13 หลุมดำ การศึกษาของประเทศไทย : ดร.ศราวุธ สุตะวงค์ (นำมาฝาก)
"13 หลุมดำ" การศึกษาของ "ประเทศไทย"
ดร.ศราวุธ สุตะวงค์ 18/02/2559 https://www.facebook.com/StockThai4You/posts/1254953067867676
1).การเมืองไทยเป็นปัญหาใหญ่การศึกษาของชาติชอบปรับเปลี่ยนนโยบาย ไม่ต่อเนื่อง และไม่บริหารการศึกษาตามพรบ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 และ (แก้ไขเพิ่มเติม) มีกฎหมายการศึกษาแล้วไม่ทำ ชอบคิดใหม่ แก้ใหม่อยู่เรื่อย
2).การสอบ O-Net เป็นตัวทำลายระบบการศึกษาไทย ส่งเสริมระบบติวเตอร์ ที่เรียนไม่ออกข้อสอบ ที่สอบไม่ได้เอาไปใช้ คนได้ Top O-Net ยังทำอะไรไม่เป็น : คนเราเก่งคนละด้าน ไม่ได้เก่งทุกวิชา สมองถูกออกแบบมาให้เก่ง หรือ มีอัจฉริยภาพที่แตกต่างกัน ประเทศไทยยังไม่มีหมอ หรือวิศวกรเป็นนายกรัฐมนตรี ต่างประเทศเขาใช้วิธีการสุ่มตรวจ ไม่ใช่เอาเป็นเอาตาย บางโรงเรียนไม่สอนติวข้อสอบโอเนตอย่างเดียวทั้งเทอม บางโรงเรียนโอเนตสูงเพราะเด็กไม่เยอะ มีผลดีต่อค่าเฉลี่ย หรือเด็กเก่งด้านนั้น ๆ มีมากในรร.แห่งนั้น เพราะตัวป้อนมีเยอะคัดเด็กสอบเข้าตั้งแต่อนุบาล
3).การจัดอันดับโรงเรียน ทำลายขวัญกำลังใจครู นักเรียน และผู้ปกครอง ตลอดถึงสถานศึกษาเป็นช่องทางให้เกิดธุรกิจการศึกษาในโรงเรียน และสถาบันกวดวิชาข้างโรงเรียนชื่อดัง ตลอดถึงครูผู้สอนรร.ดังแสวงหาผลประโยชน์จากการสอนพิเศษ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็มิได้เก่งกาจอะไร เพียงเพราะมีตัวป้อนนักเรียนกลุ่มเก่งเหล่านั้นมาเรียน
4).โรงเรียน ดี เด่น ดัง ไม่มีจริงในประเทศไทย มีแต่โรงเรียนเฉพาะทางเท่านั้น ที่เน้นเฉพาะเด็กเก่งวิทย์ คณิต และหลงไหลได้ปลื้มว่าโรงเรียนเหล่านั้นสอนดี สอนเก่ง เป็นเพียงเป็นแหล่งรวมของเด็กเก่งด้านนี้มาอยู่รวมกันมากเท่านั้นเอง ขึ้นป้ายหน้ารร.ชื่นชมติดหมอติดวิศวะหน้ารร. แต่ทิ้งเด็กเก่งด้านอื่นอีก 700-800 คนที่จบม.6 ต้องผจญภัยกับชะตากรรมชีวิตของตนเอง ตามบุญตามกรรม และเด็กเก่งกลุ่มน้อยเหล่านั้นจะมองเพื่อนในรร.ของตนเองด้วยหางตา ส่งเสริมให้มองคนไม่เท่าคน ไม่เชื่อ สมมุติฐานนี้ลองย้ายผอ.และครูทั้งโรงเรียนที่ได้อันดับ 1-2 ของประเทศไปดำรงตำแหน่ง โรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม โดยให้เงินเดือน 2-3 เท่า และทำให้นักเรียนที่นั้นได้อันดับ 1 ของประเทศภายใน 3-5 ปี ฟันธงว่าทำไม่ได้ เด็กอมก๋อยก็เก่ง แต่ เก่งคนละด้าน ต่างประเทศมีรร.พิเศษเฉพาะทาง แต่เขาไม่เอามาเปรียบเทียบกัน รร.เตรียมวิศวะ กับรร.เตรียมทหาร เปรียบเทียบความเก่งเฉพาะทางกันไม่ได้ เก่งกีฬา เก่งศิลปะ เก่งคอมพิวเตอร์ก็เปรียบเทียบ เก่ง ไม่ได้
5).ได้คนไม่เก่งมาเรียนครู เพราะเงินเดือนไม่จูงใจเหมือนต่างประเทศ ฟินแลนด์คนที่สอบได้ที่ 1-5 ของโรงเรียนเท่านั้นที่จะสามารถสอบเข้าเรียนครูได้และเงินเดือนของอาชีพครูสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอาชีพอื่น อาทิ ศาล ทนายความ และแพทย์ สร้างคนต้องสูงกว่าซ่อมคน(หมอ) ครูประถม ครูมัธยม ครูมหาลัย ยังท่องความรู้ (มือสอง) มาเล่าต่อให้นักเรียนฟังเท่านั้นเอง จะมีเด็ก 5-10% เท่านั้นสำเร็จจากการสอนด้วยวิธีนี้นี้ ท่อง จำ สอบจบ และสอบเข้าทำงาน
6).การแข่งขัน ประกวด ทักษะวิชาการ เป็นตัวปัญหาทำให้เด็กและครูเห็นแก่ตัว จริง ๆ แล้วแข่งครูไม่ใช่แข่งเด็ก โรงเรียนไหนมีครูเก่งอะไร เด็กโรงเรียนนั้นก็จะเก่งสิ่งนั้น ต้องสมมุติฐานว่าเด็กพร้อมจะให้ครูพัฒนาบนบริบท ความชอบและความถนัดของเขา ครูไทย "ล่ารางวัล" หรือ "กระดาษ" กันทั้งปี โดยทิ้งเด็กอยู่กับ หนังสือ โทรศัพท์ อินเตอร์เนต หรือทิ้งอยู่กับ "ห้องสอน" มิใช่ "ห้องเรียน" เด็กไทยจึงโตแต่หัวทำอะไร คิดอะไรไม่เป็น 7).สังคมไทยเป็นสังคมโหยหากระดาษ ปริญญา เกียรติบัตร รางวัล โล่ และทำอะไรไม่เป็น เรียนสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ จบม.6 ไปต่อปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ยังโง่ เจ็บ และจน ยังเชื่อโชคลางและไสยศาสตร์ อาทิ "กรณีลูกเทพ" บางคนเรียนจบปริญญาถึง 18 ใบ ไล่ทะเลาะคนอื่นไปทั่ว เพราะคิดว่ามีกระดาษหลายใบ คงฉลาดกว่าคนอื่นแน่ ๆ 8).กระทรวงที่ดูแลการศึกษาของประเทศใหญ่ เทอะทะ เจ้าหน้าที่ธุรการคิดนโยบายรายวันให้รัฐมนตรีสั่งการไปยังโรงเรียน ข้าราชการสายสนับสนุนอยู่กระทรวง ทบวง กรม ล้วนมีแต่เส้นสายล้วนแต่สะสมผลงานที่สั่งรร.กระทำเพื่อสนองความสำเร็จของตนเอง จึงมีนโยบายใหม่ ๆ แปลก ๆ ออกมาสม่ำเสมอ ครูจึงไม่ได้ทำหน้าที่หลักด้านการจัดการเรียนรู้ ทำธุรการ การเงิน พัสดุ และยุ่งกับเอกสารประเมิน และเอกสารเพื่อทำวิทยฐานะเสียส่วนมากของเวลาทั้งหมด 9).ความเหลื่อมล้ำการศึกษาของไทยสูงมาก ลูกเศรษฐีเรียนต่างประเทศ ลูกคนรวยเรียนโรงเรียนชื่อดังกทม.หรือชื่อดังประจำจังหวัด ลูกคนจนให้เรียนรร.ดีใกล้บ้าน(ซึ่งไม่พร้อมที่จะดีจริง) โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพไม่เท่าเทียมกันเลย 10).หนังสือเรียน คือ ตัวปัญหา ให้ครูติดนิสัยสอนหนังสือ มิใช่ สอนคน รัฐกำหนดหนังสือเรียนหรือสำนักพิมพ์ ครูออกแบบการเรียนรู้ไม่เป็น อบรมหลักสูตรทั้งปี ออกแบบและเขียนแผนการสอนที่เอาไปใช้จริงไม่เป็น ลอกแผนที่มีขายตามท้องตลาดเพื่อส่งมิใช่เพื่อสอน และลอกแผนการสอนที่ผ่านการตรวจบ้างแล้วเผื่อส่งผลงานทางวิชาการ ลอกกันไปลอกกันมา คนที่ได้แล้ว เป็นแล้ว ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ "ไม่จริง" 11).ห้องสอน เป็นตัวปัญหาของการปฏิรูปการเรียนเพราะ มิใช่ ห้องเรียนรู้ ยึดเนื้อหา ตำรา เป็นตัวตั้ง แทนที่จะยึด เด็กหรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง "วิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต" ต้องไปพร้อมกัน 12).ผู้บริหารโรงเรียน คือ ตัวปัญหาในการขับเคลื่อนการศึกษา เป็นแล้วเป็นเลย ขาด Leadership ทางวิชาการ และ CEO องค์กร ไม่มีระบบการประเมินผลงานหรือปรับเปลี่ยนสถานะ ผู้บริหารไม่ได้ทำหน้าที่บริหารสถานศึกษาในทุก ๆ ด้าน อาทิ การจัดการเรียนรู้ ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับกิจกรรมนอก รร. อาทิ ประชุม สัมมนา ดูงาน รับแขก ติดตามนายหรือผู้บังคับบัญชา 13.ครูพัฒนาแล้วไม่เอาไปใช้จริง เพราะอบรม สัมมนาตามหน่วยเหนือสั่ง มิได้ อบรม สัมมนาตามความต้องการพัฒนาของตนเองเป็นหลัก เพื่อเอาไปพัฒนาหรือแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่ตนเองประสบอยู่ การประเมินวิทยฐานะ มิได้ประเมินจากความมุ่งมั่น ความทุ่มเท ความเสียสละในวิชาชีพ หรือประผลงานเชิงประจักษ์ที่เกิดจากเด็กเก่งทุก ๆ ด้านทุกบริบท ครูหลายคนจะไม่แย่งกันไปสอนโรงเรียนดี เด่น ดัง เพราะผลสัมฤทธิ์ คะแนนโอเนต การประกวดแข่งขัน หรือล่ารางวัล เพื่อขอผลงาน รร.เหล่านั้นย่อมได้เปรียบ รร.ที่มีความขาดแคลนในทุกเรื่อง รร.ห่างไกลธุรกันดาร เป็นต้น ต้องขออภัยนะครับ หาก "13 หลุมดำ" ไปตรงกับสถานศึกษา องค์กร หรือสถานะตำแหน่งหน้าที่ของผู้ใด ซึ่งผู้เขียนมิได้เจตนา พาดพิง หรือกระทบกับแหล่งที่กล่าวถึงนั้น ๆ ข้อมูลที่ได้จากการอ่าน การสนทนาแลกเปลี่ยนกับกัลยาณมิตรผู้ที่คลุกคลีกับปัญหาการศึกษาของชาติไทย จุดใหญ่ ใจความ จะช่วยกันพัฒนาและยกระดับการศึกษาของชาติไทยอย่างไรดี ปัจจุบันผู้เขียนเองเป็นส่วนหนึ่งกับ อบจ.เชียงราย/รร.อบจ.เชียงราย ขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ของไทย โดยใช้แนวทาง Thinking School Base Classrooms ต้องเริ่มที่ "ห้องเรียน" และร่วมยกระดับการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีคุณภาพไปพร้อมกันทั่วประเทศ กับ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานแห่งการพัฒนา SBMLD เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของประเทศไปพร้อม ๆ กัน.
Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2559 |
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2559 23:54:53 น. |
|
0 comments
|
Counter : 4129 Pageviews. |
|
 |
|