YOU are not afraid. You think YOU are afraid. ~Shantimayi~

13.. คุณครูชื่ออัมสเตอร์ดัม บอกว่าสอบผ่าน (รถไฟฯ ตอน 2)

สิ่งดีๆ ที่ได้เรียนรู้จากอัมสเตอร์ดัม (ต่อจากตอนที่แล้วจ้ะ)

บรรยากาศข้างนอกช่างสวยงาม มานั่งนึกถึงสิ่งดีๆ บ้างดีกว่า ในขณะที่เราได้เข้าคลาสเต้นกับ Shirley ครูบัลเล่ต์สุดสวย และ Dunja นักเต้นคอนเทมโพรารี ผู้เป็นฮีโร่่ฝ่ายหญิงคนแรกของเรานั่นเอง มันรู้สึกโคตรดีเวลาที่เห็น “ฝรั่ง” เต้นไม่ได้ แต่หน้าเอเชียอย่างเรานี่แหละเต้นได้ มันรู้สึกโคตรดีเวลาที่มีคนเข้ามาถามว่าเราจบโรงเรียนเต้นที่ไหนมา แล้วเราบอกเขาว่า เปล่า.. ชั้นจบรัฐศาสตร์การทูตตะหาก แล้วเขาก็นั่งอ้าปากค้าง 

เวลาอยู่ใน Class เราก็เลยเกร็งน้อยลง ถ้าถามว่าก่อนมานี่พกอะไร และตอนกลับได้อะไรกลับไป คำตอบก็คือ ตอนมา เราพกเอาทักษะความรู้ที่ครูบาอาจารย์หลายต่อหลายท่านใส่เข้ามาให้ในตัว ส่วนตอนกลับ เราจะพกเอาความมั่นใจกลับไป ความมั่นใจที่จะสอน ที่จะสร้างสรรค์งาน เพราะได้เห็นแล้วว่า เฮ้ย! มาตรฐานของเราไม่ต่ำเลย เราควรจะมี ego เท่าที่จำเป็นได้แล้ว เรารู้มานานแล้วว่าคนรักจะทำงานศิลปะน่ะ จะไม่มีสิ่งที่ว่านี้เอาเสียเลย มันก็อยู่ลำบากเหมือนกันนะ ยิ่งตอนนี้เราโตแล้ว จะมาเหนียมๆ อายๆ ไม่ได้แล้ว

ทั้งที่เบอร์ลินและที่อัมสเตอร์ดัมนี้ เราได้มีโอกาสไปเข้าคลาสกับสตูดิโอที่ (เขาว่า) ดีที่สุดของเมือง ที่เบอร์ลินกลายเป็นว่าเราไม่ค่อยแน่ใจ คือเชื่อ Soren เพื่อนใหม่ชาวเยอรมนีที่เจอกันที่สิงคโปร์ เขาแนะนำให้ไปที่ Dock11 & Eden ก็เฉยๆ นะ ทั้งๆ ที่เป็นที่แรกที่ไป ควรจะตื่นเต้นมาก แต่กลายเป็นว่าไม่มีอะไรตื่นตาตื่นใจเลยสำหรับกะเหรี่ยงตัวน้อยอย่างเรา หรือว่าเพราะว่าเราตั้งความคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง เราหวังว่านักเต้นที่ยุโรปนั้นจะต้องเก่งกาจอย่างที่เราเห็นใน youtube ทุกคน แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ใช่เลย

โอกาสของเขาเปิดกว้าง เขาเลือกซื้อหาประสบการณ์ได้เหมือนเลือกซื้อผักในตลาด ทำให้การ train ของใครหลายคนสะเปะสะปะ ครูจะสนใจมองแต่นักเรียนที่มี potential เท่านั้น เพราะคนเรียนเต้นของเขาเยอะมากๆ จริงๆ คิดแล้วก็รู้สึกตัวเองโชคดีที่เป็นคนไทย มีโอกาสได้เรียนกับครูหลายคนในเมืองไทยที่ทุ่มเทการสอนให้กับนักเรียนทุกคนจริงๆ ที่ Dance Centre ครูติ๊บ วรารมย์ ปัจฉิมสวัสดิ์ คือศิลปินตัวจริง พี่เอ๋ เม ยิ้มซ้าย ก็มีส่วนสร้างเราให้เป็นเราในทุกวันนี้ จนสามารถมายืนตรงนี้ได้ไม่อายใครเหมือนกัน ที่ Bangkok City Ballet มาซาโกะเซนเซ พี่แคท และครู Saul Malirzia ก็ช่วยเสริมมาตรฐานการเต้นของเราไม่ด้อยไปกว่านักเต้นที่นี่เลย Contemporary ที่เราคิดว่าเราช่างอ่อนนัก ถึงวันนี้ Arts Fission คอมพานีที่สิงคโปร์ก็ต่อยอดประสบการณ์ให้เราได้อย่างถึงพริกถึงขิง ขอบคุณจริงๆ


11:57am แย่แล้วเรา ประกาศบนรถไฟขบวนนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสล้วนเลย นี่เราขึ้นถูกขบวนมั้ยเนี่ย แล้วจะลงถูกที่ไหม ประกาศขึ้นมาว่า Nous arrivons a Flermalle-Haute ความรู้วิทย์ม.ปลายไม่ได้ช่วยเลย ณ จุดนี้ แต่ความรู้เรียนฝรั่งเศสออนไลน์มาเมื่อปีก่อนพอช่วยได้บ้าง ว่า Nous แปลว่าเรา arrivon ก็น่าจะ arrive ส่วนแฟลร์ๆ อะไรนั่นน่าจะเป็นชื่อสถานี โอ๊ย..ลุ้น


สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้ คือเรียนรู้การอยู่กับตัวเอง โดยเฉพาะในวินาทีที่ต้องเผชิญกับความผิดหวัง เราหันไปหาใครเพื่อหนีจากความรู้สึกนี้ไม่ได้ เรานั่งนิ่งและเรียนรู้ความรู้สึกของการถูกปฏิเสธ และการยอมรับว่า จริงๆ แล้วเราหวังกับมันมากแค่ไหน เรายังได้เรียนรู้ความเหงา และความเศร้า เรียนรู้การสูญเสียแรงบันดาลใจ สังเกตเห็นสาเหตุและวิธีที่มันหายไป มันหายไปเพราะความผิดหวัง เพราะเรามองไม่เห็นอนาคต เพราะอิจฉาคนที่เขาได้ดีกว่าเรา ทั้งๆ ที่เราก็คิดว่า เราก็แน่เหมือนกันนี่หว่า 

สิ่งเหล่านี้มันสำคัญ มันทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า เป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร เมื่อการเต้นพาเราไปถึงทางตัน เมื่อความสำเร็จมันไม่ได้มาได้ง่ายๆ เหมือนที่เราเคยรู้สึกเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก แรงบันดาลใจเลยหายไป หายไปไหน แล้วในความเป็นจริงล่ะ มันตันจริงๆ เหรอ มันตันเพราะเราแค่กลัวที่จะฝ่ามันไปรึเปล่า จริงๆ แล้วมันไม่ได้ตันสักหน่อย เราเองนั่นแหละ ต้องหาวิธีการที่จะฝ่ามันออกไปให้ได้ เรียนรู้บทเรียนจากมันหรือยังล่ะ หรือมัวแต่ตีโพยตีพาย 

ระหว่างที่เราถามตัวเอง เราก็พบว่าเรากลับมาอยู่กับความเป็นจริงมากขึ้น เพราะเราตามฝันมาจนถึงวันที่มันใกล้จะเป็นความจริง จุดนี้แหละยากที่สุด เมื่อวันที่เรามาถึงจุดที่ฝันไม่ใช่ฝัน แต่มันกลายมาเป็นความจริงที่ไม่มีอะไรสวยงามเท่ากับที่เราเคยฝันไว้เลยนั้น ณ จุดนี้ เราจะฝันถึงการไปต่อ หรือการหันหลังกลับ ความพ่ายแพ้ หรือชัยชนะ มันคืออะไร 

เรารู้สึกสิ้นหวัง เราอยากกลับบ้าน แต่เราก็ไม่อยากกลับไปมือเปล่า เรากำลังกลัวเสียหน้าอย่างนั้นหรือ เรายังฝันถึงสิ่งเดิมอยู่รึเปล่า เราอยากจะไปถึงจุดจุดนั้นเพราะอะไร เพราะตัวเราหรือเพราะใคร ความโดดเดี่ยวบังคับให้เราอยู่กับมัน แล้วคิด..


แต่คิดไม่ออก เพราะเด็กฝรั่งกลุ่มใหญ่ขึ้นรถไฟมา เป็นกลุ่มนักเรียนที่คงกำลังไปทัศนศึกษา .. เรื่องของเรื่องคือ ครูหล่อโฮกกกกกกกกก!!!! ตอนนี้นึกโทษกระเป๋าเดินทางใบใหญ่จนกินที่ไปหนึ่งที่นั่น ไม่งั้นจะเรียนเชิญคุณครูให้นั่งด้วย


ตำราศิลปิน (ถ้ามันมีอยู่จริง และเราเลือกที่จะเชื่อมันนะ) บอกว่าการ lost ที่เรากำลังประสบอยู่นี้ รักษาได้ด้วยการเติมแรงบันดาลใจเข้าไป และวิธีการเติมแรงบันดาลใจที่หาได้ง่ายๆ ในบ้านเมืองนี้ (อัมสเตอร์ดัม) ก็คือ การไปพิพิธภัณฑ์ รุ่นพี่ที่เจนีวากำชับมาว่าเราต้องไปพิพิธภัณฑ์ของ Vincent Van Gogh ให้ได้ เราเองก็ชอบแวนโกะห์อยู่แล้ว เริ่มจากการชอบเพลง Vincent ทำให้พบว่าเบื้องหลังที่มาของเนื้อเพลงนี้มาจากชีวิตของแวนโกะห์ มาถึงบ้านเขาทั้งทีไม่ไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ของเขาเห็นจะไม่ได้

จริงๆ แล้วมีหลายที่น่าไปมาก ทั้งที่ Anne Frank House ก็น่าไป Diamant Museum ไปดูมงกุฏ Torture Museum, Sex Museum, Postcard Gallery, Tulip Museum เยอะมากๆ ที่โรงแรมมีการ์ดใบเล็กๆ ให้หยิบฟรี ไว้ใช้เป็นส่วนลด/รับของที่ระลึก ได้ด้วย เสียดายเรามัวแต่ดราม่าจนไม่ได้ไปตั้งหลายท ี่เก็บได้แค่สองที่คือ Katten Kabinet กับ Van Gogh

ช่วงที่เราไปพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ที่ Museumpromenade นั้นปิดซ่อมแซม เขาเลยย้ายทุกสิ่งทุกอย่างไปฝากแสดงไว้ที่ Hermitage Amsterdam ที่อยู่อีกฟากถนน ไอ้เราก็ซื้อบัตรที่พิพิธภัณฑ์เดิม ฟังคนขายบอกทางไม่ทัน แต่ทำเป็นเนียนๆ พยักหน้า กลัวเสียหน้า (เพื่อ?) โชคดีที่ฟังทันว่าคู่สามีภรรยาที่มาซื้อตั๋วต่อจากเราจะเดินไป เราเลยทำเนียนๆ เดิมตามเขาไปด้วย แบบห่างๆ ไม่ให้เขารู้ว่าชั้นตามเธออยู่นะ กลัวเสียหน้า (อีกละ ฮ่าๆ) แต่คือถ้าไปเองก็คงหลงแหละ แล้วที่ฝรั่งบอกเดินไม่ไกลนี่ครึ่งชั่วโมงนะจ๊ะ ครึ่งชั่วโมงฝ่าหิมะที่กำลังตกไป สนุกมั้ยล่ะ?


นั่งรถเมล์มาลงสถานี Museumplein


รอบบริเวณนี้เป็น Museumpromenade

พูดง่ายๆ คือ มันเป็นดงพิพิธภัณฑ์



สวยจัง



ที่นี่ใช้จักรยานกันเป็นพาหนะหลัก


ถ่ายซะหน่อย เดี๋ยวใครจะไม่เชื่อว่าเรามาจริง ฮ่าๆ


อย่างกับบ้านตุ๊กตา



อยากถ่ายอย่างนี้บ้าง แต่ไม่มีใครถ่ายให้ ถ่ายคนอื่นเขาถ่ายละกัน



โบสถ์นี้ใหญ่มากเลย



ระหว่างทาง เจอเจ้านี่ แน่ะ อยากออกมาเล่นละซี่



ร้านแพนเค้ก



ชอบอัมสเตอร์ดัมที่สุดก็ตรงนี้แหละ รักวิวแบบนี้


แต่แล้วในที่สุดก็มาถึงจนได้ จัดการฝากเสื้อไว้ที่ Cloak room ไอ้นี่ถือว่ามีความจำเป็นมากทีเดียวในเมืองหนาว เพราะถ้าจะให้ถือเสื้อกันหนาวตัวเขื่องเปื้อนหิมะเดินชมพิพิธภัณฑ์เป็นชั่วโมงๆ นี่เห็นจะไม่ไหว แต่ Cloak room ที่เห็นในประเทศไทยตามโรงละคร หรือศูนย์วัฒนธรรม อันนี้สุดจะเข้าใจจริงๆ ว่าท่านจะฝากอะไรกันนักหนาหว่า ไม่ลืมแวะเช่าหูฟังอธิบายภาพต่างๆ ตามที่รุ่นพี่แนะนำมาด้วย



ถึงแล้ว ถ่ายมาได้แค่นี้ เพราะในส่วนจัดแสดงห้ามถ่ายรูป


ส่วนกระเป๋าที่แบกมานี้น้ำหนักของมันแม้ว่าจะไม่มากถ้าเทียบกับที่เมืองไทยเวลาแบบแลปท็อปเดินไปทั่วกรุงเทพฯ แต่ ณ จุดนี้ ขอเดินดูสบายๆ ดีกว่า มองหาไม่นานก็เห็นล็อคเกอร์ จัดการเก็บกระเป๋าเข้าไป หยิบโทรศัพท์กับสมุดบันทึกและปากกาออกมาด้วย เพราะเป็นโรคบ้าเขียน จัดการหยอดลงไป 1 ยูโรล็อกตู้แล้วเดินตัวปลิวออกมาสบายใจเฉิบ มุ่งหน้าตรงไปยังช่องเก็บบัตรเข้าชม

ไอ้ย่ะ .. อั้ยย่า .. ไอโย๋... 

(รู้แล้วค่ะว่าเขียนอย่างนี้ผิด) ลืมหยิบบัตรออกมาจากกระเป๋าน่ะสิคะท่านผู้ชม ดิฉันเลยเดินคอตกกลับไปที่ล็อคเกอร์ คิดในใจว่าเสียดายหนึ่งยูโรนั่นจริงๆ เลย แง่มมมม! ไขตู้ออกมา แกร๊ง..งง.. หนึ่งยูโรหล่นคืนลงมา โอ้ว ดีใจมาก นึกว่าจะเหมือนแบบตู้ล็อคเกอร์อย่างในศูนย์ประชุมสิริกิติ์ที่พอเปิดตู้แล้ว เหรียญสิบบาทที่ใส่ลงไปนั้น จะหายวับไปกับตา 

เอาล่ะ ตอนนี้ก็ได้บัตรกลับคืนมาไว้ในมือแล้ว เดินอาดๆ ผ่านช่องตรวจบัตรเข้าไปอย่างภาคภูมิ อากาศข้างในเย็นนิดๆ นึกโกรธตัวเองที่ฝากเสื้อไว้ที Cloak room เยอะไปหน่อย น่าจะเก็บไว้บนตัวอีกสักตัวหนึ่ง เดินไปนานๆ นี่หนาวแน่ๆ นี่ก็เริ่มหนาวแล้วสิ

ด้านใน Hermitage Amsterdam เฉพาะส่วนที่แบ่งมาจัดแสดงภาพของ Van Gogh นี้นับว่าใหญ่พอดู เดินขึ้นบันไดไปก็พบส่วนจัดแสดง มี Timeline ชีวิตของ Van Gogh เขียนสรุปไว้บนกำแพง สิ่งแรกที่มาปะทะสายตาคือ 

He decided to become artist at the age of 27. (เขาตัดสินใจที่จะเป็นศิลปินเมื่อตอนอายุ 27 ปี)

หันกลับมาดูตัวเอง เราตัดสินใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตบนทางนี้ตอนอายุ 27 ปีเหมือนกัน ถือว่าค่อนข้างแก่สำหรับคนที่ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมืออย่างเรา แต่เลือกแล้วเราก็ต้องไปมันให้สุด อย่างดีที่สุดด้วย 

ส่วนจัดแสดงซึ่งมีทั้งหมดสองชั้น เราไล่ดูไปทีละภาพ ภาพที่มีรูปหูฟัง แปลว่ามีคำอธิบาย เราก็กดหมายเลยภาพที่หูฟัง แล้วก็ฟังคำบรรยายที่มีเพลงคลาสสิคในยุคนั้นเป็นพื้นหลัง ตาก็มองรูป พิจารณาตามไป 

.. โอ้ว เคลิ้ม .. 

คนอื่นจะมาดูแล้วได้อะไรเราไม่แน่ใจ แต่สำหรับเรา เราได้แรงบันดาลใจอย่างที่อยากได้ ช่วยเติมไฟที่มันเริ่มจะมอดๆ ให้มันฟูขึ้นมาได้หน่อยนึง ซึ่งมันก็ตอบโจทย์เราได้อย่างดี เวลาเดินดูงานพวกนี้ เราได้เห็นพัฒนาการงานของศิลปินที่เราชื่นชอบ ซึ่งในที่นี้ก็คือ Van Gogh ที่สำคัญคือ ได้เห็นแนวคิดของเขา และที่สำคัญที่สุดคือ การได้รับแรงบันดาลใจจากเขามาต่อยอดงานศิลปะของเรา เคยเขียนไว้หลายปีแล้วล่ะ หน้าที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของศิลปิน ก็คือการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและใช้งานชิ้นนั้นส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ศิลปินอื่น เพื่อให้สามารถนำแรงบันดาลใจนั้นไปต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมาได้ ต่อเนื่องกันไปไม่รู้จบ

คงไม่ใช่เรื่องที่จะมาเล่าถึงประวัติของ Van Gogh ให้ฟัง เอาเป็นว่าขอเล่าว่ามี “สาร” อะไรที่มันมากระตุกเราดีกว่า สิ่งเหล่านี้คือความคิดของ Van Gogh ที่เก็บได้จากการดูภาพ การอ่านคำบรรยาย และการฟังคำบรรยายประกอบ

  1. หน้าที่ของศิลปินคือ การพยายาม และการนำไอเดียที่เรามีใส่ลงไปในงาน
  2. พัฒนาการจะเกิดขึ้นถ้าเราทำมัน และพยายามที่จะทำมันเท่านั้น
  3. ทุกๆ งาน คือ การเรียนรู้
  4. การศึกษาของศิลปินไม่เคยจบสิ้น
  5. ฉันจะทำงานเดิมๆ ย้ำๆ อยู่อย่างนั้น จนกว่าฉันจะทำได้
  6. ฉันฝันถึงภาพวาด และฉันวาดภาพที่ฉันฝัน
  7. Kleur drukt uit zich zelf iets uit (Colors express themselves) สีมีความหมายของมัน
  8. แม้สถานการณ์ชีวิตจะแย่ แต่เราก็ยังต้องคิดถึงคนอื่น และมองหาสิ่งดีๆ รอบๆ ตัว เพื่อคนอื่น (เขาวาดรูป Almond Blossom ให้กับลูกของ Theo น้องชายสุดรักของเขา เป็นรูปที่ดูสดใส มีความหวัง ทั้งๆ ที่ในใจเขาเองตอนนั้น ย่ำแย่เต็มทน)
  9. เขาพูดถึงการมีชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ “...and then, I have nature and art and poetry, and if that is not enough, what is enough?” 

ลายแปรงของ Van Gogh ที่เขาค้นหาจนได้ออกมาเป็นงานของเขานั้น เต็มไปด้วยสีสัน เล่นกับเส้นที่หนา สั้น โค้งไหว เต็มไปด้วยอารมณ์ แต่มั่นใจ ซึ่งนี่อาจจะเป็นกระจกที่สะท้อนชีวิตเขาได้เป็นอย่างดี และภาพที่ตรึงใจเรามากที่สุดเห็นจะเป็นภาพ Wheat Field Under Threatening Skies ภาพท้ายๆ ที่เขาวาดก่อนตัดสินใจฆ่าตัวตาย เป็นภาพที่ดูเศร้า โดดเดี่ยว แต่เขากลับบอกว่ามันกลับกลายเป็นสิ่งที่ปลอบประโลมเขา ในภาพนั้นไม่มีคน มีแต่นก เราดูภาพนี้อยู่นานมาก พลางนึกสงสัยว่าเขาคิดอะไรอยู่ในใจเขาในขณะนั้น ในจดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชายนั้น บอกว่า ธรรมชาติแบบนี้แหละคือสิ่งที่เขาต้องการ มันดีต่อสุขภาพและปลุกปลอบใจเขา แต่แล้วเขาก็ตัดสินใจจบชีวิตลงในสถานที่นั้นเอง


ดูรูปใหญ่ๆ ได้ที่ //www.ibiblio.org/wm/paint/auth/gogh/fields/gogh.threatening-skies.jpg


เราไม่รู้สิ่งที่อยู่ในใจของ Van Gogh ในขณะที่เขาวาดรูปนั้น หรือในขณะที่เขาตัดสินใจจบชีวิตเขาจริงๆ หรอก  สิ่งที่เราเห็นก็คือ เขาช่างจริงใจต่ออารมณ์ของตัวเอง อย่างเช่นที่เขาเคยกล่าวไว้ว่า

I am seeking, I am striving, I am in it with all my heart.  

I put my heart and soul into my work, and I have lost my mind in the process.

ประวัติของเขาบอกเราว่า Van Gogh เป็นคนมีจิตใจไม่ปกติเท่าไหร่ (เราว่าศิลปินส่วนใหญ่ก็มีมุมนี้กันทั้งนั้นแหละ เพียงแต Van Gogh ควบคุมมันไม่ได้) ไม่แน่ใจว่ามันคือความซึมเศร้ารึเปล่าที่บันดาลให้เขาจบชีวิตตัวเองลง หรือว่ามันคือความ “อยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง” ในสิ่งที่เขาเห็นว่ามันสวยงามตรงหน้าเขา .. ก็อาจเป็นได้นะ

..เอวัง








รอบๆ Hermitage Amsterdam

แล้วภาพที่อยู่ตรงหน้าเราล่ะ ดึงตัวเองกลับมาอยู่บนรถไฟมุ่งหน้าสู่ลักเซมเบิร์ก เพิ่งเปลี่ยนขบวนที่สี่มา ไม่ตื่นเต้นเท่าตอนเปลี่ยนขบวนแรกๆ เพราะเริ่มจะเชี่ยว แต่กระเป๋าชักจะหนักขึ้นทุกที เพราะเริ่มล้า แต่นี่ก็ขบวนสุดท้ายแล้วสินะ แถมวิ่งเข้าสถานีปลายทางซะด้วย อย่ากระนั้นเลย เหนื่อยเต็มที นอนดีกว่า แต่นอนไม่หลับ เพราะมีเด็กผู้ชายหน้าตาดีมานั่งตรงข้าม ใจมันเลยหวิวๆ หยิบเกมส์ขึ้นมาเล่นแก้เขินละกัน

เงยหน้าขึ้นมาจากเกมส์ ด้านนอกขาวไปหมดอีกแล้ว รถไฟประกาศว่ากำลังจะเข้าสู่สถานี Luxembourg หนาวอีกแล้วสินะ เขียนจบสรุปในบันทึกว่า .. สิ่งดีๆ ที่เราได้รับจากอัมสเตอร์ดัมน่ะเหรอ

..

ก็บทเรียนของจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดของแรงบันดาลใจไงล่ะ จากนี้ไป .. อะไรก็ไม่กลัว

สวัสดีลักเซมเบิร์ก ฉันพร้อม!



มากับเพื่อน ต่างวัยไม่สำคัญ


ปะ.. ไปเที่ยวกัน



ไอ้คนมาเดี่ยวอย่างเราก็ต้องเอาตัวรอดกันไป ภาษาก็ไม่รู้เรื่อง ฮ่าๆ



ด้านนอก



อืม.. สวยนะ วิวแบบนี้รึเปล่าที่ Van Gogh หลงใหล



สถานีแล้ว



สถานีเล่า



และแล้วก็มาถึงในที่สุด ได้เวลาลุยต่อแล้วสิ

เหนื่อยเราไม่เหนื่อย เมื่อยเราไม่เมื่อย เดินทางไปเรื่อยๆ อย่าได้เมื่อย อย่าได้เหนื่อย





 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2556
5 comments
Last Update : 26 พฤษภาคม 2556 13:23:44 น.
Counter : 3059 Pageviews.

 


เจิมและมากด Like ให้เป็นคนที่ 1
เข้าบล็อกนี้ได้รู้จักเมืองนี้อย่างใกล้ชิด
เสมือนได้ไปเห็นกับตาตัวเองค่ะ
แหล่ม ขอบคุณที่นำมาฝากค่ะ

 

โดย: อุ้มสี 26 พฤษภาคม 2556 23:20:30 น.  

 

ช่วงนี้พี่ก๋ากลับมาเขียนบทกวีด้วยลายมือลงสมุดบันทึกครับ
เขียนทุกวันเลย
รู้นะครับว่าไม่ค่อยมีคนอ่าน
แต่อยากเขียนครับ
เขียนทุกวันเลย

 

โดย: กะว่าก๋า 3 มิถุนายน 2556 9:22:29 น.  

 

สวัสดีครับ
ขอบคุณที่ีโหวตให้ครับ

ดีจังเลยครับได้เที่ยว

 

โดย: จิรโรจน์ 8 มิถุนายน 2556 11:06:05 น.  

 

สวัสดียามเช้าครับน้องเสี้ยว


พี่ก๋าชอบรูปทุ่งนามากเป็นพิเศษเลยครับ
ถ้าได้นั่งวาดรูปแถวนั้นคงจะดี






 

โดย: กะว่าก๋า 9 มิถุนายน 2556 6:35:38 น.  

 

ตามอ่านอยู่หลายวันจนตาลาย
กำลังจะมีโอกาสไปเยอรมัน
น่าเสียดายไม่ได้ไปเมืองที่มี่ไป
รออ่านต่อนะจ๊ะ สู้ สู้

 

โดย: pim IP: 110.168.249.144 24 สิงหาคม 2556 22:59:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


gluhp
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




Here...
I'm on the rooftop

Between...
pavement and stars.

Here's...
hardly no day
nor hardly no night

There're things...
half in shadow
and half way in light

It's where...
I gather my thoughts
and grow my dreams

which...
are scattered
all around

In my words,
my songs,
my dance.

คน นั่งจ้องชีวิต
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2556
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
26 พฤษภาคม 2556
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add gluhp's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.