HR Management and Self Leadership
<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
19 สิงหาคม 2557

มีเครื่องมืออะไรที่ช่วยป้องกัน และลดอัตราการลาออกของพนักงานได้บ้าง

เรื่องของการลาออกของพนักงานนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายบุคคล และผู้บริหารในปัจจุบัน ต่างก็ให้ความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการที่พนักงานที่มีคุณค่ากับองค์กรลาออกไป ด้วยเหตุผลอันไม่สมควรนั้น ทำให้องค์กรมีปัญหาในการทำงานอย่างมาก และการที่องค์กรต้องสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่เข้ามาทำงาน ก็เป็นต้นทุนมหาศาลที่บางเรื่องก็ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ด้วยซ้ำไป

แนวทางในการป้องกันการลาออกของพนักงานส่วนใหญ่ ก็คือ การที่ฝ่ายบุคคลทำ Exit Interview เพื่อหาสาเหตุที่พนักงานลาออก และพยายามสร้างแนวทางในการป้องกันจากผลการสัมภาษณ์ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผลจากการทำ Exit Interview นั้นบางแห่งแทบเชื่อไม่ได้เลยก็มี เพราะพนักงานเองก็ไม่ต้องการที่จะพูดความจริง หรือบางครั้งก็ออกไปโดยที่ไม่ได้มีการสอบถามอะไรก็มี

ดังนั้นสิ่งที่จะช่วยให้พนักงานคิดจะลาออกจากงานน้อยลง หรือลดอัตราการลาออกของพนักงานลงได้ โดยที่ไม่ต้องไปทำเรื่องของ Exit Interview ก็คือการวางแนวทางในการป้องกัน และไม่ทำให้พนักงานรู้สึกแย่เวลาทำงานกับองค์กร แนวทางดังกล่าวมีอะไรบ้างลองมาดูกันนะครับ

  • สร้างเครื่องมือในการสรรหาคัดเลือกที่เข้มข้น การที่จะทำให้พนักงานไม่คิดจะลาออกง่ายๆ ก็ต้องสร้างวิธีการสรรหาคัดเลือกที่รัดกุม เข้มข้น หาคนที่เหมาะสมกับงาน และเหมาะสมกับองค์กรจริงๆ ไม่ใช่แค่ดูใบสมัคร แล้วสัมภาษณ์แบบพอเป็นพิธี จากนั้นก็รับเข้ามาทำงาน โดยรีบๆ ด้วยความรีบและไม่พิจารณาให้ดีก่อนรับเข้าทำงาน ก็จะยิ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเจอกับพนักงานที่ไม่เหมาะสมกับงาน พอไม่เหมาะสมกับงาน พนักงานก็ไม่อยากทำงาน แล้วก็จะลาออกจากองค์กรไปในที่สุด องค์กรก็ต้องมานั่งหาคนใหม่ไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นการวางระบบการสรรหาคัดเลือกที่รัดกุม และเข้มข้น ก็น่าจะช่วยทำให้เราได้คนที่เหมาะสม และแนวโน้มของการลาออกก็จะน้อยลง เพียงแต่ก็ต้องมีการวางแผนในการหาคนแต่เนิ่นๆ เพราะถ้าไม่วางแผนสุดท้ายก็จะเข้าสู่ระบบเดิมๆ ก็คือ รีบๆ หาเข้ามา
  • บอกพนักงานว่างานที่ทำมีความสำคัญ พอได้พนักงานเข้ามาทำงานแล้ว สิ่งที่ต้องรีบบอกกับพนักงานก็คือ งานที่เขาทำนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จของหน่วยงาน และต่อองค์กรอย่างไรบ้าง ถ้าพนักงานทำงานได้สำเร็จ และทำงานได้ดี จะส่งผลดีต่อองค์กรอย่างไร เพื่อทำให้เขารู้ว่า งานที่เขาทำนั้นเป็นงานที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสำคัญ และมีความภาคภูมิใจในการทำงาน ซึ่งก็น่าจะช่วยลดความรู้สึกที่อยากจะลาออกลงไปได้
  • ถ้าเป็นไปได้ จ่ายให้สูงกว่าที่ตลาดจ่าย จากนั้นก็เป็นเรื่องของค่าจ้างเงินเดือน ซึ่งถ้าบริษัทมีความสามารถในการจ่ายมากพอ ก็น่าจะมีการกำหนดอัตราเงินเดือนสำหรับการเริ่มจ้างพนักงานใหม่ในอัตราที่สูงกว่าตลาด หรือสูงกว่าที่อื่นๆ ที่เขาจ่ายกันสักเล็กน้อย เพื่อเป็นเครื่องมือในการดึงดูดพนักงานเข้ามาทำงานกับองค์กร และยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับค่าจ้างที่สูงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ ที่ใกล้เคียงกัน
  • หัวหน้างานสำคัญมาก บางครั้งเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนที่สูงกว่าตลาดก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะทำในให้พนักงานไม่คิดจะลาออก ประเด็นที่สำคัญกว่าเรื่องของเงินเดือน ก็คือ เรื่องของหัวหน้างานโดยตรงของพนักงาน ว่ามีทักษะในการเป็นหัวหน้างานที่ดีหรือไม่ เช่น ทัศนคติที่ดี นำทีมงานด้วยความใส่ใจ และเข้าใจพนักงาน เวลาพนักงานทำดี ก็ชมเชยอย่างจริงใจ เวลาพนักงานผลงานไม่ดีก็บอก และสอนวิธีที่ดีให้ ฯลฯ แบบนี้พนักงานเองก็คงไม่อยากจะลาออกไปไหนถ้าเจอกับหัวหน้างานที่ใส่ใจ และเอาใจใส่พนักงานอย่างจริงจัง
  • ช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน นอกจากหัวหน้าที่ดีแล้ว เพื่อนร่วมงานที่ดี ก็มีผลทำให้พนักงานไม่อยากจะลาออกจากบริษัท เพราะที่อื่นอาจจะหาเพื่อนดีๆ แบบนี้ไม่ได้อีกก็เป็นได้ เมื่อพนักงานรู้ว่างานที่ตนเองทำสำคัญอย่างไร มีค่าจ้างเงินเดือนที่เหมาะสม มีหัวหน้างานที่ดี และมีเพื่อนร่วมงานที่ดีด้วย แบบนี้ก็แทบจะไม่ต้องคิดจะลาออกไปไหนแล้วครับ ดังนั้น หน้าที่ของหัวหน้างานโดยตรงอีกอย่างก็คือ การเป็นผู้นำทีม และทำให้พนักงานใหม่ได้รู้จักกับพนักงานเก่า และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันให้ได้
  • ทำให้งานสนุก เรื่องความความสนุกสนานในการทำงาน กลายเป็นเรื่องสำคัญในปัจจุบันนี้ไปแล้ว องค์กรที่ทำงานแล้วมีความสนุกสนานในการทำงานปนอยู่ด้วย พนักงานจะมีความรู้สึกที่ดี แม้ว่างานจะหนัก หรือเครียด แต่บรรยากาศในการทำงานเต็มไปด้วยความอบอุ่น ความสุข และความสนุกสนาน พนักงานก็จะมีความสุขในการทำงาน อยากมาทำงานทุกวัน เมื่อมีความสุขผลงานก็ดีขึ้น เมื่อผลงานดีขึ้น ค่าตอบแทนก็ดีขึ้น และก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานมากขึ้น การคิดจะลาออกก็คงน้อยลงไปอีกเช่นกัน

แนวทางข้างต้นที่กล่าวมานั้น จริงๆ แล้วเป็นแนวทางง่ายๆ ที่ทุกคน ทุกบริษัทสามารถนำไปใช้ได้ทันทีด้วยซ้ำไป เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว การบริหารคน ก็ต้องอาศัยความรู้สึกของคนเป็นตัวนำมากกว่า ที่จะไปอาศัยทฤษฎีอะไรมากมาย แต่เอามาใช้ยากมาก แค่ขอให้ทุกคนในองค์กรตระหนักในความสำคัญของทรัพยากรบุคคล และหัวหน้างานเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารคนมากขึ้น

ด้วยวิธีการเหล่านี้ ถ้าเราทำได้ พนักงานที่คิดจะลาออกก็จะน้อยลงไปอีกครับ




Create Date : 19 สิงหาคม 2557
Last Update : 20 สิงหาคม 2557 6:11:24 น. 0 comments
Counter : 1710 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]