happy memories
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2558
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
19 สิงหาคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒๒๖





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










ศิลปกรรมเทิดพระเกียรติ...แม่ของแผ่นดิน ครั้งที่ ๒o



เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คุณหญิงทิพยวรรณ ตันตกิตติ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ และอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส หัวหน้ากลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ จัดงานแสดงนิทรรศการภาพวาด "ศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ ๒o" ขึ้น ระหว่างวันที่ ๒o สิงหาคม ถึง ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑o.oo – ๒o.oo น. ณ ห้องโถงชั้นลอย โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ เพื่อนำเงินรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย


ในการนี้ สภากาชาดไทย ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ในวันพฤหัสบดีที่ ๒o สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.oo น.พร้อมทั้งทรงพระกรุณาประทานภาพวาดฝีพระหัตถ์ ร่วมแสดงในงานจำนวน ๔ ภาพ






ด้วยภารกิจของสภากาชาดไทยในการบรรเทาทุกข์ บำรุงสุข บำบัดโรค กำจัดภัย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และผู้ทุกข์ยากในสังคมทั่วประเทศผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการ "ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดรักษาโรคทางโลหิตวิทยา", โครงการ "เปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออติกแบบผ่านท่อ ทางผนังหัวใจห้องล่างซ้าย", โครงการ "ผ่าตัดปลูกถ่ายไต", โครงการ "ผ่าตัดแก้ไขจอตาลอกหลุด", โครงการ "ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งกระดูกด้วยข้อโลหะเทียมชนิดพิเศษ", โครงการ "ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งทางนรีเวชวิทยาด้วยหุ่นยนต์", โครงการ "รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีขั้นสูง" (มะเร็งโพรงจมูก, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งสมอง, มะเร็งปอด, มะเร็งเต้านม) เป็นต้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีเป็นจำนวนมาก กลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ โดยอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส จึงได้ริเริ่มจัดงานแสดงภาพวาด "นิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ" ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เพื่อนำเงินรายได้สนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย และได้จัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการจัดงานครั้งที่ ๒o นี้ กลุ่มศิลปินอิสระ’๙๖ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนผลงานของศิลปินทั้งศิลปินอาชีพและศิลปินสมัครเล่นให้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดตามแนวคิดและจินตนาการใหม่ ๆ โดยมีผลงานภาพวาดที่ใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ อาทิ สีน้ำ สีน้ำมัน สีอะคริลิค จิตรกรรมลายเส้น ภาพ Abstract และรูปปั้นประติมากรรมต่าง ๆ มาแสดงในงาน


นอกจากนี้ทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา ๑๓.oo น. ศิลปินได้จัดให้มีกิจกรรม Work Shop การเพ้นท์หมวกให้กับผู้สนใจ โดยได้รับเกียรติจากศิลปินผู้มีความชำนาญในงานศิลปะด้านต่าง ๆ หลากหลายท่านมาให้ความรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ยกเว้นค่าอุปกรณ์ อาทิ ค่าพู่กัน, ค่าเฟรมวาดภาพ เป็นต้น)


สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้สนใจ รวมทั้งบริษัท ห้างร้าน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าชมงานนิทรรศการศิลปกรรมเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครั้งที่ ๒o ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒o สิงหาคม ถึง วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๘ ตั้งแต่เวลา ๑o.oo – ๒o.oo น. ณ ห้องโถงชั้นลอย โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม Work Shop ภายในงาน และประสงค์จะร่วมกิจกรรมเป็นหมู่คณะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานจัดหารายได้ โทรศัพท์ o-๒๒๕๖-๔๔๔o, o-๒๒๕๕- ๙๙๑๑ หรือ เว็บไซต์ redcrossfundraising.org และที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพ โทรศัพท์ o-๒๒๓๓-๗o๖o-๙



























































ภาพและข้อมูลจาก
redcrossfundraising.org














หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ตามรอย 'พระพันวัสสาฯ-พระเทพฯ'



หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ตั้งกลางใจเมือง จ.เชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้ด้านประวัติ ศาสตร์และมรดกศิลปวัฒนธรรมล้านนา ขณะนี้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ เรื่อง "ศรีสวรินทิราราชกรณียานุกิจ สิรินธรพินิจราชกรณียานุการ" เปิดให้ประชาชน โดยเฉพาะชาวเชียงใหม่ได้ชมพระราชประวัติ ศึกษาพระราชกรณียกิจที่เป็นแบบอย่างที่ดีของ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า นับเป็นโอกาสดี ไม่ต้องเดินทางมาถึงพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ณ วังสระปทุม กรุงเทพฯ งานนี้จัดโดยมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ เรื่อง "ศรีสวรินทิราราชกรณียานุกิจ สิรินธรพินิจราชกรณียานุการ" เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร พร้อมด้วยคณะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ


เนื้อหาของนิทรรศการ ส่วนแรกคือ สว่างวัฒน์เทพรัตนานุประวัติ แสดงพระราชประวัติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสืบสายพระบรมราชจักรีวงศ์และราชสกุลมหิดล และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตามรอยพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และพระราชบุพการี






ส่วนที่ ๒ คือ พันวัสสาราชปนัดดาราชกรณียานุวัตร แสดงพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองและชาวไทย ตามรอยพระยุคลบาท สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ซึ่งองค์การศึกษาวิท ยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศเฉลิมพระเกียรติคุณให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ในด้านสาธารณสุข วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ในวาระ ๑๕o ปี พระราชสมภพ


บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติครั้งนี้เป็นนิทรรศการสัญจร หมุนเวียนไปจัดแสดง ๕ ภูมิภาค คือ จ.ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และประจวบคีรีขันธ์ แสดงให้ว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชปนัดดาพระองค์ที่ ๔ ในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระพันวัสสาฯ ในภาคเหนือ ทั้งด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และยังทรงสนับสนุนให้เด็กไทยได้เรียนหนังสือ สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการอนุรักษ์เอกลักษณ์ท้องถิ่น มีพระราชดำริให้ศึกษาค้นคว้า สนับสนุนโครงการตามพระราชดำริที่สอดคล้องกับการส่งเสริมอาชีพ


"มีรับสั่งระหว่างทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการพระราชดำริต่าง ๆ หรือสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติไว้ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์และเป็นต้นแบบที่ดีได้ ประชาชนควรนำไปต่อยอด ใช้เป็นแนวทางในการทำงานให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพสู่ชุมชนในท้องถิ่น โดยใช้การเกษตรสร้างรายได้ ผ่านการค้นคว้า ทดลองของพระองค์ ขณะที่การทำงานของกรมศิลปากร มีรับสั่งถึงการบูรณะโบราณสถาน แม้มีการพัฒนาไปตามกาลเวลา อะไรที่ควรจะต้องอนุรักษ์ไว้เป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลัง ควรต้องทำ รวมทั้งอนุรักษ์รูปแบบและวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างด้วย ทรงยกตัวอย่างเมื่อครั้งทรงเป็นประธานในการบูรณะพระบรมมหาราชวัง ทรงเก็บตัวอย่างกระจกเกรียบไว้เป็นต้นแบบของการบูรณะ เวลาผ่านไปมีการเปลี่ยนแปลงใช้วัสดุอื่นขึ้นทดแทน แต่ต้องเก็บรักษารูปแบบของดั้งเดิมไว้ด้วย" บวรเวทกล่าว






ด้าน ศิริพร ภาณุรัตน์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เชียงใหม่ กล่าวว่า สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเป็นการส่วนพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ครั้งนั้นทรงสนพระราชหฤทัยในวิถีชีวิตของผู้คน การหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น และระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงตามรอยพระองค์ท่าน แม้พื้นที่อยู่ในหุบเขาแสนไกล ลำบากอย่างไร ก็เสด็จฯ ไปถึง


"สมเด็จพระพันวัสสาฯ เสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาลโรคเรื้อนของสถาบันแมคเคนในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ทรงรู้กระเบาเป็นสมุนไพรรักษาโรคเรื้อนได้ จึงส่งเสริมให้ปลูกเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ สมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นเหลน ทรงสืบสานพระราช


ปณิธานสมเด็จย่าทวด อย่างเรื่องที่พระราชทานพระราชดำริให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงศึกษาทดลองปลูกชาน้ำมันสายพันธุ์จีน ใน จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ ทำให้ราษฎรที่ปลูกชาน้ำมันมีรายได้เพิ่ม จนเกิดศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน พัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มากมาย ในนิทรรศการก็จัดแสดงให้ชม" หน.หอจดหมายเหตุฯ เชียงใหม่ กล่าว






หรือเมื่อ 100 กว่าปีก่อน สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงช่วยเหลือผู้พิการ พระราชทานขาเทียมสั่งจากญี่ปุ่น ปัจจุบัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิขาเทียมฯ จัดฝึกอบรมช่างทำขาเทียมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั้งนี้ เนื้อหาของนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติด้านการศึกษา สะท้อนพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเทพฯ ต่อนักเรียนผู้บกพร่องทางร่างกาย เสด็จฯ เยี่ยมโรงเรียนสอนผู้พิการทางสายตา โรงเรียนโสตศึกษา จ.เชียงใหม่ ด้วย


ภายในนิทรรศการยังได้ยกแปลงพืชผักและร้าน "จันกะผัก" โครงการพระราชดำริสำคัญที่ประสบผลสำเร็จในการอนุรักษ์พืชพรรณไม่ให้สูญพันธุ์ไว้ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ศิริพรชวนมาเรียนรู้เรื่องราวการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกร งานนี้ ประชาชนสามารถมาเขียนไปรษณียบัตรหรือจะบันทึกเรื่องราวความรู้ ความทรงจำดีื ๆ ที่ได้รับจากการเยี่ยมชมนิทรรศการอันเป็นการตามรอยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นแบบอย่างของเจ้าฟ้านักบันทึก เป็นพระราชจริยวัตรที่คนไทยเห็นจนชินตา เวลาเสด็จฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ


ตลอดจนมายลสิ่งของใช้ส่วนพระองค์ (จำ ลอง) ทั้งเครื่องเขียน ดินสอสี และเครื่องดนตรี ซอทำจากกระป๋อง แสดงถึงทรงประหยัด มัธยัสถ์ อีกทั้งพระฉายาลักษณ์ และภาพเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของทั้งสองพระองค์ สมเด็จพระพันวัสสาฯ และ สมเด็จพระเทพฯ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ กำหนดจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๘-๓o ส.ค. ๒๕๕๘ เท่านั้น ก่อนสัญจรไปนครราชสีมาเดือนกันยายน.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
FB เรารัก "สมเด็จพระเทพฯ"














วิถีแห่งไหม วิถีไทย เทิดไท้ราชินี



ททท. ร่วมกับศูนย์การค้าสยามพารากอน นำเสนอเอกลักษณ์ผ้าไหม เชื่อมโยงท่องเที่ยววิถีไทยในงาน “วิถีแห่งไหม วิถีไทย เทิดไท้ราชินี” ที่จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในเดือนแห่งวันแม่


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ชวนเที่ยวงาน “งานวิถีแห่งไหม วิถีไทย เทิดไท้ราชินี” ที่จัดขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในเดือนแห่งวันแม่ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจที่ทรงงานด้านผ้าไหมไทย ด้วยการอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านทั้งการทอผ้า การพัฒนาฝีมือและการส่งเสริมเผยแพร่ชื่อเสียงให้ผ้าไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลก จากตราสัญลักษณ์พระราชทาน “นกยูงไทย” เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยอย่างมีมาตรฐาน ผ้าไหมไทยยังเป็นการเชื่อมโยงที่สามารถเข้าถึงวิถีไทย (Thainess) จากการถักทอผ้าสอดแทรกความเป็นศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยที่พบเห็นได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย


สำหรับกิจกรรมหลักของงาน “วิถีแห่งไหม วิถีไทย เทิดไท้ราชินี” ประกอบด้วยการแสดงแฟชั่นโชว์ในชุดผ้าไหมไทยจากดีไซเนอร์ชั้นนำ ในการนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณรับเป็นองค์ดีไซเนอร์ออกแบบและตัดเย็บชุดผ้าไหมไทย และเสด็จฯ ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย


นอกจากนี้ยังมีนักออกแบบไทยอีกหลายคน เช่น ก้อย – นันทิรัตน์ สุวรรณเกต นักออกแบบเสื้อผ้า ผู้มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา ภายใต้ชื่อ “ก้อย สุวรรณเกต” จากนิวยอร์ก ชำนัญ ภักดีสุข จากห้องเสื้อ FLYNOW ที่เคยมีผลงานแฟชั่นโชว์ ที่ London Fashion Week มาแล้ว ภายใต้ชื่อแบรนด์ FLYNOW By Chamnan และยุ่ย - พิสิฐ จงนรังสิน กับ เต้-ศักดิ์สิทธิ์ พิศาลสุพงศ์ แห่ง Tube Gallery ที่ได้รับเลือกให้ร่วมออกแบบเสื้อผ้าพิธีเปิดและปิดซีเกมส์ 2015 ร่วมนำเสนอผลงานกับ Ms.Hermione De Paula ดีไซเนอร์หน้าใหม่ชั้นนำในสังกัด Fashion Innovation Agency จากประเทศอังกฤษ ผู้ผ่านเวที London Fashion Week และเวทีแฟชั่นระดับแนวหน้าทั้งในเอเชียและยุโรป อีกทั้งยังเป็นดีไซเนอร์คนโปรดของนักแสดงและเซเลบริตี้ชื่อดังระดับโลก


ทั้งนี้ ผ้าไหมไทยที่จะนำมาใช้สำหรับการออกแบบตัดเย็บได้คัดเลือกผ้าไหมพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แก่ ผ้ายกดอก จังหวัดลำพูน ซึ่งนำลวดลายธรรมชาติมาออกแบบการทอเป็นลายดอกพิกุล ลายกลีบลำดวน ลายใบเทศ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ที่อ่อนช้อยงดงาม ผ้ายกเมืองนคร อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เพิ่มความงดงามของผืนผ้าด้วยไหมดิ้นเงินดิ้นทองตามแบบฉบับช่างฝีมือขั้นสูง ผ้าไหมยกทอง บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์ เป็นผ้าไหมลายทอละเอียดแทรกดิ้นทอง ผสมผสานกันระหว่างลวดลายการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน ผ้าไหมมัดหมี่ อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น และผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ได้รับขนานนามว่า “ราชินีแห่งไหม” ด้วยลวดลายที่ละเอียดซับซ้อนเพิ่มความอลังการ


รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการผ้าไหมจาก ๕ แหล่งผลิตสาธิตการทอผ้าไหม การสาธิตนุ่งผ้าไทย และนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวสายไหมในแต่ละภูมิภาคที่เหมาะสำหรับการเจาะลึกเรียนรู้กระบวนการผลิตและต้องการเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชนไปยังแหล่งผลิตผ้าไหมไทย และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในแต่ละภูมิภาค โดยจัดแสดงผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศให้นำมาประกอบ นิทรรศการทั้งหมดจะจัดแสดงให้กับแขกผู้มีเกียรติได้ชมกัน ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo-๒o.oo น. ณ วังปารุสกวัน


นอกจากนี้ ททท. ได้ขยายโอกาสให้กับผู้สนใจทั่วไปได้ชื่นชมและภาคภูมิใจในความวิจิตรของผ้าไหมไทย โดยนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการผ้าไหมจาก ๕ แหล่งผลิตสาธิตการทอผ้าไหม สาธิตการทอผ้าไหมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการจัดแสดงมินิแฟชั่นโชว์นำเสนอผลงานการออกแบบตัดเย็บผ้าไหมไทยผลงานการออกแบบของ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ และนักออกแบบไทยที่ร่วมออกแบบ (เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์) กำหนดจัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๗-๓o สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตั้งแต่เวลา ๑๑.oo-๒๑.oo น. เป็นระยะเวลา ๒ สัปดาห์



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














นิทรรศการเทิดพระเกียรติ "สายธารแห่งน้ำพระราชหฤทัย"



ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติ “สายธารแห่งน้ำพระราชหฤทัย” เผยแพร่พระราชกรณียกิจและโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่า และการพัฒนาอาชีพ เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของพสกนิกร โดยมี ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรม ราชินีนาถ เป็นประธานเปิดงาน ที่พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่






นิทรรศการเทิดพระเกียรตินี้ได้จัดแสดงพระบรมฉายาลักษณ์และพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิต นำเสนอโครงการในพระราช ดำริที่เป็นกุศโลบายสำคัญ ที่พระราชทานแก่ประชาชนให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ และประกอบอาชีพในท้องถิ่นได้โดยไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่บุกรุกป่า ไม่ล่าสัตว์ อาทิ โครงการฟาร์มตัวอย่าง โครงการราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า (ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต) และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ เป็นต้น





ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ชมความงดงามของผ้าชาวเขาที่นำมาจัดแสดงในงาน
โดยมี ญนน์ โภคทรัพย์ ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ให้การต้อนรับ.



พร้อมจำลองลักษณะเด่นของบ้านชาวเขา ๔ เผ่า ได้แก่ เย้า, กะเหรี่ยง, อาข่า, มูเซอ รวมทั้งจัดแสดงภาพฉลองพระองค์ที่ทำจากผ้าชาวเขาที่มีเอกลักษณ์ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผ้าชาว เขา ซึ่งเมื่อชาวเขามีรายได้เลี้ยงครอบครัว มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ก็จะไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเมื่อป่าไม้มีความอุดมสมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงทุกชีวิต นำพาความ ผาสุกมาสู่ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย นอกจากนี้ยังได้มีกิจกรรมตลอดนิทรรศการ ได้แก่ กิจกรรม “เมนูอร่อยเพื่อแม่...จากฟาร์มตัวอย่าง” ในวันที่ ๒๒ ส.ค.และกิจกรรม “ปลูกรักให้แม่” ในวันที่ ๑๒ ก.ย.สำหรับนิทรรศการนี้จะจัดแสดงถึงวันที่ ๓o ก.ย. ทุกวันเว้นวันหยุดของธนาคาร.











ภาพและข้อมูลจาก
FB SCB Thailand
thairath.co.th














ผ้าไทย อัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย นุ่งผ้าไทย ถวายพระราชินี



สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ขอเชิญร่วมงาน ผ้าไทย อัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย นุ่งผ้าไทย ถวายพระราชินี เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘


กิจกรรม

๑. นิทรรศการ เรื่องสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับพระราชดำริ งานสร้างสรรค์ ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมการแต่งกายแบบไทยด้วยผ้าไทย

๒. การแสดง ผ้าไทย อัตลักษณ์แห่งความเป็นไทย

๓. คาราวานผ้าไทย สาธิต จำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับผ้าไทย
วันที่ ๑๙-๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ พาร์ค พารากอน



ภาพและข้อมูลจาก
FB สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย














วิจิตรภูษา พัสตราภรณ์



เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษามหาราชินี กรมศิลปากรมีนิทรรศการพิเศษที่สุดเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชื่อ "วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์" เลือกสรรผ้าในราชสำนักและผ้าปักโบราณ สุดยอดงานประณีตศิลป์ กับชุดเครื่องแต่งกายโขนที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร ได้รื้อฟื้นและสืบทอดตาม พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จฯ อีกทั้งผ้าทอมือชิ้นเยี่ยมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ซ้ำแบบใคร ซึ่งมีจำนวนหลายร้อยรายการจัดแสดงให้ชม


และเรื่องราวอันน่าชื่นชมยิ่งอีกเรื่องหนึ่งคือ วิธีดูแลรักษาผ้าตามหลักการอนุรักษ์ ซึ่งช่วยยืดอายุผ้าไทยโบราณให้คนยุคนี้ได้มีโอกาสยลความงดงาม นิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ ๔ พ.ย.นี้ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


วันเปิดงาน วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร งานนี้ รมว.วธ.ชักชวนครอบครัวพากันเดินทางมาท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ประทับใจกับผ้าปักไทยโบราณที่คนส่วนใหญ่แทบไม่เคยเห็นมาก่อน และฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๔ ในแบบใกล้ชิดที่สุด ส่วนอธิบดีกรมศิลปากรยืนยันมายลผ้าโบราณจะได้ภาคภูมิใจภูมิปัญญาคนในอดีต งานศิลปะไทยที่ไม่น้อยหน้าชาติใด


พัชรินทร์ ศุขประมูล ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญ กรมศิลปากร กล่าวว่า งาน "วิจิตรภูษาพัสตรา ภรณ์" ได้คัดเลือกโบราณวัตถุประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ทั่วประเทศ ทั้งในส่วนกลางคือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร และส่วนภูมิภาค รวม ๒o แห่ง แสดงทั้งสิ้น ๑๘๓ รายการ เป็นผ้าในราชสำนัก พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมือง เน้นเสนอผ้าปักโบราณ ซึ่งสมเด็จฯ มีพระราชดำริให้ฟื้นฟูและสืบทอด รวมถึงผ้าพื้นเมืองที่โดดเด่น เช่น ผ้าเกาะยอ จ.สงขลา ผ้าทอพุมเรียง จ.สุราษฎร์ธานี ผ้ายกเมืองนคร ผ้าไหมหางกระรอก จ.สุรินทร์ ผ้าลายกาบบัว จ.อุบลฯ นอกจากนี้ ไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์กว่า ๖o กลุ่ม มีวัฒนธรรมถักทอผ้า ได้คัดผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ ผ้าไทยวน ไทยพวน ไทยครั่ง


ไฮไลต์งานนี้มีเยอะมาก ก้าวเข้ามาภายในพระที่นั่งอิศรา วินิจฉัยถึงกับตราตรึงกับฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภัณฑารักษ์เชี่ยวชาญให้ข้อมูลน่าฟังว่า ฉลองพระองค์ ร.๔ เป็นโบราณวัตถุชิ้นเก่าแก่ที่สุด ณ ที่แห่งนี้ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง เป็นเสื้อนอกแบบยุโรป ด้านในปักลายพิกุลแบบไทย ด้านนอกผ้าสักหลาดปักดิ้นทองรูปใบและผลต้นโอ๊กแบบตะวันตก คาดว่าเป็นฝีมือช่างยุโรป ในสมัยนั้นมีการเจริญสัมพันธไมตรีกับตะวันตก


อีกชิ้นผ้าเขียนทอง ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ออกแบบโดยคนไทย ก่อนส่งไปพิมพ์ที่อินเดีย เป็นผ้านุ่งหรือพระภูษาทรงเฉพาะเจ้านายชั้นพระองค์ขึ้นไป หลังจากงานนี้ทางญี่ปุ่นขอยืมไปจัดแสดงฉลอง ๑๓o ปี ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น คณะกรรมการประเมินราคาประกันภัยระหว่างขนส่งและจัดแสดง ๑o ล้านบาท ด้วยเป็นโบราณวัตถุล้ำค่า รัชกาลที่ ๗ พระราชทานให้พิพิธภัณฑสถานฯ พระนคร และในพิพิธภัณฑ์มีผ้าเขียนทองเพียง ๓ ผืนเท่านั้น


สุดยอดอีกรายการคือ คัมภีร์พระภิกขุปาติโมกข์ พัชรินทร์กล่าวว่า คัมภีร์นี้ทอบนผ้าไหมด้วยเส้นไหมมอง อักษรขอม ภาษาบาลี พร้อมฝาประกับ ตนทำงานมา ๓o ปี ทะเบียนของให้วัดหลวงและวัดราษฎร์ก็ยังไม่เคยเจอ เป็นงานสร้างสรรค์ที่ละเอียดมาก คาดว่าจัดทำสมัยรัชกาลที่ ๔ ศ.เตือน บุนนาค มอบให้พิพิธภัณฑฯ พระนคร


ภายในงานยังมีผ้าบุคคลสำคัญของท้องถิ่น ไม่ว่าเจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมืองหรือขุนนางสำคัญๆ พิเศษสุดจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ คือ เสื้อเยียรบับของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และผ้านุ่งไหมยกดิ้นทองเมืองนคร


แต่เรื่องราวดีๆ ที่นำเสนอยังไม่หมดแค่นี้ เพราะมีส่วนแสดงรักษ์ผ้า-รักษาวัฒนธรรม ผ้าเก่า ชำรุด เสื่อมสภาพ การอนุรักษ์ผ้าจำเป็น สะดุดกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ในงาน อย่าง เครื่องดูดฝุ่นระบบสุญญากาศ พวงพร ศรีสมบูรณ์ นักวิทยาศาสตร์ ชำนาญการ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ สาธิตการใช้ทำความสะอาดชุดโขนที่สร้างสรรค์ขึ้นสมัย ร.๖


"ชุดโขนตัวพระใส่ในหุ่นจัดแสดงมา ๕o ปี ต้องซ่อมแซม ผ้าไหมโดนแสงกรอบ เส้นใยเปราะมาก ดิ้นโลหะก็เช่นกัน เครื่องสุญญากาศนี้เป็นนวัตกรรมที่ผลิตเอง ใช้งานมา ๑ ปีแล้ว เป็นการใช้โอโซนทำความสะอาดฝุ่น รวมทั้งพ่นละอองไอน้ำ เพิ่มความชื้นให้เส้นใย ช่วยถนอมและอนุรักษ์ให้งดงาม" นักอนุรักษ์ทางวิทยาศาสตร์เผยผ้าแย่แล้วแก้ไขได้ทัน คนรักผ้าและรักศิลปวัฒนธรรมพลาดไม่ได้กับนิทรรศการพิเศษ "วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์" จัดแสดงถึงต้นเดือนพฤศจิกายน.



































































































ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
FB พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร














พังงาชวนเล่าขาน ตำนานพัสตราภรณ์ในชุด 'บาบ๋า-ย่าหยา'



วัฒนธรรมพังงาจัดเสวนา "เมืองพังงา ชวนเล่าขาน ตำนานแห่งพัสตราภรณ์" พร้อมเชิญชวนชาวพังงาร่วมแต่งกายด้วยผ้าไทยทุกวันพฤหัสบดี มีการเสวนาหัวข้อ "เมืองพังงาชวนเล่าขาน ตำนานแห่งพัสตราภรณ์" ที่โรงแรมภูงา อ.เมืองพังงา เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีนางอำพัน รุ่งแจ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนา เช่น นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงาและคณะหัวหน้าส่วนราชการ คณะครูอาจารย์ แม่บ้านมหาดไทย คณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมจังหวัดพังงา โดยมีอาจารย์จรินทร์ นีรนาทวโรดม และคณะ เป็นวิทยากร ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างแต่งชุดไทยยุคต่าง ๆ โดยเฉพาะชุดบาบ๋าย่าหยา ซึ่งเป็นชุดพื้นถิ่นเดิมของพังงาอย่างสวยงาม


นางอุทัย พัฒนพิชัย วัฒนธรรมจังหวัดพังงา กล่าวว่า จังหวัดพังงามีนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการแต่งกายด้วยผ้าไทยพื้นถิ่น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนนิยมใช้ผ้าไทยและผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยให้มากขึ้น อันจะมีผลต่อรายได้ของชุมชนในท้องถิ่น และนำมาสู่การตระหนัก รับรู้และความภาคภูมิใจใน "ผ้าไทย" อันเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดพังงาพร้อมใจกันแต่งกายด้วยชุดพื้นถิ่น "บาบ๋า ย่าหยา" ทุกวันพฤหัสบดี หรืองานรัฐพิธี งานพิธีการและในโอกาสสำคัญแทนการแต่งกายด้วยชุดสากล


สำหรับชุดบาบ๋า ชุดย่าหยา เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๑ เนื่องจากในสมัยนั้นมีการอพยพของชาวจีนมายังประเทศไทยจำนวนมาก เพราะประเทศจีนในช่วงนั้นมีความไม่สงบทางการเมืองและภาวะสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่อพยพมานั้นจะเป็นชายหนุ่มและเด็กหนุ่มที่ยังไม่มีครอบครัว โดยบางคนก็ได้มาสร้างครอบครัวใหม่กับคนท้องถิ่น ทำให้เกิดคำว่า "บาบ๋า" คือลูกชาวจีนที่สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษชาวจีนและคนท้องถิ่น การแต่งกายชุด "บาบ๋า ย่าหยา" เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม ซึ่งปัจจุบันชาวพังงายังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบชุดบาบ๋า ชุดย่าหยา ไว้โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับยุคสมัย.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
phuketemagazine.com.com














เผยรายชื่อ 'ช่างรัก' ครูศิลป์ของแผ่นดินภูมิปัญญาของไทย



นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. เปิดเผยว่า ในปีนี้ทางศ.ศ.ป.ได้จัดโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๕๘ เพื่อทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขาเครื่องรักขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์สืบสานและเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไป โดยคณะทำงานได้จัดทำรายชื่อพร้อมประวัติและผลงานของครูช่างศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านในประเภทสาขา “เครื่องรัก” นำเสนอให้กับคณะกรรมการคัดสรรรอบแรกจำนวนทั้งสิ้น ๓๑ รายชื่อและทำการคัดสรรเพื่อเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อคัดเลือกในรอบสุดท้าย จนได้ครูศิลป์ของแผ่นดินจำนวน ๑o ท่าน ได้แก่


๑. นายมานพ วงศ์น้อย ๒. นายม้วน รัตนาภรณ์ ๓. นางสาวปัญชลี เดชคง ๔. นางดวงกมล ใจคำปัน ๕. นายเสถียร ณ วงศ์รักษ์ ๖. นางบุญศรี เกิดทรง ๗. ม.ล.พงษ์สวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ ๘. นางศศิธร มงคลเรืองฤทธิ์ ๙. นางประเทือง สมศักดิ์ และ ๑o. นายญาณ สองเมืองแก่น โดยประวัติและผลงานของครูศิลป์ของแผ่นดินในสาขาเครื่องรักทั้ง ๑o ท่านนี้ ได้ถูกนำเสนอในรูปแบบของหนังสือและวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่การทำงานและยกย่องเกียรติคุณในการทำงานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม พร้อมกับมีการจัดนิทรรศการเทิดทูนครู และเข้ารับโล่เชิดชูเกียรติ ไปแล้วเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศที่ผ่านมา


ผอ. ศ.ศ.ป. กล่าวเพิ่มเติมให้ทราบว่า งานเครื่องรัก เป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมประเภทหนึ่งของไทยซึ่งต้องอาศัย “ยางรัก” เป็นวัตถุดิบปัจจัยสำคัญสำหรับประกอบการสร้างสรรค์งานแต่ละประเภท ด้วยการตกแต่งในรูปลักษณ์และองค์ประกอบของงานแต่ละชนิดเป็นไปในลักษณะประณีตศิลป์ มัณฑนศิลป์และวิจิตรศิลป์ งานเครื่องรักดังกล่าวได้แก่ งานปิดทองทึบ งานปิดทองล่องชาดงานปิดทองล่องกระจก งานปิดทองลายฉลุ งานปิดทองลายรดน้ำ งานปิดทองเขียนสีลายกำมะลอ งานเครื่องเขิน งานประดับกระจก และงานประดับมุกแกมเบื้อ เป็นต้น ซึ่งผลงานช่างดังกล่าวเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ประจำชาติที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยความประณีตบรรจงภายใต้ขนบธรรมเนียมและประเพณีอันแฝงไว้ด้วยแนวคิดและบ่งบอกถึง ภูมิปัญญาของคนไทยที่ได้รับการสั่งสมและสืบทอดกันลงมานานนับหลายร้อยปี กล่าวได้ว่างานเครื่องรักของไทย ถือเป็นงานช่างฝีมือดั้งเดิมที่มีแบบแผน ขนบจารีต ซึ่งเป็นการแสดงออกของงานศิลปกรรมของชาติไทยอย่างดียิ่ง ประกอบกับยุคสังคมไทยในปัจจุบันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย งานช่างฝีมือดั้งเดิมหลายแขนงเริ่มสูญหายไปขาดคนสืบทอด นายช่างผู้มีความรู้ความชำนาญมีอายุมากขึ้น การสืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญา


ลดน้อยลง จึงเป็นที่น่าเสียดายหากงานช่างแขนงนี้จะต้องเสี่ยงต่อการสูญหาย ดังนั้นโครงการเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ประจำปี ๒๕๕๘ จึงได้ทำการยกย่องเชิดชูเกียรติงานสาขา “เครื่องรัก” ขึ้น เพื่อร่วมอนุรักษ์ สืบสาน และเก็บรวบรวมองค์ความรู้เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงคุณค่าของงานช่างแขนงนี้ให้อยู่คู่สังคมไทยสืบไปตราบนานเท่านาน



ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
bangkokbiznews.com














ประกวดแกะสลักผักผลไม้ ผสานงานใบตองและดอกไม้ ครั้งที่ ๑๗
ศิลปะการแกะสลักของไทย อันไม่มีชาติใดเสมอเหมือน



งานแกะสลักผัก-ผลไม้ งานจัดเรียงร้อยบรรจงสร้างสรรค์ใบตองสดให้เป็นลวดลายที่สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติไทย ที่ทั่วโลกนั้นให้การยอมรับในความงดงามนั้น ต้องใช้การฝึกฝนอย่างอดทน ยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และนับวันจะยิ่งสูญหายจากความสนใจของคนรุ่นใหม่ ยุคแห่งความสะดวกรวดเร็ว ที่เต็มไปด้วยสิ่งล่อตาล่อใจทุกคนไปมากขึ้นทุก


โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน โดยนางอารยา อรุณานนท์ชัย ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานประกวดแกะสลักผัก-ผลไม้ ผสานงานใบตองและดอกไม้สดขึ้น อย่างต่อเนื่องยาวนานมาเป็นปีที่ ๑๗ โดยในปีนี้ จัดการประกวดภายใต้หัวข้อ "ท่องเที่ยววิถีไทย ก้องไกลทั่วโลก" เพื่อสานต่อปีแห่งการท่องเที่ยววิถีไทย วาระแห่งชาติปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และเป็นการให้ผู้เข้าแข่งขันได้ระดมสมองและฝีมือ ถ่ายทอดแนวคิดผ่านผลงานการแกะสลัก และงานใบตองดอกไม้สด เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ


ทีมที่ชนะใจกรรมการคว้ารางวัลสูงสุดของการแข่งขันไป ได้แก่ ทีมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ที่สร้างสรรค์ผลงานชื่อ "อิ่มบุญ อิ่มใจ วิถีไทย วิถีพุทธ" โดยใช้แนวคิดที่ว่า "เมืองไทยนั้น มีขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมที่อยู่ในหลักคำสอนของพุทธศาสนามายาวนาน ซึ่งทั่วโลกนั้นต่างก็ชื่นชม" ผลงานที่สร้างสรรค์นั้น จึงสะท้อนความสวยงามของชาติซึ่งเกี่ยวพันกับศาสนาออกมาได้อย่างวิจิตรตระการตาจนคว้ารางวัลไปได้อย่างเป็นเอกฉันทร์


ทางด้านประเภทโรงแรมและบุคคลทั่วไปนั้น ทีมจากโรงแรมคอนราด กรุงเทพ คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยผลงาน ที่ชื่อ "Paradise Thailand" เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวงานแกะสลักเป็นภาพลักษณ์ของเมืองไทย ที่สวยงามดั่งสวนสวรรค์ด้วยศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงาม ส่วนทีมชนะเลิศประเภทสถาบันการศึกษานั้นคือ ทีมวิทยาลัยอาชีวะศึกษานครปฐม ที่สะท้อนประเพณีงานบุญวันเข้าพรรษา ใช้หลักศาสนาสร้างผลงานเพื่อถวายแด่องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในชื่อ "เทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ"


คุณอารยา อรุณานนท์ชัย ประธานจัดงานกล่าวว่า "เป็นที่น่าชื่นใจเพราะผู้เข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้มีทั้งนักเรียนประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา รวมไปจนถึงประชาชนทั่วไปทุกท่านที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้นั้น ต่างร่วมกันอนุรักษ์งานแกะสลักอันเป็นศิลปะชั้นสูงของไทยไว้ด้วยการทุ่มเทฝึกฝนฝีมือเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ และด้วยตัวผลงานของทุกทีมที่เข้าประกวดนั้นต่างสะท้องถึงความจงรักษ์ภักดีต่อองค์สมเด็จพระราชินีนาถ ผู้ทรงสร้างสำนึกแห่งการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไทย ให้คงไว้ชั่วลูกชั่วหลาน นับว่าการจัดงานครั้งนี้นั้นประสบความสำเร็จด้วยดีดังที่คาดหวังไว้ คุณอารยายังทิ้งท้ายไว้ว่า "จะจัดงานประกวดนี้อย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี เพื่อให้ทุกคนนั้นยังดำรงไว้ซึ่งศิลปะงานแกะสลักของคนไทย อันไม่มีชาติใดเสมอเหมือน"



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
cmru.ac.th














๔ มุมมอง ๔ ศิลปินแห่งชาติ



เป็นเรื่องไม่ง่าย ทำอย่างไรคนถึงจะเข้าใจคำว่า "ศิลปะ" บางทีคำตอบอาจจะอยู่ที่ นิทรรศการศิลปะ ๔ มุมมอง 4 vision โดยศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ๔ คน ประกอบด้วย ศ.เมธีนนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, ศ.เดชา วราชุน, ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก และ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ที่หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ก็เป็นไปได้ เพราะนิทรรศการนี้นำเสนอแนวความคิด ประสบการณ์ และมุมมองในการทำงานของศิลปินแห่งชาติแต่ละท่าน ทั้งประติมากรรมบนวิถีพระพุทธธรรม ภาพแนวนามธรรม รูปทิวทัศน์ แลนด์สเคป เช้า สาย บ่าย ค่ำ ที่ไม่เคยมีใครเห็น แถมด้วยผลงานภาพพิมพ์ชุดการเดินทางของเส้นพาร์กินสัน ผู้ชม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จึงรู้สึกสนุกสนานกับการดูงานแสดงศิลปะ


สำหรับงานแสดงคราวนี้ ๔ มุมมองในงานสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจาก ๔ ศิลปิน จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เพื่อแห่งชาติผู้ไม่ท้อถอย ถ่ายทอดผลงานศิลปกรรมของศิลปินแห่งชาติที่มีส่วนสำคัญในการกระตุกให้คนรุ่นหลังเกิดพลังที่จะสืบสานสร้างงานศิลปะ โดยพิธีเปิดมี วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนันทิยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ร่วมนิทรรศการครั้งสำคัญ


ศ.เมธีนนทิวรรธน์ ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า การมารวมตัวของ ๔ ศิลปินยากมาก เพราะต่างมีภารกิจทั้งงานสอนหนังสือและการเผยแพร่ผลงานของตัวเอง แต่ในครั้งนี้ตั้งใจมาแสดงงานร่วมกันเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และมุมมองดี ๆ ให้ดูกัน ทั้ง ๔ ศิลปินถือว่ารุ่นราวคราวเดียวกัน และมีประสบการณ์การศึกษาควบคู่เส้นทางการสร้างสรรค์ผลงาน นิทรรศการศิลปะนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าศิลปิน ๔ คน ทำงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเริ่มต้นจากการแสวงหา ขัดเกลา สกัด สุดท้ายน้อม นำความคิดจากภายนอกสู่ภายในใจ จนเกิดเอกลักษณ์ของงาน


"ในส่วนการสร้างสรรค์ประติมากรรมของอาจารย์ ๕ ปีหลังนี้ ดำเนินบนวิถีพระพุทธธรรม สื่อความหมายคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาความคิดของตัวเองและคนดูงานไปพร้อมกัน มีทั้งเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา งานนี้มี ๙ ชิ้นงาน ทั้งประติมากรรมพ่อลูก สื่อเมตตาธรรมค้ำจุนโลก พระพุทธรูป


"พระพุทธเทพทันตราช" แทนความดีงาม ดูได้รอบด้าน หรือประติมากรรมชิ้นใหม่ล่าสุด "สมถกรรมฐาน" เสนอความเติบโต งอกงามจากธรรม" ศ.เมธีนนทิวรรธน์กล่าว


อีกมุมมองสุดเซอร์ไพรส์เป็น ศ.เกียรติคุณ ปรีชา เสนอผ่านชุดงานชื่อ เช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นภาพธรรมชาติ สถาปัตยกรรม แลนด์สเคป ต้นไม้ ทะเล ซึ่งเจ้าตัวบอกไม่เคยเปิดตัวแสดงที่ไหนมาก่อน นำมาคัดแสดงให้ดูกันจุใจ


"ผมบันทึกภาพสีน้ำ สีอะครีลิก แสดงเป็นเซต เพื่อให้คนเห็นบรรยากาศองค์ความรู้ที่ศิลปินรู้สึกกับเช้า สาย บ่าย ค่ำ ที่ทะเล หรือที่โบราณสถาน ในมุมเดิม แต่บันทึกบรรยากาศ เวลา บันทึกอารมณ์ของศิลปิน ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม นี่คือการเก็บข้อมูลภาคสนาม ไม่ว่างานแสงเงา แสงสุวรรณภูมิ ก็ใช้หลักคิดนี้ สื่อ ๓ คำสำคัญ Heart ประทับใจ Head ความคิด และ Hand มือที่เขียนรูป ศิลปะต้องดูแล้วรู้สึกรู้คิด แล้วยังมีวิดีโออาร์ที่อาจารย์ถ่ายด้วยตัวเองกับมือ ถ่ายเช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นหนังเคลื่อนไหวให้ดูประกอบกับงานชุดนี้" ศิลปินแห่งชาติเจ้าของฉายาแสงเงาคุยถึงงาน


ส่วนศิลปินแห่งชาติ ศ.เกียรติคุณอิทธิพล ก็สร้างจิตรกรรมชุดใหม่ล่าสุด "การเดินทางของเส้นพาร์กินสัน" แค่ชื่องานก็บ่งบอกว่าชุดนี้เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของตัวศิลปินที่กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน ศิลปินบอกว่า การป่วยกระทบต่อการทำงานศิลปะทั้งในแง่ลบและบวก ทักษะเชิงช่างทำไม่ได้เต็ม ๑oo เขียนเส้นจะสั่นๆ แต่ไม่ท้อถอย เพียงระบบการทำงานและแนวคิดเปลี่ยนไปจากเดิม ตอนนี้ไม่ต้องทำภาพร่าง ข้อดีได้ทำงานแสดงออกตามอารมณ์ วาดเป็นเส้นต่อเนื่อง ขดไปขดมาอย่างอิสระ แล้วได้พบเทคนิคและวัสดุใหม่ ๆ ตอบสนองทำงานได้ดี อยากรู้ต้องมาดูงานนี้งานเดียว


เห็นทิศทางการทำงานของ ๓ ศิลปินไปแล้ว ถัดมา ศ.เดชา ศิลปินผู้ทำงานศิลปะมา ๕o ปี แฟน ๆ ศิลปะจะเพลิดเพลินกับงานศิลปะแนวนามธรรมที่ศิลปินทำมาโดยตลอด ศิลปินบอกงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตรงกับนิสัยที่ชอบอิสระในการแสดงออก คิดฝัน จินตนาการ แล้วต้องทดลองค้นหาแนวใหม่ ๆ ไม่หยุดนิ่ง


"บางทีผมใช้เทคนิคนำความคิด เปลี่ยนวิธีสร้างงาน เปลี่ยนวัสดุ สร้างพื้นผิว หาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ รวมถึงประสบการณ์ตรง จุดประกายแนวคิดแล้วจะขยาย พัฒนาต่อ จนเป็นภาพที่ไม่มีความจริงนั้นอยู่ ผลงานที่แสดงนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งของช่วงบั้นปลายชีวิต คงต้องสร้างงานต่อจนกว่าไม่มีลมหายใจ" ศ.เดชาย้ำแนวคิดเปลี่ยน แต่อุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง


นิทรรศการศิลปะ ๔ มุมมอง โดย ๔ ศิลปินแห่งชาติ งานเดียวที่ให้เสพงานศิลปะได้อย่างจุใจ เปิดมุมมองแนวคิดการทำงานของศิลปินถึง ๔ คน คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม จัดแสดงตั้งแต่วันที่ ๑๔ ส.ค.-๘ ก.ย. ๒๕๕๘ ตั้งแต่ ๑o.oo-๑๙.oo น. ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์).



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
FB สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย














จังหวัดระยองสร้างประติมากรรม “รักแท้”



นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีเปิดตัวประติมากรรม “รักแท้” รูปนางเงือก อุ้ม สุดสาคร โดยมี ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีเปิด พร้อมด้วยนายสุเมธ สายทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ดระยอง ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน เข้าร่วมในพิธีเปิด ท่ามกลางนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ที่บริเวณหาดทรายแก้วเกาะเสม็ด จ.ระยอง


นอกจากนี้ยังร่วมกันดำเนินการปรับภูมิทัศน์บริเวณหาดทรายแก้ว เกาะเสม็ด เพื่อให้จุดที่ตั้งประติมากรรม “รักแท้”เป็นแหล่งเช็คอินแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดระยอง


นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เกาะเสม็ดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ซึ่ง กลุ่ม ปตท. ปรับปรุงภูมิทัศน์ บริเวณหาดทรายแก้ว และสร้างประติมากรรม “รักแท้” ทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพิ่มจาก ๑๕ แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของเกาะเสม็ด ซึ่งจะมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชาวระยองและชาวเกาะเสม็ด















ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
manager.co.th














เริ่มแจกฟรีเดือนกันยายน Chiang Mai Art Map ฉบับแรก



กลุ่มทางศิลปะในจังหวัดเชียงใหม่ ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างความเป็นไปได้ในการสานบทสนทนาระหว่างศิลปะกับสังคมให้มีมากขึ้น ในนาม Chiang Mai Art Conversation หรือ CAC ริเริ่มผลิต Chiang Mai Art Map (แผนที่ศิลปะเชียงใหม่) ขึ้นเป็นครั้งแรก


หลังจากที่ CAC ได้มีการหยั่งเสียงตอบรับจากแกลเลอรีในจังหวัดและองค์กรต่าง ๆ ในงาน Chiang Mai Art Community Symposium เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ และจากการทดลองเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารศิลปะ-ศิลปินของจังหวัดเชียงใหม่มาตลอด ๑ ปีทางเพจ fb.me/cmartconversation


ซึ่งทำให้เห็นความต้องการที่จะเชื่อมต่อหากัน ระหว่างคนทำงานศิลปะและผู้ชม แต่ยังขาดตัวกลางที่มีประสิทธิภาพ และคล่องตัวพอ CAC จึงวางแผนพัฒนาโครงงานหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ศิลปะได้มีปฏิสัมพันธ์ที่ร่วมสมัยกับสังคมมากขึ้น


แม้เชียงใหม่ในปัจจุบันจะมีนิทรรศการและกิจกรรมทางศิลปะแทบไม่เว้นแต่ละวัน และข่าวสารกิจกรรมเหล่านี้ก็ไปถึงสาธารณชนได้ไม่ยากนัก แต่การเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมเหล่านี้กลับยังเป็นไปได้ยาก ด้วยเมืองที่ขยายตัวไปพร้อม ๆ กับราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่ทางศิลปะเริ่มกระจายออกจากตัวเมือง หรือต้องย้ายไปอยู่ในสถานที่ที่ซุกตัวอยู่ในซอกซอยซับซ้อนแบบเมืองโบราณของเชียงใหม่


ส่วนแผนที่เชิงการท่องเที่ยวทั่วไปก็มีข้อมูลหลายด้านอัดแน่นอยู่ จนยากจะหาแกลเลอรี่ในนั้นพบ เพื่อข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ CAC จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูลสำหรับการผลิตแผนที่ศิลปะเป็นการเฉพาะ พัฒนางานออกแบบที่ชัดเจนให้ใช้งานง่ายขึ้น และคัดสรรพื้นที่ทางศิลปะเกือบ ๕o แห่ง ทั่วจังหวัดมาไว้ในแผนที่ เพื่อให้ผู้ที่ต้องการติดตามข่าวสารข้อมูล สามารถกางแผนที่นี้ดู แล้วสามารถพาตัวเองไปเยือนพื้นที่ทางศิลปะแต่ละแห่งได้ทันที


นอกจากนี้ CAC ยังเปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมฝากฝีมือไว้บนปกของแผนที่ศิลปะแต่ละฉบับ โดยฉบับแรกนี้เป็นผลงานของ illustrator(นักวาดภาพประกอบ) ที่น่าจับตาอย่าง Brightside


Chiang Mai Art Map edition 01/2558 ซึ่งเป็น Free copy รายปี และตีพิมพ์เพียง ๒o,ooo ฉบับเท่านั้น ภายใต้การสนับสนุนการพิมพ์โดย Jim Thompson จะมีงานเปิดตัวใน วันเสาร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.oo น. ณ โรงแรม Chiang Mai Chaiyo Hotel ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย ๕


ผู้สนใจสามารถไปร่วมงาน เพื่อทราบถึงความเป็นมา และแผนงานขั้นต่อไป รวมทั้งรับแจกแผนที่ได้ก่อนใคร











ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














Tetsuya Noda: DIARY II



นิทรรศการ “Tetsuya Noda: DIARY II” นำเสนอผลงานภาพพิมพ์แกะไม้ผสมผสานกับภาพพิมพ์ตะแกรงไหม (Woodblock & Screenprint) และผลงานภาพพิมพ์โลหะร่องลึก (Etching) โดย เท็ตซึยะ โนดะ ศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะชาวญี่ปุ่น ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์โดยใช้ภาพของวัตถุสิ่งของ ผู้คน อาหาร ต้นไม้ดอกไม้ และสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน มาเป็นสัญลักษณ์สื่อความแทนบทบันทึกอันมีความหมายในความทรงจำของศิลปิน ภาพของวัตถุที่ถูกถ่ายทอดลงบนผลงานภาพพิมพ์อันงดงามละเอียดอ่อน แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวเนื้อหาของความผูกพันและสัมพันธภาพระหว่างศิลปินกับผู้คนและวัตถุแวดล้อมอันหลอมรวมเป็นบทบันทึกแห่งสุนทรียภาพในแต่ละช่วงเวลา



















ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com














รอยสีริมทาง



เรื่องราวของงานชุดนี้จะมีความหลากหลายมากขึ้นกว่างานแสดงเดี่ยวชุดแรก (ชมนกชมกล้วยไม้) งานนี้จะหยิบเรื่องราว ความประทับใจจากสิ่งที่รายล้อมรอบตัว สิ่งที่พบเห็นจากการเดินทาง ความชอบส่วนตัว นำมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะด้วยเทคนิคสีน้ำบนกระดาษในแนวที่ตนเองถนัดคือแบบเสมือนจริง(Realistic) โดยเน้นการจัดองค์ประกอบภาพเป็นหลัก งานหลายชิ้นที่ได้ทำในช่วงหลัง ๆ นี้จะมีการปล่อยพื้นขาว เล่นกับพื้นที่ว่าง มีการดีดสี สะบัดสี แสดงให้เห็นคุณสมบัติการซึมและการรุกรานของสี ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสีน้ำ


ส่วนหนึ่งของงานนี้ยังมีชุดภาพบุคคล(Portrait) ที่เริ่มเขียนมาประมาณ ๓ ปี ที่คัดมาแสดงนี้จะเป็นภาพบุคคลที่เคารพ ชื่นชอบ เพื่อนและคนใกล้ตัว ผลงานครั้งนี้จะเป็นภาพสีน้ำเกือบทั้งหมด จะมีภาพเขียนด้วยเทคนิคพาสเทลเล็กน้อย


นิทรรศการ : รอยสีริมทาง (The Colorful Pathway)

ศิลปิน : พรพรรณ ศรีธนาบุตร (Pornparn Sridhanabutr)

ลักษณะงาน : จิตรกรรมสีน้ำ

ระยะเวลาจัดแสดง : วันที่ ๒๔ สิงหาคม – ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘

พิธีเปิดนิทรรศการ : วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น.

ห้องนิทรรศการ : ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๑

ติดต่อศิลปิน : o๘๑-๙๒๑-๔๓๘๒



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com














ครุฯ ศิลปะไทย



ขอเชิญชมนิทรรศการ “ครุฯ ศิลปะไทย : การจัดแสดงนิทรรศการผลงานของนิสิตทุนโครงการพัฒนายุทธศาสตร์สู่ความเป็นเลิศด้านศิลปะไทย สาขาศิลปศึกษา”
โดยศิลปิน นิสิตทุน ในระดับปริญญาบัณฑิตและระดับปริญญามหาบัณฑิต
สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
ลักษณะงาน จิตรกรรมไทย จำนวน ๓o ชิ้น
ระยะเวลาที่จัดแสดง วันที่ ๔ - ๒o สิงหาคม ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น.
ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น1 อาคารพิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย















ภาพและข้อมูลจาก
FB นิทรรศการ




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 19 สิงหาคม 2558
Last Update : 20 สิงหาคม 2558 19:01:46 น. 0 comments
Counter : 4164 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.