happy memories
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2558
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
12 ธันวาคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒๔o





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto









“พระบรมสาทิสลักษณ์ ร.๕” ในนิทรรศการรำลึก ๑oo ปี สงครามโลกครั้งที่ ๑



พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์หิน (Lithography ) โดยศิลปินชาวต่างชาติในสมัยนั้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานศิลปะสะสมของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ล่าสุดถูกนำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการ Belgium, Siam and WWI : เบลเยียม สยาม และสงครามโลกครั้งที่ ๑ จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย ร่วมกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กรมศิลปากร เนื่องในโอกาสที่ปี ๒๕๕๘ เป็นปี ครบรอบ ๑oo ปี ของ สงครามโลกครั้งที่ ๑

โดยภายในนิทรรศการได้นำเสนอภาพถ่าย เอกสาร สิ่งของ และภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมและสยามก่อนสงครามโลก รวมถึงเหตุการณ์ในเบลเยียมช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ และบทบาทของทหารอาสาชาวสยามซึ่ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งไปร่วมรบกับกองทหารสัมพันธมิตรในสมรภูมิยุโรป

ภัณฑารักษ์ ประจำพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป บอกถึงเหตุผลที่ทางพิพิธภัณฑ์ ตัดสินใจนำพระบรมสาทิสลักษณ์ของ รัชกาลที่ ๕ ภาพนี้มาจัดแสดงในนิทรรศการว่า เพราะทางสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดนิทรรศการฯ ต้องการจะให้มี พระบรมสาทิสลักษณ์ของ รัชกาลที่ ๕ มาจัดแสดงในนิทรรศการด้วย เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมและไทย มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แล้ว

“ยกตัวอย่างเช่น กุสตาฟว์ โรลังยัคมินส์ ( เจ้าพระยาอภัยราชา) ผู้ถือได้ว่าเป็นผู้วางรากฐานด้านกฎหมายให้กับประเทศไทย ท่านก็เป็นชาวเบลเยี่ยม ซึ่งเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ช่วงเหตุการณ์ รศ. ๑๑๒ ที่ฝรั่งเศสเอาเรือรบมาปิดปากน้ำของไทย จนทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส

กุสตาฟว์ โรลังยัคมินส์ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจรจาระหว่างไทยและฝรั่งเศส เพราะคนเบลเยียมเขาจะพูดภาษาฝรั่งเศสได้ นอกจากนี้ รัชกาลที่ยังทรงแต่งตั้งให้ กุสตาฟว์ โรลังยัคมินส์ เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และเกร็ดเล็กน้อยที่มากไปกว่านั้นคือ กุสตาฟว์ โรลังยัคมินส์ ยังเป็นผู้ที่ถวายคำแนะนำว่า ถึงเวลาแล้วที่รัชกาลที่ ๕ ควรจะเสด็จประภาสยุโรป”

ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ฯ กล่าวด้วยว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ซึ่งมีผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๕ สะสมไว้หลายชิ้น จะได้นำผลงานศิลปะบางส่วนมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ แม้ว่านิทรรศการส่วนใหญ่ที่จัดให้มีขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ฯ จะเป็นนิทรรศการที่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยร่วมมากกว่า อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาทางพิพิธภัณฑ์ฯ ก็ได้ให้ความสำคัญกับนิทรรศการที่นำเสนอเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ด้วย

“เราต้องไม่ลืมว่าในงานศิลปะก็มีเรื่องของประวัติศาสตร์อยู่ในชิ้นงานนั้น ๆ ด้วย

ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสดีที่พิพิธภัณฑ์ฯ จะได้นำเสนอ พระบรมสาทิสลักษณ์ ของ รัชกาลที่ ๕ ภาพนี้ ซึ่งถือเป็นผลงานศิลปะชั้นสูง และมีคุณค่า นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ฯ ยังขอยืมวัตถุโบราณหลายชิ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลก ครั้งที่ ๑ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาจัดแสดงในนิทรรศการด้วย ผู้ชมเมื่อได้เห็นวัตถุโบราณเหล่านี้ บวกกับเนื้อหาในนิทรรศการ ก็น่าจะทำให้เข้าใจในสิ่งที่นิทรรศการต้องการนำเสนอได้ง่ายขึ้น”

นิทรรศการ Belgium, Siam and WWI : เบลเยียม สยาม และสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างวันนี้ - ๓o ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถ.เจ้าฟ้า































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th













“หอศิลป์ยิ้มสู้” คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คิด



“ความเก่งมันเป็นเรื่องที่นามธรรมมาก เวลาเราไปบอกกับใครว่า คน ๆ นั้น เก่งอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ เพราะคนเรายังติดที่รูปธรรมมากกว่านามธรรม เราคิดว่าศิลปะเป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคนพิการได้อย่างรวดเร็วว่า พวกเขาเก่งอย่างไร”

คือคำกล่าวของ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ หนึ่งในจำนวน “คนพิการตัวอย่าง” ผู้ไม่เพียงจะต่อสู้ชีวิต จนทำให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและสง่าผ่าเผย แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆทั้งที่เป็นคนปกติและคนพิการ อีกเป็นจำนวนมาก

นับตั้งแต่ได้รับกำลังใจจาก มิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์ ซิสเตอร์ตาบอดชาวอเมริกัน( ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนสอนเด็กตาบอด ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทย ) ผู้พยายามพร่ำสอนให้ ศ.วิริยะเชื่อว่า “คนตาบอดทำอะไรได้มากกว่าใครคิด”

ศ.วิริยะ เรียนจบนิติศาสตร์บัญฑิต (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,เนติบัญฑิตไทย จากเนติบัณฑิตยสภา, นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขากฎหมายแพ่ง จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,ปริญญาโทสาขากฎหมายภาษีอากร(LLM. IN TAXATION) จากมหาวิทยาลัย HARVARD ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยเป็นพระอาจารย์สอนวิชากฏหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใน พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ฯลฯ และเคยเขียนหนังสือ “สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ขึ้นมาให้กำลังใจผู้คน ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่สังคมไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔o และนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหนังสือมาก่อตั้ง “มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ”

หลายปีที่ผ่านมาหนึ่งจำนวนงานที่มูลนิธิฯและ ศ.วิริยะ คิดทำเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะคนพิการ คือการเป็นผู้ก่อตั้ง “หอศิลป์ยิ้มสู้” หอศิลป์ฯ ซึ่งรวบรวมผลงานศิลปะของคนพิการจากทั่วประเทศ ภายหลังจากที่ ศ.วิริยะ ได้ตระเวนไปถ่ายทำรายการ “ยิ้มสู้” ตามภูมิภาคต่าง ๆ รายการสารคดี ที่นำเสนอชีวิตของคนพิการที่มีความสามารถโดดเด่นและอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์เพื่อเป็นการปลอบขวัญ และให้กำลังใจแก่คนตาบอด มาใช้เป็นเพลงประกอบรายการ จึงทำให้ได้พบกับคนพิการจำนวนมากที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ (เร็ว ๆ นี้รายการจะกลับมาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์อีกครั้ง หลังจากที่หยุดออกอากาศไปหลายปี)

พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ผลงาน พิภพ เกียรติอำไพ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โปลิโอขาขวา, พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะทรงผนวช ผลงาน ‘มนุษย์เพนกวิน’ เอกชัย วรรณแก้ว ผู้พิการไร้แขน, พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ บรมราชินีนาถ ผลงาน ประณต วัฒนาสวัสดิ์ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง, พระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และภาพนกกระเรียนคู่ ผลงาน ทนง โคตรชมภู ผู้วาดภาพด้วยปาก พิการทางการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาตตั้งแต่คอลงมา, พระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผลงาน วัง แช่มช้อย ผู้วาดภาพด้วยฝีศอก พิการทางร่างกาย ไม่มีมือและเท้า เดินด้วยหัวเข่า, ภาพดอกบัว ผลงาน ลอนสัน โหล่คำ ผู้วาดภาพด้วยเท้า พิการทางกาย ไม่มีแขนทั้งสองข้าง, ภาพหนุมานกับนางเมขลา ผลงาน สมโภชน์ นาคบัว ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง, ภาพกลางวันและกลางคืน ผลงาน อนันต์ ประภาโส ผู้พิการทางร่างกาย, ภาพรอยพระพุทธบาท ผลงาน นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว อัมพาตท่อนล่าง เกิดจากมะเร็งไขสันหลัง, ไม้แกะสลักเป็นรูปช้างและป่าหิมพานต์ ผลงาน ครอบครัวคนหูหนวก จ.เชียงใหม่

เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างผลงานศิลปะของศิลปินผู้พิการ ซึ่งติดแสดงภายในหอศิลป์ฯ (ไม่นับรวมผลงานฝีมืออีกเป็นจำนวนมาก) โดยมี มณี สุขพูลผลเจริญ ภรรยาของ ศ.วิริยะ ทำหน้าที่เป็นผู้คัดสรรผลงานศิลปะ เนื่องจาก ศ.วิริยะ มองไม่เห็น และส่วนใหญ่ซื้อมาเพื่อติดแสดง ไม่จำหน่าย นอกจากผลงานศิลปะบางส่วนที่มีราคาไม่แพงซึ่งศิลปินผู้พิการนำมาฝากขาย

“เพราะหัวใจสำคัญของหอศิลป์ฯ คือ เพื่อให้คนพิการและคนทั่วไปที่มาชม ได้เห็นว่า คนพิการทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และกระตุ้นให้เขาได้ทำในเรื่องที่ท้าทายไม่เช่นนั้น ศักยภาพที่พวกเขามีอยู่ในตัวก็จะถูกกดเอาไว้ แต่ก็ควรเป็นเรื่องท้าทายที่พวกเขาชอบด้วย เพราะคนเราถ้าชอบอะไรแล้ว จะทำสิ่งนั้นได้ประสบความสำเร็จและทำตามหลักอิทธิบาท ๔ ของพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฉันทะ(ความพอใจ) วิริยะ(ความขยันหมั่นเพียร) จิตตะ(ตั้งใจมั่น) วิมังสา (หมั่นคิดตริตรอง)”

ศ.วิริยะผู้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ไม่ปฏิเสธว่าศรัทธาในหลักธรรมหลายอย่างของพระพุทธศาสนา กล่าว แม้แต่ชื่อ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ซึ่ง ศ.วิริยะ ก่อตั้งขึ้น เพื่อทำงานช่วยเหลือคนพิการในหลายส่วน รวมถึงหอศิลป์ฯ ก็ยังมีนัยยะที่ต้องการจะบอกด้วยว่า มูลนิธิฯ ต้องการทำงานร่วมกับคนทุกคนโดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา

“และหลายปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ก็ยังได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ให้ตั้งกล่องทอดผ้าป่า ที่วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร เพื่อหารายได้มาช่วยเหลือคนพิการ”

ใครที่แวะไปชมผลงานศิลปะของผู้พิการที่หอศิลป์ยิ้มสู้ ระหว่างนี้อาจจะพบว่าสถานที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง มีผลงานศิลปะหลายชิ้น ที่ยังไม่สามารถหาพื้นที่แขวนหรือติดตั้งได้ เนื่องจากหอศิลป์ ยังอยู่ในระหว่างการต่อเติมพื้นที่ และการต่อเติมบางส่วนตั้งใจจะทำเป็นห้องเพื่อจัดแสดงผลงานของศิลปินผู้พิการบางท่านโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น นฤพนธ์ ชุติวรรณโสภณ และหากย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๕๔ หอศิลป์ ก็ไม่ต่างจากหลายๆสถานที่ ที่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งที่ช่วงเวลานั้นเพิ่งเปิดหอศิลป์ได้ไม่นาน อย่างไรก็ตาม ที่นี่ถือได้ว่าเป็นหอศิลป์ที่มีผลงานของศิลปินผู้พิการให้ชมมากที่สุด

“เรามีผลงานศิลปะของคนพิการแทบทุกประเภท ยกเว้นคนตาบอด ที่ผลงานภาพวาดของพวกเขาอาจจะยังไม่ถึงเกณฑ์ดีเท่าคนพิการประเภทอื่น งานศิลปะของคนตาบอดส่วนใหญ่จะเป็นงานปั้น และงานฝีมืออย่างงานถักทอ ร้อยลูกปัด ฯลฯ แล้วโดยทั่วไปคนตาบอดที่เราพบ จะมีความสามารถโดดเด่นทางด้านดนตรีมากกว่า แต่คนพิการประเภทอื่น ผลงานภาพวาดของพวกเขาฝีมือสู้ต่างชาติได้เลย ตัวอย่างผลงานของ ทนง โคตรชมภู มีพิพิธภัณฑ์ขอยืมไปจัดแสดงที่สวิตเซอร์แลนด์”

และแม้เวลานี้จะมีผลงานศิลปะของศิลปินผู้พิการเก็บไว้มากพอแล้ว ศ.วิริยะ บอกว่า หอศิลป์ฯ ยังคงไม่หยุดที่จะซื้อหาผลงานศิลปะมาเพิ่มเติม เนื่องจากในอนาคตมีความตั้งใจจะไปเปิดหอศิลป์ยิ้มสู้ในต่างจังหวัดด้วย เพราะยังมีคนพิการอีกเป็นจำนวนมาก ที่มีความสามารถทางด้านศิลปะ และคนทั่วไปยังไม่มีโอกาสได้เห็นผลงาน

“และงานศิลปะเหล่านี้ยังจะไปช่วยเสริมกับงานอื่นๆที่มูลนิธิฯ เรากำลังทำ นอกเหนือจาก ฝึกให้เขาเรียนรู้เรื่องไอที และการลงทุน นั่นก็คือการฝึกให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ”

ร้านกาแฟ ที่กิจการอยู่ในช่วงเริ่มต้น ร้านอาหารที่กำลังก่อสร้าง ใครที่แวะเวียนไปหอศิลป์ยิ้มสู้และสังเกตเห็น ขอให้รู้ว่านี่แหล่ะคือ ก้าวแรกเล็ก ๆ ของการฝึกให้ผู้พิการเป็นผู้ประกอบการ ตามที่ ศ.วิริยะ บอกเล่าให้ฟัง

หอศิลป์ยิ้มสู้ เลขที่ ๒๗/๕ ซอยอรุณอมรินทร์ ๓๙ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทร. o-๒๘๘๖-๑๘๘



























ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th













บันทึกไว้ หลากหลายความทรงจำงดงามเพื่อ “พ่อของแผ่นดิน”



เหล่านี้คือความทรงจำอันงดงามบางส่วนที่เหล่าคนทำงานศิลปะได้มีโอกาสแสดงออกถึงความจงรักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว เนื่องในโอกาสมหามงคล ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๘๘ พรรษา และ วันพ่อแห่งชาติ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทั้งผ่านโลกออนไลน์และบนหน้าปกนิตยสารหลายฉบับ ที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม





ผลงานโดย สุวิทย์ ใจป้อม บนปกนิตยสารขวัญเรือน ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๘





ผลงานโดย เทอดศักดิ์ ไชยกาล บนปกนิตยสาร Sawasdee ของการบินไทย





ผลงานโดย สราวุธ อิสรานุวรรธน์ บนปกวารสารไทยไลอ้อนแอร์





ผลงานโดย ชูศิษฐ์ วิจารณ์โจรกิจ บนปกนิตยสาร "ดิฉัน" ฉบับเดือนธันวาคม ๒๕๕๘





ผลงานโดย พี เซเว่น (P7)





ผลงานโดย ทอม โพธิสิทธิ์
(ภาพคอลลาจจากการเดินทางไปถ่ายภาพคนไทยถวายพระพรจากทั่วโลก
นำมาประกอบเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)






ผลงานโดย ศศิ วีระเศรษฐกุล





ผลงานโดย ศิริกุล ปัตตะโชติ ศิลปินไทยในนิวยอร์ก





ผลงานโดย เกียรติอนันต์ เอี่ยมจันทร์





ผลงานโดย น้องกาโม่





ผลงานโดย วัลลภ สำแดงพันธุ์





ผลงานโดย นลินนา ลี





Cover Page ผลงานโดย "มุนิน" นักวาดภาพประกอบหญิง
วาดเพื่อใช้ประกอบสารานุกรมไทย ฉบับเยาวชน ปี ๒๕๕๘






Cover Page ผลงานโดย Let's Comic





Cover Page ผลงานโดย นายวงศกร อาจญาศรี นักศึกษาสาขาดิจิทัลอาร์ต
ชั้นปีที่ ๔ คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม






Cover Page ผลงานโดย นายพรเทพ ธิติมาธนาภรณ์ นักศึกษาสาขาดิจิทัลอาร์ต
ชั้นปีที่ ๔ คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม






Cover Page ผลงานโดย นายวสุรัตน์ อังคะนาวิน นักศึกษาสาขาดิจิทัลอาร์ต
ชั้นปีที่ ๔ คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม






Cover Page ผลงานโดย สราวุธ อิสรานุวรรธน์





Cover Page ผลงานโดย Makkhana Nattapol



ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














'ความสุขของพ่อ'เฉลิมพระเกียรติ ๘๘ พรรษา



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองด้วยพระองค์เอง แสดงถึงทรงมีความรู้ความสามารถอย่างแตกฉานในทฤษฎีการประพันธ์ดนตรี เป็นหนึ่งในบทเพลงแผ่นดินที่อัญเชิญไปบรรเลงในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุด "การเดินทางของความสุข" ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จัดโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เพื่อให้คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เพลงแผ่นดินเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของพระอัจ ฉริยภาพ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรตินี้ยังถ่ายทอดเรื่องราวจากปลายปากกาของพ่อ เสนอพระปรีชาสามารถทางด้านภาษา, พระผู้สร้างศูนย์รวมใจ เสนอพระปรีชาสามารถด้านสถาปัตยกรรม, ความสุขจากปลายพู่กันที่ทรงสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์

ความสุขในการถ่ายภาพของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสนอผ่านโซนกล้องของพระราชา รวมถึงพระผู้ออกแบบความสุข ผู้ชมได้สัมผัสถึงพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบ ส่วนโซนเรือใบ ใจกล้า จัดแสดงมีเรือใบมดจำลอง เป็นเรือใบจากฝีพระหัตถ์ พ่อหลวงทรงออกแบบและต่อขึ้นด้วยพระองค์เอง เรือใบมดนี้มีความเร็วมากขึ้น ตัวเรือคงทน แข็งแรง สู้คลื่นลมได้ดี แสดงพระอัจฉริยภาพด้านการต่อเรือ ความสุขใน ๗ ด้านรวบรวมไว้ในนิทรรศการชุดนี้

ชาย นครชัย ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กล่าวว่า เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘o พรรษา จัดนิทรรศการเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ทรงสร้างสรรค์งานศิลปะหลายด้านเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถ และทรงได้รับการน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญานามว่า "อัครศิลปิน" นิทรรศการชุด "การเดินทางของความสุข" เรียงร้อยเรื่องที่ในหลวงทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อทรงงานเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร ทรงเป็นตัวอย่างของพระราชาผู้พอเพียง ทรงใช้ทรัพยากรเวลาอย่างมีค่า ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เพื่อทรงงาน การเรียน การเล่น ทรงสร้างความสุขโดยทรงงานศิลปะที่พระองค์สนพระราชหฤทัย ประกอบกับทรงเป็นนักทดลอง ทรงเพียรพยายามเรียนรู้ด้วยพระองค์เอง จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนไทยประพฤติตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท

"ในหลวงทรงเป็นแบบอย่างที่ดีให้เราได้ก้าวเดินตามรอย และเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทั้งในด้านการใช้ชีวิต การทำงาน และทำในสิ่งที่เรารักไม่ว่าจะด้านใดก็ตามได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน นิทรรศการชุดนี้เริ่มจัดแสดงในวันพ่อต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนมกราคมปีหน้าที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน" ชายกล่าว

๘๘ พรรษา มหาราชา อีกไฮไลต์นอกจากนิทรรศการ "การเดินทางของความสุข" สศร.เตรียมเปิดนิทรรศการ "ราชสกุลมหิดล ราชสกุลแห่งแรงบันดาลใจด้วยรักศิลปะและประชาชน" กลางเดือนธันวาคมนี้ เป็นอีกนิทรรศการที่ประชาชนจะได้รู้จักและเข้าถึงครอบครัวของพ่อหลวง

ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยกล่าวว่า ราชสกุลมหิดลเป็นโครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ รวม ๑๔ พระองค์ ในหลวงทรงเป็นกษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก มีพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ รวมถึงโครงการพระราชดำรินับไม่ถ้วน แต่ด้วยการจัดสรรเวลาของพระองค์ ทำให้ทรงใช้เวลากับงานศิลปะที่ชื่นชอบได้ สิ่งเหล่านี้ได้รับการสืบทอดและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่พระราชโอรสและพระราชธิดา แรงบันดาลใจนี้ยังคงอยู่ราชสกุลทุกพระองค์ ดังปรากฏเป็นพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทางศิลปะ นิทรรศการเนื่องในโอกาสมหามงคลนี้จะจัดแสดงหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นกัน

พสกนิกรไทยสามารถเดินทางมาชมนิทรรศ การได้ฟรี ฟังเพลงพระราชนิพนธ์ของพ่อ ดูงานศิลปะที่พ่อหลวงวาด ชมภาพพระราชกรณียกิจ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ และร่วมลงนามถวายพระพร แสดงพลังความจงรักภักดีที่มีต่อพ่อหลวงในโอกาสเจริญพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา.



















ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com













เปิดวังรื่นฤดี ชมสมบัติล้ำค่า-พระประวัติ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์



เนื่องในวาระ ๙o ปีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนาเปิดพระตำหนักวังรื่นฤดีให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมนิทรรศการ “การเดินทางของดอกไม้” เพื่อศึกษาพระประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ที่เรียงร้อยผ่านเรื่องราว ตั้งแต่แรกประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์ อีกทั้งยังได้อัญเชิญเครื่องประดับอันเป็นมงคลสูงสุด “จี้พระบรมฉายาลักษณ์บรรจุเส้นพระเจ้า (เส้นผม) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ “เข็มกลัดพระนามาภิไธย วปร.บรรจุเส้นพระเจ้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” มาจัดแสดง ระหว่างวันที่ ๗-๑๓ ธันวาคม เวลา ๑o.oo- ๑๖.oo. ณ วังรื่นฤดี สุขุมวิท ๓๘

สำหรับนิทรรศการ “การเดินทางของดอกไม้” แบ่งการจัดแสดงออกเป็น การแสดงของใช้ส่วน พระองค์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ พร้อม พระประวัติตั้งแต่แรกประสูติจนถึงสิ้นพระชนม์ โดยแบ่งเป็น ๕ ตอน ได้แก่ “เชิญดอกไม้” พระประวัติก่อนประสูติ จนถึงประสูติกาล “ในสวนรื่นฯ” จับเรื่องที่ประทับเมื่อทรงพระเยาว์ “ชื่นต่างแคว้น” การเดินทางไปศึกษาและรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ “คืนแดนสยาม” พระกรณียกิจเมื่อกลับมาประทับเป็นการถาวรในเมืองไทย และ “สถิตพระนามแห่งดวงแก้ว” บั้นปลายพระชนมชีพจนถึงสิ้นพระชนม์ โดยการจัดแสดงนั้น ได้อัญเชิญสิ่งของส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ มาจัดแสดงเพื่อให้ผู้เข้าชมได้สักการะและชื่นชม รวมทั้งได้เชิญพระธำมรงค์หมั้นและพระธำมรงค์ราชาภิเษกสมรสของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี มาจัดแสดงพร้อมกับเครื่องประดับและของใช้ส่วนพระองค์ ส่วนที่สองคือร้านน้ำชาในสวนริมน้ำบริเวณด้านข้างพระตำหนัก ที่ให้บรรยากาศร่มรื่นและสดชื่นของวันแห่งฤดูหนาว มีเครื่องว่างรับประทานคู่กับน้ำชาที่เลือกสรรมาโดยเฉพาะ และส่วนที่สามคือ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้า “รื่นฤดี” ที่มีของรับประทานขึ้นชื่อของวังรื่นฤดี เช่น น้ำพริกปลากุเลา น้ำพริกมะขามสด น้ำปลาเสวย กระเทียมดอง ขิงดอง ผัดพริกขิงปลาดุกฟู แยมผิวส้ม ขนมโก๋ และของใช้ เช่น จำปาดอง กระเป๋า นาฬิกา.







































ภาพและข้อมูลจาก
thairath.co.th
บล็อกคุณ Tui Laksi













ศาสตร์และศิลป์บนผืนผ้า วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์



“ยากที่จะดูว่าใครรวยใครจน นอกจากจะรู้ราคาชนิดผ้าที่นุ่งห่มนั้น” โยส เซาเต็น ผู้จัดการบริษัทฮอลันดาแห่งอินเดียตะวันออก (พ.ศ. ๒๑๔๓-๒๑๘๓) ในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง บันทึกไว้ในจดหมายเหตุ ต่อข้อสังเกตของบทบาทและสถานะทางสังคมของชาวอยุธยา

วิจิตร ตระการตา สมชื่อจริง ๆ สำหรับนิทรรศการ วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์ เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เดิมทีนิทรรศการจะเปิดให้ชมเพียง ๘๓ วันเท่านั้น

แต่ด้วยความที่มีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทางกรมศิลปากรจึงขยายเวลาให้เข้าชมไปจนถึง ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙

คราวนี้มาดูกันว่าในนิทรรศการนี้มีความวิจิตรและตระการตาเพียงใด

ด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าในราชสำนัก โดยเฉพาะผ้าปักไทยซึ่งเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นสูง และผ้าทอมือชิ้นเยี่ยมแบบต่าง ๆ รวมทั้งวิธีดูแลรักษาผ้าตามหลักการอนุรักษ์

ภัณฑารักษ์ของสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จึงได้คัดสรรหัตถกรรมผ้าและเครื่องแต่งกายที่ทำจากผ้าจำนวน ๑๘๓ รายการ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ๒o แห่ง รวมทั้งเครื่องแต่งกายละครของครูนาฏศิลป์จากสำนักการสังคีต กล่าวได้เน้นผ้าชิ้นเยี่ยมที่ไม่เคยจัดแสดงที่ไหนมาก่อนไม่ว่าในประเทศ หรือต่างประเทศ คัดมาให้ชมใน วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์ เป็นครั้งแรก

ผ้าที่นำมาแสดงประกอบไปด้วย ผ้าที่ได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนางชั้นสูงและทายาท จากกระทรวงวัง เช่น คลังใน กรมพระภูษามาลา กรมพิณพาทย์และโขนหลวง

รวมทั้งผ้าที่ได้รับจากการบริจาคและจัดซื้อ ประกอบด้วย ฉลองพระองค์ เครื่องแต่งกายของอดีตเจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง ข้าราชการฝ่ายปกครองและสตรีชั้นสูง และหัตถกรรมสิ่งทอของกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคต่าง ๆ

ที่น่าสนใจ คือ มีการจัดแสดงวิธีการอนุรักษ์ผ้าโบราณ พร้อมคำแนะนำให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงขั้นตอนและวิธีการเก็บรักษาผ้าอย่างถูกวิธีอีกด้วย

เสาร์ – อาทิตย์ ชวนผู้ใหญ่และเด็กที่บ้านไปเที่ยวชมมรดกไทยที่บรรพบุรุษสร้างสมมาแต่ครั้งก่อน ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ค่าเข้าชมเพียง ๓o บาท เปิดให้ชม ๙.oo -๑๖.oo น.

พิพิธภัณฑ์ไทยน่าชมไม่แพ้ใคร



























ภาพและข้อมูลจาก
FB กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์













“อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข” ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “สมเด็จพระเทพฯ”


เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมตามรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ล่าสุด สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม จัดนิทรรศการ “อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข” แสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๕๘ เพื่อจัดแสดงในนิทรรศการ จำนวน ๑๕๘ ภาพ

โดยแต่ละภาพที่นำมาจัดแสดง นอกจากเป็นภาพที่สวยงามทรงคุณค่าทางศิลปะการถ่ายภาพแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองจากสายพระเนตรที่ทรงประสบพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงสนพระราชหฤทัยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่าย ภาพถ่ายถูกจัดแสดงตามหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ ผู้คน, ฉลอง, โลกกว้าง, ดอกไม้,มุมมองสีสัน, สถาปัตยกรรม และสิงสาราสัตว์

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีส่วนที่จัดแสดงภาพถ่ายของเค้กที่มีคณะบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖o พรรษา พร้อมการฉายวีดีทัศน์ที่ สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายเกี่ยวกับภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

“ปีนี้เป็นปีที่ข้าพเจ้าอายุ ๖o ปี ตั้งแต่ปีที่แล้วใคร ๆ พากันให้เค้กแบบต่าง ๆ มาถึงตอนนี้มีถึง ๑๑๕ ก้อน (สถิติถึงวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘) ในนิทรรศการนี้ ผู้จัดจึงเลือกรูปเค้กหลายรูป นอกจากนั้นยังมีคนจัดงานเพื่อเป็นเกียรติแก่ข้าพเจ้าหลากหลายรูปแบบ ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในไมตรีจิตของทุกท่านที่มีต่อข้าพเจ้า ในปีนี้ข้าพเจ้ายังได้ไปประเทศต่าง ๆ ทั้งที่เคยไปแล้ว และยังไม่ได้ไป ประเทศที่เพิ่งเคยได้ไปมีทาจิกิสถาน ตุรกี และเอสโตเนีย (ประเทศหลังนี้ต้องไปใส่ในนิทรรศการปีหน้า)

อยู่มาถึงตอนนี้ถือว่าอยู่มานาน ผู้รับราชการอย่างข้าพเจ้าก็ต้องเกษียณอายุเป็นธรรมดา ทำให้ต้องปรับตัวปรับใจอยู่บ้าง สุขภาพจะให้ดีเท่าแต่ก่อนก็เป็นไปไม่ได้ แต่กาลเวลาที่ผ่านมาก็ช่วยทำให้รู้จักคนมากขึ้น ได้เพื่อนดี ๆ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น และได้ชิมของที่ไม่เคยมาก่อน ได้ทำงานที่คิดว่าคุ้มค่า คือทำให้ตัวเองและผู้อื่นมีความสบายมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่ามาจากกาลเวลาที่อยู่มานาน มีประสบการณ์ที่ช่วยในการรับรู้และแยกแยะสิ่งที่รับรู้ด้วยอินทรีย์(Senses) ทั้ง ๕ หรือ ๖ (แล้วแต่จะคิด) และนำพาให้เกิดความสุข ขอแบ่งปันความสุขนี้แก่ทุกท่านด้วยภาพในบ้าน นอกบ้าน ทั้งในประเทศและนอกประเทศ ขอบคุณด้วยความจริงใจ”

"อยู่มานาน กาลเวลาพาสุข" นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๘- ๖ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ ชั้น ๙ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร































































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th













นิทรรศการอัครศิลปินในกิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ



กระทรวงวัฒนธรรม เชิญชวนประชาชนชมนิทรรศการอัครศิลปิน ในกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD ที่สนามเสือป่า วันที่ ๑๑ - ๑๓ ธันวาคมนี้
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในกิจกรรมจักรยานเฉลิมพระเกียรติ ปั่นเพื่อพ่อ BIKE FOR DAD ภายใต้หัวข้อ “อัครศิลปิน” พระองค์คือผู้เป็นใหญ่ในหมู่ศิลปิน จำลองหออัครศิลป์ไปเคียงวัง ที่บริเวณสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ ธันวาคม โดยจำลองสถาปัตยกรรมอาคารหออัครศิลปิน นำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และพระปรีชาสามารถทางด้านศิลปวัฒนธรรมของอัครศิลปิน โดยอัญเชิญตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ มาประดิษฐานบนแท่นกลางห้องโถง ประกอบด้วย ๔ โซน ได้แก่ โซนศิลปวัฒนธรรมด้านวรรณศิลป์, โซนปั่นรักพ่อ สานต่องานศิลป์ เทิดพระเกียรติอัครศิลปิน, โซนนิทรรศการถวายพระพรชัยมงคล และโซนพระปรีชาสามารถด้านดนตรีและพระราชนิพนธ์เพลง จัดแสดงผ่านบอร์ดนิทรรศการรูปเลข ๙ อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์อัครศิลปินขณะทรงแซกโซโฟน ด้านหน้าตรงกลางบอร์ดเลข ๙ นี้ มีแซกโซโฟนจำลองและสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องสื่อถึงพระปรีชาสามารถ โดยประชาชนสามารถเข้าชมได้ที่บริเวณสนามเสือป่า ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ ธันวาคมนี้



ภาพและข้อมูลจาก
crru.ac.th
nwnt.prd.go.th













สภากาชาดไทย อัญเชิญพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเทพฯ
จัดพิมพ์เป็น ส.ค.ส. ปี ๒๕๕๘



เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และเนื่องในโอกาสเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ สภากาชาดไทย จึงได้อัญเชิญ “พระฉายาลักษณ์” สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ที่ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้สภากาชาดไทย นำมาจัดพิมพ์เป็น ส.ค.ส. กาชาด ประจำปี ๒๕๕๘ เพื่อเป็นการร่วมส่งมอบความสุขต้อนรับเทศกาลปีใหม่

นอกจากนี้ สภากาชาดไทย ยังได้จัดพิมพ์บัตรอวยพรอเนกประสงค์ ชุด กุหลาบแห่งรัก (Roses of Love) เพื่อใช้ส่งความสุขในโอกาสต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานภาพวาดของอาจารย์สมาน คลังจัตุรัส ประธานกลุ่มศิลปินอิสระ’ ๙๖ มี ๔ ภาพ ประกอบด้วย กุหลาบควีนสิริกิติ์ (Queen Sirikit Rose) กุหลาบพระนามสิรินธร (Princess Maha Chakri SirindhornRose) กุหลาบไวท์มาสเตอร์พีช (White Masterpiece Rose) และกุหลาบซุปเปอร์สตาร์ (Super Star Rose) ขนาด ๖.๗๕ x ๔.๗๕ นิ้ว จำหน่ายในราคาโหลละ ๘๕ บาท เพื่อนำเงินรายได้โดยเสด็จพระราชกุศลบำรุงสภากาชาดไทย สมทบการดำเนินภารกิจเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสในสังคมต่อไป

สภากาชาดไทย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมส่งความสุขถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ในเทศกาลปีใหม่ประจำปี ๒๕๕๘ หรือในโอกาสพิเศษอื่น ๆ ด้วยการร่วมสั่งจองบัตรอวยพรปีใหม่ และบัตรอวยพรอเนกประสงค์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และสั่งจองได้ที่ สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย ตึกอำนวยนรธรรม ชั้น ๒ โทร. o-๒๒๕๖-๔๔๔o, o-๒๒๕๕ ๙๙๑๑ ต่อ ๑๒๔ และ o-๒๒๕๖-๔๖๒๓ หรือ //www.redcrossfundraising.org







ภาพและข้อมูลจาก
redcross.or.th
posttoday.com
redcrossfundraising.org













Night Museum สัมผัสความงามของ "สถาปัตยกรรมวังหน้า"
และ "จิตรกรรมฝาผนังยุครัตนโกสินทร์" ยามค่ำคืน



ใคร ๆ ต่างหลงใหลเสน่ห์ยามค่ำคืน...และพร้อมใจกันจัดกิจกรรมขึ้นในช่วงเวลาพิเศษ ปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ๓๘ แกลเลอรี่ทั่วกรุงเทพฯ โดยการสนับสนุนของ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย พร้อมใจกันเข้าร่วมกิจกรรม Galleries Night

จากนั้น วันที่ ๒๙- ๓o มกราคม ๒๕๕๙ ราว ๓o แกลเลอรี่ในตัวเมือเชียงใหม่ ก็จะมีกิจกรรมในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้น และก่อนที่จะเข้าสู่ปีใหม่ ด้าน มิวเซียมสยาม ย่านท่าเตียน จัดกิจกรรมส่งท้ายปี Night at the Museum Siam ให้ผู้สนใจเข้าไปเที่ยวชมและร่วมกิจกรรม ในช่วงเวลาเย็นย่ำจนถึงค่ำคืนของวันที่ ๑๗ - ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๖.oo -๒๒.oo น.

รวมถึง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ทุกวันศุกร์และเสาร์ตั้งแต่บัดนี้จนถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ จัดกิจกรรม Night Museum หรือ ยลวังหน้ายามเย็น เยือนพิพิธภัณฑ์ยามค่ำ เพื่อให้ผู้สนใจได้มีโอกาสเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในช่วงเวลาพิเศษ เวลา ๑๖.oo - ๒o.๓o น.

เพื่อสัมผัสความงามของ สถาปัตยกรรมวังหน้า ในยามค่ำคืน ,นมัสการ พระพุทธสิหิงส์ พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง พร้อมชม จิตรกรรมฝาผนังยุครัตนโกสินทร์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์,ชมนิทรรศการพิเศษ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน, ชมพระตำหนักแดง ที่ประทับของเจ้านายฝ่ายในที่สำคัญหลายพระองค์, นิทรรศการพิเศษ วิจิตรภูษาพัสตราภรณ์ ซึ่งจัดแสดงอิสริยพัสตราภูษาภัณฑ์ ผ้าเขียนทองโบราณ ผ้าหายากจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั่วประเทศ ฯลฯ ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตลอดจนชมความอลังการในงานประณีตศิลป์ของ ราชรถ ราชยาน และเครื่องประกอบพระอิสริยยศในงานพระเมรุ ณ โรงราชรถ

ทั้งนี้พิพิธภัณฑ์ได้จัดเตรียมวิทยากรนำชม วันละ ๒ รอบ รอบแรก เวลา ๑๗.๓o - ๒o.oo น.และรอบที่สอง เวลา ๑๗.๓o -๒o.oo น.

“พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ว่าไปแล้วก็เปรียบเป็น หอพระ ของ พระราชวังบวรสถานมงคล หรือว่า วังหน้า จิตรกรรมภายในพระนั่ง วาดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ แต่อย่างไรก็ดีที่ผ่านมา มีการซ่อมแซมตลอดเวลา และมีบางส่วนที่ยังเก็บรักษาภาพแบบเก่าเอาไว้ จิตรกรรมเหนือหน้าต่างเป็นภาพเทพชุมนุม ตามคติไตรภูมิในพุทธศาสนา ส่วนจิตรกรรมระหว่างหน้าต่างวาดภาพพุทธประวัติ คนเรียนศิลปะ จะรู้จักภาพจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ว่าเป็นตัวอย่างของงานช่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ค่อนข้างชัดเจน”

เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวถึงความน่าสนใจของจิตรกรรมฝาผนังภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งน่าดูน่าชมภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เดิมชื่อ “พระที่นั่งสุทธาสวรรย์” หรือ “พระที่นั่งพุทธาสวรรย์” สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์

ราว พ.ศ. ​๒๓๓๘ หลังสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคต ได้มีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ไปประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระที่นั่งพุทไธสวรรย์จึงถูกใช้เป็นพระที่นั่งท้องพระโรง กระทั่งสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ลักษณะภายนอกจึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยรัชกาลที่ ๔ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ กลับมาประดิษฐานดังเดิม พร้อมทั้งเปลี่ยนนนามเป็น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์)

นอกจากนี้ Night Museum ยังจัดกิจกรรมในลักษณะกาล่าดินเนอร์ ให้ผู้สนใจได้อิ่มเอมกับ อาหารมื้อค่ำแบบชาววัง พร้อมชมการแสดง นาฎศิลป์และการบรรเลงเครื่องสายจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์

จัดขึ้นเพียง ๕ รอบ รอบแรก (ผ่านพ้นไปแล้ว) วันศุกร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘, รอบที่สอง วันศุกร์ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘, รอบที่สาม วันศุกร์ที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙, รอบที่สี่ วันศุกร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ และรอบสุดท้าย วันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๙ ผู้สนใจสามารถสำรองบัตรได้ที่ โทร. o-๒๒๒๔-๑๓๗o และ o-๒๒๒๔-๑๔o๔

และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘๘ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ และ "วันพ่อแห่งชาติ" ระหว่างวันที่ ๑- ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทั้งช่วงเวลาปกติและเวลาพิเศษ พิพิธภัณฑ์ฯ ยังเปิดให้ประชาชนเข้าชม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย







































ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th













เส้นสายลายเส้น “บวร”



เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 88 พรรษา ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ คณะกรรมการมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร ร่วมกันจัดนิทรรศการ เส้นสายลายเส้น “บวร” ผลงานโดย อ.ศุภกิจ อุตตรนคร เลขาธิการ และกรรมการมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นประธานเปิดงานในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๓.oo น. ณ ห้องแสดงภาพมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร ถนนสุขุมวิท ๓๙

ลลิสา จงบารมี ประธานมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร กล่าวว่า คณะกรรมการมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร และ อ.ศุภกิจ อุตตรนคร ศิลปินเจ้าของผลงาน เส้นสายลายเส้น “บวร” ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับราษฎรอย่างอเนกอนันต์ตลอดพระชนม์ชีพ และเพื่อเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคม จึงจัดนิทรรศการ เส้นสายลายเส้น “บวร” เพื่อที่จะถ่ายทอดแนวคิดที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้กับเยาวชนที่อยู่ห่างไกล ได้มีโอกาสรับรู้เกี่ยวกับสถานที่ ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีความรุ่งเรืองงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม อันเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติ และเพื่อเป็นการสอดคล้องกับการใช้คำว่า “บวร” มาขยายความ

ภาพวาดส่วนหนึ่งของนิทรรศการ เส้นสายลายเส้น “บวร”

โดยผ่านเส้นสายลายปากกาของ อ.ศุภกิจ อุตตรนคร ให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น “บ” หมายถึง บ้าน หรือวัง ซึ่งเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน, “ว” หมายถึง วัด ที่รวมความศรัทธาของผู้นับถือศาสนา และ “ร” หมายถึง โรงเรียน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการศึกษา เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้เห็นคุณค่า มีความซาบซึ้งในงานศิลปะ และเกิดความหวงแหนที่จะอนุรักษ์มรดกสมบัติอันล้ำค่าทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอย่างยั่งยืนต่อไป โดยผลงานดังกล่าวจะมอบให้กับสถานศึกษาทั้ง ๗๗ จังหวัด จำนวน ๖oo ภาพ ใส่กรอบอย่างสวยงาม พร้อมที่จะนำไปติดตั้งให้กับทั้ง ๒oo โรงเรียน

ด้าน อ.ศุภกิจ อุตตรนคร เลขาธิการ และกรรมการมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร และศิลปินเจ้าของผลงาน เส้นสายลายเส้น “บวร” กล่าวว่า นิทรรศการ เส้นสายลายเส้น “บวร” เป็นความฝันของตนที่อยากจะทำสิ่งที่ดี ๆ ตอบแทนสังคม และสืบเนื่องที่ตนได้เห็นบรรพบุรุษสร้างสรรค์ชิ้นงานทางด้านสถาปัตยกรรม สร้างลวดลาย สร้างทรวดทรง สีสัน ในงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าอย่างมหาศาลและทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ พอมาถึงยุคของตนได้ร่ำเรียน และซาบซึ้ง จนเกิดความรู้สึกที่จะถ่ายทอดให้กับเยาวชนที่มีใจรักด้านศิลปะ ที่มีเอกลักษณ์ประจำประเทศเราเอง ภายใต้นิยามคำว่า “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน

คุณหญิงโรส บริบาลบุรีภัณฑ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ พร้อมด้วย ลลิสา จงบารมี, อ.แนบ โสตถิพันธุ์, อ.ศุภกิจ อุตตรนคร และ อ.กมล ทัพคัลไลย

ทั้งนี้ นิทรรศการ เส้นสายลายเส้น “บวร” จะจัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘-๑๖ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑o.oo-๑๘.oo น. ณ ห้องแสดงภาพมูลนิธิธารศิลป์รักษ์จิตรกร ถนนสุขุมวิท ๓๙ สอบถามเพิ่มเติม โทร. o๒-๒๕๘-๕o๗๖































ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
tarnsilp.com













“รูปที่มีทุกบ้าน” ภาพถ่ายกว่า ๒oo ผลงานของเด็กๆผู้พิการทางสายตาจากทั่วประเทศ



“หัวใจถ่ายภาพ” ไม่ได้แค่หมายความถึงการที่คนตาบอดมีความสามารถในการถ่ายรูปได้สวยงาม เพราะการได้ภาพถ่ายที่สวยงามเป็นเพียงผลพลอยได้จากการใช้หัวใจในการเข้าถึงเด็ก และปรับใช้วิทยาศาสตร์การถ่ายภาพให้เหมาะสมกับคนตาบอด แต่สิ่งที่เป็น “หัวใจ” ของ “หัวใจถ่ายภาพ” คือการปลูกต้นไม้ดอกไม้งาม ๆ ในหัวใจของเด็ก ๆ เหล่านี้ เพื่อที่สุดแล้วเขาจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เห็นคุณค่าและศักยภาพความดีงามที่มีอยู่ในตน เพื่อพึ่งพิงและยืนหยัดด้วยตนเอง ไม่เพียงแค่ไม่เป็นภาระสังคม แต่ยังหมายถึงการตอบแทนสังคมเมื่อตัวเองมีโอกาสที่จะแบ่งปันให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าตนด้วย

คือคำกล่าวของ นพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน PICT4ALL.com คนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมีงานอดิเรกคือ “การถ่ายภาพ” รวมตัวกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาได้ชักชวนกันทำกิจกรรม “หัวใจถ่ายภาพ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็ก ๆ ที่พิการทางสายตา โดยที่ผ่านมาไม่เพียงแต่กิจกรรมจะช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ และศักยภาพของเด็ก ๆ ที่พิการทางสายตาเหล่านี้

สมาชิกกลุ่ม PICT4ALL.com กว่า ๓o ชีวิต ซึ่งร่วมแรงร่วมใจกันทำกิจกรรม “หัวใจถ่ายภาพ” มาหลายปี ยังได้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านในของตนเองด้วยเช่นกัน นั่นคือ การได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข

“คือการให้ความดีและความสุข ซึ่งการให้นั้นไม่ได้ทำให้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่พร่องลงเลยสักนิด แต่กลับงอกงามขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นพลังที่ช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ออกมายังประโยชน์แก่ผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา”

นิทรรศการ “๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานภาพถ่ายของนักเรียนในโลกมืด” ระหว่างวันที่ ๑-๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ ชั้น ๓-๔ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือนิทรรศการที่ทาง กลุ่ม PICT4ALL.com ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นล่าสุด โดยนิทรรศการในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย การแสดงผลงานภาพถ่ายกว่า ๒oo ผลงาน ของเด็ก ๆ ผู้พิการทางสายตา จากโรงเรียนสอนคนตาบอด ๑๓ แห่งทั่วประเทศ ในหัวข้อ “รูปที่มีทุกบ้าน”

ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ, โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, โรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดร้อยเอ็ด, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดจังหวัดนครราชสีมา, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น, โรงเรียนธรรมิกวิทยา จังหวัดเพชรบุรี, โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จังหวัดชลบุรี, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดธรรมสากลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี, โรงเรียนสอนคนตาบอดสันติ-จินตนา อ.เด่นชัย จ.แพร่, ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนนครนายก และ โรงเรียนสอนคนตาบอดมกุฎคีรีวัน จังหวัดนครราชสีมา

หลังจากที่ระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ - กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ทางกลุ่ม PICT4ALL.com ได้ฝึกฝนเด็ก ๆ เหล่านี้ถ่ายภาพ และพาออกไปถ่ายภาพในชุมชนของตนเอง

“คณะครูอาสา หัวใจถ่ายภาพ เห็นตรงกันว่า ต้นแบบที่ยิ่งใหญ่ของความดีงามในสังคมไทยคือ ในหลวงของเรา จึงเป็นโอกาสอันดีงามยิ่งที่จะให้โอกาสเด็ก ๆ ในโลกมืดที่เรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาสายสามัญทั่วประเทศเหล่านี้ จะได้เรียนรู้ผ่านชีวิตจริงจากผู้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน ว่าเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงครองใจคนไทยมาโดยตลอด”

รวมไปถึง พื้นที่จัดแสดงเพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับการถ่ายภาพของผู้พิการทางสายตา และกิจกรรมการแสดงออกถึงความสามารถของผู้พิการทางสายตาในด้านศิลปะการแสดงอื่น ระหว่าง เวลา ๑๓.oo - ๑๔.๓o น. บริเวณ ชั้น ๓ ของหอศิลป์ฯ ได้แก่

วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ การแสดงของโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี, วันอาทิตย์ที่ ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ กิจกรรมเสวนา “เป็นอาสาสมัครได้อะไรมากกว่าที่คิด”, วันเสาร์ที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ การแสดงของโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา และวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ การแสดงของโรงเรียนการศึกษาคนตาบอดและคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนลพบุรี



























ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th













ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม เปิดตัวหนังสือ “ประทีปทัศน์” รายได้มอบให้การกุศล



ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเปิดตัวแนะนำหนังสือ “ประทีปทัศน์” ในวันจันทร์ที่ ๓o พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ โดยนำรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ มอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนังสือ “ประทีปทัศน์” เป็นหนังสือที่รวบรวมปรัชญาความคิดของ ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ที่ถ่ายทอดในรูปแบบปรัชญาชีวิต จำนวน ๑๒๕ เรื่อง ครอบคลุมถึง ๓ ภาษา ทั้งไทย จีน อังกฤษ ซึ่งเป็นปรัชญาแนวคิดที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ร้อยเรียงสลับกับมุมมองภาพถ่ายอันงดงาม จำนวน ๔๗๒ รูป จากหลายสิบประเทศทั่วโลกจากการท่องเที่ยวที่ผู้เขียนบันทึกภาพด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น สถาปัตยกรรม ทิวทัศน์ ดอกไม้ คน สัตว์ เป็นต้น

ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ได้กล่าวถึง แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ “ประทีปทัศน์” ว่า จากการที่มีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในหลายประเทศทั่วโลกในรอบ ๑o ปีที่ผ่านมา และการ สั่งสมทักษะการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็น มุมมอง องค์ประกอบภาพ ทิศทาง แสง-เงา สีสัน และเรื่องราว ผ่านผลงาน “ภาพถ่าย” ซึ่งเป็นศิลปกรรมที่ช่วยบันทึกความทรงจำในอดีต และยังสะท้อนมุมมองทัศนียภาพของผู้บันทึกภาพ ประกอบกับการเขียนปรัชญาความคิดที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตกว่า ๖o ปี ถ่ายทอดออกมาเป็น “คำคม” ที่เป็นทั้งแง่คิดและคติเตือนใจ เพื่อแบ่งปันมุมมอง แนวคิด สารประโยชน์ และสุนทรียภาพแห่งโลกทัศน์ให้กับผู้อ่านทุกเพศ ทุกวัย อีกทั้งจุดประกายความคิดให้กับผู้อ่านในการสร้างสรรค์จินตนาการ และนำปรัชญาความคิดที่ได้มาปฏิบัติตามได้จริง เพื่อพัฒนาชีวิตให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

หนังสือ “ประทีปทัศน์” เป็นผลงานการเขียนเล่มที่ ๕ ที่ยังต่อยอดการ “ให้” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายหนังสือ มอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะเดียวกันผลงานเขียนหนังสือ ๔ เล่ม ที่ผ่านมา คือ ปรัชญาประทีป, เมื่อไหร่จะ…ร่ำรวยมีสุขอย่างยั่งยืน, เคล็ด(ไม่)ลับ การบริหาร+การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เคล็ด(ไม่)ลับ ศุภาลัย+อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายหนังสือดังกล่าวล้วนบริจาคเพื่อการกุศล สำหรับผู้สนใจหนังสือประทีปทัศน์มีวางจำหน่ายในร้านหนังสือนายอินทร์ทุกสาขา ราคาเพียงเล่มละ ๓oo บาท เหมาะสำหรับซื้อมอบเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้















ภาพและข้อมูลจาก
terrabkk.com













ทศวรรษกลุ่มเส้นทาง



นิทรรศการ : “ทศวรรษกลุ่มเส้นทาง” (10th Senthang Group)
ศิลปิน : สมชาย อุ่ยละพันธ์, ว่าที่ร้อยตรีสุภักดิ์ อนุกูล,
เทียนชัย ตั้งพรประเสริฐ, สัญญา สุดล้ำเลิศ,
ผศ. ดร. ฐิติพันธ์ จันทร์หอม, สมชัย ทาบสุวรรณ,
เฉลิมพันธ์ รัตนมุนีวงศ์, ณฐวรรณ นาถวรานนท์,
ฉัตรชัย ศิริพันธุ์, จรัล คงสังข์, อัจฉรา ตั้งพรประเสริฐ,
อรนุช สมคะเน, วีระวัฒน์ อยู่ยืด
ลักษณะงาน : จิตรกรรม
ระยะเวลาที่จัดแสดง : ๒๗ พฤศจิกายน-๒o ธันวาคม ๒๕๕๘
พิธีเปิดนิทรรศการ : ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
สถานที่ : หอศิลป์จามจุรี ห้องนิทรรศการชั้น ๑ ห้อง ๒
ติดต่อศิลปิน : เทียนชัย ตั้งพรประเสริฐ o๘๕-๘๓๑-๖๑๙๙, o๘๕-๑๑๘-๓๓๖๑

แนวความคิด

เป็นการนำเสนอผลงานตามมโนคติ จินตนาการ ของศิลปินแต่ละบุคคล อันเกิดจากพุทธิปัญญา ประสบการณ์ โดยสำแดงพลังความคิด การรังสรรค์ผลงานอย่างอิสระ ผสมผสานกับรสนิยมและทักษะที่สั่งสมมา นำเสนอความงามตามทัศนะด้วยอัจฉริยภาพแห่งตนและนำมาจัดแสดงร่วมกันในนาม ทศวรรษ “กลุ่มเส้นทาง”







ภาพและข้อมูลจาก
chamchuriartgallery.blogspot.com













นิทรรศการศิลปะไทยร่วมสมัย “Thailand Eye” ณ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ



วันที่ ๙ พ.ย. ๒๕๕๘ ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานแถลงข่าวการจัดนิทรรศการศิลปะไทยร่วมสมัย “Thailand Eye” ณ หอศิลป์ซัทชี่ (Saatchi) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ว่า วธ.ร่วมกับภาครัฐและเอกชน จัดนิทรรศการดังกล่าวเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรในโอกาสครบรอบ ๑๖o ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ด้านการเผยแพร่งานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยให้เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ นำไปสู่สร้างมูลค่า และสร้างศักยภาพของศิลปินไทยเพิ่มขึ้น

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดวธ.กล่าวว่า วธ.ได้รวบรวมผลงานศิลปะไทยร่วมสมัยที่มีความโดดเด่น และสร้างสรรค์จากรากฐานของศิลปวัฒนธรรมของไทยกว่า ๖o ชิ้น ของศิลปิน ๒๓ คน เช่น นายปัญญา วิจินธนสาร (ศิลปินแห่งชาติ) นายดาว วาสิกศิริ นายมานิตย์ ศรีวานิชภูมิ นายโฆษิต จันทรทิพย์ นางสาวบุษราพร ทองชัย นายชูศักดิ์ ศรีขวัญ นางสาวกมลพันธุ์ โชติวิชัย และนายนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล นำไปจัดแสดงสู่สายตาสาธารณชนบนพื้นที่กว่า ๗,ooo ตารางเมตร และเป็นสถานที่ที่ติดอันดับ ๑ ใน ๕ หอศิลป์/พิพิธภัณฑ์ของโลกที่ได้รับการกด Like มากที่สุดทาง Facebook และ Twitter ระหว่างวันที่ ๒๔ พ.ย. ๒๕๕๘ – ๒ ม.ค. ๒๕๕๙ และ ณ หอศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่างเดือนมีนาคม – มิถุนายน ๒๕๕๙ โดยในวันที่ ๒๔ พ.ย. นี้พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ ณ หอศิลป์ซัทชี่ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสำนักพิมพ์ Skira กรุงลอนดอน จัดพิมพ์หนังสือรวบรวมเรื่องราวและผลงานของศิลปินร่วมสมัยของไทย จำนวน ๗๗ คน เพื่อเผยแพร่ในครั้งนี้ด้วย

ด้านนายปัญญา วิจินธนสาร กล่าวว่า การนำผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศเป็นสิ่งทีไม่ได้เกิดขึ้นง่าย จึงถือเป็นงานที่สำคัญมากที่วงการศิลปะไทยจะได้เผยแพร่ผลงานให้โลกภายนอกได้สนใจงานศิลปะร่วมสมัยของไทย ไม่ใช่แค่งานศิลปะประเพณีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่างานศิลปะต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องมีการพัฒนา แม้จะเป็นศิลปินรุ่นเก่า ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานให้คนเข้าใจได้.



ภาพและข้อมูลจาก
dailynews.co.th




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 12 ธันวาคม 2558
Last Update : 13 ธันวาคม 2558 11:45:11 น. 0 comments
Counter : 3721 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.