HR Management and Self Leadership
<<
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
23 มิถุนายน 2558

อยากโต หรือไม่อยากโต อยากพัฒนา หรือไม่อยากพัฒนา

อ่านชื่อบทความวันนี้แล้วคงจะงงๆ นิดๆ นะครับ เรื่องราวมีอยู่ว่า มีผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่ง มาบ่นให้ฟังว่า ในบริษัทมีพนักงานที่แบบว่า ทำยังไงก็ไม่อยากเติบโตไปไหน จะส่งให้ไปเรียน และพัฒนา ก็ไม่อยากจะพัฒนาอะไร และที่บริษัทเองก็มีการใช้ IDP ซึ่งพนักงานคนกลุ่มนี้ ก็ไม่สนใจอะไรเลย Career Path ที่มีก็ไม่สน ทั้งๆ ที่ก็ยังอยู่ในวัยที่สามารถเติบโตไปได้อีกไกล แต่สิ่งที่ยังอยากอยู่ก็คือ อยากได้เงินเดือนขึ้นไปตลอด ถ้าท่านเองเจอกับพนักงานแบบนี้ จะทำยังไงดีครับ

โดยปกติแล้ว เรามักจะพบเจอกับพนักงานที่ต้องการจะเติบโต มีคำถามไปที่หัวหน้างาน และไปที่ฝ่ายบุคคลอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไหร่จึงจะได้เติบโตตามตำแหน่งหน้าที่ และจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถึงจะเติบโตไปได้ตามเส้นทางที่พนักงานต้องการ ซึ่งเราเองก็มุ่งเน้นและคิดไปในทางเดียวกันว่า พนักงานทุกคนเมื่อเข้ามาทำงานในองค์กรแล้ว ต่างก็อยากที่จะเติบโตทั้งสิ้น

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็ยังมีพนักงานที่ไม่ต้องการจะเติบโตไปไหน อยากอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ขออย่างเดียว ก็คือขอให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นทุกปี เราลองมาดูพนักงานกลุ่มต่างๆ ที่ผมได้ลองวิเคราะห์และทำขึ้นเป็น Model ตามรูปข้างล่างนะครับ


  • กลุ่มที่ 1 คือ พนักงานที่ต้องการเติบโต และต้องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พนักงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่องค์กรต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะองค์กรสมัยใหม่ที่เน้นไปที่การสร้างผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง องค์กรต้องการพนักงานกลุ่มนี้ เนื่องจากจะได้มาพัฒนาบริษัทให้เติบโต โดยที่ตัวพนักงานเองก็สามารถที่จะเติบโตไปพร้อมกับบริษัทได้ด้วย ดังนั้นพนักงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เราสามารถใช้ Career Path ในการวางแผนเส้นทางความก้าวหน้าได้อย่างดี และสามารถใช้ IDP (Individual Development Plan) เพื่อประกอบการวางแผนการพัฒนา ซึ่งตัวพนักงานเองก็จะรู้สึกมีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง เพราะรู้ว่า ถ้าตนเองเก่งขึ้น ก็จะเติบโตขึ้นได้ด้วยเช่นกัน โดยระบบค่าตอบแทนก็ต้องเน้นไปที่ผลงานเป็นหลัก ที่เรียกว่า Pay for Performance กันเลย และถ้าสามารถทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องด้วยแล้ว ก็สามารถเร่งอัตราการขึ้นเงินเดือนให้เร็วขึ้นได้ เมื่อทุกอย่างลงตัวแบบนี้ได้ พนักงานกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกมีความสุข และทำงานที่ท้าทายมากขึ้นได้เรื่อยๆ รวมทั้งได้เติบโตไปตามเส้นทางสายอาชีพของบริษัทที่กำหนดไว้ ด้วยเส้นทางการพัฒนาที่ชัดเจน
  • กลุ่มที่ 2 พนักงานที่ต้องการพัฒนาตนเอง แต่ไม่ต้องการเติบโตขึ้นไป พนักงานกลุ่มนี้ จะเป็นพนักงานที่ชอบที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เวลาที่บริษัทส่งไปฝึกอบรม จะรู้สึกดีใจมาก เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เวลาได้รับมอบหมายงานใหม่ๆ ก็จะพยายามศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อทำงานที่ท้าทายนั้นให้ได้ แต่ปัญหาก็คือ พนักงานกลุ่มนี้ ไม่อยากที่จะเติบโต ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังขาดความมั่นใจในตนเองที่จะต้องก้าวขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น กลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวว่าถ้าโตขึ้นไปแล้ว ผลงานจะแย่ลง พนักงานกลุ่มนี้ หัวหน้างานจะต้องเข้ามาช่วย Coach ในมุมของทัศนคติในการทำงาน โดยการสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นในตนเองให้มากขึ้น เราสามารถใช้ IDP ได้ดีกับพนักงานกลุ่มนี้ แต่อาจจะยังไม่สามารถวางแผน Career ได้ชัดเจนนักเพราะพนักงานเองจะตอบว่า ยังไม่ได้คิดว่าจะโตไปไหน เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนก็บริหารตามปกติ ตามมาตรฐานของผลงาน
  • กลุ่มที่ 3 พนักงานที่ต้องการเติบโต แต่ไม่ต้องการพัฒนาตนเอง พนักงานกลุ่มนี้ถือว่าเป็นคนช่างฝันคนหนึ่ง ฝันว่าตนเองจะได้ดำรงตำแหน่งใหญ่โต แต่ไม่เคยคิดที่จะพัฒนาตนเองเลย ซึ่งมีอยู่สองลักษณะก็คือ หนึ่งคิดไปเองว่าตนเองมีความรู้ทุกอย่างในระดับที่ดีมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรอีกต่อไป และสอง ก็คืออยากอยู่ใน Comfort Zone ไม่อยากยุ่งยาก เหนื่อยยาก อยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็ดีแล้ว ไม่ต้องไปพัฒนาอะไรให้มันลำบากชีวิตตัวเอง พนักงานกลุ่มนี้ เรื่องของ IDP อาจจะใช้ยากหน่อย การวางแผนพัฒนา และการฝึกอบรม ก็จะเป็นอะไรที่ไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่นัก แต่มักจะเรียกร้องเรื่องของการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้น ซึ่งคล้ายๆ กับระบบ Career Path ของบางองค์กรที่มีการเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อยๆ แต่งานยังคงเหมือนเดิมทุกประการ ลักษณะนี้ไม่ค่อยเป็นคุณแก่องค์กรสักเท่าไหร่ พนักงานกลุ่มนี้ เรื่องของค่าจ้างก็คงต้องขึ้นเงินเดือนในอัตราช้าลง เพราะยังไม่เห็นว่าจะมีมูลค่าเพิ่มในเรื่องของผลงานและความสามารถตรงไหน
  • กลุ่มที่ 4 พนักงานที่ไม่ต้องการเติบโต และไม่ต้องการได้รับการพัฒนาใดๆ พนักงานกลุ่มนี้ไม่ต้องการอะไรเลย เข้ามาทำงานก็อยากทำงานในแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปีก็ตาม มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาก็ไม่ต้องการที่จะพัฒนาอะไร หัวหน้าเองก็พยายามที่จะวางแผนพัฒนาให้ แต่พนักงานกลับบอกว่า ปล่อยให้เขาอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ดีแล้ว ไม่ต้องพัฒนาอะไรหรอก อีกทั้ง ไม่ต้องการที่จะเลื่อนระดับ หรือเลื่อนตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น พนักงานกลุ่มนี้ เราจะไม่สามารถที่จะใช้เครื่องมือในการพัฒนาใดๆ กับเขาได้เลย เพราะใจของพนักงานไม่อยากพัฒนา และไม่อยากเติบโตแล้ว ดังนั้นเรื่องของการบริหารค่าตอบแทน ก็คงต้องขึ้นเงินเดือนแบบชะลอตัวลง หรือไม่ก็ต้องหยุดเงินเดือนในกรณีที่เงินเดือนชนเพดานเงินเดือน ด้วยเหตุผลที่ว่า พนักงานไม่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นนั่นเอง

เมื่อเราสามารถแบ่งพนักงานออกมาเป็น 4 กลุ่มคร่าวๆ แล้ว ก็น่าจะพอบอกได้ว่า ใครที่เราสามารถที่จะลงทุนเพื่อที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้อย่างดี ใครที่ไม่ควรไปลงทุนให้มากนัก เพราะเจ้าตัวเองก็ไม่อยากที่จะได้รับการพัฒนาอะไร

ถ้าบริษัทของเราลงทุนเรื่องของการพัฒนาคนอย่างมากมาย แต่ไม่ค่อยได้ผล ลองพิจารณาดูเล่นๆ ก็ได้ครับว่า พนักงานของเราเองส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มไหน เราอาจจะมีพนักงานกลุ่มใหญ่ที่อยู่ในกลุ่ม 3 และ 4 ก็เป็นได้ ที่ไม่สนใจเรื่องของการพัฒนาตนเองเลย

น่าจะได้คำตอบกันนะครับว่า IDP และ Career Path ที่เราพยายามจะสร้างขึ้นมานั้น ทำไมมันถึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ได้ดีกับพนักงานทุกคน ทุกกลุ่ม ตอนนี้ก็น่าจะพอบอกได้ว่ากลุ่มไหนที่เอามาใช้งานได้ดีกว่ากัน ก็เลือกให้ถูกคนครับ แล้วเครื่องจะส่งเสริมคนให้ไปได้ดีครับ




Create Date : 23 มิถุนายน 2558
Last Update : 24 มิถุนายน 2558 5:54:04 น. 0 comments
Counter : 1599 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

singhip
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 72 คน [?]




ประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ที่ปรึกษาทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล
และการพัฒนาภาวะผู้นำ

วางระบบการบริหารค่าจ้างเงินเดือน ระบบบริหารผลงาน และระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
[Add singhip's blog to your web]