HR Management and Self Leadership
<<
กันยายน 2556
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
16 กันยายน 2556

สิ่งดี ที่องค์กรไม่ค่อยปฏิบัติ ในการประเมินผลงาน

เรื่องราวของการประเมินผลงานนั้น มีความสลับซับซ้อน และมีความยุ่งยากสำหรับหลายๆ องค์กร ทั้งผู้บริหาร ฝ่ายบุคคล และพนักงาน ต่างก็ไม่ค่อยชอบเรื่องของการประเมินผลงานสักเท่าไหร่ แต่ก็ต้องทำ เพราะถือเป็นนโยบาย และสิ่งที่องค์กรจะต้องปฏิบัติ เพื่อที่จะได้นำผลที่ได้มาใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลต่อไป อย่างไรก็ดี การประเมินผลงานนั้นจะทำให้ดีขึ้นได้ แค่เพียงมีสิ่งต่อไปนี้ประกอบในระบบประเมินผลงานของบริษัท

สิ่งที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นสิ่งที่บริษัทไม่ค่อยจะสนใจทำสักเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะมันยาก และอาศัยเวลามากขึ้น แต่ถ้าเราทำได้ ก็จะทำให้ระบบประเมินผลงานมีความแม่นยำมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่ว่านี้มีอะไรบ้าง ลองมาดูกันนะครับ

  • มีการสอบเทียบผลการประเมินของหัวหน้างาน โดยทั่วไป การประเมินผลงานขององค์กรต่างๆ หัวหน้างานที่ดูแลพนักงานโดยตรงจะเป็นผู้ประเมินผลงานพนักงาน จากนั้นก็ส่งไปให้หัวหน้าที่สูงขึ้นไปอีก 1 ระดับเป็นคนพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่มีการตรวจสอบอะไรมากมาย สิ่งที่เรามองข้ามไปก็คือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การประเมินของหัวหน้างานคนนั้นเชื่อถือได้ มีความแม่นยำ ถูกต้องตรงตามผลงานของพนักงานจริงๆ ลองพิจารณาถึงเครื่องมือวัดต่างๆ ที่เราใช้ในองค์กรสิครับ เรายังต้องมีการสอบเทียบว่ามันเที่ยงตรงหรือไม่ ยังใช้ประเมินได้จริงๆ หรือไม่ แต่ทำไมหัวหน้าที่ประเมินผลงานลูกน้อง เราถึงไม่ค่อยสอบเทียบกันว่า การประเมินของหัวหน้านั้น เที่ยงตรงหรือไม่ ลักษณะของการสอบเทียบก็คือ จะต้องมีการตั้งกลุ่ม หรือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยหัวหน้างานที่อยู่ในลักษณะงานใกล้เคียงกัน เพื่อที่จะพิจารณาผลงานพนักงานในกลุ่มเดียวกัน ออกมาว่า เป็นอย่างไร โดยที่ผู้ประเมินแต่ละคนจะต้องช่วยกันพิจารณาว่า ผลการประเมินที่ออกมานั้น มันเป็นจริง ตามผลงานของพนักงานที่ทำออกมาหรือไม่ หรือเป็นการที่หัวหน้าคนนั้นมีอคติในการประเมิน และอาจจะมีการปรับแก้ผลการประเมินได้ ถ้าคณะกรรมการเห็นชอบร่วมกันว่า พนักงานคนนั้นมีผลการประเมินที่ไม่ตรงตามที่หัวหน้าประเมินมา ก็จะทำให้ผลการประเมินมีความเที่ยงตรงมากขึ้น
  • มีการประเมิน ผลการประเมินของผู้ประเมิน อย่าเพิ่งงงนะครับ เนื่องจากองค์กรต่างๆ ไม่เคยที่จะประเมินวิธีการประเมินผลงานของหัวหน้างานเลย ส่วนใหญ่ก็จะปล่อยผ่านไป โดยที่ไม่ได้ดูว่า ผู้ประเมินคนนั้นประเมินผลงานพนักงานออกมาได้เป็นธรรมหรือไม่ ผลงานที่ออกมาก็มักจะเป็นลักษณะที่หัวหน้างานให้คะแนนผลงานพนักงานแบบเฟ้อๆ ไว้ก่อน เพราะกลัวลูกน้องไม่รัก หรือไม่สนใจ ก็เลยให้คะแนนเยอะไว้ก่อน ซึ่งแปลว่า หัวหน้างานประเมินไม่เป็นธรรมนั่นเอง สิ่งที่จะต้องทำก็คือ หัวหน้าของผู้ประเมินจะต้องประเมินวิธีการประเมินผลงานของลูกน้องตนเองว่า เขาประเมินผลลูกน้องของเขาออกมาเป็นอย่างไร ตรงตามนโยบาย และวิธีการของบริษัทหรือไม่ ถ้าประเมินไม่ดี ผลงานของหัวหน้างานคนนั้นก็จะออกมาไม่ดีด้วย มีบางบริษัทใส่หัวข้อในการประเมินผลงานของคนที่เป็นผู้จัดการ ในเรื่องของ การประเมินผลงานลูกน้องด้วย ซึ่งก็จะทำให้คนที่ต้องประเมินผลงานพนักงาน จะต้องประเมินผลงานพนักงานอย่างระมัดระวังมากขึ้น และเป็นธรรมมากขึ้น เพราะมิฉะนั้นผลงานของตนเองก็จะไม่ดีไปด้วยนั่นเอง
  • ให้มีมาตรการที่แตกต่างสำหรับพนักงานที่ผลงานไม่ดี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีนักวิชาการทำวิจัยไว้มากมายว่า ถ้าเราสามารถเลิกจ้างพนักงานที่มีผลงานแย่ที่สุด 10% ขององค์กรได้ จะทำให้มีการหมุนเวียนเปลี่ยนพนักงานมือดีเข้ามา อีกทั้งยังทำให้พนักงานพยายามที่จะสร้างผลงานที่ดีอย่างต่อเนื่องอีกด้วย ดีกว่าการที่พนักงานผลงานไม่ดี ก็ไม่มีมาตรการอะไร พนักงานที่มีผลงานดี ก็จะรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ยิ่งถ้าองค์กรต้องการรักษาไว้ซึ่งคนเก่งด้วยแล้ว ยิ่งต้องมีมาตรการที่แตกต่างกันระหว่างคนที่มีผลงานดี และผลงานไม่ดี
  • การฝึกอบรมเรื่องการประเมินผลงาน องค์กรส่วนใหญ่มักจะจัดฝึกอบรมเรื่องการประเมินผลงานให้กับพนักงานที่ต้องทำหน้าที่ประเมินผลงานอยู่แล้ว เพียงแต่มักจะจัดอบรมแค่เพียงครั้งเดียวในชีวิตของการเป็นหัวหน้าที่ต้องประเมินผลงาน ซึ่งผลก็คือ ลืม และไม่เข้าใจเรื่องของการประเมินผลงานอย่างแท้จริง จริงๆ แล้วเรื่องนี้จะต้องจัดอบรมทุกปี เพื่อทบทวนแนวทาง วิธีการ และเพื่อปรับมาตรฐานการประเมินให้ใกล้เคียงกันมากขึ้นระหว่างหัวหน้างานแต่ละคน นอกจากนี้ คนที่มักจะถูกละเลย และไม่เคยเข้าใจเรื่องของระบบการประเมินผลงานเลยก็คือ “พนักงาน” ที่ถูกประเมินนั่นเอง เขาไม่ค่อยจะมีโอกาสได้รู้เลยว่า ตนเองถูกประเมินด้วยปัจจัยอะไรบ้าง มีวิธีการประเมินผลงานอย่างไรบ้าง จะต้องทำอย่างไรถ้าอยากให้ผลงานออกมาดี ดังนั้นถ้าจะจัดอบรม จะต้องอบรมทั้งคนประเมิน และคนที่ถูกประเมินด้วย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจระบบประเมินผลงานอย่างแท้จริง จะได้ไม่เกิดปัญหาในการประเมิน
  • การสื่อความเรื่องผลงานอย่างต่อเนื่อง อีกเรื่องหนึ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกันเลยก็คือ การสื่อความเรื่องของผลงานระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง และจะต้องเป็นการสื่อความอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีด้วย ไม่ใช่มาสื่อ หรือบอกให้ทราบผลการประเมินตอนปลายปีเท่านั้น การประเมินผลงานที่ดี หัวหน้ากับลูกน้องจะต้องคุยกันตั้งแต่ต้นปี ก็คือคุยเรื่องของเป้าหมายการทำงาน ความคาดหวังต่างๆ ในการทำงาน และในระหว่างปี ก็ต้องคุยกันตลอดเวลาว่า ผลงานที่ทำออกมานั้น เทียบกับเป้าหมายแล้ว เป็นอย่างไร ดี หรือไม่ดี จะต้องคอยให้ Feedback ผลงานแต่พนักงานอย่างสม่ำเสมอ ตอนปลายปีประเมินผล ก็ต้องสื่อความแจ้งผลงานกันโดยภาพรวม ถ้าเรามีการสื่อความกันอยู่อย่างสม่ำเสมอ ปัญหาเรื่องของการประเมินผลงานก็จะน้อยลง ผลการประเมินก็จะเป็นธรรม และสะท้อนผลงานของพนักงานแต่ละคนมากขึ้น

ทั้ง 5 ข้อข้างต้น เป็นสิ่งที่ดี ซึ่ง ถ้าเราทำให้เกิดขึ้นในองค์กรของเราได้ ก็จะทำให้ระบบการประเมินผลงานของเรามีความเป็นธรรมมากขึ้น เมื่อระบบมีความเป็นธรรม การที่จะนำเอาผลการประเมินไปใช้ในการบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารความก้าวหน้าทางสายอาชีพ หรือ การพัฒนาพนักงาน หรือแม้กระทั่งการให้รางวัลผลงานในรูปแบบต่างๆ ก็จะมีความเป็นธรรมมากขึ้นไปด้วย




Create Date : 16 กันยายน 2556
Last Update : 18 กันยายน 2556 7:30:53 น. 0 comments
Counter : 973 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]