถึงความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ




รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 นี้ เมื่อศึกษาโดยละเอียดแล้วจะพบหลักปรัชญาในการปฏิรูปการเมืองอย่างมีระบบและสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยบัญญัติวางหลักการปฏิรูปการเมืองไว้ดังนี้




บัญญัติวางหลักกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐ กระบวนการใช้อำนาจรัฐ และกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐไว้อย่างครบถ้วน มีการกล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวางทั่วไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2540) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุด เหมาะสมที่สุดสำหรับประชาชนคนไทย และขนานนามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

นคร พจนวรพงษ์ : อดีตผู้พิพากษาศาลยุติธรรม


credit : Matichon


Create Date : 04 มกราคม 2555
Last Update : 4 มกราคม 2555 19:18:38 น. 0 comments
Counter : 1254 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.