...เมื่อไหร่เราจะตั้งคำถามกับสิ่งที่มันเป็นไป?...เรื่องยาวที่อยากให้คิด
ทุกวันนี้ พวกเราโดยส่วนใหญ่ ต่างมีชีวิตอยู่อย่างไร้คำถาม ราวกับว่าทุกอย่างมีคำตอบ และสูตรสำเร็จของมันอยู่แล้ว แค่แทนค่าลงไปในสมการที่ให้มา แล้วคิดให้ออกแล้วกัน ทางเดินชีวิต เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นแค่สมการ ไม่ต้องคิดถึงที่มาของสมการ แค่ดำเนินรอยตามเท่านั้น วิชาปรัชญาที่หาความหมายว่า ชีวิตอยู่ไปทำไม ความดีคืออะไร ความจริงคืออะไร ธรรมชาติมนุษย์คืออะไร และชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร กลายเป็นเพียงเรื่องไร้สาระ และเสียเวลาทำมาหากิน ไม่มีความจำเป็นต้องไปคิดถึงมันอีก นอกจากว่าจะคิดเล่นๆเป็นการบริหารสมองสนุกๆ
แล้วต่างคนก็ต่างวิ่งเข้ามาตลาดความรู้ เรียนรู้เพื่อที่จะชุบตัวเอง ให้เป็นอะไรสักอย่างในสังคม ให้มีที่ยืนในสังคมได้ ให้มีงานทำ ให้มีเงินใช้ นี่คือจุดหมายปลายทางแห่งชีวิต ที่สมการดังกล่าวบอกแก่เรา
เราเรียนเพื่อตอบโจทย์สำคัญที่ว่า "จบแล้วจะไปทำอะไร" เราถูกสอนให้คิดแบบเศรษฐศาสตร์ หรืออีกนัยหนึ่งคือ คิดอย่างผู้ที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ เราคิดถึงต้นทุนของการเรียน และกำไรที่จะได้จากการทำงาน คิดมากบ้างน้อยบ้าง ตามแต่สภาพเศรษฐกิจที่ประสบ
ประเด็นอยู่ที่ว่า มนุษยชาติกำลังถูกครอบงำด้วยเศรษฐศาสตร์ เราตั้งโจทย์โดยคำนึงถึงต้นทุน กำไรเป็นหลัก (แปลว่ายังมีส่วนรองๆลงไปอีก ที่ไม่ใช่เรื่องเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ออาจจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ แต่ก็นับว่าน้อยมาก) ดังนั้นเราจึงให้คำตอบต่อโจทย์เหล่านั้น ด้วยภาษาของเศรษฐศาสตร์ อันสะท้อนถึงนัยยะของการเป็น "ผู้ที่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์"
หาก... ทำไมเราทั้งหลาย ถึงยอมถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ อันเป็นการประกอบกันขึ้นอจากส่วนย่อยๆอันหลายหลาก ลงมาเป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผลเท่านั้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ไม่แม่นยำเท่ากับคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ ความเป็นมนุษย์ในส่วนอื่นๆของเรา เราเอาไปไว้ที่ไหนเล่า
แล้วมนุษย์ก็ถูกระบบเศรษฐกิจ ลดค่าลงไปเป็นทุนประเภทหนึ่ง ตัวอย่างใกล้ตัวที่ทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์คือ ...คนแจกใบปลิว... บ่อยครั้งที่คนที่ไม่อยากรับ อจะทำเป็นไม่เห็น ไม่สนใจ หลายๆคนก็ไม่มองคนแจกเลย ทำเหมือนเค้าไม่มีตัวคน ...เป็นอากาศธาตุที่ว่างเปล่า ...เป็นเครื่องจักรชิ้นหนึ่ง นั่นเป็นเพราะ ลึกๆแล้ว เรามองว่า ในชั่วขณะนั้น เขาติดต่อกับเราในฐานะอะไรสักอย่างหนึ่ง (จะว่าเครื่องจักรก็คงได้) ที่มีหน้าที่แจก แล้วก็รับเงินเป็นค่าตอบแทน คนแจกก็อาจจะไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดอะไร เพราะตัวเองก็มองตัวเองเป็นเครื่องจักรเช่นกัน ที่ทำหน้าที่ แล้วก็รับเงินเดือน แต่ว่าความภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของเขาล่ะ อยู่ตรงไหน
อะไรก็ไม่ร้ายเท่า มันทำร้ายสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทของธุรกิจ มันทำให้สายใยเชื่อมโยงที่แท้จริงหายไป เราไม่ได้ติดต่อกันในฐานะมนุษย์อีกต่อไป เมื่อลักษณะความสัมพันธ์ที่ถักทอโครงร่างเป็นสังคมมนุษย์ กลายเป็นระบบความสัมพันธ์ของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ แล้วเรากำลังดำรงชีวิตอยู่ในสังคมแบบไหนกันหรือ
สิ่งที่ถามตัวเองต่อมาคือ แล้วอย่างนี้แปลว่าจะไม่ให้มีระบบธุรกิจเลยหรือ ก็คงจะไม่ใช่ เพราะตลาดคือสิ่งที่แสดงว่าชุมชนนั้นยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่ว่า... เราต้องกลับไปพิสูจน์ความจริงของสมมติฐานที่ว่า "ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัด"
ทรัพยากรมีจำกัดอย่างแน่นอน แม้ว่าจะมีคนออกมาพูดว่า ถ้าทรัพยากรในพื้นดินในระดับนี้หมดลง เทคโนโลยีก็สามารถจะขุดลึกลงไปในพื้นดินได้อีก เพื่อเอาทรัพยากรมาใช้ได้เรื่อยๆ ไม่ก็ไปเอาทรัพยากรจากดาวเคราะห์อื่นมาใช้ได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะจริงสักแค่ไหน รู้อย่างเดียวว่า มันน่ากลัวจัง
ส่วนที่ว่าความต้องการของมนุษย์นั้นมีอยู่อย่างไม่จำกัด สิ่งนี้กลับน่าสงสัยว่า เป็นจริงอย่างนั้นหรือ ความต้องการของมนุษย์อาจะมีได้ 2 แง่คือ ...ความต้องการทางกายภาพ และ ......ความต้องการทางจิตใจ ความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนั้น (แน่นอนว่าในแง่นี้ เรากำลังพูดถึงความต้องการทางวัตถุ) บ่อยครั้งความต้องการบริโภควัตถุ มันเหมารวมเอาความต้องการทางจิตใจเข้ามาด้วย แท้จริงแล้วจิตใจต่างหากที่ต้องการอาหาร เมื่อเผชิญกับความตึงเครียด ความเหงา ความเบื่อหน่าย หรือภาวะขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจ อื่นๆ ก็จะถูกชักนำให้เขาหาทางออกด้วยการบริโภค เพื่อระงับอาการทางใจ ใจจึงไม่หายหิว แค่เพียงแต่... มันทำให้ลืมไปได้ชั่วครู่ชั่วยาม
อาการขาดแคลนอาหารใจจึงไม่ได้หายไปไหน และทุกๆครั้งที่มันแสดงอาการ เราก็หันไปบริโภค ไปดูหนัง ช็อปปิ้ง เที่ยวห้าง ซื้อเสื้อผ้า กินข้าว เฮฮาปาร์ตี้ เล่นเกม ดื่มเหล้า เที่ยวซ่อง ...อื่นๆอีกมากมาย อาการบริโภคนิยม ดูๆไปก็คล้ายกับคนติดยา ขาดไม่ได้ ไม่งั้นลงแดง
แล้วทำไมคน (โดยเฉพาะในเมือง) ถึงไม่เติมอาหารให้ใจ คำตอบก็คือ ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วตัวเองขาดอาหารใจ ไม่รู้ว่าความต้องการจะบริโภค ต้องการแสงสีนั้น แท้จริงแล้วเป็นอาการของจิตใจที่ขาดแคลนอาหาร และการเข้าถึงอาหารใจเหล่านี้เป็นไปได้ยากเหลือเกิน และเพราะการเข้าถึงยาก ทำให้พวกเขาไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่
อะไรที่เขาไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในโลก ...เขาก็จะไม่รู้ว่าเขาสามารถต้องการมันได้
คนที่ไม่เคยรู้ว่ามันมีหนังสือหรือบทกวีอยู่ในโลก ...เขาก็คงจะไม่อาจรู้ได้ว่า ...หนังสือเล่มนั้นสามารถตอบโจทย์ชีวิตเขาได้
คนที่ไม่เคยใหเวลากับการฟังดนตรี เขาก็จะไม่รู้ว่า ...วิญญาณเขาจะได้รับการปลุกปลอบผ่านเสียงเพลง
และงานศิลป์ใดๆย่อมไม่สามารถแสดงพลังได้ ...ต่อผู้คนที่ไม่ให้ความสำคัญแก่มัน
ทั้งๆที่งานศิลป์เหล่านี้เอง ที่เป็นสิ่งที่แสดงออก ถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ...มนุษย์ยังคงเป็นมนุษย์อยู่...
มันน่าเศร้าที่ทุนนิยมทำให้ศิลปะกลายเป็นของผูกขาด ที่ทำให้คนรวยเท่านั้นที่มีสิทธิจะหามาครอบครอง ทำให้คนที่ไม่รวยหมดโอกาสที่จะได้สัมผัส เพราะราคาและเวลาที่จะต้องจ่าย ดูจะไม่คุ้มกับค่าเสียโอกาส ในการเอาเงินและเวลาไปทำมาค้าขาย จิตใจจึงไม่เคยได้รับการปลอบประโลม จิตใจที่หิวโหยจึงแสดงออกด้วยความต้องการ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความทะเยอทะยาน และการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น
และในแง่ของผู้สร้างงานศิลป์ ศิลปะดูจะตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนนิยมไปด้วย ศิลปินที่พอจะมีฐานะเท่านั้น ที่มีสิทธิจะสร้างสรรค์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงโจทย์ทางการตลาด เท่ากับว่า ทั้งผู้สร้างและผู้เสพ ต่างก็ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือ ชะตากรรมการสูญเสียความเป็นมนุษย์
"สมัยก่อน การสร้างสรรค์เป็นด้านหลัก แล้วใช้การตลาดเป็นตัวเสริม แต่เดี๋ยวนี้ การตลาดเป็นด้านหลัก การสร้างสรรค์เป็นตัวเสริมเท่านั้นเอง มันก็เลยยาก จะคิดอะไรออกมา" อ.วีระ สมบูรณ์ กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์จาก //www.onopen.com
ศาสนาก็ไม่อาจเป็นที่พึ่งทางใจได้อีกต่อไป เมื่อคำสอนทางศาสนาต่างๆ ไม่สามารถจะตอบโจทย์ของบริโภคนิยม ที่เน้นการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้มีชีวิตรอดได้ ผู้คนจึงเลือกเชื่อ เลือกศรัทธาในสิ่งที่มันเยียวยาจิตใจเขาได้ และฟ้องออกมาในรูปของ การเล่นหวย ขูดเลข จตุคามรามเทพ ฯลฯ
เพราะขณะนี้
ความคิดทุกอย่างเวียนว่ายอยู่ในบริโภคนิยม
คิดและตัดสินใจทุกอย่างด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์
เวลาแทบทุกหยดจึงหมดไปกับการหาเงิน
คล้ายๆกับการมีชีวิตอยู่เพื่อทำมาหากินเท่านั้น
ทุนนิยมมีสูตรสำเร็จให้ชีวิต โดยที่ไม่ต้องตั้งโจทย์อย่างอื่นอีก
โลกภายใต้ระบบทุนนิยมจึงแย่ลงทุกวัน
เมื่อแก่นแท้ของศาสนาก็ถูกทำลาย
และศิลปะถูกขัดขวางจนไม่สามารถรักษามนุษย์ให้เป็นมนุษย์ได้
นอกจากนี้ทุนนิยมยังทำลายสายใยระหว่างมนุษย์
แล้วสร้างสายสัมพันธ์ใหม่
ให้คนสัมพันธ์กันในฐานะฟันเฟืองของระบบธุรกิจ
คำถามคือ...
ทำไมเราถึงยอมให้ทุนนิยมทำร้ายเราได้ขนาดนี้
เมื่อไหร่ที่เราจะตั้งคำถามกับสูตรสำเร็จนี้
Create Date : 30 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 30 พฤศจิกายน 2550 7:13:57 น. |
|
19 comments
|
Counter : 1466 Pageviews. |
|
|
ดีกว่าไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้ แต่ดันคิดว่าตัวเองรู้
.....................
ชีวิตอยู่ไปทำไม
ความดีคืออะไร
ความจริงคืออะไร
ธรรมชาติมนุษย์คืออะไร
และชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร
ชุดคำถามนี้
จะทำให้เรารู้ว่าเรามีชีวิตอยู่บนโลกนี้เพื่ออะไร
ไม่ใช่คอยแต่ถามว่าเราจะรวยแค่ไหน
...........................
คำถามคือ...
ทำไมเราถึงยอมให้ทุนนิยมทำร้ายเราได้ขนาดนี้
เมื่อไหร่ที่เราจะตั้งคำถามกับสูตรสำเร็จนี้
......................
ชอบบทความวันนี้ของครูเสี้ยวนะ
อ่านแล้วนึกถึงเรื่อง
ภิษุสันดานกา และเสื้อเหลือง