Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2552
 
19 พฤศจิกายน 2552
 
All Blogs
 

เคล็ดลับจากครูดีเด่น เจ็ดวิธีเพิ่มศักยภาพสูงสุดของลูก



ชารอน เดรปเพอร์ ครูสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนมัธยมปลาย แห่งหนึ่งในเมืองซินซินเนติ
กลุ้มใจเมื่อเห็นริชาร์ด คิสเซล นักเรียนชั้นมัธยมต้นไม่ยอมทำการบ้านเลย
ในที่สุด เดรปเพอร์ ซึ่งได้รับรางวัลครูดีเด่นแห่งสหรัฐฯ ปี 2540 ก็ใช้วิธีพูดแหย่ริชาร์ดว่า
"ถ้าเธอไม่เริ่มทำการบ้าน ครูจะไปกินอาหารเย็นที่บ้านเธอ"

เดรปเพอร์เคยสอนพี่ ๆ ของริชาร์ดมาหลายรุ่น จึงสนิทสนมเป็นอย่างดีกับรูท คิสเซล แม่ของริชาร์ด
เขาเริ่มทำการบ้านทันที รูทบอกว่า "ลูกรู้ดีว่าถ้าไม่ทำ ดิฉันจะรู้เรื่องความเกเรของเขาแน่ ๆ"

ครูดีเด่นผู้นี้บอกพ่อแม่ให้ติดต่อกับครูตั้งแต่ต้นปีการศึกษา
"พ่อแม่จะได้รู้ว่าครูเตรียมการอะไรไว้บ้าง ส่วนครูก็เข้าใจสภาพแวดล้อมในครอบครัวเด็ก
และเด็กก็จะเห็นความร่วมมือระหว่างบ้านกับโรงเรียน" เดรปเพอร์กล่าว

งานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่าการที่พ่อแม่สนใจ และมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอมีผลต่อการเรียนของเด็ก
ไม่ว่าพ่อแม่จะมีพื้นฐานการศึกษาอย่างไรก็ตาม

มีอะไรอีกบ้างที่พ่อแม่จะทำได้ เพื่อช่วยให้ลูกประสบความสำเร็จในการเรียน
ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำบางประการจากครูดีเด่นหลายคนในสหรัฐฯ


1. ส่งเสริมให้รักเรียน
การที่พ่อแม่บอกลูกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญนั้น ยังไม่พอ
ต้องแสดงให้เด็ก ๆ เห็นว่าการเรียนไม่ได้หมายถึงคะแนนหรือประกาศนียบัตรเท่านั้น
แต่เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต

มาเรียน ฟูลเลอร์ สอนภาษาอังกฤษชั้นมัยมปลายที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก
นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนี้ในปี 2540 เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้ถึงร้อยละ 93

ฟูลเลอร์ยกตัวอย่างกรณีของทัจยานา มิตเชล เพื่อชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกได้
เมื่อเจ็ดปีก่อน ลินดา มิตเชล แม่ของทัจยานากลับเข้าเรียนในวิทยาลัย
โดยกลางวันทำงานและเรียนตอนกลางคืน เพื่อทำปริญญาทางการศึกษา
"ทัจยานาเขียนเรียงความ ชื่นชมความอุตสาหะของแม่" ฟูลเลอร์ย้อนอดีต

ขณะที่เพื่อนบางคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน
ทัจยานาเรียนจบในเดือนมิถุนายน และกำลังจะศึกษาต่อในวิทยาลัยชุมชนแมนฮัตตัน

"ดิฉันบอกลูกว่าโรงเรียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเรียน" ลินดากล่าว
"ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเป็นกระจกเงาให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่าง"

คุณไม่ต้องใช้เงินมากมายเพื่อส่งเสริมการรักเรียน
"ให้ลูกเห็นคุณอ่านหนังสือพาไปชมพิพิธภัณฑ์หรือชมการแสดงบ้าง" ฟูลเลอร์แนะ


2. แปรคำพูดให้เป็นการกระทำ
เมื่อเอ็ดมันด์ บราลี ศัลยแพทย์ช่องปาก ไปร่วมประชุมผู้ปกครองของโรงเรียนมัธยมเดอวิตวอลเลอร์
รัฐโอคลาโฮมา ครูวิทยาศาสตร์ของเบร็ต ลูกชายรีบดึงตัวหมอไว้ทันที
และบอกว่าต้องการให้ไปช่วยบรรยายในห้องเรียน
"ดิฉันกำลังสอนวิชาจุลชีววิทยา จึงขอให้หมอบราลีเข้าไปบรรยายให้นักเรียนฟังว่า
ไวรัสและแบคทีเรียแพร่กระจายได้อย่างไร" เบ็ตซี มาบรี เล่า

ความกระตือรือร้นของมาบรีสร้างแรงบันดาลใจให้หมอบราลี นอกจากบอกเล่าด้วยคำพูดแล้ว หมอยังชักชวนให้
นักเรียนชั้นมัธยมต้นเก็บตัวอย่างแบคทีเรียจากแปรงสีฟัน ขี้ผึ้งทาปาก และที่ตัดเล็บ แล้วใส่ไว้ในจานทดลอง
หมอนำจานไปเพาะเชื้อและนำกลับไปที่ห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนดูแบคทีเรียที่เพาะตัวขึ้นมา

การทดลองดังกล่าวไม่ใช่แค่เพาะเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น แต่ยังดึงให้หมอบราลีใกล้ชิดลูกชายมากขึ้น
ทั้งช่วยให้เบร็ตมองวิทยาศาสตร์ในแง่มุมใหม่อีกด้วย "ลูกชายผมจะได้เห็นว่างานของพ่อนั้นใช้ได้"
หมอบราลีพดปนหัวเราะ

"พ่อแม่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในโรงเรียนของลูก ๆ"
มาบรีซึ่งได้รับทุนไอน์สไตน์จากกระทรวงศึกษาธิการของสหรัฐฯ เมื่อปี 2541 กล่าว

"การกระทำดังกล่าว แสดงให้เด็กเห็นว่าคุณสนใจในกิจกรรมของลูกอย่างจริงจัง
การพูดก็เป็นวิธีแสดงความสนใจอย่างหนึ่ง
แต่ผลจะต่างกันมาก หากคุณอุทิศแรงใจแรงกายกระทำในสิ่งที่พูดด้วย"

คุณไม่ต้องมีทักษะพิเศษหรือเวลาว่างมากมายเพื่อเสนอตัวช่วยโรงเรียน
เพียงลองถามครูของลูกว่า ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม


3. เปิดช่องทางสำหรับการสื่อสาร
พ่อแม่ควรหาเวลาติดต่อกับครู เพื่อสอบถามเจาะลึกเกี่ยวกับลูกและการเรียน

โรงเรียนประถมนิวฟีลด์ในรัฐคอนเนตทิคัต แก้ปัญหานี้โดยการตั้งศูนย์ฮอตไลน์การบ้านขึ้น
พ่อแม่สามารถโทรศัพท์ไปฟังข้อความของครูที่บอกว่าเด็ก ๆ เรียนอะไรในวันนั้นและครูให้การบ้านอะไรบ้าง

เด็บบีและลีออน ชาปิโร มีลูกสองคนคือแดเนียลอายุแปดขวบและอดัมอายุหกขวบ
ทั้งคู่เรียนอยู่ที่โรงเรียนนิวฟีลด์ เด็บบีเล่าว่า
"ดิฉันจะฟังฮอตไลน์จากที่ทำงานก่อนกลับถึงบ้าน เมื่อไปถึงก็พร้อมจะดูแลลูก ๆ ให้ทำการบ้านได้ทันที"
ช่วงเดินทางไปทำธุรกิจ ลีออนมักโทรศัพท์ไปติดตามการเรียนของลูก ๆ จากศูนย์ฮอตไลน์นี้เสมอ

ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่จะได้ข้อมูลดังกล่าว "พ่อแม่จำนวนมากส่งอีเมลมาถามดิฉัน"
ชารีน แบร์ ครูอนุบาลผู้ได้รับรางวัลดีเด่น กล่าว
"วิธีนี้ให้โอกาสดิฉันตอบคำถามของผู้ปกครอง ในขณะที่ไม่ต้องวุ่นวายกับเด็ก 23 คนในห้องเรียน
และเมื่อดิฉันประชุมกับพ่อแม่ของเด็ก ๆ เราก็พูดตรงไปที่วิธีแก้ปัญหาได้ทันที"


4. ช่วยจัดระบบให้ลูก
พ่อแม่ควรช่วยลูกทำตารางเรียนและจัดเวลาทำการบ้านทั้งหมดลงในตาราง
ลูกจะได้รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไรและวางแผนล่วงหน้าได้
นอกจากนี้ พ่อแม่อาจสาธิตวิธีแบ่งการบ้านให้ลูกทำ ในส่วนที่ทำให้เสร็จได้ในแต่ละวัน
"นักเรียนบางคนอาจคิดว่า วันนี้ไม่มีการบ้านเพราะไม่มีงานต้องส่งครูวันพรุ่งนี้
ทั้งที่ความจริงต้องส่งรายงานชิ้นใหญ่ในอีกหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งควรเริ่มทำงานได้แล้ว" มาเรียนฟูลเลอร์ กล่าว

นักเรียนโต ๆ อาจต้องดูเป็นพิเศษเพื่อให้มีระบบ
ครูชารอน เดรปเพอร์เสริมว่า "นักเรียนมัธยมปลายจำนวนมากมักไม่ค่อยมีระบบ เพราะเป็นช่วงที่มีกิจกรรมมาก
ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางกาย อารมณ์ และการเรียนประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน"

อะแมนดา สตอลคอป นักเรียนหญิงวัย 14 ในรัฐเวอร์จิเนีย มีปัญหาเรื่องการบ้านบ่อย ๆ
เพราะทำการบ้านเสร็จ แต่กลับหาไม่เจอเวลาต้องส่งครู
ลินและเออร์เนส พ่อแม่ของเธอไม่ประหลาดใจเลยเมื่อครูพูดเรื่องนี้ให้ฟัง

พ่อแม่และครูปรึกษากันอย่างเคร่งเครียด ในที่สุดก็พบวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผล
คือให้อะแมนดาใช้สมุดเล่มเดียวทำการบ้านทุกวิชา แทนที่จะใช้วิชาละเล่มอย่างเดิม

เสลา:
ป้าเห็นด้วยกับความคิดที่ว่า พ่อแม่มีส่วนทำให้ลูกสนใจการเรียนและทำให้ลูกเรียนเก่ง
โดยมีเวลาพูดคุยสนทนากับเนื้อหาวิชาเรียนของลูกบ้าง
ถ้าทำได้คือ เข้าไปมีส่วนร่วมรับรู้การเรียนของลูก ทั้งจากครูผู้สอนและกับลูกๆโดยตรง


5. รับประทานอาหารพร้อมหน้า
"ดิฉันเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการใช้เวลากับลูก ๆ"
จีนา โร ครูสอนเด็กเล็กของโรงเรียนประถม เออวิง บี. เวเบอร์ในเมืองไอโอวา ให้ความเห็น

งานวิจัยแสดงให้เห็นความสำคัญของการรับประทานอาหารพร้อมกัน ในครอบครัว
ในปี 2530 ไดแอน บีลส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิชาการศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองเซนต์หลุยส์
และเพื่อนร่วมงานที่คณะศึกษาศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ศึกษานักเรียนอายุสามขวบจำนวน 83 คน จากครอบครัวรายได้น้อยและพบว่า เด็ก ๆ ที่สมาชิกในครอบครัว
รับประทานอาหารร่วมกันมีระดับการอ่านออกเขียนได้ดีกว่าครอบครัว ที่ไม่ได้ทำเช่นนั้น

“ยิ่งเด็ก ๆ ได้รับคำบอกเล่าและคำอธิบาย จากการพูดคุยกับคนในครอบครัวระหว่างรับประทานอาหารด้วยกัน
มากเท่าใด คะแนนคำศัพท์ของพวกเขาจะดีขึ้นเท่านั้น” บีลส์อธิบาย
“และคำศัพท์เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะบ่งบอกความสามารถในการอ่านได้ดีที่สุด”


6. เน้นขบวนการเช่นเดียวกับความสำเร็จ
นักเรียนประถมสองในชั้นของจูลี เฟอริส ที่โรงเรียนประถมในรัฐมิสซิสซิปปี ฝึกอ่านอย่างขะมักเขม้น
แต่ผู้เป็นแม่ไม่อดทนเมื่อเห็นลูกชายเชื่องช้า จึงเริ่มติวเข้มทุกคืนด้วยตัวเอง

“ดิฉันบอกเธอว่าอย่าทำให้ลูกรู้สึกเกร็ง เมื่ออ่านหนังสือให้ฟัง ควรปล่อยให้เด็กเพลิดเพลินกับภาษา
ไม่นานเด็กจะหันมาอ่านเอง” เฟอริสกล่าว

บ่อยครั้งที่พ่อแม่นึกถึงแต่เรื่องคะแนนเพียงอย่างเดียว “หากลูกคุณได้เกรดสี่ทุกวิชา
แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำอย่างไร ก็หมายความว่าการเรียนรู้ของเขาไม่สมบูรณ์ " เฟอริสอธิบาย

เบ็ตซี มาบรี แนะนำว่า เมื่อลูก ๆ ขอความช่วยเหลือ พ่อแม่ควรแนะวิธีให้เด็กค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง
อย่างเช่นแทนที่จะบอกลูกตรง ๆ ว่าเมืองหลวงของโรมาเนียชื่ออะไร
พ่อแม่อาจพูดชี้ชวนว่า “ลูกคิดว่าเราจะหาคำตอบได้จากไหน พจนานุกรมหรือแผนที่ดีล่ะ”

“เมื่อลูกได้คะแนนไม่ดี ควรถามลูกว่าเป็นเพราะอะไร” ฟูลเลอร์กล่าว
“ถามด้วยว่าลูกอยากเรียนพิเศษไหม หรือเป็นเพราะแค่ไม่ตั้งใจเรียน”


7. ตั้งความหวังให้สูงไว้
เมื่อมาร์วา คอลลินส์ นักการศึกษาผู้มีชื่อเสียงเริ่มสอนนักเรียนในชุมชนแออัดเมื่อปี 2502
เธอพบว่าผู้ใหญ่คาดหวังในเด็กเหล่านี้น้อยมาก เธอไม่ชอบใจอคติดังกล่าว จึงเปิดโรงเรียนขื้นเอง
โดยวางหลักการไว้ว่า เด็กทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้หากผู้ใหญ่ตั้งความหวัง
ผลลัพธ์ที่ได้สร้างความงุนงงให้วงการศึกษาอย่างยิ่ง

คอลลินส์ซึ่งใช้นามสกุลเดิมว่าเน็ตเทิลส์ ถูกผู้ใหญ่ตอกย้ำตลอดเวลาว่าล้มเหลวไม่ได้
เธอเติบโตขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในรัฐแอละแบมา ที่มีการเหยียดผิวรุนแรง แม่บอกเธอทุกเช้าว่า
"อย่าลืม ลูกเป็นเน็ตเทิลส์คนหนึ่ง และเน็ตเทิลส์ทุกคนต้องประสบความสำเร็จ"

"แม้ไปเรียนต่อในวิทยาลัย แม่ก็เขียนจดหมายไปหาดิฉัน และเริ่มต้นด้วยคำพูดดังกล่าวเสมอ"
คอลลินส์กล่าว "คำพูดเหล่านั้นตราตรึงอยู่ในจิตสำนึกของดิฉัน และยังดังก้องอยู่ในความคิดมาจนทุกวันนี้"
เธอกล่าวว่าความคาดหวังสูงของพ่อแม่ เป็นต้นเหตุให้เธอทำงานหนักและประสบความสำเร็จในที่สุด

วิธีหนึ่งในการส่งเสริมให้เด็กคิดถึงอนาคตของตัวเองก็คือ การตั้งจุดมุ่งหมายของครอบครัว
คอลลินส์ขอให้พ่อแม่ของนักเรียนแต่ละคนเขียนถ้อยแถลงชี้แจงว่า
ครอบครัวของตนมุ่งมั่นจะประสบความสำเร็จใดบ้างในปีนั้น แล้วนำถ้อยแถลงทุกแผ่นไปติดอวดไว้
"คำพูดมีพลังยิ่งนัก" เธอกล่าว "เมื่อคุณเดินเข้าไปในโรงเรียนของเรา คุณจะรู้สึกถึงจิตใจที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ"

ในฐานะที่เป็นครู คอลลินส์กล่าวว่า ความมุ่งมั่นของเธอก็คือ "ไม่ทอดทิ้งเด็ก
ดิฉันจะทำให้นักเรียนอ่อนกลายเป็นนักเรียนเก่ง และทำให้นักเรียนเก่งกลายเป็นนักเรียนยอดเยี่ยม"


ที่มา //www.arunsawat.com/board/index.php?topic=1118.0;wap2
ภาพจาก //hubpages.com/hub/


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 19 พฤศจิกายน 2552
0 comments
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2552 19:17:26 น.
Counter : 977 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.