ช่องทางการสื่อสาร
หายไปไหนมา? บางคนอาจจะพอรู้ว่าเราโดน facebook ดูด หลงระเริงไปกับแสงสีในนั้น เลยไม่ค่อยจะกลับเข้ามาบ้านนี้เท่าไหร่ มีอะไรในหัวแวบเข้ามาก็เขียนลง facebook ตลอด ยิ่งหลังๆ มีโทรศัพท์ฉลาดๆ ใช้ ก็ยิ่งอัพเร็วเท่าใจคิด วันนึงคิดไปกี่เรื่อง แต่งกลอนไปกี่บท ฮัมเพลงไปกี่ท่อน นั่นแหละ อัพให้ชาวบ้านเขารู้หมด สนุกดีไม่มีเหตุผล จนกระทั่งเพื่อนถาม.. แกเพ้ออะไรมากมายวะ? หลังจากนั้น จึงเริ่มประมาณตนสงบปากสงบคำ บางครั้งอยากจะเขียนแต่ไม่กล้าเขียน กลัวจะรก feed คนอื่น ทั้งๆ ที่มันมีสิ่งที่อยากจะสื่อสารใจจะขาด บางครั้งทนไม่ได้ต้องเขียนลงในกล่อง status แล้วก็ต้อง hide ไม่ให้เพื่อนบางคนเห็นเพราะกลัวมันรำคาญ อยู่ในสังคมเฟสบุ๊คไปนานๆ เข้าก็เริ่มสังเกตเห็น คนที่อัพบ่อยๆ หรืออัพยาวๆ มักจะเป็นกลุ่มนักเขียน ไม่ว่าจะเป็นพี่ 'ปราย พันแสง น้าปอน พิบูลศักดิ์ ละครพล พี่เสี้ยวจันทร์ แรมไพร คุณกอนกูย กฤษดา สุนทร พี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ หรือพี่กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล และผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเขียนอีกหลายคนที่เรารู้จักในเฟสบุ๊ค ดูเหมือนเฟสบุ๊คจะถูกใช้เป็นช่องทางการสื่อสารของพี่ๆ นักเขียนเหล่านี้ เอ๊ะ ..หรือเราก็ด้วย เรื่องช่องทางการสื่อสารนี่เราได้ยินครั้งแรกจาก อ.มานิต ศรีวานิชภูมิ สมัยที่เรายังทำงานกับฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ ได้รับโอกาสสัมภาษณ์อ.มานิตเกี่ยวกับงาน pink man อาจารย์บอกว่า การถ่ายภาพ คือ ช่องทางที่อาจารย์เลือกใช้สื่อสาร หลังจากนั้นเราก็มานั่งคิดว่า.. แล้วเราล่ะในฐานะคนที่ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานกับศิลปะ อะไรคือช่องทางการสื่อสารที่เราถนัดที่สุด คำตอบออกมาสองอย่าง ..เขียน และ ..เต้น หรืือ ..เต้น และ .. เขียน หรือ ไม่สำคัญหรอกว่าอะไรจะมาก่อน หรือมาทีหลัง หลายครั้งเหมือนกันที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าไม่มีคนอ่านเราจะยังอยากเขียนไหม คำตอบก็คือ เราก็คงจะเขียนมันต่อไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละ แม้ว่าการมีคนอ่านจะดีกว่าไม่มีใครอ่านเลย แต่อย่างน้อย เราก็มีความสุขที่เราได้อ่านสิ่งที่ตัวเองเขียน เวลาย้อนกลับไปอ่านกลับไปดูเรื่องราวที่เกิดขึ้น และซึมซับความรู้สึกต่างๆ ที่เคลื่อนผ่านชีวิตไป เราสนุกที่ได้กลับไปทบทวน แม้ว่าบางครั้งมันจะทำให้เราเศร้าแสนเศร้าก็ตาม แต่เรารู้สึกว่ามัน "มีค่า"
แต่กับการเต้น, การเต้นที่เรารัก และดิ้นรนมาตลอดให้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรักนั้น เรากลับตอบตัวเองไม่ได้ว่าเต็มปากว่า หากไม่มีใครดูเราเต้นเลย เราจะยังอยากเต้นอยู่ไหม ท่อนหนึ่งในเพลงภาษาอังกฤษเพียงเพลงเดียวที่เราเคยแต่ง บอกไว้ว่า Ineed you, the only audience I have. Please help me proud of my dance. เมื่อมาถึงการเต้นทีไรเราพยายามมากนะ ที่จะ ภูมิใจ ในตัวเองโดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับคนอื่น หลายครั้ง สิ่งที่เราทำไม่ถูกใจไดเรคเตอร์ ทำให้โอกาสต่างๆ ไม่เคยมาถึงเราเสียที เพราะเรื่องของศิลปะมันเป็นเรื่อง subjective ไม่มีหลักการตัดสินตายตัว ไม่เหมือนตอนทุ่มเรียนสุดตัวเพื่อให้ได้มีโอากาสแข่งขันเคมีโอลิมปิคเมื่อตอนม.ปลาย (ชีวิตเรามันปัดไปปัดมาจนสุดทาง ปัดไปซ้ายก็ซ้ายสุด ขวาก็ขวาสุดมาตลอดเลยล่ะ) มันได้เรียนรู้ว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถไม่ถึงครึ่ง โดยมากแล้วอยู่ที่จังหวะ โอกาส และโชคเสียมากกว่า หลายครั้งที่ท้อแล้วก็บอกตัวเองเงียบๆ ว่าเส้นทางนี้คงไม่เหมาะกับเรา มันก็ยังเดินต่อได้นะ แต่นั่นแหละ มันไม่ง่ายเลย เรายังคงแสวงหาการยอมรับ แสวงหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา เมื่อคืนแสดงรอบแรก.. (อิ gluhp เป็นนักเต้น contemporary/ballet อยู่ที่สิงคโปร์ และศึกษาหาความรู้+สอนโยคะเพื่อเป็น cross training ค่ะ) เป็นการแสดง contemporary dance ชื่อ Eat a Bitter Bloom ซึ่งไดเรคเตอร์ได้รับแรงบันดาลใจมาจากบทกวีที่มีชื่อเสียงคือ Les Fleurs du Mal (The Flowers of Evil) โดยกวีชาวฝรั่งเศสคือ Charles Baudelaire's ซึ่งกวีบทนี้ถูกแบนในสมัยนั้น เพราะขัดกับศีลธรรมจรรยาอย่างแรง โดยเฉพาะเรื่องของเซ็กส์ และเรื่องการรักร่วมเพศ (ได้รับบทเป็นเลสเบี้ยนคราวนี้ อิ gluhp ชักจะกลัวใจตัวเอง ฮ่าๆ) จริงๆ แล้วเราก็ออกจะชื่นชอบการนำเอาบทกวีมาตีความ แล้วนำมาทำเป็น dance production นะ เป็นอะไรที่อยากทำมานานแล้ว แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้อะไรมากมายจากที่นี่ แต่กลายเป็นการเรียนรู้จากสิ่งที่เราไม่ชอบเสียมากกว่า เรียนรู้ว่า .. เราจะไม่ทำแบบที่ไดเร็คเตอร์คนนี้ทำแน่นอน เธอถนัดนัก เรื่องการจับแพะมาชนแกะ แล้วก็ improvise ไร้หลักจนมั่วไปหมด ดูๆ ไปเหมือนจะขายผ้าเอาหน้ารอด แต่ไม่มีใครจับได้ นอกจากคนที่ทำงานด้วยกันอย่างพวกเราบรรดา dancers หกชีวิตที่นี่แหละ พูดถึงเรื่องนี้ทำไมเพราะเรากำลังจะบอกว่า ..เมื่อคืนนี้เราไม่ภูมิใจน่ะสิ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงที่ทำลายความรักและเคารพตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่พยายามจะคิดแยกแยะหน้าที่ในส่วนของเรากับส่วนของไดเร็คเตอร์ออกจากกันแล้ว แต่มันก็ยังอดที่จะคิดมากคิดมายไม่ได้อยู่ดี ธรรมเนียมอย่างหนึ่งคือพอแสดงเสร็จนักแสดงจะออกมาคุยกับผู้ชม ไม่รู้ที่อื่นเป็นอย่างนี้รึเปล่าแต่อยู่เมืองไทยเราไม่เคยทำ แสดงเสร็จก็เสร็จ ใครอยากออกไปหาเพื่อนก็ไป ไม่ไปก็แต่งตัวกลับบ้าน แต่ที่นี่ทุกคนต้องออกมา ทั้งที่ไม่รู้จะออกมาหาใคร ไอ้เรานี่แหละไม่รู้จะออกมาหาใคร อยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไม่ได้มีเพื่อนอยู่ที่นี่สักหน่อย มีเรากับโทโมมิ.. พี่สาวชาวญี่ปุ่นของเราที่ไม่ได้รู้จักใครเลย ขี้เกียจจะออกมามันก็ต้องออกมาออกมาแล้วก็เด๋อๆ ด๋าๆ ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่ชอบสิ่งที่เราทำด้วย เลยไม่อยากจะออกมาเจอใคร การเป็นนักแสดงที่อยู่บนเวทีมันเหมือนอยู่ในโลกส่วนตัวนะ เราเป็นอะไรก็ได้อยู่บนนั้น แต่การต้องออกมาพบปะผู้คนในฐานะนักแสดงมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถ้าเราชอบในสิ่งที่เราแสดง เราก็ยินดีที่จะนำตัวออกมาพบปะกับผู้คน แต่ถ้าเราไม่เราก็แค่อยากจะลืมๆ มันซะ ทำเสียเหมือนกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วก็นั่นแหละ คนดูคนหนึ่งเขาเข้ามาคุยกับเรากับโทโมมิที่ยืนเด๋ออยู่ เขาบอกได้เป็นฉากๆ ว่าซีนแรกเป็น guest choreographer ใช่มั้ย ท่าสวยดี ส่วนซีนที่โทโมมิเต้นอันนั้นใครคิดท่าสวยมาก เขาชอบมาก ส่วนซีนอื่นๆ เขาก็รู้ว่าเป็นของไดเรคเตอร์คิดนั่นแหละ (เธอโด่งดังด้วยสไตล์ที่ชัดเจน แต่ไม่มีใครชอบ เพราะมั่วเกิน) เขาไม่ได้พูดถึงตัวนักแสดงเลยทำให้เรารู้สึก สิ่งที่เราทำลงไปมันเป็นแค่การ represent ความคิดของตัวไดเรคเตอร์ แล้วตัวของเราล่ะความเป็นนักเต้นนักแสดงของเรามันอยู่ที่ไหน ถ้าการแสดงมันออกมาดี ไดเรคเตอร์ก็ได้รับคำชื่นชมไป แต่ถ้ามันไม่ดี ตัวเราก็กลายเป็นแค่นักเต้นธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจจะจดจำ ก็เพิ่งจะรู้สึกถึงความสำคัญของการอยู่ในคณะที่ใช่ และได้เต้นในสิ่งที่ชอบในตอนนี้ มันเกี่ยวพันกับความรักความเคารพ และความภาคภูมิใจในตัวเองจริงๆ
ขอเวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกสักสี่ห้าปี หวังว่าในช่วงระยะเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้นี้ เราจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะสร้างความเคารพตัวเองขึ้นมา และถึงวันนั้น เราคงจะค้นพบตัวเองในการเต้นได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับความเห็น หรือคำชื่นชมของคนอื่น และทำให้มันเป็นช่องทางการสื่อสารอย่างแท้จริงของเราได้
Create Date : 08 กันยายน 2555 |
Last Update : 9 กันยายน 2555 0:12:49 น. |
|
0 comments
|
Counter : 1887 Pageviews. |
|
|