HR Management and Self Leadership
<<
สิงหาคม 2557
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
5 สิงหาคม 2557

แนวทางการบริหารพนักงานที่เป็น Deadwood

talented people

เมื่อวานนี้ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพนักงานที่จัดอยู่ในกลุ่มที่เรียกกว่า Deadwood นั้นมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ถ้าพูดกันอย่างง่ายๆ ก็คือพนักงานที่ไม่ได้สร้างผลงานอะไรให้กับบริษัทเลย และไม่มีศักยภาพในการที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคตได้อีกเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นพนักงานที่เข้าข่ายทำให้บริษัทเกิดปัญหาในอนาคตได้อีกด้วย แล้วแนวทางในการบริหารจัดการพนักงานกลุ่มนี้ เราจะมีวิธีการอย่างไรกันบ้าง

  • ให้ออกจากงาน วิธีแรกที่ธุรกิจนิยมทำกันก็คือ ในเมื่อพนักงานคนนี้ไม่มีผลงาน และแถมยังพัฒนาไม่ได้แล้วในองค์กร แล้วองค์กรจะเก็บพนักงานคนนี้ให้เขากินเงินเดือนอยู่ทุกเดือนโดยไม่สร้างผลงานอะไรให้กับองค์กรเลยหรือ เราจะเลี้ยงพนักงานแบบนี้ไว้จริงๆ หรือ ถ้าบริษัทหรือองค์กรเลือกที่จะเลี้ยงพนักงานที่เป็น Deadwood ไว้จริงๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ พนักงานที่เป็น Star จะรู้สึกไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าองค์กรประกาศอย่างชัดเจนว่า จะบริหารคนโดยเน้นเรื่องของการทำผลงาน แต่นี่พนักงานไม่มีผลงาน ทำไมถึงยังรักษาไว้อีก บางองค์กรบอกว่า ไม่สามารถให้ออกได้ แต่ผมกลับมองว่า กฎระเบียบทุกที่มีการกำหนดเรื่องของการเลิกจ้างไว้อย่างชัดเจน ขอให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ปัญหาในการบริหารจัดการคนก็จะน้อยลง มิฉะนั้นท่านจะทำให้คนที่ทำงาน สร้างผลงานที่ดี รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในการบริหารจัดการคนขององค์กร
  • โอนย้ายงานภายในองค์กร วิธีที่สองที่นิยมทำกันในกรณีที่ไม่สามารถให้พนักงานออกจากงานได้จริงๆ ก็คือ การโอนย้ายพนักงานไปทำงานอื่นที่เขาชอบ หรือถนัดมากกว่า แต่วิธีนี้จะต้องศึกษา และวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของพนักงานคนนั้นอย่างดีก่อนนะครับ มิฉะนั้นแล้ว จะไปสร้างปัญหาให้กับหน่วยงานอื่นมากกว่า ในบางกรณีพนักงาน ที่เป็น Deadwood นั้น อาจจะเป็น Deadwood ที่หน่วยงานของเราเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากเจองานที่ไม่ชอบ เจอนายที่ไม่ใช่ หรืออาจจะไม่มีความถนัดในการทำงานนั้นๆ จริงๆ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ เราก็ยังสามารถที่จะหาจุดแข็ง และหาสิ่งที่พนักงานชอบให้เจอ จากนั้นก็คุยกัน หารือกัน เพื่อที่จะทำให้ผลงานของพนักงานดีขึ้น องค์กรเองย่อมต้องการผลงานที่มีมูลค่าเพิ่มจากพนักงานที่จ้างมาทำงาน และเมื่อเจอสิ่งที่พนักงานชอบ และถนัดแล้ว เราก็ทำเรื่องโอนย้ายงานไปยังหน่วยงานที่เขาทำงานได้ดีกว่า แนวคิดนี้นายผมมักจะบอกว่า "อย่าเพิ่งมองว่าพนักงานเป็น Deadwood จริงๆ ให้มองมาที่ตัวเราเองด้วยว่า ดินของหน่วยงานเราอาจจะไม่เหมาะกับต้นไม้ต้นนี้ก็ได้ ดังนั้น ย้ายต้นไม้ต้นนี้ไปยังดินที่เหมาะสมกว่า ก็น่าจะทำให้ต้นไม้ต้นนี้เจริญงอกงามและออกดอกออกผลได้จริงๆ"
  • วางแผนพัฒนาพนักงานอย่างจริงจัง วิธีที่สาม เป็นแนวคิดของบางองค์กรซึ่งคิดว่า คนเราทุกคนล้วนพัฒนาได้ จะเร็วหรือช้า ก็แล้วแต่บุคคลไป ดังนั้นคนที่เรามองว่าเขาเป็น Deadwood นั้น อาจจะเป็นที่องค์กรที่ไม่ได้ใส่ใจดูแลเขาอย่างดี จนทำให้เขาไม่สามารถที่จะทำงานได้เต็มความสามารถที่เขามี ดังนั้น ก็ต้องมีการวางแผนการพัฒนาร่วมกับพนักงานคนนั้น โดยคุยกันว่า องค์กรคาดหวังอะไร และพนักงานจะต้องทำอะไร จากนั้นก็มาพิจารณาว่า พนักงานยังขาดความรู้ ทักษะ และความสามารถด้านอื่นๆ อะไรบ้างที่จะมาส่งเสริมให้การทำงานได้ตามเป้าหมาย หรือได้ตามที่คาดหวังไว้ จากนั้นหัวหน้าเองก็คงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดจริงๆ เพื่อดูผลการพัฒนาว่ามีความคืบหน้าสักเพียงใด อย่าลืมว่า คนที่เป็น Deadwood นั้น เราต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษจริงๆ ถ้าเราต้องการให้เขามีผลงานที่ดีขึ้น และไม่ใช่พวก Deadwood อีกต่อไป
  • บริหารค่าจ้างเงินเดือนให้เหมาะสม วิธีการบริหารค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานที่จัดอยู่ในกลุ่ม Deadwood นั้นโดยปกติพนักงานคนนี้จะไม่สร้างผลงานอะไรให้กับองค์กรอีกแล้ว ดังนั้น เรื่องของรางวัลการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเงินเดือนตามผลงาน โบนัสตามผลงาน พนักงานกลุ่มนี้ก็ไม่ควรจะได้รับ เพราะผลงานไม่มีจริงๆ ถ้าองค์กรยังยืนกรานจะให้ ก็คงต้องระวังพนักงานที่ทำผลงานจริงๆ กลุ่มนี้จะเกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมทันที เพราะพวกไม่ทำผลงานอะไรเลยยังได้เงินเดือนขึ้น แถมยังได้โบนัสอีก ส่วนพวกทำงาน ก็ได้ไปตามปกติ ถ้าทำแบบนี้ไปสักพัก คนที่เป็นคนทำงานดีๆ ก็อาจจะหมดกำลังใจในการทำงานได้ หรือถ้ายังมีแรงทำงานต่อ ก็อาจจะไปสร้างผลงานให้กับองค์กรอื่นมากกว่าที่จะอยู่กับองค์กรที่ไม่สนใจเรื่องของผลงานพนักงานจริงๆ บางองค์กรก็อ้างว่า ราคาสินค้าแพงขึ้นตลอด ถ้าไม่ขึ้นเงินเดือนให้ เดี๋ยวพนักงานจะรู้สีกไม่ดี ผมถามนิดว่า จริงๆ แล้วองค์กรของเราเน้นการสร้างผลงานจริงๆ หรือเปล่า หรือองค์กรเราเป็นมูลนิธิที่ดูแลพนักงานโดยไม่สนใจว่าใครจะทำผลงานอย่างไร ถ้าเราเป็นองค์กรที่เน้นการสร้างผลงานที่ดี พนักงานก็ต้องมาทำงาน โดยทำผลงานที่ดี และตรงตามที่องค์กรคาดหวังไว้ด้วย แล้วองค์กรก็จะตอบแทนพนักงานด้วยระบบการให้รางวัลตามผลงานแบบตรงไปตรงมา ใครไม่มีผลงานอะไร ก็ไม่ได้อะไร ใครมีผลงานที่ดี ก็ให้เยอะหน่อย แบบนี้ผมว่าเป็นธรรมในการทำงานอยู่แล้วครับ

โดยสรุปแล้ว ก็คงต้องอยู่ที่นโยบายของบริษัทว่า เราจะมีวิธีการในการบริหารจัดการพนักงานที่เป็น Deadwood ได้อย่างไร ด้วยวิธีการใด ประเด็นที่สำคัญก็คือ นโยบายที่กำหนดขึ้นมาสำหรับพนักงานกลุ่มนี้ จะต้องไม่ไปทำให้นโยบายการบริหารคนเก่งขององค์กรมีปัญหาตามมาด้วย

จริงๆ แล้วองค์กรต้องการคนเก่ง ต้องการเก็บรักษาคนเก่งๆ ไว้ เพื่อสร้างผลงาน แต่ในทางปฏิบัติกลับกลายเป็นว่า คนเก่งๆ กลับไม่ได้อะไรที่โดดเด่น แต่คนไม่เก่งกลับได้ในสิ่งที่ไม่ควรจะได้ ผลก็คือ คนเก่งก็ไม่อยู่ทำงาน สุดท้ายองค์กรของท่าน ก็อาจจะมีแต่ Deadwood เต็มไปหมดก็เป็นได้นะครับ




Create Date : 05 สิงหาคม 2557
Last Update : 6 สิงหาคม 2557 7:12:28 น. 0 comments
Counter : 2307 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]