Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2553
 
25 กุมภาพันธ์ 2553
 
All Blogs
 
สัญญาณบอกเหตุ ลูกพัฒนาการช้า



นอกจากความยินดีปรีดาที่เกิดขึ้น เมื่อได้ยินเสียงร้องและได้เห็นหน้าลูกน้อยครั้งแรกแล้ว
การที่ลูกน้อยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ และมีแนวโน้มของพัฒนการที่สมวัย
เพียงเท่านี้ ก็ถือเป็นของขวัญล้ำค่าสำหรับคนที่เป็นพ่อเป็นแม่แล้ว

แต่หากลูกรักเกิดมามีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัยอันควร แน่นอนว่าคนที่ทุกข์ร้อนกังวลใจมากที่สุดคงไม่พ้นพ่อแม่
และแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะมีปัจจัยหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง
แต่ความเข้าใจและใส่ใจสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างใกล้ชิด จะช่วยให้รู้ปัญหา ได้แต่เนิ่นๆ
โอกาสจะแก้ไขได้ทันท่วงทีก็จะเพิ่มมากขึ้น

Modern Mom Special เห็นว่าความเข้าใจเรื่องพัฒนาการของลูกเป็นสิ่งสำคัญค่ะ
ฉบับนี้จะพาไปสำรวจว่ามี Sign อะไรที่ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้บ้าง

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องพัฒนาการกันก่อน
พัฒนาการ หมายถึง กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกาย ซึ่งจะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามแต่ละช่วงวัยของเด็ก
แล้วระดับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยไม่ได้ระบุเป็นกฎเกณฑ์ตายตัว
แต่ อาจจะบอกลักษณะพัฒนาการอย่างคร่าวๆ ว่า เด็กแต่ละช่วงอายุมีพัฒนาการอย่างไรแล้ว
ถ้าเกิดขึ้นช้าระยะเวลาดังกล่าว ก็ไม่ควรจะทิ้งช่วงนาน


5 เหตุ…พัฒนาการล่าช้า

การที่เด็กจะมีพัฒนาการล่าช้าเกิดขึ้นได้จากปัจจัยทั้งภายใน และภายนอกเหล่านี้ค่ะ

1. พันธุกรรมที่ได้รับจากพ่อและแม่ เช่น โรคทางพันธุกรรมบางอย่างที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
อาทิ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม ดาวน์ซินโดรม ฯลฯ
หรือการที่พ่อกับแม่บังเอิญเป็นญาติ มีโอกาสที่ยีนผิดปกติจะแสดงออกมาทางลูกได้สูง

2. สุขภาพที่ไม่สมบูรณ์ของแม่ขณะตั้งครรภ์ เช่น แม่ที่ไม่ดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
ลูกก็มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่

3. ภาวะการคลอดที่ไม่ราบรื่น เช่น เด็กคลอดก่อนกำหนด คลอดหลังกำหนด คลอดยาก ล้วนส่งผลกระทบต่อเด็ก
เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เลือดออกในสมอง โรคปอดเรื้อรัง ตับวาย ไตวาย

4. สุขภาพของเด็กหลังคลอดและปัจจัยแทรกซ้อนช่วงหลังคลอดใหม่ๆ
เช่น เด็กตัวเล็กหรือใหญ่เกินไป ตัวเหลืองจนต้องเปลี่ยนเลือด ต้องเข้าตู้อบเป็นเวลานาน

5. การเลี้ยงดูและภาวะโภชนาการที่ไม่เหมาะสม
เช่น เด็กไม่ได้รับอาหารครบถ้วน กินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ รวมถึงไม่ได้ส่งเสริมพัฒนาการเท่าที่ควร


Behaviour Sign
นอกจากปัญหาทางกายที่จะเกิดขึ้นกับเด็กแล้ว ยังมีปัญหาพฤติกรรมที่ส่งผลให้พัฒนาการเด็กล่าช้าตามมา
ซึ่งปัญหาพฤติกรรมเกิดขึ้นจากสองสาเหตุหลัก คือ

1. ร่างกายผิดปกติ ส่งผลต่อพฤติกรรม

2. สิ่งแวดล้อมรวมถึงการเลี้ยงดูจากครอบครัว

* เด็กอยู่ไม่นิ่ง (ซนเกินไป) ไม่รู้จักรอคอย
แม้เด็กวัยนี้อยากรู้อยากเห็น แต่การที่เด็กมีช่วงความสนใจสั้น วอกแวก รับรู้ช้ากว่า
และไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตัวเองได้ เมื่อเทียบกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ก็อาจบอกถึงความผิดปกติได้

* มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายสิ่งของ ทำร้ายผู้อื่น และทำร้ายตัวเอง
ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าวของตัวเองได้เด็กบางคนอาจจะตีอก ชกหัว ทำร้ายตัวเอง

* ทำพฤติกรรมซ้ำๆ นั่งโยกตัว สะบัดมือ ชกตัวเอง วิ่งไปทั่ว การแก้ไขพฤติกรรมของเด็กนั้น
ข้อสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุด่าว่าตี เพราะยิ่งจะเป็นการสร้างภาวะกดดัน
ซึ่งส่งผลไม่ดีกับพัฒนาการและจิตใจเด็ก ซ้ำยังไม่อาจหยุดพฤติกรรมนั้นได้
ควรจะพาไปพบคุณหมอพัฒนาการเด็กก่อน เพื่อวิเคราะห์อาการที่เกิดขึ้นกับเด็ก


Top to Toe Sign
อาการผิดปกติของอวัยวะที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจ

เนื่องจากอาการนี้จะส่งผลถึงพัฒนาการและกระทบไปถึงส่วนอื่นๆ ได้

สำหรับจุดที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนมีดังนี้

* ศีรษะ Physical Sign :
ศีรษะเล็กหรือใหญ่เกินไป บ่งบอกถึงการเจริญเติบโตของสมอง อาจจะเกิดจากการที่สมองเจริญเติบโตผิดปกติ
เช่น ขาดอากาศขณะคลอด หรืออาจจะเป็นโรคทางพันธุกรรม

Note : เส้นรอบศีรษะโดยปกติของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 เดือนแรก
จะมีความยาว 35 เซนติเมตร / 4 เดือน : 40 เซนติเมตร
/ 1 ปี : 45 เซนติเมตร / 2 ปี : 47 เซนติเมตร / 5 ปี : 50 เซนติเมตร


* หู Physical Sign :
ใบหูผิดรูป อยู่ต่ำหรือสูงเกินไปจนสังเกตได้ติ่งหูยาวผิดปกติ มีรูด้านหน้าหูหรือหูไม่มีรู


Development Sign :
อายุ 6 เดือนแล้วไม่สามารถหันตามทิศทางของเสียง และไม่ตอบสนองกับเสียงที่ได้ยินรอบข้าง
เช่น ไม่สะดุ้งตกใจเมื่อมีเสียงดัง

Note : การให้ลูกฟังเสียงที่มีโทนเสียงแตกต่างกัน เสียงที่มีความซับซ้อน
รวมถึงการพูดคุยโต้ตอบเสียงที่ถูกเปล่งออกมา จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านการ ฟังของลูกได้


* ตา Physical Sign :
ตา ห่างจนผิดปกติ ตาเหล่าเข้า-ตาเหล่ออกเห็นว่าแสงสะท้อนจากรูม่านตาเป็นสีขาว
แสดงว่ามีความผิดปกติอยู่ด้านหลังรูม่านตา อาจจะเป็นต้อ มีเนื้องอก จอประสาทตาลอก

Development Sign : มองตามวัตถุแล้วตาแกว่งไม่หยุดนิ่ง ไม่จับจ้องวัตถุ ไม่สบตา

Note : การให้เล่นของเล่นสีสันสดใสที่เคลื่อนไหวได้ เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนของ
ช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ฝึกเคลื่อนไหวดวงตาเพื่อมองตามวัตถุ


* จมูก Physical Sign :
ดั้ง จมูกบี้หรือเชิดมาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ต้องดูหน้าตาโดยรวมด้วย
เช่น หางตาชี้ กระหม่อมแบน ลิ้นใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นอาการของเด็กดาวน์ซินโดรม

Development Sign : ไม่ตอบสนองหรือไม่มีปฏิกิริยากับกลิ่นต่างๆ เลย
เช่น ไม่นิ่วหน้าหรือจามเมื่อมีกลิ่นเหม็นฉุน

Note : ทารกเริ่มได้กลิ่นตั้งแต่อายุ 3 วันแล้ว ยิ่งเป็นกลิ่นคุณแม่เขาจะพยายามหันไปหาด้วยความคุ้นเคย


* ปาก Physical Sign :
ปากบางเป็นปากปลา (ไม่เห็นริมฝีปากเลย) หรือปากแหว่งเพดานโหว่

Development Sign : พูดไม่ชัด ติดอ่าง เสียงผิดปกติ ไม่เล่นเสียงและส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่โต้ตอบคำพูดตามวัย
มีพัฒนาการทางภาษาช้า
เช่น สองขวบแล้วยังพูดคำที่ไม่มีความหมาย ไม่ทำตามคำสั่งและไม่พยายามพูดกับคนอื่น

Note : สามารถกระตุ้นพัฒนาการการพูดได้จากการตอบสนองเสียง อ้อแอ้
ชวนลูกคุยโต้ตอบให้เหมือนคุยกันรู้เรื่อง ชวนลูกออกเสียงคำง่ายๆ ให้เด็กได้เลียนเสียง ชวนเล่นเกมเป่าฟองสบู่
เป่าลูกโป่งหรือเป่าน้ำในแก้ว ซึ่งจะช่วยฝึกกล้ามเนื้อเพดานช่องคอและการใช้ลมออกเสียง


* ลิ้น Physical Sign :
ลิ้นใหญ่ ลิ้นยืดออกมาขณะพูด การสบของฟันปกติ

Development Sign :
น้ำลายไหลย้อย เด็กมักอ้าปากกว้างไม่หุบ ไม่กลืนอาหาร ไม่เคี้ยวข้าวหรือเคี้ยวนาน ไอหรือสำลักอาหารบ่อยๆ

Note : สามารถนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก เพื่อให้เกิดการดูด
โดยวางหัวนิ้วแม่มือลงบนคางใต้ริมฝีปากล่าง
แล้วลากออกเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปากล่างทั้งสองประมาณ 5-10 ครั้ง


* แขนขาและบริเวณลำตัว Physical Sign :
แขนขา ยาวไม่เท่ากันทั้งสองข้าง นิ้วยึดติด นิ้วเกิน 5 นิ้ว นิ้วกุด กล้ามเนื้อแขนขาเกร็งเกินไป
คือเด็กเคลื่อนไหวลำบากและเคลื่อนไหวผิดปกติ ข้อยึดติด ข้อสะโพกหลุด
แบะออกมามากเกินไปหรือหนีบติดกันไม่ยอมแบะ

Development Sign : กล้ามเนื้อแขนขานุ่มนิ่ม อ่อนปวกเปียก คือไม่มีแรงในการเคลื่อนไหว ยกแขนยกขาลำบาก
ไม่สามารถควบคุมลำตัวเพื่อทรงตัวให้มีความสมดุลขณะถูกอุ้ม
เช่น 3 เดือนคอยังไม่แข็ง 9 เดือนยังไม่คว่ำหรือยังไม่คลาน
1 ขวบแล้วยังหยิบขอเล่นไม่ได้ กำมือไม่ได้ ข้อเท้าติดบิดหมุนไม่ได้รอบ

Note : การกระตุ้นพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ
คุณแม่ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอหรือนักกายภาพบำบัด เพื่อตะได้กระตุ้นกล้ามเนื้อได้ถูกต้อง


* ผิวหนัง Physical Sign :
สี ผิวผิดปกติ เช่น ตัวเหลือง หรือมีปานเป็นริ้ว เป็นแนวสีขาวหรือสีดำเป็นแถบใหญ่
มีปานตามผิวหนังมากกว่า 6 จุด หลังมีปานลายเป็นต้นคริสต์มาส บวกกับกล้ามเนื้อนิ่ม
เป็นสัญญาณบอกอีกกลุ่มหนึ่ง ผิวหนังแห้งอย่างมาก คันและต้องเกาอยู่ตลอดเวลา


สำหรับอาการหรือพฤติกรรมผิดปกติที่เกิดขึ้นกับอวัยวะที่ยกมาให้ เห็นเหล่านี้
ไม่ใช่ทั้งหมดของอาการที่บ่งบอกถึงพัฒนาการช้าเป็นเพียงอาการ และจุดที่คุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นได้ง่ายเท่านั้น

Ways to Protect Delay Development
1. เปรียบเทียบพัฒนาการลูกกับสมุดสุขภาพที่จะได้รับเมื่อลูกคลอด
2. หากไม่มั่นใจการตรวจของหมอท่านแรกคุณแม่ควรหา Second Opinion เพื่อความมั่นใจ
3. แม่ Modern Mom ต้องเป็นคนช่างสังเกตโดยเฉพาะกับลูกของตัวเอง
4. อย่าเร่งพัฒนาลูกด้วยการให้ดูโทรทัศน์หรือวีซีดี
5. หากพบอาการผิดปกติอย่ารอให้รีบมาพบคุณหมอพัฒนาการเด็ก
6. เด็กอายุช่วงขวบปีแรกจะต้องไปพบคุณหมอบ่อยอยู่แล้ว แต่หลังจากหนึ่งขวบเป็นต้นไป
คุณแม่ควรพาลูกมาตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี


แต่ยังมีอาการผิดปกติที่อาจจะสังเกตได้ไม่ค่อยชัดเจนนัก
ทว่าก็พบได้บ่อยๆ ในเด็กไทยคือ ออทิสติกและสมาธิสั้น
ซึ่งทั้งสองอาการนี้หากรู้เร็ว โอกาสในการแก้ไขก็จะเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

สำหรับสาเหตุของโรคทั้งสองจะเกิดจากความผิดปกติในส่วนใดบ้าง
แล้วมีจุดสังเกตของอาการอย่างไร ลองไปติดตามกันดูค่ะ…


ออทิสติก

ออทิสติก (Autistic) หรือ ออทิสซึ่ม (Autism) คือ อาการของเด็กที่มีความบกพร่อง 3 ด้านด้วยกัน คือ
1. พัฒนาการด้านการสื่อความหมาย
2. พัฒนาการด้านสังคม
3. มีพฤติกรรมทำซ้ำซาก

ส่วนสาเหตุของอาการเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากสมอง เช่น
มีความผิดปกติของเซลล์สมอง ในส่วนการควบคุมอารมณ์ ความจำ แรงจูงใจ
และบริเวณที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ยังไม่พัฒนา
และสาเหตุที่เกิดจากปัญหาสุขภาพขณะตั้งครรภ์ของแม่ เช่น ติดเชื้อหัดเยอรมัน
รวมถึงการได้รับมลภาวะ เช่น พิษจากสารตะกั่ว


Mom's Experience
“ใช้ธรรมชาติของความเป็นแม่รักษาและเยียวยาลูก
เพราะไม่มียาขนานใด หรือคุณหมอคนไหนรักษาลูกเราให้หายขาดได้ด้วยตัวแม่เอง”
นี่คือยาขนานเอกของ คุณแม่สกาวรัตน์ อิ่มสมุทร แม่น้องกะตังค์ (ด.ช.สุรียเมษ อิ่มสมุทร อายุ 4 ขวบ)
น้อง กะตังค์ป่วยเป็นออทิสติก บกพร่องด้านการสื่อความหมาย ไม่รู้จักชื่อตัวเองเรียกไม่หัน
พูดและบอกความต้องการไม่ได้ แต่ด้วยความรักของแม่น้องกะตังค์ดีขึ้นได้

“ท้องตอนอายุ 35 พอรู้ตัวว่าเราท้องตอนอายุมากก็เช็กสุขภาพตลอด เจาะน้ำคร่ำซึ่งผลออกมาปกติ
แต่ช่วงท้อง 7 เดือนมีเลือดออกทางช่องคลอด เช็กแล้วไม่มีอะไรผิดปกติ
ตอนคลอดก็ปกติแต่พอน้องกะตังค์อายุ 1 ขวบ เริ่มเห็นและสังเกตแล้วว่าทำไมลูกเรามีพัฒนาการช้า
ไม่เป็นไปตามวัย กลัวเสียงดัง ตกใจง่าย นิ่งเงียบ แต่ก็ยังไม่เอะใจมาก เพราะเห็นว่าเขายังส่งเสียงได้อยู่
จนช่วงอายุสองขวบเราเริ่มสอนให้เขาพูด สอนบ๊ายบายปรากฏว่าเขาพูดไม่ได้ส่งเสียงได้อย่างเดียว

ถ้าอยากได้อะไรจะใช้ วิธีร้องไห้ เช่น ถ้าต้องการสิ่งของเขาจะสบตาแล้วจูงมือเราไปที่ของ
ถ้าอยากกินนมก็จะนอนร้องไห้ เราจะรู้ว่าเขาหิวนมก็เพราะทิ้งระยะนานแล้วที่ไม่ได้กิน
เวลาเดินจะเขย่งปลายเท้า จากที่ไม่เอะใจก็เริ่มแล้วค่ะ พอได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง

เขาเล่าถึงลูกที่เป็นออทิสติกปรากฏว่าอาการคล้าย ลูกเราวูบแรกที่รู้ตัวชา ค้านในใจตัวเองว่าไม่ใช่น่า ไม่ใช่แน่
แล้วก็พาลูกไปตรวจ ซึ่งคุณหมอพัฒนาการบอกว่า ลูกเข้าข่ายเป็นออทิสติกแล้ว
ก็แนะนำให้ไปโรงพยาบาล ยุวประสาท ที่โรงพยาบาลให้ทดสอบพฤติกรรมลูก
เทสต์ได้คะแนน 20 คะแนนจาก 40 เรียกว่าแหย่ขาข้างหนึ่งไปแล้วแน่ๆ

จากนั้นก็เริ่มฝึกพัฒนาการที่โรงพยาบาลนาน 3 เดือนแล้ว
ตอนหลังก็เปลี่ยนมาที่โรงพยาบาลปากน้ำ ได้มาเจอกับพยาบาล ซึ่งเขาแนะนำคนที่จะมาฝึกลูกที่บ้านได้
จนตอนนี้ก็ยังฝึกอยู่ เขาจะมีการประเมินพฤติกรรมทุก 1 เดือน
ตอนนี้น้องกะตังค์ 4 ขวบแล้วพาไปเรียนร่วมกับเพื่อนที่โรงเรียน ช่วงแรกก็เล่นคนเดียว ปลีกตัวเอง
แต่โชคดีที่ครูเข้าใจ และพยายามดึงน้องกะตังค์มาเล่นด้วยจนตอนนี้ก็เล่นกับ เพื่อนๆ ได้บ้าง
เราก็พยายามฝึกน้องกะตังค์ด้วยตัวเอง หมั่นคุยกับลูกดูแลเอาใจใส่เขาทุกอย่าง
เล่นของเล่นเสริมพัฒนาการ ต้องเล่นกับลูกบ่อยๆหรือใช้ตัวแม่นี่ล่ะค่ะเล่นกับลูก
เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นนับเลขนิ้วมือ 1-5 ตอนเล่นก็สบตา กอดกัน

วิธีการแบบนี้เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัสของลูกอย่างหนึ่งด้วย
ที่สำคัญคุณแม่ต้องหมั่นสังเกต และบันทึกพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกเป็นประจำ
เพราะว่าแม่ถือเป็นคนที่แยู่ใกล้ชิดลูกที่สุด
ฉะนั้น การสังเกตพฤติกรรมก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ลูกดีขึ้นได้ แล้วอย่าเชียร์หรือเข้าข้างลูกเกินไป
ต้องดูปัจจัยแวดล้อมว่าพฤติกรรมที่เขาทำได้เอื้อต่อเขาแค่ไหนด้วย

ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรต่อไป บอกได้อย่างเดียวว่า
“เราตายไม่ได้ ต้องดูแลเขาให้ถึงที่สุด แล้วกำลังใจก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ
การที่ลูกดีได้ ส่วนหนึ่งมาจากกำลังใจจากคนรอบข้าง ยิ่งจากคุณแม่ที่มีลูกป่วยเป็นออทิสติกเหมือนกัน
แล้วลูกเขาหายขาดก็เป็นกำลังใจให้เราต่อสู้ เพื่อที่ลูกเราจะต้องหายเหมือนกัน”


เทคนิคจากแม่น้องกะตังค์
“คุณพ่อคุณแม่ต้องมองโลกในแง่บวก อย่าคิดว่าตัวเองแย่ที่ลูกไม่เหมือนคนอื่น
เพราะความคิดเหล่านี้ จะถ่ายทอดออกทางพฤติกรรมซึ่งเด็กจะรับรู้ได้ถึงพฤติกรรมของแม่
แล้วต้องไม่หงุดหงิดหรือแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับลูก
เพราะเขาค่อนข้างเซนซิทิฟในเรื่องความรู้สึกถึงขั้นหวาดกลัวได้”


Checklist ออทิสติก
อาการออทิสติกสามารถสังเกตได้ตั้งแต่แรกเกิด มักจะแสดงอาการให้เห็นเมื่ออายุ 3-5 เดือน
แต่ส่วนใหญ่แล้วพ่อแม่จะสังเกตเห็นเมื่ออายุ 2 ขวบ หากสงสัยก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยก่อน
โดยสังเกตการใช้ชีวิตประจำวันของลูกร่วมด้วย อาการที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ว่านี้เป็นอาการเบื้องต้น
ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการผิดปกติของเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกัน
เด็กบางคนเป็นครบทุกอาการแต่กับบางคนเป็นเพียงอาการเดียว
บางคนมีความบกพร่องทางสติปัญญาร่วมด้วย ซึ่งทางหนึ่งที่จะช่วยลูกได้คือ
คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาและกระตุ้นพัฒนาการได้อย่างทันท่วงที

แรกเกิด-1 ปี
* มีปัญหาเรื่องกิน อาจจะไม่ยอมดูดนม กลืนอาหาร
* เมื่อร้องไห้ไม่ชอบให้กอดอุ้ม แต่จะหยุดร้องด้วยการนั่งในรถเข็นและไถไปมา
* ไม่ร้องกวน ไม่งอแง นอนนิ่งได้ทั้งวัน จนดูเหมือนเลี้ยงง่าย
* ไม่สบตา ไม่มองหน้า โดยเฉพาะกับคนเลี้ยง
* ไม่แสดงท่าทางหรือส่งเสียงเรียก เมื่อต้องการสิ่งของ
* ไม่สนใจของเล่นในวัยนี้แต่จะชอบมองแสงสว่างวูบวาบ
* ติดชอบมองของชิ้นเดิมๆ เมื่อของชิ้นนั้นถูกแย่งไปจะร้องไห้

อายุ 1-3 ปี
* ไม่ยอมเปล่งเสียง
* ออกเสียงงึมงำไม่เป็นคำ พูดคนเดียว
* ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก ไม่สบตา
* ไม่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมคนอื่นได้
* สนใจวัตถุสิ่งของมากกว่าคน

อายุ 3-5 ปี
* เล่นคนเดียว ไม่สบตาคน ไม่กลัวใครหรือก็กลัวจนเกินไป
* พูดไม่เป็นภาษา ออกเสียงเพี้ยนทั้งสำเนียงและจังหวะการพูด
* ไม่โต้ตอบ ไม่หันตามเสียงเรียก ซึ่งพ่อแม่อาจจะสงสัยว่าลูกไม่รู้จักชื่อตัวเอง
* เล่นและมองสิ่งของซ้ำๆ เมื่อของชิ้นนั้นหายไปจะเสียใจคร่ำครวญ อาละวาดอย่างรุนแรง
* ร้องไห้และอาละวาดได้ง่ายๆ เมื่อถูกขัดใจหรือถูกเปลี่ยนจากพฤติกรรมเดิม
* ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์โกรธตัวเอง
* เล่นสมมติไม่เป็น เล่นของเล่นแบบไม่มีจินตนาการ

อายุ 5 ปีขึ้นไป
* วิ่งเล่นลุยเดี่ยวแบบไม่กลัวอันตราย
* ถ้าโดนเพื่อนแกล้งจะหนีมากกว่าที่จะป้องกันตัว
* หวาดกลัวและตื่นกับสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
* เก็บตัว ชอบนั่งอยู่ที่แคบ เล่นกับตัวเอง มีพฤติกรรมซ้ำๆ
* สื่อสารกับคนอื่นด้วยการชี้นิ้วและพาไปยังสิ่งนั้นมากกว่าพูด
* ใช้คำผิดความหมาย ไม่ตอบคำถาม ชอบพูดงึมงำคนเดียว
* เดินเขย่งปลายเท้า สะบัดนิ้ว


สมาธิสั้น
สมาธิสั้นหรืออยู่นิ่งไม่ได้ (Attention Hyperactivity Disorder (ADHD)
เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งจากพันธุกรรม ร่างกาย และสมองของเด็ก
เช่น คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อยต้องอยู่ในตู้อบ เป็นโรคสมองอักเสบ ฯลฯ


3 สัญญาณบ่งบอกลูกสมาธิสั้น

ขาดสมาธิ (Inattention) เด็กจะไม่มีสมาธิให้สนใจต่อสิ่งที่สำคัญ
แต่จะสนใจสิ่งรอบข้างมากกว่า วอกแวก เหม่อ ขี้ลืม
* วอกแวกต่อสิ่งเร้ารอบตัวง่าย เล่นของเล่นได้ไม่นาน
* ไม่สามารถฟังคำสั่งยาวๆ ได้ และเก็บรายละเอียดไม่ได้
* ไม่รู้เวลา เรื่อยๆ เฉื่อย เช่น สามารถกินข้าวได้ตั้งแต้เช้าถึงเที่ยง
* ขี้ลืม ของหายบ่อย
* ไม่มีระเบียบวินัย

ซุกซนอยู่ไม่นิ่ง (Hyperactivity) ไม่อยู่นิ่ง หลุกหลิก ควบคุมให้ตัวเองอยู่นิ่งไม่ได้
* เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เช่น เวลานั่งก็ต้องโยกตัว เคาะโต๊ะ
* พูดไม่หยุด
* มือไม้ไม่อยู่นิ่ง

หุนหันพลันแล่น (Impulsivity) ขาดการยับยั้งชั่งใจ มุทะลุ
* ไม่อดทนรอคอย
* ไม่กลัวอันตราย สามารถกระโดดข้ามบันไดได้แบบไม่กลัวตก ปีนโต๊ะสูงแบบไม่หยุด
* พูดทะลุกลางปล้อง ไม่สนใจฟังคนอื่น ไม่รอฟังคำสั่ง

โดยทั่วไปแล้วอาการสมาธิสั้นจะเกิดขึ้นก่อนอายุ 7 ปี
และต้องเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาและแก้ไขอาการได้อย่างทันท่วงที
เช่นเดียวกับ คุณแม่นำ (ณัฐวรรณ กิติเวช) คุณแม่น้องเพชร (ด.ญ. วรดา กิติเวช) จะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

Mom's Experience
“แรกๆ ก็ไม่รู้ว่าลูกเป็นสมาธิสั้น แต่เริ่มสังเกตเห็นตอนที่ลูกเริ่มหัดเดินว่าเขาไม่กลัวอะไร
เช่น ลูกชายคนโตถ้าจะเดินแล้วรู้ว่าขาหยั่งไม่ถึงพื้นก็จะไม่เดินลง แต่น้องเพชรจะเดินลงทันที
ตอนนั้นก็ยังไม่คิดอะไร เพราะคิดว่าเขาเลียนแบบพี่ชาย ตอนนั้นน้องเพชรหกล้มบ่อยไม่ค่อยมีความระมัดระวังตัว
ไม่กลัวอะไร แล้วก็นอนน้อยและนอนยาก กว่าจะหลับเขาจะพูดงึมงำคนเดียว
เราก็จะใช้วิธีเงียบไม่พูดด้วยลูกก็จะหลับไป เอง แต่พัฒนาการด้านอื่นก็เป็นปกติ ทำให้เราไม่ค่อยกังวลเท่าไหร่

มาเห็นชัดอีกครั้งตอนที่ลูกเข้าอนุบาลครูบอกว่า ไม่สามารถทำตามคำสั่งได้ ทำงานไม่ทันเพื่อน ทานข้าวช้ามาก
ตอนนั้นเริ่มหาข้อมูลก็ทราบแล้วว่า ลูกสมาธิสั้น แล้วก็เริ่มหาวิธีกระตุ้นลูกด้วยตัวเอง
แต่พอลูกขึ้นป.3 จากที่คิดว่าเรารับไหว กระตุ้นลูกเองได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ ลูกมีปัญหาด้านการเรียนมากขึ้น
จึงตัดสินใจพบคุณหมอก็ทำให้รู้ว่าลูกเป็นสมาธิสั้นแบบเหม่อลอย ไม่รับฟังคำสั่ง
เหมือนเด็กทำหูทวนลมและไม่สามารถกำหนดเวลาได้ กล้ามเนื้อนิ้วอ่อนแรง และมีปัญหาเรื่องการอ่าน

อารมณ์แรกที่รู้ว่าลูกเป็นสมาธิสั้นรู้สึกอึ้ง เหมือนว่ามีปัญหาร้อยแปดที่จะตามมา
จากนั้นก็เริ่มคิดหาวิธีช่วยลูก ว่าจะทำอย่างไรดีแล้วเริ่มหาข้อมูล ยอมรับในตัวลูกว่าอาการเขาจะไม่หายขาด
แต่เด็กสมาธิสั้นจะเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง
เช่น น้องเพชรชอบเย็บปักถักร้อยแต่ต้องทำอยู่ที่บ้านมีสมาธิเงียบๆ ถ้าอยู่ในห้องเรียนจะทำไม่ได้
การรู้ว่าลูกมีพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ แล้วกระตุ้นได้อย่างถูกทางจะเป็นประโยชน์กับลูกมากขึ้นค่ะ


เทคนิคฝึกลูกสมาธิสั้นจากแม่น้ำ
* บันทึกความก้าวหน้า เพื่อเทียบพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือลดลง
* หาเกมหรือกิจกรรม เช่น เล่นหมากรุกช่วยกระตุ้นสมองซีกขวา
* พยายามดึงจุดเด่นของลูกออกมาใช้ หมั่นชมและสร้างความภาคภูมิใจให้ลูกเพื่อให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง
* ให้ลูกเขียนคำและท่องจำบ่อยๆ เพื่อให้เขาจำได้
* จัดลิ้นชักของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะกระเป๋า หนังสือ สมุด
* หากล่องดินสอแบบใสให้ลูกใช้ เพื่อป้องกันของหาย
* ใช้วิธีอธิบายให้ลูกเข้าใจอย่างเป็นธรรม มีตัวประกอบ
* ไม่เร่งลูก แต่เพิ่มเวลาให้ลูก เช่น บอกล่วงหน้าว่าจะทำอะไร
* ใจเย็น ไม่โมโห ซึ่งจะส่งผลให้ลูกเครียด
* พูดคุยกับทางโรงเรียนให้เข้าใจและขอความร่วมมือจากครู
* และเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มเพื่อนที่มีลูกเป็นสมาธิสั้นด้วยกัน


Help From Doctor and Teacher

“คุณหมอแนะนำให้น้องเพชรกินยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม
ขณะเดียวกันคุณหมอก็ร่วมมือกับทางโรงเรียนเพื่อร่วมกันประเมิน
และ บอกถึงวิธีปฏิบัติกับน้องเพชร อย่างถูก
และวิธีการนี้ยังทำให้ทั้งหมอ และครูเข้าใจเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ได้อย่าละเอียดมากขึ้นด้วย”

การที่ลูกพัฒนาการช้าไม่โรคภัยไข้เจ็บที่ต้องกินยาแล้วหายขาด
(ยกเว้นเด็กที่ป่วยเป็นโรคแล้วต้องรักษาให้หายก่อน)
แต่เป็นอาการหรือพฤติกรรมของเด็ก ซึ่งการแก้ไขและรักษาที่ถูกต้องและได้ผลดีก็คือการกระตุ้นพัฒนาการ
แต่ไม่ควรเร่งพัฒนาการเสียจนลูกสับสน หรือละเลยไม่สนใจกับพัฒนาการที่ช้าเสียจนคิดว่า
เด็กโตได้เองตามธรรมชาติ

การเฝ้าสังเกตพฤติกรรม และอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ อย่างยิ่ง
อย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของกุมมารแพทย์เพียงอย่างเดียว
เพราะบุคคลที่อยู่ใกล้ ชิดและมีอิทธิพลกับลูกมากที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


ข้อมูลจาก ดวงใจพ่อแม่
ที่มา : //www.elib-online.com
ภาพจาก : //kildare.ie


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 25 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2553 22:02:50 น. 0 comments
Counter : 1097 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.