HR Management and Self Leadership
<<
กุมภาพันธ์ 2557
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
232425262728 
27 กุมภาพันธ์ 2557

ผู้จัดการกับการสร้าง Engagement กับทีมงาน

เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งหลายๆ องค์กรพยายามที่จะสร้างให้ได้ เพราะเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกผูกพันกับองค์กร เมื่อนั้นผลงานของพนักงานก็จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อผลงานพนักงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้ผลงานขององค์กรดีขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่พอพูดถึงว่า แล้วใครจะเป็นผู้สร้างความผูกพันของพนักงานให้เกิดขึ้นได้ คำตอบก็มีหลากหลายมากมาย ตั้งแต่ผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล ผู้จัดการสายงาน และแม้กระทั่งตัวพนักงานเอง คำตอบที่ถูกต้องก็คือ ถ้าอยากให้พนักงานผูกพันกับองค์กรจริงๆ ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กรช่วยกันทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่ก่อนที่จะทำให้พนักงานผูกพันกับองค์กร เราลองมาเริ่มต้นจากการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อหน่วยงานของเราเองก่อนดีมั้ย ถ้าทุกหน่วยงานสามารถสร้างพนักงานที่ผูกพันกับงานในหน่วยงานได้ การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรก็จะง่ายขึ้น

แนวทางในการสร้างความผูกพันอย่างง่ายๆ โดยไม่ต้องไปพึ่งทฤษฎีอะไรมากมาย ก็โดยการสร้าง 4 เรื่องนี้ให้เกิดขึ้นในการทำงานปกติของเราให้ได้ 4 เรื่องนี้ก็คือ (อ้างอิงจากหนังสือเรื่อง Employee Engagement 2.0 เขียนโดย Kevin Kruse)

  • Communication ก็คือ การสื่อความในทีมงาน ลองถามตัวเราเองก็ได้นะครับว่า ทุกๆ วันเรามีการสื่อความระหว่างทีมงานหรือไม่ ในฐานะที่ท่านเป็นหัวหน้า หรือผู้จัดการ เรามีการสื่อสาร สื่อความในเรื่องการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเป้าหมายในการทำงาน ความคืบหน้าในการทำงาน พูดคุย สื่อสารกันทั้งทางการและไม่เป็นทางการสักแค่ไหน เพราะถ้าทีมงานของเรามีการพูดคุยกัน มีการสื่อความในเรื่องต่างๆ ถึงกันอยู่เสมอ ก็จะสร้างความรู้สึกผูกพันของพนักงานกับทีมงานได้ไม่ยาก เพราะพนักงานจะรู้สึกว่าตนเองรับรู้เรื่องราวต่างๆ ของทีมงานอยู่ตลอดเวลา และรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของทีมงาน ผิดกับทีมงานที่หัวหน้างานไม่เคยพูด ไม่เคยสื่อสารอะไรให้ทราบเลย รับนโยบายจากผู้บริหารมา แต่ก็ไม่คิดจะสื่อสารต่อ เก็บไว้กับตัวเองคนเดียว มีปัญหาอะไร ก็ไม่เคยคุยกัน เก็บเงียบ ใครมีความขัดแย้งอะไรกัน ก็ปล่อยไว้ ไม่เคยหยิบมาหารือ เพื่อแก้ไขปัญหากัน แบบนี้ ความผูกพันของพนักงานต่อทีมงานก็คงเกิดได้ยาก
  • Growth and Development ตัวที่สองที่ในทีมงานจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้ก็คือ เรื่องของความก้าวหน้าในการทำงาน และการพัฒนาพนักงานในทีม ทำให้พนักงานในทีมมีความรู้สึกว่า อยู่ทำงานที่นี่แล้วได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีความรู้ มีทักษะในการทำงานที่สูงขึ้น และได้รับการส่งเสริม และพัฒนาจากหัวหน้าทีม หรือผู้จัดการอยู่เสมอ ดังนั้นสิ่งที่หัวหน้างานและผู้จัดการจะต้องทำก็คือ การวางแผนการพัฒนาพนักงานในทีมงานแต่ละคน โดยพิจารณาจากจุดแข็งจุดอ่อนของพนักงาน จากนั้นก็ทำการวางแผน วางแนวทางในการพัฒนาในแต่ละเรื่อง ซึ่งอาจจะใช้การส่งไปฝึกอบรม หรือการสอนงานด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งการมอบหมายงานใหม่ๆ ให้กับพนักงานในทีมงานเพื่อให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีความก้าวหน้า มีความสามารถที่สูงขึ้น (ความก้าวหน้าในที่นี่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปเรื่อยๆ นะครับ เพราะเอาเข้าจริงๆ ตำแหน่งงานระดับบนๆ ก็มีไม่เยอะ โอกาสก็จะยิ่งน้อยลงไปเรื่อยๆ)
  • Recognition and Appreciation คือการให้ความสำคัญ และการยอมรับในตัวของพนักงาน และในผลงานของพนักงานในทีมงาน โดยปกติแล้ว พนักงานทำงาน ก็ย่อมที่จะต้องการสร้างผลงานที่ดี และถ้าเขาสามารถสร้างผลงานที่ดีได้แล้ว พนักงานเองก็ย่อมต้องการที่จะได้รับคำชมเชย และต้องการได้รับการยอมรับจากหัวหน้าของตนเองเป็นคนแรก ดังนั้น ถ้าหัวหน้างาน หรือผู้จัดสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ในทีมงานได้ ความรู้สึกของพนักงานก็จะดีขึ้น มีพลัง มีแรงจูงใจ มีแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นกับความรู้สึกพนักงาน ความรู้สึกผูกพันกับทีมงาน และกับหัวหน้างานก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ขอเพียงแต่หัวหน้ามีความตั้งใจจริง และมีความจริงใจที่จะให้คำชม และให้การยอมรับในตัวพนักงานอย่างเต็มที่
  • Trust and Confidence คือการสร้างความมั่นใจ และความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้น ลูกทีมเชื่อใจและมั่นใจในหัวหน้าทีม หรือผู้จัดการทีมสักแค่ไหน การที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพนักงานได้นั้น แปลว่าหัวหน้างานจะต้องมีความรับผิดชอบในการทำงาน ไม่ใช่รับชอบ แต่ไม่รับผิด และต้องรักษาคำพูด พูดอะไรหรือสัญญาอะไรไว้ ก็ต้องทำตามที่พูดและที่สัญญาไว้อย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องมีความเป็นธรรมในการบริหารงานและบริหารคน มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น กระทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พนักงานในทีมงาน เช่น อยากให้พนักงานมาทำงานเร็ว ก็ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการมาทำงานให้เร็วด้วยเช่นกัน

ปัจจัย 4 ประการข้างต้นเป็นปัจจัยง่ายๆ ในการที่จะสร้างความผูกพันของพนักงาน ไม่ว่าจะต่อหน่วยงาน หรือต่อองค์กรก็ตาม สิ่งที่ผู้บริหาร และหัวหน้างานจะต้องทำก็คือ การนำเอาปัจจัยทั้ง 4 ตัวนี้ไปลงมือทำจริงๆ ต้องทำทุกวัน และทำให้เป็นกิจวัตรประจำวันให้ได้ ทำให้เป็นธรรมชาติของเราให้มากที่สุด โดยไม่ต้องฝืนเลย เมื่อไหร่ที่หัวหน้าทุกคนทำได้ ผมเชื่อว่า ความผูกพันของพนักงานในทีมงานนั้นย่อมเกิดขึ้นอย่างสูงด้วย

และถ้าพนักงานทุกหน่วยงานรู้สึกผูกพัน การจะต่อยอดไปถึงความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร ก็ทำได้ไม่ยาก ดังนั้นถ้าเราต้องการจะสร้างความผูกพันของพนักงานจริงๆ จงเริ่มต้นจากเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แล้วความผูกพันจะเกิดขึ้นอย่างถาวรครับ




Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2557
Last Update : 28 กุมภาพันธ์ 2557 7:12:50 น. 0 comments
Counter : 1054 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]