Group Blog
 
 
กันยายน 2553
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
29 กันยายน 2553
 
All Blogs
 

อานิสงส์ของ..ปฏิจจสมุปบาท






อานิสงส์นี้รวบรวมจากประสบการณ์ความเข้าใจโดยส่วนตัวของข้าพเจ้าเอง มีดั่งนี้


๑.รู้สภาวะธรรมของตนเอง สามารถวิเคราะห์หาเหตุและผลได้ตลอดจนเข้าใจธรรมอื่นดีขึ้น สมดังพุทธพจน์ที่กล่าวว่า "ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม"


๒.เมื่อเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์แล้ว ย่อมมีความมั่นใจและรู้หนทางแก้ไขทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือจะเกิดขึ้นอย่างได้ผลถูกต้องที่เหตุปัจจัยตรงจุด เหมือนดั่งมีแผนที่ในมือย่อมไม่หลงทาง หรือถ้าหลงทางก็จะตรวจสอบและ "รู้"ตัวอย่างรวดเร็ว และเดินทางกลับไปสู่จุดหมายถูก จึงเปรียบประดุจดั่งมีแผนที่ในมือ เพราะมีแก่นธรรมอันสูงสุดเป็นบันทัดฐานให้ตรวจสอบการปฏิบัติ


๓.มีความเข้าใจในมหาสติปัฏฐาน๔ เองโดยไม่ได้พิจารณาปฏิบัติมาก(แต่ต้องฝึกสติ และต้องให้มีสติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติในชีวิตประจําวัน ไม่ใช่เฉพาะเวลานั่งสมาธิ)โดยเฉพาะเวทนานุปัสนาเพราะเข้าใจเวทนา และที่ชัดเจนอีกสิ่งคือจิตตานุปัสสนา เกิดอาการเห็นจิตในจิตดั่งพุทธพจน์ที่กล่าวในจิตตานุปัสนาว่า"จิตมี โมหะ โทสะโลภะก็รู้ชัดว่าจิตมี, จิตไม่มี โมหะ โทสะโลภะก็รู้ชัดว่าจิตไม่มี" ตลอดจนเห็น(เข้าใจ)ทั้งภายใน(ตัวเอง)และภายนอก(บุคคลอื่น)เนื่องจากเข้าใจในสภาวะธรรมต่างๆดีขึ้นทําให้รู้ถึงสภาวะตนเองและบุคคลอื่นเพราะธรรมใดเป็นเหตุ ทําให้เข้าใจตนเองและผู้อื่นอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงมากขึ้น


๔.กําจัด "วิจิกิจฉา"ความสงสัยที่มีซ่อนอยู่ลึกๆ หรือความไม่เข้าใจในธรรมคําสอนให้พ้นทุกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมดสิ้น รู้ถึงพุทธประสงค์ในการสั่งสอนสรรพสัตว์


๕.ได้สัมผัส นิโรธ บางส่วน มีอาการเบากายเบาใจอย่างไม่เคยประสบมาก่อนโดยไม่ได้ปฏิบัติใดๆเนื่องจากทุกข์หายไปและไม่พอกพูนหรือก่อกวนอาสวะกิเลสขึ้นมา เข้าใจคําว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ตลอดจนมีความเชื่อมั่น, กําลังจิต, กําลังใจ, มองเห็นทางสู่จุดหมายปลายทางอันคือ "นิโรธ" ว่าเป็นไปได้ ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันอีกต่อไป และไม่ใช่เรื่องบุญบารมีเก่า แต่เกิดแต่กรรมการกระทําที่มีเจตนาในปัจจุบันเท่านั้น


๖.ไม่เอาเวทนาทั่วๆไป มาก่อเป็นทุกข์โดยไร้สาระ เพราะไม่ทราบเหตุ และความไม่เข้าใจอย่างในอดีต(อวิชชา) เนื่องจากแยกแยะและเข้าใจเวทนาได้อย่างชัดเจนขึ้น ทุกข์เกิดจากเหตุนี้มีเป็นจํานวนมากมายจริงๆ เกิดจากความไม่เข้าใจและวาดภาพการพ้นทุกข์เป็นแบบเพ้อฝันหรือสีลัพพตปาทาน คือไม่เข้าใจคําว่า "เหตุแห่งทุกข์นั้นมีอยู่ แต่ไม่มีผู้รับผลทุกข์นั้น"


๗.เข้าใจใน สีลัพพตปรามาส อย่างถูกต้อง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุปัจจัย ไม่มีสิ่งใดดลบันดาลในทุกๆสิ่ง แม้แต่ทุกข์ เป็นไปตามกฎอิทัปปัจจยตา ทําให้หมดความยึดมั่นในศีลและพรตข้อปฏิบัติที่งมงาย อันเนื่องจากไปยึดมั่นไว้เพื่อเป็นกําลังขวัญ กําลังใจ อย่างผิดๆ


๘.ลดละสักกายทิฎฐิ จากการเห็นและเข้าใจความเห็นแก่ตัวตนของตนเองคือ อุปาทานอันยึดมั่นในความยินดีพึงพอใจของตนเองเป็นหลัก อันก่อให้เกิดความเห็น,ความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เรานั่นแหละเห็นแก่ตัวตนของตนเองทั้งต่อกายและจิตมากที่สุด เหนือกว่าสิ่งใดๆ ตลอดจนความเข้าใจในเหตุปัจจัย อันยังให้ทราบถึงสภาพอันเป็นตัวตนล้วนแต่เกิดแต่เหตุปัจจัยปรุงแต่งประชุมกัน ประดุจดั่งแสงแดด แว่นขยาย เชื้อไฟ ฯลฯ.


ข้อควรระวังในการโยนิโสมนสิการปฏิจจสมุปบาท เท่าที่สังเกตุพบเมื่อมีความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทส่วนหนึ่งแล้วจะเกิดอาการเบาสบายทั้งกายและใจ ถึงแม้เป็นแก่นธรรมแท้แต่ก็บังเกิดวิปัสสนูปกิเลสได้เช่นกัน เพราะบังเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนาเป็นธรรมดาทําให้เข้าใจว่าตนเองนั้นเข้าใจธรรมนี้แทงตลอดแล้ว (ดูอาการ"ญาณ"ในวิปัสสนูปกิเลส ) เพราะอาการดังกล่าวทําให้หลงหยุดการโยนิโสมนสิการหรือการปฏิบัติเสีย และเกิดอาการอื่นๆ ดั่งที่พระอานนท์ที่ได้กราบทูลพระพุทธองค์ จนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแย้งข้อกราบทูลนั้น ดังความที่กล่าวมาแล้ว, ทําให้บางท่านหยุดการพิจารณาธรรมหรือปฏิบัติ และเกิดอาการอื่นๆ ทําให้ไม่แทงตลอดในธรรมนี้จริงๆอย่างน่าเสียดาย


แต่ก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับเกิดจากฌานหรือสมาธิโดยตรง เพราะขาดนิกันติความพอใจข้อ๑๐ในวิปัสสนูปกิเลสอาการเบาสบายนี้เป็นอาการปกติเริ่มแรกเพราะใจที่เป็นทุกข์ลดน้อยลงจากปัญญาที่เกิดขึ้นในการเห็นตามความเป็นจริงในปฏิจจสมุปบาท ทําให้รู้สึกแตกต่างจากสภาพเดิมๆมาก อาจทําให้เกิดอาการญาณหรือปัสสัทธิในวิปัสสนูปกิเลสขึ้นได้จากรู้สึกสงบกาย สงบใจจนเกิดความเข้าใจผิดเป็นวิปัสสนูปกิเลส หรืออาจเกิดวิปัสสนูปกิเลสตัวอื่นๆ อย่าไปหลง เป็นแต่แค่เวทนาหรือสังขารอันไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้จักเป็นทุกข์ถ้าไปยึดไปอยาก และเป็นอนัตตา เท่านั้น และ อย่าได้ไปยึดติดยึดถือคอยเสพสัมผัสความเบากาย,เบาใจ เพราะยังอยู่ภายใต้กฎพระไตรลักษณ์เช่นกัน จนกว่าสภาพ "นิโรธ"จักบังเกิดอย่างมั่นคงถาวร




//www.nkgen.com/15.htm




 

Create Date : 29 กันยายน 2553
21 comments
Last Update : 29 กันยายน 2553 11:07:22 น.
Counter : 2273 Pageviews.

 

ลาวเจริญศรี – อัศวลีลา

 

โดย: สดายุ... 29 กันยายน 2553 11:10:28 น.  

 

อืม..ดีจังที่มีบทความเกี่ยวกับคำสอนในรูปแบบสวยๆและไพเราะเช่นนี้ แม้ว่าอาจารย์ท่านหนึ่งจะว่าว่า..เสียงเหล่านี้ไร้สาระ ผู้ที่ติดในเสียงก็เป็นคนไร้สาระ.. อืม..ก็เรากำลังเป็นคนไร้สาระจริงๆ...สักวันเถอะนะ!



บทนี้ก็เข้าใจค่ะเพราะได้ฟังมาแล้วหลายชม.ในห้องเรียน แค่คำเดียวเท่าน้ันในข้อ 5 ที่...ไม่ตรงกับที่เราเข้าใจ(ไม่ใช่โดยการเห็น)


ตามไปอ่านที่budha truth แล้วค่ะ...แต่ยังไม่ครบ...น่าสนใจค่ะ

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 3 มีนาคม 2554 14:32:22 น.  

 

เจตนาที่เอา Budha Truth มาทำลิงค์เผยแผ่เพราะมีภาคภาษาอังกฤษ....

ผมคิดว่าหลักธรรมพุทธเป็นหลักการแห่งเหตุผลจึงเหมาะสำหรับชนผิวขาวที่มีเหตุผลอยู่โดยมาก....เขาควรละจากการยึดมั่นถือมั่นใน "บุคคลาธิษฐาน" อย่าง "พระเจ้า" ลงเสียได้โดยลำดับสืบไป...

และหากเขาเห็นคล้อยตามพระพุทธธรรมแล้วเขาจะช่วยเป็นกำลังเผยแผ่พระศาสนาได้มาก...

เสียดายที่"พิธีกรรมไร้สาระ" ที่มองเห็นได้ตามพุทธสถานทั่วประเทศไทย...กลับเป็นตัวทำลายความศรัทธาของชนต่างชาติที่มีเหตุผลเสียโดยมาก...เพราะพิธีกรรมเหล่านั้นไม่อาจ connect กับแนวทางที่พระสมณะโคดมทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างไว้ได้เลย

 

โดย: สดายุ... 3 มีนาคม 2554 15:36:42 น.  

 

เราก็ไม่ชอบพิธีกรรม (แต่ยังดูหมอ..ไม่ใช่ให้หมอดู..อยู่) ไม่ชอบธรรมเนียม ประเพณีหลายอย่าง ไม่ชอบเลยแต่ก็เข้าใจได้...ส่วนใหญ่เดิมคงมีเจตตนาที่จะเรียกศรัทธาจากคนบางหมู่ แม้ว่าปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมาก..จนคนทั่วไปไม่อยากรู้ถึงวัตถุประสงค์เดิม

จะว่าไป..บางครั้งเราก็ยอมทำตามได้บ้างถ้าอยากจะตามใจใครๆที่อยากตอบแทนคุณ

คุณคงเคยได้ยินมาบ้างว่า..สิ่งที่เป็นวันนี้บางส่วนมาจากวันวาน..ไกลบ้างใกล้บ้าง การที่เราได้เรียนรู้ในปรัชญาของพุทธะในวันนี้ อาจมาจากการสืบต่อจากวันวาน..ถ้าเป็นเช่นนั้น..คนที่คุณปรารถนาดีอยากให้เขาไดรู้ถึงปรัชญาที่ว่า..แต่เขาเข้าไม่ถึง..อาจเป็นเพราะเขาไม่เคยเริ่มต้นมาก่อนก็ได้...

เชื่อไหมว่าเราเป็นลูกคนเดียวที่เข้าถึงคำสอนในศาสนา(ไม่พูดถึงปฏิบัติ) แม้ว่าลูกทุกคนจะได้ยินคำบ่น สอน บอกเล่าในเรื่องเดียวกันมาตลอดอายุของพวกเรา... บอกได้มั๊ยทำไม..

...คุณรู้ไหม..เราเกลียดการจิ้มภาษาไทยนี่เหลือเกิน...นานมากๆค่า

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 8 มีนาคม 2554 19:02:57 น.  

 

..."เชื่อไหมว่าเราเป็นลูกคนเดียวที่เข้าถึงคำสอนในศาสนา(ไม่พูดถึงปฏิบัติ) แม้ว่าลูกทุกคนจะได้ยินคำบ่น สอน บอกเล่าในเรื่องเดียวกันมาตลอดอายุของพวกเรา... บอกได้มั๊ยทำไม.."

มันเป็นเรื่องของ"จริตของตัวตน" หรือทักษะ หรือความสามารถในการจัดวางเหตุและผลเรียงต่อกันอย่างมีระบบได้ไม่เท่ากัน...เมื่อสัมผัสหรือกระทบกับกับปัจจัยภายนอกเรื่องหนึ่งๆ...ย่อมต่างกันไปในแต่ละคน...

พระพุทธองค์จึงจำแนกคนเป็นบัวสี่เหล่า...และจำแนกธรรมสำหรับสอนบัวแต่ละเหล่านั้นต่างกันไป...พี่น้องกันก็ไม่สามารถเหมือนกันได้...เหมือนเราชอบฟังเพลง...ชอบอาหาร...ชอบบรรยากาศแวดล้อมที่ต่างกันนั่นแหละ...

คนจำนวนมากหรือส่วนใหญ่...ด้อยความสามารถในกระบวนการคิดวิเคราะห์เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาให้รับรู้เชิงเหตุผล...จึงต้องอาศัย"ศรัทธาแบบเบ็ดเสร็จ" คือแบบไม่ต้องมีข้อโต้แย้งมาสำหรับอุดหนุนจิตวิญญาณของตน...มันง่ายดี...ด้วยเหตุนี้ศาสนาที่มีพระเจ้า (เทวะนิยม) จึงมีจำนวนศาสนิกมากมายและมีจำนวนมากศาสนาที่สุด...

พวกถือพระเจ้านี้มีแนวคิดแบบเส้นตรง...คือมีต้นและมีปลาย...คือมีจุดกำเนิด(พระผู้สร้าง) และมีจุดจบ(วันสิ้นโลก..วันพิพากษาตัดสิน)

ทั้งๆที่พระเจ้าถูกสร้างขึ้นจากความคิดของคนช่างคิดคนแรกๆ..เพียงแต่ตั้งคำถามขึ้นว่า คนมาจากไหน...จึงจำต้องหาคำตอบสำเร็จรูปที่สามารถตอบทุกปัญหาได้...คือ"สิ่งสมบูรณ์สูงสุด" หรือสิ่งวิเศษที่ทำได้ทุกอย่าง...สร้างขึ้นมาให้นิยามจนครอบคลุมก็ตอบปัญหาได้ทั้งหมด....ก็จบคำถาม

แต่พุทธเรามีแนวคิดแบบวงกลม ไม่มีต้น ไม่มีปลาย...ทุกสิ่งมาจากเหตุที่มีมาก่อนหน้าเท่านั้นเอง...จนสู่ผล...หากตัดเหตุได้ผลก็ไม่มี...วงรอบก็ขาด...ก็จบ

กรรม...กับอาการ...ย่อมต่างกัน
กรรม คือการกระทำ ที่มีเจตนากำกับ
อาการ เป็นเพียงการกระทำที่ขาดเจตนา...เหมือนคนนอนหลับสนิทพลิกกายทับยุงตาย...พวกถือศีลพรตตายตัวก็นับว่าฆ่าสัตว์ตาย..ก็บาป

แต่เรามองที่เจตนารมย์ของการกระทำเป็นหลัก...หากไม่มีจิตกำกับ...มันจะบาปได้อย่างไร...จริงไหม

การยึดถือศีลพรตแบบเคร่งครัดตามตัวหนังสือจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่างหนึ่ง

 

โดย: สดายุ... 8 มีนาคม 2554 20:14:22 น.  

 

อืม..ก่อนหนีกลับบ้าน..ขอคุยก่อน..


คุณเขียนได้เพราะมากค่ะ...เนื่องจากเรามาจากวิธีการสอนที่แตกต่าง จึงอ่านและพยายามเข้าใจว่าคุณต้ังใจว่าบอกว่าอะไร

ถ้าเป็นการเขียนคำตอบของเราในความหมายเดียวกันจะเป็นอย่างนี้ค่ะ

...จิตมีการเกิดขึ้น(และดับไป)ทุกๆขณะ เจตนาซึ่งเป็นเจตสิกหรือส่วนประกอบของจิตเกิดขึ้นทุกครั้งพร้อมกับจึต สิ่งที่คุณเรียกว่าอาการ ในห้องเรียนเราเรียกว่าการกระทำที่เจตนาไม่ได้เป็นประธานหรือไม่มีน้ำหนักพอที่จะเป็นกรรมได้...

แต่คิดว่าเราเข้าใจในสิ่งที่คุณบอกนะ.. ขอบคุณนะคะ...(เราใช้เวลากับท่อนนี้เกือบ20 นาทีเเน่ะ)

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 9 มีนาคม 2554 16:46:04 น.  

 

ครับ...คงความหมายเช่นเดียวกัน

ผมใช้คำว่า...อาการ...กับสิ่งมีชีวิต คือ คน สัตว์ เป็นหลัก
และเรียก...ปรากฎการณ์...กับสิ่งไม่มีชีวิต คือธรรมชาติแวดล้อมพวก ดิน น้ำ ลม ไฟ

จิต และเจตสิก เป็นเรื่องที่ลงลึกในรายละเอียดเกินไป ลงลึกไปในแนวทางอภิธรรม...ซึ่งเกินความจำเป็นที่จะทำให้สามัญชนทั่วไปเข้าใจได้....

เมื่อเราพิจารณาธรรมที่เป็นเจตนาของพระพุทธองค์ที่จะเผยแผ่ไปในประชุมชนชาวบ้านทั่วไปแล้ว...หากพระองค์ท่านเอาเรื่องเจตสิกมาแสดงต่อ พ่อค้า ทหาร หรือ กรรมกร คิดดูสิว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ไหม ?

เหตุใดพระองค์ท่านจึงเลือกไปแสดงธรรมต่อ ชฎิลสามพี่น้อง ?

เพราะเหตุว่าแนวทาง หรือหลักคิดของชฎิลนั้นมาถูกทางแล้ว...พูดได้ว่าพวกเขาฝึกจิตจนบรรลุถึงอนาคามีแล้ว....แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นได้...พวกเขายังติดอยู่ที่จุดสูงสุดที่แทงไม่ทะลุ...จึงเอา"ไฟ"เป็นตัวแทนสิ่งสูงสุดไปพลางๆก่อน....อันเป็นพื้นฐานความคิดของชนเผ่าอารยันมาแต่เดิมคือลัทธิบูชาไฟ...

เมื่อพระพุทธองค์แสดงหลักสุญญตา(หรืออนัตตา)...ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารทั้ง 1000 คนก็บรรลุอรหันต์ในเวลาไม่นาน...

ที่จริงแล้วพวกเขาติดอยู่ที่ "ตัวตนของตนเอง" นั่นเอง

(พราหมณ์มองโลกออกไปนอกตัว...และสร้างสิ่งสูงสุดไว้เป็นอุดมคติ เพื่อพกพาตัวตน(อาตมัน)ไปรวมเข้าด้วยกัน...เรียกว่า "ตัวตนใหญ่" หรือ อาตมันใหญ่...บรม+อาตมัน=ปรมาตมัน นั่นคือภาวะสูงสุดที่พราหมณ์เขาเรียกว่า นิพพานเหมือนกัน....และนั่นเป็นการยึดมั่นเอาภาวะ"ปรมาตมัน"เป็นสรณะ ซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ....แต่มันยากต่อการเข้าใจของระดับบัวชั้น 2, 3, 4...ภาวะนามธรรมสูงสุดจึงต้องแปลงภาวะให้มีรูปธรรม จนมีพัฒนาการมาเป็นไตรภาวะ คือ พรหม อิศวร นารายณ์ นั่นเอง

ส่วน ยะโฮวา และอัลเลาะห์ นั้นเป็น"สมมุติภาวะ"ล้วนๆที่แทบไม่มีปรัชญารองรับเลย...มีแต่ "คำนิยาม หรือ definition ที่มนุษย์ช่างสงสัยคนแรกๆสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายการดำรงอยู่..ให้คนหลังๆเชื่อตาม..." เป็นสิ่งสมบูรณ์สูงสุดที่ห้ามวิพากย์วิจารณ์หรือห้ามสงสัยการมีอยู่...คือข้อแรกต้องเชื่อก่อนว่า"สมมุติภาวะ"นั้นมีอยู่....แล้วทุกอย่างหลังจากนั้นจะมีตามมา...)

ในคืนเพ็ญมาฆะฤกษ์นั้น 1,250 อรหันต์ จึงเป็นชฎิลเสีย 1,000 รูปที่เป็นกองทัพธรรมที่สามารถช่วยพระพุทธองค์เผยแผ่ธรรมไปได้อย่างกว้างขวาง...

ชฏิลสามพี่น้องและบริวาร...พระสารีบุตร...พระโมคคัลลาน...พระองคุลีมาลย์...ฯลฯ ก่อนการบรรลุอรหันต์นั้น พวกท่านเป็นเหล่าบุคคลที่แสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นอยู่แล้วทั้งสิ้น คือมีภาวะจิตในระดับ โสดาบัน, สกิทาคามี, อนาคามี พร้อมอยู่แล้ว....คือเป็นบัวพ้นน้ำที่รอบานทั้งสิ้น....รอเพียงมีคนมาชี้ประเด็นให้ตรงจุดที่ติดขัดอยู่...ก็สามารถเข้าใจได้ทันที

สมัยนั้นจึงมีผู้สำเร็จอรหันต์เพียงแค่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ครั้งเดียวเท่านั้นเป็นจำนวนมาก....ดังนี้แล

 

โดย: สดายุ... 9 มีนาคม 2554 18:22:15 น.  

 

Umh......Who am I writing to? .....bookworm or writer.....kidding...

Many many thanks. Your writting helps me when I want to cope with an emotion.

Is that a kind of Buddism donation?

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 10 มีนาคม 2554 13:07:27 น.  

 

ผมไม่ใช่นักเขียน...แต่ได้มีโอกาสอ่านมาบ้าง...เท่านั้น

หากเราสนใจหลักการแห่งพุทธ เราต้องไปหาที่แก่นแท้...ไม่ใช่หลักการที่ประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย...

เถรวาท...ถือ"พระพุทธวจนะ พุทธบัญญัติ"เป็นแนวทางปฏิบัติ คือ หินยาน ใช้บาลีเป็นสื่อการเผยแผ่

อาจาริยาวาท...ถือเอา"เจตนารมย์ของพระพุทธองค์"เป็นแนวทางปฏิบัติ คือ มหายาน อันสามารถดัดแปลง แก้ไข บัญญัติบางประการได้...ใช้สันสกฤตเป็นสื่อในการเผยแผ่

แต่ในที่สุดแนวทางอาจาริยาวาทนี้ก็เพี้ยนไปเป็นนิกายต่างๆมากมาย...จนกระทั่งส่วนหนึ่งแตกออกมากลายเป็นลัทธิตันตระยาน...ในยุคที่พุทธในอินเดียผิดเพี้ยนอย่างหนัก...จนถูกลัทธิตันตระของพราหมณ์กลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของพราหมณ์...โดยเอาพระพุทธเจ้าไปเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ไปโน่น...พุทธจึงหมดสิ้นไปจากอินเดีย....ขณะที่ศาสนาร่วมสมัยอย่าง เชน หรือ ไชนะ ที่มีมหาวีระเป็นศาสดายังคงมีสืบทอดมาจนปัจจุบันในอินเดีย

จากเดิมที่ทุกคนมีแนวคิดเดียวกัน...แต่เริ่มแปลกแยกหลังพุทธปรินิพพาน...เนื่องจากเข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทผิดเพี้ยนไป...สาเหตุจากกลุ่มวรรณะพราหมณ์ที่เข้ามาบวชแล้วไม่ยอมละทิ้งทิฏฐิเดิม...จึงนำเอาการเวียนว่ายตายเกิดแบบพราหมณ์ (คือเกิดจากท้องแม่...เติบโต...แก่...ตาย...วิญญาณออกจากร่าง...ไปเสวยสุข ทุกข์...ตามวิบากกรรมที่ทำไว้...แล้วรอเกิดใหม่ในภพภูมิใหม่...อย่างที่มีบรรยายไว้ในไตรภูมิพระร่วงนั่นแหละ...คือเชื่อว่า...การเกิดใหม่ เติบโต แก่ ตาย แล้วเกิดใหม่...วนเวียนไม่จบไม่สิ้นนี้...เป็นวิญญาณของคนคนเดิม...คือหลักการของอาตมัน..หรือเรียกว่าหลักอัตตาเที่ยงแท้...เปลี่ยนแต่รูป...และภาวะที่ดำรงอยู่เท่านั้น

เปรียบเหมือนคนใส่เสื้อแล้วถอดไปใส่เสื้อตัวอื่น...ชาติหนึ่งๆก็คือเสื้อตัวหนึ่ง...เนื้อหนังก็คือวิญญาณ...)

อันขัดกับหลักปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบจนบรรลุพระโพธิญาณอย่างตรงกันข้าม...

ในเมืองไทยที่คนพูดว่าตัวเองเป็นพุทธ...จึงยังเชื่อเรื่องราวแบบที่บรรยายไว้ในไตรภูมิพระร่วงอยู่อย่างมากมาย....ผมประมาณว่าไม่ต่ำกว่า 90% ! และต่างก็สับสนในหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น

จึงเหล่าผู้สับสนนี้จะยังคง...
..บนบานศาลกล่าว...ขอโน่น นี่ นั้น นู้น
..ถวายเงินพระเพื่อร่วมสร้างวัตถุให้วิจิตรพิสดาร...ถวายรถยนต์ ตู้เย็น แอร์ ทีวี มือถือ ฯลฯ
..ทำบุญหวังขึ้นสวรรค์ หรือ หวังให้เกิดชาติหน้าจะได้สุขสบาย
..อวยสมณะศักดิ์ให้พระ..ตั้งแต่ชั้น เจ้าคุณ ชั้นราช ชั้นธรรม ชั้นพรหม ชั้นสมเด็จ กันต่อไป...เพื่อไว้ปกครองศาสนจักร และให้ศาสนาจักรรับใช้อาณาจักรต่อไป
ฯลฯ

กันอยู่เรื่อยไปชั่วกัปกัลปาวสาน

 

โดย: สดายุ... 10 มีนาคม 2554 15:15:51 น.  

 

เข้าใจว่าคุณคงเป็นคนชอบสอน อยากตอบคำถามนี้มั๊ยค่ะ

“เราจะระงับความโกรธตามแนวพุทธได้อย่างไร”

บทสอน บทวิจารณ์กี่ยวกับการ ตามรู้ตามดู อารมณ์ตนเอง กล่าวว่า ให้ตามรู้ตามดูอารมณ์ดีใจ พอใจ เสียใจ โกรธ อยากได้.... ให้ทำแค่..ตามดู..อาจจะเริ่มที่การรู้เมื่อความโกรธผ่านไปแล้ว ครึ่งวัน .. 1 ชม.... 10 นาที... 5 นาที ..........แต่เมื่อปฏิบัติบ่อยครั้งขึ้น ก็จะรู้..สั้นขึ้นเรื่อยๆๆ จนกระทั่งถึงขณะที่ว่า.. เมื่อใดที่รู้ว่า ความโกรธมีอยู่เฉพาะหน้า ทันทีที่รู้ตัวหมายถึงความโกรธนั้นดับไปแล้ว

กรณีที่ว่าข้างต้นทำได้จริงเมื่อความโกรธนั้นไม่รุนแรง เช่น เจอคนแย่ๆบนท้องถนน การตามรู้ อารมณ์โกรธนี้ทำได้และเมื่อได้บ่อยๆครั้ง ก็สามารถให้อภัยได้ (ถ้าวันไหนมีสติพอ)

แต่เมื่อใดความโกรธมีกำลัง แม้ว่าไม่รุนแรงที่จะทำให้เกิดการทำร้ายทางกายหรือวาจา แต่ก็ผลักไสและบีบเค้นจิตใจตนเองมากมาย ณ ขณะที่กำลังโกรธอยู่..ก็รู้ว่ากำลังโกรธแต่ก็ไม่สามารถหยุดได้ การเปลี่ยนอารมณ์ในสิ่งที่กำลังโกรธอยู่ ทำไม่ได้อย่างแท้จริง อาจเปลี่ยนได้บางแว่บ แต่ก็จะกลับไปใหม่เนื่องจากโกรธมีกำลังมากกว่า

เมื่อเวลาผ่านไป..อารมณ์ที่รุนแรงลดลง สติเริ่มกลับมา เกิดคำถามขึ้นว่า ทำไมถึงต้องโกรธ?.. เพราะคนอื่นไม่ปฏิบัติต่อเราอย่างที่เราคิดว่าสมควรใช่ไหม? ทำไมถึงต้องคิดว่าเราสมควรจะได้? ทำไมเราถึงสำคัญ?

แล้วก็นึกไปถึง...จริงหรือที่ว่า “เราเขาไม่มี มีแต่รูปกับนาม..ที่ไม่นานก็ดับไป”

สำหรับเรา....คำว่า “ความเป็นตัวเรา ของเรา” เหมือนเป็นเงาๆ เพราะไม่เคยรู้และสัมผัสอย่างแท้จริง!

อาจารย์วิปัสสนาท่านนึงบอกว่า อย่ามัวแต่ถาม หรือนึกคิดสิ่งเหล่านี้ล่วงหน้า เข้าไปตามดู.ให้ติดต่อกัน...เราลองแล้ว...เหมือนเดิมและฟุ้งซ่านกว่าเดิม...

เราเรียนอภิธรรมเพราะสนใจใคร่รู้ ฟังและอ่านวิธีปฏิบัติ 2-3 แนวทางที่ต่างกันแต่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ การพิจารณารูปนาม เพื่อต้องการเห็น 3 ลักษณะ คือ เกิด-มี-ดับ และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการตามดูจิต.. สิ่งใดที่ได้อ่านได้ฟัง ทำได้เพียงเข้าใจ คิดตาม เรียบเรียง และจดจำ บางอย่างที่ไม่เข้ากับตรรกะของเรา ก็คิดตามและผ่านไป ไม่โต้แย้งแค่รับฟังเพราะไม่มีความรู้ที่แท้จริงไปตอบโต้...ฉะนั้น....เต็มที่ค่ะ
ถ้าไม่คิดว่าเป็นการเสียเวลากับคนที่มาร่วมสนทนาด้วยนบนพื้นที่ไซเบอร์สวยๆนี่

ป.ล. นาฬิกาไม่ตรงนะคะ

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 10 มีนาคม 2554 17:09:31 น.  

 

ผมไม่ใช่นักปฏิบัติ....และผมไม่ใช่คนชอบสอน...แต่ชอบอธิบายสิ่งที่คิดว่ามีเหตุผล...รวมทั้งพออ่านดูก็รู้ว่าคำสอนไหนมีเหตุผลและน่าจะถูกต้อง...จากการประมวลด้วยสามัญสำนึกที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติของศาสนาและศาสดา

ก่อนจะตอบ...เราต้องเข้าใจพื้นฐานว่า...จิต...หรือความคิดของคนทั่วไปมันซัดส่าย...ไม่นิ่ง...ไม่ควรแก่การงาน..

เดี๋ยวมาใหม่ครับ...

 

โดย: สดายุ... 10 มีนาคม 2554 17:51:08 น.  

 

การสอนให้ตามดูจิต ตามดูอารมณ์...น่าจะเป็นแนวทางสายพระป่าทางภาคอีสาน...

การตามดู..ตามรู้...ก็เพื่อให้คุ้นเคย...และรู้จักมันให้ดี...ว่ามันเริ่มเกิดขึ้นอย่างไร...มันตั้งอยู่นานแค่ไหน...มันดับลงเมื่อไร...และมันดับลงเพราะเหตุใด....จะได้จัดการมันได้อย่างรู้เท่าทัน

คนโดยทั่วไปวุ่นวายอยู่กับกิจทางโลก...จิตใจก็ยุ่งเหยิงไม่สงบ...พอถึงวันเสาร์อาทิตย์อยู่ๆจะมานั่งหลับตาตามหลวงพ่อหลวงพี่ที่คอยพากย์นำความคิดแล้วจะมาเห็นโน่นนี่...คงเป็นเรื่อง"อุปาทาน"ซะเป็นส่วนใหญ่....เพราะจิตไม่สงบรำงับได้เพียงพอจะเกิดสมาธิ...

โดยพื้นฐาน...กระบวนการมันเริ่มที่... ศีล -> สมาธิ -> ปัญญา
มันเป็นลำดับขั้นตอนของการฝึกจิต...เหมือนกับการเรียน...ประถม -> มัธยม -> อุดมศึกษา ที่ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้...

คนส่วนมาก...ศีลยังไม่เข้มแข็งพอจะสร้างความสงบรำงับในจิตได้ก็รีบไปนั่งหลับตาทำสมาธิเสียแล้ว...มันก็ได้แต่ แสง สี รูปต่างๆที่สัญญาในจิตมันถ่ายออกมา...แล้วหลงว่านั่นคือ..นิมิต !

ศีล...ก่อให้เกิดความรำงับของจิต...เพื่อให้ลดการซัดส่ายของความคิด หรือ จิต...การที่คนทั่วไปใช้ชีวิตประจำวันอย่างที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่นนั้น ยังไม่เรียกว่ามีศีล...แค่ไม่ทำผิดกฎหมายบ้านเมืองเท่านั้นเอง....

ลองนึกถึงความคิด...ตำหนิ...ดูถูก...โกรธ...เหยียดหยาม...เบื่อหน่าย..."ที่อยู่ในจิต"เมื่อกระทบกับคนหรือภาวะที่ไม่ชอบใจไม่ถูกจริต ที่แวดล้อมเราอยู่ เหล่านั้นเบียดเบียนใครหรือไม่...ผิดกฎหมายหรือไม่ ? ...ย่อมไม่ ....จริงไหม

แต่เบียดเบียนตนเอง...จึงย่อมไม่สงบรำงับเพียงพอ...สมาธิก็เกิดไม่ได้...เหมือนผูกลิงหรือหมาป่าไว้กับหลัก...เริ่มแรกมันคงดิ้นพล่านเดินวนไม่ยอมหยุด...จริงไหม

พอนานไปมันก็จะเริ่มเหนื่อย...การเดินวนก็จะช้าลง...และอาจถึงกับนั่งเฉยอยู่ใกล้หลักนั้น...เพราะหมดแรง

จิตก็เหมือนกัน...เริ่มต้นการนั่งสมาธิ จะให้มันหยุดสงบรำงับเลยทันทีย่อมเป็นไปไม่ได้...การตามดูตามรู้ก็เหมือนการผูกมันไว้กับหลัก...คือการจดจ่อรับรู้ในภาวะของอารมณ์นั่นเอง...(คนที่มีศีลแข็งแรงจิตของคนคนนั้นก็จะไม่ดิ้นรนมากนัก)....ไม่บังคับ...ไม่กดดัน...ไม่ได้ต้องการเห็นแสงเห็นสีอะไรทั้งสิ้น...ไม่ต้องไปฟังที่หลวงพ่อหลวงพี่พยายามทำเสียงทุ้มๆเนิบๆพากย์นำความคิด......แค่ตามดูว่ามันจะดิ้นพล่านไปได้สักแค่ไหน...แค่ตามดูว่ามันจะนึกเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่องนั้นแล้วจะเรื่องไหนอีก...

ทีนี้พอมันเหนื่อย...เริ่มซัดส่ายช้าลง...จะกลับกลายเป็นว่าเริ่มง่วง...นั่งสัปหงกไปเสียอีก...เพราะภาวะร่างกายยังไม่คุ้นชิน...ยิ่งพวกทานมื้อเย็นแล้วนั่งสมาธิตอนหัวค่ำ...

ท่านจึงให้งดมื้อเย็นที่จะทำให้ง่วง...เพราะยามวิกาลนั้นสงบโดยเสียงโดยแสงเหมาะที่จะทำการตามดูอารมณ์...

การที่มีอารมณ์โกรธแล้วรู้...แต่หยุดไม่ได้...เพราะเหตุผลมันวิ่งมาดับอารมณ์ไม่ทัน...มันช้า...เพราะมันไม่ถูกฝึกมาให้เข้มแข็งว่องไวเพียงพอ...เพราะมันไม่จริงจังเพียงพอ...เพราะมันถูกตามใจมากเกินไป...

บ่อยครั้งที่เราไม่เคยตั้งคำถามกับตัวเองภายหลังเหตุการณ์เลยว่า....
เราโกรธอะไร ?
ทำไมถึงโกรธ ?
หากมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอีกจะโกรธอีกไหม ?
แล้วจะดับความโกรธนี้ได้อย่างไร ?
คนที่จิตตกจนขุ่นมัวเป็นเรา หรือ เขาที่เราโกรธ ?

ทีนี้มันมี"กรรมบท"ที่แก้กันอยู่ที่คนเราหากรู้จักจริตของตัวเองได้ดีพอแล้วยอมรับว่าเราเป็นเช่นนั้น....อาจใช้ความอุตสาหะฝึกฝนให้ค่อยๆลดลงได้ตามลำดับ...

คนตระหนี่...แก้ด้วยการให้ การบริจาค
คนมักโกรธ...แก้ด้วยความรัก เมตตา สงสาร ต่อผู้อื่น
เป็นต้น...

การตามดูอารมณ์ ไม่มี dead line ว่าจะต้องเสร็จภายในกี่นาที กี่ชั่วโมง จริงไหม ?.....ความฟุ้งซ่านย่อมเกิดจากการที่จิตยังไม่รำงับ...ยังไม่เหนื่อย...ยังดิ้นรนอยู่รอบหลัก...ก็ตามดูต่อไปสิ...ว่ามันจะมีอะไรมาให้ดูอีก...อย่าเอาระยะเวลาของคนอื่นมาเป็นตัวกำกับให้ตัวเอง....แต่ละคนมีคุณสมบัติหรือสมรรถภาพของจิตที่ไม่เหมือนกัน...เหมือนกรุ๊ฟเลือดในตัวนั่นแหละ...

ผมว่าอภิธรรม มันเป็นเรื่องเกินความจำเป็น...อย่างที่ท่านพุทธทาสชอบพูดนั่นแหละครับ...ว่า "อภิธรรมเฟ้อ"....เหมาะสำหรับพวกชอบปริยัติไว้เล่นโวหารกัน

ศีล...ทำให้จิตรำงับ...เหมาะแก่การฝึก
(ศีลข้ออย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น...หมายรวมถึงความอาฆาตมาดร้ายด้วยนะครับ...เพราะคนเรามักไม่ฆ่าคนอื่นอยู่แล้วโดยปกติ..เพราะผิดกฎหมาย...แต่ความอาฆาตมาดร้ายนี่ไม่ผิดกฎหมายเพราะอยู่ในจิตเท่านั้น.....แต่มันทำให้เร่าร้อน ทุรนทุราย และไม่สงบรำงับ...เป็นอุปสรรคโดยตรง)

สมาธิ...ทำให้จิตเข้มแข็ง ว่องไว มีกำลัง และมั่นคง...เหมาะแก่การงาน...เพื่อใช้วิเคราะห์วิจัยหลักธรรมยิ่งๆขึ้นไป

ปัญญา...เกิดจากสมาธิจิตที่เข้าใจแจ่มแจ้งในหลักธรรม...จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยกับสมาธิสนับสนุนกันและกันเป็นวงรอบต่อเนื่องกันไป...จนถึงจุดรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง...หมดข้อสงสัยในโลกสภาพ...จนกระทั่งปล่อยวางลงได้เพราะความเบื่อหน่ายจากความรู้ที่ถึงที่สุดนั้น

 

โดย: สดายุ... 10 มีนาคม 2554 23:56:01 น.  

 

จริงมั๊ย...จริงมั๊ย...อยากจะตอบว่าจริงสิ....จริงสิ....เหมือนเพลงสมัยก่อน

แต่ต้องบอกว่า ไม่รู้...ไม่รู้สิ....ไม่รู้ค่ะ….

เมื่อสนใจจึงใคร่รู้
เมื่อใคร่รู้จึงเข้ามาดู
เมื่อดูแล้วก็จะคิดตาม
เมื่อคิดแล้วก็จะลองทำค่ะ

เคยมีคนหนึ่งพูดกับเราว่า

”เมื่อเกิดมาแล้วในชีวิตหนึ่ง ถ้าไม่สนใจ ไม่ไปทำความรู้จักกับพุทธปรัชญา ก็เสียชาติเกิดเสียจริงทั้งๆที่เกิดมาก็อยู่กับมันแล้ว...แรงไปหน่อยนะ..พ่อเราเอง...ตอนแรกก็โกรธมากเพราะมันมากับเสียงเหยียดหยามหน่อยๆ....แต่หลายปีผ่านไปก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของเรากับคำสอนของพุทธะ

โดยเฉพาะความหมายของประโยคนี้มันชักชวนและท้าทายมากค่ะ…..
“ธรรม ที่ท่านได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล.....ท่านจงมาดูเถิด...”

ต้องลองค่ะ..

แม้ประโยคที่ว่า "อภิธรรมเฟ้อ"....เหมาะสำหรับพวกชอบปริยัติไว้เล่นโวหารกัน” ก็ยังน่าสนใจอยู่สำหรับเรา...

เพราะอภิธรรมที่ท่านว่าอาจมีความหมายที่ต่างออกไปจากเรา...เพราะตามที่คุณว่า..ท่านก็สอนตามนัยของปฏิจจฯใช่มั๊ยคะ..ส่วนของบทเรียนของเราก็มีปฏิจจฯเป็นส่วนสำคัญ

หรือเราอาจยังไม่ได้สัมผัสถึงความเฟ้อเหล่านั้น มันอาจมีแล้วเราผ่านมันไปโดยไม่ให้ความสำคัญก็ไม่แน่ใจ.....เราเป็นนักเรียนที่ผู้สอนคงไม่ชอบนัก เพราะเราเลือกฟังในสิ่งที่ตนสนใจเท่านั้น และเท่าที่เรียนอภิธรรมมาก็หลายปีอยู่ ส่วนใหญ่ที่เราได้รับคือคำอธิบายด้วยเหตุและผลอย่างน่าทึ่ง การถกเถียงในบรรดาผู้เชี่ยวชาญ(ถ้ามีนะ)เปรียบเสมือนคนทะเลาะกันสำหรับเรา และไม่เคยใส่ใจ เพราะใส่ใจไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร บทเรียนที่สอนเป็นเพียงการปูพื้นฐานให้การปฏิบัติเท่านั้น.. เรารู้ล่วงหน้าแล้วว่าธรรมในส่วนที่ลึกและละเอียดอ่อน เราไม่อาจสัมผัสได้...เหมือนกับในข้อความที่เขียนไว้ในท่อนที่3ของsection นั่นแหละค่ะ

แต่ถึงบางคนจะไม่เรียนแล้วปฏิบัติเลยก็ไม่แปลก... หนทางของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เราต่างน่าจะรู้ได้ว่าถนนสายใดเหมาะกับเรา ......หรือไม่เหมาะกับเรา

..แค่เล่าสู่กันนะคะ.....

ไว้เราพลุ่งพล่านอีกแล้วจะมาตั้งคำถามใหม่ ขอบคุณและสวัสดีค่ะ

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 11 มีนาคม 2554 15:50:49 น.  

 

กาลามสูตร นั่นแหละสำหรับเหล่าชาวพุทธ

 

โดย: สดายุ... 12 มีนาคม 2554 12:30:02 น.  

 

เราอ่านสิ่งที่คุณเขียนมากกว่าหนึ่งคร้ังเพื่อจะมั่นใจได้ว่าเข้าใจได้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ....ท้ังหมดก็เข้าใจนะ

แต่ว่าประโยคสุดท้ายนี่คืออะไรคะ

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 14 มีนาคม 2554 15:03:16 น.  

 

ประโยคสุดท้ายคือ หลักกาลามสูตร...สำหรับแก้โรคเชือง่าย...เชื่อทันที...สำหรับสังคมเชื่องเชื่อแบบไทย...คือการยังไม่ต้องเชื่อ 10 ประการ...ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้กับชนชาว..กาลามะ

อยู่ที่นี่ครับ....
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=sdayoo&month=15-09-2006&group=5&gblog=21

 

โดย: สดายุ... 14 มีนาคม 2554 17:56:02 น.  

 

ชะงักงันไปเลย....เหมือนตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางค่ะ..พอดีเห็นท่อนสุดท้ายเสียก่อน...

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 15 มีนาคม 2554 14:21:09 น.  

 

ช่วงนี้ว่างมากๆ แวะมาหาเพื่อนคุย..ได้หรือเปล่าคะ หรือต้องไปคุยในห้องนิยาย..ชอบอ่านแต่ไม่ชอบคุยกับนักเขียนนี่นา...คราวก่อนคุณยังใจดีคุยด้วยเลย..

คุณเคยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางมั๊ย?

รอบตัว....ในสังคมมีแต่คนชอบ luxuriuos brand, delux place, ทำหรือมีอะไรก็ไดที่ให้ความรู้สึกว่า.เหนือคนอื่น..

เพื่อนสนิทสุดสวยของคุณเล่าให้ฟังเรื่อง ความเป็นไปของลูกๆที่กำลังโต..และกิ๊ก...

เพื่อนแสนดีมีน้ำใจ ไม่ได้เจอหน้ากันเกือบปี คุยเรื่องหลานสาวหนุ่มทั้งสิบคน...เรื่องทริปทั่วโลกของเจ้าหล่อน

คนที่ผ่านไปมาบนถนน...ช่วงชิงเอาประโยชน์กับเพื่อนร่วมทางโดยไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำลงไป..มันไม่ถูกต้อง

ฉันไม่ได้ไม่ชอบคนเหล่านี้นะคะ..เพื่อนก็ยังมีความรู้สึกดีให้...อยากช่วยเหลือถ้าเขาต้องการ..

แต่เริ่มแปลกแยก..เบื่อหน่ายและไม่มีที่อยู่

ยังค่ะ..ยังไม่สติแตก..ยังไปอ่าน "nkgen.com"...ชอบและระลึกถึงคุณที่แนะนำ...เลยแวะมาคุยด้วย

เคยเข้าไปsearch คนเขียนใน google ด้วยหล่ะ...


แล้วจะแวะมาอีก...

 

โดย: 40++ IP: 118.175.64.59 1 มิถุนายน 2554 17:35:58 น.  

 

ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองอยู่ผิดที่ผิดทางเลยแม้แต่ครั้งเดียว....

แต่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่คุณบรรยายมานั้น...ผมกลับรู้สึกว่าคนประดานั้นขาดความเข้าใจธรรมชาติของโลกภาวะ เท่านั้นเอง...และผมสามารถนั่งเหมือนฟังเขาได้เพียงแต่สายตาที่มองเขานั้นพยายามทำความเข้าใจไปในสมองที่ปากกำลังพูดอยู่นั้นมากกว่า...

หากเราสามารถเข้าใจภาวะที่พวกเขาเป็นอยู่ได้...เราก็สามารถได้ยินเสียงเหล่านั้นอย่างไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร...

และหากเมื่อใดที่เรารู้สึกหงุดหงิดรำคาญกับภาวะแวดล้อมที่ไม่ถูกใจขึ้นเมื่อใด...ก็แปลว่า"อัตตา"ของข้าพเจ้านี้กำลังขยายตัว..และเริ่มทำตัวเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งอีกแล้ว....

มีอัตตาเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น...เพราะขาดปัญญา...

 

โดย: สดายุ... 1 มิถุนายน 2554 19:15:31 น.  

 

อือ...หน้าชาไปเลยค่ะ....แต่ปฏิเสธไม่ได้กับความถูกต้องที่กล่าว...

แต่ทุกครั้งที่เคลื่อนไหว..ทุกครั้งที่คิด ..รู้สึกรัก รู้สึกโกรธ กลัว หลงใหล..มันก็ถูกโอบอุ้มด้วยความมีตัวตนของเราไม่ใช่หรือ...ความเป็นตัวตนมันอยู่กับเรามานานนนนนน..มากกกกก..จะต้องคิดและพิจารณาด้วยวิธีไหนถึงจะทันกัน..ทำไปแล้ว..รู้สึกผูกพันไปแล้ว
อีกทั้งยังตอบไม่ได้เลยว่าอยากจะให้หมดไป..จริงหรือ.....ลดการปะทะ..การกระทบลงจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของการโต้ตอบด้วยวิธีของเรา..

..กำลังกระตุ้นให้ตัว--สติ--ทำงานอยู่ค่ะ..

 

โดย: 40++ IP: 124.121.47.214 3 มิถุนายน 2554 15:34:31 น.  

 

ภาวะการมีตัวตน เป็นธรรมชาติอันนอนเนื่องในจิตใจของคนทุกคน...ที่ดูเหมือนจะเป้นสิ่งเดียวกันด้วยซ้ำ...หากไม่มีปฏิจจสมุปบาทมาให้เราศึกษา...ใครเล่าอาจเข้าใจจนแยกแยะได้ตั้ง 12 ลำดับขั้นตอนการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของจิตได้...

เราศึกษาเรื่องนี้ก็เพื่อฝืนจิตจากธรรมชาติแบบเดิมเอาไว้...

สัญชาติญาณ มันสร้างภาวะ ตัวตน ของตน ขึ้นมาคือกายกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
หากแต่ในระดับภูมิธรรมที่ฝึกฝนมาดีแล้ว กายกับจิตแยกกัน...กายเราฝืนไม่ได้ เราต้องบำรุงเลี้ยงมันไปตามภาวะ...การบำเพ็ญทุกรกิริยา ก็บอกอยู่แล้วว่ามันไร้ประโยชน์..เพราะภาวะกายของคนเราฝืนไม่ได้...พระพุทธองค์จึงละเลิกเสีย...แล้วมาสนใจแต่เรื่องจิต เท่านั้น...

กล่าวโดยสรุปแล้ว...ศาสนาพุทธสอนเรื่องการฝึกฝนจิตให้มีกำลัง ให้มีสมรรภาพ ให้มีประสิทธิภาพ โดยตั้งอยู่บนกายที่ไม่ต้องบำรุงจนเกินความจำเป็น...เพื่อเอาชนะสัญชาติญาณตามธรรมชาติที่มีนอนเนื่องในสันดานของทุกคนนั่นเอง...สัญชาติญาณนั้นเป็นบ่อเกิดของ..อาสวะกิเลสทั้งปวง

การลดการกระทบ การปะทะ ที่จะมีต่อทั้งรูปและนามทั้งหลายจะเป็นผลดีต่อการฝึกฝนจิต...ท่านจึงบอกว่า เรือนว่าง โคนไม้ ป่าช้า ย่อมเป็นที่สงัดควรแก่การแวดล้อมผู้ฝึกฝนจิต....ท่านไม่เคยบอกให้วุ่นวายอยู่ในกิจของผู้ครองเรือนแต่อย่างใด....หากเป้นสมัยนี้ก็คงต้องเป็นห้องพระ...ห้องสมุด...เรือนเล็กๆหลังบ้าน ฯลฯ.......เป็นการช่วยให้จิตรำงับดีกว่าที่ที่อึกทึกวุ่นวาย


 

โดย: สดายุ... 3 มิถุนายน 2554 18:59:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.