Group Blog
 
<<
มกราคม 2553
 
22 มกราคม 2553
 
All Blogs
 

7 ทักษะสู่ความสำเร็จ



อาจมีใครหลายคนกำลังรู้สึกหดหู่กับชีวิต ไร้สุข เบื่อ ซ้ำซาก จำเจ บางคนโทษตัวเองว่าไม่ดี ไม่มีความสามารถ
บ้างก็ตีโพยตีพายโทษทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวว่าเป็นต้นเหตุ... เจ้านายไม่ดี สามี (หรือภรรยา) ไม่เข้าใจ
ลูกไม่ได้ดั่งใจ เพื่อนบ้านไม่น่าคบ ฯลฯ

พอมีคนแนะนำให้แก้ปัญหา เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตใหม่ ก็ไม่มีเรี่ยวแรงจะลุกขึ้นมาฝ่าฟันอุปสรรค
ไม่กล้าแม้แต่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง กลัวสิ่งเลวร้ายที่รออยู่ข้างหน้า

กับอีกหลายคนที่มีชีวิตล่องลอยไปวันๆ ไร้จุดหมาย
ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร ชอบอะไร หรือมีเป้าหมายอะไรในชีวิต

และบางคนที่มีความฝัน อยากประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่ก็เป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ เพราะไม่กล้า ไม่มั่นใจ ท้อถอย

...คนเหล่านี้ล้วนต้องการพลังบางอย่าง ที่จะช่วยให้ชีวิตเขาผ่านพ้นความยากลำบาก เพื่อพบอนาคตที่สดใส
เช่นเดียวกับเด็กๆ ในวัยเรียน ที่ต้องการพลังในการศึกษาเรียนรู้และการก้าวไปสู่ความสำเร็จในชีวิต

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ 7 Strategies for Developing Capable Student
เขียนโดย สตีเฟน เกลนน์ และไมเคิล แอล บร็อก ซึ่งเสนอแนะพ่อแม่ถึงวิธีการส่งเสริมลูกรักให้เรียนดี
และประสบความสำเร็จ บทหนึ่งกล่าวถึงว่า พ่อแม่ควรสร้างเสริมคุณลักษณะ 7 อย่างให้แก่ลูก
ซึ่งเป็นพลังสำคัญที่จะนำพาลูกไปสู่ชีวิตที่สดใส ได้แก่

1. ความมั่นใจในตัวเอง มั่นใจว่าตัวเองมีความสามารถ สามารถเผชิญและแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ได้

2. การรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า รู้ว่าตัวเองมีความสำคัญ มีความหมายต่อคนอื่น รู้ว่าตัวเองมีดีมีความสามารถ

3. การเป็นตัวของตัวเอง รู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่าตัวเองชอบอะไร
อยากเป็นอะไร มีความใฝ่ฝัน มีเป้าหมายในชีวิต

4. การควบคุมตัวเองได้ดี รู้จักจัดการควบคุมอารมณ์ความรู้สึก รู้ว่าอะไรเหมาะอะไรควร

5. การมีมนุษยสัมพันธ์ มีทักษะในการสื่อสาร ร่วมมือ ปรับตัวเข้ากับผู้อื่น
รู้จักแบ่งปัน ช่วยเหลือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ประสานประโยชน์กับผู้อื่น

6. ทักษะในการจัดการ รู้จักรับผิดชอบต่อตัวเอง
ดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ดี และยังสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย

7. ทักษะในการตัดสินใจ แก้ปัญหา สามารถวิเคราะห์ที่มาของปัญหา
และมองเห็นช่องทางในการแก้ปัญหา ตัดสินใจได้ดี


ส่วนวิธีการจะสร้างเสริมคุณลักษณะเหล่านี้ให้มีในตัวลูก
คงไม่ใช่เสกสรรสร้างได้ภายในเวลาอันสั้น จะพูดว่าต้องสร้างกันตั้งแต่เล็กน้อยก็ว่าได้
แต่สำหรับลูกโตก็ยังไม่สายเกินไป ถ้าเข้าใจแล้วปรับเปลี่ยนสร้างกันใหม่ตั้งแต่วันนี้

★ สร้างความมั่นใจในตัวเอง
เด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองเพราะถูกทำให้รู้สึก “ไม่เคยทำอะไรถูกต้อง” หรือ “ไม่มีความสามารถ” บ่อยๆ
บางบ้านอาจจะทำด้วยการดุด่าว่ากล่าว
ในทางตรงกันข้าม บางบ้านอาจจะช่วยเหลือลูกมากไป แม้ว่าลูกจะอยู่ในวัยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ แล้ว
หรือทำแทนลูกเพราะกลัวลูกลำบากหรือรำคาญที่ลูกทำไม่ได้ดังใจก็ตาม

สำหรับในการเรียน หนังสือเล่มนี้แนะนำว่า พ่อแม่และครูควรให้อิสระในการเรียนรู้กับเด็กๆ เช่น
ไม่บอกคำตอบหรือวิธีทำเมื่อลูกเจอโจทย์ยากๆ ควรกระตุ้นให้เด็กพยายามขบคิดหาคำตอบด้วยตัวเอง
และไม่ชี้นำความคิด โดยเฉพาะชี้นำว่าเด็กเก่งด้านนั้นด้านนี้ เรื่องนี้มีงานวิจัยพบว่า
เด็กที่ได้รับคำชมหรือการบอกว่าเก่งในด้านใด จะใส่ใจเฉพาะเรื่องนั้นทำให้ละเลยที่จะใส่ใจเรื่องอื่นๆ


★ สร้างความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
พ่อแม่และครอบครัวเป็นผู้สร้างหรือทำลายสิ่งนี้ได้มากพอๆ กัน
มี 3 สิ่งที่เป็นหัวใจในการทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเขามีคุณค่า มีความหมาย คือ
มีคนรับฟังความรู้สึกนึกคิด ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอยู่ และได้รับความรัก การเอาใจใส่ ชื่นชม
ดังนั้นพ่อแม่ต้องหัดรับฟังลูกโดยไม่แสดงความคิดเห็นที่ไปตัดสิน สรุปสิ่งที่ลูกเล่า หรือสั่งสอนตลอดเวลา
เช่นเดียวกับในห้องเรียน คุณครูก็ต้องหาโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นมากๆ ด้วย


★ สนับสนุนให้เป็นตัวของตัวเอง
เด็กที่เป็นตัวของตัวเองจะไม่มีความกลัวนั่นกลัวนี่หรือวิตกกังวล
เด็กที่ไม่เป็นตัวของตัวเองจะเป็นไปตามคนที่อยู่รอบข้าง และสิ่งแวดล้อม
ถ้าพ่อแม่และครูให้อิสระกับเด็กมากเท่าไร เด็กๆ ก็จะเป็นตัวของตัวเองมากเท่านั้น


★ สอนให้รู้จักควบคุมตัวเอง
ไม่ใช่สอนให้เด็กเก็บกดความรู้สึก แต่สอนให้รู้ว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะมีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
แต่ต้องรู้จักรับมือ จัดการกับอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นให้ได้ด้วย เช่น
จะทำอย่างไรเมื่อเกิดอารมณ์ด้านลบ โกรธ เศร้า เสียใจ เครียด ฯลฯ
คนที่รู้จักรับมือกับความรู้สึกของตน จะมีสุขภาพจิตที่ดี มีอารมณ์มั่นคง
คนขาดทักษะนี้มักจะโทษคนอื่น ว่าเป็นต้นเหตุให้เขาเกิดความรู้สึกแย่ๆ เสมอ

เด็กๆ จะซึมซับวิธีการรับมือกับอารมณ์ต่างๆ จากคนรอบข้างโดยเฉพาะพ่อแม่
ถ้าพ่อแม่เป็นคนควบคุมอารมณ์ได้ดี ลูกก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย และลูกจะใช้ชีวิตที่โรงเรียนได้ดีด้วย


★ สร้างทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์
คนที่ขาดทักษะนี้มักจะไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ทำงานอยู่ร่วมกับคนอื่นยาก
มักจะมีความเครียด แปลกแยก และอาจจะติดสิ่งเสพติดได้ง่าย
การสร้างทักษะนี้เริ่มที่ผู้ใหญ่รอบข้าง โดยเฉพาะพ่อแม่รู้จักรับฟังเด็กก่อน เด็กก็จะเรียนรู้สิ่งนี้เช่นกัน
ทั้งบ้านและโรงเรียนมีส่วนอย่างมาก ที่จะสอนเด็กให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เปิดใจกว้างยอมรับฟังผู้อื่น
ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถปรับตัว มีมนุษยสัมพันธ์กับผู้อื่น


★ สร้างทักษะในการจัดการ
โดย เฉพาะวิถีชีวิตของคนเราทุกวันนี้ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก แต่ละวันมีสิ่งหรือกิจวัตรที่ต้องทำมากมาย
คนที่มีทักษะในการจัดการจะสามารถทำสิ่งต่างๆ สำเร็จลุล่วง
สิ่งแวดล้อมที่มีระเบียบวินัยช่วยหล่อหลอมเด็กให้มีทักษะนี้
จึงจำเป็นที่พ่อแม่ต้องกวดขันลูกในเรื่องกิจวัตรประจำวัน และการทำการบ้าน งานที่ครูมอบหมาย และงานบ้าน
ซึ่งหากดูแลกวดขันกันแต่เล็ก เด็กจะมีความรับผิดชอบโดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญตอนโต


★ สร้างทักษะในการตัดสินใจ แก้ปัญหา
เป็นทักษะสำคัญที่สุดของคนเราก็ว่าได้ ซึ่งอาศัยพื้นฐานจาก 6 เรื่องข้างต้น
สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามวัยและประสบการณ์
เราสามารถช่วยพัฒนาทักษะนี้ให้เด็กๆ ได้ด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ด้วยการบอกตรงๆ ว่าควรจะตัดสินใจ
หรือแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ อย่างไร แต่ควรกระตุ้นให้เด็กคิดด้วยตัวเองด้วยคำถามว่าเขาคิดเห็นอย่างไร
เปิดโอกาสให้เด็กวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ให้ข้อคิดทั้งด้านบวกและลบในการตัดสินใจ แก้ปัญหา
นำประสบการณ์ของคนอื่นๆ มาเล่าให้ฟัง ฯลฯ


7 สิ่งนี้ แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ใช่ว่า จะหาคนที่พัฒนาทุกด้านได้ดีสมบูรณ์แบบได้ง่ายๆ
แต่ถ้าสร้างเสริมกันมาแต่เล็ก ก็เป็นไปได้มากว่า
เมื่อโตขึ้น เขาจะเปี่ยมไปด้วยพลังที่จะก้าวไปสู่ชีวิตที่สดใสในอนาคต


ข้อมูลจาก teen&family
ที่มา : //www.elib-online.com
ภาพจาก : //www.sevenhillstutoring.com


สารบัญ เรื่อง แม่และเด็ก
คลิกดู ที่นี่ค่ะ




 

Create Date : 22 มกราคม 2553
0 comments
Last Update : 22 มกราคม 2553 21:26:19 น.
Counter : 939 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 200 คน [?]




Friends' blogs
[Add ทุกคนไม่ได้รู้ทุกสิ่ง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.