Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2552
 
8 มิถุนายน 2552
 
All Blogs
 

เทคนิคการสร้างโอกาสจากวิกฤติของหัวหน้าที่มีปัญหา

//upload.tarad.com/images/325627anotherside-bloggang.jpg" border="0" alt=" เทคนิคการสร้างโอกาสจากวิกฤติของหัวหน้าที่มีปัญหา" />

คนทำงานส่วนใหญ่ มักจะต้องผ่านชีวิตของการเป็นลูกน้องแทบทุกคน
ปัญหาอย่างหนึ่ง ที่เป็นของคู่กันกับตำแหน่งลูกน้องและหลีกหนีไม่พ้นคือ “หัวหน้า”
บางคนบอกว่า หัวหน้าเอาเปรียบลูกน้อง บางคนบอกว่า หัวหน้าไม่ทำอะไรชอบเอางานลูกน้องไปเสนอ
และอีกสารพัดปัญหา เช่น เผด็จการ จุกจิกเรื่องส่วนตัว ไม่ค่อยส่งเสริมลูกน้อง ไม่สอนงานลูกน้อง
ไม่ปกป้องลูกน้อง ถ้าจะเขียนให้ครบทุกปัญหานี้คงไม่น้อยกว่า 10 หน้ากระดาษอย่างแน่นอน

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่า หัวหน้ามีปัญหา มากน้อยเพียงใด หรือมีเรื่องอะไรบ้าง
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ปัญหาของหัวหน้านั้นส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อ พฤติกรรมการทำงานของลูกน้อง
และส่วนมาก มักจะส่งผลกระทบในแง่ลบมากกว่า เพราะลูกน้องส่วนใหญ่ มักจะเลือกตอบสนองปัญหาที่เกิดจาก
หัวหน้าโดยใช้พฤติกรรมในทางลบ เช่น นินทาหัวหน้า ประชดหัวหน้า กลั่นแกล้งหัวหน้า ดื้อทั้งดื้อเงียบ
และดื้อเสียงดัง หรือการแสดงออกอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าไม่พอใจหัวหน้า

โดยทั่วไปแล้ว ถ้าลูกน้องแสดงการตอบสนอง ความไม่พึงพอใจหัวหน้า โดยพฤติกรรมในทางลบ
โอกาสที่จะแก้ไขปัญหา เรื่องหัวหน้าได้มีน้อยมาก ในทางตรงกันข้ามอาจจะเพิ่มระดับความรุนแรงของปัญหา
ขึ้นมาอีก สุดท้ายบางคนทนไม่ไหวก็ต้องเปลี่ยนหัวหน้า แต่การเปลี่ยน มักจะเปลี่ยนโดยการไปหาหัวหน้าใหม่
ในองค์กรอื่น ไม่ใช่เปลี่ยนหัวหน้าในองค์กรเดิม ถึงแม้จะเปลี่ยนหัวหน้าใหม่ วัฎจักรของปัญหาหัวหน้า
ก็ยังไม่หมดไปจากโลกของการทำงานได้ อาจจะมีเฉพาะช่วงแรกๆ ที่ว่าหัวหน้าคนใหม่ดีกว่าคนเก่าในจุดนั้นจุดนี้
แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ความไม่ดี(ที่ลูกน้องมักจะคิดเอาเองหรือพยายามสำรวจมา) ของหัวหน้าก็จะมี
ขึ้นมาอีก ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาเรื่องเดียวกันหรือต่างกันกับหัวหน้าคนก่อนๆก็ได้

ถ้าใครมีโอกาสเป็นทั้งหัวหน้าและลูกน้อง คงจะพอเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้นว่า ปัญหาที่ลูกน้องมองหัวหน้านั้น
บางครั้งเป็นสิ่งที่แก้ไขค่อนข้างลำบาก เพราะปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากความรู้สึก ไม่ใช่เกิดจากข้อเท็จจริง
และปัญหาที่ลูกน้องมี ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องชอบ หรือไม่ชอบนิสัยบางอย่างของหัวหน้ามากกว่า

สำหรับปัญหาข้อเท็จจริง เช่น หัวหน้าไม่เก่ง(จริงๆ) หัวหน้าไม่ค่อยรู้งานนั้น
แต่ถ้าลูกน้องชอบนิสัยหัวหน้าคนนั้นๆแล้ว ปัญหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ก็ไม่หนักหนาสาหัสมาก
แต่ในทางกลับกัน ถ้าหัวหน้าเก่งงานมาก แต่ลูกน้องไม่ชอบนิสัยส่วนตัวบางอย่าง
ปัญหาระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องจะมีมากกว่า ดังนั้น ปัญหาส่วนใหญ่ จึงเป็นปัญหาด้านความรู้สึกมากกว่า

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาของหัวหน้า (ที่ลูกน้องชอบคิดเอาเองว่ามีปัญหานั้น)
มีทางเลือกให้เพียง 2 วิธีคือ
ประการแรก แก้ปัญหาที่ตัวหัวหน้า ซึ่งคงจะพอแก้ไขได้บ้างในบางเรื่องในบางคน
แต่คงไม่สามารถแก้ไขได้ทุกเรื่องของหัวหน้าทุกคน ถ้าเลือกที่จะแก้ด้วยวิธีนี้เราต้องแก้ไปเรื่อยๆไม่มีวันจบสิ้น
เพราะแก้หัวหน้าคนนี้ได้ ก็ใช่ว่าจะแก้หัวหน้าคนอื่นๆได้ เมื่อเจอหัวหน้าใหม่ปัญหาใหม่ก็ต้องมานั่งแก้กันอีก
ทางเลือกที่สองคือ แก้ที่ตัวเราเอง(ลูกน้อง)
บางคนอาจจะค้านอยู่ในใจว่า ในเมื่อหัวหน้ามีปัญหา ทำไมต้องมีแก้ที่ตัวเรา

ผมได้กล่าวมาแล้วว่า ปัญหาส่วนใหญ่ เป็นปัญหาอารมณ์หรือความรู้สึกที่เรา (ลูกน้อง) นำเอาพฤติกรรมของ
หัวหน้ามาตีความและปรุงแต่งด้วยความรู้สึก ความเชื่อ ประสบการณ์ และทัศนคติของเราเอง
และแปลผลออกมาว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” เพราะฉะนั้นตัวปัญหาจริงๆของลูกน้องส่วนใหญ่ไม่ใช่อยู่ที่
สิ่งกระตุ้นภายนอก (พฤติกรรมของหัวหน้า) แต่อยู่ที่การปรุงแต่งภายในใจของเราเอง ขอให้ลองสังเกตดูว่า
หัวหน้าทุกคนมักจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ นั่นแสดงให้เห็นว่าปัญหาของหัวหน้าแต่ละคนนั้น
ไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่เป็นปัญหาของอารมณ์มากกว่า
ถ้าหัวหน้ามีปัญหาซึ่งเป็นข้อเท็จจริงแล้ว และทุกคนคงจะเห็นตรงกันหมด
ผมเชื่อว่าคงไม่มีองค์กรไหนจะเอาหัวหน้าคนนั้นไว้ให้ถ่วงความเจริญขององค์กรหรอกครับ

ทีนี้ลองมาดูซิครับว่า ถ้าเราไม่สามารถไปแก้ไขตัวหัวหน้าให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้แล้ว
เราจะเลือกแก้ปัญหาหัวหน้าอย่างสร้างสรรค์โดยการสร้างโอกาสให้ตัวเราเองได้อย่างไร
ในที่นี้ผมจะขอเสนอแนะแนวทางการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสดังนี้

หยุดปรุงแต่งอารมณ์
ขอให้ทำใจให้เป็นกลางและคิดเสมอว่า หัวหน้าเขามีเหตุผลในการกระทำ แม้ว่าเหตุผลนั้นเราจะไม่ทราบก็ตาม
อย่าพยายามคาดเดาหรือคิดเอาเอง ถ้าอยากรู้จริงๆขอให้ถามหัวหน้าตรงๆไปเลย ถึงแม้จะได้คำตอบที่เราพอใจ
หรือไม่พอใจก็ตาม พูดง่ายๆคืออย่านำเอาพฤติกรรมที่เราไม่ชอบแล้วมาปรุงแต่งในทางลบ เพราะมิฉะนั้น
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นที่ตัวเราเอง ถ้าเราไม่ชอบพฤติกรรมหัวหน้า ขอให้คิดว่า “ช่างมันเถอะ” เดี๋ยวมันก็ผ่านไปแล้ว
และเราคงไม่ได้ผูกชีวิตของเราไว้กับเขาตลอดไปหรอก
หัวหน้าคือ ทางผ่านทางหนึ่งของเราที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จ
ดังนั้น อย่าเสียเวลากับการเอาเรื่องไร้สาระมาเป็น ตัวถ่วงชีวิตของเราเลย


เปลี่ยนหัวหน้า เป็นตำราเรียน
ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราทำงานไปนานๆจนเราได้เป็นหัวหน้า เราจะพบว่า หลายสิ่งหลายอย่างในตัวเรานั้น
เกิดจากการที่เราได้เรียนรู้ลักษณะของ “หัวหน้าที่ดี” และ “หัวหน้าที่ไม่ดี” มาจากหัวหน้าคนก่อนๆของเรา
ดังนั้น คนที่กำลังเป็นลูกน้องในปัจจุบัน ขอให้ใช้หัวหน้าให้เป็นประโยชน์ นั่นก็คือคิดเสียว่า หัวหน้าคือ
ตำราทางการบริหารเล่มหนึ่ง ที่สอนเราทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี
กรุณาเก็บเกี่ยวเอาสิ่งที่ดีที่เราชอบไปใช้กับลูกน้องเมื่อเราเป็นหัวหน้า
และเก็บเอาสิ่งที่ไม่ดีที่เราไม่ชอบ ไปเป็นบทเรียนว่า วันหนึ่งถ้าเราได้เป็นหัวหน้า เราจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด


เปลี่ยนปัญหา เป็นแรงจูงใจ
ผมอยากจะบอกว่า ถ้าเราเจอหัวหน้าที่ไม่ดี หรือมีปัญหา น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ
เราควรจะเปลี่ยนปัญหาของหัวหน้า ให้เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างแรงจูงใจให้กับตัวเราเอง โดยให้คิดเสียว่า
เราต้องผ่านหัวหน้าคนนี้ให้ได้ เราต้องเข้าไปนั่งในใจหัวหน้าคนนี้ให้ได้
เราต้องสร้างผลงาน ให้หัวหน้าคนนี้ยอมรับให้ได้ เพราะถ้าเราผ่านหัวหน้าแบบนี้ได้
ต่อไปเราจะเจอหัวหน้าแบบไหน คงผ่านได้หมด หรือให้คิดว่าในอนาคตเมื่อเราเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บริหาร
เราอาจจะเจอหัวหน้าที่แย่กว่านี้อีกก็ได้ เพราะฉะนั้น หัวหน้าคนปัจจุบันจึงเป็นด่านทดสอบเราได้เป็นอย่างดี

หรือเราอาจจะคิดอีกแง่หนึ่งก็ได้ว่า ถ้าเรามีหัวหน้าที่ไม่ดี ให้เราคิดเสียใหม่ว่าโอกาสที่เราจะขึ้นไปแทนที่หัวหน้า
คนนี้มีมากขึ้นและเร็วขึ้น ขอให้เราเตรียมพัฒนาตัวเองรอไว้ได้เลยครับ
คงอีกไม่นาน องค์กรคงจะดำเนินการกับหัวหน้าของเราแน่ ถ้าคิดแบบนี้เราก็จะรู้สึกเห็นใจหัวหน้ามากขึ้น
ในขณะเดียวกัน เราก็ทุ่มเทจิตใจไปกับการพัฒนาตัวเอง มากกว่าที่จะมาคิดแต่ปัญหาของหัวหน้า


เปลี่ยนความทุกข์ เป็นความสุข
ในความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้เราจะชอบหรือไม่ชอบหัวหน้า เราก็ต้องทำงานกับเขาอยู่ดี
ดังนั้น เราจะเลือกทำงานกับเขาด้วยความเครียดและความทุกข์ หรือเราจะเลือกทำงานกับเขาด้วยสุขสนุกสนาน
เรามีสิทธิในการเลือก แต่คนส่วนใหญ่ๆมักจะเลือกทำงานด้วยความทุกข์ เพราะตามอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน
เหมือนกับ การที่เราถูกบริษัทบังคับ ให้ไปเข้าสัมมนาในหลักสูตรที่เราไม่ชอบ
เรามีทางเลือกเพียงสองทางเหมือนกันคือ เลือกที่จะทนนั่งเบื่อไปทั้งวัน หรือเลือกที่จะสนุกกับมัน
ถ้าเราเลือกที่จะสนุกกับมัน เราจะรู้สึกว่าเวลาในการสัมมนาแป๊บเดียวก็เลิกแล้ว
แต่ถ้าเรานั่งเบื่อกับมัน รับรองได้ว่าวันนั้นเป็นวันที่ยาวนานสำหรับเราแน่ๆ


อย่าเปลี่ยนปัญหา โดยการเปลี่ยนหัวหน้า
ผมอยากจะแนะนำท่านผู้อ่านที่เป็นลูกน้องในปัจจุบันนี้ว่า เราต้องยอมรับว่าปัญหาของหัวหน้านั้น
เป็นปัญหาโลกแตก ไม่มีใครแก้ได้หรอกครับ มันมีทุกที่ มีทุกยุคทุกสมัย
ดังนั้น เราต้องยอมรับความเป็นจริงในจุดนี้ก่อน แล้วค่อยนำเอาเทคนิคต่างๆที่ได้แนะนำมามาประยุกต์ใช้
ให้เหมาะสมกับตัวเราเอง และอยากจะแนะนำเพิ่มเติมว่า กรุณาอย่าแก้ปัญหาหัวหน้าโดยการเปลี่ยนงาน
เพื่อไปหาหัวหน้าคนใหม่ เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าตัวเราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ
แต่เราใช้วิธีเปลี่ยนตัวปัญหาเท่านั้น เพราะถึงแม้สาเหตุของปัญหาจริงๆจะอยู่ที่หัวหน้าก็ตาม
แต่ทางแก้ที่ดีที่สุด มันอยู่ที่ใจเราเองแหละครับ

สุดท้ายนี้ผมขอให้กำลังใจแก่ผู้ที่เป็น “ว่าที่หัวหน้า”
ทุกคนจงแก้ปัญหาหัวหน้า ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมต่างๆ ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุด
อย่าเสียเวลาไปโต้ตอบ กับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นปัญหาของหัวหน้าให้เสียเวลาในการพัฒนาตัวเองเลย
เป้าหมายในชีวิตของเรายังมีอีกยาวไกล
และขออวยพร ให้ผู้อ่านทุกคนหลุดพ้นจากวงจรปัญหาของหัวหน้าทุกคนนะครับ
ผมเชื่อว่าคุณทำได้...ถ้าคุณอยากจะทำ...สวัสดีครับ

โดย ณรงค์วิทย์ แสนทอง

ที่มา //hrm.siamhrm.com/report/management_report.php?max=199




 

Create Date : 08 มิถุนายน 2552
1 comments
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 17:34:41 น.
Counter : 796 Pageviews.

 

ได้รับความรู้ดีค่ะ เคยได้ยินผู้ใหญ่ดี ๆ พูดว่า ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา อย่าไปโทษใคร แก้ปัญหาต้องแก้จากตัวเราเองก่อน

 

โดย: นางฟ้าเดียวดาย IP: 125.25.89.135 9 มิถุนายน 2552 16:28:02 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.