HR Management and Self Leadership
<<
ธันวาคม 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
1 ธันวาคม 2556

สิ่งที่ต้องพิจารณาให้ดี ก่อนที่จะเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้เป็นผู้จัดการ

ช่วงปลายปีแบบนี้นอกจากเรื่องของการขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงาน เรื่องของโบนัส ที่พนักงานเฝ้ารอคอยแล้ว อีกเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ เรื่องของการเลื่อนตำแหน่งพนักงาน บางบริษัท ใช้ช่วงเวลาเดียวกันทำทั้ง 3 เรื่องก็คือ ขึ้นเงินเดือน ให้โบนัส และเลื่อนตำแหน่ง

และเมื่อพูดถึงการเลื่อนตำแหน่ง ก็เป็นอีกเรื่องที่พนักงานหลายคนเฝ้ารอว่า เมื่อไหร่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง ผู้จัดการเอง ก็มักจะพยายามหาวิธีการที่จะเลื่อนตำแหน่งให้กับลูกน้องของตนเอง ซึ่งในบางองค์กร ก็เห็นชัดเจนว่า แทบจะไม่มีเกณฑ์อะไรมากำหนดเลยว่า ใครที่สมควรจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งบ้าง ส่วนใหญ่ก็จะพิจารณาจากจำนวนปีที่ทำงาน ใครอยู่มานานกว่า ก็มักจะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้ก่อนคนที่ทำงานนานน้อยกว่า โดยที่ไม่ค่อยได้พิจารณาผลงาน ทักษะ และความสามารถ รวมทั้งความพร้อมสักเท่าไหร่

ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับตำแหน่งหัวหน้างาน หรือผู้จัดการ ที่จะต้องดูแลและรับผิดชอบทั้งงาน และคนทำงานในหน่วยงาน บางองค์กรก็ไม่มีเกณฑ์ในการพิจารณาในเรื่องเหล่านี้เลยสักนิด แค่ผู้บริหารคิดว่า อยากจะเลื่อนคนนี้ขึ้นมาเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการ ก็ทำการเลื่อนให้ทันที โดยที่ไม่มีการพิจารณาความพร้อมต่างๆ ในการทำงานเลย

ผลก็คือเรามักจะเสียพนักงานซึ่งอาจจะเป็นคนที่ทำงานได้ดีไป แต่ได้หัวหน้างานที่ไม่สามารถเป็นหัวหน้าจริงๆ ได้มาทำงาน ซึ่งถ้าใครก็ตามไม่มีความพร้อมที่จะเป็นหัวหน้าจริงๆ แล้ว จะเกิดผลกระทบต่อการทำงานอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย ดูแลงานก็ไม่ได้ ดูแลคนก็ไม่ได้ พอพนักงานไม่รู้สึกว่า หัวหน้าของตนเป็นหัวหน้าที่ดี คอยดูแลเอาใจใส่ ก็จะมีผลต่อผลงานของพนักงานทันที ซึ่งผลงานของพนักงานย่อมส่งผลต่อผลงานของหน่วยงาน และองค์กรตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นเวลาที่ต้องการที่จะเลื่อนตำแหน่งพนักงานให้เป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการ ลองพิจารณาเกณฑ์ต่างๆ ต่อไปนี้ดูสักนิดก็ยังดีนะครับ

  • มีความเข้าใจเป้าหมายองค์กรหรือไม่ พนักงานที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าคนอื่น ซึ่งต้องนำพนักงานให้สร้างผลงานให้ได้นั้น สิ่งแรกที่จำเป็นจะต้องรู้ และต้องรู้อย่างดีด้วย ก็คือ เรื่องของเป้าหมายขององค์กรเราเอง ว่ามันคืออะไร และขณะนี้องค์กรของเรามีแผนงานกลยุทธ์อย่างไร ต้องการบรรลุเป้าหมายในเรื่องอะไรบ้าง วิสัยทัศน์ พันธกิจต่างๆ ขององค์กร จะต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะได้นำพาทีมงานไปได้ หัวหน้างาน หรือผู้จัดการบางคน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา โดยที่ไม่เคยเข้าใจเป้าหมายขององค์กรเลย พนักงานถามอะไรก็ตอบไม่ได้ แบบนี้ก็ไม่รู้จะนำคนอื่นได้อย่างไรเหมือนกัน
  • มีทักษะในการบริหารคนที่ดีหรือไม่ พนักงานที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเพื่อไปเป็นหัวหน้าคนอื่น และต้องนำพนักงานในทีมงานนั้น ทักษะที่จำเป็นมากๆ ก็คือ ทักษะเรื่องของการบริหารคน จะต้องมีความเข้าใจคนอื่น สามารถที่จะสร้างแรงจูงใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานได้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการตามใจพนักงานนะครับ บางคนคิดว่า ทักษะเรื่องของคนก็คือ การเข้ากับคนอื่นได้ โดยการยอมทุกอย่าง แบบนี้ก็ไม่ใช่ หรือในทางตรงกันข้าม จะเน้นแต่เรื่องของงานมากเกินไป โดยไม่เข้าใจคนทำงานเลย ก็ไม่ดีอีกเช่นกัน ดังนั้นคนที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาเป็นหัวหน้า จะต้องมีความสามารถในเรื่องของงาน และต้องเข้าใจและบริหารคนที่ทำงานในทีมเดียวกันได้อย่างดีอีกด้วย ปัญหาในองค์กรจริงๆ ก็คือ เรามักจะเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานที่มีฝีมือในเรื่องงานดีมากๆ แต่ไม่ได้พิจารณาเรื่องทักษะการบริหารคนเลย หรือไม่ก็ไม่เคยที่จะพัฒนา หรือเตรียมความพร้อมทางด้านนี้ให้กับพนักงานที่จะได้รับการเลื่อนตำแหน่งก่อนเลย ผลสุดท้ายก็คือ เลื่อนตำแหน่งไปแล้ว มีปัญหาเรื่องการบริหารคน ซึ่งก็จะส่งผลต่อการทำงานอย่างแน่นอน
  • มีทักษะในการฟังที่ดีหรือไม่ เรื่องของการสื่อความนั้นเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการเป็นหัวหน้างานที่ดี แต่เรื่องของการฟังนั้นสำคัญยิ่งกว่า เมื่อเทียบกับทักษะการสื่อความด้านอื่นๆ คนส่วนใหญ่มักจะชอบพูด พูดมากกว่าฟัง ส่วนใหญ่ก็ชอบพูดเรื่องของตนเองให้คนอื่นฟัง แต่การเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการที่ดีนั้น จะต้องฟังมากกว่าพูด เพราะจะต้องบริหารพนักงานแต่ละคน ซึ่งจะต้องรับฟังความเห็น ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของพนักงาน และไม่ใช่แค่ฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น จะต้องฟังอย่างเข้าใจ รับรู้ถึงความรู้สึกของผู้พูดอีกด้วย
  • มีศักยภาพที่จะทำให้องค์กรเติบโตหรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องพิจารณาให้ชัดก็คือ พนักงานคนนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้องค์กรเติบโตขึ้นไปอีกหรือไม่ หรือทำให้หน่วยงานนั้นๆ เติบโตขึ้นไปได้อีกสักแค่ไหน การเลื่อนตำแหน่งพนักงานขึ้นมาแล้ว แต่ถ้าพนักงานไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้เลย ได้แต่ทำงานแบบเดิมๆ ผลงานออกมาแบบเดิมๆ แบบนี้ไม่ต้องเลื่อนตำแหน่งให้เสียเวลา หรือเสียค่าจ้างที่สูงขึ้นเลย อยู่ในตำแหน่งเดิมพนักงานก็ทำได้ ดังนั้นอย่าลืมประเมินดูศักยภาพของพนักงานให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเลื่อนตำแหน่งให้ใครก็ตาม
  • พนักงานต้องการที่จะบริหารจัดการหรือไม่ องค์กรส่วนใหญ่ไม่เคยถามพนักงานเลยว่า เขาต้องการที่จะเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้จัดการหรือไม่ โดยมากก็คือยัดเยียดให้ โดยที่มักคิดไปเองว่าพนักงานก็น่าจะอยากเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้จัดการ แต่จริงๆ แล้วพนักงานบางคน เขาไม่ต้องการที่จะเป็นผู้จัดการเลย บางคนชอบที่จะทำงานในแบบผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพของตนเอง รับผิดชอบงานของตนเอง โดยไม่ต้องไปดูแลคนอื่น การที่เราเลื่อนตำแหน่งให้กับพนักงานที่ไม่ต้องการที่จะเป็นผู้จัดการ มันก็เหมือนการไปลงโทษพนักงานคนนั้นมากกว่า ผลก็คือ ผลงานพนักงานก็จะด้อยลง เพราะทำในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบเลย บางท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วจะไปถามตอนไหน คำตอบก็คือ ถามตั้งแต่เนิ่นๆ เลยครับ การเลื่อนตำแหน่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมกันล่วงหน้าอยู่แล้ว ดังนั้น ต้องมีการวางแผนสายอาชีพร่วมกับพนักงานแต่ละคน ช่วงนี้ก็ถามได้ครับ ว่าต้องการไปเป็นผู้จัดการ หรือต้องการเดินสายอาชีพเฉพาะทาง เราจะได้บริหารจัดการและพัฒนาลูกน้องแต่ละคนได้ถูกทาง การเลื่อนตำแหน่งจะได้เกิดคุณค่าต่อพนักงาน และต่อองค์กรด้วย

การเลื่อนตำแหน่งนั้น มีความสำคัญต่อองค์กรมาก ถ้าเราได้พนักงานที่พร้อม องค์กรก็จะได้รับผลงานที่ดีจากพนักงานคนนั้น แต่ถ้าเลื่อนตำแหน่งแบบไม่พร้อม ไม่เคยคิด หรือพิจารณาอะไรเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานเองก็ไม่มีความสุขที่ได้รับการเลื่อนตำแหน่ง องค์กรเองก็ไม่ได้รับมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานจากพนักงานคนนั้น

สรุปแล้วการเลื่อนตำแหน่งคงต้องเป็นแบบ win win คือ พนักงานเองก็รู้สึกดี อยากทำงาน องค์กรเองก็ได้รับมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานจากพนักงานด้วยเช่นกัน




Create Date : 01 ธันวาคม 2556
Last Update : 2 ธันวาคม 2556 7:25:58 น. 0 comments
Counter : 1074 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]