Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
7 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
ผ่าตัด ทั้งที่ท้อง!



ความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่าจะต้องถูกผ่าตัดทั้งๆ ที่เจ้าตัวเล็กยังอยู่ในท้องน่ะหรือคะ บอกได้คำเดียวว่าตกใจ
คิดกังวลไปต่างๆ นานา พร้อมกับคำถามมากมายที่เกิดขึ้น ลูกจะเป็นอะไรหรือเปล่า อะไรบ้าง ไม่ผ่าได้มั้ย ?

แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องผ่าค่ะ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวดิฉันเองและของเจ้าตัวเล็กด้วย
สาเหตุเพราะเจ้าไส้ติ่งน่ะสิคะ เกิดมาอักเสบตอนดิฉันท้องได้ 6 เดือน

วันนั้นดิฉันรู้สึกท้องอืดมากกว่าปกติ เจ็บที่ข้างเอว ทีแรกก็คิดว่าเดี๋ยวคงหายไปเอง แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น
ซ้ำยังเจ็บมากขึ้น รู้สึกคลื่นไส้ และมีอาการอาเจียนร่วมด้วย จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล

คุณหมอตรวจโดยการกดแล้วปล่อยบริเวณที่เจ็บ ดิฉันรู้สึกปวดเวลาที่คุณหมอกดค่ะ
แต่พอปล่อยมือกลับเจ็บกว่าเดิมอีก คุณหมอสงสัยว่าจะเป็นไส้ติ่งอักเสบ
แต่การวินิจฉัยจากอาการอย่างเดียวอาจบอกได้ไม่ชัดเจน การตรวจก็ทำลำบากเพราะท้องใหญ่ไส้ติ่งอยู่ลึก
คุณหมอจึงเจาะเลือดดิฉันไปตรวจ พบว่ามีการเพิ่มของเม็ดเลือดขาวมากขึ้น จึงแนะนำให้ผ่าตัดค่ะ

ตอนนั้นตกใจมาก เป็นห่วงลูก กลัวลูกจะเป็นอันตราย
แต่คุณหมอแนะนำว่าถ้าเราผ่าตอนที่ไส้ติ่งยังไม่แตก จะทำได้ง่ายกว่าภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นก็น้อย
โอกาสจะแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดก็น้อย แต่หากทิ้งไว้จนไส้ติ่งแตก หนองจะกระจายไปทั่วทั้งท้อง
และจะแทรกอยู่ตามมดลูก ลำไส้ ซึ่งยากที่จะล้างให้หมดเพราะมีมดลูกขวางอยู่
หลังผ่าตัดโอกาสแท้งจะสูงมาก ดิฉันจึงยอมผ่าค่ะ

การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่น หลังจากผ่าตัดแล้ว คุณหมอแนะนำให้ดิฉันนอนพักผ่อนให้มาก
โดยย้ำว่าหากรู้สึกว่ามดลูกบีบตัวรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติให้รีบบอกคุณหมอทันที
แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดีค่ะ

ตอนนี้ดิฉันหายเป็นปกติดีแล้ว แต่ยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้
เมื่อถึงกำหนดไปตรวจครรภ์ ดิฉันจึงได้สอบถาม นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์ สูติแพทย์ที่ดิฉันฝากครรภ์ด้วย
เพิ่มเติมดังนี้ค่ะ


เหตุที่แม่ท้องต้อง “ผ่าตัด”

คุณหมอบอกค่ะว่านอกจากภาวะแทรกซ้อนทางสูติกรรมแล้ว ภาวะแทรกซ้อนสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์
แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ค่ะ คือ ภาวะแทรกซ้อนทางอายุรกรรม
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดก็เช่น เมื่อตั้งครรภ์แล้วเป็นโรคเลือด โรคเอสแอลอี เป็นต้น

ส่วนอีกกลุ่มเป็นภาวะแทรกซ้อนทางศัลยกรรมคือ
ตั้งครรภ์ตามปกติ แต่มีภาวะที่จำเป็นต้องผ่าตัดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ประสบอุบัติเหตุ ไส้ติ่งอักเสบ
เนื้องอกในรังไข่ ซึ่งขั้วบิดตัวหรือแตก ซึ่งกรณีของดิฉันอยู่ในข่ายนี้แหละค่ะ

นอกจากความกังวลต่างๆ ที่ประดังประเดเข้ามาแล้ว
อีกสิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายอยากรู้ ก็คงไม่ต่างจากดิฉันเท่าไหร่ นั่นก็คือขั้นตอนการผ่าตัด
คุณหมอบอกว่าก็เหมือนการผ่าตัดทั่วๆ ไปค่ะ คือเมื่อคุณหมอตรวจวินิจฉัยแล้วว่าต้องผ่าตัดแน่นอน
เราก็ต้องเตรียมตัวเข้าห้องผ่าตัดเลย เพียงแต่ถ้าไม่ใช่โรคทางสูติกรรม เช่น
ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบเหมือนดิฉัน ศัลยแพทย์จะเป็นคนผ่า
แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดปีกมดลูกสูติแพทย์จะเป็นคนผ่า เป็นต้น

มาถึงเรื่องการเตรียมตัวก็เหมือนกับการผ่าตัดทั่วไปทุกอย่างค่ะ คืองดน้ำงดอาหาร
แต่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหิวนะคะ เพราะลูกยังมีอาหารจากตัวคุณแม่
จากนั้นก็ทำความสะอาดบริเวณที่จะผ่าตัด แล้วก็เข้าห้องผ่าตัด โดยมีวิสัญญีแพทย์ร่วมด้วย
แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีเวลาเตรียมตัวเท่าไหร่ เพราะมักเป็นภาวะเฉียบพลัน ที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อนค่ะ

หลังผ่าตัดแล้วสูติแพทย์จะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
โดยจะให้ยาเพื่อป้องกันมดลูกบีบตัว จนกระทั่งพ้นระยะอันตราย คุณแม่ก็ตั้งครรภ์ต่อได้ตามปกติค่ะ


"ยาสลบ” มีผลกับลูกในท้อง ?

การผ่าตัดกับการวางยาสลบเป็นของคู่กันค่ะ และลูกก็อาจจะได้ผลจากยาสลบไปด้วย
ซึ่งเป็นอีกข้อที่ดิฉันกังวลมากๆ แต่ก็ได้รับการอธิบายจากคุณหมอวิชัยว่า
เวลาแม่ดมยาและสลบไป ลูกจะได้รับยาเช่นกันทำให้ซึมหรือหลับไปด้วยก็จริง แต่ลูกไม่ได้คลอดขณะนั้น
เพราะเป็นการผ่าตัดอวัยวะอื่น ไม่ใช่ผ่าตัดคลอด เพราะฉะนั้นหลังจากผ่าตัดเสร็จฤทธิ์ยาสลบหมด
คุณแม่ฟื้นตัวเรียบร้อย ลูกก็จะตื่นขึ้นมาตามปกติค่ะ อย่างนี้ค่อยโล่งอกโล่งใจขึ้นหน่อย

แต่หากจำเป็นต้องผ่าเด็กออกมาพร้อมกัน เช่น ผ่าตัดจากอุบัติเหตุรถชนรุนแรงม้ามแตก มดลูกแตกด้วย
ซึ่งจำเป็นต้องรีบผ่าเด็กออก อย่างนี้มีผลต่อลูกแน่นอนค่ะ นอกจากลูกอาจจะโดนยาสลบ
(ซึ่งคุณหมอจะทำการแก้ไขตามอาการต่อไปค่ะ) ไปด้วยแล้ว อุบัติเหตุนั้นก็อาจกระทบกระเทือนถึงลูกด้วย



"ผ่าตัด” ส่งผลอะไรต่อลูก

เวลาที่คุณแม่ท้องต้องผ่าตัดย่อมมีผลต่อลูกด้วยแน่ๆ ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าลูกจะพิการหรอกนะคะ
แต่อาจมีผลในเรื่องการแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด เพราะหลังการผ่าตัด มดลูกอาจจะได้รับการกระทบกระเทือน
ถูกกระตุ้นจนเกิดการบีบตัว ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวได้ค่ะ
เช่น กรณีคุณแม่ท้องอายุครรภ์ 3 เดือน ช่วงนี้รกยังไม่ทำงาน ลูกจะได้รับอาหารจากรังไข่
โดยรังไข่จะสร้างฮอร์โมนมาเลี้ยงเด็ก ถ้าเผอิญรังไข่ข้างที่สร้างฮอร์โมนเกิดเป็นเนื้องอกหรือมีถุงน้ำ
หรือมีการบิดตรงขั้วขึ้นมา ก็จำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นออก เด็กก็จะขาดฮอร์โมนามาเลี้ยงทำให้แท้งได้ค่ะ

หรือหากคุณแม่ผ่าตัดไส้ติ่งตอนอายุครรภ์ 6-7 เดือนเหมือนดิฉัน
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีอาการอักเสบ ระบม เป็นหนอง และในระหว่างการผ่าตัดจะมีการเอาผ้าไปกันมดลูกไว้
หรืออาจมีการไปจับต้องมดลูก ทำให้มดลูกเกิดการกระทบกระเทือน หลังผ่าตัดแล้วอาจมีอาการท้องอืด ลำไส้อืด
ซึ่งอาจจะไปเบียดมดลูกหรือมีไข้สูง ก็ทำให้มดลูกมีการบีบตัวรุนแรง ทำให้คลอดก่อนกำหนดหรือแท้งได้อีกค่ะ

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นคุณหมอจะให้ยาป้องกันท้องอืด และให้ยาทำให้มดลูกคลายตัว
หรืออาจจะให้ยาทานหรือให้ทางน้ำเกลือตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการว่ารุนแรงมากน้อยขนาดไหน
โชคดีที่หลังการผ่าตัดดิฉันไม่มีอาการเหล่านั้นค่ะ

แต่หากเป็นการผ่าส่วนอื่นที่ไม่ใช่ท้องก็จะไม่มีผลกระทบค่ะ (ถ้าไม่กระทบกระเทือนถึงลูก)
เช่น ตกมอเตอร์ไซค์หรือตกบันไดแล้วกระดูกหัก ก็เข้าเฝือกได้ตามปกติ
หากต้องผ่าตัดเชื่อมกระดูกก็สามารถทำได้โดยไม่มีผลข้างเคียงค่ะ

คุณหมอบอกว่าในทางสูติกรรมเขาจะถือคุณแม่เป็นหัวใจหลัก
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ต้องทำการผ่าตัดช่วยเหลือคุณแม่ไว้ก่อน
เช่น ประสบอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์ หากไม่ได้รับการผ่าตัดคุณแม่อาจจะเสียชีวิตได้
หรือถ้ารกเกาะต่ำแล้วตกเลือดมากจนช็อค ถึงลูกจะยังไม่ครบกำหนด
ก็ต้องผ่าตัดเอาลูกออกเพื่อช่วยชีวิตแม่ไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดูลูกอีกที
แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ต้องพยายามช่วยทั้งแม่และลูกอยู่แล้ว


ดูแลตนเองหลังผ่าตัด

ระยะแรก 1 เดือนแรกหลังผ่าตัดสำคัญมากค่ะ เพราะเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ต้องพยายามพักให้เต็มที่

การพักฟื้นเหมือนการผ่าตัดทั่วๆ ไป เพียงแต่คุณแม่ต้องคอยดูลักษณะการบีบรัดตัวของมดลูก
เพราะหากแท้งหรือคลอดก่อนกำหนด จะมีสัญญาณเตือนนำมา คืออาการเจ็บมดลูก
ดังนั้นถ้ามีอาการปวดมดลูกต้องรีบบอกคุณหมอค่ะ อย่ารอจนกระทั่งน้ำเดินหรือมีเลือดออก
เพราะบางทีจะไม่ทันการณ์
คุณแม่ต้องพักให้มาก ไม่มีวิธีใดจะป้องกันการแท้งได้ดีที่สุด เท่าการนอนพักให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ค่ะ

และเมื่อถึงกำหนดคลอด
คุณแม่ก็สามารถคลอดเองได้ตามปกติ เพราะแผลที่ผ่าตัดเป็นแผลส่วนอื่นไม่ใช่แผลที่มดลูก
เปอร์เซ็นต์ที่จะคลอดได้หรือไม่ได้จะเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเคยผ่าตัดหรือไม่เคยผ่าตัดในระหว่างตั้งครรภ์ก็ตาม

ยกเว้นกรณีกระดูกที่หักนั้น เป็นกระดูกที่เกี่ยวกับการคลอด เช่น สะโพกหัก กระดูกเชิงกรานหัก
เวลาจะคลอดหัวเด็กจะต้องดันเชิงกรานซึ่งคงจะคลอดเองไม่ไหว อาจจำเป็นต้องผ่าออกค่ะ
เพราะกระดูกเมื่อหักแล้วกว่าจะติดกันและแข็งแรงต้องใช้เวลานาน

พอจะเห็นรายละเอียดมากขึ้นแล้วนะคะ
ถ้าเป็นโรคที่ทำให้เราต้องผ่าตัด แบบที่อยู่เหนือความควบคุมดูแลของเรา ก็คงต้องทำใจยอมรับ
แต่ถ้าต้องผ่าตัดเพราะอุบัติเหตุ อันนี้ดิฉันว่าเราหลีกเลี่ยงได้โดยระวังตัวเองให้มาก
ที่สำคัญความรู้สึกทางใจของเราต้องดูแลเป็นพิเศษ อย่าปล่อยให้เครียด กังวลมากไป เพราะส่งผลถึงลูกในท้องได้
แต่ดีที่สุด ก็ภาวนาอย่าให้มีเหตุให้แม่ท้องอย่างเราต้องผ่าตัดจะดีที่สุด


โดย กุมภการ
ข้อมูลโดย : นิตยสารรักลูก ปีที่ 23 ฉบับที่ 272
ที่มา : //www.elib-online.com


สารบัญแม่และเด็ก



Create Date : 07 กรกฎาคม 2553
Last Update : 7 กรกฎาคม 2553 11:55:05 น. 0 comments
Counter : 11139 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.