happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
4 กันยายน 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒๒๗





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










ศิลปกรรมเทิดพระเกียรติ "แม่ของแผ่นดิน" ครั้งที่ ๒o



เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ และอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส หัวหน้ากลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ จัดงานแสดงนิทรรศการภาพวาด "ศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ ๒o" ขึ้น ระหว่างวันที่ ๒o สิงหาคม ถึง ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo – ๒o.oo น. ณ ห้องโถงชั้นลอย โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ เพื่อนำเงินรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย


ในการนี้ สภากาชาดไทย ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒o สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.oo น.พร้อมทั้งทรงพระกรุณาประทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ร่วมแสดงในงานจำนวน ๔ ภาพ


ด้วยภารกิจของสภากาชาดไทยในการบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และผู้ทุกข์ยากในสังคมทั่วประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ "ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยา", โครงการ "เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออติกแบบผ่านท่อ ทางผนังหัวใจห้องล่างซ้าย", โครงการ "ผ่าตัดปลูกถ่ายไต", โครงการ "ผ่าตัดแก้ไขจอตาลอกหลุด", โครงการ "ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งกระดูกด้วยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษ", โครงการ "ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชวิทยาด้วยหุ่นยนต์", โครงการ "รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีขั้นสูง" (มะเร็งโพรงจมูก, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งสมอง, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีเป็นจำนวนมาก กลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ โดยอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส จึงได้ริเริ่มจัดงานแสดงภาพวาด "นิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อนำเงินรายได้สนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย และได้จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการจัดงานครั้งที่ ๒o นี้ กลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานของศิลปินทั้งศิลปินอาชีพและศิลปินสมัครเล่นให้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดตามแนวคิดและจินตนาการใหม่ ๆ โดยมีผลงานภาพวาดที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ อาทิ สีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิค จิตรกรรมลายเส้น ภาพ Abstract และรูปปั้นประติมากรรมต่าง ๆ มาแสดงในงาน


นอกจากนี้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา ๑๓.oo น. ศิลปินได้จัดให้มีกิจกรรม Work Shop การเพ้นท์หมวกให้กับผู้สนใจ โดยได้รับเกียรติจากศิลปินผู้มีความชำนาญในงานศิลปะด้านต่าง ๆ หลากหลายท่านมาให้ความรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ยกเว้นค่าอุปกรณ์ อาทิ ค่าพู่กัน, ค่าเฟรมวาดภาพ เป็นต้น)


สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจ รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าชมงานนิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ ๒o ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒o สิงหาคม ถึง วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑o.oo – ๒o.oo น. ณ ห้องโถงชั้นลอย โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม Work Shop ภายในงาน และประสงค์จะร่วมกิจกรรมเป็นหมู่คณะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ โทรศัพท์ o-๒๒๕๖-๔๔๔o, o-๒๒๕๕- ๙๙๑๑ หรือ เว็บไซต์ redcrossfundraising.org และที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ โทรศัพท์ o-๒๒๓๓-๗o๖o-๙



ภาพและข้อมูลจาก
redcrossfundraising.org














๑๒ สิงหา เทิดไท้องค์ราชินี ๑๒ ผ้าไทยสืบสานวัฒนธรรมไทย @ ดิ โอลด์สยาม



ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า ร่วมเฉลิมพระเกียรติฯ รักษ์พงศ์ ทองธรรมชาติ ผอ.ฝ่ายบริหารอาคาร, บรรพต นิโครวนจำรัสผจก.โครงการ, อ.โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพันผ้าไหม, ขวัญใจ สิริบรรณากุล และ มิสไทยแลนด์เวิลด์ ๒o๑๔ เมญ่า-นนธวรรณ ทองเหล็ง ในชุดฟินาเล่งดงาม






ศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า แหล่งรวมผ้าไหมไทยที่ดีที่สุดจากทั่วทุกภาคของประเทศจัดงาน “๑๒ สิงหา เทิดไท้องค์ราชินี ๑๒ ผ้าไทยสืบสานวัฒนธรรมไทย @ ดิ โอลด์สยาม” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา และร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย ระหว่างวันที่ ๘-๙ สิงหาคม ที่ผ่านมา





อ.โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพันผ้าไหม โชว์เทคนิคการพันผ้า



ประณต เลิศมีมงคลชัย ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามสินธร จำกัดผู้บริหารศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า กล่าวว่า เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ๘๓ พรรษา และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงฟื้นฟู อนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทย ศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่คนไทยมายาวนาน ศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่าซึ่งเป็นแหล่งรวมผ้าไหมไทยที่ดีที่สุดจากทั่วทุกภาคของประเทศ จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย โดยไฮไลท์ของงานคือการแสดงแฟชั่นโชว์จากผ้าไหม ๑๒ ชุด โดยใช้เทคนิคการพันผ้าโดย อ.โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพันผ้าไหมที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาเป็นผู้เนรมิตความงามของผืนผ้าให้อยู่บนเรือนร่างของนางแบบ โดยมี เมญ่า-นนธวรรณ ทองเหล็งมิสไทยแลนด์เวิลด์ ๒o๑๔ สวมชุดฟินาเล่ ปิดท้ายแฟชั่นโชว์





โชว์การแสดงหุ่นคน



นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมและการแสดงต่าง ๆ มากมาย อาทิ ดื่มด่ำกับบทเพลงไพเราะจาก “คีตยา The voice 1” การเชิดหุ่นละครเล็ก, การแสดงทักษิณานฤมิตการ, การแสดงหุ่นคน โดย ม.หัวเฉียวฯ, การแสดงหนังใหญ่, การแสดงเซิ้งประยุกต์, การแสดงหุ่นกระบอก ปิดท้ายด้วยมินิคอนเสิร์ตกล่อมกรุงโดยศิลปินคุณภาพชื่อดัง อาทิวินัย พันธุรักษ์, จินตนา สุขสถิตย์ และ อุมาพร บัวพึ่ง






อ.โสภาส ณ ตะกั่วทุ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการพันผ้าไหม และผู้ให้คำปรึกษาการมีภาพลักษณ์ที่ดี กล่าวถึงแฟชั่นโชว์ครั้งนี้ว่า ศูนย์การค้า ดิ โอลด์สยาม พลาซ่า เป็นแหล่งรวมผ้าไหมที่ดีที่สุดจากหลายพื้นที่ของประเทศ จึงรวบรวมผ้าไหมหลากหลายประเภทอาทิ ไหมพื้น ไหมมัดหมี่ ไหมแพรวา มาประยุกต์ให้ทันสมัยขึ้น นอกจากนี้ยังต้อนรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ด้วยการนำผ้าไหมมาปักฉลุลวดลายเลียนแบบผ้า ลุนตยา ของพม่า และปักลวดลายเลียนแบบผ้ามาเลเซีย รวมถึงผ้าไหมพิมพ์ลายดอกไม้ เพื่อให้ผ้าดูมีมิติมากขึ้น หลักการคือ คนไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมาใช้ผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่ม ฉะนั้นทำอย่างไรเราจะนุ่งห่มผ้าไหมให้เป็นศิลปะชั้นสูงของแฟชั่นส่วนใหญ่คนเข้าใจผิด คิดว่า นุ่งผ้าไหมแล้วจะดูแก่ หรือเชยแต่จริง ๆ ผ้าไหมไทยมีความสวยงามอยู่แล้ว พอมาพันอยู่บนตัวคนก็จะกลายเป็นชุดโอต์กูตูร์ สามารถสวมใส่ออกงานได้เลย อยากให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในความเป็นผ้าไหมไทย






ผู้เชี่ยวชาญด้านการพันผ้าไหม กล่าวต่อว่า การใช้เทคนิคพันผ้า หรือ Draping สามารถทำได้กับผ้าทุกชนิด แม้ผ้าไหมจะมีความทรงตัว และแข็งกระด้างมากกว่าผ้าชนิดอื่น แต่ก็ไม่มีข้อจำกัดในการพัน โดยวิธีการของ อ.โสภาส นั้นจะเริ่มจากการจับผ้าเพื่อดูรายละเอียดหรือพื้นผิวสัมผัสก่อนว่า มีลักษณะอย่างไรมีความพลิ้วไหวแค่ไหน เพื่อสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นรูปทรงจากนั้นจึงนำมาวางพาดบนรูปร่างของผู้สวมใส่ และกำหนดทิศทางของผ้า โดยปรับไปตามรูปร่างและสัดส่วนเพื่อให้ออกมาสวยงาม ซึ่งกว่าจะออกมาแต่ละชุดจะใช้ผ้า ๒ ผืน ผืนละประมาณ 4 เมตร แต่สำหรับชุดฟินาเล่ครั้งนี้ใช้ผ้าถึง ๓ ผืน รวมประมาณ ๑๒ เมตร ซึ่งรับรองว่างดงามอลังการแน่นอน



































ภาพและข้อมูลจาก
theoldsiam.co.th
naewna.com














พระองค์โสมฯ ชมงานศิลป์ไอเดียเด็กรุ่นใหม่



เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความรู้ความสามารถในงานศิลปะได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานตามแนวความคิด จินตนาการตามความถนัดมานานกว่า ๓ ทศวรรษ จนกระทั่งศิลปินที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการ “จิตรกรรมบัวหลวง” ของมูลนิธิบัวหลวง ได้การยอมรับนับถือในหมู่วงการศิลปะอย่างกว้างขวาง และเพื่อเผยแพร่ผลงานทรงคุณค่าให้แก่ผู้สนใจ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง จึงจัดนิทรรศการ “จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ ๓๗” โดยนำผลงานของผู้ได้รับรางวัลจำนวน ๙ ชิ้น และผลงานที่ได้รับการคัดเลือกปีก ๔๓ ชิ้น รวม ๕๒ ชิ้น มาจัดแสดง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมสัมผัสแนวคิดของผลงานระดับคุณภาพ






สำหรับการประกวดแบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย ปีนี้มีศิลปิน ๑๔๔ คน ส่งผลงานเข้าประกวดรวมทั้งสิ้น ๒o๕ ภาพ ซึ่งหลังจากคณะกรรมการร่วมกันพิจารณาตัดสิน มีมติให้รางวัลแก่ผู้มีผลงานยอดเยี่ยมดังนี้ ประเภทจิิตรกรรมไทยแบบประเพณี เป็นงานจิตรกรรมทีี่มีแบบอย่าง กระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ที่ดำรงภาพลักษณ์แบบไทยประเพณี รางวัลที่ ๑ เหรียญทองบัวหลวง ได้แก่ผลงานชื่อ “พระพุทธเจ้า” ผลงานของ จิรวัฒน์ ทรัพย์อร่าม, รางวัลที่ ๒ เหรียญเงินบัวหลวง ได้แก่ ผลงานชื่อ “เพลงปลาตะเพียน ๒” ผลงานของ นิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส ส่วนรางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดงบัวหลวง ผลงานที่ได้รับรางวัลคือ “สัญลักษณ์แห่งมงคลชีวิต” ของ อัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน






ประเภทจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เป็นงานจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ที่ดำรงภาพลักษณ์แบบไทยประเพณี มาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เข้ากับสมัยนิยม รางวัลที่ ๑ ผลงาน “ภาพสะท้อนความรู้สึก” ของ สิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์, รางวัลที่ ๒ ผลงานชื่อ “เกิด-ดับ” ของ อนุชา ตามูลเรือง และรางวัลที่ ๓ “ซากความอุดมสมบูรณ์” โดย ศุภวัฒน์ วิบุลศิลป์


ประเภทสุดท้ายจิตรกรรมร่วมสมัยเป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกอย่างอิสรเสรี รางวัลที่ ๑ ผลงานชื่อ “โลกของสตรีมุสลิม ๒” ผลงานของ ยามีล๊ะ หะยี, รางวัลที่ ๒ “นรกภูมิ ๑ (มหาโรรุวมหานรก)” โดย กิตติศักดิ์ เทพเกาะ และรางวัลที่ ๓ ผลงานชื่อ “บรรพบุรุษรำลึก” ผลงานโดย ธิติพรหม อ่อนเปี่ยม






หลังรับประทานรางวัล จิรวัฒน์ ทรัพย์อร่าม ศิลปินอิสระ เจ้าของผลงาน “พระพุทธเจ้า” เปิดเผยว่า ภาพนี้ใช้เทคนิคสีฝุ่นปิดทองคำเปลวปักติดปีกแมลงทับ โดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไทยซึ่งเป็นศิลปะประจำชาติที่พบเห็นได้ทั่วไปตามวัดวาอาราม ในภาพเป็นฉากในพุทธประวัติตอนที่ลงมาโปรดท้าวมหาชมพู ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่คิดว่าตัวเองมีบารมี เลอเลิศที่สุด พระพุทธเจ้าจึงทรงเนรมิตกายเป็นกษัตริย์ทรงเครื่องให้ดูอลังการกว่าเท้ามหาชมพู เพื่อให้ท้าวมหาชมพูรู้ว่ายังมีคนอื่นที่เหนือกว่าตน

“ส่งผลงานเข้าประกวดเป็นครั้งแรก ยอมรับว่ารู้สึกกดดัน เพราะมีคนส่งผลงานร่วมประกวดมาก แต่ก็พยายามทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ใช้เวลากว่า ๕ เดือน เมื่อพอรู้ว่าได้รางวัลรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันมาก ไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ เพราะที่ผ่านมาผลงานแนวนี้ไม่ได้รางวัลมานานร่วม ๒o ปีแล้ว ทั้งยังมีโอกาสได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศอิตาลีด้วย เป็นงานที่ใหญ่มากได้ชมงานศิลปะจากศิลปินดังๆ มากมาย ทั้งยังได้สัมผัสศิลปะแบบเรเนซองส์ ซึ่งเป็นยุคที่ศิลปะเฟื่องฟูที่สุด และสามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานต่อไปด้วย” จิรวัฒน์ เผย






ด้าน สิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์ นักศึกษาปริญญาโท ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “ภาพสะท้อนความรู้สึก” ด้วยเทคนิกสีฝุ่นอะคริลิก บอกว่า สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นเพื่อการแสดงออกที่สะท้อนถึงความซับซ้อนของจิตความนึกคิดต่าง ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาในใจ ทั้งที่เป็นสาระและไม่ใช่สาระ บ้างก็แสดงตรง ๆ บ้างก็แสดงออกอย่างซับซ้อน ซึ่งตัวเองเฝ้าดูและสังเกตถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ของความคิดและความรู้สึก เพื่อการเรียนรู้ตนเองอย่างเข้าใจ และนำไปปรับปรุงแก้ไขดีชั่วที่อยู่ในใจ พัฒนาหรือยกระดับจิตใจให้ดีขึ้น โดยอาศัยการแสดงออกทางศิลปะในการพิจารณาตัวเอง

ขณะที่ ยามีล๊ะ หะยี นักศึกษาปริญญาโท ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน “โลกของสตรีมุสลิม ๒” เปิดเผยว่า ผลงานนี้สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคเย็บปักผ้า เป็นการนำเรื่องราวของสตรีมุลลิมทั้งหลักปฏิบัติและความศรัทธาซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว มาเป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทอดผลงาน โดยมีเป้าหมายคือการเป็นสตรีที่ดีของสังคม ผลงานนี้ใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน ความยากอยู่ที่การทับซ้อนเพื่อให้เกิดพื้นผิว ให้เกิดบรรยากาศและเรื่องราวที่สอดคล้องกัน



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














บทกวีตามสัญญา



งาน “มหกรรม เมืองพระชนกจักรี อุทัยธานีน่าอยู่” เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ สิงหาคม ที่เพิ่งผ่านไป ถือเป็นงานของชาวบ้านระดับจังหวัด และเป็นงานจังหวัดระดับชาวบ้าน จัดได้อย่างเรียบง่ายแต่อลังการ ไม่มโหฬารแต่ก็ยิ่งใหญ่ในความรู้สึก คือไม่ใหญ่แต่มีความลึกลงมิติวัฒนธรรม

ผมเป็นคนจังหวัดอื่นที่หลงรักจังหวัดอุทัยธานีเอามาก ๆ น่าจะเป็นจังหวัดที่ผมมาเยี่ยมเยือนบ่อยที่สุดกว่าจังหวัดใดในประเทศ แม้ไม่มีธุระอันใดเป็นพิเศษก็ยังแวะไปหาก๋วยเตี๋ยวกิน เมืองอุทัยเป็นเมืองก๋วยเตี๋ยว ที่ขนานนามให้ว่าเป็นเมืองก๋วยเตี๋ยวก็เพราะมีร้านก๋วยเตี๋ยวเด็ด ๆ มากมายหลากหลาย จังหวัดอื่น ๆ ก็เช่นสุโขทัย พิษณุโลก อยุธยา บางจังหวัดหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวถึงกับทำ “แผนที่ก๋วยเตี๋ยว” บอกพิกัดที่ตั้งเสร็จสรรพ คอก๋วยเตี๋ยวขับรถตามไปกินได้เลย

ที่เมืองอุทัยนี้มีถนนคนเดินที่น่าเดิน ยามเย็นต่อค่ำทุกวันเสาร์ เชิญมาเยื้องย่างตรอกโรงยา ตลาดเก่าย่านริมน้ำสะแกกรัง เดินข้ามสะพานสู่อีกฝั่งคือวัดโบสถ์ หรือวัดอุโปสถาราม วัดสำคัญที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสต้นมาที่นี่เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ยังมีแพที่ท่าน้ำเป็นประจักษ์พยาน งดงามด้วยสถาปัตยกรรมสถานผสมผสานสามรูปแบบ ฝรั่ง แขก ไทย ให้ชื่นใจชื่นตาทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ

วันที่ผมไปร่วมงาน (๑๕ สิงหาคม) ผมไปในฐานะแขกรับเชิญให้ไปขับขานบทกวี และร้องเพลงเล่นดนตรี แต่ทว่าวันนั้นผมลืมหยิบบทกวีที่จะอ่านในงานไว้ที่บ้าน จึงแก้ปัญหาด้วยกันแต่งกลอนขึ้นใหม่สด ๆ ทันทีทันใดก่อนขึ้นเวทีเพียงสิบนาที รู้ตัวว่าแต่งได้ไม่เลวแต่ก็ไม่ดีเลิศประเสริฐสมศักดิ์ศรี วัดอุโปสถารามและไม่สมเกียรติศักดิ์เมืองอุทัยฯ จึงให้สัญญากับแม่น้ำสะแกกรังไว้ว่าจะส่งกลอนดี ๆ บทกวี งาม ๆ ตามมาในภายหลัง

บัดนี้ผมส่งมาให้ตามสัญญา เป็นบทกวีที่ตั้งจิตบรรจงเขียนเพื่อประกอบหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง ซึ่งรวมภาพถ่ายสถาปัตยสถานสำคัญของแต่ละจังหวัดในประเทศไทย โดยกวีแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งท่าน เขียนบทกวีด้วยฉันทลักษณ์ใดก็ได้ ท่านละหนึ่งชิ้น ประกอบภาพถ่าย และเรื่องราวซึ่งจังหวัดอุทัยธานีมี “วัดอุโปสถาราม” เป็นสถาปัตยสถานสำคัญของจังหวัด แต่คงด้วยผมมีวาสนาจึงได้มาทำหน้าที่เขียนบทกวีให้วัดสำคัญล้ำค่าของจังหวัดนี้ แทนที่จะเขียนให้ชัยนาท “บ้านเกิด” หรือนครสรรค์ “เมืองนอน” เหตุอีกประการเป็นเรื่องของการประสานงานของกรรมการผู้จัดพิมพ์หนังสือ ฝากบทกวีนี้มาตามสัญญา แด่ชาวอุทัยธานีครับ


วัดอุโปสถาราม

กลอนสุภาพ

กษิรแม่สะแกกรังถะถั่งอุทก วิหคผกผินผ่านวิญญาณสมัย
รวีอิสราอุ่นอรุณอุไร ส่อง “อุทัยธานี” ศรีธรณิน
“อุโปสถาราม” นามพุทธสถาน สถิตเสถียรจำเนียรกาลงานพุทธศิลป์
บรรเลงร่ายสายลมบุราณริน ชื่นเย็นยินเสียงแม่ “สะแกกรัง”
แพโบสถ์น้ำย้ำตำนานโบราณล่วง เรื่อง “พระพุทธเจ้าหลวง” แต่ปางหลัง
ธ เสด็จทางชลยินยลยัง ปีติปลั่งปลาบปลื้มดื่มใจชน
ดลใจชื่นดื่นดาริกาแก้ว เรืองไรไตรรัตน์แพร้วโพยมหน
ใต้ร่มโพธิสมภาร “พระภูมิพล” “นวมินทร์” ปิ่นสกลดลตระการ
ดาลตระกลยลอุโบสถศรี ฐานไพทียกพื้นยืนพิหาร
ล้ำเลอคำสถาปัตยาคาร หลากสายศิลป์ผสมผสานผ่านบูรณา
จิตรกรรมย้ำวิมุตติพุทธประวัติ ยังฉายชัดภาพวิจิตรแฝงปริศนา
มองมณฑปแปดเหลี่ยมเปี่ยมศรัทธา เมฆฟ่องฟ้าเป็นฉากหลังเห็นพรั่งพราว
จอมเจดีย์ตรีองค์คงยืนเด่น หกเหลี่ยมย่อมุมเห็นยอดเสียดหาว
อีกองค์ทรงระฆังคว่ำคร่ำเครงคราว หง่างเหง่งเพียงเผดียงด้าวผดุงธรรม
นามเดิม “วัดโบสถ์มโนรมย์” แวดล้อมเวฬุร่มพลิ้วลมร่ำ
กล่อมกมลจนวิมุตสุดสายกรรม ตราบสายน้ำ “สะแกกรัง” ยังไหลริน
ซึ่งสายน้ำอนิจจังยังรี่ไหล แสงพระรัตนตรัยยังไม่สิ้น
พุทธารามจะคงอยู่คู่แผ่นดิน ให้ชนยินเสียงระฆังกังวานใจ
เพลงไผ่โบกใบพลิ้วให้เพลินฟัง นิ่งภวังค์สงบระงับสดับได้
ย่อมธำรงพระอารามให้เรืองไร เมื่อแสงธรรมส่องอุทัยไสวประเทืองฯ

โคลง ๔ สุภาพ

“อุโปสถาราม” อร่ามเรื้อง เรืองละมุน
แสงพิสุทธิ์พุทธ-ธรรมคุณ ผ่องอะคร้าว
ศิลป์วิเศษวิศิษฎ์หนุน สืบเนื่อง
ศิลป์-ธรรมน้อมจิตน้าว ดื่มรุ้งอรุณสมัยฯ

(ศักดิ์สิริ มีสมสืบ)







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














จิตรกรรมบัวหลวง ครั้งที่ ๓๗



มูลนิธิบัวหลวงเชิญชมนิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ ๓๗ โดยนำผลงานของผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดจำนวน ๙ ชิ้น และผลงานที่ได้รับการคัดเลือกอีก ๔๓ ชิ้น รวมทั้งสิ้น ๕๒ ชิ้น มาจัดแสดงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมสัมผัสแนวคิดของผลงานจิตรกรรมระดับคุณภาพที่สร้างสรรค์ใน ๓ ประเภท ได้แก่ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี จิตรกรรมไทยแนวประเพณี และจิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ ๑๓ สิงหาคม – ๒๒ กันยายน ๒๕๕๘ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับการประกาศผลการตัดสินการประกวดจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ ๓๗ เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ โดยคณะกรรมการตัดสินนำโดยศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ได้พิจารณาคัดเลือกภาพจิตรกรรมจากผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวน ๑๔๔ ราย เป็นจำนวน ๒o๕ ชิ้น ปรากฎว่ามีผลงานสมควรแก่การรับรางวัลในแต่ละประเภทดังรายละเอียดต่อไปนี้


จิตรกรรมไทยแบบประเพณี

งานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี เป็นงานจิตรกรรมที่มีแบบอย่าง กระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ที่ดำรงภาพลักษณ์แบบไทยประเพณี

รางวัลที่ ๑ เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล ๒oo,ooo บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ
ผลงานชื่อ พระพุทธเจ้า
ของ นายจิรวัฒน์ ทรัพย์อร่าม

รางวัลที่ ๒ เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล ๑oo,ooo บาท
ผลงานชื่อ เพลงปลาตะเพียน ๒
ของ นายนิโรจน์ จรุงจิตวิทวัส

รางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล ๗๕,ooo บาท
ผลงานชื่อ สัญลักษณ์แห่งมงคลชีวิต
ของ นางสาวอัจฉราภรณ์ กล่ำเกลื่อน


จิตรกรรมไทยแนวประเพณี

งานจิตรกรรมไทยแนวประเพณี เป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด กลวิถี และเรื่องราวเนื้อหาสาระ ทั้งภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ไทยของงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี มาพัฒนาสร้างสรรค์ให้เข้ากับสมัยนิยม

รางวัลที่ ๑ เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล ๒oo,ooo บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ
ผลงานชื่อ ภาพสะท้อนความรู้สึก
ของ นายสิทธิพนธ์ เลาะไชยสงค์

รางวัลที่ ๒ เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล ๑oo,ooo บาท
ผลงานชื่อ เกิด – ดับ
ของ นายอนุชา ตาเมืองมูล

รางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล ๗๕,ooo บาท
ผลงานชื่อ ซากความอุดมสมบูรณ์
ของ นายศุภวัฒน์ วิบุลศิลป์


จิตรกรรมร่วมสมัย

งานจิตรกรรมร่วมสมัย เป็นงานจิตรกรรมที่มีกระบวนการสร้างสรรค์ แนวความคิด กลวิธี และเรื่องราวเนื้อหาสาระที่มีการแสดงออกอย่างอิสรเสรี

รางวัลที่ ๑ เหรียญทองบัวหลวง เงินรางวัล ๒oo,ooo บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ
ผลงานชื่อ โลกของสตรีมุสลิม ๒
ของ นางสาวยามีล๊ะ หะยี

รางวัลที่ ๒ เหรียญเงินบัวหลวง และเงินรางวัล ๑oo,ooo บาท
ผลงานชื่อ นรกภูมิ ๑ (มหาโรรุวมหานรก)
ของ นายกิตติศักดิ์ เทพเกาะ

รางวัลที่ ๓ เหรียญทองแดงบัวหลวง และเงินรางวัล ๗๕,ooo บาท
ผลงานชื่อ บรรพบุรุษรำลึก
ของ นางสาวธิติพรหม อ่อนเปี่ยม

นิทรรศการจิตรกรรมบัวหลวงครั้งที่ ๓๗ จัดแสดง ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างวันที่ ๑๓ สิงหาคม – ๒๒ กันยายน ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑o.oo – ๑๙.oo น. ทุกวันยกเว้นวันพุธ และขยายโอกาสให้ผู้สนใจศิลปะในส่วนภูมิภาค โดยนิทรรศการสัญจรไปยังหอศิลป์มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘



ภาพและข้อมูลจาก
queengallery.org
hisoparty.com














นิทรรศการ "การเดินทางของช้างและตระกูลไชยจิตต์"



โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ขอเชิญชมงานแสดงนิทรรศการศิลปกรรม “การเดินทางของช้างและตระกูลไชยจิตต์” โดยศิลปินพ่อลูกชื่อดัง จรูญ ไชยจิตต์ และจักรพันธ์ ไชยจิตต์ ณ บริเวณสกายล็อบบี้ ชั้น ๒๓ ของโรงแรมฯ ตั้งแต่ ๕ สิงหาคม จนถึงวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ระหว่างเวลา ๑o.oo น. ถึง ๒o.oo น. โดยรายได้จากการจำหน่ายงานศิลปกรรมส่วนหนึ่งจะร่วมสบทบทุนให้กับ “มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม”


นิทรรศการฯครั้งนี้ถ่ายทอดเรื่องราวโดยการนำเสนอผลงานผ่านทาง“ช้าง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย บอกเล่าอดีตความเป็นมา ความผูกพันของคนไทยที่มีต่อช้าง โดยศิลปินได้รับแรงบันดาลใจ จากการที่ได้ทำงานร่วมกับช้าง การวาดรูปร่วมกัน ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ความรู้สึกของช้าง โดยมุ่งมั่นในการนำช้างมาเป็นสัญลักษณ์แทนค่าของชีวิตและจิตใจ จากความรู้สึกภายในแล้วถ่ายทอดมาเป็นผลงานที่จัดแสดงขึ้น ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ และเลือกซื้อผลงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่โทร. o๒- ๑oo-๑๒๓๔ ต่อ ๖๗๕๓-๕๖















ภาพและข้อมูลจาก
matichon.co.th














ร้อยเรียงคำสอนของบรรพบุรุษกลายเป็นหนังสือ "เรื่องเล่าจากวังวรดิศ"



เมื่อ “คุณเหลน” หรือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจที่จะถ่ายทอด “คำสอน” ของบรรพบุรุษ จึงเปิดวังวรดิศต้อนรับการเสด็จมาของ พล.ร.อ.นพ.ม.จ.ปุสาณ สวัสดิวัตน์ และท่านหญิง (หม่อมเจ้า) ประภาพันธุ์ ภาณุพันธุ์ กรโกสียกาจร่วมด้วย เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง, เจ้าวรจักร ณ เชียงตุง, เจ้าภาคินัยณ เชียงใหม่, เจ้าพงศ์เดช ณ ลำพูน เพื่อร่วมงานเปิดตัวหนังสือ “เรื่องเล่าจากวังวรดิศ” ผลงานการเขียนเล่มแรกของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ซึ่งเป็นเรื่องราวของวังวรดิศ วังที่ท่านอาศัยมาตั้งแต่กำเนิด โดยก่อตั้งในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้นราชสกุลดิศกุล หรือสมเด็จทวด อีกทั้งเนื้อหาในเล่มนี้ยังเป็นการรวบรวมคำสอนต่าง ๆ ที่ได้รับสืบทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งท่านได้นำคำสอนเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิต การทำงาน ความรัก และยังคงถ่ายทอดไปสู่ลูกหลานเพื่อให้สืบทอดคำสอนเหล่านี้ต่อไปอีกด้วย






ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เจ้าของหนังสือ “เรื่องเล่าจากวังวรดิศ”กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณบุพการีของตนและมอบให้แด่ภริยาและลูกชาย รวมทั้งเก็บความทรงจำที่ดีงามของวังวรดิศ เพื่อเผยแพร่ให้บุคคลภายนอกได้รับรู้เรื่องราวบางส่วนที่เกิดขึ้น เสมือนว่าผู้อ่านได้เข้ามาสัมผัส และดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในรอบรั้ววังแห่งนี้ ทั้งนี้ วังวรดิศ เป็นวังที่ประทับของสมเด็จทวด (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ปัจจุบันมีอายุ ๑o๔ ปีแล้ว เคยใช้เป็นที่ถวายการรับรองการเสด็จฯทรงเยี่ยมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายรัชกาล ตลอดจนพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศ อีกทั้งใช้เป็นที่ฝึกฝนนักเรียนทุนอีกด้วย ซึ่งในอดีตสมเด็จทวดได้สอนกับพ่อเสมอว่า วังนี้จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญทางด้านวัฒนธรรม ทางด้านการศึกษา ด้านการปกครอง อย่ามองว่าจะเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน หรือเรื่องการอยู่อย่างหรูหรา เราต้องมีความยินดีปรีดาที่จะต้อนรับผู้คนที่มาเยี่ยมชมวัง ซึ่งทุกวันนี้ วังวรดิศกลายเป็นโรงเรียนทางวัฒนธรรม สมตามพระประสงค์ของสมเด็จทวดแล้ว มีผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ โบราณคดี การปกครอง และผู้ที่อยากทราบพระประวัติของสมเด็จทวด ทำเรื่องมาขอเยี่ยมชมไม่ขาดสาย นับเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวที่ได้ดูแล และสืบสานตามเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษให้อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย






หนังสือ “เรื่องเล่าจากวังวรดิศ” ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตนอย่างละเอียดที่สุด โดยแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน คือ มรดกคำสอน,เรื่องเล่าจากวังวรดิศ, บุคคลผู้เป็นต้นแบบสุภาพบุรุษจุฑาเทพ และรวมภาพถ่ายจากวังวรดิศ ซึ่งแต่ละส่วนถูกกลั่นกรองออกมาอย่างเหมาะสมโดยเฉพาะในส่วนของ มรดกคำสอน ถือเป็นคำสอนของสมเด็จทวดที่ได้ถ่ายทอดจากรุ่นคุณปู่สู่คุณพ่อ (พลตรี หม่อมราชวงศ์สังขดิศ ดิศกุล) และตนก็ได้นำคำสอนเหล่านี้ถ่ายทอดไปยังลูกชาย (โหลน-วรดิศ ดิศกุล ณ อยุธยา) ซึ่งหนึ่งในคำสอนของสมเด็จทวดที่ได้รับการปลูกฝัง คือ “การอ่อนน้อมถ่อมตน มีแต่จะทำให้ตัวเองสูงยิ่งขึ้นในสายตาของผู้อื่น นอกจากคนโง่เขลาเท่านั้นที่จะดูไม่ออก”,“อำนาจวาสนาเป็นสิ่งที่มอบให้แก่กันไม่ได้ หากแต่จะต้องสร้างขึ้นโดยตนเองเท่านั้น อำนาจจะได้มากก็ด้วยความขยันขันแข็ง หมั่นขวนขวายหาวิชาความรู้ มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความเมตตากรุณา”, “ข้าราชการมิใช่อภิสิทธิ์ชน หากแต่จะต้องบำเพ็ญตนให้เป็นแบบอย่างของคนดีแก่สังคม”, “ในความเป็นชาติ เอกลักษณ์ของคนไทย คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความขยันหมั่นศึกษา ความกตัญญูรู้คุณบุพการีชน ครูอาจารย์ โดยยึดมั่นในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหัวใจแห่งการดำรงตน ปฏิบัติได้เช่นนี้ ความสุข ความเจริญ ย่อมจักบังเกิดขึ้นแก่ตน และครอบครัวอยู่เป็นนิจ”, “ถ้าทำอะไรผิด อย่าปด จะเคยตัว ต้องยอมรับและเสียใจ เพราะทุกคนต้องทำผิดบ้าง ผิดกับชั่วไม่เหมือนกัน” เป็นต้น






“ก่อนที่ตนจะเขียนหนังสือเล่มนี้ กลัวจะไม่มีคนอ่านจนกระทั่งคุยกับ ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี เขาได้ให้กำลังใจว่า เรื่องราวของตนและวังวรดิศสมควรได้รับการเผยแพร่ เพราะจะเป็นตัวอย่างให้คนทั่วไปได้นำไปใช้เป็นแบบอย่างได้ ซึ่งกำลังใจนี้ทำให้ตนมีแรงและพลังมาก ต้องขอบคุณทางสำนักพิมพ์ดีเอ็มจีที่ทำให้หนังสือเรื่องเล่าจากวังวรดิศเกิดขึ้นมา ตนจะรักษาวังนี้ให้เป็นเกียรติสถิตแก่ครอบครัว วงศ์ตระกูลและประเทศชาติสืบไป หนังสือเล่มนี้หากท่านอ่านแล้วชอบใจ กรุณามอบความดีทั้งหลายให้กับบรรพบุรุษของตนด้วย”






ผู้สนใจสามารถหาซื้อ หนังสือ “เรื่องเล่าจากวังวรดิศ” ได้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ ในราคาเล่มละ ๒๒o บาท หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ //www.dmgbooks.com, //www.dbooks4u.com สอบถามเพิ่มเติม โทร. o๒-๖๘๕-๒๒๕๕



ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com














“งูกินหาง” (Ouroboros)



นิทรรศการ : “งูกินหาง” (Ouroboros)
ศิลปิน : คณาจารย์นักออกแบบ กลุ่ม”แต่งแต้ม” (Tangtam)
ณัฐชนน สตันยสุวรรณ (Nutchanon Satanyasuwan)
ศีมาศ ประทีปะวณิช (Simart Prateepavanich)
กมลวรรณ พัชรพรพิพัฒน์ (Kamolwan Patcharapornpipat)
ณิรชญา จังติยานนท์ (Nirachaya Jangtiyanont)
เพชราวุธ พิสุทธ์ิศักดิ์ (Peachravut Pisutsak)
อุฬารพัชร นิธิอุทัย (Ularnpatch Nithiuthai)
ชนากานต์ เรืองณรงค์ (Chanakarn Ruangnarong)
มนน ธรานุรักษ์ (Manon Taranurak)
ชุติมา รุ่งโรจน์พานิชกุล (Chutima Rungrojpanichakul)
กิติคุณ วรสรธร (Kitikoon Worrasorratorn)
ลักษณะงาน : งานออกแบบ , Animation
ระยะเวลาที่จัดแสดง : วันที่ ๒๒ สิงหาคม – ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ : วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo น.
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๒
ติดต่อศิลปิน : o๘-๗๕๑๒-๕๒๓o เพชราวุธ


แนวความคิด

“งูกินหาง” คือแนวคิดของการทำงานร่วมกัน เพื่อต่อยอดและเชื่อมโยงจากความคิดหนึ่งไปสู่อีกความคิดหนึ่ง โดยมีแรงบันดาลใจมากจากการละเล่น “ งูกินหาง ” ของไทยที่วิ่งไล่ จับกัดกินหางกินตัวกันไปเรื่อย ๆ เปรียบเป็นการร่วมกันแลกเปลี่ยนแนวคิดในการทํางานต่อกันเป็นทอดที่อ้างอิงจากความรู้ ประสบการณ์ส่วนบุคคล มีพัฒนาการการคิดต่อยอด ในการสร้างสรรค์แบบบูรณาการ เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย.



ภาพและข้อมูลจาก
chamchuriartgallery.blogspot.com














มีอะไรที่... ศูนย์บันดาลไทย



ระหว่างนี้ใครที่ไปชมนิทรรศการศิลปะที่ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน หากขึ้นไปยังชั้น 3 ของหอศิลป์ จะพบว่าเป็นที่ตั้งของศูนย์แห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า ศูนย์บันดาลไทย หรือ The Center of Thai Inspiration

ศูนย์บันดาลไทย อยู่ภายใต้การดูแลของ กระทรวงวัฒนธรรม เปิดให้บริการมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้บริการและให้คำปรึกษาสำหรับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ บริหารจัดการเสน่ห์ทางวัฒนธรรม(ทุนทางวัฒนธรรม) อีกทั้งยังเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจในการนำมิติและทุนทางวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่า

ทุนทางวัฒนธรรม ที่ศูนย์บันดาลไทยกล่าวถึง อยู่ใน ๘ วิถีวัฒนธรรม และ ๙ เสน่ห์มรดกวัฒนธรรมไทย ที่กระจายอยู่ตามแต่ละจังหวัดของประเทศไทย

๘ วิถีวัฒนธรรม ได้แก่ อาหาร,การแต่งกาย,ที่อยู่อาศัย,ประเพณี,ภาษา,อาชีพ,ความเชื่อ และศิลปะพื้นถิ่น

๙ เสน่ห์มรดกวัฒนธรรมไทย ได้แก่ วัฒนธรรมบ้านเชียง,วัฒนธรรมทวารวดี,วัฒนธรรมศรีโคตรบูรณ์-ล้านช้าง,วัฒนธรรมลพบุรี,วัฒนธรรมศรีวิชัย,วัฒนธรรมล้านนา,วัฒนธรรมสุโขทัย,วัฒนธรรมอยุธยา และวัฒนธรรมธนบุรี -รัตนโกสินทร์

ภายในศูนย์บันดาลไทย ประกอบไปด้วย

- ห้องสมุด รวบรวมหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับทุนทางวัฒนธรรม
- E -Library บริการให้ยืมหนังสือออนไลน์
- นิทรรศการถาวร
- นิทรรศการหมุนเวียน

ซึ่งขณะนี้ในส่วนของนิทรรศการหมุนเวียน คัดสรรผลงานออกแบบส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ “ฝากไทย” มาจัดแสดงให้ชม

ตัวอย่างเช่น ผลงานออกแบบ ที่นำตัวละครที่โดดเด่นในวรรณกรรมเรื่อง “พระอภัยมณี" มาออกแบบ หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ อ.แกลง จ.ระยอง

ผลงานออกแบบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง(บึงสาป) หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ ต.ลานดอกไม้ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

ผลงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก หมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับคลอง ๑๕ หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ อ.องครักษ์ จ.นครนายก

ผลงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “ควายน้ำ” ที่ทะเลน้อย หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

ผลงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก เทศกาลกินปลาทู หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ ถ.ถวาย ต.ท่าฉลอม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ผลงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ทุ่งดอกกระเจียว ณ อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ

ผลงานออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและหาดทราย หนึ่งในทุนทางวัฒนธรรมของ เกาะพีพี จ.กระบี่

นิทรรศการ “ฝากไทย” เป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานออกแบบของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว มากกว่า ๓oo ผลงาน จาก ๗๗ จังหวัด จัดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของศูนย์บันดาลไทย

หลังจากจัดแสดงครั้งแรกไปเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม - ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ผนังโค้งชั้น ๓-๕ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

กำลังจะสัญจรไปจัดแสดงอีกครั้ง ระหว่างวันที่ ๒๓ สิงหาคม - ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ Hof Art ในโครงการ W District ระหว่างสุขุมวิท ๖๙-๗๑ ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง

ขณะที่... ศูนย์บันดาลไทย ณ ชั้น ๓ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถ.ราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เปิดทำการทุกวันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา ๑o.oo - ๑๗.oo น.



















































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














จับแรงบันดาลไทยใส่ในของฝาก



ฝากไทย ..ถอดรหัสเสน่ห์ของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกของ ศูนย์บันดาลไทย หน่วยงานใหม่ของกระทรวงวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้ภารกิจ ส่งเสริม สนับสนุน และให้บริการแนะนำ แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์ และ สร้างแรงบันดาลใจในการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ


"บันดาลไทย" สร้างแรงบันดาลใจ ด้วยการบริหารเสน่ห์แบบไทยๆ เกิดเป็นของที่ระลึกจาก ๗๗ จังหวัด จำนวนกว่า ๓oo ชิ้น...เน้นว่าเป็นแค่ของตัวอย่างที่ต้องการให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอด แต่ถ้าห้ามใจไม่ไหวอยากจะได้เป็นของที่ระลึกสักชิ้น อดใจรอสักนิดของที่ระลึกบางจังหวัดสามารถผลิตออกจำหน่ายได้เร็วๆนี้


อ่านรายละเอียดเต็ม ๆ ได้ที่นี่ bangkokbiznews.com







































ภาพและข้อมูลจาก
FB กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์














เปิดบันทึกแม่บ้านผมสั้นผ่านภาพถ่ายขาว-ดำ



อากาศร้อนเกือบทุกวันตลอดทั้งปีของเมืองไทย ทำให้ยากลำบากต่อการกำหนดขอบเขต ของฤดูร้อนว่ามันได้เริ่มขึ้น หรือสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และอาจเป็นความเลอะเลือนของฤดูกาล ที่ทำให้บางวันในฤดูร้อนนั้นไม่มีแดดเลย บางทีฤดูร้อนก็แทรกอยู่ในฤดูหนาว

บางวันมีลมพัดแต่ไม่เย็น บางวันก็มีความชื้นเหมือนเพิ่งปิดเครื่องปรับอากาศไปสัก ๑๕ นาที

ฉันชอบการบันทึก ไม่ว่าจะเป็นการเขียน วาด หรือถ่ายภาพ ความทรงจำที่ดีเป็นของมีค่าสำหรับฉันแต่การที่เลือกใช้ฟิล์มขาวดำนั้น ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากไปกว่าฉันชอบมัน มันเป็นอีกมุมหนึ่งซึ่งแตกต่าง จากโลกที่ตาเปล่าของฉันมองเห็นอยู่ ฉันเอาเงินเก็บที่มีมาทำห้องมืดสำหรับ ใช้เวลาที่ลูกนอนกลางวันมาหัดล้างอัดรูป ฉันหยิบกล้องถ่ายรูปฟิล์มตัวที่เหมาะกับฉัน ซึ่งก็คือตัวที่ใช้ง่ายที่สุดพกติดตัวไว้ เพราะอยากจะเก็บบันทึกเพียงความปกติของชีวิตในตอนนี้ เรื่องที่เรียบง่าย สิ่งที่เห็นอยู่ทุกวัน เส้นทางที่เดินจนคุ้นชิน บ้าน ครอบครัว คนรอบตัว รวมถึงตัวเองด้วย ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นยังไง ฤดูร้อนหน้าจะเป็นยังไงบ้าง

เหมือนเสื้อในตู้ที่อยู่ๆก็เก่าโดยที่เราไม่รู้ตัว เหมือนต้นไม้แถวบ้านที่สูงขึ้นตอนไหนก็ไม่รู้ การบันทึกสิ่งธรรมดา ๆ เหล่านี้ทำให้ฉันเห็นว่า ที่จริงแล้วชีวิตไม่ได้เปลี่ยนแปลงทันทีในวันที่สอบ เข้ามหาวิทยาลัย หรือแต่งงาน หรือมีลูก แต่ชีวิตเคลื่อนไหวตลอดเวลา.

คนรักการถ่ายภาพและชอบเสพย์งานศิลป์ ร่วมสัมผัสมุมมองของแม่บ้านผมสั้นคนนี้ผ่านเรื่องราวหลังเลนส์ตลอดฤดูร้อนที่ผ่านมาของเธอได้ ตั้งแต่วันนี้-๖ กันยายน ๒๕๕๘ นี้ ที่ เดอะ แจม แฟคตอรี่คลองสาน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ //www.facebook.com/TheJamFactoryBangkok



































ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com














“ศิลป์” เพื่อ “สืบ” สืบอุดมการณ์ “สืบ นาคะเสถียร”


“ผมคิดว่า ชีวิตผมทำดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่
ผมคิดว่า ผมได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว
ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว
และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ”

- สืบ นาคะเสถียร -


พฤษภาคมที่ผ่านมา ภาพยนตร์สั้นเรื่อง “ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง” แสดงโดย นพพร ชัยนาม และกำกับโดย ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ๑ ใน ๔ ภาพยนตร์ ภายใต้โครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ ได้ตอกย้ำให้หลายคนได้ทราบถึงการอุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าเมืองไทยของ “สืบ นาคะเสถียร”

เพราะนอกจาก ภาพยตร์จะได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังเลือกนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้งผู้นี้

หลังจากที่ก่อนหน้านี้เรื่องราวของสืบได้ถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลป์หลากหลายแขนงมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่สืบได้ตัดสินใจยิงตัวตาย เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๓

และเมื่อวันที่ ๑ กันยายนของทุกปีเวียนมาถึง วันนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็น "วันสืบ นาคะเสถียร”

ปีนี้ก็เช่นเดียวกันซึ่งถือเป็นปี ครบรอบ ๒๕ ปี การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร

เพื่อเป็นรำลึกถึงเขา มีหลายนิทรรศการ จัดขึ้นในหลายสถานที่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อีกทั้งมีกิจกรรมด้านศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการให้ผู้สนใจได้เข้าร่วม และกระตุ้นเตือนให้หลายคน เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าผ่านงานศิลปะ






“ห้วยขาแข้ง” ๒o ปี ศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก


ครบรอบ ๒o ปี ของ กลุ่มศิลปินรักษ์ผืนป่าตะวันตก และ เพื่อรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร กลุ่มศิลปินฯ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะ “ห้วยขาแข้ง คุณค่า ความงาม ความสำคัญ”

ผลงานศิลปะของศิลปินที่นำมาร่วมแสดงในนิทรรศการฯ ได้แก่ อินสนธ์ วงศ์สาม (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์), ทวี รัชนีกร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์), เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์), สุรชัย จันทิมาธร (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์), มงคล อุทก,วิโชค มุกดามณี (ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์), ศักดิ์สิริ มีสมสืบ (กวีรางวัลซีไรซ์และศิลปินศิลปาธร), สันทนา ปลื้มชูศักดิ์, สมภพ บุตราช, วสันต์ สิทธิเขตต์ (ศิลปินศิลปาธร), เอกชัย ลวดสูงเนิน, ทองแถม นาถจำนงค์, มานะ ภู่พิชิต, วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร, ทวิช ชุณหชา, สุธน สุขพิทักษ์, เสนีย์ แช่มเดช, อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, สิทธิโชค ก้อนนาค, สถาวร ศรีอำนวย, ธียุทธ ศรีเกสร, พจนีย์ ตีระวนิช, วิชัย นาพัว, วรวุฒิ โตอุรวงศ์ และศิลปินรับเชิญ MR. Ryan Mattew Michel จากสหรัฐอเมริกา

ระหว่างวันที่ ๓o สิงหาคม - ๓o พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ห้องลายสอง อาคารอนุสรณ์สถาน สืบ นาคะเสถียร อ.ลานศักดิ์ จ.อุทัยธานี






เส้นทางอนุรักษ์บนร่างสืบ


จากไป... แต่อุดมการณ์ที่ให้ไว้ยัง “สืบ” ต่อ

ครบรอบ ๒๕ ปี การเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร โครงการสืบสานวันสืบ นาคะเสถียร จัดนิทรรศการเส้นทางอนุรักษ์บนร่างสืบ ครั้งที่ ๒๒ “สืบจิตวิญญาณ สืบสร้างอุดมการณ์ สืบนาคะเสถียร”

ระหว่างวันที่ ๑ - ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน พบกับหลายกิจกรรมที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘

เสวนา “ตามรอยชีวิตผู้พิทักษ์พงไพร “ โดย รายการคนค้นฅน
เสวนา “คนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์” โดย บอลและยอด สองหนุ่มจากรายการ “หนังพาไป”
กิจกรรมแข่งขันวาดภาพ “สีสันแห่งพงไพร”
การแสดงฉ่อย โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การแสดงดนตรี โดย KU acoustic และมาลีฮวนน่า

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๘

เสวนา “ผืนป่าที่หายไป” โดย ผศ.ดร. ขวัญชัย ดวงสถาพร,และสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน
การแสดงจากชมรมศิลปะการแสดง
เสวนา “ผู้หญิงกับการปกป้องป่าไม้ไทย” โดย วีรยา โอชะกุล
การประกวด Conservation got talent
จุดเทียนไว้อาลัยและอ่านคำรำลึกถึง สืบ นาคะเสถียร
การแสดงดนตรี “เสียงกระซิบจากผืนป่า” โดย นิสิคคณะวนศาสตร์
การแสดงดนตรี โดย ฟาร์ม The Voice และ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน

นอกจากนี้ียังมีนิทรรศการให้ชม และแจกฟรี กล้าไม้จากเรือนเพาะชำคณะวนศาสตร์






จากเสียงปืนสู่ผืนป่า


ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงาน “สืบ นาคะเสถียร : ๒๕ ปี จากเสียงปืนสู่ผืนป่า”

ระหว่างวันที่ ๑-๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นอกจากพบกับการออกร้านจากสำนักพิมพ์ สารคดี,WWF - Thailand และ Green Peace ตลอดจนนิทรรศการภาพถ่าย จาก National Geographic

ในช่วงเย็นของแต่ละวันยังมีนักอนุรักษ์และบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นวิทยากรให้กับการบรรยายหัวข้อต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๗.๓o น. การบรรยายหัวข้อ "อดีตของสืบสู่ปัจจุบันของเรา " โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารสารคดี ,รองผอ.Thai PBS ผู้เคยอยู่ในเหตุการณ์การช่วยเหลือชีวิตสัตว์ป่าของ สืบ นาคะเสถียร ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฎร์ธานี

วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๗.๓o น ร่วมพูดคุยหัวข้อ "การอนุรักษ์และการพัฒนา" กับ ติ้ก- เจษฎาภรณ์ ผลดี พิธีกรรายการ “เนวิเกเตอร์ ไปให้สุดฟ้าไกล” หนึ่งในรายการที่กระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ

วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๗.๓o น. กิจกรรม Guitar talk หัวข้อ "วิถีสีเขียวจากป่าสู่เมือง" โดย มาโนช พุฒตาล นักคิด นักอนุรักษ์ นักเล่าเรื่องผ่านเสียงดนตรี พิธีกรรายการ สามัญชนคนไทยทางช่อง Thai PBS

สำรองที่นั่งหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. o๘๗-๖๒๖-๔๘๘๓ และ o๖๑-๘๙o-๖๔๙o






เรื่องเล่าจากทุ่งใหญ่นเรศวร


“เมื่อเรามองด้วยตาโดยผ่านหัวใจ เราจะเห็นทุกอย่าง”

คือคำกล่าวของ หม่อมเชน หรือ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพผู้ถ่ายภาพสัตว์ป่า มากว่า ๒o ปี

ซึ่งในงาน “รําลึก ๒๕ ปี สืบ นาคะเสถียร” ระหว่างวันที่ ๔ - ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

หม่อมเชน ได้มอบภาพถ่ายผืนป่าและสัตว์ป่าแห่งมรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร มาให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดแสดงภายในงาน พร้อมด้วยภาพถ่ายของ ชาญชัย พินทุเสน ศิลปินรุ่นใหญ่และประมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์

เพื่อให้สาธารณชนได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและสัตว์ป่าอันเป็นผลมาจากการทำงานเพื่อรักษาผืนป่าอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงนิทรรศการ “เสื้อ เราทำงานให้พี่สืบ” ที่เปิดให้ชม ระหว่างเวลา ๑o.oo- ๒o.oo น

นอกจากนี้กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน “รำลึก ๒๕ ปี สืบ นาคะเสถียร” ณ หอศิลป์ กทม.ในแต่ละวันยังประกอบไปด้วย


วันศุกร์ที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๓.oo - ๑๓.๓o น. พิธีเปิดงานรําลึก ๒๕ ปี สืบ นาคะเสถียร โดย อ.รตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
เวลา ๑๓.๓o - ๑๔.oo น. ฉายวีดีทัศน์ “๒๕ ปี ที่เราทำงานให้พี่สืบ”
เวลา ๑๔.oo - ๑๕.oo น. เวทีเสวนา “๒๕ ปี นักอนุรักษ์ผู้ตามรอย สืบ นาคะเสถียร”
เวลา ๑๕.oo - ๑๖.oo น. การแสดงดนตรีโดย ตะวันฉาย หงส์วิไล เจ้าหน้าที่ภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
เวลา ๑๖.oo - ๑๘.oo น. เวทีเสวนา “เหลียวหลังแลหน้า งานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไทย” ผ่านมิติ ของผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ
เวลา ๑๘.oo - ๑๙.oo น. เวทีดนตรีเพื่อการอนุรักษ์


วันเสาร์ที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๓.๓o - ๑๔.oo น. การแสดงดนตรีโดย อุณ - อาร์ม เดอะวอยซ์
เวลา ๑๔.oo - ๑๔.๔o น. เวทีเสวนา “เสียงจากพิทักษ์ป่า”
เวลา ๑๔.๔o - ๑๕.๔o น. เวทีเสวนา “โครงการเพื่อผู้พิทักษ์กับทีวีบูรพา”
เวลา ๑๕.๔o - ๑๖.๒o น. การแสดงดนตรีโดย เอ้ เดอะวอยซ์
เวลา ๑๖.๒o - ๑๗.๑o น. เวทีเสวนา “รําลึก สืบ นาคะเสถียร กับผู้พิทักษ์ป่า”
เวลา ๑๗.๑o - ๑๗.๓o น. พิธีมอบรางวัลนักอนุรักษ์สืบนาคะเสถียร
เวลา ๑๗.๓o - ๑๗.๕o น. ฉายวีดีทัศน์รําลึก สืบ นาคะเสถียร
เวลา ๑๗.๕o - ๑๙.oo น. การแสดงดนตรีโดย อพาร์ตเมนต์คุณป้า


วันอาทิตย์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๘

เวลา ๑๓.oo - ๑๓.๔o น. การแสดงดนตรีโดย ฟีลกู๊ดแบนด์
เวลา ๑๓.๔o - ๑๔.๒o น. การแสดงดนตรีโดย พาร์ท ไทม์ มิวสิเชียนส์
เวลา ๑๔.๒o - ๑๕.oo น. การแสดงดนตรีโดย สมัยไหนนิยม
เวลา ๑๕.oo - ๑๕.๔o น. การรายงานสถานการณ์ป่าไม้ ประจําปี พ.ศ. 2558 โดย อ.ศศิน เฉลิมลาภ
เวลา ๑๖.oo - ๑๗.oo น. การแสดงดนตรีโดย กรีซซี่ คาเฟ
เวลา ๑๗.oo - ๑๘.oo น. เวทีดนตรีเพื่อการอนุรักษ์
เวลา ๑๘.oo - ๑๙.oo น. การแสดงดนตรีโดย มาโนช พุฒตาล



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














ภาพและข้อมูลจาก
nanmeebooks.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 04 กันยายน 2558
Last Update : 4 กันยายน 2558 23:49:04 น. 0 comments
Counter : 2928 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.