Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
20 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 

สร้างสี่ทักษะ ให้ลูกอย่างสร้างสรรค์



การทำงานเป็นทีม ดูเหมือนว่าจริงๆ แล้วใครก็สามารถทำได้ โดยใช้แค่ทักษะในการปรับตัวนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ
แต่ปัญหาคือมันไม่ใช่แค่การปรับตัวของคนคนเดียว แต่มันคือจะต้องปรับตัวด้วยกันทุกฝ่าย

แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย แต่ในความที่ดูเหมือนง่าย
มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมายเชียวล่ะ เรามาหาวิธีการส่งเสริมทักษะเรื่องการทำงานเป็นทีมให้เด็กๆ กันดีกว่า
เป็นการส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม
โดยใช้ทักษะทั้ง 4 อย่างนี้ค่ะ ทีมเวิร์ค, การใส่ใจผู้อื่น, สามัญสำนึก และทักษะการแก้ปัญหา

สิ่งสำคัญที่เราเรียก 4 ทักษะนี้ว่าเป็นการสอนให้ลูกทำงานเป็นทีมอย่าง “สร้างสรรค์”
ก็เพราะว่าเรามีเรื่องของ “การใส่ใจผู้อื่น” เข้ามาด้วย
ความคิดที่อยากจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา นี่ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์อย่างหนึ่งเหมือนกันนะคะ


ทำไมต้อง 4 ทักษะนี้

จริงๆ แล้วทั้ง 4 ทักษะนี้ก็มีความจำเป็นอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ถ้าหากเราปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ให้กับเด็ก
ก็จะเป็นการช่วยส่งเสริม ให้เด็กสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น
ลองไปดูกันว่า เราจะนำทักษะเหล่านี้ มาใช้สอนลูกให้ทำงานเป็นทีมอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร

★ 1. ทีมเวิร์ค (Team work)
พื้นฐานของการทำงานเป็นทีมก็คือ การให้เกียรติผู้อื่น การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
การเห็นความสำคัญของความสามารถและความสำคัญของผู้อื่น
นอกจากนี้แล้วยังต้องสื่อสารความต้องการของตนเองได้ รวมทั้งสื่อสารถึงบทบาทของตัวเองด้วย
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานร่วมกับผู้อื่น

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการเปิดใจในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าที่กล่าวมา
สำหรับการสร้างความเป็นทีมเวิร์ค
และเจ้าตัวความรู้สึกว่ามีทีมเวิร์คนี่ล่ะค่ะ จะทำให้เด็กมีความสุข และสนุกกับการทำงานเป็นทีมมากขึ้น


ทำอย่างไรให้เด็กรู้จักคำว่า “ทีมเวิร์ค”

* อย่าสร้างวิธีคิดแบบ Perfectionist (ความเป็นคนสมบูรณ์แบบ) ให้กับเด็ก
เพราะว่าจริงๆ แล้วการยึดติดกับความรู้สึกที่ต้องการให้โลกทั้งโลก หรือทุกสิ่งที่ทำ จะต้องสมบูรณ์แบบ
จะสร้างความทุกข์ใจกับทั้งตัวเด็กเองและผู้ที่ทำงานร่วมกัน เพราะจริงๆ แล้วโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ
เมื่อเหตุการณ์และวันเวลาเปลี่ยนไป สิ่งนั้นก็เปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน

* เปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภายในบ้าน โดยเปิดโอกาสให้เด็กโต้แย้งกับผู้ใหญ่ได้
ที่สำคัญคือสอนให้เด็กใช้เหตุผลในการโต้แย้ง และไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่
เพื่อแสดงให้เด็กเห็นว่าเมื่อมีคนมากกว่าหนึ่ง การตัดสินใจร่วมกันจะต้องใช้เหตุผลที่ดีกว่า
และเป็นการสอนให้เด็กรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นอีกด้วย

* แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับลูก โดยการเล่าเรื่องราวการทำงานของคุณ
จะเป็นเหตุการณ์ที่คุณกับเจ้านายคิดไม่ตรงกันก็ได้ แต่เป็นการเล่าให้ลูกรู้ว่า การทำงานเป็นทีมเป็นอย่างไร

* เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เช่น การให้ลูกช่วยคิดเกี่ยวกับการจัดห้องครัวใหม่ให้เป็นระเบียบมากขึ้น
จากนั้นก็ช่วยกันลงมือจัดตามที่คิดไว้ เพื่อให้เด็กจะเรียนรู้คำว่า
ทีมเวิร์คจากการทำงานจริงๆ แล้วก็เห็นข้อดีของการทำงานเป็นทีม

* ในการทำงานแต่ละอย่างพยายามตั้งคำถามกับลูก ว่า
“ลูกคิดว่า ถ้าเราทำคนเดียวจะเสร็จเร็วอย่างนี้ไหม” หรือ “ถ้าลูกต้องทำงานยากๆ คนเดียว จะแก้ปัญหายังไง”
หรือ “เห็นไหมว่าถ้าเราไม่ช่วยกัน แม่คงยกไม่ไหวแน่ๆ”


★ 2. การใส่ใจผู้อื่น (Caring)
ธรรมชาติอย่างหนึ่งของเด็กๆ ก็คือ มักจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ซึ่งทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะนึกถึงตัวเองก่อนที่จะนึกถึงคนอื่น
แต่ว่าเรื่องของการใส่ใจผู้อื่น เป็นเรื่องที่เราสามารถสอนเด็กได้ตั้งแต่เล็ก
อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เขาเห็นว่า คุณใส่ใจเขา
ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง หรือการสัมผัสก็ตาม ทำให้เด็กรู้สึกว่าเราแคร์ความรู้สึกของเขา


“ใส่ใจ” คำที่ต้องเรียนรู้เพื่อการทำงานเป็นทีม
เหตุที่ต้องเรียนรู้เรื่องของความใส่ใจ ก็เพราะปัญหาใหญ่ของการทำงานเป็นทีมอย่างหนึ่ง ก็คือ
การที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น การที่เราสอนให้เด็กเอาใจเขามาใส่ใจเรา
จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นไปในตัว ที่สำคัญคือ การที่เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ไม่ได้ส่งผลดีในเรื่องของการทำงานเป็นทีมเท่านั้น
แต่มันหมายถึงการสอนให้เด็กรู้จัก วิธีการดูแล “มิตรภาพ” ให้ยาวนานอีกด้วย


เคล็ดลับในการสอนให้เด็ก “ใส่ใจ” ผู้อื่น

* ใช้การเขียนโน้ต เพื่อบอกความรู้สึกถึงกัน และกันภายในครอบครัว
อาจจะจัดเป็นช่วงเวลาสำหรับการเขียนโน้ต ซึ่งเป็นวันหยุดหรือเป็นตอนหัวค่ำก็ได้
โดยแจกกระดาษโน้ตให้สมาชิกภายในบ้านทุกคน แล้วให้เขียนความในใจที่อยากจะบอกกัน
แต่ไม่ต้องเป็นคำหวานๆ ก็ได้ เช่น “เสลาลูกยิ้มน่ารักที่สุดเลยรู้ไหม”
หรือ “กับข้าวมื้อเย็นเมื่อวานอร่อยมากจ๊ะที่รัก” หรือจะเขียนแปะตามที่ต่างๆ เช่น ตู้เย็น ประตูตู้เสื้อผ้า ฯลฯ ก็ได้

* ตั้งคำถามประเภทที่ขึ้นต้นว่า “เขาจะรู้สึกอย่างไร” เช่น
“หนูคิดว่าถ้ามีใครมาว่าหนูเป็นหมูตอนจะรู้สึกอย่างไร” หรือ ในการดูแข่งขันเทนนิสก็ถามว่า
“หนูว่าแทมมี่จะรู้สึกอย่างไรที่แข่งแพ้/ชนะ” หรือ “ถ้าเป็นหนูล่ะ / ถ้าหนูเป็นเขาจะรู้สึกอย่างไร”
หรือ “ถ้าหนูเป็นแม่แล้วมีลูกเกเรแบบนี้จะเสียใจไหม ?”

* ชวนเด็กทำการ์ด ส่งให้กำลังใจคนที่อยู่ในสถานการณ์แย่กว่า เช่น ส่งให้เด็กๆ ที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล
หรือส่งให้ทหารผ่านศึก ฯลฯ และที่สำคัญคือในระหว่างที่ทำการด์นั้น ให้ชวนเด็กพูดคุยเกี่ยวกับคนเหล่านี้ด้วย
เพื่อเป็นการปลูกฝังให้เด็กรู้สึกเห็นใจผู้อื่นไปในตัว

* ฝึกให้เด็กตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเอง จะช่วยให้เด็กเข้าใจความเป็นตัวเองได้มากขึ้น เช่น
ฉันมี ความสุขเมื่อ ? ฉันรู้สึกเศร้าเมื่อ ? ฉันกลัว ? ฯลฯ
จากนั้นก็พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคุณให้ลูกฟังด้วย
จะได้ช่วยเด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น


★ 3. สามัญสำนึก (Common sense)
สามัญสำนึกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการทำงานเป็นทีม
เพราะว่ามันคือการใช้ข้อเท็จจริงในการตัดสินว่าอะไรผิด และอะไรถูก
ที่สำคัญคือเด็กจะต้องรู้ว่า การที่จะทำให้สิ่งที่ตัวเองเสนอได้รับการยอมรับนั้น เขาจะต้องมีข้อมูลที่ชัดเจนมากพอ

สิ่งสำคัญคือเราต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบด้าน คิดหลายแง่มุม ไม่มองหรือตัดสินอะไร
จากการมองแง่มุมเดียว หรือฟังความข้างเดียว หรือเอาความเห็นของตัวเองคนเดียวเป็นใหญ่
รวมทั้งการสอนให้รับฟังความเห็นของผู้อื่นด้วย (แม้จะไม่เห็นด้วยก็ตาม)
สามัญสำนึกตัวนี้แหละจะเป็นตัวการสำคัญ ที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะในการแก้ปัญหา
เพราะว่าเขารู้จักการตัดสินใจผ่านการมองข้อมูลรอบๆ ด้านนั่นเอง


ทำอย่างไรให้เด็กมีสามัญสำนึก

* พยายามฝึกให้ลูกรู้รายละเอียดต่างๆ ภายในบ้านร่วมกับพ่อแม่ เช่น ให้เด็กรู้เรื่องค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และคำนวณให้เด็กเห็นว่า
การที่พ่อแม่ทำงานเหนื่อย ก็เพราะต้องเอาเงินส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
(แต่กรณีนี้ควรจะทำเป็นการพูดคุย เล่าสู่กันฟังอย่างเพื่อน
ไม่ใช่การระบายความรู้สึกกับเด็กหรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด) และเกิดสามัญสำนึกโดยไม่รู้ตัว

* พยายามตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัวให้เด็กคิด เช่น “ทำไมเขาต้องจัดร้าน (อาหาร) สไตล์นี้”
หรือ “หนูคิดว่าสิ่งต่างๆ ที่โฆษณาในทีวีมันจริงหมดเลยหรือเปล่า อันไหนเชื่อได้หรือไม่ได้ / ทำไม”
หรือ “ลูกรู้จักใครที่ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อของแบรนเนมดังๆ แต่ว่าไม่ค่อยมีน้ำใจกับเพื่อนบ้างไหม”
หรือ “หนูจำเหตุการณ์วันนั้นได้ไหม คิดว่าถ้าย้อนกลับไป หนูจะทำได้ดีกว่านั้นไหม
แล้วถ้าเป็นแบบนั้นอีก หนูจะตัดสินใจอย่างไร”
ที่สำคัญคือ ควรเป็นคำถามที่กระตุ้นให้เด็กคิดหาเหตุผลสำหรับการตอบได้หลายๆ แง่มุม
และเป็นการคิดผ่านบทบาทหรือมุมมองของคนอื่นด้วย


★ 4. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
อันนี้ถือว่าเป็นทักษะบังคับ ที่ควรจะหัดให้เด็กมีในทุกกรณี ไม่เฉพาะแต่เพื่อการส่งเสริมการทำงานเป็นทีมเท่านั้น
แต่ว่าสิ่งสำคัญก็คือ มีข้อควรคำนึกอย่างหนึ่งในเรื่องของการแก้ปัญหาคือ เราต้องสอนให้เด็กกล้าตัดสินใจ
และเมื่อตัดสินใจไปแล้วผิดพลาด จะต้องยอมรับและกล้าที่จะแก้ไขใหม่อีกครั้ง (หรือหลายๆ ครั้ง)
สำหรับทักษะในการแก้ปัญหาในเรื่องของการทำงานเป็นทีม ก็จะต้องเป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับเพื่อนๆ
ในกลุ่มด้วย ซึ่งทักษะที่จะช่วยตรงจุดนี้ได้ก็คือ “สามัญสำนึก” นั่นเอง


แบบไหนคือการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์

* เด็กรู้จักการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเดิม และเป็นวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง

* เป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน และมีแผนสองรอบรับในกรณีที่แผนหนึ่งไม่ได้ผล

* รู้จักแยกแยะข้อมูลที่ไม่จำเป็นต่อการตัดสินใจออกไป แล้วเลือกข้อมูลที่ดีที่สุดในการตัดสินใจได้
ซึ่งเป็นการแยกแยะที่มีเหตุผล และใช้มุมมองแง่คิดจากหลายๆ แง่

* เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่เดือดร้อนหรือโยนความทุกข์ให้ผู้อื่น


ทำอย่างไรให้เด็กมีทักษะในการแก้ปัญหา

* สอนให้เด็กรู้จักการมองหา “ทางเลือก” หลากหลาย อย่าทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาไม่มีทางเลือก
เช่น ถ้าไม่ให้เล่นเกม ก็ควรจะมีทางเลือกอย่างอื่นให้เขาทำ พยายามอย่าห้าม หากเด็กมีข้อต่อรองก็ควรจะรับฟัง
และหลีกเลี่ยงการใช้คำประมาณ “ก็แม่สั่งให้ทำก็ต้องทำ ไม่ต้องมาต่อรอง”
แต่ให้ใช้วิธีกระตุ้นให้เด็กคิดหากิจกรรมอื่นๆ มาทำแทนเพื่อเป็นการแก้ปัญหา

* สมมติสถานการณ์ขึ้นมา แล้วให้เด็กหาวิธีการแก้ปัญหานั้นๆ เช่น
“ถ้าหนูอยู่บ้านคนเดียว แล้วมีคนมากดกริ่งหน้าบ้าน จะทำอย่างไร”
หรือ “ถ้าหนูได้กลิ่นควันไฟจากในครัวหนูจะทำอย่างไร” ฯลฯ
และวิธีการช่วยให้ลูกฝึกคิดหาวิธีในการแก้ปัญหา (หลายๆ ทางเลือก) ตามเหตุการณ์ที่สมมติขึ้นมา ก็คือ
พาเด็กเดินสำรวจรอบบ้านเพื่อให้เด็กมีไอเดียในการคิดหาคำตอบ หรืออาจจะซ้อมแก้ปัญหากันจริงๆ ด้วยก็ได้

* การทำงานประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ ก็เป็นการฝึกการแก้ปัญหาได้
หรือแม้แต่การต่อตัวต่อต่างๆ หรือการต่อบล็อก ก็เป็นการฝึกการแก้ปัญหาโดยไม่รู้ตัวได้เช่นกัน

* พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับเหตุการณ์ประจำวัน ตั้งคำถามให้เด็กคิดว่า
เขาคิดอย่างไรกับการแก้ปัญหาของคนในเหตุการณ์ต่างๆ (อาจจะเลือกมาจากข่าว)
แล้วถ้าเป็นเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ไม่ควรว่าความคิดของเด็กไม่ดีหรือไม่เหมาะสม
เพราะสิ่งที่เราต้องการคือ การฝึกให้เด็กคิดคำตอบไม่ควรมีถูกผิด แต่จะต้องมีเหตุผลรองรับ

* ตั้งคำถามประมาณ “ถ้าเกิดเหตุการณ์การเลวร้ายกับเรา แล้วตำรวจช่วยไม่ได้ หนูคิดว่าเราจะขอให้ใครช่วยดี”
หรือถ้าเป็นเด็กโตหน่อยก็อาจจะถามยากขึ้นมาหน่อย เช่น
“หนูคิดว่าเราจะสอนเด็กๆ ยังไงดี เกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อเอดส์”
หรือ “ถ้าเพื่อนสนิทของลูกเอายาเสพติด มาให้ลอง แล้วหนูจะปฏิเสธเพื่อนยังไง”


อย่างไรก็ตาม เราเชื่อเหลือเกินว่าทักษะทั้ง 4 อย่างนี้ รวมทั้งเป้าหมายที่เราต้องการคือ
การใช้ทักษะเหล่านี้ส่งเสริมให้เด็กทำงานเป็นทีมได้อย่างสร้างสรรค์
เป็นทักษะที่ล้วนแล้ว แต่ต้องอาศัยบรรยากาศภายในครอบครัวช่วยส่งเสริมเป็นอย่างมาก

หากสิ่งต่างๆ ที่เรานำเสนอเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันภายในบ้าน เด็กก็คงซึมซับทักษะเหล่านี้ได้เอง
เพราะเราคงไม่เห็นเด็กยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น ในขณะที่พ่อหรือแม่เป็นเผด็จการภายในบ้าน

และเราคงไม่ได้เห็นเด็กที่เคารพการตัดสินใจของผู้อื่น
จากครอบครัวที่พ่อกับแม่เถียงกันเอาเป็นเอาตายแทบทุกเรื่อง

เด็กเป็นอย่างที่เราเป็นค่ะ ไม่ได้เป็นอย่างที่เราบอก !


ข้อมูลจาก บันทึกคุณแม่
ที่มา : //www.elib-online.com/doctors48/child_teem001.html


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2552
0 comments
Last Update : 20 ธันวาคม 2552 21:14:41 น.
Counter : 724 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.