HR Management and Self Leadership
<<
กรกฏาคม 2556
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
29 กรกฏาคม 2556

พนักงานของคุณรู้สึกอย่างไรกับฝ่ายบุคคล ชอบ หรือไม่ชอบ

พนักงานในองค์กรของคุณรู้สึกอย่างไรกับฝ่ายบุคคล? ชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ หรือถึงเข้าขั้นเกลียดเลย ผมเชื่อว่า พนักงานในองค์กรของเราคงมีคำตอบอยู่ในใจ ที่เราคงจะต้องไปสอบถามดูว่าจริงๆ แล้ว พนักงานรู้สึกอย่างไรกับหน่วยงานนี้บ้าง

โดยทฤษฎีแล้ว ฝ่ายบุคคลมีความสำคัญของความสำเร็จของธุรกิจอย่างมาก เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องดูแลเรื่องของทรัพยากรบุคคลที่จะเข้ามาทำงานในองค์กร ต้องพัฒนาคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รองรับการเติบโตของธุรกิจ และต้องมีวิธีในการรักษาไว้ ซึ่งพนักงานที่มีคุณภาพ ให้อยู่ทำงานสร้างผลงานให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองในประเด็นนี้ ทุกคนล้วนค่อนข้างเห็นด้วยว่า ฝ่ายบุคคลมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของธุรกิจ

แต่ในความเป็นจริง กลับกลายเป็นตรงกันข้าม พนักงาน หัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหารระดับสูงของบางองค์กรกลับมีมุมมองต่องานบริหารคนแค่เพียงเป็นงานในเชิง Admin มากกว่างานเชิงกลยุทธ์ HR ก็เลยเป็นแค่หน่วยงานที่ทำงานตามขั้นตอน มีงานเอกสารมากมายที่ต้องให้หัวหน้างานดำเนินการให้ บางงานก็ไม่สามารถช่วยเหลือ Line Manager ได้อย่างที่ทฤษฎีบอกไว้เลย จนทำให้สุดท้ายทุกคนมอง HR ว่าเป็นงานที่เป็นส่วนเกินของบริษัท บางบริษัทมองว่า องค์กรเราไม่เห็นจำเป็นต้องมีฝ่ายบุคคลเลย เพราะมีไป ก็ไม่เห็นเขาทำอะไรให้เรา ไม่มีประโยชน์อะไรต่อการทำธุรกิจของบริษัท อีกทั้งยังมาสร้างความยากลำบากในการทำงานให้กับพวกเราอีก

ไม่ทราบว่าท่านเองมองอย่างไรเกี่ยวกับงานบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรของท่าน

สาเหตุที่ฝ่ายบุคคลเป็นที่ไม่ค่อยชอบใจของพนักงานในองค์กร ก็มีสาเหตุมาจากอดีตที่ไม่ค่อยจะดีนัก ของการทำงานของฝ่ายบุคคลในองค์กร กล่าวคือ

  • ฝ่ายบุคคลมักจะไม่ค่อยเชื่อมโยงงานของตัวเองเข้ากับธุรกิจของบริษัท คือ ถูกมองว่าทำแต่งานเอกสาร ก็ยังคงทำงานเอกสารไปเรื่อยๆ เป้าหมายขององค์กรจะไปไหนไม่รู้ แต่ฝ่ายบุคคลจะทำหน้าที่แค่นี้ ไม่ได้วางแผนเรื่องคนให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรแต่อย่างใด ผลก็คือ ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต ที่ต่างก็รับเป้าหมายการขยายธุรกิจของผู้บริหารระดับสูงมา ก็ไม่สามารถที่จะวางแผนการหาคนได้เลย เพราะฝ่ายบุคคลยังคงมองภาพแบบเดิม หาคนแบบเดิมๆ คนที่ได้มาก็เป็นแบบเดิมๆ ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ต้องทำหน้าที่สรรหาคนด้วยตนเอง โดยไม่พึ่งฝ่ายบุคคลเลยก็มี
  • ฝ่ายบุคคลมักจะเป็นฝ่ายที่สร้างความยุ่งยากในการทำงานในองค์กร เรื่องที่เป็นประเด็นเยอะหน่อยก็คือ เรื่องของการประเมินผลงาน ที่ฝ่ายบุคคลมักจะต้องทำหน้าที่ในการแจกจ่ายแบบฟอร์มการประเมิน จากนั้นก็คอยตามว่าจะถึงวันส่งผลการประเมินแล้วนะ ส่งหรือยัง ผู้จัดการก็ประเมินให้มันเสร็จๆ ไป แล้วก็รีบส่งให้ฝ่ายบุคคล เพราะรำคาญที่ถูกตามบ่อยๆ การประเมินก็ไม่ได้ลงลึกอะไร นึกหน้าพนักงานแล้วก็ให้คะแนนออกมา ผลก็คือ ผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ต่างก็มองว่า ระบบการประเมินผลงานของบริษัทนั้น ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ทำให้เขาเสียเวลาเปล่าๆ ประเมินเสร็จการขึ้นเงินเดือนก็ไม่เป็นไปตามนั้นอีก ก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องประเมินมันไปทำไมกัน
  • ฝ่ายบุคคลมักจะชื่นชมกับความสำเร็จ ที่ไม่มีผลต่อผลงานองค์กร เช่น สามารถที่จะหาพนักงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่มีคุณภาพหรือไม่ ก็ไม่รู้ หรือ สามารถที่จะจัดฝึกอบรมได้ตามชั่วโมงฝึกอบรมมาตรฐานที่กำหนดไว้ว่า พนักงาน 1 คนจะต้องมีเป้าหมายการฝึกอบรมปีละกี่ชั่วโมง โดยที่ไม่รู้เลยว่า อบรมไปแล้วพนักงานแต่ละคนมีความรู้ความสามารถที่ดีขึ้นจริงๆ หรือไม่ หรือสามารถที่จะสรุปผลการประเมินผลงานได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แต่ก็ไม่มีการนำเอาผลการประเมินไปใช้วางแผนเพื่อพัฒนาผลงานพนักงานต่อไปในอนาคต ฯลฯ ด้วยงานลักษณะนี้ก็เลยทำให้ ผู้จัดการตามสายงานรู้สึกว่างานบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั้น ไม่ค่อยจะมีคุณค่าสักเท่าไหร่
  • ฝ่ายบุคคลชอบกดราคาค่าจ้างเงินเดือน ประเด็นนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้จัดการสายงานมักจะมองว่าฝ่ายบุคคลนั้นไม่เคยที่จะติดตามเลยว่า ขณะนี้ค่าจ้างเงินเดือนของตลาดนั้นเป็นเท่าไหร่แล้ว เวลาที่ได้พนักงานมาสัมภาษณ์ และเขาขอเงินเดือนมา ก็ต้องมีการต่อให้เงินเดือนต่ำที่สุดเท่าที่เราจะจ่ายได้ ซึ่งเมื่อทำแบบนี้ ผลก็คือ เราจะไม่ได้พนักงานที่ดี ที่เหมาะสมมาทำงาน เพราะเรามีแต่ต่อราคา และกดราคาให้ได้ต่ำที่สุด แต่อยากได้คนดีที่สุด ซึ่งก็ทำให้ผู้จัดการสายงานรู้สึกว่า เขาไม่เคยได้คนที่อยากได้เลย เพราะพอ HR บอกตัวเลขเงินเดือนไป ผู้สมัครแต่ละคนก็หันหลังกลับแทบทุกคน
  • ฝ่ายบุคคลชอบอ้างกฎระเบียบข้อบังคับ พนักงานปกติจะไม่ค่อยชอบเรื่องของกฎระเบียบข้อบังคับอยู่แล้ว เวลาที่ทำอะไร หรือจะทำอะไร ฝ่ายบุคคลก็มักจะเดินมาพร้อมกับระเบียบ และบอกว่า ทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า ก็คือ มักจะมีข้อจำกัดต่างๆ เกิดขึ้นในการอยู่ร่วมกันในองค์กร จนพนักงานบางคนรู้สึกว่าฝ่ายบุคคลนั้นเป็นเหมือนตำรวจที่คอยจับผิดพนักงาน เวลาจะทำอะไร ก็ต้องระวังฝ่ายบุคคล หรือบางครั้งฝ่ายบุคคลเดินเข้ามาในสายการผลิต ก็มีความรู้สึกว่ามีสายตามาจับผิดเขาอยู่ตลอดเวลา

อาจจะมีอีกหลายเหตุผลที่ทำให้พนักงานไม่ค่อยชอบฝ่ายบุคคลนะครับ แต่สิ่งที่เขียนมาข้างต้นเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่บอกกล่าวกัน และมักจะอ้างถึงเสมอ ถ้าเรามาลองพิจารณาสาเหตุดีๆ ล่ะครับ ว่าที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นเพราะอะไร และเราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

แนวคิดในการบริหารบุคคลใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย ตั้งแต่อดีตที่เปลี่ยนวิธีการเรียกชื่อ จาก Personnel มาเป็น Human Resources และเปลี่ยนมาเป็น Human Capital บ้างในบางองค์กร หรือบางองค์กรก็เปลี่ยนมาเรียกตัวเองว่า People Management บ้าง ก็เพื่อที่จะทำให้มุมมองต่อฝ่ายบุคคลเปลี่ยนไปได้บ้าง

โดยหลักก็คือ ฝ่ายบุคคลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเติบโตของธุรกิจขององค์กรให้ได้ คล้ายๆ กับคำที่ว่าเป็น Business Partner นั่นเอง หน้าตามันเป็นอย่างไร พรุ่งนี้จะมาเล่าสู่กันฟังต่อนะครับ




Create Date : 29 กรกฎาคม 2556
Last Update : 30 กรกฎาคม 2556 6:50:55 น. 0 comments
Counter : 1759 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]