happy memories
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
23 มิถุนายน 2558
 
All Blogs
 

เสพงานศิลป์ ๒๑๗





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










“สุข” และ “ศิลป์” ของคนเล่น “แผ่นเสียง”



หนึ่งในบรรดาของสะสมสำหรับคนที่โหยหาอดีต หลงใหลในความคลาสสิกคือ “แผ่นเสียง” เพื่อแลกกับการได้แผ่นเสียงบางแผ่นมาครอบครอง หลายคนยอมจ่ายเงินในราคาหลักพันไปจนถึงหลักหมื่น ไม่เฉพาะแต่เสียงเพลงจากแผ่นไวนีล ผลิตในระบบอนาล็อค ที่(บางคนบอกว่า)มีความเป็นธรรมชาติและนุ่มนวลกว่า และ หลายเพลงหาฟังไม่ได้ในระบบดิจิตอล คุณค่าทางใจจากการได้เสพความงามของภาพวาด ภาพถ่ายเก่าๆ ตลอดจนงานออกแบบกราฟิกในยุคที่ต้องอาศัยมือตัดแปะ ก็มีส่วนไม่น้อย





ธำรง จั่นเพ็ชร์ นักสะสมแผ่นเสียง และเจ้าของ Rider Records



ศิษยเก่าช่างศิลป หลงใหลแผ่นเสียงเพลงไทย



“คนที่เริ่มเล่นแผ่นเสียง แรก ๆ ก็เพราะรู้สึกว่า มันคลาสสิกดี ขนาดมันใหญ่ดี ปกมันสวยดี แต่พอเล่นไปสักระยะก็อยากจะได้คุณสมบัติที่มากไปกว่านั้น รวมถึงคุณภาพของเสียง ขณะที่บางคนแค่ได้เห็นว่าภาพวาดภาพถ่ายบนปกมันสวยดี ยังไม่ทันรู้ว่าเพลงอะไรหรือของใครก็ชอบแล้ว”


คือคำบอกเล่าของ ป็อก - ธำรง จั่นเพ็ชร์ หนึ่งในนักสะสมแผ่นเสียง และเจ้าของ Rider Records ร้านขายแผ่นเสียงเพลงไทย บนถนนราชพฤกษ์ ที่เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ในช่วงที่แผ่นเสียงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ป็อก ยอมรับว่า เขาก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความสุขกับการได้เสพความงามบนปกแผ่นเสียง จากจุดเริ่มต้นที่ได้มีโอกาสเห็นและฟังเพลงจากแผ่นเสียงครั้งแรกที่บ้าน ซึ่งเป็นของพ่อ กระทั่งพัฒนามาสู่การเป็นนักสะสมและเปิดร้านขายแผ่นเสียงในที่สุด


“สมัยเด็กๆก็ไม่ได้คิดอะไร แค่ฟังเพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พอโตขึ้น ฟังเพลงมาเรื่อย ๆ และเรียนศิลปะมาด้วย(ศิษย์เก่าวิทยาลัยช่างศิลป) ซึ่งเพลงก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเหมือนกัน ยิ่งบนปกของแผ่นเสียงมีทั้งภาพวาดภาพถ่ายก็เลยยิ่งชอบ และทำให้เราสนใจสังเกตรายละเอียดบนปกแผ่นเสียงมากขึ้น ผมมาเริ่มต้นสะสมแผ่นเสียงจริงจังเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ก่อนจะมาฟังเพลงไทยจากแผ่นเสียง ผมฟังสากลมาก่อน พอมาได้เห็นร้านแผ่นเสียง ทำให้นึกถึงว่าสมัยก่อนเราก็เคยเล่นแผ่นเสียงของพ่อที่บ้าน และทีแรกที่เริ่มซื้อเพราะเพลงนั้นเพลงนี้ ที่บ้านเรายังไม่มี เลยอยากลองซื้อมาเล่นดู ยิ่งพอมารู้ว่าอาจารย์ของเราที่เคยสอนเราตอนเรียนช่างศิลป ก็เล่นด้วย จึงเริ่มเก็บแผ่นเสียงเพลงไทยทีละแผ่นๆ แล้วพอเริ่มจริงจัง ก็เลิกฟังเพลงสากลจากซีดีไปเลย”







ปกแผ่นเสียงจากภาพวาดและภาพถ่ายหายาก ราคาสูง



ป็อกเล่าว่า พัฒนาการของภาพบนปกแผ่นเสียงไวนีล ในระบบอนาล็อค โดยเฉพาะแผ่นเสียงเพลงไทย เริ่มต้นด้วยการใช้ “ภาพถ่ายขาวดำ” มาทำเป็นปก จนมาสู่ยุคที่ใช้ “ภาพวาด”


พนม สุวรรณบุณย์, เปี๊ยก โปสเตอร์, ปยุต เงากระจ่าง และอีกหลายท่านที่อาจไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เหล่านี้คือตัวอย่างนักวาดผู้โด่งดังในอดีต ที่เคยฝากผลงานไว้บนปกแผ่นเสียงเพลงไทย และกลับมานิยมใช้ภาพถ่ายอีกครั้ง ในยุคที่เมืองไทยเริ่มมี “ภาพถ่ายสี” รวมไปถึงภาพปกแผ่นเสียงที่ใช้ “งานออกแบบกราฟิก” ในยุคที่ต้องอาศัยมือตัดแปะระหว่างภาพวาดและภาพถ่าย


อย่างไรก็ตามในตลาดของคนเล่นแผ่นเสียงเพลงไทย ป็อกให้ข้อมูลว่า ปกที่เป็นภาพถ่ายเก่า ๆหายากและภาพวาด ล้วนแต่มีราคาสูงด้วยกันทั้งคู่ แต่ในตลาดทั่วไป ปกที่เป็นภาพวาด ยังมีราคาที่สูงกว่า ระหว่างที่สนทนากัน ป็อกหยิบปกแผ่นเสียง ๔ ปก ได้แก่ เรือนแพ, ลาวดำเนินทราย, เงิน เงิน เงิน และรักเธอเสมอ ที่เขาสะสมไว้ส่วนตัวมาให้ชม ซึ่งล้วนแต่เป็นปกหายาก มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของนักสะสมแผ่นเสียงเพลงไทย ผลิตขึ้นเมื่อต้นปี ๒๕oo ช่วงเวลาบ้านเรายังผลิตแผ่นเสียงเองไม่ได้ ต้องส่งไปจ้างบริษัทในต่างประเทศช่วยผลิต ได้แก่ ญี่ปุ่นและอินเดีย







คนเขียนรูปชื่นชอบการฟังเอง



ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปที่ผนังร้านก็จะพบว่า มีภาพเขียนสีน้ำมันหลายภาพติดให้ชมอยู่ด้วย ซึ่งภาพเขียนเหล่านี้ นอกจากจะทำให้ร้านมีบรรยากาศกึ่งร้านขายแผ่นเสียงกึ่งแกลเลอรี่แสดงงานศิลปะ ยังทำให้เราหวนนึกถึงภาพบนปกแผ่นเสียงเพลงไทยหลาย ๆ แผ่น เจ้าของผลงานคืออาจารย์ของเจ้าของร้านนั่นเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ตั้งเจริญ อดีตอาจารย์สอนศิลปะรั้วช่างศิลปและคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร ซึ่งปัจจุบันเออร์ลี่รีไทร์จากอาชีพประจำ มาทำงานศิลปะอยู่ที่บ้านย่านพุทธมณฑลสาย ๔


ผศ.พิชิต เล่าย้อนความหลังไปเมื่อ ๓o ปี ก่อนว่า การเปิดเพลงฟัง ขณะที่ทำงานศิลปะไปด้วย เป็นสิ่งที่ชอบทำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีเพลงจากแผ่นซีดีให้ฟัง สื่อที่ใช้ในการฟังเพลงมีเพียงสองอย่างคือ แผ่นเสียงและเทปคาสเซ็ท แต่เนื่องจากแผ่นเสียงมีราคาแพง โอกาสที่จะซื้อหามาฟังจึงมีไม่มาก


บ่อยครั้งที่ไปเดินดูร้านแผ่นเสียงละแวกวังบูรพา ทำให้รู้จักและอยากฟังเพลงบางเพลงที่ไม่มีบันทึกเป็นเทปคาสเซ็ท ทางเลือกแก้ขัดในตอนนั้นสำหรับคนเบี้ยน้อยจึงมีเพียงการไปยืนฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่ร้าน “รามาพาณิชย์” หน้าโรงแรมโอเรียลเต็ล ซึ่งเป็นร้านนำเข้าแผ่นเสียง มีให้ทดลองเปิดฟังก่อนตัดสินซื้อ และมีบริการรับถ่ายเพลงจากแผ่นเสียงลงเทปคาสเซ็ท











เสพศิลป์บน “แผ่นเสียงเพลงฝรั่ง” สู่ “แผ่นเสียงเพลงไทย”



กระทั่งในช่วงเวลาที่เป็นอาจารย์ที่รั้วช่างศิลปมีโอกาสเดินทางไปอังกฤษเพื่อเขียนภาพที่วัดไทยพุทธประทีป เมื่อพบว่าแผ่นเสียงที่นั่นมีราคาถูกพอๆกับเทปคาสเซ็ท ครั้นเมื่อเดินทางกลับเมืองไทย จึงหอบหิ้วเอาแผ่นเสียงกลับมาเป็นจำนวนมาก และเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดสะสมแผ่นเสียงอย่างจริงจังมานับแต่นั้น


“กลับมาก็โอ้โห ซื้อแผ่นเสียงมาเยอะมาก ส่งมาทางเรือเป็นลัง รวมถึงเครื่องเสียงสองลัง(หัวเราะ) เป็นเพลงสากลล้วน ๆ เมื่อก่อนยังไม่ได้ฟังเพลงไทย โดยเรื่องของเพลงเป็นตัวนำสำคัญที่ทำให้สะสมแผ่นเสียง แต่ด้วยความเป็นคนศิลปะก็ทำให้มองเรื่องความงามของปกแผ่นเสียงนับตั้งแต่ตอนนั้นด้วย โดยเฉพาะงานออกแบบปกแผ่นเสียงของฝรั่ง มีออกแบบที่ดี ทำให้เราเห็นถึงความใส่ใจ ในการออกแบบแผ่นเสียงให้มีความงาม ต้องยอมรับว่าเค้ามีตรงนี้มานาน ตลอดจนมีการออกแบบให้เข้ากับแนวเพลงของดนตรี”


โดยเฉพาะความงามของแผ่นเสียงจาก Blue Note Records ค่ายเพลง ที่ผลิตเพลงแนว Jazz ที่ ผศ.พิชิต บอกว่าชื่นชอบมากเป็นพิเศษ


“เขาจะมีการออกแบบโดยใช้ภาพของนักร้องหรือนักดนตรีเจ้าของอัลบั้มเพลงนั้นๆมาออกแบบร่วมกับฟอนต์ตัวอักษรของชื่ออัลบั้ม ภายใต้องค์ประกอบและโครงสีที่ไม่ซับซ้อน มีแค่ ๒-๓ สีเท่านั้นเอง เป็นจุดเริ่มต้นให้มีความชอบในเรื่องการออกแบบปกแผ่นเสียงอย่างจริง เวลาไปดูแผ่นเสียงต้องหาดูของ Blue Note ในส่วนตัวอาจจะเพราะเป็นค่ายเพลงที่เก่าแก่มีเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางดนตรีที่เดินทางมาด้วย Jazz สถานเดียว และมีเอกลักษณ์เรื่องการออกแบบปกแผ่นเสียงที่เด่นชัดมาก ซึ่งเพื่อนรุ่นน้อง(ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี) ที่ก็เล่นแผ่นเสียงและฟังดนตรี Jazz ด้วยกันมา และสะสมแผ่นเสียงของ Blue Note เยอะมาก ก็ยังเห็นพ้องเลยว่าโลกของ Jazz มีความละม้ายคล้ายกับทัศนศิลป์ และชอบการออกแบบปกแผ่นเสียงของค่ายนี้เหมือนผม และตัวเขาเองก็เคยออกแบบปกให้แผ่นเสียงเพลงไทย”


ในเวลาต่อมาเมื่อมีโอกาสคลุกคลีกับนักสะสมแผ่นเสียงเพลงไทยและมีรายได้พอที่จะเจียดมาซื้อแผ่นเสียงเพลงไทย ผนวกกับมีพี่ชายที่ชอบประดิษฐ์เครื่องเสียงง่าย ๆ ใช้เอง เปิดแผ่นเสียงให้ได้ยินเข้าหูอยู่เรื่อย ๆ และรสนิยมส่วนตัวที่ทำให้หันเหมาซึมซับกับวิถีและคุณค่าความเป็นไทยในอดีตมากขึ้น


“หลายอย่างของความเป็นไทย ได้เข้ามาอยู่ในความพึงพอใจและหันหน้าเข้าไปหาสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น รวมถึงเรื่องราว และสุนทรียภาพในศิลปะการออกแบบปกแผ่นเสียงของเพลงไทยด้วย”


อีกทั้งหนึ่งในบรรดานักวาดปกแผ่นเสียงอย่าง เปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านการเขียนโปสเตอร์ภาพยนตร์ด้วย ยังเป็นผู้ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจทำให้อยากเรียนศิลปะมาก่อน











จาก “หนาวลมที่เรณู” ถึง “เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย”



กระทั่งเมื่อปี 2554 แรงบันดาลใจที่ได้รับจากแผ่นเสียงเพลงไทยก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในผลงานศิลปะของ ผศ.พิชิต เป็นครั้งแรก


“ความคิดทางศิลปะของผมในช่วงเวลานั้น มีความสนใจในสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับความเป็นไทย โดยเฉพาะเรื่องในอดีตที่มีคุณค่า ได้หยิบจับมาทำหลายๆสิ่งหลายๆอย่าง เช่น ภาพในความทรงจำ ส.ค.ส.สมัยเก่า ที่เป็นพวกภาพนกบิน กระท่อมปลายนา ที่เป็นภาพง่าย ๆ เชย ๆ และหนึ่งในจำนวนนั้นคือปกแผ่นเสียงเพลงไทย ผมไปถูกใจกับภาพปกแผ่นเสียง เสียงขลุ่ยบ้านนา หนาวลมที่เรณู ของ ศรคีรี ศรีประจวบ เลยหยิบจับมานำเสนอผ่านงานศิลปะเมื่อปี ๕๔ ซึ่งเรื่องราวในภาพคล้ายจะเลือนหาย ขอบภาพมีสีสด เพราะผมเจตนา ให้คนมองเกิดการเปรียบเทียบ มีการนำเอาลักษณะของอาร์ตเวิร์คของสื่อสิ่งพิมพ์สมัยก่อนมาสร้างองค์ประกอบของภาพ”


ขณะที่ภาพเขียนสีน้ำมันที่กำลังติดแสดงภายในร้าน Rider Records ที่แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากปกเสียงเพลงไทยเช่นกัน แต่ ผศ.พิชิต ให้ชื่อผลงานชุดนี้ เรื่องราวจากแผ่นเสียงเพลงไทย ด้วยเหตุที่ว่า


“เพราะผมไม่ได้ทำงานชุดนี้เพราะได้รับแรงบันดาลใจมากจากแค่ปกแผ่นเสียง แต่เป็นแรงบันดาลใจทั้งหมดเกี่ยวกับแผ่นเสียง ทั้งในเรื่องของดนตรี ความสวยงามของภาษาในเพลง สุนทรียภาพบนปกแผ่นเสียงภาพ และของคนในยุคนั้น เป็นช่วงเวลาที่ผมเออร์ลี่รีไทร์ตัวเองออกมาเพื่อทำงานศิลปะโดยตรง ใช้เวลาที่เหลือขลุกอยู่กับศิลปะและเพลง เพราะรักสองสิ่งนี้มาก ระหว่างที่แสวงหาสิ่งที่จะมาทำงานศิลปะ ก่อนหน้านี้ เคยมีภาพนางรำภาพหนึ่งมาติดที่ร้าน ลูกศิษย์ถามว่า อาจารย์ไม่ลองเขียนภาพพอร์เทรตบ้างหรือ ก็เลยรับปากเขาว่าจะลองทำดู ถือมันเป็นช่วงเวลาที่เรานึกถึงคุณค่าของความเป็นดนตรีไทย มากขึ้นกว่าสมัยก่อน ทั้งเอกลักษณ์ของดนตรีไทย ทั้งนักร้องที่มีเสน่ห์ มีความสามารถ ภาษาที่สวยงาม มีเรื่องของดนตรีไทยให้อยากทำเยอะ”







ยกย่องคนดนตรีไทย



ผศ.พิชิต สร้างผลงานชุดนี้ขึ้นเพื่อยกย่องบุคคลทางดนตรีไทย ด้วยการนำเรื่องราวของแผ่นเสียง ดนตรี ศิลปะ มาตีความใหม่ ให้เป็นเรื่องราวของความรู้สึกนึกคิดของตัวเองในปัจจุบัน ในการที่จะพูดถึงคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น ให้ได้มากที่สุด และขณะเดียวกันได้นึกไปถึงระบบสิ่งพิมพ์ไทยและภาพจิตรกรรมไทยสมัยก่อนที่ใช้สีไม่มาก


“โดยอันดับหนึ่งผมทำเพื่อจะยกย่องบุคคลทางดนตรี ที่ผ่านมาผมไม่ค่อยเขียนภาพคน แต่จะเขียนภาพสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรมที่มันโยงไปกับชีวิตมากกว่า มีปกแผ่นเสียงอันหนึ่งที่ให้แรงบันดาลใจ คือปกแผ่นเสียงของ ผุสชา โทณะวณิก ที่ผลิตขึ้นในช่วงที่ระบบแผ่นเสียงใกล้ ๆ จะเลิกผลิต เริ่มมีการทำแผ่นเสียงต้นทุนต่ำ ผลิตด้วยสีเพียงสีเดียว แต่สีเดียว ผมกลับมองว่า ถ้าทำดี ๆ มันสวยจังเลย ผมจึงนำความคิดง่าย ๆ ซื่อ ๆ ไม่สลับซับซ้อนแบบนั้น มาเรียบเรียง จัดให้เกิดความพอเหมาะพอดีในภาพ เพื่อจะสะท้อนถึงคุณค่าความเป็นไทย ดนตรีในยุคนี้ ทั้งตัวดนตรี ความสวยงามของภาษาเพลง และศิลปะในช่วงเวลานั้น ที่มันมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์มาก”











พระบรมสาทิสลักษณ์ 'ในหลวง' ภาพแรกในชีวิต



ตัวอย่างภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดนตรี นอกจากจะเป็นภาพเขียนภาพแรกในชีวิตที่ ผศ.พิชิต อยากจะลองเขียนภาพพระองค์ท่าน ยังเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทราบถึงแนวทางในการนำเสนอภาพเขียนชิ้นอื่น ๆ ในชุดเดียวกันนี้ด้วย


“เปิดนิตยสารเก่า (ไท-ทรรศน์) เห็นภาพพระฉายาลักษณ์ขณะทรงดนตรีที่เป็นต้นแบบในการนำมาเขียนภาพนี้ นอกจากจะชอบมาก ยังทำให้นึกถึงสีเหลืองซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ และนึกไปถึงพระปรีชาญาณทางดนตรีของพระองค์ท่าน รวมถึงเพลงพระราชนิพนธ์ที่ชอบอยู่สองเพลงคือ ชะตาชีวิต'และ แสงเทียน แล้วมันมีแผ่นเสียงแผ่นหนึ่งชื่อ แสงเทียน ซึ่งเป็นอัลบั้มเพลงของ สุนทราภรณ์ เดิมที อาจารย์พนม สุวรรณบุณย์ เป็นผู้วาด เป็นภาพเขียนผู้หญิงใส่ชุดไทย มีภาพเทียนเป็นองค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์ในภาพ ผมจึงนำเอาแรงบันดาลใจคร่าว ๆ ที่ได้รับจากแผ่นเสียงแผ่นนั้น รวมถึงฟอนต์ตัวอักษร เข้ามาจัดสรรใหม่ ประกายบนภาพ คล้ายในงานแผ่นเสียงบางชุดของ สมยศ ทัศนพันธุ์ ที่เป็นพระอาทิตย์ฉายแสง”


ด้วยเหตุนี้เรื่องราวจากแผ่นเสียงเพลงไทยของ ผศ.พิชิต จึงไม่ใช่เรื่องราวจากแผ่นเสียงแผ่นใดแผ่นหนึ่ง แต่เป็นหลายๆเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคแผ่นเสียงเพลงไทย ที่ถูกนำมาจัดองค์ประกอบไว้ในภาพแต่ละภาพ


วันเสาร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๒.oo - ๒๔.oo น. เชิญร่วมงานเปิดตัวภาพเขียนชุด “เรื่องราวจากแผ่นเสียงไทย” โดย ผศ.พิชิต ตั้งเจริญ และร่วมพบปะพูดคุย พร้อมประมูลแผ่นเสียงมือสอง ณ ร้าน Rider Records ถ.ราชพฤกษ์ โทร. o๘๑-๘๕๔-o๒๓๑ และ o๘๖-o๙๕-๒๒๔๑





ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิชิต ตั้งเจริญ
เจ้าของภาพเขียนชุด “เรื่องราวจากแผ่นเสียงเพลงไทย”












ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














face to face


นิทรรศการ : “face to face”
ศิลปิน : วิญญากร จันทะศิริ, ธีธัธ ธนโชค ทวีพร
ลักษณะงาน : จิตรกรรม
ระยะเวลาที่จัดแสดง : วันที่ ๒๔ มิถุนายน ถึง ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ : วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.oo น.
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๑
ติดต่อศิลปิน : o๘๑-๑๔๒-๘o๕o


แนวความคิด
แนวคิดเกี่ยวกับความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งรอบตัวในยุคปัจจุบัน







ภาพและข้อมูลจาก
chamchuriartgallery.blogspot.com














เรา…….ต่าง เดินทาง


นิทรรศการ : “เรา…….ต่าง เดินทาง” (Differrent /Pathway)
ศิลปิน : ชัยณรงค์ (จานย์สีน้ำ) โภชาธาร
ลักษณะงาน : จิตรกรรม
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๒
ติดต่อศิลปิน : o๘๗-๒๖๗-๗๗๙๙



แนวความคิด

ทุกสรรพสิ่ง เคลื่อนไหว ตามทางแห่งวิถีตนในทางโคจร หากฝันคล้ายเรือน้อยลอยไหล บางลำว่างเปล่า บางครั้งเปี่ยมล้นพลัง และบางคราอ่อนแรงผ่อนพัก บนทางโคจร ดี ร้าย เราต่าง…สัมพันธ์ เอื้อเกื้อกูล เป็นดั่งกันและกัน ตราบที่เรา ต่าง….เดินทาง



ภาพและข้อมูลจาก
chamchuriartgallery.blogspot.com














สืบสานสายใยผ้าไทย-อาเซียน เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ



กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม เปิดตัวรายการโทรทัศน์ชุด“สืบสายใย...ผ้าไทย-อาเซียน” เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ องค์อุปภัมภ์ผู้ฟื้นฟูผ้าไทย โดยจะนำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างผ้าไทยและผ้าในภูมิภาคอาเซียนอีก ๙ ประเทศ ในฐานะที่ผ้าไทยเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยให้แพร่หลายยิ่งขึ้น


ในงานได้รับเกียรติจาก นางฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางลภามาศ ตัณฑวรรธนะ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักโทรทัศน์ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ อดีตคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ผู้ดำเนินรายการ “สืบสานสายใย...ผ้าไทย-อาเซียน” และ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ ร่วมงานแถลงข่าว


นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมหลากหลายที่เป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยให้เป็นที่แพร่หลาย การจัดทำรายการโทรทัศน์ “สืบสายใย...ผ้าไทย-อาเซียน” ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ๔ ข้อ ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงเป็นผู้นำในด้านการอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมผ้าไทยให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวนาเกษตรกรศิลปินผู้ทอผ้า สอง สนองนโยบายรัฐบาลที่จะนำภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สาม ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย ส่งเสริมค่านิยมการใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน และ สุดท้ายในโอกาสที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ AEC ซึ่งผ้าไทยถือเป็นมรดกร่วมทางวัฒนธรรมของผ้าอาเซียน อันจะก่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และเศรษฐกิจในอนาคต


“รูปแบบรายการเป็นรายการสาระบันเทิงที่ให้ความรู้ ความเพลิดเพลิน ที่จะพาผู้ชมไปรู้จักผ้าไทยในท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ รู้จักกับผ้าอาเซียนของแต่ละประเทศที่มีควาเหมือน และความแตกต่าง กับผ้าไทยอย่างไร และที่สำคัญผู้ชมยังจะได้รับชมพระราชกรณียกิจของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงฉลองพระองค์ผ้าไทยในวโรกาสต่าง ๆ ซึ่งหลายภาพเป็นภาพหาชมได้ยาก ซึ่งครั้งนี้เราได้รับเกียรติจากผุ้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและผ้าอาเซียนอย่าง อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ มาเป็นผู้ดำเนินรายการที่จะพาคุณผู้ชมท่องอาเซียนผ้าเรื่องราวของผ้าที่น่าสนใจ”


ด้าน อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ผู้ดำเนินรายการ “สืบสายใย...ผ้าไทย-อาเซียน” กล่าวว่า รายการนี้จะทำให้ผู้ชมได้รับความรู้ความเข้าใจระหว่างคนอาเซียนด้วยกันผ่านสิ่งทอในภาคพื้นอาเซียนที่มีความหลากหลายทางภูมิปัญญาและองค์ความรู้ ซึ่งความรู้และความเข้าใจเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดทางความคิดเพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอไทย อันจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติและกลุ่มประชาคมอาเซียนต่อไปได้อนาคต อีกทั้งยังเป็นทางหนึ่งในการปกป้องคุ้มครองให้มรดกทางวัมนธรรมคงอยู่อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมในปัจจุบัน


“ในรายการ ๔o นาที จะแบ่งเป็นสี่ช่วง ช่วงแรก เป็นการให้สาระความรู้ผ้าไทย-อาเซียน พระราชกรณียกิจของราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทย ช่วงที่สอง นำเสนอมุมมองผ้าอาเซียน ประวัติ วิวัฒนาการ การทอผ้า ความเหมือนและความแตกต่างระหว่าผ้าไทย ผ้าอาเซียน ช่วงที่สาม นำเสนอผ้าไทยในรูปแบบต่าง ๆ และช่วงที่ ๔ ได้นักเอกสาวมากความสามารถ แพนเค้ก-เขมนิจ จามิกรณ์ เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะมานำเสนอการใช้ผ้าไทยของคนรุ่นใหม่โอกาสต่าง ๆ นอกจากนี้ทางรายการยังได้จัดทำแฟนเพจเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านได้แชร์ประสบการณ์การใช้ผ้าไทยผ่านภาพถ่ายเพื่อชิงรางวัลต่าง ๆ มากมาย”


รายการสืบสายใย...ผ้าไทย- อาเซียน จะมีทั้งหมด ๘ ตอน ดังนี้ คลื่นในผืนผ้าที่พม่า มัณฑะเลย์...ที่เชื่อมสัมพันธ์มาถึงไทย, เสน่ห์แผ่งผ้าทอลาวและวัมนธรรมที่เชื่อมโยงกัน, กัมพูชา...สะพานเส้นใยที่เชือมถึงไทย, เวียดนาม...วัฒนธรรมผ้าชนเผ่า, อินโดนีเซีย...อลังการแห่งสีสันของลายผ้า, ย่างพระบาทคือแพรที่ปูลาดแผ่นดินไทย เป็นตอนพิเศษเนื่องในวาระวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘), ความต่างในความคล้ายแห่งผ้าทอของฟิลิปินส์และบรูไน และตอนสุดท้าย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผ้ามาเลย์และสิงคโปร์ โดยจะนำเสนอทุกวันพฤสบดี เวลา ๒o.๓o-๒๑.๓o น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เริ่มต้นแรกวันพฤหัสบดีที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ พร้อมเชิญชวนชาวไทยร่วมสนุกกับรายการได้โดย แต่งกายด้วยผ้าไทย ถ่ายภาพโพสต์ลงใน Facebook: สืบสายใย...ผ้าไทย- อาเซียน เพื่อลุ้นรับรางวัลต่าง ๆ มากมาย























ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
culture.go.th














ศิลปินแห่งชาติปลุกฝัน ปั้นดาวดวงใหม่ถิ่นอีสาน



ทันทีที่คณะกรรมการตัดสินและประกาศให้ผลงานชื่อ "ชาวนา" ได้รางวัลที่ ๑ ระดับมหาวิทยาลัยจากฐานจิตรกรรม ด้วยเห็นว่าเป็นงานที่มีคุณค่าต่อสังคม สะท้อนภาพชีวิตที่เป็นจริงของชาวนาถิ่นอีสาน ทั้งรันทดและงดงามด้วยฝีแปรง ณัฐวุฒิ กวงลี นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ผู้เข้าค่ายวัฒนธรรมถึงกับฉีกยิ้มกว้างพร้อมก้าวเข้ามารับรางวัล เพราะนี่เป็นรางวัลเหรียญทองแรกในชีวิตของเขา เช่นเดียวกับผู้คว้าที่หนึ่งอีกหลายคนจากฐานศิลปะอื่น ๆ ก็ดีใจไม่น้อยเหมือนกัน


โครงการวิถีวัฒนธรรมอาเซียน : กิจกรรมถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะจากศิลปินอาเซียนสู่เยาว ชน (ค่ายวัฒนธรรม) สืบสานงานศิลป์ถิ่นอีสาน สานตำนานแห่งโยนกเชียงแสน ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งยกทัพศิลปินแห่งชาติ ๒๘ คน ผู้มีความช่ำชองในการทำงานศิลป์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และวรรณศิลป์ มาช่วยฝึกอบรมให้เด็กมีทักษะและเข้าใจคำว่า "ศิลปะ" ได้ดียิ่งขึ้น ที่ศูนย์ศิลป์สิรินธร โรงเรียนศรีสงครามวิทยา อ.วังสะพุง จ.เลย แหล่งท่องเที่ยวศิลปะระดับประเทศ


ครั้งแรกกับค่ายวัฒนธรรมที่เมืองเลย มีน้องๆเยาวชนคนรุ่นใหม่และคณาจารย์ที่สนใจงานศิลปะกว่า ๕oo คน ร่วมกิจกรรมในฐานที่สนใจและถนัด ทั้งฐานจิตรกรรม สื่อผสม ฐานภาพพิมพ ฐานประติมากรรม ฐานศิลปะผ่านเลนส์ ฐานวรรณศิลป์ ฐานศิลปะการแสดง และฐานศิลปะสถาปัตยกรรม แต่ละฐานศิลปินแห่งชาติผู้มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานอย่างสม่ำเสมอเป็นวิทยากร ปั้นดาวดวงใหม่


ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ กล่าวว่า ค่ายวัฒนธรรมในภาคอีสานครั้งนี้ผู้เข้าอบรมเป็นนักเรียน นักศึกษาและครูจากเลย และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ อุดรธานี หนองคาย ขอนแก่น แต่ละฐานจะได้รู้ เห็น และเข้าใจการสร้างผลงานศิลปะ


ซึ่งไม่ใช่แค่ตั้งอุปกรณ์แล้วให้เด็กลอกให้เหมือนจริง "ศิลปินแห่งชาติออกมาสัญจร เด็ก ๆ ก็ได้รับความรู้ ได้เห็นผลงานจำนวนมาก ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ จะพัฒนาเร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็ดึงครูมาฝึกอบรมจะได้เปิดโลกทัศน์ ฝากถึงกระทรวงศึกษาธิการต้องให้ความสำคัญกับการผลิตครูสายศิลปะ เวลานี้ขาดแคลนมาก ส่งผลถึงการปลูกฝังความรู้ด้านศิลปะสู่เยาวชนไม่ประสบผลสำเร็จ" ศิลปินแห่งชาติกล่าว


ด้านธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติ บอกว่า โครงการศิลปินแห่งชาติสัญจรฯ ปั้นเด็กรุ่นใหม่เกิดขึ้นเสมอ กิจกรรมมักออกไปจัดตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาได้มีไอเดียใหม่ ในฐานจิตรกรรมที่ตนดูแลร่วมกับปัญญา วิจินธนสาร และปรีชา เถาทอง เปิดให้นักเรียน นักศึกษา ได้คิด ได้วาดอย่างอิสระ เช่นเดียวกับฐานวรรณกรรมก็ได้เขียน ได้พบกับนักเขียนมืออาชีพ เจริญ มาลาโรจน์ เจ้าของนามปากกา มาลา คำจันทร์ สถาพร ศรีสัจจัง แต่ละคนมีผลงานจับจิตจับใจ นอกจากศิลปินแห่งชาติแล้ว ยังมีศิลปินอาเซียนจากลาว พม่า มาสร้างสรรค์งานด้วย นี่คือองค์ความรู้จากอาเซียนมาสู่เยาวชนแบบใกล้ชิด


"ก็แนะคนรุ่นใหม่ผลงานที่จะสร้างต้องออกมาจากตัวตน ความรู้สึกที่อยู่เหนือรูปทรง อย่างงานชิ้นที่ชื่อ "ชาวนา" เป็นนักศึกษาเลยที่มีฝีมือ ซึมซับวิถีชีวิตท้องถิ่นมาตลอด เพราะเป็นลูกชาวนา ภาพแสดงความมืดมน หม่นเศร้า บ่งบอกถึงความกดดันในการดำรงชีวิต แต่ศิลปินแสดงออกได้อย่างงดงาม จึงลงมติให้รางวัลที่ ๑ เทคนิคต่าง ๆ ที่ได้รับจากค่ายล้วนมีประโยชน์ถ้าได้ศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพในอนาคต" อาจารย์ธงชัยเผย


ในการเปิดพื้นที่ศูนย์ศิลป์สิรินธรครั้งนี้ให้ สวธ.นำเหล่าศิลปินแห่งชาติมาเวิร์กช็อป มาบรรยาย สาธิตการแสดงต่าง ๆ ตลอดจนชักชวนศิลปินอาเซียนมาปาดป้ายทีแปรงแสดงวิธีการรังสรรค์งาน ครูสังคม ทองมี ผู้อำนวยการศูนย์ศิลป์สิรินธร บอกว่า ศูนย์ศิลป์แห่งนี้ได้จัดกิจกรรมทางศิลปะมาตลอด ๒๒ ปี สำหรับค่ายวัฒนธรรมนี้จะเกิดประโยชน์มากขึ้นกับเด็ก ๆ เพราะไม่ได้มีแค่งานทัศนศิลป์ แต่รวมศิลปวัฒนธรรมหลายสาขา อย่าง แม่บัวซอน ถนอมบุญ มาสอนขับซอ อ.วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ก็พาไปเรียนถ่ายภาพ


"โอกาสแบบนี้ไม่ได้หาง่าย ๆ แต่ละท่านเป็นสุดยอดของศาสตร์ ได้มาใช้พื้นที่ศูนย์ศิลป์สิรินธร บ่มเพาะศิลปวัฒนธรรม ความยั่งยืนของประเทศชาติไม่ได้ขึ้นอยู่กับคณิต-วิทย์ เด็กไทยต้องปลูกฝังศิลปะนิสัย กิจกรรมนี้ตอบโจทย์กระตุ้นความคิดและความฝันได้ดี" ครูสังคม ปราชญ์ท้องถิ่นแห่งอีสาน กล่าวในตอนท้าย และแย้มถึงความคืบหน้าล่าสุด ศูนย์ศิลป์สิรินธรเมืองเลยเตรียมก่อสร้างห้องปฏิบัติการศิลปะเพื่อรองรับการเป็นศูนย์ศิลปะเด็กและเยาวชนมาตรฐานสากลแห่งแรกของอาเซียนอีกด้วย.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com















ภาพเด่นใน Museum de Augustines 1 เมือง Toulouse



ใน Museum des Augustins ไม่เพียงมีผลงานประติมากรรมเป็นจำนวนมากแล้ว ที่นี่ยังมีงานจิตรกรรมเด่น ๆ ของศิลปินดังอีกหลายชิ้น เช่น The Death of Cleopatra ของ Jean-Andre Rixens ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้ตกแต่งฝาผนังให้กับ Capitole de Toulouse และ Hotel de ville de Paris ศิลปินที่ได้รับรางวัลเหรียญทองและทองแดงในปี ๑๘๗๖ ผู้นี้มีความชำนาญในการวาดภาพที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์และภาพเหมือน ภาพ The Death of Cleopatra ภาพพระนางคลีโอพัตราในสภาพนอนหงายซีดเซียวโดยมีสาวใช้สองคนอยู่ด้วยนี้ จิตรกรจัดให้บรรยากาศกระตุ้นให้รำลึกถึงความเป็นตะวันออกสังเกตได้จากการตกแต่งอย่างหรูหราของห้อง นอกจากนี้ศิลปินยังมีฝีมือเป็นเลิศในการเขียนภาพนู้ดสังเกตได้จากความยั่วยวนของท่าทาง และการจัดวางองค์ประกอบในภาพ






Beauty ของ Henri Martin ศิลปินแนว Impressionism ชาว Toulouse ดั้งเดิมนั้นเขาเรียนศิลปะที่ Toulouse School of the Fine Arts โดยเป็นศิษย์ของ Eugene Delacroix แต่เขาย้ายไปปารีสเพื่อเรียนกับ Jean Paul Laurens เมื่อได้รับรางวัลเหรียญทองเขาก็ไปหาประสบการณ์ที่อิตาลีและได้ส่งงานเข้าประกวดอีกแนว Pointilistเนื่องจากเขาเกิดที่ Toulouse และได้รับรางวัลมากมาย รวมทั้งได้รับตำแหน่งศิลปินแนว Symbolism ระดับโลก Museum des Augustins จึงได้รับเกียรติจัดแสดงผลงานชิ้นที่ดีที่สุดของเขาคือ Beauty นี่เอง ผลงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าเขาเริ่มใช้เทคนิคแบบ Neo-impressionism แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานแนว Symbolism ผลงานของเขาจึงมีเอกลักษณ์แตกต่างจากศิลปินในยุคเดียวกันคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก






Tu Marcellus Eris ของ Jean Antoine Dominique Ingres ศิลปินแนว Neoclassical ชาวฝรั่งเศสผู้ชำนาญภาพเขียนแนวประวัติศาสตร์และภาพนู้ด เขาเกิดในแวดวงศิลปินที่มีพ่อเป็นพ่อค้างานศิลปะที่สำคัญ และยังเป็นนักดนตรีด้วย อย่างไรก็ดี เขากลับไม่สามารถจบการศึกษาเนื่องจากเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสเสียก่อน ภายหลังเขาสามารถกลับเข้ารับการศึกษาทางด้านศิลปะใหม่ที่ The Academie Royale de Peinture, Sculpture et Architecture ที่เมือง Toulouse ไม่ไกลจากบ้านเกิดโดยได้ศึกษากับ Gauillaume Joseph Roques ศิลปินแนว Neoclassic ที่มีอิทธิพลต่องานของเขาในเวลาต่อมามาก ภาพ Tu MarcellusEris เป็นฉากในท้องพระโรงของพระราชวังของพระจักรพรรดิ Augustus โดยมี Octavia พระขนิษฐาเป็นลมไปจากการที่ได้ยิน Virgil กวีนั่งอ่าน Aeneid บทกวีถึงคำว่า Tu Marcellus Eris ซึ่งกระตุ้นให้พระองค์รำลึกถึงการลอบสังหารพระบุตรของนางจากม้วนกระดาษอยู่ตรงข้าม ภาพที่มีแสงเข้าเพียงจุดเดียวในภาพนี้ไม่เพียงเหนี่ยวนำสายตาของผู้ชมไปยังตำแหน่งตัวเอกของภาพเท่านั้น ยังทำให้ภาพที่ผู้ชมเห็นราวกับเป็นภาพในโรงละครโรงใหญ่อีกด้วย











ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com












Massage Scene



ภาพเด่นใน Museum de Augustines 2 เมือง Toulouse



นอกจากใน Museum des Augustins จะมีภาพเขียนของ Jean-Andre Rixens, Henri Martin, Jean Antoine Dominique Ingres แล้ว ที่นี่ยังมีภาพเขียนดังๆ อีกหลายภาพ เช่น Death of Marat ของ Guilaume Joseph Roques จิตรกรแนวNeoclassicism และ Romanticism ชาวฝรั่งเศสผู้สอนศิลปะในเมือง Toulouse อีกทั้งยังเป็นผู้สอนศิลปะให้กับ Jean Auguste Dominique Ingres ด้วย





Still life



Jean Paul Marat แพทย์ นักรัฐศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์ในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศสผู้นี้เป็นผู้ที่เขียนข่าวแนวก้าวร้าว ไม่ประนีประนอมให้กับผู้มีอำนาจหรือผู้นำเลย และเน้นในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้กับคนยากจน เขาเป็นคนหนึ่งที่มีความเห็นให้ประหารชีวิตพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นด้วยกิโยติน ภายหลังเขาถูกCharlotte Corday สังหารในอ่างอาบนํ้า ฉากการถูกสังหารของ Marat นี้ ได้ถูกจิตรกรนำมาเสนอต่อมาอีกหลายต่อหลายครั้งโดยผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในการเขียนฉากนี้ก็คือ Jacques Louis David ซึ่ง Joseph Roques เลียนแบบมาจากภาพชื่อเดียวกันอีกทีหนึ่ง แม้ภาพของทั้งสองศิลปินอาจดูคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะ Roques เขียนให้มีหมวกและมีผ้าพันคอแขวนอยู่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เห็นถึงบทบาทของ Marat ในระดับประเทศอันแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนละเอียดของศิลปิน





Still life fruit



The Generosity of Alexander ของ Jerome Martin Langiois ศิลปินแนว Neoclassic ชั้นนำของฝรั่งเศสลูกศิษย์ของ Jacques Louis David ทั้งสองร่วมงานกันหลายชิ้น เช่น Napoleon Crossing the Alps และ Leonidas at Thermopylae หลังจากที่ Langiois ได้รับรางวัลที่สองในการประกวด Prix de Rome ในปี ๑๘o๕ และได้ที่หนึ่งในปี ๑๘o๙ เขาก็ย้ายไปโรม หลังจากนั้นเขายังชนะประกวดการแข่งขันอีกหลายครั้งจนได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกของ Academie des Beaux-Arts ภาพ The Generosity of Alexander เป็นภาพที่ผสมผสานระหว่างบทกวีและคุณงามความดีได้อย่างลงตัว Alexander ที่ยืนอยู่กลางภาพได้ขอให้ Apelle จิตรกรวาดภาพ Campaspe สนมลับของพระองค์ แต่กลายเป็นว่าApelle สะดุดตากับความงามของนางมากจนตกหลุมรักนางอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ในที่สุด Alexander ก็ต้องมอบนางให้กับจิตรกรไป ศิลปินเขียนแววตา ท่วงท่าอากัปกิริยาของตัวละครแต่ละตัวได้อย่างละมุนละม่อมราวกับอยู่ในฉากละคร





The Generosity of Alexander



Massage Scene ของ Edouard Bernard Debat Ponsan ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงในการวาดภาพประวัติศาสตร์และภาพเหมือน เขาเป็นปู่ของ Michel Debre นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสในสมัยประธานาธิบดี Charles de Gaulle เขาเริ่มเรียนศิลปะครั้งแรกที่เมือง Toulouse แล้วจึงเดินทางไปปารีส หลังจากได้รับรางวัล Second Prix de Rome ในปี ๑๘๗๓ เขาก็เขียนแต่ภาพแนวประวัติศาสตร์ การที่เขาเคยเดินทางไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล ในปี ๑๘๘๒ และได้มีโอกาสเห็นลายกระเบื้องแนวตะวันออกจึงเป็นแรงบันดาลใจให้เขาวาดภาพ The Massage Scene นี้ในปี ๑๘๘๓ ภาพ Massage Scene นี้กระตุ้นเตือนให้รำลึกถึงความกำหนัดโดยใช้ความตัดกันของสีผิวระหว่างหญิงสาวที่นอนเปลือยเปล่าตะแคงเข้าหาผู้ชมกับทาสสาวที่กำลังนวดเธออยู่ข้างๆ ผู้ชมที่ได้มีโอกาสเห็นภาพเขียนนี้ในมิวเซียมจะเห็นว่าจิตรกรเขียนได้เหมือนจริงมากราวกับขอบเตียงและแขนยื่นออกมานอกกรอบรูปเลยทีเดียว





Death of Marat



The Sultan Moulay Abd Er Rahman leaving his palace at Meknes ของ FerdinandVictor Eugene Delacroix ศิลปินฝรั่งเศสยุค Romant-icism แม้เขาจะเป็นศิลปินชั้นนำแนว Romanticismแต่วิธีการเขียนรูปของเขาก็กลายเป็นต้นแบบของงานแนว Impressionism และยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดศิลปะแนว Symbolism ด้วย แนวทางศิลปะของเขาได้รับแรงบันดาลใจจาก Rubens และ Venetian Renaissance โดยเน้นที่สีและการเคลื่อนไหวแทนความชัดเจนและรูปแบบอย่าง Neoclassic ดั้งเดิม Delacroix ได้รับมอบหมายจาก Louis Philippe ให้ไป Morocco เพื่อวาดภาพเขียนเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างฝรั่งเศสและโมร็อกโก แม้เขาจะร่างภาพแรกหลังจากกลับจากโมร็อกโกให้เป็นภาพการพบปะระหว่างสุลต่านและข้าราชการระดับสูงของฝรั่งเศส แต่หลังจากนั้น เขากลับเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาพให้เป็นแค่สุลต่านกำลังออกจากวังโดยมีข้าราชการรายล้อมเท่านั้น ภาพที่เห็นมีความเป็นเอกภาพสูงทางด้านสีโดยมีการใช้สีแดงและเขียวปรับให้โทนของภาพอ่อนโยนเข้ากับบรรยากาศซึ่งศิลปินเขียนตามแนวทางการเขียนภาพแบบ Veneterian Renaissance นอกจากนี้ที่นี่ยังมีภาพแนว Still life ของศิลปินฝรั่งเศสด้วย เช่น ผลงานของ Louise Moillon ศิลปินฝรั่งเศสที่เขียนภาพ Still life ได้ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ





The Sultan Moulay Abd Er Rahman leaving his palace at Meknes



ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com














High on you



นิทรรศการศิลปะเดี่ยวของ อร ทองไทย ศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองกับงานสร้างสรรค์แนว Contemporary ของตัวเองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความรักในรูปแบบจิ๊กโก๋อกหัก โดยเลือกสื่อหลากหลายแบบ อาทิ สีอะคริลิคบนกระดาษสีน้ำ ประติมากรรมเหล็ก ประติมากรรมผ้า


จัดแสดง ที่ INK AND LION CAFÉ เอกมัย ซ.๒ ตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม – ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ (ปิดทุกวันพุธ) เวลา ๙.oo – ๑๘.oo น.


นิทรรศการ : High on you
ศิลปิน : อร ทองไทย
วันที่ : ๓ กรกฎาคม – ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : INK AND LION CAFÉ (เอกมัย ซ.๒)
รายละเอียดเพิ่มเติม : o๒-๖๕o-๙o๙o # ๑o๕, ๑o๘







ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














“Diversity” 6th JeOn Art Booth Annual Workshop Exhibition



นิทรรศการ : “Diversity” 6th JeOn Art Booth Annual Workshop Exhibition
ศิลปิน : กลุ่มศิลปะ The JeOn Art Booth ( JAB) จำนวน ๖ ท่าน
ลักษณะงาน : จิตรกรรม สื่อผสม
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๒๕ กรกฎาคม – ๒o สิงหาคม ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ : ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.oo น.
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๒
ติดต่อศิลปิน : Gi-ok Jeon (JeOn Art Booth) Tel: 081-829-8007 / giokjeon@gmail.com


แนวความคิด

Diversity เป็นนิทรรศการประกอบการ workshop จัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๖ โดยกลุ่มศิลปะ The JeOn Art Booth ( JAB) เพื่อแสดงผลงานที่ศิลปินสมาชิกของกลุ่มได้สร้างสรรค์ขึ้นตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา JAB ได้จัดอบรมการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะด้วยเทคนิคแนวตะวันออกตามแบบประเพณีนิยมแก่บุคคลทั่วไปที่พำนักและทำงานอยู่ในประเทศไทยโดยมิได้จำกัดเชื้อชาติ ซึ่งได้ดำเนินการสอนควบคู่ไปพร้อมกับการจัดกิจกรรมแสดงผลงานศิลปะของสมาชิกมาตั้งแต่ปี ๒oo๑ โดยเปลี่ยนแนวเรื่องไปในแต่ละครั้ง


นิทรรศการ “Diversity” ประกอบด้วยผลงานของสมาชิกกลุ่ม ๖ ท่าน ผลงานของศิลปินรับเชิญชาวไทยอีก ๔ ท่าน และผลงานของหัวหน้าโครงการ JAB ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการจัดนิทรรศการครั้งนี้ด้วย นับเป็นครั้งที่ ๓ แล้วที่ทางกลุ่มได้จัดนิทรรศการร่วมกับศิลปินอาชีพชาวไทย “ Diversity” มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะ ตลอดจนการค้นหาวิธีการและประสบการณ์ใหม่ๆที่กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการฝึกฝนและการสร้างสรรค์งานศิลปะ และความสอดคล้องกับนัยยะของชื่อนิทรรศการ ความสำคัญจึงมุ่งเน้นไปที่ “ความหลากหลาย” (Diversity) ของวัสดุและวิธีการที่ศิลปินเลือกใช้กับผลงานของตน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นิทรรศการในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถค้นหาความแตกต่างของแนวคิดและกระบวนการการสร้างสรรค์ที่ “หลากหลาย” (Diversity) ของศิลปินแต่ละท่านผ่านผลงานแต่ละชิ้น



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





 

Create Date : 23 มิถุนายน 2558
0 comments
Last Update : 23 มิถุนายน 2558 22:05:40 น.
Counter : 3000 Pageviews.


haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.