HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
5 กุมภาพันธ์ 2557

ค่านิยมขององค์กร กับผู้นำองค์กร

เรื่องของค่านิยมขององค์กรนั้น ปัจจุบันมีหลายๆ องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่องค์กรส่วนใหญ่มีการกำหนดคุณค่า หรือค่านิยมขององค์กรปิดไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้พนักงานได้เห็น และนำไปปฏิบัติได้

ประเด็นก็คือ พนักงานของเราให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากเพียงใด หรือมองว่าเป็นแค่เพียงคำขวัญ เหมือนคำขวัญวันเด็ก ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เคยคิดที่จะเอามาทำอะไรกับการทำงานเลย

ผู้บริหารเองให้ความสำคัญแค่ไหน หรือมองว่าเป็นแค่เพียงคำพูดสวยหรู ที่คนอื่นเขามีกัน แล้วเราก็เลยต้องมีด้วย แต่มีแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้ทำอะไร แค่โชว์คนอื่นได้ว่าเราก็มีเหมือนกันนะ

ถ้าถามว่าเรื่องของค่านิยมองค์กรนั้นสำคัญแค่ไหน ก็คงต้องตอบว่าสำคัญมาก เพราะเป็นตัวที่บอกถึงคุณลักษณะเด่นขององค์กร ที่ทำให้องค์การของเรามีความโดดเด่น และแตกต่างจากที่อื่นแม้ว่าจะอยู่ในธุรกิจเดียวกันก็ตาม ความโดดเด่นนี้เองที่จะทำให้เราได้เปรียบคู่แข่งของเราได้ ทำให้ลูกค้า และบุคคลภายนอกทั่วไปรับรู้ถึงจุดเด่น และจุดแข็งของเราเอง ทำให้ลูกค้ามั่นใจที่จะใช้สินค้าและบริการของเรามากขึ้น

นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานในองค์กรมีพฤติกรรมในการทำงานที่สอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรอยากให้เป็น จนสุดท้ายก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้ในที่สุด ที่มีผลต่อเนื่องมากกว่านี้ก็คือ ทำให้บุคคลภายนอกที่อยากจะทำงานกับเรานั้นสามารถที่จะเห็นจุดเด่นขององค์กรนี้ และดึงดูดให้คนต้องการมาทำงานกับบริษัทได้มากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สมัครพิจารณาตนเองได้ว่า ตนเองมีอุปนิสัยที่สอดคล้องกับค่านิยมขององค์กรนี้หรือไม่ และควรจะมาสมัครงานหรือไม่ อย่างน้อยก็ช่วยกรองให้ได้คนที่เหมาะกับองค์กรแบบเราได้

เราเห็นความสำคัญของค่านิยมองค์กรแล้ว ลองมาดูในทางปฏิบัติจริงว่า ทำไมองค์กรหลายแห่งถึงไม่สามารถทำตามค่านิยมที่กำหนดไว้ได้

  • ผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญ ปัญหาแรกที่ทำให้เกิดความยากในการนำไปใช้งานจริงก็คือ ผู้บริหารระดับสูงไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง มักจะมองแค่เพียงเป็นสโลแกน หรือเป็นประโยคสวยหรูที่อ่านจบแล้วรู้สึกดีมาก แล้วก็ไม่ได้เอาไปทำอะไรต่อ
  • ผู้บริหารระดับสูงมองความสำเร็จขององค์กรในระยะสั้นๆ อีกประเด็นที่ทำให้ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างค่านิยมร่วมในองค์กรก็คือ ผู้บริหารมักจะอ้างว่า เวลามีค่ามาก แทนที่จะมาสร้างอะไรที่จับต้องไม่ได้ (บางคนมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระกันเลยทีเดียว) สู้เอาเวลาที่จะใช้ในการสร้างค่านิยมเหล่านี้ ไปใช้ในการขายของ เพิ่มยอดขาย เพิ่มกำไรไม่ดีกว่าหรือ ถ้าผู้บริหารมีเหตุผลแบบนี้ (ไม่ได้ผิดนะครับ) แสดงว่าผู้บริหารท่านนี้มีมุมมองต่อความสำเร็จในองค์กรแบบระยะสั้นๆ เท่านั้น มองกันปีต่อปี ปีนี้ขอให้ได้ยอดขาย ได้กำไรตามนี้ ปีหน้าค่อยคิดหาทางใหม่อีกที โดยไม่ได้วางรากฐานขององค์กรในระยะยาว ซึ่งถ้ามองแบบนี้จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องไปวางรากฐานค่านิยมอะไรให้มันยุ่งยาก พนักงานคนไหนขายได้ ก็ให้เขาอยู่ต่อ คนไหนที่ทำงานไม่ได้ก็ให้ออกกันไป องค์กรก็จะได้ความสำเร็จในระยะสั้นๆ แต่ถ้าเราต้องการความสำเร็จในระยะยาวๆ เราก็คงต้องเปลี่ยนมุมมองต่อเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และเป็นรากฐานที่จะทำให้คนของเราทำงานด้วยพฤติกรรม และจุดเน้นในแบบที่องค์กรต้องการให้เน้น ซึ่งก็จะสร้างจุดเด่นให้กับองค์กรได้อย่างยั่งยืน
  • ผู้บริหารไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง เรื่องของวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยมนั้น ส่วนหนึ่งถ้ากำหนดแล้ว และจะผลักดันให้เกิดจริงๆ จะต้องอาศัยกำลังภายในของผู้บริหารระดับสูงค่อนข้างมาก โดยผู้บริหารระดับสูงจะต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราเขียนไว้เป็นค่านิยมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานเป็นทีม การให้บริการลูกค้า หรือวัฒนธรรมการทำงานแบบสนุกสนาน และเป็นกันเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ถ้าผู้บริหารระดับสูงยังคงยึดมั่นถือมั่นในตำแหน่งที่สูง และยังต้องมีพิธีรีตองในการเข้าพบเข้าหา วัฒนธรรมของความเป็นกันเองก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ ของบริษัทที่เน้นเรื่องของบรรยากาศในการทำงานที่เป็นกันเอง ตัวผู้บริหารสูงสุดขององค์กรก็มักทำตัวเหมือนเป็นพนักงานธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีห้องใหญ่โต ไม่มีพิธีก่อนเข้าพบ ไม่ต้องมีอะไรที่แตกต่างไปจากพนักงานคนอื่น ซึ่งพอเป็นแบบนี้ ก็จะทำให้ค่านิยมนั้นๆ เกิดขึ้นได้เร็วในองค์กร ผิดกับผู้บริหารไทยๆ (บางแห่ง) ที่เขียนค่านิยมองค์กรไว้อย่างสวยหรู แต่ตนเองกลับไม่เคยคิดที่จะทำ หรือเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สอดคล้องกับสิ่งที่เขียนไว้เลย แล้วแบบนี้จะเกิดค่านิยมองค์กรในแบบที่เราต้องการได้อย่างไร

ผมเองก็ทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องของค่านิยมต่างๆ ขององค์กรมาหลายแห่ง องค์กรที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้จริงๆ ก็มีเยอะนะครับ แต่ก็เป็นองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงลงมาให้ความสำคัญ และเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พนักงาน ส่งเสริม ผลักดัน กระตุ้น จูงใจ ให้พนักงานเปลี่ยนแปลงตนเอง ถือว่าเป็นผู้นำที่แท้จริงมีความตั้งใจที่จะสร้างและปลูกฝังค่านิยมที่ดี ที่ได้ได้เขียนไว้ ให้ออกมาสู่ความเป็นจริงได้

เรื่องแบบนี้มักจะต้องเริ่มต้นที่ผู้นำก่อนเสมอครับ ถ้าผู้นำไม่เริ่ม หรือไม่ทำ ก็อย่าหวังว่าผู้ตามจะเริ่มหรือทำเลยครับ




Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2557 5:42:34 น. 0 comments
Counter : 1102 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]