นักเรียนแลกเปลี่ยน AFS

นักเรียนแลกเปลี่ยน AFS

วันนี้ไปช่วยสัมภาษณ์ผู้สมัครโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม AFS รุ่นที่ 35 ของภาคพื้นธนบุรีที่โรงเรียนศึกษานารี

อาจารย์ประภาศรี อดีตหัวหน้าภาคพื้นธนบุรีที่เคยเป็นอาจารย์ประจำชั้นและอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสสมัยมัธยมปลายโทรมาเรียกให้ไปช่วยงานทุกปีตั้งแต่เรากลับจากโครงการฯ เมื่อปี 2540 (ถึงไทยปั๊บฟองสบู่แตกเลย)

เราช่วยสัมภาษณ์มาตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ขาดแค่ 2-3 ปีที่ไม่ได้ไปเพราะอยู่ต่างประเทศ ปีแรกๆ ได้สัมภาษณ์กลุ่มดูผู้สมัครทำกิจกรรมกลุ่ม ร้อง เล่น เต้น รำ แต่หลังๆ นี้เราสัมภาษณ์เดี่ยวคู่กับอาจารย์

รอบสัมภาษณ์เดี่ยวนี้จะมีแนวทางคำถามให้ผู้สัมภาษณ์เตรียมก็ไม่พ้นคำถามที่มาจากประสบการณ์จริงของคนที่เคยร่วมโครงการนี้มาแล้ว

หลายๆ คนยังเข้าใจผิดว่า AFS รับแต่เด็กเก่งภาษาอังกฤษ ไม่ใช่นะ คนที่เข้ารอบสัมภาษณ์นี่คือนักเรียนที่สอบข้อเขียนผ่าน เราก็จำไม่ได้แล้วว่าข้อสอบเป็นลักษณะไหน ที่ผ่านมานี่ พอสัมภาษณ์จริงภาษาอังกฤษไม่ดีเลย ซึ่งมันก็ธรรมดาของเด็กไทยที่เรียนในห้องแต่ไม่เคยพูดในชีวิตประจำวัน(ใครมันจะไปพูดฟะ เดี๋ยวโดนหาว่ากระแดะ) มีภาษาอังกฤษที่พูดแล้วฟังรู้เรื่องโต้ตอบได้ แค่ไม่กี่คน เข้าใจว่าน่าจะเพราะเป็นนักเรียนที่เรียนโปรแกรมสองภาษา

เรื่องคำถามที่ถาม เป็นคำถามทั่วไปที่ถามเพื่อดูว่าผู้สมัครจะรับมือกับสถานการณ์จริงได้แค่ไหน เวลาเราถาม ก็ประสบการณ์เรานี่แหละ เช่น

ถาม - ครอบครัวที่จะไปอยู่ด้วยมีลูกชาย แล้วอากาศมันหนาว ลูกชายจะขอมานอนเตียงเดียวกันหนูจะว่ายังไง

– นอนได้ครับ ที่บ้านก็นอนกับพี่ชายเหมือนกัน (ไม่กลัวไฟดูดเหรอน้อง)

– นอนได้ค่ะ ชินแล้วที่บ้านก็นอนกับพี่ (จริงอ่ะ)

– ไม่ได้เด็ดขาดหนูจะอธิบายว่าวัฒนธรรมหนูห้าม

ถาม – หนูน่ารักน่าเอ็นดู ถ้าเพื่อนผู้ชายมาจีบ จีบแบบตะวันตกเลย จับมือถือแขนโอบไหล่ กอดเอว เผลอๆ จะแอบจูบด้วย หนูจะทำยังไง

- หลบค่ะ หลบได้ก็หลบ

- ห้ามค่ะบอกเลยว่าวัฒนธรรมไทยห้ามแตะเนื้อต้องตัว

ถาม - พี่สาวชอบเอากางเกงในของหนูไปใส่ ไม่รู้ว่าหยิบผิดหรือจงใจ แต่ทำบ่อยหนูจะทำยังไง

- ก็ไม่เป็นไรหนูก็เอาไปซัก

- ไม่เป็นไร ที่บ้านหนูก็แบ่งกันใส่กับพี่สาว (หยึย)

(ทำไมถึงไม่คิดจะคุยกับพี่สาวให้เป็นเรื่องเป็นราวว่าถือนะ ห้ามใช้ร่วมกัน เพื่อสุขอนามัยที่ดี)

ถาม - หนูไม่กินเนื้อวัว แต่อาหารยอดนิยมของประเทศที่หนูเลือกจะไปคือ สเต็กหนูจะบอกกับครอบครัวที่โน่นว่ายังไง

- กินได้ค่ะถึงเวลาก็กินได้ ที่ไม่กินนี่เพราะที่บ้านหนูไม่กิน แต่อยู่โน่น ถ้าต้องกินก็ไม่มีปัญหา

(ทำไม ไม่มีใครตอบว่าจะคุยกับครอบครัวที่โน่นว่าหนูกินไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นความเชื่อทางศาสนา)

ถาม - ประธานาธิบดีของประเทศที่หนูจะไป ชื่ออะไร

- ไม่รู้ครับ (ฮา จะไปไหนทำไมไม่ค้นข้อมูล)

ถาม - ชนพื้นเมืองของประเทศที่หนูจะไป ชื่ออะไร

- ไม่รู้ค่ะ (ฮาอีกแล้วไม่รู้เกี่ยวกับเจ้าถิ่นเลย)

ถาม - หนูจะไปประเทศออสเตรเลีย แล้วดาราฮอลลีวูดที่เป็นคนออสเตรเลีย ชื่ออะไรบ้าง

- ไม่รู้ครับ (โถน้อง เขาดังจะตายนิโคล คิดแมน, รัสเซล โครว์, เจฟฟรี รัช)

ถาม – ครอบครัวที่หนูจะไปอยู่ด้วยมีแมวตัวนึง รักมาก แต่มันชอบมานอนบนเสื้อผ้าของหนูแล้วฉี่ใส่ หนูจะทำยังไง

- หนูจะบอกให้แม่ฝึกแมวไม่ให้ฉี่ใส่เสื้อผ้าหนู(ไปสั่งเขาอีก แมวมันอยู่มาก่อนน้องเน้อ)

- ไม่เป็นไร หนูซักได้

ถาม – พอไปอยู่ที่โน่นแล้ว มีคนถามถึง เสื้อเหลือง เสื้อแดง หนูจะตอบว่าไง

- มันเป็นการประท้วงที่เกิดจากความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันค่ะ

- (เงียบ)(แสดงว่าไม่ตามข่าวประเทศตัวเอง)

ถาม – หนูบอกว่าข้อเสียของหนูคือโมโหร้าย แล้วเวลาไปอยู่โน่น มีเรื่องกับเพื่อน แล้วหนูไม่ต่อยเขาเหรอ

- ไม่ค่ะ โมโหร้ายนี่คือเดือด แต่ปกติหนูจะเงียบ ไม่พูด

ถาม – หนูบอกว่าหนูไม่รอบคอบ ชอบลืมโน่นลืมนี่เวลาทำอะไรสักอย่างแล้วถ้าวันหนึ่งหนูออกจากบ้าน ล็อกประตูบ้านแล้ว แต่ลืมกุญแจไว้ในบ้านหนูจะทำยังไง

- ไปที่อื่นก่อนแล้วค่อยกลับมาตอนที่คนอื่นๆในบ้านกลับมาแล้วค่ะ

- รอจนกว่าจะมา(หนาวนะน้อง แล้วถ้าหิมะตกล่ะ)

ถาม – หนูจะไปประเทศเยอรมนี ไหนลองบอกเกี่ยวกับประเทศนี้ ว่ามีอะไรบ้าง

- ไส้กรอก (ห่วงกิน)ฟุตบอล และผู้คนที่จริงใจ (แต่เพื่อนพี่บอกว่า เย็นชานะ ประเทศนี้มันหนาว ตัวใครตัวมันมากเลย)

ถาม – ทำไมถึงเลือกไปบราซิลคะ

- เขามีคาร์นิวัล สวยดีมีสีสัน น่าไป (สรุปจะไปเที่ยวใช่มั้ย)

คำถามมีอีกเยอะยิ่งตอนขอให้บอกว่ามีความสามารถพิเศษอะไร เด็กส่วนใหญ่จะไม่มีความสามารถพิเศษ ถ้ารำไทยได้ก็เพราะเรียนที่โรงเรียนแต่ไม่ใช่เรียนเพราะใจรัก แต่พอให้รำจริง ก็ได้แค่นิดๆ หน่อยๆแล้วจะไปแสดงวัฒนธรรมไทยให้ฝรั่งดูได้ไงน้อ

บางคนก็บอกว่าจะไปสอนฝรั่งไหว้หรือกระทั่งกราบ ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เรียนกราบไปแล้วจะได้ใช้มั้ย

เวลาให้อธิบายเกี่ยวกับเทศกาลของไทย ทุกคนจะมาเหมือนกันหมด ตอบที่ซ้อมไว้แล้วไม่สงกรานต์ ก็ลอยกระทง เทศกาลอื่นไม่เคยมีใครเล่าเลย คราวหน้าจะถามเรื่อง บุญบั้งไฟ ผีตาโขน ลอยโคมยี่เป็ง

ตอนภาคบ่ายจะให้นักเรียนแสดงความสามารถพิเศษ หนึ่งในการแสดงหนึ่งโดยกลุ่มที่เราสัมภาษณ์ คือการร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลงใกล้รุ่ง

“ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกล ไกล

ชุ่มชื่นฤทัย หวานใดจะปาน
ฟังเสียงบรรเลงขับเพลงประสาน
จากทิพย์วิมานประทานกล่อมใจ….”

(ไอเดียบรรเจิดมากเลยน้อง พี่สัมภาษณ์เด็กมาสิบกว่าปีเพิ่งจะมีปีนี้เลือกเพลงพระราชนิพนธ์มาร้อง แล้วร้องได้ทุกคน เพราะมาก เวลาฝรั่งถามถึงในหลวง น้องต้องตอบให้ได้ด้วยนะว่าท่านสำคัญต่อประเทศไทยยังไง)

เล่าซะยาว แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการแปล

มันไม่เกี่ยวกับการแปลโดยตรง แต่การที่เราได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศมันให้โอกาสในการได้ฝึกภาษาอังกฤษเพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องพูด ได้เรียนรู้การอยู่กับคนอื่น (คนอื่นจริงๆ เพราะไปอยู่บ้านคนอื่นเป็นปี)รู้จักแก้ปัญหา พึ่งพาตัวเองได้ไม่ฟุ่มเฟือย

ก่อนเราไปโครงการนี้ภาษาอังกฤษเราดีอยู่แล้วเพราะโรงเรียนศึกษานารีก็รู้กันดีว่าเรื่องวิชาการไม่แพ้ใคร แต่เราได้แค่ไวยากรณ์และการเขียนอ่านการพูดนี่ ใบ้รับประทาน ช่วงแรกๆที่ไปอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ เราฟังออกทุกคำ แต่ตอบไม่ได้ จนเขาถามว่า ที่พูดไปนี่รู้เรื่องมั่งมั้ย เราตอบช้าๆ ว่ารู้เรื่อง แต่คิดไม่ทันว่าจะตอบไปว่ายังไง

จนอยู่ครบปี ก็อ่านเขียนได้คล่อง ต่อปากต่อคำกับเพื่อนผู้ชายได้เลยอ่านหนังสือโจ๊กแล้วเข้าใจ กลอนต่างๆคำผวน ภาษาโบราณ (ที่ไม่ยากมาก) ก็รู้เรื่อง ส่วนเพื่อนเด็กร้อยเอ็ดที่ไปรัฐเดียวกัน กลับมาภาษาไม่กระดิกเหมือนเดิมเพราะเมืองที่ไปอยู่ ฝรั่งได้เมียไทยทั้งนั้น พูดภาษาไทยสนั่นเมือง เผลอๆเว้าลาวด้วยเอ้า

พอภาษาอังกฤษเราดีแล้ว จะหยุดเรียนไปเลยก็เดี๋ยวจะลืม เลยเลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ ที่รามคำแหง ไม่ใช่สอบเอ็นท์จุฬาฯ ไม่ติดนะ ไม่ได้สอบต่างหากเพราะไม่มีเงินเรียน(ที่บ้านชิงล้มละลายไปก่อนจะกลับจากออสเตรเลียแล้ว) ไม่อยากเป็นหนี้ ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยเลยแล้วกัน

จบรามคำแหงแล้ว ก็คิดต่อภาษาอังกฤษอย่างเดียว ใครๆ ก็พูดอ่านเขียนได้เหมือนกัน จะเอาอะไรไปแข่งกับคนอื่น อ้อ ฉีกมาเรียนการแปลเลย เรียนเฉพาะด้าน เอาให้เชี่ยวชาญ

เรียนการแปลจบแล้ว เริ่มแปลหนังสือเหมือนเพื่อนนักแปลหลายๆคน แต่ทำแล้วก็รู้สึกคู่แข่งเยอะ งั้นเปลี่ยนมารับงานแปลเอกสารดีกว่า ในเวลาเท่ากัน แปลเอกสารได้เงินเยอะกว่าแต่จะทำยังไงให้ลูกค้าเชื่อถือฝีมือเรา อ๊ะ รู้แล้ว ต้องหาคุณวุฒิหรือใบรับรองมายืนยัน

ว่าแล้วก็ไปสมัครขอใบผู้เชี่ยวชาญศาลยุติธรรมซะเลย ได้ตามหลังใบรับรองคุณวุฒิ NAATI อีก 2 ใบ ซึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพของงานแปลได้ในระดับหนึ่ง เวลาลูกค้าถามถ้าบอกว่ามีคุณวุฒิที่เหมาะสม ลูกค้าจะไม่ถามอะไรอีก และจะไม่ค่อยต่อราคาด้วย

สนใจพูดคุยเรื่องการแปล อีเมลมาที่ natchaon@yahoo.com

ณัชชาอร ชูเชิดศักดิ์ NAATI No. 67061 ออสเตรเลีย




Create Date : 23 มิถุนายน 2556
Last Update : 29 กรกฎาคม 2556 10:39:06 น.
Counter : 6239 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
มิถุนายน 2556

 
 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
7
8
9
10
11
13
14
15
16
17
19
20
21
22
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog