HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
2 กุมภาพันธ์ 2557

ระดับพนักงานมีผลต่อน้ำหนักของ KPI และ Competency หรือไม่

ต่อเนื่องจากบทความเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ได้เขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องของการกำหนดน้ำหนักในการประเมินผลงานระหว่างปัจจัย 2 ตัวก็คือ KPI กับ Competency ว่าตัวไหนควรจะกำหนดน้ำหนักมากกว่าตัวไหนกันแน่ ซึ่งผมเองก็ได้ให้แนวทางและแนวคิดไปบ้าง เพื่อที่จะได้นำไปใช้ได้อย่างมีหลักการมากขึ้น วันนี้ก็เป็นอีก 1 คำถามที่มีคนถามมาเยอะ และก็มีข้อโต้เถียงกันมากมายในเรื่องของ ระดับพนักงานกับน้ำหนักของ 2 ปัจจัยดังกล่าวว่า ถ้ายิ่งตำแหน่งสูงๆ เช่นผู้บริหารระดับสูงนั้น ควรจะมีน้ำหนักการประเมินเน้นไปที่ KPI หรือ Competency เมื่อเทียบกับพนักงานระดับล่างๆ ขององค์กร

แนวคิดก็ถูกแยกออกเป็น 3 ค่ายดังต่อไปนี้ครับ

1. ค่ายที่เชื่อว่า ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมากเท่าไหร่ก็จะเน้นไปที่การประเมิน KPI มากขึ้นเท่านั้น

โดยความเชื่อนี้มีเหตุผลอยู่ว่า ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรที่องค์กรจ้างเข้ามานั้น ก็เพื่อมาสร้างผลงานตามที่เจ้าของ หรือกรรมการบริษัทได้มอบหมายให้ทำ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเรื่องของผลลัพธ์ต่างๆ ทางธุรกิจ เช่น กำไร ยอดขาย การขยายตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของตัวชี้วัดผลงานมากกว่าทางด้าน Competency

ส่วนพนักงานระดับยิ่งลงสู่ระดับล่างมากเท่าไหร่ ก็ต้องกำหนดให้เน้นไปที่เรื่องของพฤติกรรมของการทำงานมากขึ้น เพราะว่าคนกลุ่มนี้เราจ้างเข้ามาไม่ได้เน้นเรื่องของผลงาน แต่เน้นไปในเรื่องของการมาทำงาน การแสดงพฤติกรรมในการทำงานต่างๆ แต่เรื่องของผลงานนั้นเป็นแค่เพียงผลงานระดับตำแหน่งซึ่งไม่ได้มีน้ำหนักเท่ากับผลงานของระดับผู้บริหารดังที่กล่าวมาข้างต้น

ค่ายนี้เวลาที่เขาตั้งน้ำหนักในการประเมินผลงาน ก็จะมีความลดหลั่นกันลงไป โดยผู้บริหารระดับสูงๆ จะกำหนด KPI เป็นน้ำหนักมากขึ้น 80% ส่วน Competency ก็แค่เพียง 20% เท่านั้น ส่วนพนักงานระดับล่างๆ ลงมาก็ค่อยๆ ลดหลั่นกันลงมาเรื่อยๆ จนถึงพนักงานปฏิบัติการ ซึ่งกำหนดน้ำหนัก KPI ไว้ที่ 20% และ competency คือ 80%

2. ค่ายที่เชื่อว่า ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมากเท่าไหร่ ก็จะเน้นไปที่การประเมิน Competency   มากขึ้นเท่านั้น

ค่ายนี้จะมองตรงข้ามกับข้างต้นที่กล่าวมาก็คือ มองว่า ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งต้องเน้นเรื่องของ Competency มากขึ้นเท่านั้น เพราะต้องอาศัยเรื่องของ ภาวะผู้นำที่ต้องนำคนอื่นในองค์กรทั้งหมด ให้สร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงมากๆ ก็จะมีน้ำหนักทางด้าน Competency มาก เช่น Competency 80% และ KPI 20% ส่วนพนักงานในระดับล่างๆ นั้นเราจ้างเขามาเพื่อที่จะสร้างผลงาน ไม่ได้จ้างมาเพื่อที่จะสร้างพฤติกรรมที่ดีในมุมต่างๆ เลย ดังนั้น พนักงานระดับล่าง KPI จะหนัก 80% และ Competency 20% ก็พอ

3. ค่ายที่เชื่อว่า ผู้บริหารระดับสูงจะต้องมีความสมดุลระหว่าง KPI กับ Competency

ค่ายนี้ถือว่าเป็นลูกผสมของ 2 ค่ายข้างต้น กล่าวคือ เขาเชื่อว่า ยิ่งผู้บริหารระดับสูงมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ต้องยิ่งมีความสมดุลระหว่างผลงาน และพฤติกรรม นั่นก็คือ น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 50:50 ระหว่าง KPI กับ Competency เหตุผลก็คือ ผู้บริหารระดับสูงนั้นจะต้องรับผิดชอบทั้งด้านผลงานขององค์กรที่ต้องออกมาเป็นตัวเลขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำไร ยอดขาย ต้นทุน ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริหารระดับยิ่งสูง ก็ต้องยิ่งทำตนให้เป็นตัวอย่างทางด้านพฤติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่เรากำหนดไว้ ถ้าผู้บริหารไม่สร้างพฤติกรรมเหล่านั้นให้พนักงานเห็น ก็อย่าหวังเลยว่าพนักงานจะมีพฤติกรรมแบบนั้นได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การทำงานเป็นทีม ความมุ่งมั่น ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ภาวะผู้นำในด้านต่างๆ ฯลฯ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงจะต้องสร้างทั้งผลงาน และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องพฤติกรรมที่เป็นสิ่งที่องค์กรต้องการสร้างขึ้นมา

ส่วนพนักงานในระดับล่างนั้น ก็จะเน้นไปที่ KPI มากกว่า Competency ลดหลั่นกันลงไปจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรจนถึงพนักงานระดับล่าง ก็อยู่ที่ KPI 80% และ Competency 20% เพราะเชื่อว่าเราจ้างพนักงานระดับล่างเข้ามาก็เพื่อให้เขาสร้างผลงาน หรือ output มากกว่า ส่วนเรื่องพฤติกรรมก็เน้นไปที่เรื่องของทำพฤติกรรมให้ดี ตรงตามระเบียบข้อบังคับมากกว่าที่จะคาดหวังพฤติกรรมเลอเลิศอะไรมากมายกับพนักงานในระดับนี้

ถ้าถามว่าผมเองเชื่อไปทางค่ายไหนมากกว่ากัน โดยส่วนตัวแล้วผมเชื่อไปทางค่ายที่ 3 มากกว่าครับ เพราะผมเชื่อว่า ผู้นำที่ดี หรือผู้บริหารที่บริหารองค์กรให้ได้ผลนั้น จะต้องสร้างผลงานขององค์กรให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด และจะต้องไม่ทิ้งเรื่องของการสร้างพฤติกรรมหลักขององค์กรให้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรให้ได้ และเมื่อเป็นวัฒนธรรมองค์กรได้แล้วก็ต้องรักษาวัฒนธรรมนั้นไว้ให้ได้นานที่สุดอีกด้วย

ส่วนพนักงานระดับถัดๆ ลงไป นั้น สิ่งที่เรามักจะเน้นมากหน่อยก็คือเรื่องของผลงานที่คาดหวัง และสิ่งที่เน้นรองลงมาก็คือ เรื่องของพฤติกรรมที่คาดหวังว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ยิ่งลงไปสู่ระดับล่างๆ มากเท่าไหร่ ก็จะคาดหวังไปที่ผลงานที่ต้องออกมาในแต่ละวันมากกว่าที่จะไปมองว่าพนักงานแต่ละคนจะต้องแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาบ้าง เพียงแค่ให้อยู่ในระเบียบข้อบังคับและมีพฤติกรรมพื้นฐานที่ดีก็พอในการทำงานแล้ว

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับคิดอย่างไรบ้าง ต้องแจ้งไว้หน่อยนะครับว่า จริงๆแล้วเรื่องพวกนี้มันไม่มีถูกไม่มีผิดนะครับ ขึ้นอยู่กับความเชื่อ และวัฒนธรรมขององค์กร และก็ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรแต่ละแห่งว่ามีมุมมองอย่างไรในเรื่องของผลงานและพฤติกรรม แต่พอเชื่อแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อก็คือ การประเมินผลงานของพนักงานออกมาอย่างตรงไปตรงมา มองที่ผลงานและพฤติกรรมจริงๆ ที่แสดงออก และเน้นไปที่การเอาผลการประเมินไปพัฒนาพนักงานให้ดีขึ้น เพื่อให้เขาสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง

มัวแต่ไปคิดเรื่องน้ำหนักการประเมินมากจนเกินไป สุดท้ายผลการประเมินก็ออกมาแบบไม่เป็นธรรมอยู่ดี ถ้าคนประเมินไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของผลงานของพนักงานจริงๆ




Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2557 6:37:31 น. 0 comments
Counter : 957 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]