Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2552
 
 
18 ธันวาคม 2552
 
All Blogs
 
อ่อนโยน ท่ามกลางโลกที่รุนแรง



" เฮ้อ…อ…อ" เสียงถอนหายใจยาวของแม่ละไมท้ายซอยดังขึ้นอีกหน
เธอมักขึ้นต้นด้วยเสียงถอนใจแล้วตามด้วยเรื่องของลูกๆ
" เจ้าสองหนุ่มของเธอทำอะไรล่ะทีนี้" แม่ลูกเดี่ยวแสดงท่ารู้ทัน

" ก็ยังหรอก ฉันเป็นห่วงเท่านั้นเอง เธอดูสิ ความรุนแรงอยู่รอบๆ ตัวลูกเรา ดูข่าวก็เห็นภาพ
ยิ่งช่วงไหนมีข่าวฆาตกรรมโหดๆ ยิ่งขยายความทุกซอกทุกมุมเป็นอาทิตย์
เปิดละครเห็นทะเลาะกันที ฉันต้องคอยเปลี่ยนช่อง การ์ตูนก็ปล่อยให้ หนีไปช่องหนังฝรั่ง
แหมสนุกใหญ่เธอ ทุกช่องผลัดกันยิงทุกๆ 1 นาที รีโมตฉันไวไม่พอ"

" มาเป็นชุดเชียวนะจ๊ะ คุณแม่ผู้มีความกดดัน แล้วเธอจะทำยังไงได้ คงไม่ถึงกับห้ามลูกดูทีวี"

" ก็เริ่มดูทีวีไปกับลูกด้วยเลย จะได้รู้ว่าเรื่องไหนเขาไม่ควรดู เรื่องไหนรุนแรงไป ห้ามดู
ฉันเองก็พลอยอดดูหนังดูละครไปหลายเรื่อง ตัดปัญหา
ทีแรกพ่อเขาไม่เข้าใจหรอก บอกว่าลูกเราเป็นผู้ชายต้องชอบเรื่องต่อสู้ ไม่ชอบสิแปลก
ฉันต้องมาแจงให้เขาฟังว่า ความรุนแรงมันมีมากไปจริงๆ ดูได้บ้าง ไม่ถึงกับห้ามไปทุกเรื่อง
แต่ถ้าเราไม่ควบคุม เขาจะซึมซับไปเรื่อยๆ แล้วเอามาใช้ในชีวิตจริง


" ลูกฉันจะมีความอ่อนโยนได้อย่างไร ถ้าเราปล่อยปละละเลยเขา เป็นผู้ชายก็ต้องรู้จักความอ่อนโยนนะเธอ"

" น่าจะสบายใจได้ เธอจัดการกับเรื่องนี้ได้ดีออก" แม่ลูกเดี๋ยวออกปากชม แล้วเสริมอีกเรื่อง
" เกมก็น่าห่วง เธอต้องคุมเวลาเล่นของลูกนะ ดูด้วยว่าเขาเล่นเกมอะไรกัน
เมื่อวันก่อนเจอเฮียเจ้าของร้านเกมเล่าให้ฟังว่า พวกเด็กๆ ที่มาเล่นเกมยิงที่เล่นเชื่อมกับเครื่องอื่นๆ ในร้านได้น่ะ
เจ้าคนเล่นแพ้โกรธจริง ลุกขึ้นท้าชกนอกร้าน แกต้องห้ามทัพ
เธอคิดดูสิ ปกติเด็กๆ ผิดใจกันก็ทะเลาะกันแล้ว มาเล่นเกมไล่ยิงกัน ฉันว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความรุนแรงนะ"
" เฮ้อ…อ…อ" สองคนถอนใจพร้อมกัน


ความรุนแรงลอยนวลเข้ามาอยู่ในบ้านของเรามากขึ้นจริงๆ
ดิฉันว่าไม่ใช่แค่ความกังวลเกินไปของเราทั้งคู่หรอกค่ะ ที่สหรัฐอเมริกานับเป็นญาติสนิทก็ว่าได้
ทาง the American Psychology Assosiation เขาทำการสำรวจเด็กอเมริกันของเขาเอง
ซึ่งน่าจะพอสะท้อนแนวโน้มบางอย่างได้ เพราะเด็กไทยเราดูหนังอเมริกันกันมาก เราพบว่า
เด็กทั่วๆ ไปตั้งแต่เล็กจนโตมาถึงวัยประถมได้เห็นการฆ่ากันในทีวีมาแล้ว 8,000 ครั้ง และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
เด็กที่ได้พบเห็นความรุนแรงทีวีบ่อยๆ จะไปแสดงความก้าวร้าวเอากับคนอื่น ตะคอกหรือทุบตีเพื่อน


เรากำลังกังวลถึงส่วนที่มองเห็นภาพได้ชัด
ยังมีความรุนแรงที่กลมกลืนอยู่รอบๆ ตัว เราอาจมองข้ามไปโดยไม่ทันนึก

เราจะตำหนิแต่ปัจจัยภายนอกที่ถาโถมเข้ามาสู่ลูก โดยไม่มองสิ่งอื่นภายใต้หลังคาบ้านคงไม่ได้ค่ะ
ถ้าเราเป็นพ่อแม่ที่เลือกใช้อำนาจกับลูกตลอดเวลา เอาชนะลูกด้วยการตี ใช้การดุว่ากันรุนแรง
หรือระหว่างผู้ใหญ่เองก็ก้าวร้าวใส่กันเป็นปกติให้ลูกเห็นทุกๆ วันหรือไม่
เป็นเรื่องน่าหยิบยกมาพิจารณาอย่างถ่องแท้

การหล่อหลอมลูกให้เป็นคนมีความอ่อนโยน แม้จะอยู่ในกระแสโลกที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกที
ข้อสำคัญก็คือ ต้องให้ความอ่อนโยนกับลูกๆ ด้วยการปฏิบัติต่อลูกๆ ด้วยความนุ่มนวลอ่อนโยน การรู้จักให้อภัย

และการปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้ใหญ่ด้วยกัน
หากมีการทะเลาะกันเกิดขึ้น ควรเก็บอารมณ์ไว้ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูกๆ

ใครๆ ก็มีอารมณ์โกรธขึ้นมาได้ อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจว่า เขามีสิทธิ์ที่จะมีความรู้สึกเช่นนี้ได้
แต่การแสดงออกของเขาก็ต้องแสดงออกมาอย่างเหมาะสม
แสดงความโกรธได้ แต่ต้องไม่แสดงออกมาเป็นความรุนแรง ทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจกันด้วยคำพูดแรงๆ


ในยามที่ลูกของเราอึดอัดไม่สบายใจ เป็นพ่อแม่ก็ต้องรู้จักทะนุถนอมอารมณ์อันอ่อนไหวของเด็กๆ ด้วยใช่ไหมคะ
ให้ความรู้สึกอบอุ่น ให้ความเข้าใจ และคำพูดปลอบโยนเขาเพื่อให้เขาจิตใจเยือกเย็นลง

ให้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นเวลาสงบสุข
ผู้ใหญ่เองอย่าปล่อยให้ตัวเองระบายความเครียดจากที่ทำงาน หรือจากปัญหาต่างๆ ของผู้ใหญ่ มาลงกับลูกบ่อยๆ

เราต้องสอนลูกให้แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญาค่ะ ไม่เอาชนะความขัดแย้งด้วยการใช้กำลัง
เราเองก็ต้องเป็นต้นแบบให้ลูกด้วย ระหว่างคุยกันในมื้ออาหาร อาจเล่าให้ลูกฟังว่า
เราแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงานด้วยสติปัญญาอย่างไร
หรือยกย่องชื่นชมใครที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง

แม่ลูกหนึ่งผู้รู้ดีแนะนำละไมเพิ่มเติมว่า
" เธอรู้ไหมจ๊ะ เด็กๆ เขาจะมีพลังงานสะสมไว้เยอะ ชวนเขาเล่นกีฬาบ้าง
จะช่วยระบายพลังงานสะสมของเขาไปใช้ในทางที่เหมาะสม "

" ต้องเลือกประเภทกีฬาด้วยนะ อย่างกีฬาที่เล่นกันเป็นทีมแบบฟุตบอลน่ะ เธอดูบรรยากาศการเล่นด้วยว่า
ในทีมมีการรังแกกันหรือเปล่า เลี่ยงมาเป็นกีฬาประเภทแบดมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ
ซึ่งดูแล้วไม่จำเป็นต้องข้องแวะกับความรุนแรงจะดี

การสอนให้ลูกรู้จักคำว่า อกเขาอกเรา เด็กๆ เขาจะได้นึกสงสารคนอื่นเป็นบ้างค่ะ
มีคำถามสองสามข้อไว้ถามลูกๆ ค่ะ เวลาลูกใช้ความรุนแรงกับเพื่อนหรือคนรอบตัวเขา
ถามลูกว่า…
ลูกคิดว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร ถ้าลูกไปชกเขา เขาจะรู้สึกเจ็บ โกรธ หรือเสียใจไหม?
ลูกคิดไหมว่า คนนั้นเขาจะคิดว่าลูกเป็นคนอย่างไร?
ลูกคิดว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกยังทำร้ายคนอื่นอยู่?


คำถามของเราช่วยให้เรารู้จักลูกค่ะ ว่าเขาคิดอย่างไร
ถ้าเขาตอบมาแล้วแสดงความสงสารคนอื่นบ้าง ไม่น่าห่วงค่ะ
เพราะเขายังมีความอ่อนโยนอยู่ เพียงแต่ไม่รู้ว่าเขาทำให้คนอื่นรู้สึกเจ็บ

แต่ถ้าเขาพูดถึงแต่ผลของการกระทำของตัวเองว่า จะนำความเดือดร้อนให้เขาในภายหลัง
เช่น อาจโดนครูทำโทษ แสดงว่าเราต้องให้ลูกเข้าใจเรื่องความอ่อนโยนมากยิ่งขึ้น
และสร้างบรรยากาศให้มีความอ่อนโยนรอบๆ ตัวลูก

เรื่องใกล้ๆ ตัวที่เราไม่ควรมองข้าม เป็นพ่อแม่ยุคนี้อาจต้องดูแลลูกให้ละเอียดละออกว่าคนในสมัยก่อน
เราคงอยากให้บรรยากาศรอบตัวเราน่าอยู่ไปอีกนานๆ ใช่ไหมคะ
เพราะภายใต้หลังคาเล็กๆ แต่ละหลังที่นำลูกออกห่างจากความรุนแรง จะช่วยสร้างสังคมที่รู้จักความอ่อนโยนค่ะ


ที่มา : //www.elib-online.com/doctors45/child_gentle001.html


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




Create Date : 18 ธันวาคม 2552
Last Update : 18 ธันวาคม 2552 21:15:17 น. 0 comments
Counter : 622 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.