HR Management and Self Leadership
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
24 พฤศจิกายน 2556

บริหารพนักงานใหม่อย่างไร ไม่ให้ลาออกก่อนเวลาอันควร

ใครที่ทำหน้าที่สรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาทำงานในองค์กร ก็คงจะรู้ว่ามันมีความยากเย็นมากมาย กว่าที่เราจะสรรหาแหล่งที่ถูกต้อง ได้ใบสมัครจำนวนมากพอที่จะมาคัดเลือก และยังต้องใช้เวลาสำหรับการสัมภาษณ์อีกพอสมควร กว่าจะได้พนักงานเข้ามาทำงานสักคน แต่บางองค์กรกลับกลายเป็นเป็นว่า พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานนั้นลาออกไปก่อนถึงเวลาอันควร และอัตราการลาออกที่วิเคราะห์ออกมา ก็คือ พนักงานที่เพิ่งรับเข้ามา และยังทำงานไม่ถึง 3 ปีด้วยซ้ำไป ลาออกกันตลอด ส่วนพนักงานเก่าๆ ที่ทำงานกันมานานแล้ว กลับไม่คิดที่จะไปไหนเลย

ด้วยปัญหาแบบนี้ก็เลยทำให้เราต้องหาคนใหม่มาทดแทนคนทำงานที่ลาออกไปในตำแหน่งเดิมๆ อยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ควรจะทำถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นก็คือ ต้องวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมพนักงานใหม่ถึงลาออกก่อนถึงเวลาอันควร

สาเหตุหลักๆ น่าจะเกิดจาก

  • เข้ามาทำงานแล้วรู้สึกเคว้งคว้างไร้ที่พึ่ง สาเหตุนี้เป็นสาเหตุแรกเลยที่ทำให้พนักงานใหม่ อยากลาออกทันที ปกติพนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงานก็ไม่รู้จักใครอยู่แล้วในบริษัท ถ้าเข้ามาแล้วไม่มีใครดูแล เป็นพี่เลี้ยง ไม่มีใครสอนงาน แนะนำงาน หรือแม้แต่การพาไปทานข้าว ทำให้พนักงานต้องอยู่ทำงานอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย มีปัญหาอะไรก็ไม่รู้จะไปคุยกับใคร แบบนี้คงอยู่ได้ไม่เกิน 2 วันหรอกครับ เผ่นแน่นอน
  • เพื่อนร่วมงานไม่ต้อนรับ เข้ามาแล้วถ้าเพื่อนร่วมงานที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ไม่ให้การต้อนรับใดๆ แถมยังกีดกันไม่ให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มด้วย จนต้องอดทนทำงานคนเดียว เพื่อนก็แทบจะไม่มีเลย แบบนี้ก็อยู่ได้ไม่นานเช่นกัน หรือถ้าหนักกว่านี้หน่อยก็คือ เพื่อนร่วมงานจ้องแต่จะทำร้ายกัน หรืออาจจะมีประเภทแทงข้างหลังกันอยู่บ้าง อิจฉาริษยา ใส่ร้ายกันไปมา ฯลฯ แบบนี้ก็ทำให้พนักงานใหม่ไม่อยากทำงานอีกต่อไป
  • หัวหน้างานไม่เอาใจใส่ อีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักก็คือ เข้ามาทำงานแล้วหัวหน้างานโดยตรงไม่ให้การเอาใจใส่ดูแล ไม่มีการวางแผนการทำงานร่วมกัน ไม่มีการสอนงาน ให้คำแนะนำงาน ไม่มีการช่วยแก้ไขปัญหาในการทำงานในกรณีที่งานมีปัญหาขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นยังมอบหมายงานที่ยากเกินกว่าที่พนักงานจะทำได้ สร้างความกดดันให้กับพนักงานใหม่มากจนเกินไป พนักงานเมื่อเริ่มรู้สึกว่า ไม่มีใครสนใจ แม้แต่หัวหน้าของตนเองยังไม่ให้ความสนใจอะไรเลย แบบนี้จะอยู่ทำงานต่อไปทำไม จริงมั้ยครับ
  • ถูกโกหกทั้งเรื่องงานและค่าตอบแทน บางองค์กรไม่ค่อยชอบที่จะบอกเงื่อนไขในการทำงานให้กับผู้สมัครงานได้ทราบ เวลาผู้สมัครถามรายละเอียดเกี่ยวกับการทำงาน ก็มักจะตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไร งานไม่มียากอะไรเลย เงินเดือนสวัสดิการก็อยู่ในระดับที่ดี แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอะไรเลย สุดท้ายพอพนักงานเข้ามาทำงาน กลับค่อยๆ เผยสิ่งที่ต่างๆ ออกมา ไม่ว่าจะเป็นงานที่ไม่ตรงกับที่ตกลงกันไว้ และเงินเดือนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม สวัสดิการบางอย่างบอกว่ามี แต่สุดท้ายก็ไม่มี พอพนักงานถามเข้า ก็ตอบว่า ไม่เคยพูดอะไรแบบนั้น เมื่อไหร่ที่พนักงานรู้สึกว่าถูกโกหกแบบนี้ เขาก็อยู่ทำงานด้วยไม่ได้อย่างแน่นอนครับ

เมื่อพอจะทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร ก็คงหาวิธีการแก้ไขได้ไม่ยากนัก เพียงแต่ถ้าเรื่องไหนไปติดที่คนใดคนหนึ่งแล้ว ก็จะแก้ไขได้ยากขึ้นมาก เช่น หัวหน้างาน หรือผู้จัดการบางคนที่เป็นผู้มีอิทธิพลสูงๆ หน่อย ฝ่ายบุคคลก็จะเข้าไปแก้ไขได้ยากขึ้น คงต้องอาศัย ผู้บริหารระดับที่สูงขึ้นไปกว่านั้น เข้ามาช่วยพูดคุยและแก้ไขปัญหาให้

ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็น่าจะมีดังต่อไปนี้

  • ให้ความสำคัญกับพนักงานใหม่ให้มากกว่าเดิม อย่าคิดว่า ก็แค่พนักงานใหม่คนนึง ยังใหม่อยู่ ก็เลยยังไม่ต้องทำอะไรมากก็ได้ แต่หารู้ไม่ว่า พนักงานใหม่เองก็อยากทำงานให้เต็มที่ตั้งแต่วันแรกเช่นกัน
  • ให้การต้อนรับที่อบอุ่น โดยหัวหน้าต้องให้การต้อนรับก่อน และทำหน้าที่ในการแนะนำและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงานของตนเอง และหัวหน้าอาจจะต้องเป็นพี่เลี้ยงในช่วงเดือนแรกของการทำงาน เพื่อให้พนักงานใหม่รู้สึกคุ้นเคยและไม่ถูกทอดทิ้ง
  • แจ้งพนักงานถึงความสำคัญของงาน วันแรกที่เข้ามาทำงานหัวหน้างานควรจะแจ้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน รวมทั้งบอกด้วยว่า งานที่พนักงานใหม่ต้องทำนั้น มีความสำคัญอย่างไรต่อความสำเร็จของหน่วยงาน และต่อองค์กร ให้เขารู้ว่า เขามีความสำคัญ และมีส่วนในการสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรได้ ถ้าผลงานของพนักงานออกมาดี
  • ให้มีระบบ Recognition ที่ดี กล่าวคือ เมื่อพนักงานทำงานได้ดี ก็ต้องมีคำชมให้ทันที เพื่อให้เขาทราบว่า เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาทำจริงๆ หรือในกรณีที่พนักงานทำงานผิดพลาด สิ่งที่หัวหน้าจะต้องทำก็คือ การให้คำแนะนำและสอนงานในสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าการตำหนิตั้งแต่วันแรกๆ ที่เข้ามาทำงานเลย เพราะกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำงาน
  • ฝึกหัวหน้างานให้สามารถบริหารคนได้ดี ประเด็นสำคัญก็คือ การทำให้หัวหน้างานแต่ละคนที่ต้องดูแลพนักงาน เป็นหัวหน้าที่ให้ความสำคัญกับการบริหารคนจริงๆ ให้ความเอาใจใส่ ดูแล และให้ความเป็นกันเองกับลูกน้องทุกคนทั้งลูกน้องใหม่ และลูกน้องเก่า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง และไม่มองว่าพนักงานใหม่เป็นแค่ “มือใหม่หัดขับ” ดังนั้นไม่ต้องให้ความสำคัญอะไรมากนัก

พนักงานใหม่ที่เราหาเข้ามานั้น อย่าลืมว่า มีต้นทุนในการสรรหาและคัดเลือกที่สูงขึ้นทุกปี หายากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คุณสมบัติที่ตรงจริงๆ ก็ต้องเลือกแล้วเลือกอีก ใช้เวลาและพลังมากมายในการสรรหาคัดเลือก ดังนั้นจงอย่าให้พนักงานที่เราได้เลือกเฟ้นมาอย่างดีแล้วต้องออกจากองค์กรไปโดยที่สาเหตุเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง องค์กรจะเดินหน้าต่อได้ยาก เพราะขาดพนักงานอยู่ตลอดเวลา เข้ามาแล้ว ก็ออก เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าไม่แก้ไขปัญหาจะยิ่งบานปลายออกไปเป็นเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกมากมายครับ




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2556 6:34:05 น. 0 comments
Counter : 1266 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]