HR Management and Self Leadership
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
28 พฤศจิกายน 2556

คุณบริหารผลงานลูกน้องแต่ละคนอย่างไร

ทุกวันนี้เรื่องของผลงานเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นธุรกิจ ต่างก็ต้องสร้างผลงานเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดให้ได้ ยิ่งการแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจก็ต้องยิ่งหาทางออกใหม่ๆ เพื่อให้อยู่รอดให้ได้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำให้ได้ก็คือ ทำผลงานให้กับองค์กร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ธุรกิจขององค์กรอยู่รอด และเติบโตต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จนั้น แค่เพียงเจ้าของธุรกิจ และผู้บริหารระดับสูงเพียงไม่กี่คนนั้น ไม่มีทางที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าขาดพนักงานในระดับต่างๆ ที่เข้ามาทำงานประกอบกัน ต่อภาพกันให้เป็นผลงานขององค์กร

พนักงานเองก็มีคุณสมบัติ และพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกันเลย การที่จะให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีให้ได้นั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร และเป็นสิ่งที่ผู้จัดการทุกคนจะต้องทำหน้าที่ในการบริหารจัดการให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีออกมาให้ได้ เรื่องของการบริหารผลงาน จึงเกิดขึ้น หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกคนต่างต้องเรียนรู้วิธีการและแนวทางในการทำให้พนักงานสร้างผลงานออกมาให้ได้ ซึ่งจริงๆ แล้วแนวทางในการบริหารผลงานพนักงานก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนเลย ปกติก็จะประกอบไปด้วยขั้นตอนดังนี้

  • วางแผนผลงาน สิ่งแรกที่ผู้จัดการจะต้องดำเนินการก่อนอย่างอื่นเลยในการบริหารผลงานของลูกน้อง ก็คือ การวางแผนผลงานร่วมกับลูกน้องของตน โดยวางแผนว่า ลูกน้องแต่ละคนจะต้องสร้างผลงานอะไรบ้างในแต่ละปี โดยทั่วไปถ้าผลงานเรื่องใดสามารถที่จะกำหนดตัวเลขที่วัดได้ชัดเจน เราก็มักจะกำหนดเป็นตัวเลข ที่เราเรียกกันว่า ตัวชี้วัดผลงานนั่นเองครับ ในการวางแผนผลงานที่ดีนั้น ไม่ได้แปลว่าจะต้องกำหนดตัวชี้วัดผลงานให้ได้ และให้ได้ดี แต่เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องมากกว่า ว่าต่างคนต่างเข้าใจตรงกันหรือไม่ว่า ผลงานที่อยากได้นั้นมันคืออะไร หลายแห่งเข้าใจผิดมากว่า การวางแผนผลงานก็คือการกำหนด KPI ก็เลยพยายามกำหนดออกมาให้ได้ แต่พอกำหนดแล้ว ไม่เคยเรียกลูกน้องมาคุยกัน หรือมาหารือกันเลยว่า ผลงานที่อยากได้นั้นมันคืออะไร และจะวัดอย่างไร หัวหน้ารู้อยู่คนเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ ก็คงบริหารผลงานลูกน้องไม่ได้แน่นอนครับ
  • ทบทวนผลงาน สอนงาน สร้างแรงจูงใจ หลังจากที่วางแผนผลงานเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้ลูกน้องแต่ละคนก็จะรู้ตัวเองแล้วว่า ตนเองจะต้องสร้างผลงานอะไร อย่างไร และเท่าไหร่ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดร่วมกับหัวหน้าของตนเอง หัวหน้าเองก็ต้องทำหน้าที่ในการบริหารผลงานลูกน้อง โดยการแจ้งความคืบหน้า ตรวจสอบผลงานของลูกน้องว่าไปถึงไหนแล้ว มีปัญหาอะไรบ้าง และถ้าทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ก็ต้องแจ้งให้ลูกน้องทราบ และต้องสอนงาน ให้คำแนะนำในการทำงาน เพื่อให้ลูกน้องทำผลงานให้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งถ้าลูกน้องขาดแรงจูงใจในการทำงาน ก็ต้องทำหน้าที่ในการสร้างพลัง และแรงจูงใจให้เกิดขึ้นกับลูกน้องของตนเอง เพื่อให้เขามีพลังในการสร้างผลงานอย่างต่อเรื่อง
  • ประเมินผล พอถึงช่วงปลายปี หัวหน้ากับลูกน้องก็มานั่งพิจารณาผลงานสุดท้ายกันว่า ถึงเป้าหมายที่ตกลงกันหรือไม่ ถ้าไม่ถึง ก็ต้องช่วยกันคิดว่า อะไรที่เป็นสาเหตุ และต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป เพื่อให้ผลงานดีขึ้นให้ได้

นี่คือแนวทางในการบริหารผลงาน ดังนั้นขั้นตอนที่เป็นการบริหารผลงานลูกน้องจริงๆ ก็คือ ขั้นตอนที่ 2 ก็คือ การทบทวนผลงาน สอนงาน และสร้างแรงจูงใจนั่นเอง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ที่จะทำให้พนักงานทำงานได้เป้า หรือไม่ได้เป้า และเป็นขั้นตอนที่ผู้จัดการทุกคนต้องมีศิลปะในการบริหารจัดการลูกน้องของตนแต่ละคน โดยวิธีการในการบริหารจัดการก็ต้องไม่เหมือนกันด้วย เนื่องจากลูกน้องแต่ละคนก็ไม่มีใครเหมือนกันเลยสักคนเดียว

หัวหน้าจึงต้องพิจารณาว่า ลูกน้องของตนเองแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนในการบริหารผลงานว่าจะต้องเข้าหาและมีวิธีการพูดคุย และบริหารจัดการอย่างไรดี เพื่อให้แต่ละคนสร้างผลงานออกมาให้ได้ ส่วนใหญ่การพิจารณาก็จะประกอบไปด้วย 2 ปัจจัย ก็คือ

  • ความรู้และทักษะในการทำงาน หัวหน้าต้องพิจารณาและประเมินให้ออกว่า ลูกน้องแต่ละคนของตนเองนั้นมีความรู้ ทักษะ ในการทำงานมากน้อยอย่างไร
  • ความเต็มใจในการทำงาน อีกเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ออกก็คือ ลูกน้องแต่ละคนนั้น มีความเต็มใจ หรือมีแรงจูงใจในการทำงานมากน้อยเพียงใด บางคนไม่ต้องสั่งอะไรมาก ก็ทำให้มากกว่าที่คาดหวัง แต่บางคนไม่สั่งก็ไม่ทำ

จากนั้นก็ต้องมาพิจารณาว่าลูกน้องของเราแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งปกติก็จะมี 4 ประเภทหลักๆ คือ

  • ความรู้ทักษะสูง แรงจูงใจสูง ถ้าเรามีลูกน้องเป็นลักษณะนี้ เราจะบริหารผลงานลูกน้องคนนี้ได้ง่ายมาก เพราะตัวเขาเอง เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะกับงาน ทั้งยังมีความเต็มใจที่จะทำงานอีกด้วย ดังนั้นเป้าหมายผลงานต่างๆ ที่กำหนดร่วมกัน พนักงานคนนี้จะมีความพยายามที่จะสร้างผลงานให้ได้ตามที่ตกลงกัน โดยที่หัวหน้าไม่ต้องเข้ามาบริหารจัดการอะไรมากนัก แค่เพียงบอกเป้าหมายที่ต้องการให้ชัดเจน จากนั้นก็ปล่อยให้พนักงานทำงานไปเอง โดยที่ให้มีการตรวจสอบและทบทวนเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่า ผลงานออกมาไม่หลุดไปจากที่ตกลงกันไว้
  • ความรู้สูง แต่แรงจูงใจต่ำ พนักงานคนนี้เป็นคนเก่ง มีความรู้ และมีทักษะที่ดี ในการทำงาน แต่เป็นคนที่ขี้เกียจ ไม่สั่งก็ไม่ทำ ไม่มีแรงจูงใจที่อยากจะทำงานเลย มาทำงานก็เพราะถูกบังคับให้มา ไม่ใช่อยากทำงานด้วยตัวของตนเอง ถ้าเรามีพนักงานในลักษณะนี้ การที่จะทำให้พนักงานคนนี้สร้างผลงานออกมาให้ได้ แปลว่าหัวหน้าจะต้องเน้นไปที่การสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานคนนี้ จะต้องศึกษาให้ถ่องแท้ว่า พนักงานคนนี้ต้องการอะไร แล้วเราก็พยายามสร้างบรรยากาศ และตอบสนองความต้องการนั้นๆ ของพนักงานให้ได้ เช่น พนักงานบางคนต้องการงานที่ท้าทาย งานซ้ำๆ ซากๆ แบบนี้ไม่อยากทำแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ หัวหน้าก็ต้องมอบหมายงานที่มีความท้าทาย และเป็นงานที่ลูกน้องคนนี้ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อทำให้เขารู้สึกตื่นเต้น แปลกใหม่ ไม่น่าเบื่อ จะได้มีความรู้สึกอยากทำงานให้สำเร็จ
  • ความรู้ทักษะต่ำ แต่แรงจูงใจสูง พนักงานคนนี้ก็บริหารไม่ยากนัก เพราะใจมาเกินร้อยแล้ว เพียงแต่ไม่มีความรู้และทักษะ การบริหารพนักงานคนนี้ก็คือ การสอนงาน การให้คำแนะนำการทำงานที่ชัดเจน เป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้พนักงานมีความรู้ในการทำงาน และมีทักษะที่ดีขึ้น ส่วนเรื่องของแรงจูงใจนั้น เขาอยากทำงานให้อยู่แล้ว ด้วยความเต็มใจ มีพลังใจเต็มเปี่ยม หัวหน้าก็แค่เพียงให้คำชมบ้างในกรณีที่สามารถเรียนรู้งานได้ดี เพื่อเสริมแรงให้พนักงานมีกำลังใจมากขึ้น ผลงานก็จะออกมาดี
  • ความรู้ทักษะต่ำ แรงจูงใจก็ต่ำ พนักงานคนนี้เป็นคนที่มีปัญหา หัวหน้าทุกคนไม่อยากมีพนักงานแบบนี้ในหน่วยงานของตนเองเลย เพราะเป็นที่บริหารยาก แถมยังเป็นคนที่สร้างปัญหาในทีมงานมากอีกด้วย ดังนั้นวิธีการในการบริหารผลงานลูกน้องคนนี้ก็คือ ต้องสอนงานอย่างใกล้ชิดเป็นขั้นเป็นตอน และยังต้องทำการควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิดอีกด้วย คอยติดตาม คอยเตือน คอยมอง ว่าเป็นอย่างไร หัวหน้าก็ต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องให้ทั้งความรู้ทักษะ และต้องให้ทั้งแรงจูงใจไปพร้อมกัน ผลงานจึงจะเกิดขึ้นได้

ดังนั้นองค์กรใดที่นำเอาระบบบริหารผลงานไปใช้งานจริง ก็คงต้องพิจารณาลักษณะของลูกน้องแต่ละคนของเราว่าเข้าข่ายประเภทไหน เพื่อที่จะได้วางแนวทางในการบริหารผลงานให้เหมาะสมกับลูกน้องแค่ละคนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ลูกน้องทำงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเอง




Create Date : 28 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2556 6:49:57 น. 0 comments
Counter : 1338 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]