happy memories
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2558
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
14 มิถุนายน 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒๑๔





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto








"จักรีนฤบดินทร์ นวมินทราชา"
ศิลปิน อดิศักดิ์ พานิชกุล
เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด ๑๒o x ๙o​ ซม.




คอนเสิร์ต 'เทิดพระภัทร มหาองค์ราชัน' มอบรายได้มูลนิธิชัยพัฒนา



ดร.บัญชร จันทร์ดา อุปนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย พร้อมด้วย พลเอกพิณภาษณ์ สริวัฒน์ ผอ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูล ประธานมูลนิธิชุมชนเข้มแข็ง และ ทวีศักดิ์ สุทิน ประธานกลุ่มบริษัทปุ๋ยศักดิ์สยาม กรุ๊ป แถลงข่าว


เพื่อถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เตรียมจัดคอนเสิร์ต“เทิดพระภัทร มหาองค์ราชัน” มอบรายได้มูลนิธิชัยพัฒนา


ดร.บัญชร จันทร์ดา อุปนายกสมาคมผู้ปกครองครู โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย พร้อมด้วย พลเอกพิณภาษณ์ สริวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกพล.ต.ต.ประสพโชค พร้อมมูลประธานมูลนิธิชุมชนเข้มแข็ง และทวีศักดิ์ สุทิน ประธานกลุ่มบริษัทปุ๋ยศักดิ์สยามกรุ๊ป จำกัด แถลงความพร้อมการจัดคอนเสิร์ตเพื่อถวายความจงรักภักดี สานความร่วมมือหลักระหว่างสมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยศิลปินดังนำโดยวงเดอะพาเลซ, เอ๊ะ-จิรากร, ก้อง-สหรัถ, ตู่-ภพธร, สงกรานต์ เดอะวอยซ์ ฯลฯ จัดคอนเสิร์ต “เทิดพระภัทร มหาองค์ราชัน” (ทหารของพระราชา) นำรายได้มอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ๔ กรกฎาคมนี้


ดร.บัญชร จันทร์ดา อุปนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย กล่าวว่าการจัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ ๖ ของโรงเรียน ภ.ป.ร. ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕o๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดโรงเรียน ภ.ป.ร. และได้พระราชทานนามว่า โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งนี้ สร้างความปีติยินดีและเป็นที่จดจำแก่นักเรียน ภ.ป.ร. ทุกยุคทุกสมัยเป็นอย่างมาก ดังนั้น การจัดงานคอนเสิร์ตในครั้งนี้ จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นการถวายความภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในปีมหามงคล ๘๘ พรรษา และนำรายได้ส่วนหนึ่งมอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ด้วยเหตุนี้ ประชาชนที่สนใจซื้อบัตรเข้าชมคอนเสิร์ต จึงเป็นผู้ที่มีส่วนได้ทำบุญร่วมกัน และยังได้ร่วมกันถวายความจงรักภักดีร่วมกับ ชาว ภ.ป.ร.โดยพร้อมเพรียง


พลเอกพิณภาษณ์ สริวัฒน์ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการร่วมกันถวายเป็นพระราชกุศลแล้ว ทั้งนี้ ยังได้สร้างความร่วมแรงร่วมใจในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งภายในงานคอนเสิร์ตพบกับศิลปินวง เดอะ พาเลซ (เต็มวง) พร้อมศิลปินรับเชิญที่มีชื่อเสียง ได้แก่ สงกรานต์ รังสรรค์ แชมป์เดอะวอยซ์ ซีซั่น ๒, ก้อง-สหรัถ, เอ๊ะ-จิรากร, และตู่-ภพธร พร้อมบทเพลงพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ จัดแสดง ๒ รอบ คือ รอบแรก ๑๓.oo น. รอบการกุศล และรอบที่ ๒ เวลา ๑๙.oo น. รอบบุคคลทั่วไป ในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ธันเดอร์โดม เมืองทองธานี เปิดจำหน่ายบัตรตั้งแต่วันนี้ในราคาบัตร ๑,๕oo บาท ๒,ooo บาท และ ๒,๕oo0 บาท ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา







พระบรมสาทิสลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
นิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ ๑ (๒)














เปิดพิพิธภัณฑ์ชมของสะสมใน สมเด็จพระเทพฯ



พิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ร่วมกับพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์บ้านสวนปทุม จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเรื่อง “สะสมไว้ ใช้เล่าเรื่อง” เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา และพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการครบ ๓ ปี ในการนี้ได้รับ พระกรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเปิดนิทรรศการ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นิทรรศการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน






สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชอัธยาศัยใฝ่ศึกษา และสนพระราชหฤทัยศิลปวิทยาการทุกสาขา ทั้งนี้เพราะทรงได้รับการปลูกฝังจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อเสด็จฯ เยือนสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จึงทรงสะสมสิ่งของอันเป็นตัวแทนวัฒนธรรมและวิทยาการของชนชาติต่าง ๆ โดยสิ่งของเหล่านี้มีประโยชน์เพื่อการศึกษาและเป็นเครื่องเตือนความจำ ของสะสมส่วนพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบันมีหลายประเภท มีทั้งของมีค่าและไม่มีมูลค่า แต่ทรงเก็บไว้เพราะมีความหมายทางสังคมและวัฒนธรรมแสดงถึงประวัติศาสตร์ของถิ่นต่าง ๆ และโปรดเกล้าฯ ให้คณะทำงานเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์บ้านสวนปทุม จังหวัดปทุมธานี






ทั้งนี้ ปิยะวรา ทีขะระ เนตรน้อย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ กล่าวถึงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สะสมไว้ ใช้เล่าเรื่อง” ที่จัดขึ้นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานพระราชานุญาตให้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จัดแสดงผลงานศิลปกรรมฝีพระหัตถ์ ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน และของสะสมส่วนพระองค์ ทั้งที่ทรงซื้อและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญยิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะได้ศึกษาหาความรู้เรื่องประเทศต่าง ๆ จากของสะสมของ สมเด็จพระเทพรัตน์ ซึ่งแสดงถึงวัฒนธรรม สังคม และประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้น โดยนิทรรศการประกอบด้วยเนื้อหา ๔ ส่วน ได้แก่ สะสมไว้ใช้เล่าเรื่อง, สะสมไว้ในระหว่างทาง, สะสมไว้ในราชพัสตรา และสะสมไว้ในหนังสือ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังได้เรียบเรียงหนังสือประกอบนิทรรศการ “สะสมไว้ ใช้เล่าเรื่อง” ให้บุคคลทั่วไปได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม โดยนิทรรศการดังกล่าวเปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา ๙.oo-๑๖.oo น. ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙.







ภาพและข้อมูลจาก
thairath.co.th












พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช แห่งปรัสเซีย



ดนตรีในราชสำนักของพระเจ้าเฟรเดอริกมหาราช


ในรัชสมัยที่พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช แห่งปรัสเซีย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี ค.ศ. ๑๗๔o พระองค์ได้วางรากฐานทางวัฒนธรรมต่าง ๆ รวมถึงดนตรีคลาสสิกแบบเยอรมันตอนเหนืออย่างจริงจังในราชสำนักของพระองค์ ทั้งที่กรุงเบอร์ลิน และเมืองพอตสดัมพระองค์จัดให้มีการก่อสร้างโรงอุปรากรแห่งราชสำนัก ซึ่งกลายเป็นที่รวมของนักร้องชั้นยอดเยี่ยมของยุโรปในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะในพระราชวังฤดูร้อนซ็องซูซี ที่เมืองพอตสดัม ซึ่งพระองค์ได้แต่งตั้งนักดนตรีและนักแต่งเพลงประจำราชสำนัก และมีวงดนตรีประจำราชสำนัก ซึ่งเป็นที่รวมของเหล่านักดนตรีชั้นแนวหน้าของยุโรป พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชเองทรงมีพรสวรรค์ในการบรรเลงขลุ่ยฟลุต และทรงมีผลงานการประพันธ์บทเพลงด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระองค์ทรงโปรดที่จะร่วมบรรเลงดนตรีกับเหล่านักดนตรีประจำราชสำนักในทุกๆ ค่ำคืน


เพื่อจำลองบรรยากาศของดนตรีในราชสำนักแห่งพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช แห่งปรัสเซีย มาไว้ที่กรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้ วงโปรมูสิกา วงออเคสตร้าอาชีพวงแรกของประเทศไทย ที่บุกเบิกวงการดนตรีคลาสสิกของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕o๑ โดยมีลีโอ ฟิลลิปส์ ทำหน้าที่กำกับวงดนตรีตามแบบฉบับดั้งเดิมจากตำแหน่งนักไวโอลินแนวที่หนึ่ง วรพล กาญจน์วีระโยธิน ทำหน้าที่เดี่ยวฟลุต และ มิติ วิสุทธิ์อัมพร ทำหน้าที่เดี่ยววิโอลา โดยรายการการแสดงจะประกอบไปด้วยผลงานวิโอลาคอนแชร์โต และบทเพลงชุด “ดอน คีโฮเต้” อันไพเราะของคีตกวีชาวเยอรมัน จอร์ช ฟิลลิป เทเลมานน์ (G.Philipp Telemann), บทเพลงฟลุตคอนแชร์โตของ คาร์ล ฟิลลิป เอมมานูเอล บาค (Carl Philipp EmanuelBach) และที่พิเศษสุดคือ วงโปรมูสิกาจะบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีซึ่งทรงประพันธ์โดยพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชเป็นครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย





ลีโอ ฟิลลิปส์



การแสดงครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีของคอเพลงคลาสสิกชาวไทยที่จะได้ฟังการบรรเลงบทเพลงพิเศษเหล่านี้ ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ (โรงแรมโฟร์ซีซั่นเดิม) ในวันพุธที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๒o.oo น. สถานที่แสดงดนตรีใจกลางกรุงเทพฯ สามารถเดินทางอย่างสะดวกด้วยรถไฟฟ้า BTS สถานีราชดำริ บัตรราคา ๖oo บาท และ ๑oo บาท (สำหรับนักเรียน/นักศึกษา) สำรองที่นั่ง ติดต่อ promusica.bkk@gmail.com





วรพล กาญจน์วีระโยธิน



พระบรมสาทิสลักษณ์ ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
wikipedia.org














๓ ปีมีครั้ง 'ภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ



การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ ๔ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๒ ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร


มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖ โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ประติมากรชาวอิตาเลียน ผู้บุกเบิกศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย เพื่อเป็นการยกระดับและเผยแพร่ผลงานของศิลปินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมกับนานาชาติให้ปรากฏในรูปแบบของผลงานศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จัด “การแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จากการจัดการแสดงในครั้งนี้ มีศิลปินจากทุกประเทศทั่วโลกจัดส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับเป็นการจัดแสดงงานศิลปะระดับนานาชาติครั้งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวงการศิลปะของประเทศไทยที่สามารถพัฒนาขึ้นถึงระดับที่ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และมีความก้าวหน้าพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงจัดการแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ ๒ ขึ้น ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๓ และครั้งที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ โดยกำหนดจัดแสดงขึ้นทุก ๓ ปี ต่อครั้ง และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และเนื่องในโอกาสครบรอบ ๗๒ ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงกำหนดจัดการแสดงภาพพิมพ์และวาดเส้นนานาชาติ ครั้งที่ ๔ ขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมร่วมฉลองในวาระสำคัญดังกล่าวโดยมีศิลปิน ๙๔o คน จาก ๕๖ ประเทศทั่วโลก จัดส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน ๒,๓๑๕ ชิ้น มีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน ๒๔ ชิ้น และร่วมแสดงจำนวน ๑๒๕ ชิ้น รวมผลงานทั้งสิ้น จำนวน ๑๔๙ ชิ้น โดยเป็นผลงานประเภทภาพพิมพ์ จำนวน ๙๔ ชิ้น และประเภทวาดเส้น จำนวน ๕๕ ชิ้น


นิทรรศการดังกล่าว จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๔ พฤษภาคม – ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ (เว้นวันจันทร์) ณ ห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการสาธิตการพิมพ์ภาพพิมพ์เอทชิ่ง (Etching) และขอเชิญนักศึกษารวมทั้งผู้สนใจเข้าร่วมปฏิบัติการทำภาพพิมพ์โมโนพริ้นต์สีน้ำ(Monoprint) และภาพพิมพ์โฟมอัด (Styroform Relief Print) โดยนักศึกษาภาควิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ทุกวันศุกร์และวันเสาร์ เวลา ๑๔.oo – ๑๗.oo น. ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม - ๓๑ กรกฏาคม ๒๕๕๘ ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


วันที่ : ๑๔ พฤษภาคม - ๒ สิงหาคม ๒๕๕๘
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๘
จัดโดย มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม



ภาพและข้อมูลจาก
bacc.or.th














วงปี่พาทย์มอญ มหาวิทยาลัยบูรพา
ขุนอิน



ในยุคปัจจุบันนี้ระบบการศึกษานั้นได้เข้ามามีบทบาทต่อวงการดนตรีไทยเป็นอย่างมาก ในสมัยเเรก ๆ จะมีเพียงเเค่วิทยาลัยนาฏศิลปที่จะมีการเรียนดนตรีไทยแบบที่เป็นหลักสูตรนักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรเเล้วนั้นจะมีใบประกาศนียบัตรรับรองเป็นวุฒิทางการศึกษา ต่อมาทางมหาวิทยาลัยราชภัฏต่าง ๆ อย่างบ้านสมเด็จเจ้าพระยาและอื่น ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายต่อหลายเเห่งก็เริ่มที่จะเปิดหลักสูตรดนตรีไทยในระดับปริญญาตรีตาม ๆ กันมาจึงทำให้ นักศึกษาดนตรีไทยไม่ว่าจะเป็นเอกปี่พาทย์หรือเครื่องสายไทยขับร้องไทย นั้นจบหลักสูตรในระดับปริญญาตรีกันมากมายและยิ่งมาถึงในตอนนี้เเล้วการศึกษาดนตรีไทยได้ก้าวไกลไปถึงในระดับปริญญาเอกนักดนตรีไทยที่เป็นครูอาจารย์ด้านดนตรีไทยต่างก็เรียนจบไปเป็นดอกเตอร์กันหลายต่อหลายคน


ในการศึกษาดนตรีไทยในระดับอุดมศึกษาตามสถาบันต่าง ๆ นั้นก็จะมีหลักสูตรที่มุ่งเน้นในการปฏิบัติจริงที่ต่างกันออกไป โดยทั่วไปส่วนใหญ่ก็จะให้เรียนในหลักการปฏิบัติที่เเบ่งออกเป็นวง ปี่พาทย์ วงเครื่องสาย และขับร้องไทย เหมือนกันเกือบทุก ๆ สถาบัน แต่จะมีบางสถาบันอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยบูรพาที่ให้ความสำคัญต่อวงปี่พาทย์มอญจึงได้จัดทำหลักสูตรการเรียนปฏิบัติวงปี่พาทย์มอญขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาในคณะศึกษาศาสตร์ได้เรียนรู้ในการปฏิบัติกันอย่างจริงจังและแถมด้วยกันออกไปบรรเลงตามงานฌาปนกิจ หรือพระราชทานเพลิงศพทั่วไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นการฝึกประสบการณ์ให้แก่นักศึกษา


ดร.ชูชาติ พิณพาทย์ หัวหน้าสาขานาฏยสังคีตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งท่านได้จัดทำเเละนำหลักสูตรปี่พาทย์มอญเข้ามาให้นักศึกษาในคณะของท่านได้ศึกษาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง ซึ่งโดยความจริงเเล้วตัวท่านเองนั้นก็มีเชื้อสายชาวมอญและถือกำเนิดมาจากในวงปี่พาทย์มอญที่จ.ปทุมธานี โดยได้หัดเล่นเครื่องดนตรีในวงปี่พาทย์จากครูเชาว์ พิณพาทย์ บิดาของท่านเองก่อนที่จะมาจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยบูรพา โดยท่านได้บอกกับผมว่าการที่ท่านได้จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้วงปี่พาทย์มอญก็เพราะว่าวงปี่พาทย์มอญนั้นสามารถให้นักศึกษาของท่านนั้นนำออกไปใช้ปฏิบัติเป็นวิชาชีพได้จริง


ดร.ชูชาติ พิณพาทย์ ได้พูดคุยกับตัวผมเองว่าในตอนเเรกการศึกษาปี่พาทย์มอญในหลักสูตรปริญญาตรีก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมาก เนื่องจากท่านได้ค้นคิดเเละใช้เวลาทดลองมาพอสมควรแต่อุปสรรคก็คือการนำนักเรียนไปปฏิบัติจริงตามงานนั่นเอง ซึ่งท่านเองก็ใช้วิธีไปแสดงตามงานศพที่ท่านได้รู้จักคุ้นเคยเช่นญาติ ๆ ของอาจารย์ในคณะ หรือครูดนตรีไทยที่คุ้นเคยกันแต่ท่านเองก็ต้องลงทุนด้วยทุนทรัพย์ของท่านเองซึ่งผมมองดูว่าคงมิใช่น้อยเพราะวงปี่พาทย์มอญของมหาวิทยาลัยบูรพาเวลาออกเเสดงตามงานนั้นยิ่งใหญ่อลังการดูสวยงามตาเเละใช้ผู้เเสดงเกือบ ๆ ๕o ชีวิตซึ่งมากกว่าคณะลิเกชื่อดังในยุคนี้เสียอีกเเละพอถึงตอนนี้ก็เริ่มที่จะมีผู้มาหางานเเสดงกันอย่างเป็นจริงเป็นจังกันมากขึ้น


ในส่วนตัวของผมเองนั้นในฐานะที่เคยใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีไทยในวงปี่พาทย์มอญมาเหมือนกับท่านดร.ชูชาติ พิณพาทย์ และได้เห็นความเปลี่ยนเเปลงอะไรหลาย ๆ อย่างในสังคมไทยที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีพต่อนักดนตรีไทย วงปี่พาทย์มอญที่รับจ้างเเสดงตามวัดวาอารามไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนสมัยที่ผมยังอยู่ในวัยเด็กหลาย ๆ วงต้องลดราคากระหน่ำเเข่งกันเพื่อให้วงนั้นอยู่รอดต่อไปแต่บางคณะโต้โผก็เลิกกิจการขายเครื่องไป เเต่หลาย ๆ คณะก็ยังอยู่ได้สบาย ๆ แต่สภาพคล่องรับรองได้ว่าไม่มีคณะไหนหรือวงไหนนั้นเหมือนเดิมในอดีต ซึ่งในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่าวงปี่พาทย์มอญของชาวบ้านอาจจะสูญพันธุ์กันไปเเต่อย่างไรก็ตาม การที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้นำหลักสูตรมาใช้เป็นการเรียนการสอนนั้นเป็นหลักประกันได้ว่าวงปี่พาทย์มอญนั้นคงไม่ได้สูญหายไปจากตลาดปี่พาทย์มอญ ใคร ๆ ที่คิดจัดงานฌาปนกิจ หรืองานพระราชทานเพลิงศพสามารถติดต่อวงปี่พาทย์มอญของมหาวิทยาลัยบูราพาได้โดยตรง ผมรับรองได้ว่ายิ่งใหญ่สวยงามเกินราคาอย่างมากมาย อีกทั้งยังได้เป็นการสนับสนุนให้เด็กนักศึกษานั้นได้มีประสบการณ์ในทางตรงเเละเป็นกำลังใจให้คณาจารย์ แต่ความจริงเเล้วคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพานั้นก็ยังมีการเรียนดนตรีไทยทั่ว ๆ ไปเหมือนกับสถาบันอื่น ๆ หรือเเม้กระทั่งการเรียนนาฏศิลป์ ซึ่งก็สามารถติดต่อนำไปแสดงตามงานต่าง ๆ ได้อีกเหมือนกันเเละที่ดีไปกว่านั้น ท่านผู้อ่านสามารถส่งบุตรหลานของท่านเข้าศึกษาได้ที่สถาบันเเห่งนี้ เพราะผมคิดว่าเป็นสถาบันเดียวที่มีหลักสูตรปี่พาทย์มอญให้ได้ศึกษากันเเบบจริงจังครับ ดีครับ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ศิลปะชีวิต

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ



ตลอดระยะเวลา เกือบ ๓o ปี ที่เดินทาง เดินสาย พูด, บรรยาย, ร้อง-เล่น ดนตรี, เป็นวิทยากรตามค่าย, กิจกรรม วรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี ผมได้เจอหัวข้อ “ศิลปะ ดนตรี กวี ชีวิต” บ่อยครั้ง คำว่า “ดนตรี กวี ศิลป์” เป็นที่นิยม โดยพ่วงเอา “ชีวิต” เข้าไปด้วย นอกจากประโยคฮิต” ศิลปะส่องทางแก่กัน แล้ว (คำของท่านอาจารย์ เจตนา นาควัชระ) คลี่คลายมาเป็น “ศิลปะส่องทางให้ชีวิต” ผมเองถูกขอให้พูดเรื่อง ศิลปะ (ของการใช้) ชีวิตอยู่บ่อย ๆ ผมก็พูดไปเรื่อยเปื่อย สุดท้ายก็แถมประโยคเด็ดสุด คือ “ตัวใครตัวมันเถอะโยม”


ผมเป็นคนหนึ่งที่เกิดมาชาตินี้ทำอะไรอื่นไม่เป็นเรื่อง นอกจากทำงานศิลปะ เขียนหนังสือ วาดรูป ทำเพลง (แต่ง,ร้อง-เล่น) พูดได้เต็มปากว่า ผมเลี้ยงตัวเลี้ยงกายเลี้ยงใจ ดูแลครอบครัวมาได้ด้วย “ศิลปะ” โดยแท้


แม้จะไม่สามารถทำเงินได้เป็นถุงเป็นถัง แต่ก็เพียงพอ มีอาหารกิน มีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม มีบ้านที่อยู่อาศัย มียารักษาโรค โดยสุขภาพกายผมยังปกติดี ถ้าหากป่วยเป็นโรคร้ายที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากก็ค่อยว่ากัน ซึ่งนั่นปล่อยให้เป็นไป “ตามยถากรรม” ซึ่งเป็นอีกประโยคที่ผมชอบตอบเวลามีใครถามถึง “หลักการดำเนินชีวิต”


คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต สำหรับผมคือ คนที่ ๑. มีอายุยืนยาวเกิน ๘o ปี โดยไม่ถูกโรคร้ายคร่าชีวิตไปเสียก่อน ๒. ได้ทำในสิ่ง(งาน)ที่ตนเองฝันจนบรรลุถึงความโปร่งโล่ง ๓. มีครอบครัว, มิตรภาพ, ที่สวยงาม


ถ้าถามถึงศิลปะการดำเนินชีวิต ผมเองก็ตอบไม่ถูก ได้แต่พูดสนุกปากไปว่า ...ก็อยู่ไปวัน ๆ” คำว่าอยู่ไปวัน ๆ นั้นมีความหมายแตกต่างกันไป ในแต่ละคน อันที่จริงทุกคนก็ล้วนแต่อยู่ไปวันๆ ทั้งนั้น


“อยู่ไปตามยถากรรม” วจีกรรม กายกรรม มโนกรรมก็ว่ากันไป คนเราก็ “ปฏิบัติทำ” กันไป สร้างเหตุไว้ก็รับผลไปนั่นแล


“กินน้อยตายยาก กินมากตายไว” พ่อผมสอนไว้


“นอนหัวค่ำ ตื่นก่อนตะวัน” พ่อแม่สอนมา


กินมากเกินไปเป็นบาป...เพราะถ้าเรากินมาก คนอื่นก็ได้กินน้อย หลังตะวันตกดินไม่ควรกินอะไรเลย..การออกกำลังกายให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน คือไม่แยกการออกกำลังกายออกมาอยู่ต่างหาก และไม่ใช่ว่าออกกำลังกายเพราะกลัวตาย ผมไม่เคยเห็นตายายพ่อแม่ออกกำลังกายแบบที่คนปัจจุบันทำกัน เห็นแต่ท่านเคลื่อนไหวทำงานไปตามปกติชีวิต


ผมเองช่วงหนึ่งชอบขี่จักรยาน พออายุใกล้ ๖o ชอบเดิน...เดินไกล ๆ... ชอบกวาดลานบ้าน


หากผมประสบความสำเร็จในชีวิตตามข้อ ๑. คือ อยู่ยืนยงไปถึงอายุเกิน ๘o ปี ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือ ศิลปะการดำเนินชีวิตสักเล่ม ให้ครอบคลุมทั้งการสุขภาพกาย, จิตวิญญาณ, อุดมคติ, ยิ่งถ้าอยู่ดีมีชีวิตที่งดงามไปได้ถึง ๙o กว่า เหมือนรุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ผม การได้เขียนหนังสือดังกล่าวย่อมเป็นกุศลอย่างยิ่ง หากอยู่ได้เกิน ๑oo ปี หนังสือที่ผมเขียนคงได้รับการยอมรับนับถือ และหลักการดำเนินชีวิต ๒. ประโยคของผม (คือ อยู่ไปวัน ๆ และอยู่ตามยถากรรม) คงได้รับการแจกแจง ขยายความอย่างละเอียดถี่ถ้วน...ก่อนต่อท้ายว่า “ตัวใครตัวมันเถอะ”


วัยใกล้ ๖o เป็นวัยที่ต้องครุ่นคิดเรื่องชีวิตอย่างจริงจังจริง ๆ เสียที ที่ว่า “เรื่องกินเรื่องใหญ่” ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ ถามตัวเองบ่อยครั้งว่า ความรู้ทั้งหลายที่ร่ำเรียนมาตลอดชีวิตนั้นช่วยอะไรได้บ้าง อ่านหนังสือหมื่นเล่มเดินทางหมื่นลี้ ประสบการณ์โชกโชนในชีวิตนั้น ตอบโจทย์ความทุกข์ได้สักข้อไหม


หนังสือประเภท แผนที่ชีวิต ประตูสู่แสงสว่าง หนทางเป็นทุกข์ ทั้งหลายนั้น เรายังต้องอ่านอีกกี่หมื่นเล่ม


การมีอายุยืนยาวเป็นความปรารถนาของทุกคน แม้บางคนไม่ให้ค่าสำคัญที่การมีอายุยืนก็ตาม สำหรับผมซึ่งก็เหมือนคนอื่น ๆ ที่ท่อง “ประโยคสำคัญ ๆ ได้.. เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา... ฯลฯ หากไม่ต้องคิดไปไกล แค่รักษาฟันในปากไว้ให้ดี ไม่ให้หลุดถอนไปก่อนเวลาอันควร ก็นับว่าเป็นความสำเร็จแล้ว


ผมเพิ่งเสียฟันกรามไปหนึ่งซี่ ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อย.. ไม่มีอะไรหรอก



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ปักธงรักตรงนี้...เริ่มต้นที่หัวใจ



เริ่มต้นยามบ่าย ที่ฟ้าสดใสในวันอาทิตย์แสนรื่นรมย์กับงานน่ารัก ๆ ของนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง ดร.วรรณา แผนมุนิน หรือที่นักอ่านรู้จักกันในนามของ สิริมา อภิจาริน หรืออีกหนึ่งนามปากกาว่า “วนวรรณ” ซึ่งฝากผลงานไว้ในแวดวงวรรณกรรมมากมาย โดยงานนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เธอมาร่วมเปิดใจ ใกล้ชิดแฟน ๆ นักอ่าน ในรอบกว่า ๔ ทศวรรษ!!


สิริมา อภิจาริน หรือ วนวรรณ เป็นนักเขียนที่ครองใจคนอ่านมานานกว่าสี่สิบปี จากสำนวนละเมียดละไมลึกซึ้ง และการใช้ภาษาที่ไพเราะจับใจ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เธอเริ่มเข้าสู่เส้นทางสายน้ำหมึกตั้งแต่เป็นสาวสิบแปด และชอบเรียกตัวเองว่า "นักเดินทาง" เพราะถือว่าการเขียนเป็นการเดินทางผ่านสวนอักษรสวยงาม


เสน่ห์ของสิริมา...คือตัวอักษรที่หวานพริ้ม เรื่องราวรักร่มสมัย การดำเนินเรื่องละมุนละไม อ่านพลิน แถมยังมีรอยยิ้มทันทีที่หน้าสุดท้ายจบลง


งานสุดเก๋นี้จัดขึ้นร่วมกับสโมสรคนรักร้านหนังสืออิสระ ร่วมกับร้านหนังสือสตีลโรสเซส บุ๊คคลับ (steel roses) ที่จัดสรรบรรยากาศงานให้อบอุ่นหัวใจ ด้วยนิทรรศการประวัติและผลงานของนักเขียนคนเก่ง ก่อนเปิดใจพูดคุยบนเวที เริ่มต้นด้วยการเปิดวิดีทัศน์ร้อยเรียงชีวิตและผลงานทรงคุณค่า บุคคลผู้ซึ่งรักการเขียนเป็นชีวิตจิตใจ โดยมี กัลยา ศรีธรรมราช เจ้าของร้านสตีลโรส และเป็นผู้แทนจากสโมสรคนรักร้านหนังสืออิสระกล่าวเปิดงาน


จากนั้นก็เปิดใจพูดคุยกับนางเอกของงาน โดยมี รัศมี หาญวจนวงศ์ ร่วมดำเนินรายการสนทนาฮาเฮ เรียกเสียงหัวเราะ ๆ เป็นระยะ และเปิดใจนักเขียนถึงที่มาที่ไปของงาน ทิ้งท้ายด้วยแจกหนังสือคืนกำไรให้กับแฟน ๆ โดยให้อ่านบทความที่ประทับใจจากหนังสือมาเล่าสู่กันฟัง


ด้านบรรดาแฟนคลับนักอ่านที่มาร่วมงานมีทั้งหญิงและชายหลากหลายอาชีพ ที่หวังมาพบปะใกล้ชิดกับนักเขียนในดวงใจและยังมีแขกรับเชิญพิเศษ อาทิ หม่อมหลวงลดาวัลย์ กมลาศน์, อดุล จันทรศักดิ์ (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๕๑), พรธาดา สุวัธนวนิช, นนทิชัย รัตนคุปต์, สะอาด เปี่ยมพงษ์สานต์ นักแสดงรุ่นใหญ่และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ปี ๒๕๕๗ ฯลฯ


พรธาดา สุวัธนวนิช แฟนพันธุ์แท้นวนิยายไทย บอกความรู้สึกว่า “ที่มาร่วมงานเพราะคุณสิริมา คือนักเขียนในดวงใจซึ่งเป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่มีโอกาสพบ ถึงแม้จะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องที่จุฬาฯก็ตาม และก็คิดว่าผู้ที่มาร่วมงานทั้งหมด มาเพียงเพื่ออยากจะบอกว่า ชื่นชอบนักเขียนท่านนี้”


ด้าน นนทิชัย รัตนคุปต์ หรือ "น้านน" ผู้วาดภาพประกอบ ก็ชื่นชมตัวผู้เขียนไม่แพ้กัน “ชอบเขียนภาพประกอบเรื่องให้คุณสิริมา เพราะสนุกกับการอ่านงานทุกชิ้นที่เขียนโดยสิริมาครับ”


มาถึงนางเอกของเรื่อง เธอมีผลงานมากมายที่ทำให้นักอ่านดื่มด่ำมานับต่อนัก อย่าง ดอกไม้บานที่ลองบีช, หยิบดาวบนฟ้าดวงนั้นให้ฉันที, เมื่อน้ำใสไหลริน, วันยุ่ง ๆ (อีกวัน) ของความรัก, หมู่บ้านพระจันทร์ ๑-๒, ความฝัน(ของฉัน)ยังเหมือนเดิม และผลงานนวนิยายเล่มล่าสุด “เริ่มต้นที่หัวใจ” บอกเล่าหลายบทบาทของ "ความรัก" ที่เกิดขึ้นและอยู่เหนือกฎเกณฑ์ใด ๆ


“รัก” ที่ต้องตามมาตรฐานและครรลองของสังคม “รัก” ที่เป็นการเสียสละ และ “รัก” ที่ให้ได้แม้ชีวิต!


บางครั้ง ความรู้สึกหวานปนขมอาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน แต่หลาย ๆ คนก็ใช้ทั้งหัวใจแลกมา เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้า “รัก” และทำทุกอย่างที่ตั้งใจด้วยหัวใจแล้ว ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร แค่ได้พยายามอย่างสุดใจ ก็เพียงพอแล้ว


"ขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่ให้การสนับสนุน และติดตามผลงานทุกเล่มตลอดมา ดีใจมากค่ะในวันนี้ที่ได้มีโอกาสมาพบกัน"


หากใครชื่นชอบงานเขียนสำนวนละมุนดุจดั่งแสงจันทร์หวานที่สาดส่อง รับรองว่าอ่านเล่มไหนๆ ของสิริมา ต้องตกหลุมรักเธอเป็นแน่แท้


อย่างนี้รักเก่าอย่ารอช้า สำหรับแฟนใหม่..ซื้อหาทันที











ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ไอเดียเด็กปรับโฉมพิพิธภัณฑ์



คมคิดและพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ได้โดยง่าย เช่นเดียวกับเยาวชนโครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม หรือ “ยัง มิวส์ โปรเจกท์” ที่มิวเซียมสยามจัดมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปีที่ ๕ เพื่อค้นหาเยาวชนที่รักและสนใจงานพิพิธภัณฑ์ให้ได้มีส่วนร่วมในการสืบสานงานอนุรักษ์ และต่อยอดกระบวนการเรียนรู้ของพิพิธภัณฑ์ไทยให้ก้าวสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้รูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “ดิสคัฟเวอรี่ มิวเซียม” งานนี้ได้ผู้ชนะจาก “ทีมต่อไป” เป็นน้อง ๆ นักศึกษาปี ๔ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังช่วยกันร่วมจุดประกายความคิดปรับปรุง “พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา (Bangkok Dolls)” ครั้งใหญ่หลังจากเปิดมากว่า ๖o ปีและยังไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงเลย






ราเมศ พรหม ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เปิดเผยว่าโครงการนี้เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาตัวของพิพิธภัณฑ์ไปพร้อม ๆ กันกับการเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยใหม่ว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่สถานที่น่าเบื่อ เพราะถือเป็นสะพานเชื่อมโยงรากเหง้าของตัวเอง และสามารถสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจและขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต ซึ่งทักษะหนึ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนรุ่นใหม่คือความคิดสร้างสรรค์ ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์แหลมคมจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคมและชาติต่อไป


ด้าน รศ.อาภัสสร์ จันทวิมล ทายาทคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ผู้สืบทอดเจตนารมณ์อนุรักษ์งานตุ๊กตาไทย พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา กล่าวว่า นับแต่วันแรกที่น้อง ๆ เข้ามาหาข้อมูลบอกว่าจะนำไปประกวดก็อยากให้ฝันของน้อง ๆ สำเร็จ สำหรับบ้านตุ๊กตาในอดีตเรียกว่าทำตามยถากรรมตั้งแต่ปี ๒๔๙๙ ของจัดโชว์ส่วนใหญ่เป็นของสะสมของคุณแม่ เมื่อกระแสพิพิธภัณฑ์มาแรงเมื่อ ๗-๘ ปีก่อน คิดว่าควรเปลี่ยนจากผู้ผลิตศิลปะมาเป็นพิพิธภัณฑ์น่าจะจูงใจเด็ก ๆ และเยาวชนไทยให้เข้ามาเยี่ยมชมได้มากขึ้น นิสัยคนไทยไม่ชอบดูอย่างเดียวเพราะเกรงใจ ต่างจากฝรั่งที่ชอบดูตามดูทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศค่อนข้างมาด จุดเด่นของที่นี่คือทุกชิ้นเป็นงานทำมือ มีการสาธิตให้ชมด้วย






“เราไม่ได้เก็บเงินค่าเข้าชม อยากให้คนไทยเข้ามาเที่ยวบ้าง หลังจากมิวเซียมสยามมาช่วยปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นคิดว่าคนไทยกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของเราจะเข้าชมมากขึ้น แต่จริงๆ ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาชมก็คงสูญหาย เพราะค่าเข้าบำรุงสูงมาก หากเราเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยขึ้น อนาคตก็เป็นตัวอย่างให้ที่อื่น ๆ ปรับให้ทันสมัยได้มาตรฐาน แต่นักศึกษานำเสนอว่าจะวางตุ๊กตาให้น้อยลงจากเดิมจะได้มีความน่าสนใจขึ้น ซึ่งการเคลื่อนย้ายสิ่งจัดแสดงก็ทำให้เจอปลวกก่อนจะสายเกินไป อีกอย่างหนึ่งคือชุดรำแม่บทเดิมมี ๑๙ ท่า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ค้นคว้าเรื่องรำจนพบว่ามี ๖๘ ท่า ต่อมากรมศิลปฯ นำ ๖๘ ท่ามาถ่ายภาพไว้เพื่อการอนุรักษ์ ตอนนี้เราทำตุ๊กตารำแม่บทราว ๓o ท่า เป็นการนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไสทยไว้ในรูปแบบตุ๊กตา หวังว่าต่อไปถ้าใครอยากได้อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ไทยจะนึกถึงบางกอก ดอลล์ และสิ่งที่ต้องเร่งทำโดยด่วนคือคำบรรยายภาษาอังกฤษเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวต่างชาติ” เจ้าของพิพิธภัณฑ์ กล่าว


ในการเข้าไปช่วยปรับปรุงบ้านตุ๊กตา “เจนนี่” อรกาญจน์ หนุนพาณิชพงษ์ ตัวแทนเพื่อน ๆ ทีม “ต่อไป” เล่าแรงบันดาลใจว่า เริ่มจากรู้จักที่นี่จากทางอินเทอร์เน็ตขณะค้นหาข้อมูล รู้สึกว่าอยากมาเห็นกับตา จึงชักชวนเพื่อน ๆ ขับรถมาดูเห็นตุ๊กตาไทยสวยมาก มีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ น่าสนใจดี แต่ก็สงสัยว่าทำไมคนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก น่าจะช่วยพัฒนาต่อยอดให้เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยทางหนึ่ง ซึ่ง โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการวางแผนกับการทำงานจริงนั้นอาจไม่เป็นอย่างที่คิด จากการพูดคุยกับเจ้าของพิพิธภัณฑ์ที่มีประสบการณ์มากกว่า พบว่าการออกแบบใด ๆ ก็ตามต้องคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยไม่ใช่แค่โปลกในอุดมคติที่คิดไปเองว่าดี สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าควรดำรงรักษาบรรยากาศเดิมของที่นี่เอาไว้ และมุ่งพัฒนาวิธีการจัดแสดงมากกว่าเพื่อเพิ่มคุณค่าและเรื่องราวให้แก่พิพิธภัณฑ์






“เจ้าของบ้านให้ข้อมูลว่านักท่องเที่ยวกลุ่มจีน เกาหลี เข้ามาชมเยอะ อยากให้คนไทยมาสนใจบ้าง การปรับปรุงที่พวกเราทำคือด้านกายภาพ และนิทรรศการ ด้านกายภาพพวกเราเรียนสถาปัตยกรรมมา เริ่มจากการปรับปรุงประตูเข้าด้านหน้าจากบานเดียวใหญ่ ๆ ที่พอเปิดเข้าแล้วไปกินเนื้อที่โดยไม่จำเป็น เป็นประตูความกว้างเท่าเดิมแต่แบ่งเป็นสองบานเปิดพับไปคนละด้านประหยัดเนื้อที่ และทำให้เดินง่ายขึ้น ย้ายตู้เอกสารหน้าทางเข้าไปมุมอื่นแล้วนำโต๊ะกลางขนาดไม่ใหญ่มากมาวางแทนเพื่อให้เป็นมุมเช็กอินเซลฟี่สอดคล้องกับยุคนี้ที่คนนิยมเซลฟี่แล้วโพสต์บนโซเชียลเน็ตเวิร์ก กลายเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ทางหนึ่ง ปรับปรุงฉากหลังให้เข้ากับเรื่องราวที่จัดแสดง ปรับสีไม่ให้แย่งความน่าสนใจไปจากของจัดแสดง ไฮไลท์คือตุ๊กตา ”ชุดยกทัพ“ ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดตุ๊กตาจากโปแลนด์ ตอนแรกจัดไว้ในตู้เล็กเลยย้ายมาอยู่ตู้ขนาดใหญ่ขึ้นแล้วทำป้ายอธิบายให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว” คนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์ แจกแจงแนวทางการทำงาน



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














นิทรรศการภาพถ่าย "วิถีคนกับช้าง"



นิคอน สแควร์ ศูนย์บริการและศูนย์รวมกิจกรรมครบวงจรของนิคอน ภูมิใจนำเสนอสายใยความรักความผูกพันระหว่างคนกับช้างผ่านนิทรรศการภาพถ่ายภายใต้หัวข้อ “วิถีคนกับช้าง” สร้างสรรค์โดย อรุณ ร้อยศรี ช่างภาพสารคดีผู้มีผลงานมากมายทางสื่อต่าง ๆ นิทรรศการภาพถ่ายจัดแสดง ณ นิคอน สแควร์ ชั้น ๔๕ อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ สาทร ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๘


ชมผลงานสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างช้างและการดำเนินชีวิตของสังคมไทย ความสำคัญและบทบาทของช้างในด้านต่าง ๆ มีมาแต่โบราณกาลไม่ว่าจะเป็นในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา หรือศิลปวัฒนธรรม จวบจนปัจจุบัน ช้างไทยยัง คงเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังอำนาจและความเฉลียวฉลาด ความสัมพันธ์ระหว่างช้างและการดำเนินชีวิตของผู้คนยังคงแนบแน่น โดยภาพถ่ายที่นำมาแสดงนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวของความรักความผูกพันระหว่างคนกับช้างภายในชุมชนชาวกูยเลี้ยงช้าง แห่งหมู่บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งมีมาแต่ช้านาน


นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงอยู่ ณ แกลเลอรี่ โซน Image Avenue ภายใน นิคอน สแควร์ นอกจากนี้ ผู้มาเยี่ยมเยือนทุกท่านยังจะได้สัมผัสและทดลองผลิตภัณฑ์หลากหลายรุ่น รวมถึงเลนส์และอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย โดยมี Nikon Consultant ผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพพร้อมให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด


ติดตามรายละเอียดกิจกรรมต่าง ๆ ของนิคอน ได้ที่ //www.nikon.co.th และ https://www.facebook.com/NikonThailand



ภาพและข้อมูลจาก
thaipr.net
newsplus.co.th














โฉมใหม่พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตาไม่แพ้ใคร



ครั้งแรกกับการปรับปรุงพื้นที่และพัฒนาการจัดแสดงตุ๊กตาสะสมของ พิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls ให้น่าสนใจและมีความโดดเด่น หวังดึงดูดคนไทยมาเยือนบ้านตุ๊กตามากขึ้น เป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่เพื่อเพิ่มคุณค่าแหล่งเรียนรู้ด้านตุ๊กตาและวรรณคดีของไทย จากโครงการปั้นนักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ครั้งที่ ๕ หรือ Young Muse Project


ในงานเปิดตัวพิพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls โฉมใหม่ที่มิวเซียมสยาม โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมกับ รศ.อาภัสสร์ จันท วิมล เจ้าของพิพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา จัดขึ้นเมื่อวานนี้ พร้อมการเที่ยวชมภายในอาคารจัดแสดงนิทรรศการท่ามกลางตุ๊กตาของไทยเรียงรายอยู่อย่างน่าสนใจในตู้จัดแสดง เช่น ตุ๊กตาโขน ตุ๊กตาแต่งกายแบบไทย ตัวเอกในวรรณคดีไทย ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ตุ๊กตาแสดงวิถีชีวิตชนบท ตุ๊กตาเพื่อนบ้านของไทย และตุ๊กตานานาชาติ พร้อมฉากประกอบการเล่าเรื่องที่ทำใหม่ โชว์ตุ๊กตาตัวโปรดให้เด่นมากขึ้น เป็นแม่เหล็กให้เหล่าคนชอบงานศิลปะต้องใช้เวลากับการชมตุ๊กตาสวยงาม น่ารัก มีเอกลักษณ์ จนถอนตัวไม่ขึ้น


ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ Young Muse Project จัดต่อเนื่องปัจจุบันเป็นปีที่ ๕ ซึ่งการปรับปรุงพิพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา Bangkok Dolls เกิดขึ้นจากไอเดียทีม "ต่อไป" นักศึกษาชั้นปี ๔ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง เป็น ๑ ใน ๓ ทีมชนะเลิศ โครงการผลักดันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่ก่อประโยชน์กับสังคม ปีนี้เน้นพัฒนาพิพิธภัณฑ์และกลุ่มเพื่อนพิพิธภัณฑ์ น้อง ๆ ที่ลงมือทำได้ความรู้ความเข้าใจ และมีประสบการณ์โดยตรงเพิ่มขึ้น ส่วนอีก ๒ ทีมที่จะเปิดตัว ได้แก่ ทีม "หัดบิน" จะเสนอชุดนิทรรศการที่ใช้สัมผัสทั้ง ๕ ของผู้ชมกระตุ้นการเรียนรู้ที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และทีม "เด็กพี่เทพ เมพ ขิง ขิง" นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ในโลกดิจิตอลมาปรับใช้ให้การชมมิวเซียมสยามสนุกมากขึ้น


สำหรับพิพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา ก่อตั้งโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ หลังจากกลับจากเรียนประดิษฐ์ตุ๊กตาจากโรงเรียนโอซาวาดอลล์ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดมา ๕๙ ปีแล้ว แต่ยังไม่มีการปรุงปรับเลยสักครั้ง


รศ.อาภัสสร์ จันทวิมล บุตรชายผู้สานต่อพิพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา กล่าวว่า ที่นี่ประดิษฐ์ตุ๊กตาของไทยที่มีเอกลักษณ์แบบไทยออกเผยแพร่ ในพิพิธภัณฑ์เป็นทั้งที่จัดแสดงและโรงงานผลิตตุ๊กตาชนิดต่าง ๆ ทำด้วยมือทุกขั้นตอน ภายในโรงงานมีห้องแสดงตุ๊กตานานาชาติจำนวน ๔oo ตัว จากการสะสมของคุณแม่เวลาไปเยือนสถานที่ต่าง ๆ ตุ๊กตาแต่ละตัวคือจิตวิญญาณของท่าน และตนสานต่อด้วยความภาคภูมิใจ


"เมื่อกระแสพิพิธภัณฑ์มาแรงเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว เราเปลี่ยนจากผู้ผลิตศิลปหัตถกรรมไทยเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่การจัดแสดงทำตามยถากรรม โชว์คอลเลคชั่นสะสม ตั้งมา ๕o กว่าปี ไม่ได้ปรับปรุงก็โทรมไปตามเวลา เชื่อว่าคนรุ่นใหม่มาพัฒนาพิพิธภัณฑ์ให้ถูกหลักการจัดนิทรรศการและได้มาตรฐาน จะจูงใจคนมาเยี่ยมชมบ้านตุ๊กตาเพิ่มขึ้น ที่นี่ชาวต่างชาติรู้จักดี มีแนะนำในหนังสือไกด์บุ๊กมากมาย เป็นหนึ่งในสถานที่น่าเที่ยวของกรุงเทพฯ มีสาธิตงานแฮนด์เมด แต่ผู้เข้าชมชาวไทยยังน้อยมาก ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอุดหนุนซื้อตุ๊กตาด้วยชื่นชอบศิลปวัฒนธรรมไทย ผมก็คงล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะเราไม่เก็บค่าเข้าชม" รศ.อาภัสสร์เผย


เจ้าของยังกล่าวชื่นใจกับการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์บ้านตุ๊กตา เพราะถ้าเด็ก ๆ ไม่มาทำคงไม่รู้ว่ามีรังปลวกหลายรัง ตุ๊กตาจะถูกทำลายเสียหายหมด อย่าง ตุ๊กตาชุด "รำแม่บท" ต้องอนุรักษ์ไว้ไม่ให้สูญหาย เป็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษ จริง ๆ แล้วมีมากถึง ๖๘ ท่า นักศึกษาบอกว่าตุ๊กตาอยู่กันแออัดไป ตนเห็นด้วยกับการจัดวางให้จำนวนลดลง แต่ไม่อยากให้เอาตุ๊กตาใส่หีบ คุยกันสุดท้ายมีการกระจายตุ๊กตาไปจัดแสดงจุดอื่น การปรับปรุงถือเป็นการยืดอายุพิพิธภัณฑ์ให้ยืนยาวทางอ้อม สิ่งที่จะทำต่อไปเป็นคำบรรยายภาษาอังกฤษประกอบ


เราลองเดินไปหาส่วนจัดแสดงชุด "ยกทัพ" ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกกุมภกรรณ ที่ทีม "ต่อไป" ปรับปรุงมากที่สุด มีการแยกตุ๊กตาโขนออกมาจัดในตู้ขนาดใหญ่ให้โดดเด่น อลังการ จัดแสดงกระบวนทัพฝ่ายพลับพลาเป็นรูปนกอินทรีตามตำราพิชัยสงคราม มีคำอธิบายวางประกอบ เพลินตาเพลินใจ ซึ่งตุ๊กตาชุดนี้คว้ารางวัลชนะเลิศประกวดตุ๊กตาพื้นเมืองนานาชาติที่ประเทศโปแลนด์เมื่อ ๓๗ ปีที่แล้ว


หรือมุมจัดแสดงตุ๊กตาชุด "รำแม่บท ๒๒ ท่า" เดิมอยู่รวมกับตุ๊กตาอื่น ๆ แต่ในโฉมใหม่แยกแต่ละท่วงท่าออกมาให้ดูโดดเด่นขึ้น ทั้งเทพพนม พรหมสี่หน้า พระลักษณ์แผลงฤทธิ์ สารถีชักรถ งูขว้างค้อน กินนรฟ้อนฝูง พิสมัยเรียงหมอน มังกรเล่นน้ำ หนุมานผลาญยักษ์ หลงใหลได้สิ้น มีฉากประกอบพร้อมจัดไฟส่องสว่างที่ทำให้ไม่อาจผ่านเลย


น้องเจนนี่-อรกาญจน์ หนุนพาณิชพงษ์ ตัวแทนทีม "ต่อไป" บอกว่า ทุ่มเททำโครงการนี้ใช้เวลา ๖ เดือน ปรับปรุงและพัฒนาด้านกายภาพ ปรับปรุงประตู ขยายพื้นที่ทางเข้าภายในอาคาร ทำตู้แสดงตุ๊กตาเพิ่ม ขยายพื้นที่เล่าเรื่อง มีทำสี ต่อเติมตู้จัดแสดงเดิม ด้านนิทรรศการก็จัดแสดงตุ๊กตาเป็นหมวดหมู่ ทำป้ายอธิบายความสำคัญ ที่นี่เหมือนบ้านของอาจารย์อาภัสสร์ เราออกแบบโดยรักษาสิ่งที่มีคุณค่าของเจ้าของบ้านตุ๊กตา ไม่ทำลายของเก่าที่มีประวัติศาสตร์


"เรารักษาบรรยากาศเดิมของที่นี่เอาไว้ และปรับปรุงพัฒนาวิธีจัดแสดงเพื่อเพิ่มคุณค่าให้พิพิธภัณฑ์ เดิมตุ๊กตาอัดแน่น ปรับใหม่ดึงตุ๊กตาให้เด่น โชว์ความสวยงามและรายละเอียดชิ้นงาน ตู้ที่เพิ่มเข้ามาเป็นตุ๊กตาวรรณคดีไทย มีรามเกียรติ์ พระเพื่อนพระแพง พระเวสสันดรชาดก รวมถึงเรื่องราวกำเนิดพระเยซู ด้านหน้ามีมุมถ่ายภาพให้คนมาเที่ยวได้เช็กอิน" น้องเจนนี่ นักพิพิธภัณฑ์สายพันธุ์สยาม ชวนมาสนุกกับการเรียนรู้ในบ้านตุ๊กตา ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๘๕ ซอยแยกรัชฏภัณฑ์ (ซอยหมอเหล็ง) ถนนราชปรารภ เปิดวันอังคาร-เสาร์ ปิดวันอาทิตย์ วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา ๘.oo-๑๗.oo น.































ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
FB Museum Siam














สืบสานตำนานไหมนครชัยบุรินทร์



เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกสำหรับผลิตภัณฑ์อาภรณ์จากหัตถกรรมอย่างผ้าไหมไทยในด้านของคุณภาพและเอกลักษณ์ลวดลายเฉพาะตัวอันโดดเด่นไม่เหมือนใคร หนึ่งในนั้นคือ ผ้ไหมจากจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะ “ผ้าไหมนครชัยบุรินทร์” ของดีเลื่องชื่องจากดินแดนอีสานใต้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เหล่าช่างฝีมือผู้ผลิตและถือเป็นการยกระดับให้กับแพรพรรณระดับประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖o พรรษา ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ กลุ่มพัฒนาการจังหวัดสุรินทร์ โดย อรษา โพธิ์ทอง จึงได้ร่วมมือกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดงานมหกรรม “สืบสานไหมนครชัยบุรินทร์” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน


นิรันดร์ กัลยาณมิตร เผยถึงที่มาของ “ไหมนครชัยบุรินทร์” ว่าเป็นความร่วมือกันของผู้ผลิตผ้าไหมจากดินแดนภาคอีสานใต้ ๔ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเส้นทางสายไหม ที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งจังหวัดสุรินทร์นี้ถือเป็นอีกแหล่งผลิตงานหัตถกรรมผ้าไหมไทยที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ สำหรับการจัดงานครั้งนี้มุ่งหวังให้โครงการฯ เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าผ้าไหมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างความได้เปรียบในทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้ผลิตในทุกขั้นตอนให้พื้นที่กว้างขวางยิ่งขึ้น


“ในงานมีการแสดงนิทรรศการภูมิปัญญาผ้าไหมยกทองโบราณ การส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทยของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นิทรรศการส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไหมไทยเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๖o พรรษา รวมถึงการจัดแสดงชุดไทยพระราชนิยม รวมถึงนิทรรศการลานวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของผ้าไหมนครชัยบุรินทร์ พร้อมด้วยการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์โอทอปของช่างฝีมือชาวอีสานที่มาร่วมกันกันประกาศก้องถึงความยิ่งใหญ่ทางวัฒนธรรมอีสานใต้ นอกจากนี้ในแต่ละวันยังมีไฮไลท์ด้วยแฟชั่นโชว์ผ้าไหมไทย พร้อมด้วยโชว์พิเศษจากคณะต่าง ๆ อาทิ หุ่นละครเล็กคลองบางหลวง คณะกันตรึม จังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น”พ่อเมืองสุรินทร์ให้รายละเอียด


ทั้งนี้ อ.วีรธรรม ตระกูลเงิน บุคคลดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทยประจำปี ๒๕๕๑ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมลายไทยและการทอผ้าไทย ให้เกียรติร่วมงานในฐานะวิทยากร เล่าถึงจุดเด่นของผ้าไหมสุรินทร์ว่า พื้นที่นี้มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาตั้งแต่สมัยโบราณดังนั้นชาวสุรินทร์จึงมีความชำนาญด้านการทำผ้าไหม อีกหนึ่งลักษณะเด่นของผ้าไหมสุรินทร์คือ เส้นไหมมีขนาดเล็กและเงางามเรียกว่าไหมน้อยมาตั้งแต่โบราณเฉพาะกลุ่มที่เรียกกว่า กลุ่มเขมรอีสานใต้ซึ่งอยู่ในภูมิประเทศอากาศร้อนชื้น เพราะฉะนั้นจึงต้องทำเส้นไหมให้ได้เล็ก เพื่อเวลาทอผ้าออกมาให้ได้ผ้าบางเบาและแน่นหนา คงทน รวมถึงสีที่ใช้ย้อมไหมก็นำมาจากธรรมชาติ จึงเกิดโทนสีค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ประกวดภาพวาดระบายสี "รถไฟฟ้า เอ็มอาร์ที ของฉัน"



การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) ขอเชิญนักเรียน นักศึกษา สมัครเข้าร่วมการประกวดวาดภาพระบายสีด้วยสีชอล์ค ในหัวข้อ “รถไฟฟ้า MRT ของฉัน” ชิงถ้วยเกียรติยศ พร้อมทุนการศึกษา และเดินทางไปทัศนศึกษาชมรถไฟฟ้า ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น


วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชนใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมากยิ่งขึ้น

๒. เพื่อเป็นการจัดกิจกรรมบูรณาการระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

๓. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติได้รับความรู้ ความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดี ต่อระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนซึ่งเป็นแผนแม่บทของประเทศ

๔. เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนแสดงความสามารถ โดยใช้จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ผ่านการวาดภาพระบายสี


ประเภทผู้เข้าร่วมประกวด แบ่งเป็น ๔ ระดับ โดยแต่ละสถาบันการศึกษาสามารถส่งเยาวชน เข้าร่วมประกวดได้ระดับละ ๒ คน

๑. นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
๒. นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
๓. นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
๔. นักศึกษาระดับอุดมศึกษา


วัน-เวลา การประกวด

นักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
สมัครภายในวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๘
ประกวดในวันเสาร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๘.๓o-๑๒.oo น.

นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
สมัครภายในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘
ประกวดในวันเสาร์ที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๘.๓o-๑๒.oo น.

นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สมัครภายในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘
ประกวดในวันเสาร์ที่ ๒o มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๘.๓o-๑๒.oo น.

นักศึกษาระดับอุดมศึกษา
สมัครภายในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๘.๓o-๑๒.oo น.


สถานที่จัดการแข่งขัน
รถไฟฟ้า MRT สถานีสวนจตุจักร


กติกาการวาดภาพ

สถาบันการศึกษาสามารถส่งเยาวชน เข้าร่วมประกวดได้รุ่นละ ๒ คน

ผู้เข้าร่วมประกวดวาดภาพในแต่ละระดับ ต้องไม่ใช่บุคคลเดียวกันกับผู้ร่วมแข่งขันในกิจกรรม “CHAMPION OF MRT”

ให้ผู้เข้าร่วมการประกวด จินตนาการและวาดภาพระบายสีด้วยสีชอล์ค ที่คณะทำงานจัดการประกวดจัดให้ตามหัวข้อดังกล่าวลงในกระดาษอาร์ต ขนาด ๔ox๓o ซม.

ผู้เข้าประกวดจะต้องกรอกใบสมัคร ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อความสะดวกในการติดต่อกลับภายหลัง

ภาพที่วาดในการประกวดจะต้องสื่อถึง โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ซึ่งรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย ตามหัวข้อ “รถไฟฟ้า MRT ของฉัน”

ผลงานที่วาดต้องเป็นผลงานที่สร้างสรรค์จากตัวผู้เข้าประกวด และดำเนินการวาดภาพในวัน เวลาและสถานที่ ที่กำหนดเท่านั้น จำนวน ๑ ชิ้นงาน

การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด ทั้งนี้ขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่มอบรางวัลหนึ่งรางวัลใด กรณีที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

ผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดเป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
ผู้สมัครไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

กระดาษ สีชอล์ค และอุปกรณ์อื่นๆเกี่ยวกับการวาดภาพ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้จัดเตรียมให้ทั้งสิ้น

ผู้เข้าประกวดจะต้องไม่นำอุปกรณ์อื่น นอกเหนือจากที่คณะทำงานฯ จัดเตรียมไว้ให้เข้ามาใช้งานโดยเด็ดขาด

กรณีที่เกิดข้อขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขัน ขอสงวนสิทธิ์ในการตัดสินให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ และถือเป็นข้อยุติ

ผู้ที่ได้รับรางวัลมูลค่าตั้งแต่ ๑,ooo บาท ขึ้นไป จะถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ ๕ ตามที่กฏหมายกำหนด

พนักงานและครอบครัว ของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) และบริษัทในเครือ รวมทั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมรายการ


กำหนดระยะเวลา

ประกาศผลการตัดสินกิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสีในหัวข้อ "รถไฟฟ้า MRT ของฉัน” ในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ทาง //www.bangkokmetro.co.th

จัดส่งใบสมัครการเข้าประกวด

โทรสาร หมายเลข o๒-๓๕๔-๒ooo ต่อ ๓๒๖๔
E-mail ; bmcl.activities@gmail.com
ติดต่อสอบถาม
แผนกกิจกรรมสังคม บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
น.ส.อทิตยา สงครามยศ โทร. o๒-๓๕๔-๒ooo ต่อ ๓๒๑๙
น.ส.ณิชาภัทร นุตเดชานันท์ โทร. o๒-๓๔๕-๒ooo ต่อ ๓๒๙๑



ภาพและข้อมูลจาก
contestwar.com














รินอักษร วาดรักให้เด็กฟูมฟักจินตนาการ



ปัจจุบันการเลี้ยงลูกในยุคดิจิทัลที่มีสื่อการเรียนการสอนให้เลือกหลากหลายบนแอพพลิเคชั่นต่างๆ ทำให้มีคำถามในใจผู้ปกครองว่า แล้ววัฒนธรรมการอ่านหนังสือของเด็กจะถูกกลืนกินไปหรือไม่ เด็กที่โตมากับสื่อดิจิทัลจะมีจินตนาการเช่นเดียวกับเด็กที่เรียนรู้จากหนังสือที่มีเนื้อหาสาระที่ดี ภาพประกอบที่ดีหรือไม่...


ด้วยเหตุนี้คณะกรรมมาธิการการพัฒนาหนังสือแห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการแห่งสิงคโปร์ จัดงานการประชุม ASIA FESTIVAL OF CHILDREN’S CONTENT 2015 หรือ AFCC 2015 ขึ้นในวันที่ ๓o - ๖ มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ หอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมนักเขียน นักแปล นักวาดภาพประกอบในภาคพื้นเอเชียที่ผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาสำหรับเด็กเป็นปีที่ ๖6 ซึ่งในแต่ละปีจะมีประเทศที่โฟกัสมากเป็นพิเศษสลับหมุนเวียนกันไป


สำหรับปีนี้คือประเทศจีน ทั้งยังได้นำนักเขียนและนักวาดภาพประกอบที่มีชื่อเสียง อาทิ ไช่เกา( Caigao) เมยซือฮัน(Mei Zihan) จาวปิงโป(Zhao Bingbo) มาร่วมเสวนาและแบ่งปันปรัชญาที่แฝงอยู่ในงานเขียนและภาพประกอบเหล่านั้น


นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก มิสแอน ซิม (SIM Ann) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสารสนเทศ,มิสแคลร์ เชียง( Claire Chiang) ประธานคณะกรรมมาธิการการพัฒนาหนังสือแห่งชาติมาร่วมเปิดงานในครั้งนี้อีกด้วย


บรรยากาศในงานเคล้าคลอไปด้วยเสียงเพลงหวานไพเราะจากนักดนตรีอาชีพ โชว์ต่าง ๆ น่ารักน่าสนใจ อาทิ โชว์เล่านิทานจากเด็ก ๆ นานาชาติ ซึ่งเป็นที่ถูกใจผู้เข้าชม ภายในงานอุดมไปด้วยหนังสือจากนักเขียนและนักวาดภาพประกอบที่โด่งดังในภาคพื้นเอเชียมากมาย


ส่วนประเทศไทยเรานั้น ๒ เล่มโชว์โฉมแบบมั่นใจและโดดเด่นที่สุด คือซีรีส์หนังสือชุด “ของขวัญจากพระราชา” โดย สำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์ และ "มังกรไฟไม่เรียนหนังสือ" จากประภาส ชลศรานนท์ แห่งเวิร์คพอยท์สำนักพิมพ์ ซึ่งได้จัดพิมพ์แบบสองภาษา นอกจากเรื่องราวสนุกสนาน ภาพประกอบยังสวยละลานตาและได้รับความสนใจจากต่างชาติเป็นอันมาก


"เกศณี ไทยสนธิ" นักเขียนไทยผู้ที่เดินทางไปร่วมงานครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า ในบรรดาประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าประชากรมีคุณภาพมากทั้งในเรื่องการศึกษานั้น สิงคโปร์เป็นประเทศที่จะอยู่ในลิสต์อันดับต้น ๆ เพราะเขาเห็นความสำคัญของการศึกษา หนังสือและนักเขียน รวมไปถึงกระบวนการของการทำหนังสือ


"โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือของเด็ก ส่วนใหญ่ที่นี่จะทำเป็นสองภาษา จริง ๆ แล้วก็เป็นวิสัยทัศน์ของลีกวนยูนั่นเอง คือมีการก่อตั้งกองทุน Bilingualism เพื่อสนับสนุนจัดหาทุนให้กับสำนักพิมพ์หนังสือ สำหรับเด็กที่ต้องการพิมพ์หนังสือ ๒ ภาษา เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและพัฒนาคนในชาติตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระที่มีปรัชญาแฝงอยู่เสมอ และไม่ใช่หนังสือเด็กอย่างเดียวเท่านั้น หนังสือวรรณกรรมก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมาก ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาสาระที่มีความเป็นเอเชียหรือโปรโมทเอกลักษณ์ของประเทศ เขาจะถือว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่ามาก แต่เหตุผลที่เขาให้ความสำคัญกับหนังสือเด็ก ก็เพราะว่าเด็กเป็นอนาคตที่แท้จริงของชาติ” นักเขียนสาวกล่าวปิดท้าย


แม้ว่าชื่องานจะดูเหมือนเน้นไปที่หนังสือเด็ก แต่ก็มีการเสวนาวรรณกรรมที่เป็นแรงบันดาลใจของนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นงานของอังตวนเซงแต็กซูเปรี "เจ้าชายน้อย" หรืองานที่เสริมสร้างจินตนาการเหนือจริงให้กับเด็ก เช่น แฮรี่ พอตเตอร์ อีกโปรเจกท์หนึ่งที่โดดเด่นในงานคือ Book for Peace ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโร่ (Chihiro Art Museum) เป็นโครงการที่ร่วมมือกันระหว่าง ๓ ประเทศที่มีภูมิหลังทางสงครามอย่างสาหัส ได้แก่ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น นำโดย ยูโกะ ทาเกะซาโกะ( Yuko Takesako) ซึ่งหนังสือที่นำมาแสดงในงานล้วนเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสงครามแต่ความพิเศษคือภาพแต่ละภาพนั้นสามารถถ่ายทอดออกมาให้เด็ก (และผู้ใหญ่อย่างเรา) รักความสงบและสันติภาพได้อย่างเหลือเชื่อ


และในปี ๒o๑๖ Country of focus ก็จะเป็นประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย..แดนซากุระต้องขนไอเดียมามากมายรวมทั้งชาติ เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ คนทำหนังสือและนักวาดจึงมีความสำคัญ และนักอ่านอย่างเรา ต้องเฝ้าติดตาม..



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 14 มิถุนายน 2558
Last Update : 14 มิถุนายน 2558 23:43:16 น. 0 comments
Counter : 2122 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.