Group Blog
 
 
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 

เด็กอนุบาลก็มีปัญหาได้นะ

แนะวิธีรับมือเมื่อพบว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน..ลูกเกเร ถูกครูทำโทษ ถูกเพื่อนแกล้ง พูดคำหยาบ ฯลฯ ปราบได้อยู่หมัด
แม้ปากจะบอกว่า "เหมือนยกภูเขาออกจากอก" ที่ส่งเจ้าตัวเล็กเข้าโรงเรียนอนุบาลเสียได้ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าในใจลึกๆ ของคุณพ่อคุณแม่คงอดกังวลไม่ได้ว่าลูกอยู่โรงเรียนแล้วจะเป็นอย่างไร แม้จะเลือกโรงเรียนให้ลูกเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม

โธ่! ก็ลูกยังตัวเล็กนิดเดียว เมื่อมีปัญหาจะจัดการได้อย่างไร แค่บอกความรู้สึกโกรธ เหงา เศร้า ซึม ยังบอกไม่ค่อยจะรู้เรื่อง และปัญหาต่างๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นที่โรง เรียนได้มาก เพราะนอกจากลูกต้องอยู่ในที่ที่ไม่ใช่บ้านอันคุ้นเคย ไม่มีพ่อ แม่ หรือพี่เลี้ยงคอยประกบซ้ายขวาชนิดหนึ่งต่อหนึ่ง หรือสองต่อหนึ่ง แถมอยู่โรงเรียนยังมีพวกรุ่นราวคราวเดียวกันที่เจรจาพาทีกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง และต่างคนก็ต่างใหญ่กันมาจากแต่ละบ้าน โอกาสเกิดเรื่องมีได้แทบทุกขณะ เอาล่ะสิ คราวนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน?

คำถามอาจดูพื้นๆ และคำตอบไม่น่าจะมีอะไรยุ่งยากก็จริง แต่ถ้าคุณรักจะเป็นพ่อแม่มือโปร ต้องอ่านตรงนี้ก่อนนะคะ เพื่อที่จะได้รู้เท่าทันต่อเหตุการณ์ และหาทางปรับแก้อย่างเหมาะสมไม่ให้ปัญหาบานปลาย หรือลูกต้องเป็นทุกข์กับปัญหาที่พ่อแม่ไม่มีโอกาสได้รู้

ลองดู 3 ช่องทางนี้ค่ะ แล้วคุณจะรู้ว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียนหรือไม่



ช่องทางแรก : หมั่นสังเกต

การสังเกตของคุณพ่อคุณแม่แต่ละท่านจะมีความคมไวต่างกัน บางทีคุณพ่อสังเกตเห็นก่อนขณะที่คุณแม่ไม่ทันเอะใจ ต้องฝึกตั้งข้อสังเกตกันไว้เสมอๆ จะช่วยให้เราพยายามหาข้อมูลเพื่อให้ได้คำตอบได้โดยเร็ว

สิ่งที่เราควรสังเกตมีทั้งในส่วนที่ปรากฏแก่ร่างกายและพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ด้านร่างกายนั้นในเด็กเล็กหลายคนที่ประสบอุบัติเหตุแล้วไม่บอกให้คุณครูทราบโดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมใหม่ เนื่องจากยังไม่คุ้นเคยกับคุณครูนัก จึงพบว่าเมื่อคุณแม่หวีผมให้ลูกในตอนเช้าลูกร้องบอกว่าเจ็บ หรือไม่ยอมให้หวีผม คลำดูพบรอยปูดนูนก้อนเล็กๆ สอบถามได้ความว่าเดินชนเสาบ้าง หกล้มบ้าง บางทีพบรอยกัดที่ต้นแขนบ้าง ไหล่บ้างใต้ชุดนักเรียน เป็นรอยที่ฝากวงเล็กๆ มาจากโรงเรียน คุณแม่ อย่าเพิ่งโกรธคุณครูที่ไม่ยอมเล่า เพราะเหตุการณ์อาจเกิดได้ในพริบตาที่คุณครูหันตัวไปอีกด้าน ทำให้ไม่ทันเห็น เห็นอีกทีลูกน้อยของเราก็ส่งเสียงร้องไห้ไปเสียแล้ว ถามเท่าไหร่ก็ไม่พูดว่าเป็นอะไร


นอกจากนี้ยังต้องสำรวจไปถึงบริเวณก้นด้วยนะคะ เด็กบางคนเข้าห้องน้ำยังไม่รู้จักล้างก้นเองบ้าง ครูช่วยดูแลไม่ทั่วถึงบ้าง ทำให้ก้นแดง นอกจากนี้ยังต้อง สังเกตผดผื่น รอยยุงกัดที่มากผิดปกติ ดังนั้นการดูแลลูกอย่างใกล้ชิด และทำด้วยตนเองเช่น หมั่นอาบน้ำให้ลูกเองเพื่อสำรวจร่างกายของลูก จะทำให้คุณแม่สังเกตได้อย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะในระยะแรกที่ลูกไปโรงเรียนใหม่ๆ

นอกจากด้านร่างกายแล้ว การแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรมที่ส่อแววว่าลูกกำลังมีปัญหา ได้แก่ ปัสสาวะรด (ปกติไม่เคยเป็น) การนอนละเมอ เศร้าซึม ก้าวร้าวรุนแรง หงุดหงิด ฉุนเฉียว ต่อต้าน ไม่อยากมาโรงเรียน บางรายมีอาการถดถอยกลายเป็นเด็กเล็กๆ เช่น หันไปดูดนมจากขวด อ้อน ดูดนิ้ว เหล่านี้ให้ตั้งข้อสังเกตไว้เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทางโรงเรียน

การสังเกตนี้นอกจากจะทำที่บ้านแล้ว อาจสังเกตเมื่อลูกอยู่ที่โรงเรียนด้วย เช่น เมื่อไปรับลูกทีไร เห็นเกาะแจอยู่กับคุณครูไม่ยอมไปเล่นกับเพื่อนเลย หรือเดินอยู่คนเดียวทุกครั้ง ท่าทีกลัวครูบางคนเป็นพิเศษ กรีดร้อง ดิ้นรนทุกครั้งที่คุณครูคนนี้มารับไปจากคุณพ่อคุณแม่

เมื่อสังเกตพบปัญหาไม่ชอบมาพากลเข้าแล้ว เรื่องของจังหวะและท่าทีต่อสิ่งที่พบ เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกันค่ะ บางเรื่องสังเกตเห็นแล้วควรคุยกับคุณครูทันที เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ ร่องรอยแผล ส่วนในเรื่องของอารมณ์และพฤติกรรมบางอย่าง ลองสังเกตสักระยะหนึ่งเพื่อสังเกตให้ชัดเจนขึ้น ดูว่าจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น เพราะบางพฤติกรรมอาจจะหายไปเองก็ได้ เนื่องจากลูกกำลังเรียนรู้ที่จะปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับกฏกติกาของห้อง หรือของโรงเรียน การปรับตัวกับเพื่อน อาจจะทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่สบอารมณ์ จนพาลหงุดหงิด ก้าวร้าวได้ บางเรื่องที่ส่อแววว่าจะมากขึ้นหรือรุนแรงขึ้น ให้สังเกตอย่างละเอียดและจดบันทึกไว้ด้วยถึงอาการ ช่วงเวลา สภาพแวดล้อมในขณะนั้น จะช่วยทำให้ข้อมูลชัดเจนขึ้น เข้าใจปัญหาได้ง่ายขึ้น และเมื่อคุยกับคุณครูก็จะไม่วกวน มีความกระชับและชัดเจน


ช่องทางที่สอง : พูดคุยกับลูก

จากการเล่าเรื่องและท่าทีของลูกในขณะเล่า เช่น เล่าว่าเพื่อนแกล้ง เพื่อนไม่เล่นด้วย ครูบังคับให้นอน ครูดุ ครูตีตัวลูกเองหรือตีเพื่อน อยู่โรงเรียนไม่กินข้าวกลางวัน คุณครูทำโทษให้อยู่คนเดียวในห้องน้ำ ท่าทีและการแสดงออกของคุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญมาก ขณะที่ลูกเล่าอย่าเพิ่งแสดงอาการตกใจ หรือโกรธไปตามลูก อาจใช้การพยักหน้ารับรู้ ถามความรู้สึกของลูก เป็นการแสดงความเห็นใจพอควร และชวนให้ลูกเล่าต่ออย่าถามนำจนในที่สุดไม่ใช่สิ่งที่ลูกกำลังจะเล่า แต่ลูกจะพูดตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิดหรือหวั่นว่าจะเป็นเช่นนั้น

บางครั้งพอคุณแม่เริ่มถามมากขึ้นลูกอาจจะหยุดเล่า ทางที่ดีอย่าพยายามเซ้าซี้ลูกมาก เดี๋ยวค่อยๆ คุยกันใหม่จะดีกว่า และการถามแบบรุกประกอบกับมีอารมณ์โกรธ เช่น โกรธครูของลูกอาจจะทำให้ลูกหยุดเล่าเลยก็ได้ เพราะเกรงว่าคุณแม่คุณพ่อจะไปต่อว่าหรือจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับคุณครูของเขา ลูกบางคนไม่ยอมเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟังโดยเฉพาะในระยะแรกที่ไปโรงเรียน ก็อย่าไปถามจุกจิกจนอารมณ์เสียทั้งคนที่อยากรู้และคนไม่อยากจะเล่า หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกๆ เล่าเรื่องที่โรงเรียนให้ฟัง คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเล่าเรื่องที่ทำงาน สิ่งที่พบในแต่ละวันให้ลูกฟังด้วยเช่นกัน ว่าวันนี้ทำอะไรบ้าง รู้สึกอย่างไร เป็นการสร้างความรู้สึกถึงการรับรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ถึงท่าทีที่แสดงออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และให้ลูกได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น เมื่อถึงเรื่องราวและปัญหาของลูกก็รับรู้ร่วมกันเช่นกัน ท่าทีเหล่านี้จะส่งผลไปถึงลูกเมื่อโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่นต่อไป ก็จะเปิดใจเล่าเรื่องของตนให้พ่อแม่ได้รับรู้ด้วย

ช่องทางที่สาม : พูดคุยกับคุณครู

ควรมีเวลาพูดคุยกับคุณครูของลูก เพราะบางปัญหาของลูกนั้นไปเกิดขึ้นที่โรงเรียน เช่น การทำร้ายเพื่อน ก้าวร้าวรุนแรง การใช้คำไม่สุภาพเมื่อมีอารมณ์โกรธ บางครั้งคุณครูก็อาจจะใช้วิธีการเขียนเล่าพฤติกรรมของลูกให้คุณพ่อคุณแม่รับทราบ เมื่อรับทราบแล้วควรแสดงความสนใจและพูดคุย สอบถามกับคุณครูเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน จะได้ร่วมกันติดตามและแก้ปัญหาต่อไป


สำคัญที่ท่าที
ไม่ว่าฝ่ายใดเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกอย่าเริ่มต้นสนทนาด้วยการตำหนิติโทษกัน แต่ให้พูดกันถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะจะนำไปสู่สัมพันธภาพที่ดีในการแก้ปัญหาต่อไป เช่น กรณีที่ลูกพูดคำหยาบคายที่โรงเรียน คุณครูกลับโทษทางบ้าน "น้องโอ๊คพูดคำว่า...สงสัยจำมาจากที่บ้านค่ะ" ข้างคุณแม่ก็ไม่ยอม ตอบไปว่า "โอ๊ย ! ที่บ้านไม่มีใครพูดคำหยาบนะคะคุณครู เอามาจากที่โรงเรียนล่ะค่ะ คุณครูไม่ดูแลให้ดี" อย่างนี้ก็เป็นอันมีอารมณ์กันก่อน ปัญหาเดิมยังไม่ทันจะแก้ กลับมีปัญหาใหม่ตามมา คือปัญหาระหว่างคุณแม่กับคุณครูให้หงุดหงิดใจกันเปล่าๆ

นอกจากนี้ในระหว่างที่พูดคุยกัน ต้องระมัดระวังว่ามีลูกตัวน้อยยืนฟังอยู่ด้วย ผู้ใหญ่ควรให้ความสนใจเขา ให้เขาอยู่ในวงสนทนา อย่าทำเหมือนเขาไม่มีตัวตนอยู่ตรงนั้น แต่หากต้องการคุยกันเป็นส่วนตัวก็บอกให้ลูกรู้ว่า แม่ต้องไปคุยกับคุณครู เมื่อลูกถามก็บอกไปตามตรง แต่ปรับคำพูดให้เหมาะกับการพูดกับลูก อย่าให้ลูกรู้สึกว่าเป็นการฟ้อง แต่ให้เชื่อว่ากำลังทำเรื่องที่ดีสำหรับลูก และให้ลูกมีส่วนช่วยคิดหรือแสดงความคิดเห็นด้วย


สุดท้ายที่อยากจะเอ่ยถึงคือ เมื่อรู้ว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียนแล้ว อย่าตอกย้ำพฤติกรรมที่เป็นปัญหากับลูกและสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อคุณครู เช่น คุณครูฟ้องอีกแล้วนะว่าตีเพื่อน ลูกน่ะเป็นเด็กเกเรใหญ่แล้วนะ ครูเขาบอกว่าไม่รักลูกแล้วนะชอบร้องไห้งอแง เป็นเด็กขี้อ้อนไปแล้ว การตอกย้ำเช่นนี้จะยิ่งทำให้เรื่องที่เกิดขึ้นหนักกว่าเดิม ทางที่ดีต้องพยายามหาสาเหตุ ใช้จังหวะ วิธีการที่เหมาะในการแก้ปัญหา และพูดคุยกับลูกดีๆ ปัญหาก็จะคลี่คลายได้ในไม่ช้าค่ะ

  


credit : 
เด็กอนุบาลก็มีปัญหาได้นะ




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2554
0 comments
Last Update : 31 ตุลาคม 2554 22:46:28 น.
Counter : 864 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Rain_sk
Location :
Upper Midwest United States

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 68 คน [?]





"ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ส่งผล
คนพาลสำคัญบาปเหมือนน้ำผึ้ง
เมื่อใดบาปให้ผล คนพาลย่อมเข้าถึงทุกข์เมื่อนั้น"
ขุ.ธ. 25/15/24
เวลา 4.57PM :sat,Mar 29,2557



BlogGang Popular Award # 9


BlogGang Popular Award # 10


BlogGang Popular Award # 11


BlogGang Popular Award # 12


Friends' blogs
[Add Rain_sk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.