ความเป็นส่วนตัว และการแปล

สิทธิในความเป็นส่วนตัว และการแปล

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์กฎหมายในรัฐวิกตอเรียจัดสัมนากฎหมายกระจายทั่วรัฐ เลยไปฟังกับเขามั่ง เมื่อวานฟัง 2 เรื่องแต่ขอเลือกหัวข้อ Privacy Right มาเล่าให้ฟัง ผู้บรรยายคือ คุณ David Tyler ผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการสิทธิความเป็นส่วนตัว

ความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่เป็นประเด็นหลักในช่วงแรกๆ คือผู้โดยสายต้องเข้าเครื่องสแกนร่างกาย ส่องแบบเห็นชิ้นส่วนในร่างกายก็หลายจุด (ถ้าน่าดูก็พออภัย ถ้าไม่ใช่ ก็อุจาดเลย) จะไม่แสกนก็ไม่ได้เพราะต้องทำเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม รัฐบาลออสเตรเลียแก้ปัญหาด้วยการปรับให้ภาพโชว์แต่โครงร่างของบุคคล และถ้าส่วนไหนต้องสงสัยระบบจะใส่สีตรงส่วนนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็น ทีนี้เจ้าหน้าที่ก็จะขอค้นร่างกาย

ความเป็นส่วนตัวที่คนอื่นไม่สามารถละเมิดได้คือ ความคิด เพราะไม่มีใครอ่านความคิดของใครได้ (ณ ตอนนี้)

ความเป็นส่วนตัวที่เป็นเรื่องราวบ่อยๆคือ ความเป็นส่วนตัวที่บ้าน เจ้าของบ้านมีสิทธิจะให้ใครเข้าหรือไม่เข้ามาในบ้านก็ได้ กรณีที่น่าสนใจคือเพื่อนบ้านติดกล้องวงจรปิดเพื่อดูหน้าบ้าน แต่ระยะของกล้องตัวนั้นมันส่องเห็นบ้านเราด้วย อย่างนี้ก็อาจถือว่าละเมิดสิทธิได้

อีกเรื่องที่พบบ่อยมากกกก คือ telemarketer ตรงนี้ของออสเตรเลียมีหน่วยงานกลางที่เข้าไปสมัครdo not call list ได้ สมัครแล้วจะมีผลภายใน 3 เดือน ถ้ายังมีคนโทรมาชวนซื้อของหรือซื้อบริการอีกให้ร้องเรียน ค่าปรับของคนที่ละเมิดสูงสุด 100,000 เหรียญ

ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล(Information Privacy) เป็นเรื่องของการให้ข้อมูลส่วนตัวกับผู้อื่นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างโดยได้รับความยินยอม

เคยมีประเด็นโรงเรียนถ่ายรูปในชั้นเรียนเด็กเล็กแล้วโพสต์ใน FB ปรากฏว่าผู้ปกครองเห็นก็ไม่พอใจ เลยขอคุยกับครูใหญ่ ครูใหญ่บอกว่าตอนพ่อแม่พาเด็กมาสมัครก็ให้ความยินยอมไว้แล้วว่าถ่ายรูปได้ แต่พ่อแม่แย้งว่า ใช่ แต่ไม่ได้ยินยอมให้เอารูปลูกไปเผยแพร่ได้ โรงเรียนไม่ได้บอกตั้งแต่แรกว่าจะเอาไปใช้

หรือกรณีหมอกับคนไข้ คนไข้มีสิทธิขอข้อมูลของตัวเองเพื่อนำไปให้หมอท่านใหม่วินิจฉัยได้ แต่บางครั้งหมอก็ไม่ให้ อาจจะด้วยเหตุผล เช่นความเห็นที่คนอื่นให้ไว้เกี่ยวกับคนไข้ อ่านแล้วอาจจะกระทบจิตใจมาก(เดาว่าเป็นกรณีของคนไข้จิตเวช) หรือกรณีมีคนไข้ตายด้วยโรคมะเร็งแต่แจ้งความจำนงค์กับหมอไว้ว่าห้ามบอกใครแม้แต่ญาติว่าตายด้วยโรคนี้ (จริงๆ น่าจะบอกนะเพราะมันเป็นโรคทางพันธุกรรม ถ้าลูกหลานรู้ จะได้ป้องกันแต่เนิ่นๆ กรณีที่ไม่อยากจะบอกแล้วเข้าใจได้คือคนที่ตายด้วยโรคเอดส์ อาจจะกลัวครอบครัวได้รับผลกระทบ)

ในส่วนของการแปลคือ นักแปลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า เช่น ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ ครอบครัวพฤติกรรม โดยจรรยาบรรณแล้วนักแปลไม่จำเป็นต้องไปบอกใครต่อใครว่าลูกค้าที่จ้างงานมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรทำงานที่ไหน อะไรยังไง เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า(เช่น กรณีแปลคำให้การพยานในคดีอาญา) เพื่อชื่อเสียงของลูกค้า (เช่นกรณีแปลจดหมายส่วนตัวซึ่งลูกค้าและคู่ครองเป็นเพศเดียวกันแต่อยู่ในประเทศที่สังคมยังไม่ยอมรับการรักร่วมเพศ) ยกเว้นกฎหมายบังคับให้ต้องเปิดเผย หรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลแล้วเท่านั้น

มีกรณีนึงลูกค้าเป็นบริษัทแปลบังคับว่านักแปลห้ามบอกใครหรือระบุในประวัติการทำงานว่าเคยแปลงานให้ end-user ชื่อนี้ ให้เปิดเผยได้แค่ว่า“งานแปลคู่มือพนักงานของบริษัทขายปลีกเสื้อผ้า” เดาว่า ลูกค้าคงกลัว end-user มาติดต่อเราโดยตรงเผื่อมีงานถัดไป จริงๆ หลายบริษัทมีข้อสัญญารองรับอยู่แล้วว่า ถ้า end-user มาติดต่อนักแปล นักแปลห้ามรับงานเป็นเวลา 3 ปี 5 ปี (นานไปมั้ย) (คำถามที่ตามมาคือถ้าเกิดภายหลัง end-user เปลี่ยนเจ้า ไปใช้บริษัทแปลเจ้าอื่นแล้วเจ้านั้นส่งงานมาให้นักแปลคนเดิม นักแปลจะทำยังไง)

วันสองวันมานี้ก็เพิ่งได้อีเมลจากบริษัทแปลในอเมริกา และบริษัทแปลในไซปรัสเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ของบริษัท G เราในฐานะคนแปล รู้ว่าเป็นบริษัทเดียวกันแต่สงสัยว่ามันงานเดียวกันหรือเปล่า ถ้าเป็นงานเดียวกันแล้วยังไงอ่ะ จะรับงานของ end-user รายเดียวกันแต่ผ่านบริษัทแปลคนละเจ้าได้มั้ย เลยอีเมลไปสอบถาม บริษัทแปลในอเมริกาบอกว่า end-user รายเดียวกันแต่คนละโปรเจ็กต์ ให้รับงานของอีกเจ้าได้เลย

ความปลอดภัยของข้อมูล(Data Security) กำหนดขั้นตอนในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลถูกใช้ในทางที่ผิดมีการเข้าถึง แก้ไข หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อมูลส่วนบุคคลต้องทำลายเมื่อไม่ต้องใช้แล้ว

ตัวอย่าง มีคนเปิดแล็พท็อปทำงานระหว่างนั่งรถไฟหน้าจอเป็นไฟล์งบการเงิน มีทั้งรายได้ รายจ่าย อัตราส่วนทางการเงิน ผลประกอบการและข้อมูลทางบัญชีอื่นๆ ทำอย่างนี้อันตรายมากเพราะรถไฟเป็นที่สาธารณะ ใครๆ ก็ชะโงกหน้ามามองได้ หรือมีอีกกรณี ผู้ชายคุยโทรศัพท์บนรถไฟปลายสายเป็นบริษัท ขอข้อมูลเพื่อยืนยันตัวบุคคล คนโทรก็บอกหมดเลย เลขที่ใบขับขี่ที่อยู่ พอปลายสายของรหัสผ่าน ก็ดันให้ไปอีก ทั้งขบวนได้ยินหมดเลย

ข่าวที่ดังระเบิดคือตอนที่เจ้าหน้าที่กลาโหมของอังกฤษเดินประกบรัฐมนตรีโดยมีแฟ้มอยู่ในมือแล้วเอกสารนั้นหันด้านที่มีตัวหนังสือออกแล้วดันมีคนถ่ายรูปไปลงอินเตอร์เน็ต ข้อมูลในเอกสารนั้นเป็นความลับทางกลาโหม สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รายนั้นต้องลาออก

ตอนเราทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขาย เวลาลูกค้าโทรมาแล้วอยู่บนรถไฟฟ้าถามเรื่องระบบกล้อง ระบบเข้าออก คุยคร่าวๆว่าระบบทำงานยังไงก็คุยได้ แต่ถ้าจะให้ลงรายละเอียดเรื่องสเป็กกล้องติดตรงไหน ระยะภาพ อะไรยังไง เราไม่คุย เดี๋ยวหลุดชื่อลูกค้าออกมา คนบนรถไฟฟ้ารู้หมดว่า ธนาคารนี้ใช้ระบบนี้ระบบทำงานเวลานี้ นอกจากเวลานี้จะใช้คนคุม มีกล้องติดตรงไหนบ้าง etc

ในการแปลก็เหมือนกันเคยมั้ย ไฟดับ ไม่รู้จะไปหาทำงานที่ไหนต้องออกนอกบ้านไปหาทำงานที่ร้านอินเตอร์เน็ต หรือทำงานที่บ้านนานๆ แล้วเบื่อ ต้องหิ้วคอมพิวเตอร์ไปนั่งทำงานร้านกาแฟ สภาพการทำงานอย่างนี้เสี่ยงต่อการที่ข้อมูลจะรั่วไหลได้มาก เช่นอาจจะลืมลบไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาทำงานชั่วคราวในร้านอินเตอร์เน็ต(กรณีไม่ได้เอาธัมป์ไดรฟ์ไป) หรือลบแล้วแต่ลืมตามไปลบในถังขยะบนหน้าจอ (จริงๆ ต่อให้ลบถึงขั้นนี้แล้ว เซียนคอมพ์เขาก็ดึงข้อมูลกลับมาได้) หรือคนที่นั่งข้างหลังเราในร้านกาแฟ หันมาแอบถ่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว trade secret รั่ว (มีข่าวเพิ่งออกมาว่า ผู้เขียนนิยายขายดีเล่มใหม่บังคับให้นักแปลทุกภาษามาแปลเอกสารในห้องประชุมห้องเดียวกันเพราะต้นฉบับและฉบับแปลจะออกขายในวันเดียวกัน)

สำหรับคนที่ทำงานบริษัท หลังๆ จะรณรงค์ให้นำกระดาษที่พิมพ์แล้ว มาใช้อีก(พิมพ์อีกด้าน) อย่าคิดว่าใช้กันภายในแล้วจะปลอดภัย ผลประกอบการบางอย่างผู้บริหารอาจจะไม่พร้อมให้พนักงานเห็น (กลัวได้โบนัสเยอะแล้วหัวใจวายหรือไม่ก็กลัวเห็นกำไรตก แล้วพากันลาออกไปทำงานใหม่) ถ้าเอากระดาษที่พิมพ์รายงานผลประกอบการที่ไม่ใช้แล้ว(อาจจะพิมพ์ผิด หรือมีแก้ไข) ไปพิมพ์ซ้ำด้านหลัง (เช่น พิมพ์แบบฟอร์มพนักงาน)ข้อมูลที่ไม่ควรจะรู้ ก็เลยได้รู้ทั่วกัน

หรือบางบริษัทหวังดีจะเอากระดาษใช้แล้วของที่ทำงานไปบริจาคเพื่อทำอักษรเบรลล์ให้คนตาบอด อย่าเลย ข้อมูลของบริษัททั้งนั้น คนตาบอดเขามองไม่เห็นก็จริง แต่กว่ากระดาษจะถึงมือเขา มันผ่านตากี่คนแล้ว

ขนาดย่อยเอกสารแล้วถ้าจะนำกลับมาปะติดปะต่อเพื่อเอาข้อมูลจริงๆ ทำไมจะทำไม่ได้ (CSI ทำบ่อย)

เราแปลเอกสารวีซ่าของลูกค้าบ่อยครั้งที่พิมพ์ตกหล่น หรือลูกค้าอีเมลมาขอแก้การสะกดชื่อ ตัวที่พิมพ์แล้ว เราเก็บไว้ใช้ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องฉีกทิ้ง เวลาน้องชายมาขอกระดาษไปร่างการบ้าน ก็ให้ไม่ได้ต้องหากระดาษอื่นให้ไป

มีบริษัทแปลรายนึงเป็นลูกค้าของเราอยู่ที่อเมริกา เราทำงานแปลให้เสร็จเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่งงานแล้ว บ.ก. ตรวจแล้ว เรียบร้อยบริษัทอีเมลมาแจ้งให้เราลบไฟล์ทั้งหมดเกี่ยวกับงานนี้ออกจากระบบของเรา เราจำได้แหละว่าในสัญญาที่เซ็นกับลูกค้ารายนี้มีเงื่อนไขนี้อยู่ แต่ไม่ได้คิดว่าจะให้ลบทันที(ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าแปลเลย) ลูกค้าสั่งก็ต้องปฏิบัติตาม เราก็ไล่ลบมันทุกไฟล์ลบกระทั่งในอีเมลด้วยเพราะอีเมลอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของ ยะฮู ถ้าไม่ลบ เดี๋ยวลูกค้าหาช่องตรวจอีเมลของเราเราจะโดนปรับ

อีกตัวอย่างที่เราเคยพูดถึงแล้วในเรื่องจรรยาบรรณนักแปลคือกรณีที่ลูกค้ารายหนึ่งให้เซ็นสัญญาห้ามใช้ กูเกิล ทรานสเลท ไม่ใช่ระบบไม่ดีแต่เพราะนักแปลอาจจะเอาประโยคในต้นฉบับไปแปะในระบบเพื่อหาคำแปล ข้อมูลมันก็จะไปอยู่ในระบบบริษัทตามไปลบก็ไม่ได้ กลายไปละเมิดสิทธิในข้อมูลของลูกค้า ถ้าโดนจับได้ นักแปลโดนปรับอีก บริษัทต่างชาติปรับโหดด้วย ปรับกันแบบไม่จำกัดจำนวนเงิน

นักแปลในไทยก็ละเมิดข้อนี้บ่อยด้วยการเอาเนื้อหาของงานแปลมาแปะเว็บบอร์ดเพื่อถามคนอื่น หลายเรื่องมีเนื้อหาทั่วไปไม่สามารถระบุได้ว่างานนี้เกี่ยวข้องกับบริษัทไหน ก็คงไม่เป็นไรแต่บางอย่างเนื้อหามันบอกได้เลยว่าเป็นคดีไหนหากทั้งประเทศมีคดีนั้นคดีเดียว สมมติเป็นคำให้การของผู้เชี่ยวชาญถ้านักแปลเอาไปโพสต์ถามในที่สาธารณะ แล้วคู่ความในคดีนั้นมาอ่านเจอก็รู้สิว่าฝ่ายนี้จะแย้งว่ายังไง คู่ความก็เตรียมการล่วงหน้าไปอีกขั้นนึงเลยเพื่อให้หลักฐานของตัวเองแน่นกว่าเพื่อให้มีโอกาสชนะคดีมากกว่า (แล้วถ้าเกิดลูกค้าแพ้คดีเพราะนักแปลเป็นต้นเหตุ ไม่อยากจะคิดว่าจะโดนอะไรบ้าง)

หรือกรณีแปลงานเทคนิค นักแปลจนปัญญา หาศัพท์บัญญัติของหลายๆคำจากอินเตอร์เน็ตไม่ได้ อาจจะต้องโทรถามหน่วยงานต่างๆ เพื่อสอบถามคำศัพท์ที่ใช้กันในวงการ สมมติแปลเอกสารประมูลเหมืองทองฝรั่งเป็นคนประมูล คำว่าประมูล แสดงว่าต้องมีหลายเจ้าแข่งราคากันอาจจะใช้เทคนิคการทำเหมืองที่แตกต่างกันแต่ราคาต้องอยู่ในงบของหน่วยงานที่เรียกประมูล ศัพท์เหมืองแร่นี่ก็ใช่ย่อย ถ้าจะโทรไปถามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรู้ใช่มั้ยว่าปลายสายจะถามว่ายังไง “จะเอาข้อมูลไปทำอะไร” “โครงการนี้เกี่ยวกับอะไร” “ลูกค้าเป็นใคร” คิดซิว่าในฐานะนักแปลจะตอบว่ายังไง (จะไปตอบอะไรได้นอกจากจะอีเมลมาถามลูกค้าว่าหน่วยงานที่เราต้องพึ่งเรื่องคำศัพท์สอบถามมาบริษัทจะอนุญาตให้เราเปิดเผยข้อมูลได้มั้ย แค่ไหน)

เดี๋ยวนี้มีการเซฟไฟล์ไว้ในdrop box เพื่อให้คนอื่นมาโหลด เราไม่ทำเลยนะ ไม่รู้ไฟล์ไปเก็บไว้เซิร์ฟเวอร์ไหน จะรั่วตอนไหนก็ไม่รู้ มีแต่ลูกค้าเป็นคนเซฟไว้ให้เราไปโหลดเองเพราะไฟล์ใหญ่เกิน ส่งอีเมลไม่ได้

ไหนๆ แล้วจะเล่าเกี่ยวกับสัมนาให้จบ คุณเดวิดยกตัวอย่างที่น่าสนใจ

ผู้หญิงคนนึงโดนสามีทำร้ายสุดท้ายตัดสินใจหนี บอกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าห้ามเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเธอให้ใคร ฝ่ายสามีก็สืบ หาว่าเธอย้ายไปไหน จนไปถามหน่วยงานหนึ่ง อ้างว่าวันเกิดอดีตภรรยาจะส่งดอกไม้ไปให้ ก็เลยได้ที่อยู่ สามีไปที่บ้าน ไม่เจอผู้หญิงเลยทำลายข้าวของ ผู้หญิงกลับมาบ้านก็รู้ว่าโดนตามเจอซะแล้ว ต้องหนีอีก

อีกกรณีมีผู้หญิงเจอหมาหลง มีป้ายห้อยคอ เลยแจ้งหน่วยงานให้แจ้งเจ้าของหมา เจ้าของหมาขอชื่อที่อยู่ของคนที่เจอหมาเพราะต้องการขอบคุณ แต่เปล่าเลย สามีของเจ้าของหมาตามไปต่อว่าคนเจอเพราะทำให้ตัวเองโดนปรับเนื่องจากปล่อยให้หมาหลุดออกไป

สนใจพูดคุยเรื่องการแปล อีเมลมาที่ natchaon@yahoo.com

ณัชชาอร ชูเชิดศักดิ์ NAATINo. 67061 ออสเตรเลีย




Create Date : 18 พฤษภาคม 2556
Last Update : 29 กรกฎาคม 2556 15:19:58 น.
Counter : 3228 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Natchaon
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 314 คน [?]



Sawaddee ka. My name is Nat. I am a certified translator. I have been in the translation industry since 2004.

I graduated a master degree in English-Thai translation from Chulalongkorn University, Thailand.

I have the following accreditation:
- NAATI Accreditation for EN < > TH translation (Australia)
- Court Expert Registration for EN < > TH translation (Thailand)
- Member (MCIL), Chartered Institute of Linguists (U.K.)

See details about my services here https://www.nctranslation.net
https://www.expertthai.net

For a quick quote, email your document to natchaon@yahoo.com.

รับแปลเอกสารวีซ่าออสเตรเลียพร้อมประทับตรา NAATI ปรึกษาฟรีที่ natchaon@yahoo.com หรือ Line: Natchaon.NAATI

See below my locations:
- Bangkok: 1 Dec 2018 - 12 Jan 2019

NAATI ออสเตรเลีย, NAATI เมลเบิร์น, NAATI ประเทศไทย, NAATI กรุงเทพ, แปลเอกสารพร้อมประทับตรา NAATI, แปลเอกสารโดยนักแปล NAATI, NAATI Australia, NAATI Melbourne, NAATI Thailand, NAATI Bangkok, NAATI translation, NAATI accredited translation, Australia Visa, Partner Visa, Fiance Visa, Prospective Visa, Skilled Migrant, Student Visa, Work Visa, Work and Travel Visa, Online Visa, วีซ่าออสเตรเลีย, วีซ่าแต่งงาน, วีซ่าคู่หมั้น, วีซ่าทำงาน, วีซ่านักเรียน, วีซ่าทำงานและท่องเที่ยว, วีซ่าออนไลน์
Thai – English translation, English – Thai Translation, แปลอังกฤษเป็นไทย, แปลไทยเป็นอังกฤษ

*บทความทั้งหมดในบล็อกนี้ สงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ*
พฤษภาคม 2556

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
19
20
21
22
23
24
25
26
28
29
30
31
 
 
All Blog