Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
30 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

จะพูดอย่างไรให้ลูกเป็นคนดี



…สง่าศักดิ์ รู้ว่าตนเองไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก เขาจึงพยายามใช้เวลากล่อมลูกน้อยตั้งแต่ลูกยังเป็นทารก
จนกระทั่งเติบโตขึ้น และทุกครั้งเขาจะกล่าวกับลูกว่า "พ่อรักลูกนะจ๊ะ คนดีของพ่อ"
และหากเขาต้องไปทำงานต่างจังหวัด เขาก็จะโทรมาเพื่อจะกล่าวว่า "พ่อคิดถึงลูก"
เขาพบว่าคำพูดเหล่านี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของลูก
เขาดีใจที่เห็นลูกเติบโตขึ้นเป็นเด็กอารมณ์ดีและมีความสุข เพราะลูกมั่นใจในความรักที่ได้รับและไม่รู้สึกห่างเหิน

…เด็กชายบุญชู เป็นเด็กที่ซุกซนมาก ชอบทำข้าวของในบ้านเสียหาย ชอบรังแกน้อง
เขาถูกดุและขู่เสมอว่า " บุญชูเป็นเด็กไม่ดี ซุกซน ไม่มีใครรักแล้ว สู้น้องไม่ได้ รักน้องดีกว่า "
คำพูดเหล่านี้ที่คนในบ้านสบประมาทเขา ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของบุญชูให้ดีขึ้น
กลับยิ่งตอกย้ำให้เขามั่นใจว่าเขาเป็นคนไม่ดีไม่มีใครรัก ไม่สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้
ทำให้เขาเติบโตขึ้นพร้อมกับการมีปัญหาทางอารมณ์ กลายเป็นคนที่โมโห เกรี้ยวกราดและอิจฉาน้อง

คำพูดมีอิทธิพลต่อเด็กๆ ทั้งในมุมลบและมุมบวก

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ค้นพบว่า ประสบการณ์ความรักความผูกพันจากการสัมผัส
และคำพูดที่เด็กได้รับตั้งแต่แรกเกิดสามารถกำหนดได้ว่า เด็กคนนั้นจะเป็นเช่นไรในอนาคต
เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้สมองของทารกสร้างเครือข่าย เส้นใยสมองมาเชื่อมโยงเซลล์สมอง
ทำให้สมองของเด็กได้รับการพัฒนาในเชิงบวกทั้งทางด้านสติปัญญา และอารมณ์

เด็กที่ได้รับความรักความอบอุ่นในครอบครัว ทั้งจากการกระทำและคำพูด
จะเป็นเด็กที่สามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
เพราะมีฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติซอล ในปริมาณน้อย

ในครอบครัวที่สามีภรรยามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และให้เวลาและความเอาใจใส่ในการอบรม ดูแลบุตรของตน
เพื่อให้เด็กเติบโตในสภาพแวดล้อมที่มั่นคงและอบอุ่น
เด็กจะได้รับการพัฒนา ให้มีทัศนคติเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิต มีแนวโน้มที่จะพัฒนาความไว้วางใจ
และความรู้สึกห่วงใยผู้อื่น มีความละเอียดอ่อนต่อชีวิตเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

ในทางตรงกันข้ามเด็กที่อยู่ในครอบครัว ที่พ่อแม่ล้มเหลวในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน
ขาดการดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน ใส่ใจแต่ความอยู่รอดหรือมุ่งตอบสนองแต่ความต้องการของตนเอง
ไม่ค่อยสนใจลูกๆ ของตน หรือเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น พูดจาหยาบคาย
เด็กเหล่านี้จะมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูง ซึ่งมีผลทำลายเซลล์สมอง และลดจำนวนเครือข่ายเส้นใยสมองลง
เมื่อเติบโตขึ้นเด็กอาจจะเป็นคนเรียนรู้ได้ช้า สมาธิสั้น ขาดความมั่นคงทางอารมณ์
และมีผลต่อลักษณะนิสัย และบุคลิกภาพ เช่น อาจกลายเป็นเด็กที่มีความเครียดชอบเก็บตัว
มีความเห็นแก่ตัว และอาจอยู่ในสภาพ ที่ไม่สามารถไว้วางใจใครได้เมื่อเติบโตขึ้น


ลูกจะเติบโตขึ้นเป็น " คนดี " หรือ " คนไม่ดี " นั้น ตัวกำหนดที่สำคัญคือ
คำพูดและการแสดงออกของพ่อแม่ นับตั้งแต่พวกเขายังเป็นทารก


จากประสบการณ์การดูแลลูกชายสองคน ผมพบว่า
มีคำพูด 10 ประโยคเป็นอย่างน้อย ที่พ่อแม่ควรพูดกับลูกบ่อยๆ เพราะมีส่วนกระตุ้นให้ลูกเติบโตเป็นคนดี
มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีจิตใจแจ่มใสและใฝ่ในทางที่ดี คำพูดเหล่านี้ ได้แก่

1. " พ่อกับแม่รักลูกนะ "
เด็กๆ ปรารถนาความรักความอบอุ่นที่พ่อแม่พึงมีให้แก่เขา เด็กที่มีความมั่นใจว่าเป็นที่รักของครอบครัว
มักจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์ดี มีจิตใจปลอดโปร่งแจ่มใส และมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดกว่าเด็กที่มีความเครียด
มีภาวะอารมณ์ที่ไม่ปกติ
อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก การไม่ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อและแม่อย่างเพียงพอนั่นเอง
พ่อและแม่จึงควรกล่าวย้ำให้ลูกรู้ และมั่นใจเสมอว่า พ่อแม่รักเขา อาจจะกล่าวทุกวันในเวลาก่อนเข้านอน
ในโอกาสพิเศษหรือ หลังจากที่เราลงโทษเขาเมื่อเขากระทำความผิด

ในการกระทำบางอย่างของพ่อแม่อาจทำให้ลูกตีความผิดว่า พ่อแม่รักเขาน้อยลงหรือไม่สนใจเขาแล้ว เช่น
เมื่อแม่มีน้องและให้เวลากับน้องมากขึ้น ลูกอาจตีความว่าแม่รักน้องมากกว่า
ซึ่งหากปล่อยไป เด็กอาจจะพัฒนากลายเป็นเด็กที่มีใจอิจฉา ไม่ชอบน้อง
และอาจกลายเป็นเด็กที่ไม่ชอบแม่ของตนก็เป็นได้
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหานี้พ่อแม่จึงจำเป็นต้องย้ำให้ลูกๆ รู้เสมอว่าพ่อแม่นั้นรักลูก เพื่อให้ลูกมั่นใจว่า
ตนเองยังเป็นคนสำคัญ อันจะช่วยให้จิตใจที่บอบบางของเด็กๆ นั้นมีความมั่นคง ไม่มีความเครียด
อันจะช่วยยังผลให้สมองของเด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ที่สำคัญ แม้ว่าลูกกระทำความผิด ทำตัวไม่น่ารัก ดื้อ ซน เกเร เราก็ไม่ควรพูดขู่ลูกว่า "พ่อ/แม่ไม่รักหนูแล้วนะ"
"พ่อ/แม่รักน้องมากกว่าเพราะน้องไม่ดื้อไม่ซน"
การพูดเช่นนี้บ่อยๆ ไม่ได้เป็นผลดีกับลูกแม้ว่าจะพูดเล่นก็ตาม เพราะเด็กอาจจะเชื่อตามนั้น
และการดื้อการซนของเขานั้น ก็เป็นไปตามวัย ซึ่งต้องการคนที่เข้าใจและคอยให้กำลังใจให้เขาทำดีมากขึ้น
มากกว่าที่จะมาต่อว่าซ้ำเติม ในความเข้าใจของเด็กๆ การกระทำเช่นนี้จึงเป็นผลร้ายมากกว่าผลดีในระยะยาว

ดังนั้นแม้ลูกจะกระทำผิด และถูกลงโทษ
แต่พ่อแม่ก็จำเป็นต้องแสดงความรัก และย้ำให้ลูกมั่นใจเสมอว่าพ่อแม่รักเขา ไม่ว่าเขาจะเป็นเช่นไรก็ตาม


2. " สวัสดีลูก วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง "
การทักทายลูกเสมอทำให้ลูกรู้ว่าเราใส่ใจในวิถีชีวิตของเขา
และเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุยสื่อสารกับเราได้ทุกวัน ทำให้เด็กไม่มีความลับกับพ่อแม่
เราควรถามคำถามนี้เสมอด้วยความห่วงใย ไม่ใช่คาดคั้นหาความจริงเพราะจะทำให้เด็กกลัว เมื่อไปทำความผิดมา

หากเราถามคำถามนี้ตั้งแต่เขายังเล็ก ก็จะเป็นการฝึกให้เขาพูดกับเราอย่างสม่ำเสมอ และเปิดเผย
จะช่วยให้เขาเป็นเด็กที่ไม่เก็บกด กล้าพูดความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
หรือหากเขามีความลับเก็บซ่อนไว้ เราก็จะสามารถสังเกตได้จากสีหน้าท่าทางที่แปลกออกไป
เราค่อยๆ พยายามให้เขาเกิดความมั่นใจว่า จะไม่ถูกพ่อแม่ลงโทษและกล้าพูดความจริงออกมาได้


3. " ขอบคุณลูก "
เมื่อลูกทำอะไรให้ก็ตาม แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ช่วยจัดโต๊ะอาหาร ช่วยเก็บรองเท้าเข้าที่
หรือแม้กระทั่งเขาทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อย เราไม่ควรลืมที่จะขอบคุณเขา
เพราะการกล่าวขอบคุณนั้นจะช่วยให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจว่า มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ
ช่วยให้เด็กเห็นว่าการช่วยเหลือผู้อื่น การรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้นเป็นสิ่งดี
จะช่วยให้เด็กมีความพยายามทำความดีต่อไป อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ลูกเรียนรู้ที่จะขอบคุณผู้อื่นด้วย


4. " ลูกเป็นเด็กดีจริงๆ พ่อแม่ภูมิใจในตัวลูกมาก "
เมื่อลูกกระทำสิ่งที่ดีเป็นพิเศษ เช่น เสียสละเวลาหรือทรัพย์สิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น เข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ
ได้รับการชมเชย จากคุณครูที่โรงเรียนหรือเชื่อฟังพ่อแม่ไม่ทำบางสิ่งแม้เขาอยากจะทำ ฯลฯ
ลูกสมควรได้รับการเห็นคุณค่า และได้รับคำชมเชยจากพ่อแม่อย่างจริงใจ
คำชมเชยเป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ลูกมีกำลังใจ และมีความปรารถนาจะกระทำดีมากยิ่งขึ้น
ทำให้เขามั่นใจว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมีคนสนับสนุน
และเป็นการช่วยให้ลูกเห็นว่า การเห็นแก่ตัวเป็นสิ่งที่ไม่น่าภาคภูมิใจ
ช่วยให้เขามีความสุข และยินดีที่เสียสละเพื่อผู้อื่นมากยิ่งขึ้นในอนาคต


5. " ขอโทษลูก พ่อ/แม่เป็นคนผิดเอง "
การกล่าวขอโทษลูกไม่ใช่สิ่งน่าอาย หรือเสียเกียรติความเป็นผู้ใหญ่ หรือทำให้สูญเสียอำนาจบารมี
หรือลูกๆ จะดูถูกได้
ในทางตรงกันข้าม การกล่าวขอโทษลูกนับเป็นแบบอย่างที่ดี ในการสอนลูกให้รู้จักรับผิดชอบ
และช่วยลูกยอมรับ ในสภาพความเป็นจริงของมนุษย์ว่า ไม่ว่าใครๆ ก็มีโอกาสที่จะกระทำความผิดพลาดได้ทั้งสิ้น
แม้พ่อแม่ซึ่งตนคิดว่า เก่งที่สุดในสายตาของลูกยังทำผิดพลาดได้
ทำให้ลูกกล้าที่จะยอมรับ ความผิดพลาดของตนเอง ไม่อาย หรือกลัวเสียหน้า
แต่หากพ่อแม่ไม่เคยขอโทษลูก เมื่อตนเองกระทำความผิด หรือพลั้งเผลอ หรือลืมบางสิ่งบางอย่างไป เช่น
นัดกับลูกไว้แล้วมาสาย หรือไม่สามารถไปกับลูกได้เพราะติดงานที่บริษัท แต่กลับทำเฉยๆ ไม่ขอโทษลูก
ลูกก็จะรู้สึกบาดเจ็บต่อการกระทำของพ่อ/แม่ เด็กจะเห็นว่าพ่อไม่ให้ความสำคัญในตัวเขา
นอกจากนี้ก็จะทำให้ลูกเลียนแบบ กลายเป็นเด็กที่ขอโทษใครไม่เป็น หรือทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดเมื่อเติบโตขึ้น


6. " ทำ…หรือยังลูก "
เด็กๆ มักจะมีแนวโน้มเลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ สิ่งที่สนุกสนาน
ส่วนเรื่องที่ควรทำหรือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำมักจะไม่ใส่ใจเท่าใด
ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นต้องทำหน้าที่เป็น "ผู้ตรวจสอบ" และ "ผู้ควบคุม" ว่าทำสิ่งเหล่านี้หรือยัง เช่น
"ทำการบ้านหรือยัง" "ทำตามตารางเวลาประจำวัน ได้ครบถ้วนหรือไม่" "ทำตามที่พ่อหรือแม่บอกหรือยัง" ฯลฯ
คำถามเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็กรู้ว่า ตนเองมีหน้าที่ที่ควรจะทำนอกเหนือจากการเล่นสนุก หรือทำตามใจตนเอง

การพูดเช่นนั้นของพ่อแม่ จะช่วยในการฝึกวินัยให้กับลูก
ช่วยให้เขาเป็นคนที่รู้ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบที่ตนเองต้องทำ และหากไม่ทำก็จะมีพ่อแม่คอยตรวจสอบอยู่


7. " เหตุใดจึงทำเช่นนี้/คิดว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี "
เมื่อลูกกระทำสิ่งผิด สิ่งที่ไม่น่าจะทำ เช่น ไม่ทำการบ้าน ทำน้ำหกรดพื้นบ้านแล้วไม่ยอมเช็ด
หยิบของที่ไม่ใช่ของตนไปใช้ โดยไม่ขออนุญาต ทะเลาะกับพี่น้อง ฯลฯ
แทนที่จะลงโทษลูกเลย เราควรเรียกเขามาสอบถามเหตุผลว่า เหตุใดจึงทำเช่นนั้น เป็นการสอนให้รู้จักใช้เหตุผล
รู้จักวินิจฉัยและประเมินการกระทำของตนเองว่า ดีหรือไม่ สมควรทำหรือไม่
เพื่อให้เขาเรียนรู้ที่จะกระทำอย่างมีเหตุผล ที่ถูกต้องมากขึ้นในครั้งต่อๆ ไป


8. " มาทำ…กันเถอะ "
การชักชวนให้ลูกทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การปลูกต้นไม้ การล้างรถ การทำอาหาร การเก็บผ้า การอ่านหนังสือ
การคิดเงินค่าใช้จ่ายภายในบ้านประจำเดือน หรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่พ่อแม่ทำอยู่เป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว
เป็นการพยายามให้ลูก มีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจที่มีโอกาสรับผิดชอบ และแสดงความเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ไม่ใช่เป็นคนที่ถูกกันออกมาไม่ให้รับรู้หรือมีส่วนร่วมใดๆ กับครอบครัวเลย

การพยายามให้ลูกมีส่วนร่วมในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเช่นนี้
จะช่วยให้เด็กเรียนรู้จักความรับผิดชอบต่อครอบครัว
และจะเป็นผลดีให้เขาเรียนรู้ที่จะมีส่วนร่วมในสังคม ที่มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เช่น โรงเรียน ชุมชน ต่อไปในอนาคต


9. " คิดถึงลูกจังเลย "
หากเราต้องจากลูกไปหลายๆ วัน ควรมีการสื่อสารถึงกันเสมอ เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกเหงาหรือเข้าใจผิดว่าถูกทอดทิ้ง
เช่น เราส่งลูกไปเข้าค่ายเยาวชน หรือเราติดธุระต้องส่งลูกไปพักอยู่กับญาติเป็นการชั่วคราว

เราควรจะย้ำความรู้สึกที่ว่า เราไม่ได้ทิ้งลูกหรือต้องการให้ลูกไปอยู่กับคนอื่น
ด้วยการกล่าวให้ลูกมั่นใจว่า พ่อแม่คิดถึงลูกเสมอ


10. " ลูกรู้มั้ย ลูกเป็นคนสำคัญของพ่อและแม่ "
ในโอกาสพิเศษ เช่น วันเกิดของลูก วันเกิดของพ่อหรือแม่ และวันสำคัญอื่นๆ ของครอบครัว
หรือในวันที่ลูกรู้สึกหดหู่ท้อแท้ใจ ถูกตำหนิจากเพื่อนที่โรงเรียน รู้สึกว่าตนเองด้อยความสามารถหรือไม่มีค่า
วันเหล่านี้เป็นวันดี ที่พ่อแม่จะกล่าวย้ำให้ลูก เกิดความภาคภูมิใจว่าเขาเป็นคนสำคัญของพ่อและแม่
เป็นคนที่มีคุณค่าสำหรับพ่อและแม่
เด็กก็จะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความนับถือตัวเองมากขึ้น ซึ่งการสร้างความภาคภูมิใจให้ลูกเป็นสิ่งที่สำคัญ
พ่อแม่ต้องสร้างความนับถือตัวเองให้แก่ลูก โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขามีรูปร่างหน้าตาอย่างไร
หรือคนภายนอกหรือค่านิยมสังคมจะตีคุณค่าเขาอย่างไร เด็กก็จะเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงในจิตใจ
และมีความมั่นใจในตนเอง ส่งผลให้สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ผมได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งของหนังสือ "สุขวาทะ วาทะสร้างสุขในชีวิต" ว่า
"ทุกถ้อยคำที่เราพูดออกไป เราย่อมต้องเก็บเกี่ยวผลแห่งคำพูดนั้น
เมื่อเราพูดเหมาะสม คิดรอบคอบ ด้วยจิตใจที่ดีงาม
ผลที่ได้รับคือความสุขที่เต็มล้น ตราตรึงในใจทั้งของผู้พูดและผู้ฟัง"

ผมขอเพิ่มเติมว่า หากเรานำมาใช้กับ "ลูก" ผลิตผลที่เราต้องฟูมฟักชีวิตของเขา
คำพูดที่ดีงามและถูกต้องเหมาะสมของเรา ไม่เพียงแต่จะทำให้ครอบครัวมีความสุขเท่านั้น
ยังสามารถช่วยสร้างชีวิตของลูกให้เติบโต เป็นคนที่มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความปรารถนากระทำสิ่งที่ดี
มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น
ซึ่งจะสนับสนุนให้เขาประสพความสำเร็จ และเป็นคนดีที่พึงประสงค์ของสังคมต่อไป


โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
ที่มา //www.elib-online.com/doctors2/child_speak01.html
ภาพจาก //www.inmagine.com/crzs005/crzs005027-photo


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 30 พฤศจิกายน 2552
1 comments
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2552 19:58:57 น.
Counter : 951 Pageviews.

 

good kha.

 

โดย: good IP: 68.151.236.158 2 ธันวาคม 2552 5:35:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.