Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
6 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
ทำอย่างไรให้ลูกรักคณิตศาสตร์



ครูสอนคณิตศาสตร์จะคุ้นเคยกับคำถามนี้ และเห็นเป็นเรื่องปกติ
เพราะผู้ปกครองมักจะถามคำถามนี้กับคุณครูเสมอ เมื่อทราบผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของลูกที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
ผู้ปกครองที่มีลูกอยู่ในวัยเรียนและประสบปัญหานี้ คงมีความวิตกกังวลมาก

ทำไม!
ผู้เขียนจึงนำคำถามนี้มาเขียนในโอกาสนี้ ผู้เขียนได้มีส่วนร่วมในการรับโทรศัพท์จากผู้ชมโทรทัศน์ทางบ้าน
ในรายการถ่ายทอดสด ซึ่งเสนอแนวการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์
ที่สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
(สสวท.) ผ่านช่อง 11 ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงนั้นได้รับโทรศัพท์จากทางบ้าน โทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับลูก
ที่เรียนคณิตศาสตร์ไม่ดีบ้าง ไม่ชอบเรียนบ้าง หลายสายในสายที่ได้รับ
ทำให้ผู้เขียนคิดว่าในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นครูคณิตศาสตร์มาก่อน
มีประสบการณ์ในการสอนพอที่จะแนะนำผู้ปกครองที่มีลูกเล็ก
ยังมีเวลาพอที่จะช่วยสร้างและเสริมให้ลูกมีพื้นฐาน และมีความเข้มแข็งทางคณิตศาสตร์ในเบื้องต้นได้
อาจนำเทคนิคที่จะหยิบยกมาเป็นตัวอย่างต่อไปนี้ ไปใช้เสริมสร้างให้ลูกมีเจตคติที่ดีต่อวิชาคณิตศาสตร์
มีความคิดเชิงคณิตศาสตร์ ได้พัฒนาทักษะการคิดคำนวณและพัฒนากระบวนการแก้ปัญหาได้บ้าง

ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์เป็นพื้นฐานสำคัญของวิชาคณิตศาสตร์
เราไม่สามารถจะเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้ดีเพียงแค่จำเนื้อหา สาระ และทำความเข้าใจกับปัญหาเท่านั้น
ผู้เรียนจะต้องหมั่นฝึกฝนตนเองให้มีการพัฒนาทักษะกระบวนการหลัก 5 ทักษะนี้ด้วย
1. ทักษะการคิดคำนวณ และการแก้ปัญหา
2. ทักษะการให้เหตุผล
3. ทักษะการเชื่อมโยงความรู้คณิตศาสตร์
4. ทักษะการสื่อสาร สื่อความหมาย และการนำเสนอ
5. ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ผู้ปกครองสามารถสร้างเจตคติที่ดี ต่อวิชาคณิตศาสตร์และพัฒนาทักษะกระบวนการดังกล่าวนี้
ให้กับลูกรักของตนเองได้ ขอเพียงให้ผู้ปกครองมีเวลาอยู่ใกล้ชิดลูก หากิจกรรมง่ายๆ ทำร่วมกัน
เช่น ใช้เวลาระหว่างการเดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียนในช่วงเช้า-เย็น มีกิจกรรมในช่วงค่ำหรือช่วงวันหยุด
อาจเป็นช่วงเวลาดูโทรทัศน์ร่วมกัน ถกปัญหาที่ต้องใช้เหตุผลมาคุยกันบ้าง
ในกิจกรรมหนึ่งๆ ลูกอาจได้พัฒนาทักษะกระบวนการไปพร้อมๆ กันหลายทักษะ
ซึ่งหมายถึงได้พัฒนาทักษะพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วยเช่น ทักษะการสังเกต การคาดคะเนและการประมาณ

ตัวอย่างกิจกรรม
ถ้าผู้ปกครองมีลูกเล็กต้องการฝึกให้ลูกท่องจำสูตรคูณได้แม่นยำ และไม่น่าเบื่อ
อาจใช้เวลาในช่วงที่ผู้ปกครองขับรถไปรับ-ส่ง ลูกที่โรงเรียน
โดยผู้ปกครองชวนลูกผลัดกันท่องสูตรคูณแบบมีกติกา เช่น

พ่อเริ่มต้นท่องก่อนว่า 8x6 = 48 (แปดหกสี่สิบแปด)
ให้ลูกท่องต่อ 6x7 = 42 (หกเจ็ดสี่สิบสอง)
พ่อ 7x8 = 56 (เจ็ดแปดห้าสิบหก)
ลูก 8x9 = 72 (แปดเก้าเจ็ดสิบสอง)

ข้อสังเกต ตัวตั้งของคนต่อไปคือตัวคูณของคนก่อน และตัวคูณของแต่ละคนมากกว่าตัวตั้งอยู่ 1 เสมอ
เมื่อใครได้ตัวตั้งใหม่เป็น 9 ให้เริ่มต้นตัวคูณใหม่เป็นจำนวนใดก็ได้ เช่น

พ่อเริ่มใหม่ 9x3 = 27
ลูก 3x4 = 12 . . . ฯลฯ

การท่องสูตรคูณตามกติกานี้
ลูกจะได้ฝึกสมาธิในการจำตัวคูณของพ่อ ได้สังเกตแบบรูป (pattern) ของจำนวนด้วย


ถ้าลูกเรียนอยู่ในระดับประถมศึกษาปีที่ 5-6 ผู้ปกครองต้องการทักษะการคำนวณเกี่ยวกับการซื้อ-ขาย
หรือการลดราคา อาจหากิจกรรมโดยใช้ใบโฆษณาสินค้า
หรือพบแผงโฆษณาตามที่ต่างๆ อาจชวนลูกคุยในเชิงตั้งโจทย์ถามลูกพร้อมเสริมแนวคิดให้ลูก เช่น

แม่อาจจะคุยกับลูกว่า โทรศัพท์มือถือที่แม่ซื้อมาใช้เมื่อ 3 เดือนก่อนซื้อมา 12,000 บาท
ถ้าแม่ซื้อเดือนนี้ แม่จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก ลูกคงไม่คิดว่าแม่กำลังฝึกให้ลูกคิดเลขอยู่
แต่อาจจะคิดช่วยตอบคำถามให้แม่ ถ้าตอบได้ถูกต้อง ลูกก็จะมีความสุขที่ช่วยคิดให้แม่ได้
แต่ถ้าลูกคิดไม่ถูกแม่ที่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์อยู่บ้าง อาจช่วยแนะนำลูกให้หาคำตอบเป็นขั้นตอน
โดยใช้การถาม-ตอบ ดังเช่น

แม่ : ถ้าเขาลดให้ 10 เปอร์เซ็นต์ แม่ได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก : ก็ได้ลดไป 1,200 บาท (10/100x12,000 = 1,200
ถ้าลูกตอบไม่ได้แม่อาจให้ข้อสังเกตว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนใดก็ตาม จะเท่ากับจำนวนนั้นหารด้วย 10
หรือตัดตัวเลขที่หลักหน่วยของจำนวนนั้นออกไปก็ได้)

แม่ : 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นครึ่งหนึ่งของ 10 เปอร์เซ็นต์ ใช่ไหมลูก
ลูก : ใช่ค่ะ
แม่ : ถ้าลดเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก : ก็ 600 บาทค่ะ
แม่ : ถ้าลด 15 เปอร์เซ็นต์ จะได้ส่วนลดกี่บาทนะลูก
ลูก : 1,800 บาท ซิคะ
แม่ : ลูกคิดมาได้อย่างไร (คำถามนี้เป็นคำถามที่แม่จะตรวจสอบแนวคิดของลูกว่าคิดถูกต้องหรือไม่)
ลูก : ก็ 1,200+600 = 1,800 ค่ะ
แม่ : ลูกแม่เก่งจังเลย

ตัวอย่างเช่นนี้ เป็นลักษณะของปัญหาที่อยู่รอบๆ ตัว
ผู้ปกครองสามารถนำมาผูกโยงเป็นปัญหาที่เหมาะสมกับลูกได้

การได้โต้ตอบปัญหากัน ผู้ปกครองมีส่วนกระตุ้นให้ลูกได้คิดเป็นระบบ ใช้เหตุผลที่สมเหตุสมผล
ผู้ปกครองรู้เป้าหมายของกิจกรรม แต่ลูกได้ฝึกทักษะกระบวนการคิดและการแก้ปัญหาไปโดยไม่รู้ตัว

ถ้าผู้ปกครองต้องการดูว่าลูกมีแนวคิด หรือยุทธวิธีในการแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
ผู้ปกครองอาจจัดกิจกรรมหรือหาสถานการณ์ให้ลูกได้แก้ปัญหา
ดังเช่น พ่อชวนลูกไปเดินหรือวิ่งออกกำลังกายรอบสนาม หรือสวนแห่งใดแห่งหนึ่ง พ่ออาจชี้ชวน ถามว่า
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ทางเดินรอบสนามหรือทางเดินรอบสวนนี้ ยาวประมาณกี่เมตร

คำตอบของลูกอาจเป็นทำนองนี้
* วัดจริงโดยใช้เทปวัดความยาว
* วัดจากก้าวเท้าของตัวเองก่อนว่า ยาวประมาณก้าวละกี่เซนติเมตรแล้วนับจำนวนก้าวเท้าที่เดินรอบสนาม
ความยาวรอบสนามจะเท่ากับผลคูณของจำนวนก้าวเท้ากับความยาว 1 ก้าวเท้าโดยประมาณ
* ถ้ามีเสาไฟฟ้ารอบสนาม อาจวัดความยาว 1 ช่วงเสาไฟฟ้าก่อน
แล้วหาผลคูณของจำนวนช่วงเสาไฟฟ้ากับความยาว 1 ช่วงไฟฟ้าโดยประมาณ

คำตอบของลูกทุกคำตอบ เป็นความคิดสร้างสรรค์ทั้งนั้น
จะเป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองมากนัก แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ
ลูกของเรารู้จักคิด พยายามหาวิธีแก้ปัญหา วิธีคิดของลูกเป็นการพัฒนาด้านทักษะและกระบวนการทั้งสิ้น

ท่านผู้ปกครองพอจะเห็นแนวทางที่จะช่วยลูกรักให้รักคณิตศาสตร์
มีการพัฒนาการคิดและการแก้ปัญหาทางคณิต-ศาสตร์ได้บ้างแล้ว
ขอเพียงให้ท่านมีเวลา และใช้โอกาสนี้อยู่ใกล้ชิดกันนั้นเล่น หรือคุยกับลูกโดยมีสาระทางคณิตศาสตร์บ้างเท่านั้น


โดย..ชุลีพร สุภธีระ
ที่มา ://www.mc41.com/special/math001.htm
ภาพจาก ://www.ehow.com/how_5153752_teach-grocery-store-keep-busy.html


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ



Create Date : 06 ธันวาคม 2552
Last Update : 6 ธันวาคม 2552 19:50:46 น. 0 comments
Counter : 810 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.