Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 
9 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ชีวิตนี้มีเป้าหมาย

แม่และเด็ก

คนรู้จักวางแผน มีเป้าหมายชีวิต ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

อ่อนใจ...ทำไมลูกเราถึงดูเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะซะเหลือเกินก็ไม่รู้ ไม่สั่งก็ไม่ทำ ทำอะไรก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
ริเริ่มทำอะไรเดี๋ยวเดียวเบื่อ โตขึ้นจะกลายเป็นคนล่องลอยไร้จุดหมายรึเปล่าหนอ

จะว่าเป็นธรรมดาของเด็กวัยนี้ก็ได้ค่ะ ที่อาจดูไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าไร
เพราะผ่านช่วงวัยเล่นซุกซนแบบเด็กเล็กมาแล้ว
และกำลังเริ่มเข้าสู่วัยพรีทีน จึงดูเฉื่อยเนือยไปในสายตาคุณพ่อคุณแม่

แต่อันที่จริงแล้ว อาจเป็นไปได้ว่าเขาไม่ได้รับแรงกระตุ้นเท่าที่ควร
ทั้งๆ ที่พัฒนาการทางด้านความคิดของเขากำลังเบ่งบาน ผู้ใหญ่ควรฉวยโอกาสนี้ฝึกเขาให้คิดอย่างเป็นระบบ
และวิธีหนึ่งที่จะฝึกได้ก็คือสอนให้ลูกคิดอย่างมีเป้าหมาย และรู้จักวางแผนเพื่อไปถึงเป้าหมายนั้น

โอ๊ะ...ไม่ได้บอกว่าให้ลูกวัย 10 ขวบของเราวางเป้าหมายใหญ่โต
ถึงขนาดว่าวางแผนชีวิตข้างหน้าว่าจะทำงานอะไร จะแต่งงานเมื่อไรนะคะ...
เด็กอาจจะคิดได้แต่ว่าอันนั้นเป็นเรื่องของความใฝ่ฝันอันยาวไกลค่ะ ไม่ใช่เป้าหมายที่เรากำลังจะพูดถึง

เป้าหมายของเด็กวัยพรีทีนเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันของเขานั่นเอง เช่น
เมื่อลูกอยากได้จักรยานสักคัน หรืออยากจะเล่นดนตรีเป็น อยากจัดงานวันเกิด ทำงานที่คุณครูมอบหมาย
หรือแม้แต่การดูหนังสือสอบ ทำงานบ้าน ฯลฯ
เหล่านี้ล่ะค่ะที่เป็นเป้าหมายของลูก ซึ่งมีทั้งเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และทั้งที่เป็นความใฝ่ฝันส่วนตัว

ในการจะไปสู่เป้าหมายแต่ละอย่าง เด็กๆ เขาต้องลงมือกระทำจึงจะสำเร็จ ไม่ใช่มีแค่ความอยาก
เมื่อลูกเรายังเล็กอยากได้อะไร อาจจะร่ำร้องรบเร้าขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่
การตอบสนองของพ่อแม่ผู้ใหญ่ในวัยนั้นคงไม่กระไรนัก แต่เมื่อโตขึ้น วิธีนั้นคงไม่เหมาะซะแล้วล่ะค่ะ
ถ้าเราอยากให้ลูกโตตามวัย ก็อย่าใช้วิธียื่นมือเข้าไปช่วยเหลือจัดการให้ทันทีที่ลูกร้องขอ
หรือตัดความรำคาญเพราะทนเสียงรบเร้าไม่ไหว

สิ่งที่พ่อแม่ช่วยเหลือได้ คือช่วยลูกหาว่า เขามีเป้าหมายอะไรบ้างที่ต้องไปให้ถึง
เด็กๆ อาจจะไม่ค่อยรู้หรอกว่าอะไรคือเป้าหมาย ไม่ว่าเด็กที่ active หรือเด็กที่เฉยๆ ก็ตาม
เด็กที่แอ็กทีฟอาจจะมีความสนในมากมาย บางทีสนใจอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันด้วยซ้ำ
จนไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไรจริงๆ กันแน่ หรือเด็กบางคนที่ดูเรื่อยเปื่อยเฉื่อยเฉย ทำตามที่ผู้ใหญ่สั่งลูกเดียว
ถามว่าสนใจอะไรก็อาจบอกไม่ได้ เพราะไม่เคยคิดด้วยตัวเองมาก่อน
ทั้งสองแบบนี้ผู้ใหญ่คงต้องคอยกระตุ้นว่า เขาควรวางเป้าหมายในเรื่องใดบ้าง

อาจจะแบ่งเป้าหมายในเรื่องที่ลูกต้องทำ กิจวัตรประจำวัน เรื่องเรียน งานบ้าน ฯลฯ
กับเรื่องความใฝ่ฝันความต้องการของลูก เช่น ของที่ลูกอยากได้ สิ่งที่ลูกอยากจะเป็น อยากจะทำ ฯลฯ
เมื่อช่วยลูกเห็นเป้าหมายของตัวเองแล้ว ก็มาฝึกวางแผนกัน
เช่น ถ้าลูกจะทำรายงานส่งคุณครู ให้ลูกหัดคิดเป็นข้อๆ ว่า “ต้องทำอะไรบ้าง เตรียมอะไรบ้าง”

ถ้าลูกอยากได้จักรยาน วิธีที่จะได้จักรยานต้องทำอย่างไร
1. ไปดูราคาจักรยานก่อน
2. เก็บเงินวันละเท่าไร
3. หารายได้พิเศษถ้าอยากได้จักรยานเร็วขึ้น

ถ้าลูกอยากจัดงานวันเกิด
1. จะจัดที่ไหน
2. จัดแบบไหน
3. เตรียมอะไรบ้าง
4. เชิญใครบ้าง
หรือลองชวนลูกวางแผนตารางเวลาในแต่ละวัน

แม่ : แม่ว่าถ้าลูกวางแผนว่าจะทำอะไรเวลาไหน ก็จะทำให้ลูกไม่ต้องนอนดึกมาก
กลับมาจากโรงเรียนแล้วลูกมีอะไรต้องทำบ้างล่ะ

ลูก : หนูมีทั้งการบ้าน ทั้งรายงาน แต่หนูก็อยากมีเวลาสบายๆ ของหนูบ้างด้วยนะแม่
แม่ : ลูกคิดว่าแต่ละวันจะใช้เวลาทำการบ้านแค่ไหนล่ะถึงจะไม่หนักเกินไป
ลูก : สักชั่วโมงนึงค่ะ
แม่ : หนูลองจดตารางเวลาดูสิคะ เช่น 17.30 น. กลับถึงบ้าน อาบน้ำ ทานข้าว 18.00 น. ทำการบ้าน 19.00 น.
หรือลูกจะจัดลำดับก่อนหลังแบบอื่นก็ได้นะ
ส่วนรายงานก็แบ่งทำเป็นอย่างๆ เช่น เมื่อไหร่หาข้อมูล เมื่อไหร่พิมพ์ เข้าเล่ม
ลูกจะได้ไม่ต้องหักโหมทำในวันเดียว แล้วในแต่ละวันลูกยังมีเวลาเหลือทำอะไรได้ตามใจชอบอีก

แล้วอย่าเพิ่งรำคาญนะคะ ถ้าการวางแผนของลูกเราดูไม่ได้เรื่องได้ราว
ให้เขาได้เรียนรู้เองว่าวางแผนอย่างไรได้ผลหรือไม่ได้ผล
ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่มักทนไม่ได้เข้าไปจัดการวางแผนให้ โดยเฉพาะคุณแม่นักจัดการคงต้องทำใจมากหน่อย
ขอแค่ใส่ใจอย่างจริงจัง ถามกระตุ้นให้ลูกได้รู้จักคิดเท่านั้นพอ เช่น

พ่อ : ลูกต้องทำรายงานส่งคุณครูเมื่อไหร่
ลูก : วันพฤหัสหน้าค่ะ
พ่อ : ต้องทำอะไรบ้าง
ลูก : หาข้อมูล แล้วก็ลงมือเขียน
พ่อ : ต้องใช้เวลาหาข้อมูลแค่ไหน
ลูก : ก็แล้วแต่ว่าจะหายากรึเปล่า หนูว่าถ้าหาวันละนิดวันละหน่อยก็คงได้
พ่อ : แล้วลูกใช้เวลาเขียนเท่าไรจึงจะเสร็จ
ลูก : วันเดียวก็เสร็จค่ะ
พ่อ : แต่ถ้าลูกไปทำใกล้ๆ วันส่งอาจจะทำไม่ทันนะ เกิดตอนนั้นมีการบ้านมากละก็แย่เลย
ลูก : งั้นหนูจะเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่วันนี้ แล้วหนูจะลงมือเขียนวันเสาร์ค่ะ
พ่อ : ดีจ้ะ ลูกรู้จักวางแผนอย่างนี้ จะได้ไม่เครียด

แล้วก็คอยดูแลให้ลูกทำตามแผนที่วางไว้ ให้คำแนะนำเมื่อสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผน
เช่น เมื่อลูกมีปัญหาในการทำงานกลุ่ม เพื่อนบางคนไม่ให้ความร่วมมือทั้งที่มีการวางแผนดิบดี

แม่ : ทำไมเขาไม่ให้ความร่วมมือล่ะลูก
ลูก : เขานิสัยไม่ดี
แม่ : แล้วลูกบอกเขาหรือเปล่าว่าถ้าเขาไม่ทำจะไม่ได้คะแนน
ลูก : ไม่ได้บอกค่ะ แต่เขาน่าจะรู้
แม่ : ถ้าลูกบอกเขา เขาอาจจะกระตือรือร้นขึ้น หรือเขาอาจจะไม่ถนัดในสิ่งที่ลูกให้เขาทำก็ได้นะ
อย่างแม่นี่ถ้าเพื่อนให้ออกไปพูดหน้าชั้นจะไม่ทำเลย

ลูก : งั้นหนูจะเปลี่ยนให้เขาออกไปพูดหน้าชั้นก็แล้วกันนะคะ เพราะเขาชอบพูดมากกว่าทำ

ด้วยวิธีเหล่านี้ นอกจากลูกเราจะเป็นคนมีเป้าหมายรู้จักวางแผนแล้ว ยังรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ไม่ติดการพึ่งพาพ่อแม่ผู้ใหญ่ไปจนโต...เท่านี้ก็วางใจได้ค่ะ


ข้อมูลจาก kids & family ปีที่ 10 ฉบับที่ 116 พฤศจิกายน 2548
ที่มา : //www.elib-online.com
ภาพจาก : //www.metroparent.com


สารบัญ แม่และเด็ก




Create Date : 09 พฤษภาคม 2553
Last Update : 12 พฤษภาคม 2553 22:34:18 น. 0 comments
Counter : 766 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.