HR Management and Self Leadership
<<
พฤศจิกายน 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
18 พฤศจิกายน 2556

Competency กับปัจจัยแห่งความสำเร็จในการนำไปใช้จริง

เรื่องของ Competency Based Human Resource นั้น เป็นเรื่องที่ปัจจุบัน หลายๆ บริษัทพยายามจะนำมาใช้เพื่อเป็นพื้นฐานของการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร ซึ่งโดยแนวคิดของตัวมันเองนั้น เป็นแนวคิดที่ดีมาก และถ้าสามารถนำไปใช้ได้ตามระบบที่วางไว้ ก็จะทำให้ระบบการพัฒนาและการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัทดีขึ้นได้ แต่ประเด็นก็คือ ระบบนี้เป็นระบบที่ใช้ยากพอสมควร เราลองมาดูกันว่า ถ้าอยากจะทำระบบ Competency ให้ประสบความสำเร็จจริงๆ จะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

การนำเอาระบบ Competency มาใช้ในองค์กร เป็นสิ่งที่ยุ่งยากมากเหมือนกัน หรือถ้าจะมองอีกมุมหนึ่งก็คือ เป็นเรื่องที่ท้าทายคนที่ทำงาน HR อย่างมากทีเดียว ลองมาดูกันนะครับว่า ถ้าเราจะทำระบบนี้ให้ประสบความสำเร็จในองค์กรจริงๆ แล้วจะต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

  • ต้องได้รับการเห็นชอบจาก CEO หรือผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กร ปัจจัยแรกสุดที่จะทำให้ระบบนี้ออกมาประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็คือ เบอร์หนึ่งขององค์กรจะต้องเปิดไฟเขียว และจะต้องให้การสนับสนุนอย่างดี ยิ่งไปกว่านั้นจะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ระบบ Competency นี้มีประโยชน์ต่อองค์กร และต่อพนักงานในองค์กรอย่างไรบ้าง และที่หลายๆ องค์กรพยายามสร้างระบบนี้แต่ไม่สำเร็จสักที ก็เพราะเบอร์หนึ่งบอกว่า โอเค แต่สุดท้ายก็ไม่เข้าใจมันจริงๆ และไม่มีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังนั่นเอง
  • Line Manager จะต้องให้ความร่วมมือด้วย ปัจจัยที่สองที่จะทำให้ระบบนี้สำเร็จได้อย่างจริงจังก็คือ ต้องทำให้กลุ่มผู้จัดการตามสายงาน (Line Manager) มีความเข้าใจ และมองเห็นความสำคัญของ Competency อย่างแท้จริง เพราะคนกลุ่มนี้เป็นคนใช้งานจริงๆ ไม่ใช่ HR เนื่องจากผู้จัดการจะต้องดูแลลูกน้องของตนเอง ใครเป็นอย่างไร ดีไม่ดี หรือต้องพัฒนาอะไรบ้างนั้น ผู้จัดการจะต้องเป็นคนพิจารณาและวางแผนการพัฒนาให้กับลูกน้องของตนเองเป็นหลัก ดังนั้น เรื่องของ Competency มักจะไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะ Line Manager มองไม่เห็นความสำคัญ อีกทั้งยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เขาเสียเวลาทำงาน เพราะจะต้องใช้เวลามากมายในการประเมินว่าพนักงานแต่ละคนอยู่ตรงไหน ประเมินเสร็จแล้วก็ต้องมานั่งวางแผนการพัฒนาให้พนักงานแต่ละคนใน Competency แต่ละตัวอีก แล้วจะเอาเวลาที่ไหนไปทำงาน นี่คือมุมมองของผู้จัดการส่วนใหญ่
  • ผู้จัดการและหัวหน้างานทุกระดับต้องเปลี่ยนทัศนคติเรื่องคน ปัจจัยถัดไปก็คือ หัวหน้างาน และผู้จัดการทุกระดับจะต้องเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของการบริหารคนใหม่ จะต้องมองให้ออกว่า เราอยากให้พนักงานแต่ละคนสร้างผลงานอะไรบ้าง และการที่พนักงานแต่ละคนจะสร้างผลงานให้ได้ตามที่เราคาดหวังไว้นั้น จะต้องถูกพัฒนาอะไรบ้าง ทั้งทางด้าน ความรู้ ทักษะ และพฤติกรรม เพื่อส่งเสริมให้พนักงานสร้างผลงานให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นั่นแปลว่า ผู้จัดการทุกคนจะต้องมองคนโดยเน้นไปที่เรื่องของการพัฒนาคนเป็นหลัก
  • เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ระบบ Competency นี้เป็นระบบที่ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบเลย แต่เป็นระบบที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่ทำวันเดียวจะสำเร็จได้ จะต้องอาศัยเวลาอย่างมากในการสร้างระบบ และฝังระบบนี้ให้เป็นพื้นฐานขององค์กร บางองค์กร จ้างที่ปรึกษาเข้ามาทำจนเสร็จ แต่ก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้จริง เนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงาน และผู้จัดการของหน่วยงานเลย อีกทั้งก็มองว่าเป็นแค่เพียงเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลงานเท่านั้น บางคนก็มองว่าเป็นแค่เพียงแฟชั่น ที่คนอื่นทำ เราก็ทำบ้าง แต่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย สุดท้ายระบบนี้ก็ล้มและไม่ประสบความสำเร็จได้เลย
  • เริ่มต้นแบบง่ายๆ ก่อน เนื่องจาก Competency เป็นเรื่องที่จะต้องทำกันอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ ถ้าเป้าหมายองค์กรมีการเปลี่ยนแปลงไป ตัว Competency ก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้น ถ้าเราอยากจะให้ระบบนี้สำเร็จได้ ก็ต้องเริ่มต้นจากง่ายๆ ก่อน ก็คือ อาจจะเริ่มจาก Core Competency ก่อน โดยกำหนดประมาณ 3-5 ตัว และพยายามนำเอา Core ไปประยุกต์ใช้ให้ได้ โดยสร้างการยอมรับ และความร่วมมือจากผู้บริหารทุกระดับ เมื่อเกิดความคุ้นเคยแล้ว ก็ค่อยๆ ขยายไปเป็น Managerial และ Functional ต่อไป แต่สิ่งที่ผมเห็นมาก็คือ สร้างระบบเสียใหญ่โต มี Competency มากมายหลายตัว มีวิธีการที่ซับซ้อน เข้าใจยาก ฯลฯ ก็เลยทำให้ผู้บริหารและหัวหน้างานรู้สึกถึงความยาก เป็นภาระ ก็เลยไม่อยากใช้มัน สุดท้ายก็ไม่สำเร็จครับ

ถ้าบริษัทของท่านอยากใช้ระบบ Competency นี้อย่างจริงจัง และต้องการเอาระบบนี้ไปใช้ในกาบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง ฝ่ายบุคคลที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็คงต้องขายความคิดให้ CEO เห็นความสำคัญ และต้องรู้สึกไปกับมันด้วย จากนั้น CEO ก็จะเป็นผู้ที่ช่วย HR ในการผลักดันระบบนี้ให้สำเร็จ

พนักงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ กลุ่มผู้จัดการ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญอย่างมากในการทำให้ระบบนี้ประสบความสำเร็จ HR จะต้องทำให้ผู้จัดการทุกคนของบริษัทเข้าใจ และเห็นความสำคัญของระบบนี้ และนำระบบนี้ไปใช้ในการพัฒนาพนักงานของตนเองอย่างจริงจัง ไม่ใช่ใช้แค่เป็นแฟชั่น หรือ เขาสั่งมาให้ใช้ก็ใช้ ถ้าเป็นแบบนี้ ทำให้ตายระบบนี้ก็ไม่มีทางสำเร็จได้เลย




Create Date : 18 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2556 7:13:22 น. 0 comments
Counter : 1144 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]