HR Management and Self Leadership
<<
กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
17 กันยายน 2556

พนักงานคิดอย่างไรกับการแจ้งผลงานตอนปลายปี

วันนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องราวของการประเมินผลงานต่อไปอีกนะครับ แต่จะเป็นเรื่องของความคิดเห็นและมุมมองของพนักงานที่มีต่อเรื่องการแจ้งผลงานปลายปีว่าเขารู้สึกอย่างไรกับขั้นตอนนี้ โดยปกติแล้วระบบการประเมินผลงานที่หัวหน้าประเมินลูกน้องเรียบร้อยในปีนั้น ก็จะมีการนัดหมายเพื่อที่จะแจ้ง และบอกกล่าวผลงานแก่พนักงาน โดยที่หัวหน้า หรือผู้จัดการจะต้องเป็นคนบอกเล่า ผลงานทุกอย่าง ทุกปัจจัย เพื่อให้พนักงานได้เห็นภาพผลงานของตนเอง ว่าปีที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ในทางปฏิบัติแล้วขั้นตอนการแจ้งผลงาน เป็นขั้นตอนที่ทำให้ทั้งหัวหน้า และลูกน้องมีความรู้สึกที่บอกไม่ถูก เพราะต้องมานั่งเล่าผลงานทั้งในแง่ดี ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ถ้าผลงานของพนักงานออกมาไม่ค่อยดีนัก หัวหน้าก็จะรู้สึกไม่ค่อยดีสำหรับการที่จะต้องแจ้งผลงานแบบนั้นกับพนักงาน

ในมุมมองของพนักงาน เท่าที่ผมได้เคยสอบถามจากกลุ่มพนักงานที่ทำงานในองค์กรต่างๆ คำตอบที่ออกมานั้น มีความชัดเจนมากกว่า พนักงานส่วนใหญ่ไม่กลัวการประเมินผลงาน ในช่วงหลังๆ พนักงานกลับรู้สึกว่า การประเมินผลงานนั้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เขารู้ว่า ผลงานของตนเองที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร มีอะไรที่จะต้องแก้ไขปรับปรุงบ้าง แต่พนักงานจะไม่ค่อย Happy กับการแจ้งผลงานตอนปลายปีมากกว่า ซึ่งจากงานวิจัยของ Globoforce ที่ทำวิจัยเรื่องของความรู้สึกและความคิดเห็นของพนักงานต่อการแจ้งผลงานปลายปีออกมาดังต่อไปนี้

  • พนักงานรู้สึกว่าขั้นตอนการแจ้งผลงานปีละครั้งนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้ผล เสียเวลาในการทำงาน และมันไม่มีประโยชน์ในการพัฒนาผลงานของตนเองเลย ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุยบางครั้ง ก็ไม่ตรงประเด็น ไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองมีผลงานอะไรที่ดี หรืออะไรที่ไม่ดีบ้าง โดย 51% ของพนักงานตอบมาว่า การแจ้งผลงานตอนปลายปีนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่ตรงประเด็นตามผลงานของเขาเอง หัวหน้างานไม่รู้เอาอะไรมาพูด บางคนไม่มีการเก็บข้อมูลอะไรเลย ก็มาพูดๆ ไปให้เสร็จตามหน้าที่ของตนเอง และพนักงานจำนวนถึง 53% บอกเหมือนกันว่า การชี้แจงและแจ้งผลงานปลายปีนั้น ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกมีแรงจูงใจ หรือมีพลังในการทำงานมากขึ้นเลย เพราะเป็นการพูดคุยผลงานกันปีละครั้งเดียวเท่านั้นเอง
  • 63% ของพนักงานตอบว่า ขั้นตอนการแจ้งผลปลายปีนั้น ไม่ใช่ตัวบ่งบอกถึงผลงานที่แท้จริงของเขา
  • 40% ให้เหตุผลว่า มันเป็นเพียงความเห็นของคนๆ เดียวเท่านั้น
  • 30% รู้สึกว่าว่า ขั้นตอนนี้ทำให้เขารู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลง ขาดแรงจูงใจในการทำงาน
  • 22% ตอบว่า มันเป็นการเอาอดีตมาตอกย้ำใน 1 วัน ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร จะย้ำไปทำไม
  • พนักงานอยากได้อะไรจากการแจ้งผลงานบ้าง 70% ของพนักงานตอบว่า อยากให้หัวหน้าช่วยเขาในการพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นในปีถัดไป ไม่ใช่แค่บอกว่าอะไรไม่ดีหรืออะไรดี และที่เหลือก็คืออยากได้หัวหน้าช่วยสอน และแก้ไขปัญหาผลงานของเขาให้ดีขึ้นด้วย

แล้วท่านผู้อ่านสงสัยหรือไม่ครับ ว่าจริงๆ แล้วพนักงานเองต้องการอะไรจากการแจ้งผลงานกันแน่

จริงๆ สิ่งที่พนักงานให้มุมมองมาก็คือ การแจ้งผลที่เป็นการบอกผลงานของพนักงานนั้น เราทำกันแค่เพียงปีละครั้ง ซึ่งกว่าจะรู้ว่าตัวเองมีผลงานอย่างไรนั้น ต้องรอให้ครบปีก่อน กว่ารู้ว่าตัวเองจะต้องพัฒนาอะไรบ้าง ก็ต้องมานั่งรอช่วงนี้อีกเช่นกัน ซึ่งก็เลยทำให้พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย แล้วพนักงานต้องการอะไร

  • 71% ของพนักงานตอบว่า เขาต้องการให้หัวหน้าแจ้งและชี้แจงผลงานของเขาในกรณีที่ดี หรือไม่ดี โดยแจ้งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเขาจะได้มีเวลาในการพัฒนาผลงานตัวเองให้ดีขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาผลงานได้ทันเวลา แทนที่จะต้องรอไปอีก 1 ปี เพื่อจะมาแก้ปัญหาบางอย่างเท่านั้น
  • 23% บอกว่าต้องการให้หัวหน้าแจ้งผลงานทุกสัปดาห์
  • 17% ต้องการให้บอกทุกไตรมาส

จากผลการวิจัยนี้ เป็นตัวที่บอกเราได้ว่า พนักงานในยุคใหม่นี้ ต้องการให้หัวหน้า Feedback เขาทันที ที่เกิดผลงานไม่ดีขึ้น ไม่อยากให้รอเก็บไว้จนถึงปลายปีค่อยแจ้ง เพราะเขามองว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรกับตัวเขาเลย

เมื่อเห็นงานวิจัยชิ้นนี้ ผมก็คิดเล่นๆ ว่า ถ้าเป็นอย่างที่เขาวิจัยไว้จริงๆ นั่นก็แปลว่า ระบบการบริหารผลงานที่หัวหน้าจะต้องมีการให้ feedback ลูกน้องอย่างสม่ำเสมอ และต้องมีการสอนงานลูกน้องอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น ก็น่าจะเป็นแนวทางที่น่าจะทำให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของการพัฒนาผลงานของพนักงานแต่ละคนอย่างต่อเนื่อง

พนักงานสมัยนี้ต้องการรู้ผลงานของตนเองทันที และต้องการที่จะพัฒนาผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่อง และรวดเร็วที่สุด ดังนั้น ระบบการแจ้งผลงานปลายปี จึงไม่ควรจะทำแค่ครั้งเดียวตอนปลายปีอีกต่อไป เพราะเท่าที่พิจารณาก็จะเห็นว่า มีประโยชน์ต่อการพัฒนาผลงานของพนักงานน้อยมาก อีกทั้งยังไม่มีประโยชน์ต่อองค์กรเลย เนื่องจากองค์กรจะต้องใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าที่พนักงานจะรู้ว่าผลงานของตนเองเป็นอย่างไร และใช้เวลาในการพัฒนาอีก ระบบแบบนี้คงจะตามความเจริญก้าวหน้า และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ทันแน่นอนครับ




Create Date : 17 กันยายน 2556
Last Update : 19 กันยายน 2556 7:03:06 น. 0 comments
Counter : 992 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]