ขอคำปรึกษาอาชีพนักแปล

เรียน  คุณณัชชาอร ชูเชิดศักดิ์

เรื่อง ขอคำปรึกษาในการทำอาชีพนักแปลครับ

ปัจจุบันอายุ 50ทางที่ทำงานกำหนดเกษียณ 55 จึงต้องวางแผนเพื่อให้มีอาชีพหลังเกษียณครับ

เหตุที่คิดว่าอาชีพนี้เหมาะกับตัวเองเพราะปกติเป็นคนชอบอ่านหนังสือหลากหลาย

วัยเด็ก อ่านฟังนิยาย  วันรุ่นดูหนัง ทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์มากกว่า 3 เรื่อง อ่านปรัชญาศาสนา จิตวิทยา  How to ต่างๆ  วัยกลางคน อ่านธรรมะ  โหราศาสตร์ ปรัชญาแนวคิดพวก กฤษณะมูรติ  ปัจจุบันศึกษาธรรมะ  โหราศาสตร์ งานประจำจะเน้นเรื่องกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ ครับ

อีกเหตุที่คิดว่าเหมาะกับอาชีพนักแปลคือคิดว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์ คือชอบสันโดษ อยู่กับหนังสือ วันหยุดก็ไปปล่อยปลา ใส่บาตร สวดมนต์ที่วัดพระแก้ว ทำมานานแล้วเวลาที่เหลือก็จะอ่าน ศึกษา ตำราหนังสือ หรืองานมาตรวจ ตามห้างฯครับ

เคยคุยกับอาจารย์ จงจิตต์ ซึ่งเป็นอาจารย์ ประจำสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย  โดยปรึกษาท่านถึงการอบรม

ท่านบอกว่าคนเป็นนักแปลไม่จำเป็นต้องจบทางด้านวรรณคดีอังกฤษ หรือด้านภาษาอังกฤษโดยตรง ท่านก็ถามว่าจบอะไร  ทำอะไร  ก็บอกท่านว่า จบก่อสร้างอุเทนถวาย จบด้านประเมินอสังหาริมทรัพย์ ทำงานด้านประเมิน ฯ มากว่า 14ปี แล้วเข้ามาทำงานธนาคารเป็นที่ปรึกษาฯ  

ท่านบอกว่าจะมาเรียนการแปล ควรแม่นเรื่องไวยกรณ์ อ่านภาษาในระดับเข้าใจถึงโครงสร้างภาษาสักระดับหนึ่ง  ควรไปฟิตเรื่อง แกรมม่า โครงสร้างประโยค และอ่านได้พอประมาณ น่าจะสักปีหนึ่ง แล้วค่อยมาอบรม

ทำให้ผมมีความหวังอยู่บ้าง  พอดีเพื่อนที่สนใจ  แต่มีพื้นภาษาดีหน่อย เพราะจบวิศวะที่ฟิลิปินส์ เลยแนะนำเพื่อนไปเรียน ซึ่งก็ได้รู้จักเพื่อนๆ ที่ไปอบรม ทำให้ยิ่งท้อแท้ลงไปอีก เพราะเพื่อนบอกว่า  คนที่มาอบรมส่วนใหญ่หรือแทบทุกคน เก่งภาษาอังกฤษมากแล้ว  บางคนยังเป็นนักแปลอิสระอีกด้วย ขนาดเพื่อนผมว่าภาษาดีแล้วระดับหนึ่ง ยังบอกว่าเป็นอันดับบ๋วยของห้องเลยครับ

ผมจึงขอเรียนปรึกษาว่า  จากพื้นภาษาอังกฤษของผม ซึ่งน่าจะเริ่มต้นใหม่ คิดว่าจะปรับพื้นฐานสัก 1ปี เพื่อจะไปอบรมคอร์สการแปล ที่สมาคมนักแปลนี้    หลังจากอบรมจะหางานแปล โดยจะเน้นการแปลเอกสารทางกฎหมาย หรือแนวที่ตัวเองสนใจ

ขอเรียนปรึกษาว่า หากผมคิดจะเอาดีทางอาชีพนี้โดยจะใช้เวลาเตรียมการ ประมาณ 3 ปี หรือก่อนเกษียณอยากขอคำแนะนำ ถึงวิธี ขั้นตอน ที่จะประสบความสำเร็จ จากพื้นฐานที่เป็นอยู่นี้นะครับ

หรือว่า....ไม่ควรจะเสียเวลาเพราะพื้นภาษาอังกฤษไม่ได้สะสมมามากพอ หรือแข็งแรงพอ การเริ่มต้นใหม่ น่าจะช้าเกินไปครับ

หมายเหตุ

งานที่ทำปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้กับทางสินเชื่อโครงการต้องรู้เรื่องการประเมินราคาทรัพย์สิน ข้อกฎหมายอสังหาริมทรัพย์ เดิมทำประเมินราคา สืบราคา เช็คราคาที่ดิน ตรวจสอบเอกสารสิทธิ์จนเข้ามาทำงานที่ธนาคาร 10 ปีที่ผ่านมาครับ

งานอดิเรก ศึกษาศาสตร์ทางพยากรณ์  -  ไม่คิดจะทำเป็นอาชีพหลักนะครับ

ปัจจุบัน สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย เปิดอบรมคอร์ส นักแปลอาชีพ นักแปลบันเทิงคดี   แปลธุรกิจ ไทย-อังกฤษ (ระดับกลาง)

**********

ผู้อ่านเขียนมายาวทีเดียว เลยต้องจับใจความก่อน

(1) วัตถุประสงค์ในการเป็นนักแปลคือ วางแผนเพื่อให้มีอาชีพหลังเกษียณ (2)คิดว่าเหมาะกับอาชีพนักแปลเพราะชอบอ่านหนังสือและรักสันโดษ (3) ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ปานกลาง (4) ระยะเวลาเตรียมตัว3 ปี (5) แนวที่ต้องการแปล คือเอกสารกฎหมาย หรือเรื่องที่ถนัด (6) งานปัจจุบันคืองานด้านอสังหาริมทรัพย์ (7) สิ่งที่ถามคือ ขอคำแนะนำถึงวิธี ขั้นตอน ที่จะประสบความสำเร็จ  จากพื้นฐานที่เป็นอยู่

ตอบ

เรายังไม่รู้เลยว่าผู้อ่านพื้นฐานภาษาอังกฤษดีแค่ไหน ถ้าจะรู้ก็ต้องทำแบบทดสอบ เหมือนเวลานักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศก็ต้องสอบวัดระดับภาษาอังกฤษเพื่อจัดกลุ่ม

การทดสอบแปลในไทยก็มีคือการสอบเข้าระดับปริญญาโทสาขาการแปลนั่นแหละ ลองของจริง ถ้าสอบผ่าน แสดงว่ามีพื้นฐานในระดับที่สามารถพัฒนาต่อได้

ข้อสอบแปล ไม่เหมือนกับข้อสอบ IELTS หรือ TOEFLนะ การแปลไม่ใช่แค่การใช้ภาษาอังกฤษสิ่งสำคัญคือการนำความเข้าใจในตัวต้นฉบับมาถ่ายทอดคนที่แปลแล้วแต่อาจารย์บอกว่าใช้ไม่ได้ หมายความว่าถ่ายทอดใจความออกมาเป็นภาษาปลายทางแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง หรืออ่านรู้เรื่องแต่ผิดความหมาย(แปลแล้วอ่านเข้าใจอยู่คนเดียว)

ยกตัวอย่าง หมอแน่นอนว่าภาษาต้องดีมากเพราะอ่านตำราภาษาอังกฤษแตกฉานแต่เอเจนท์แปลต่างประเทศเคยบอกเราว่า งานวิจัยทางการแพทย์ปกติจะส่งนักแปลที่ไม่ใช่หมอแปล เพราะเวลาให้หมอแปล หมอจะแปลแบบอ่านรู้เรื่องเฉพาะคนที่ทำอาชีพเดียวกันเช่น แปลแบบถ่ายเสียง แปลแบบทับศัพท์ และลักษณะการเขียนแบบอื่นๆ ในขณะที่เอกสารวิจัยบางอย่างจัดทำเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าร่วมงานวิจัย(ในหลายๆ กรณีก็ชาวบ้านทั่วไปนี่แหละ)

ขอแนะนำให้ผู้อ่านลองทำข้อสอบการแปลของมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ ทำเสร็จแล้วดูเฉลย แต่ถ้าไม่มีข้อสอบเก่าขาย ก็สอบจริงเลย ลองสนามไปสอบของ ม.รามคำแหง ก็ได้ ค่าสมัคร 1,000 บาท (ถ้าจำไม่ผิดนะ)ถึงสอบไม่ผ่าน อย่างน้อยก็รู้แหละว่า ตัวเองอ่อนตรงไหน

หรือลองหาบทความที่ชอบลองแปล แล้วส่งให้ editor ตรวจ โดยขอให้editor แก้แบบ track changes พร้อมอธิบายด้วยว่าเพราะอะไรถึงแก้เป็นคำนี้ ใช้แหล่งอ้างอิงไหน ทฤษฎีไหน แน่นอนว่า ค่าบริการจะสูงกว่าค่าตรวจแก้ปกติ

การตรวจพร้อมให้คำอธิบายอย่างนี้ เราทำให้นักแปลในทีมเกือบทุกงาน พอเราตรวจเสร็จแล้วจะส่งกลับไปให้ดูและอธิบาย ตอนนี้เราฝึกอยู่ 2 คนคนนึงจบปริญญาตรีจาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่นแต่เคยไปเรียนม.ปลายที่อเมริกา อีกคนนึงจบปริญญาตรีจาก ม.ธรรมศาสตร์ และจบปริญญาโทจากม.อเมริกันแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ทั้งสองคนนี้เราหาใหม่เพิ่มขึ้นมาจากในทีมที่มีอยู่แล้ว4 คนประเด็นคือเราต้องการคนที่รับงานเราได้สม่ำเสมอ เพราะเวลา sub งานเราจะ sub แค่ไม่กี่คนโดยดูตามความถนัดและงบของแต่ละงาน  จะไม่มีการอีเมลถามไปทั่วแล้วเลือกเอาคนที่ให้ราคาต่ำสุด คนไหนที่เราส่งงานก็จะส่งกันอยู่อย่างนั้นแต่ก็ดูความถนัดด้วย (หลายๆ งานเราส่งใครไม่ได้ต้องทำเองเพราะศัพท์มันยากมาก เราทำเองจะไวกว่าเนื่องจากเป็นคดีต่อเนื่องหรือเป็นคดีที่เคยแปลให้ลูกค้ารายอื่นมาก่อน (ความรู้อยู่ในหัวอยู่แล้ว แค่ดึงออกมาใช้ไม่ต้องค้นเยอะมาก))

สองคนที่เราฝึกนี่ ไม่ใช่ว่าเก่งนะ เราบอกไปตรงๆว่า ถ้างานที่เราส่งให้ทำ เป็นการทำข้อสอบแปล ก็ต้องเรียกว่าสอบตกเพราะแปลเละเทะมาก ทั้งที่เป็นการสอบแบบ open book เปิดเน็ตค้นข้อมูลได้แบบ unlimited อยากโทรถามคำศัพท์จากใครก็ได้ ค้นพจนานุกรมเล่มไหนก็ได้

คนแรกดีที่มีแวว แก้ส่งคืนไปงานแรกแปลภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ น้องแปลมาไวยากรณ์เพี้ยนหลายที่ พองานที่สองน้องทำส่งมา ต้องบอกว่าหลังตีนเป็นหน้ามือ

ส่วนคนหลังนี่เราให้ลองแปลงานลูกค้าจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ก็สอบตกเหมือนกัน ฉบับแปลอ่านรู้เรื่องนะ แต่แปลตกหลายจุดค้นคำศัพท์ไม่มากพอ (ที่รู้เพราะตอนเราตรวจ เราค้นศัพท์เจอนะ) แปลเกินอีกต่างหากต้นฉบับไม่มี แต่ฉบับแปลมาจากไหนไม่รู้ เป็นประโยคเลย

บังเอิญว่าเราไม่ซีเรียสมาก เราทำงานแบบ win-win นักแปลอยากแปลอยากมีคนสอนแปล อยากได้ตังค์ (เราไม่ได้ให้เยอะ) ส่วนเราก็หาคนช่วยงานเอาที่พอมีแวว ให้แปลงานที่ไม่ยากมาก พอเราสอนๆ ไป ก็หวังว่าจะพัฒนาได้ดีและพัฒนาได้เร็วแล้วก็ต้องใช้คนให้ถูกกับงานด้วย คนนี้ฝีมือแค่นี้ ก็ส่งงานเนื้อหาระดับนี้ให้

เราตรวจงานคนอื่นนี่เราก็ได้เรียนรู้ด้วยนะ หลายๆ คำที่นักแปลคิดมา แจ่มกว่าที่เราคิดอีกเวลาตรวจงาน เราเหมือนนักสืบ ต้องหาแหล่งอ้างอิงมา cross check ความหมายความรู้ก็ยิ่งพอกพูน

ที่ผู้อ่านบอกว่า มีเวลาเตรียมตัว 3 ปี เข้าใจว่าเตรียมตัวแบบ part-time ก็จะฝึกไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราเชื่อว่า ทำงานวันๆ นึงก็หมดแรงแล้วพอตกเย็นมานั่งอ่านบทความ วิเคราะห์เนื้อหา เลือกระดับภาษา ค้นศัพท์แล้วเขียนออกมาให้รู้เรื่อง ถูกต้อง สละสลวย ต้องเป็นคนที่มีวินัยสูงมากๆ อย่างน้อยๆ ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมงก่อนนอนลองทำแบบฝึกหัดแปล แล้วทำอย่างนี้สัปดาห์ละ3-4 วัน ติดต่อกันก็น่าจะเห็นความแตกต่าง เราห่วงก็ตรงที่เรียนเองแบบไม่มีคนติวอาจจะมองเห็นข้อผิดพลาดได้ไม่รอบด้าน ทำให้พัฒนาได้ไม่เต็มที่

พอพัฒนาถึงจุดที่สามารถรับงานแปลได้แล้วสาขาที่เลือกจะแปลก็ควรจะต่อยอดจากประสบการณ์ที่มีอยู่ จะทำให้เรียนรู้ได้ไวยิ่งขึ้นเพราะเข้าใจเนื้อหาอยู่แล้ว ซึ่งผู้อ่านบอกว่าทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์

อีกอย่างหนึ่งคือ แปลเข้าหาภาษาตัวเองนั้นง่ายกว่าแปลออกกรณีของผู้อ่านคือ แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย จะทำได้ดีกว่าแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ งานที่เป็นการแปลเข้าที่เราเคยทำ เช่น Message from CEO(สารจากประธาน), Incident Report (รายงานเหตุระเบิดของโรงงาน), Prospectus (หนังสือชี้ชวน), Audit Report (รายงานตรวจสอบสาขา), เอกสารศาลของต่างประเทศสำหรับยื่นประกอบการฟ้องร้องในประเทศไทย, สัญญาผลิตไฟฟ้า และเอกสารอื่นๆที่คนร่างเป็นบริษัทต่างชาติซึ่งต้องแปลเพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยใช้เป็นข้อมูล แต่เราลองนับจำนวนโปรเจ็กต์ปีนี้แล้ว 70%เป็นงานแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษและเกือบทั้งหมดเป็นเอกสารที่ใช้ประกอบในการดำเนินคดี ฉะนั้นผู้อ่านควรจะลองดูเอกสารที่เกี่ยวข้องกับงานอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นภาษาอังกฤษว่าน่าจะมีอะไรที่ลูกค้าอยากจะแปลเป็นภาษาไทยบ้าง

เรื่องจะทำเป็นอาชีพหลังเกษียณผู้อ่านไม่ได้บอกว่าต้องการรายได้ประมาณไหน เราเดาว่า ถ้าเกษียณแล้วคงไม่น่าจะเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายรายเดือนคาดว่าจะทำเพื่อเป็นรายได้เล็กน้อยและให้ฝึกสมองเท่านั้น อย่างนี้ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกษียณมาแบบได้เงินบำนาญเท่าไหร่เอาไปโปะหนี้หมดเลยต้องมาทำอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงตัวอันนี้เราว่าเสี่ยงมากๆ สำหรับนักแปลหน้าใหม่ที่ไม่มีฐานลูกค้าของตัวเอง แล้วมันก็จะมาเข้า loop เดิมคือชั่วโมงบินน้อย ไม่เก่งมาก จึงต้องคิดค่าแรงน้อยเลยต้องทำงานเยอะเพื่อให้มีรายได้เพียงพอตามต้องการ พอคิดค่าแรงน้อยนักแปลคนอื่นที่อยากได้งาน ก็ตัดราคา โดดลงมาเล่นตลาดล่างเหมือนกัน เป็นอันว่าค่าแรงไม่ขึ้นซะทีวนอยู่แค่นี้

ส่วนที่ผู้อ่านบอกว่า “ไม่ควรจะเสียเวลาเพราะพื้นภาษาอังกฤษไม่ได้สะสมมามากพอ”อันนี้เราฟันธงไม่ได้ คนเรามีศักยภาพในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน บางคนไม่เคยเรียนต่างประเทศเลยก็ยังสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีไม่แพ้เจ้าของภาษา (ในห้องรวมพลนักแปล Pantip มีสมาชิกบางท่านไม่ได้เรียนจบหลักสูตรอะไรเป็นชิ้นเป็นอันการแปลก็ไม่ได้จบ แต่อ่านวิเคราะห์ประโยคภาษาอังกฤษได้แม่นทีเดียว โดยอาศัยประสบการ์อันยาวนั่นเอง)

สรุปว่าไหนๆวางแผนว่าจะเป็นนักแปลแล้ว ลองดูก่อนก็ได้ เริ่มด้วยการประเมินตนเองว่าอ่อนตรงไหนลองทำแบบทดสอบ หรือลงสนามสอบจริง หรือแปลงานแล้วส่งให้ editor ตรวจแบบละเอียดพร้อมขอคำอธิบาย จากนั้นให้ฝึกแปลสักระยะหนึ่ง 3-6 เดือน ว่าไหวมั้ย ถ้าถอดใจเพราะมันยากจริงๆ ค่อยหาแผนสองไว้รองรับหลังเกษียณ




Create Date : 21 สิงหาคม 2558
Last Update : 21 สิงหาคม 2558 16:26:59 น.
Counter : 4998 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
สิงหาคม 2558

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog