HR Management and Self Leadership
<<
มกราคม 2558
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
19 มกราคม 2558

ทำไมการเปลี่ยนแปลงถึงได้ยากนัก

เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ถ้าเราสังเกตสิ่งรอบตัวเรา หรือแม้กระทั่งตัวเราเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ทำไมเราถึงไม่ค่อยอยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ตาม

บทความวันนี้จะเน้นไปที่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบงานต่างๆ ในองค์กร โดยเฉพาะระบบงานทางด้านการบริหารจัดการต่างๆ ที่ผู้บริหาร และฝ่ายงานต่างๆ พยายามเอามาปรับใช้ในองค์กร

จริงๆ แล้วองค์กรเองก็เหมือนกับคนคนหนึ่ง ที่ต้องการเติบโต ต้องการก้าวหน้า และต้องการความสำเร็จ ซึ่งสิ่งที่ต้องการเหล่านี้ ล้วนต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่อยู่เฉยๆ แล้วมันจะเติบโตและก้าวหน้าได้ แต่เราต้องปรับปรุง ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานอยู่เสมอ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการนำเอาระบบการบริหารจัดการใหม่ๆ เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการองค์กรของเรา มักจะมีการต่อต้าน หรือไม่ก็คิดแล้วคิดอีกว่าสิ่งใหม่ที่จะนำเข้ามานั้นมันดีจริงๆ หรือ จากประสบการณ์ของผมที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมากว่า 20 ปี ก็พอจะสังเกตได้ว่า สาเหตุของการที่องค์กรไม่ยอมเปลี่ยนแปลง หรือจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างช่างยากเย็นมาก นั้นมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ

  • เห็นของเดิมว่ามันดีอยู่แล้ว สาเหตุแรกที่มักจะพบเจอบ่อยๆ ก็คือ เห็นว่าของเดิมที่ใช้อยู่นั้น มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย และสาเหตุที่มองว่าของเดิมดีอยู่แล้วก็เนื่องมาจาก ความสำเร็จที่ได้มาจากของเดิม ก็เลยมองว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีกต่อไป ซึ่งบางครั้งมันไม่ใช่ เนื่องจากองค์กรมีนโยบาย มีแผนกลยุทธ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นระบบงานบางอย่างจึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ดังกล่าว
  • ไม่เห็นว่าของใหม่ดีกว่าอย่างไร สาเหตุนี้ต่อเนื่องจากในข้อแรก ก็คือ ยังมองไม่เห็นว่าของใหม่ที่จะนำมาใช้นั้นมันดีอย่างไร และมันจะทำให้บริษัทเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ หรือ ผู้บริหารบางองค์กรปากก็บอกว่าอยากให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น แต่พอเริ่มต้นเอาระบบใหม่มาใช้ ตัวผู้บริหารที่เอ่ยปากเองก็เริ่มที่จะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเสียเอง เพราะกังวลว่า ของใหม่จะทำให้บริษัทดีขึ้นจริงๆ หรือ พอไม่แน่ใจมากๆ เข้า ก็เลยกลับมาใช้แบบเดิมๆ อีก สุดท้ายก็เลยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
  • กลัวเกิดผลกระทบกับคนเก่าแก่ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะทำให้มีผลกระทบตามมามากมาย ไม่ว่าจะเรื่องของการต่อต้าน ความเข้าใจ และที่สำคัญก็คือ ผลกระทบต่อตัวพนักงานบางคนในองค์กรซึ่งเป็นพนักงานที่อยู่ทำงานกันมานาน เรื่องนี้สิ่งที่ผมมักจะพบเจอมาก็คือ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร บางครั้งจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะแผนงาน และกลยุทธ์ขององค์กรเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างองค์กรก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่พอเสนอเปลี่ยนแปลง ก็จะเกิดความกลัวตามมาว่า แล้วผู้บริหารเดิมจะคิดอย่างไร ทำแบบนี้มันไม่รักษาคนเก่าแก่ไว้เลย แล้วคนกลุ่มนี้จะทำอย่างไรดี ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องมีแผนในการรับมือกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ผู้บริหารคิดไปก่อน และคิดไปเอง แทนที่จะมีการวางแผนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
  • กลัวพนักงานต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงบางอย่างก็ไม่สำเร็จเนื่องจาก ผู้บริหารกลัวว่าพนักงานจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วจะทำให้การทำงานหยุดชะงักไป หรือจะรวมตัวกันประท้วง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการทำงานในภาพรวมของบริษัท สุดท้ายด้วยความกลัวตรงนี้ก็เลยตัดสินใจไม่เปลี่ยนแปลงอะไรดีกว่า

จริงๆ ยังมีสาเหตุย่อยๆ อีกมากมายเกี่ยวกับการไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เขียนมาข้างต้นนั้น เป็นประเด็นหลักๆ ที่มักจะพบเจอกันบ่อยๆ คำถามถัดมาก็คือ แล้วเราจะทำอย่างไรดี ถ้าองค์กรจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่ยังกลัวปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

พรุ่งนี้ผมจะเล่าให้อ่านกันนะครับว่า เราจะมีวิธีการบริหารการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นมากที่สุด และส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรน้อยที่สุดครับ




Create Date : 19 มกราคม 2558
Last Update : 20 มกราคม 2558 7:25:32 น. 0 comments
Counter : 1071 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]