Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2553
 
30 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
เลี้ยงลูกอย่างไร ลูกจึงไม่สับสน



คงจะมีหลายครั้งหลายคนที่ความขัดแย้งในครอบครัว เกิดจากทัศนคติในการเลี้ยงลูกที่ไม่ตรงกันของพ่อกับแม่
แม้ในบางครอบครัวอาจมีการสร้างข้อตกลงในการเลี้ยงดูลูกบ้าง
แต่เมื่อไม่ชัดเจนนัก ก็อาจสร้างความสับสนให้กับเจ้าตัวเล็กได้เหมือนกัน
นั่นเพราะคนสองคนที่เติบโตมาต่างกัน ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ต่างกันมา
เมื่อต้องมาอยู่ร่วมกันและต้องเลี้ยงลูกด้วยกัน จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก
เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องปรับตัวปรับใจเป็นพิเศษ

คุณพ่อคุณแม่คงต้องเลือกแล้วล่ะค่ะว่า อยากเป็นเทวดานางฟ้าหรือเป็นผู้ร้ายของลูก
ลองมาดูตัวอย่างของครอบครัวนี้กันนะคะ
" นั่งกินข้าวให้เรียบร้อยสิ หยุดเคาะโต๊ะเดี๋ยวนี้นะ เวลากินข้าวต้องนั่งให้เรียบร้อย"
คุณแม่ท่านหนึ่งดุลูก ทำเอาเจ้าตัวเล็กจอมซนร้องไห้งอแง เมื่อแม่ห้ามไม่ให้ใช้ช้อนเคาะโต๊ะ
" ไม่เป็นไรหรอกน่า... ลูกจะนั่งยังไงก็ปล่อยไปเถอะ จะดุอะไรนักหนาก็ไม่รู้"
คุณพ่อแย้ง พร้อมกับโอ๋ลูกเป็นการใหญ่

เมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น คงจะพอมองออกใช่ไหมคะ ว่าคุณแม่กลายเป็นนางมารร้ายของลูก
ในขณะที่คุณพ่อเป็นพระเอก เป็นฮีโร่และแน่นอนว่าเมื่อคุณแม่ดุอีกเมื่อไหร่
เจ้าตัวเล็กจอมซนของบ้านนี้ คงจะวิ่งเข้าหาคุณพ่อก่อนเลย
เพราะเขาเรียนรู้แล้วว่าเป็นวิธีที่จะทำให้หลบเลี่ยงแม่ได้ และจะรอดพ้นความผิด
คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากเป็นผู้ร้ายของลูกใช่ไหมคะ
แต่ถ้ามัวเป็นนางฟ้าเทวดาในเหตุการณ์แบบนี้คงได้ชื่อว่า เป็นนางฟ้าเทวดาที่ใจร้ายรังแกลูกแน่ๆ
เพราะไม่ปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีให้กับลูก แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ ที่จะสามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจในเรื่องนี้
เพราะต่างฝ่ายต่างต้องคิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกแน่ๆ และเมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่เข้าใจก็อาจเกิดขึ้นได้


ลูกจะเป็นอย่างไร เมื่อสอนคนละอย่าง

รศ.ดร.ดวงเดือน ศาสตรภัทร อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แสดงความคิดเห็นถึงการเลี้ยงดูลูกที่เป็นไปคนจะทิศทางว่า

" มีพ่อแม่บางคนตามใจลูกจนทำให้เด็กเสียไปเลย เด็กรู้ว่าใครที่สามารถช่วยเหลือเขาได้
เพราะฉะนั้นเวลามีใครสักคนดุเขา เขาจะเข้าหาคนที่เข้าข้างเขาทันที ที่นี้ก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ถูกคือแบบไหน
เขาจะวิ่งเข้าหาคนที่โอ๋เขาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ที่อยากยึดลูกไว้เป็นพวกเดียวกับตัวเอง
เข้าข้างลูกทุกอย่าง บางพฤติกรรมที่ตอนเด็กๆ ก็ดูน่ารักดี
แต่เมื่อเด็กโตขึ้นก็เพิ่งจะเห็นว่า สิ่งที่สอนลูกไปนั้นเกิดผลอย่างไรแก้ไขเอาเมื่อโตนั้นก็สายเสียแล้ว
เพราะการพัฒนาบุคลิกภาพของคนเราขึ้นอยู่กับวัยเด็กเป็นส่วนมาก"

การสอนของพ่อแม่จึงมีความสำคัญต่อชีวิตของลูกมาก ลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่นี่แหละค่ะที่เป็นผู้สร้าง
ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พ่อแม่ต้องมีวิธีการสอนลูกในทิศทางเดียวกัน
แต่การที่คุณพ่อกับคุณแม่คิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการเลี้ยงลูก ก็เป็นเรื่องธรรมดานะคะ
ครอบครัวไหนๆ ก็อาจเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้ทั้งนั้น เพราะคนสองคนเติบโตมาในรูปแบบการเลี้ยงดูที่ต่างกัน
ก็เป็นเรื่องปกติค่ะที่จะมีทัศนคติ และมาตรฐานการเลี้ยงดูลูกที่ต่างกันด้วย
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากนะคะที่จะช่วยกันปรับเปลี่ยนมุมมอง และทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน



สอนลูกอย่างไร...ลูกจึงไม่สับสน

รศ.ดร.ดวงเดือน ศาสตรภัทร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกโดยไม่ให้ลูกสับสนว่า

* วางแผนก่อนแต่ง ดีกว่า
อย่างแรกที่ดีสุดคือ การคุยกันก่อนแต่งงานเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำได้
เพราะการวางแผนเป็นการวางรากฐานอนาคตของครอบครัว ไม่ควรแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
เช่น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จนคุณพ่อกับคุณแม่ทะเลาะกันเองเรื่องการเลี้ยงลูก
แล้วค่อยมาหาวิธีคุยกันคงเป็นเรื่องที่แก้ไขลำบาก
ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจเป็นพ่อเป็นแม่ ควรตกลงเรื่องทัศนคติและการดูแลลูกก่อน
ซึ่งช่วงก่อนแต่งงานนี่ล่ะค่ะที่คุณพ่อคุณแม่ยังมีเวลาคุยกัน ปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ตรงกันได้ดีที่สุด

* เตรียมความพร้อมก่อนเป็นพ่อแม่
การเตรียมความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญ คู่สมรสที่ตัดสินใจมาสร้างครอบครัวด้วยกัน
ควรจะมีความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัว การรับมือกับสภาวะต่างๆ เมื่อมีชีวิตคู่ และการดูแลเลี้ยงดูบุตร
ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่จะจัดให้มีการอบรมโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น
การจัดอบรมเรื่องเหล่านี้ให้กับผู้ร่วมสมรสหมู่ หรือ การจัดการอบรมสัมมนาของหน่วยงานต่างๆ
คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องมองเห็นความสำคัญ และเปิดใจให้กว้างที่จะรับข้อมูล
และนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตครอบครัวค่ะ

* อ่านหนังสือด้วยกันก็ช่วยได้
ปัจจุบันนี้มีหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก ออกวางขายตามท้องตลาดเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อหามาอ่าน
คุณพ่อคุณแม่นั่งอ่านด้วยกัน หรือคุณแม่อ่านแล้วเล่าให้คุณพ่อฟังก็ได้
จากนั้นค่อยนำความรู้และคำแนะนำในหนังสือมาปรับใช้ในชีวิตจริง

* ปรึกษาหารือกันสองคน
เมื่อเจ้าตัวเล็กโยเยอยากได้อย่างนั้น อยากทำอย่างนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องชั่งใจและปรึกษากันแล้วค่ะ ว่าจะทำอย่างไร
บางครั้งเรื่องเล็กน้อยที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ก็อาจเป็นนิสัยที่ติดตัวลูกได้ อยู่ที่คุณพ่อคุณแม่เองที่จะตกลงกัน ให้เกียรติกัน
หมั่นปรึกษากันในเรื่องของลูก ต้องระลึกไว้เสมอว่าลูกเป็นเลือดเนื้อของทั้งสองคน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง
ดังนั้นการดูแลอบรมเลี้ยงดูจึงต้องอาศัยทั้งพ่อและแม่จึงจะสมบูรณ์



พ่อแม่กับปู่ย่าตายาย...หนูจะเชื่อใครดี

ลำพังพ่อกับแม่เลี้ยงลูกกันสองคนยังเลี้ยงลูกไปคนละทิศทางได้ หลายๆ ท่านคงเกิดคำถามว่า
ถ้าครอบครัวที่เป็นครอบครัวขยาย มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา ลูกจะยิ่งไม่สับสนใหญ่หรือ
เพราะผู้ใหญ่แต่ละคน ต่างก็ปรารถนาให้เจ้าตัวเล็กขวัญใจของบ้าน เป็นอย่างที่ตัวเองต้องการ

การที่มีญาติพี่น้องอยู่รวมกันเยอะเป็นเรื่องดีนะคะ มีการสำรวจประชามติในนิตยสารนิวสวีค
ปรากฏว่าประชาชนชาวสหรัฐอเมริการ้อยละ 59 บอกว่า ปู่ย่าตายายมีความสำคัญมากในการเลี้ยงดูเด็ก
ซึ่งตรงกับนักวิชาการหลายท่านที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างปู่ย่าตายายและหลานนั้น เป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญ
รองลงมาจากพ่อแม่ลูก และครอบครัวที่ดีที่สุดคือครอบครัวที่มีญาติพร้อมหน้า
แต่จะทำอย่างไร หากการมีญาติพี่น้องพร้อมหน้าแล้วทำให้การอบรมลูกยากขึ้น
เพราะแต่ละคนก็สอนเด็กคนละแบบ

รศ.ดร.ดวงเดือน ศาสตรภัทร แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า
"คงเป็นไปได้ยาก ที่ปู่ย่าตายายจะเข้าใจวิธีการเลี้ยงลูกของคนสมัยใหม่ เมื่อตัวลูกของท่านเองยังเด็ก
ท่านอาจเข้มงวดสารพัด แต่เมื่อมีหลานท่านกลับตามใจ ให้ความรักล้นจนเสียเด็ก
เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้บ่อยในสังคมไทยค่ะ กว่าพ่อแม่จะรู้ ลูกตัวเองก็ถูกตามใจจนเสียไปแล้ว
เด็กแยกไม่ได้หรอกค่ะว่าจะเชื่อพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายดี
สิ่งที่เขาเรียนรู้ได้คือ ต้องเชื่อและเข้าหาคนที่ทำตามความต้องการเขาได้
ดังนั้นใครที่ตามใจเขาก็จะวิ่งเข้าหาคนนั้น แต่การที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายช่วยเลี้ยงก็มีข้อดีข้อเสียนะคะ
ข้อดีคือ เวลาคุณพ่อคุณแม่ออกไปทำงาน ก็มั่นใจได้เลยว่ามีคนที่รักคุณรักลูกของคุณ
และเต็มใจที่จะดูแลลูกให้อย่างดี และคุณปู่คุณย่าก็เป็นผู้ใหญ่ ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกได้
แต่ก็มีข้อเสียที่ปู่ย่ามักตามใจหลานนี่แหละค่ะ ที่ทำให้เด็กเกิดความสับสนและในที่สุดก็เชื่อฝ่ายที่ตามใจเขา
ซึ่งมักจะเป็นความลำบากใจของพ่อแม่ในการอบรมสั่งสอนลูก"



ปู่ย่าชอบตามใจ...ทำไงดี
คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า อยู่ในครอบครัวของสามีซึ่งเป็นครอบครัวขยาย คุณแม่ไม่สิทธิ์มีเสียงในบ้านเลย
สิทธิ์การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นของญาติสามี ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นแม่แต่ดุลูกไม่ได้เลย ทุกครั้งที่ดุลูกเมื่อลูกทำผิด
ญาติๆ ของสามีก็จะโอ๋หลาน พร้อมกับสอนไม่ให้เชื่อแม่ทั้งยังต่อว่าแม่ให้ลูกเห็น
นานวันเข้าก็ยิ่งรู้สึกว่า แม่หมดความสำคัญในใจลูกไปทุกที เพราะลูกไม่เชื่อฟังแม่ ไม่เคารพและไม่ให้เกียรติเลย
ซ้ำยังมีนิสัยที่ไม่น่าปรารถนาอีกด้วย


เมื่อมีเรื่องอย่างนี้จะทำยังไงดี
รศ.ดร.ดวงเดือน ศาสตรภัทร แนะนำว่า
" คุณแม่ควรจะปรึกษาคุณพ่อของลูก คุณพ่อเป็นบุคคลสำคัญมากนะคะ เพราะเป็นคนกลางสำหรับกรณีนี้
และทางที่ดีที่สุดที่จะนำลูกกลับมาได้คือการแยกครอบครัวออกมาค่ะ
เพราะการไปพูดกับญาติของสามีนั้นคงเป็นเรื่องลำบาก แยกตัวออกมา แล้วค่อยๆ อบรมสั่งสอนลูกใหม่
ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรีบอบรมตั้งแต่เด็กๆ เพราะการพัฒนาบุคลิกภาพในวัยเด็กมีความสำคัญมาก
แต่อย่างไรก็แล้วแต่คุณพ่อของลูก ก็เป็นบุคคลสำคัญที่สุดเลยค่ะที่จะช่วยได้
คุณแม่กับคุณพ่อต้องปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร”

เมื่อคุณพ่อคุณแม่มองเห็นแล้วว่า คุณปู่คุณย่าของลูกกำลังรักลูกของเรามากเกินไป
จนอาจทำให้เจ้าตัวเล็กที่ไม่รู้ประสา กลายเป็นเด็กที่มีลักษณะอันไม่พึงประสงค์แล้วล่ะก็
คุณแม่คงต้องทำอะไรสักอย่างแล้วล่ะค่ะ


รศ.ดร.ดวงเดือน ศาสตรภัทร แนะนำวิธีการรับมือความรักล้นๆ ของปู่ย่าตายายว่า

* ปรึกษาและพูดคุยกับปู่ย่าตายายของหลานให้รู้เรื่อง
วิธีแรก คือค่อยๆ ปรึกษาหรือเสนอข้อคิดเห็นให้กับปู่ย่าตายายดู
ซึ่งก็แน่นอนค่ะว่า ท่านคงจะเชื่อมั่นว่าการเลี้ยงดูแบบของท่านนั้นเป็นวิธีที่ดี
เพราะท่านก็เลี้ยงคุณมาจนได้ดีอย่างนี้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจเย็นๆ นะคะ บางทีอาจต้องใช้เวลา
และอาจหาหนังสือให้ท่านอ่าน หรืออ่านให้ท่านฟังด้วยก็ได้ค่ะ

* เข้าโรงเรียนอนุบาลหรือเนอสเซอรี่ก็ดีเหมือนกัน
เมื่อลูกโตขึ้นแล้วอาจพาลูกไปโรงเรียนอนุบาลก็ได้ค่ะ จะได้ห่างจากปู่ย่าตายายบ้าง
และก็เป็นเรื่องที่ดีด้วยนะคะ เพราะการเข้าสังคมกับเด็กๆ วัยเดียวกันเป็นเรื่องจำเป็น
ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้กับลูกด้วย แต่ก็ต้องเลือกโรงเรียนให้ลูกสักนิดนะคะ

* อยู่กันตามประสาพ่อแม่ลูกก็ดีนะ
การอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ ถือเป็นวิถีปฏิบัติที่ครอบครัวไทยเรานิยมกันมานาน
ยิ่งในสมัยนี้ พ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านด้วยกันทั้งคู่ด้วยแล้ว
ยิ่งถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีที่จะมีปู่ย่าตายาย มาช่วยเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยๆ ให้อีกแรง
แต่ถ้าหากอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่แล้ว และรู้สึกว่าปู่ย่าตายายทำให้การอบรมเลี้ยงดูลูกเป็นไปอย่างลำบาก
คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเตรียมความพร้อม และตัดสินใจแยกออกมาดีกว่าค่ะ
บางครั้งแม้ว่าจะไม่มีผู้ใหญ่ใกล้ชิด แต่การอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจระหว่างพ่อแม่ลูก ก็ทำให้มีความสุขดีเหมือนกัน


การเลี้ยงดูเป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกสร้างบุคลิกที่ดี ให้กับลูกตัวน้อยของคุณ
ดังนั้นการพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันระหว่างพ่อแม่ และหรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกร่วมในครอบครัว
จะเป็นส่วนส่งเสริม ให้การเลี้ยงดูของคุณเกิดประสิทธิผลได้มากขึ้นค่ะ


ข้อมูลโดย : //www.familydirect.co.th
ที่มา : //www.elib-online.com


สารบัญแม่และเด็ก




Create Date : 30 มิถุนายน 2553
Last Update : 30 มิถุนายน 2553 21:59:21 น. 1 comments
Counter : 2542 Pageviews.

 
อ่านแล้ว พยักหน้า..หงึกๆ รู้เพิ่มในสิ่งที่สงสัย ขอบคุณมากๆ ค่ะ


โดย: yamplu IP: 118.173.62.71 วันที่: 1 กรกฎาคม 2553 เวลา:18:43:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.