HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2558
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
18 กุมภาพันธ์ 2558

ทำไมพนักงานแต่ละคนจึงสร้างผลงานที่แตกต่างกัน

KPI

ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ KPI ไปสองวัน ก็มี Feedback ในทางที่ดีจากท่านผู้อ่านพอสมควร ซึ่งผมเองก็เดาเอาเองว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องที่หลายๆ องค์กรให้ความสนใจมาก และต้องการที่จะให้ระบบนี้ให้ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เถียงไม่ได้เลยก็คือ ทุกองค์กรต่างก็ต้องการที่จะสร้างผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกแห่งพยายามที่จะวางแผนกลยุทธ์ กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายให้ได้

องค์กรที่จะประสบความสำเร็จได้ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ พนักงานทุกระดับที่จะต้องสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากพนักงานเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีความคิด ความรู้สึก มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แต่ละวันไม่ค่อยจะเหมือนกันเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับเครื่องจักรที่เดินเครื่องได้ตามที่เราต้องการเป๊ะๆ ถ้าวันนี้เราต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอีกเท่าไหร่ เราก็สามารถที่จะสั่งให้เครื่องจักรผลิตให้เราได้ตามที่เราต้องการ โดยที่เครื่องจักรไม่มีการมานั่งบ่น หรือแสดงความรู้สึกอะไรให้เราต้องหนักใจเท่าไหร่ (นอกจากการซ่อมบำรุง และการดูแลให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้)

แต่ในองค์กรทั่วไป จะประกอบไปด้วยพนักงานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความคิดความอ่านไม่เหมือนกัน มีอารมณ์ ความมุ่งมั่นที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้องค์กรจะต้องมีการบริหารจัดการผลงานของพนักงานเพื่อพยายามที่จะทำให้พนักงานแต่ละคนสร้างผลงานให้ออกมาได้ตามมาตรฐาน และตามเป้าหมายที่องค์กรกำหนดไว้ และการที่ผลงานของพนักงานแตกต่างกันนั้น มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง เราลองมาดูกันครับ

  • รู้เป้าหมายในการทำงาน การที่พนักงานจะมีผลงานที่ดีหรือไม่ดีนั้น สิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบก็คือ พนักงานแต่ละคนนั้นรู้เป้าหมายในการทำงานของตนเองหรือไม่ ทราบหรือไม่ว่า ขอบเขตงานของตนเองนั้นมีขนาดไหน องค์กรคาดหวังผลงานอะไรบ้างในตัวพนักงานแต่ละคน สิ่งเหล่านี้จะต้องแจ้งพนักงานให้ทราบอย่างชัดเจน และเข้าใจตรงกัน เพราะมิฉะนั้นแล้ว พนักงานเองก็จะคิดเอง เออเอง และทำงานแบบที่ตนเองเข้าใจ แต่อาจจะเข้าใจไม่ตรงกับที่องค์กรต้องการก็เป็นได้
  • รู้วิธีการทำงาน ปัจจัยที่สองก็คือ พนักงานมีความรู้ ทักษะ และพฤติกรรมที่สอดคล้องกับการทำงานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องของความรู้ทักษะนั้น ปกติ เราก็สามารถที่จะตรวจสอบ และทดสอบได้ ซึ่งก็สามารถทำให้เรารู้ได้ว่า พนักงานนั้นมีความรู้ทักษะที่พร้อมที่จะสร้างผลงานอย่างที่เราคาดหวังไว้หรือไม่
  • แรงจูงใจในการทำงาน ตัวสุดท้ายที่จะทำให้ผลงานของพนักงานออกมาดี หรือ ไม่ดี ก็คือ พนักงานคนนั้นมีแรงจูงใจในการทำงานมากน้อยสักแค่ไหน มีพลังที่จะลุกขึ้นมาทำงานในแต่ละวันสักแค่ไหน มีพลังที่จะพยายามทำผลงานให้ออกมาให้ดีที่สุด และมีพลังที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ตนเองทำให้นานที่สุด

เราก็เลยสามารถเขียนเป็นสมการผลงานของพนักงานได้ว่า

ระดับผลงานของพนักงาน = รู้เป้าหมายในการทำงาน X รู้วิธีการทำงาน X แรงจูงใจในการทำงาน

และถ้าปัจจัยใดที่มีค่าเท่ากับ 0 เมื่อไหร่ ก็เท่ากับว่าผลงานไม่เกิดอย่างแน่นอนครับ

ด้วยสมการข้างต้นเราก็สามารถที่จะวิเคราะห์ได้ว่า ทำไมพนักงานแต่ละคนจึงมีระดับผลงานไม่เท่ากัน และยังสามารถนำมาวางแผนในการพัฒนาพนักงานได้อีกด้วยว่า ถ้าเราทราบว่าผลงานของพนักงานที่ออกมานั้น ไม่ค่อยจะดีนัก ก็ใช้สมการดังกล่าวในการวิเคราะห์หาสาเหตุได้ชัดเจนมากขึ้น

การที่เราต้องการจะบริหารผลงานให้พนักงานมีผลงานที่ดี รวมทั้งมีการกำหนด KPI ขึ้นมา เพื่อให้พนักงานรู้ว่าเขาจะต้องทำงานอะไรและถูกคาดหวังอะไรบ้าง ตัวKPI ที่เรากำหนดขึ้นให้กับพนักงานนั้น เมื่อแทนค่าลงในสมการข้างต้นก็คือ ทำให้พนักงานรู้เป้าหมายในการทำงานของตนเอง ซึ่งการมี KPI ก็ไม่ได้รับประกันว่าพนักงานจะทำงานได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการเพราะยังขาดอีกสองปัจจัยในสมการ ก็คือ ความรู้และทักษะในการทำงาน และแรงจูงใจในการทำงานนั่นเอง

ถ้าเราเป็นผู้จัดการที่จะต้องบริหารผลงานของพนักงานแต่ละคนในทีม สมการข้างต้นจะช่วยเราได้ในการที่จะพิจารณาเหตุของผลงานที่ไม่ดี หรือดี ของพนักงานแต่ละคนได้ และสามารถวางแผนในการพัฒนาพนักงานได้อย่างถูกต้องตามสาเหตุของมัน

ผมเองเคยถามเล่นๆ ว่า ปัจจัยทั้งสามตัวข้างต้นในสมการนั้น ตัวไหนที่ลดลงเพียงนิดเดียว แต่ทำให้ผลงานของพนักงานลดลงอย่างมากได้เลย คำตอบก็คือ “แรงจูงใจ” นั่นเองครับ การที่พนักงานไม่รู้เป้าหมาย หรือไม่มีความรู้ในการทำงาน แต่ถ้าพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานที่ดี เขาก็จะพยายามขวนขวายมาซึ่งเป้าหมายและความรู้ได้ด้วยตัวเขาเอง

ผิดกับพนักงานที่รู้ทั้งรู้ว่า เป้าหมายในการทำงานของตนเองคืออะไร อีกทั้งยังมีความรู้ทักษะในการทำงานที่ดีเยี่ยม แต่หมดแล้วซึ่งแรงจูงใจในการทำงาน ผลงานก็จะไม่ออกมาให้เราเห็นเลย

ดังนั้นเมื่อเรารู้ว่า องค์ประกอบของผลงานที่ดีของพนักงานมีอะไรบ้าง จากนี้เราก็คงจะสามารถวางแผนในการพัฒนาผลงาน และบริหารผลงานของพนักงานได้ดีขึ้นนะครับ




Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2558
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2558 7:28:43 น. 0 comments
Counter : 849 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]